แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1333
ครั้งที่ ๑๓๓๓
สาระสำคัญ
โลภมูลจิตดวงที่ ๑ โดยนัยของปัจจัย (อาหารปัจจัย อินทริยปัจจัย ฌานปัจจัย มัคคปัจจัย)
จดหมายของท่านผู้ฟัง (เกี่ยวกับมัคคปัจจัย)
อถ.เอก. - พระมหาติสสเถระเข้าใจผิดคิดว่าท่านได้บรรลุมรรคผล
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๒๗
แสดงให้เห็นว่า ในชั่วขณะเดียวที่โลภมูลจิตเกิดพร้อมกับเจตสิก ๑๙ ดวง มีปัจจัยหลายปัจจัย ทั้งเหตุปัจจัย อธิปติปัจจัย รวมถึงอาหารปัจจัยด้วย นอกจากนั้นผัสสเจตสิกซึ่งเกิดกับโลภมูลจิตก็เป็นผัสสาหาร เพราะนำมาซึ่งเจตสิกอื่นและจิต และจิตตชรูป รวมกันไปได้เลย ฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตใด ย่อมหมายความว่า ทั้งจิตและเจตสิกนั้นเป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิดตามประเภทของจิตนั้นๆ
หมดไหมอาหาร ยังคงมีอยู่เรื่อยๆ ผัสสเจตสิกก็เกิดกับจิตทุกดวง เจตนาเจตสิกก็เป็นมโนสัญเจตนาหารนำมาซึ่งปฏิสนธินามรูปสำหรับผู้ที่ไม่ใช่ พระอรหันต์ และไม่ใช่แต่เฉพาะรูปเท่านั้นที่เป็นอาหาร รูปก็เป็นอาหารของรูป นามก็เป็นอาหารของนามด้วย สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ โดยเฉพาะในภูมิมนุษย์ ต้องอาศัยทั้งรูปอาหารและนามอาหาร
ไม่อยากให้มีอาหารปัจจัยได้ไหม หนทางเดียวที่จะดับ คือ อบรมเจริญปัญญา สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าปัญญาจะคมกล้าที่โลกุตตรจิตจะเกิด มิฉะนั้นแล้ว ไม่มีทางเลยที่ปัจจัยเหล่านี้จะดับได้
ต่อไป โดยอินทริยปัจจัย
สำหรับสภาพธรรมที่เป็นอินทริยปัจจัย หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เฉพาะกิจของตน ไม่เหมือนกับอธิปติปัจจัย ถ้าเป็นอธิปติปัจจัย หมายความถึงเป็นใหญ่ในบรรดาสหชาตธรรมที่เกิดร่วมกัน แต่สำหรับอินทริยปัจจัย แต่ละอย่างๆ เป็นใหญ่เฉพาะในกิจของตนๆ
สำหรับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ คือ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง สภาพธรรมที่เป็นอินทริยปัจจัย ได้แก่ ชีวิตินทริยเจตสิก ๑ เวทนินทริยะ ๑ วิริยินทริยะ ๑ สมาธินทริยะ ๑ มนินทริยะ ๑ เป็นสหชาตินทริยปัจจัย สำหรับลักษณะที่สภาพเหล่านี้เป็นอินทริยปัจจัยได้กล่าวถึงแล้วในเรื่องของอินทริยปัจจัย
และเมื่อเป็นโลภมูลจิต ก็ไม่ประกอบด้วยสัทธินทรีย์ สตินทรีย์ ปัญญินทรีย์ เพราะอินทรีย์เหล่านี้ต้องเกิดกับกุศล
ต่อไปปัจจัยที่ ๑๖ คือ โดยฌานปัจจัย
สภาพธรรมที่เป็นฌานปัจจัย ได้แก่ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑ ปีติเจตสิก ๑ โสมนัสเวทนาเจตสิก ๑ เอกัคคตาเจตสิก ๑ และสำหรับเวทนาอีก ๒ คือ โทมนัสเวทนากับอุเบกขาเวทนา ก็เป็นฌานปัจจัยด้วย
สำหรับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ ไม่มีโทมนัสเวทนาและอุเบกขาเวทนา เพราะฉะนั้น มีฌานปัจจัย ๕ คือ วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ปีติเจตสิก โสมนัสเวทนาเจตสิก และเอกัคคตาเจตสิก เท่ากับองค์ฌานของทางฝ่ายกุศล สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนา แต่ต่างกันที่โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์เป็นฌานปัจจัยที่เป็นอกุศล องค์ธรรมเท่ากัน ประกอบด้วยวิตก วิจาร ปีติ โสมนัสเวทนา และเอกัคคตา แต่เป็นฌานปัจจัยที่เป็นฝ่ายอกุศล เพราะโลภเจตสิกเกิดร่วมกับวิตกเจตสิก วิจารเจตสิก และเอกัคคตาเจตสิก ได้ และสำหรับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ ก็เกิดร่วมกับปีติเจตสิกกับโสมนัสเวทนาเจตสิกด้วย เผาธรรมที่เป็นกุศล
ปัจจัยต่อไป คือ โดยมัคคปัจจัย
สำหรับมรรค ส่วนมากท่านผู้ฟังทราบว่าสัมมามรรคมี ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ แต่สำหรับมัคคปัจจัยที่เป็นอกุศลก็มี เพราะมรรคเป็นหนทาง จึงย่อมมีทั้งหนทางที่ไปสู่สุคติ และหนทางที่ไปสู่ทุคติ
สำหรับโลภมูลจิต โดยมัคคปัจจัยแล้ว ได้แก่ วิตกเจตสิก วิริยเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก และมิจฉาทิฏฐิ
สภาพที่เป็นมัคคปัจจัยทั้งหมด มีทั้งที่เป็นสัมมามรรคและมิจฉามรรค แต่เมื่อกล่าวถึงโลภมูลจิต ต้องเป็นมิจฉามรรคทั้งหมด คือ วิตกเจตสิกเป็นมิจฉาสังกัปปะ วิริยเจตสิกเป็นมิจฉาวายามะ เอกัคคตาเจตสิกเป็นมิจฉาสมาธิ และทิฏฐิเจตสิกเป็นมิจฉาทิฏฐิ พาไปไหน ถ้าเป็นมิจฉามรรค ก็ต้องพาไปสู่ทุคติ
ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวกับมัคคปัจจัยนี้ด้วย ท่านเขียนมาเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๒๗ ข้อความมีว่า
เรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ที่เคารพอย่างสูง
ดิฉันติดตามการบรรยายของท่านอาจารย์เสมอมา ทั้งทางวิทยุและห้องประชุมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ดิฉันมีคำถามซึ่งใคร่จะเรียนถามอาจารย์ดังนี้
วันหนึ่งพระภิกษุชาวต่างประเทศรูปหนึ่ง เพื่อนของดิฉันและดิฉันได้สนทนากันถึงเรื่องต่างๆ รวมถึงเรื่องการปฏิบัติธรรมด้วย ดิฉันได้กล่าวแสดงความเห็นขึ้นว่า การปฏิบัติธรรมที่ถูก ต้องมีความเข้าใจถูกในข้อปฏิบัติเป็นเบื้องต้น เพราะปัญญาในขั้นสูงจะเกิดได้ต้องอาศัยมีปัญญาในขั้นต้นเป็นปัจจัย ไม่ใช่อาศัยตัณหาเป็นปัจจัย
เพราะจะเป็นไปได้อย่างไรที่ปัญญาจะพัฒนามาจากตัณหา ตัณหาจะเป็นบาทเบื้องต้นให้เกิดปัญญาได้อย่างไร เช่น ผู้ที่มีความอยากจะปฏิบัติวิปัสสนาโดยที่ไม่มีความเข้าใจในข้อปฏิบัติในเบื้องต้นเสียก่อน แล้วปัญญาในขั้นสูงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร พระภิกษุที่ท่านร่วมสนทนาอยู่ด้วยได้กล่าวว่า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระชาติสุดท้ายก่อนที่พระองค์จะได้ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น พระองค์เป็นเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช แสวงหาทางเพื่อความหลุดพ้น ในเวลานั้นพระองค์ก็มีตัณหา (ท่านใช้คำภาษาอังกฤษว่า attachment) ใคร่ที่จะหาทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ และในที่สุดพระองค์ก็ได้ทรงตรัสรู้ พระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ดิฉันคิดว่า พระภิกษุท่านคงจะมีความเห็นว่า เป็นธรรมดาที่จะต้องมีตัณหา หรือความอยากในการปฏิบัติธรรมเป็นเบื้องต้นก่อน และปัญญาก็จะเกิดภายหลังเมื่อปฏิบัติไปแล้ว ท่านจึงยกตัวอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดังกล่าว
ดิฉันขอเรียนถามอาจารย์ว่า การที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช แสวงหาข้อปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงนั้น เป็นการกระทำด้วยตัณหา คือ ความอยากที่จะปฏิบัติเพื่อให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ หรือว่าเป็นไปเนื่องด้วยฉันทะ หรือด้วยปัญญา หรือด้วยอะไร ขอความกรุณาอาจารย์อธิบายเพื่อความแจ่มแจ้งแก่ดิฉันด้วยจะเป็นพระคุณอย่างสูง
ขอแสดงความเคารพในคุณธรรม
ผู้ฟังรายการแนวทางเจริญวิปัสสนาคนหนึ่ง
สุ. ท่านเป็นผู้ที่มีความเห็นถูกต้องที่กล่าวว่า ดิฉันได้กล่าวแสดงความเห็นขึ้นว่า การปฏิบัติธรรมที่ถูก ต้องมีความเข้าใจถูกในข้อปฏิบัติเป็นเบื้องต้น เพราะปัญญาในขั้นสูงจะเกิดได้ ต้องอาศัยมีปัญญาในขั้นต้นเป็นปัจจัย ไม่ใช่อาศัยตัณหาเป็นปัจจัย
ไม่ทราบทำไมจึงยกตัวอย่างพระผู้มีพระภาคตอนที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งบุคคลใดก็ตามที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ย่อมมีตัณหาด้วยกันทั้งนั้น ไม่ใช่ว่า ต้องไปพยายามให้มีเพิ่มขึ้นอีกโดยปฏิบัติด้วยตัณหา
หมายความว่า ทุกคนย่อมมีตัณหาอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มีปัญญาจะสามารถปฏิบัติในทางที่จะดับตัณหานั้นได้ไหม เพราะฉะนั้น ไม่ใช่อาศัยตัณหาอบรมเจริญไปและจะเกิดปัญญาที่จะทำให้ดับตัณหา แต่เพราะเหตุว่ามีตัณหา จึงมีการอบรมเจริญปัญญาเพื่อดับตัณหา ถ้ามีข้อความใดที่แสดงว่า อาศัยตัณหาละตัณหา ให้เข้าใจว่า อาศัยตัณหา คือ ตัณหามี จึงอบรมเจริญปัญญาเพื่อละตัณหา ไม่ใช่ใครก็ตามได้ยินอย่างนี้ ก็เจริญตัณหาให้มากๆ เพื่อที่จะไปละตัณหา ซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นไปได้
เพราะฉะนั้น ควรที่จะพิจารณาธรรมโดยถูกต้อง ตัณหาหรือโลภะเป็นสิ่งที่ ทุกท่านมีอยู่แล้ว แม้จะเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ถ้าไม่ได้ทรงอบรมปัญญาบารมีในอดีตที่จะทำให้รู้ว่าทางใดเป็นทางดับกิเลส ก็ไม่สามารถพบหนทางที่จะทำให้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ถ้าเพียงแต่เหมือนทุกคนซึ่งมีตัณหา แต่เพราะได้ทรงอบรมพระปัญญาบารมีอื่นๆ มาพร้อม จึงสามารถหาทางดับตัณหาได้ เพราะฉะนั้น ไม่ควรยกมาเป็นตัวอย่าง เพราะไม่ใช่ตัณหาดับตัณหา
เพราะฉะนั้น คำตอบของท่านผู้ฟังก็ถูกต้อง เพราะในขณะนั้นไม่ใช่เป็นการกระทำด้วยตัณหา แต่ในขณะนั้นเป็นมหากุศลซึ่งต้องประกอบด้วยปัญญาและฉันทะ
ถ. พวกที่ได้ฌานก็ยังจัดอยู่ในพวกอกุศลใช่ไหม คือ ยังติดอยู่ในฌาน
สุ. ขณะที่เป็นฌานจิต เป็นรูปาวจรกุศล
ถ. แต่ยังข้องอยู่ในกุศล ใช่ไหม
สุ. ต้องแยกขณะจิต ขณะที่ฌานจิตเกิด เพราะมหากุศลญาณสัมปยุตต์ อบรมเจริญความสงบจนกระทั่งถึงขั้นอัปปนาสมาธิ แต่อย่าลืม คำว่า ฌาน ต้องหมายถึงกุศลฌาน ผู้ที่จะอบรมเจริญความสงบจนกระทั่งถึงขั้นอุปจารสมาธิ หรือ อัปปนาสมาธิได้จริงๆ ให้ทราบว่า ในขณะนั้นเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์จึงเจริญได้ ไม่ใช่ใครก็ตาม อายุเท่าไรก็ตาม ไม่รู้อะไรก็ตาม นั่งนิ่งๆ หลับตาและฌานจิตจะเกิด ซึ่งในขณะนั้นไม่ใช่มหากุศลญาณสัมปยุตต์เลย
แต่การอบรมเจริญความสงบให้ถึงขั้นอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิได้ ต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่กุศลธรรมดาๆ ด้วย เพราะฉะนั้น อย่าเอาอกุศลมาเป็นกุศล หรืออย่าคิดว่ากุศลญาณวิปปยุตต์สามารถที่จะเจริญสมถภาวนาจนถึงอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิได้
เพราะฉะนั้น เมื่อมหากุศลญาณสัมปยุตต์อบรมเจริญจนกระทั่งสงบขึ้นถึง ขั้นอัปปนาสมาธิ เป็นฌานจิต เป็นกุศลอีกระดับหนึ่ง คือ ขั้นรูปาวจรฌาน ถ้ายังมีรูปเป็นอารมณ์ และถ้าสูงกว่านั้นอีก จะเป็นขั้นอรูปาวจรฌาน ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ แต่ต้องเป็นกุศล ไม่ใช่เป็นอกุศล ส่วนภายหลังที่ฌานจิตดับแล้ว เกิดความยินดี ความพอใจ ความติดในฌานจิตนั้น ขณะที่ยินดีพอใจนั้นก็เป็นโลภมูลจิต และถ้าขณะนั้น มีความเห็นผิดคิดว่า ได้รู้แจ้งมรรคผลนิพพาน หรือถึงความเป็นพระอริยบุคคล ซึ่ง บางท่านอาจจะคิดว่าเป็นถึงพระอรหันต์แล้ว ขณะนั้นก็ต้องเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ คือ เป็นโลภมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด
ถ. ระหว่างที่ได้ถึงอัปปนาสมาธิ ยังเป็นมหากุศลอยู่ ยังไม่ถึง ...
สุ. ถ้าถึงอัปปนาสมาธิ เป็นรูปาวจรกุศล
ถ. แต่ตอนหลังเมื่อมีความยินดีใน ...
สุ. เมื่อรูปาวจรฌานดับแล้ว โลภมูลจิตเกิดได้ มีความยินดีพอใจในฌาน แต่ในระหว่างที่เป็นอัปปนาสมาธิซึ่งเป็นฌานจิต ขณะนั้นต้องเป็นกุศลขั้นรูปาวจร
มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต มีข้อความซึ่งแสดงถึงพระเถระรูปหนึ่งในสมัยของพระอรรถกถาจารย์ที่ประเทศศรีลังกา ซึ่งท่านได้ฌาน แต่เข้าใจผิดคิดว่า ได้บรรลุมรรคผล
ข้อความมีว่า
ได้ยินว่า พระมหาติสสเถระเป็นผู้ได้สมาบัติตั้งแต่มีพรรษา ๘ พระเถระนั้นกล่าวกถาใกล้ต่ออริยมรรคด้วยสามารถแห่งการเรียนและการสอบถาม เพราะความไม่ฟูขึ้นแล้วแห่งกิเลสอันสมาบัติข่มไว้แล้ว พระเถระนั้นแม้ในกาลที่ตนเองมีพรรษา ๖๐ ก็ไม่รู้ความที่ตนเป็นปุถุชน
แสดงให้เห็นว่า ธรรมเป็นเรื่องละเอียดโดยเฉพาะเรื่องการปฏิบัติ เพราะ พระมหาติสสเถระ กล่าวกถาใกล้ต่ออริยมรรคด้วยสามารถแห่งการเรียนและการสอบถาม เพราะฉะนั้น เพียงการเรียน การสอบถาม การพิจารณาในเหตุผลก็อาจจะกล่าวคำซึ่งใกล้เคียงต่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ด้วยสมาบัติที่ได้ตั้งแต่พรรษา ๘ จนกระทั่งถึงพรรษา ๖๐ ทำให้ไม่รู้ความที่ตนเป็นปุถุชนทั้งๆ ที่เรียน แสดงให้เห็นถึงความละเอียดที่จะต้องศึกษาธรรมโดยรอบคอบจริงๆ
ครั้นภายหลังวันหนึ่ง ภิกษุสงฆ์จากติสสมหาวิหารในมหาคามได้ส่งข่าวสารไปนิมนต์พระธัมมทินนเถระผู้อยู่ที่วาฬิการามว่าให้มาแสดงธรรม ซึ่งพระธัมมทินนเถระ ก็รับและคิดว่า พระมหาติสสเถระเป็นอาจารย์กัมมัฏฐานของท่าน เพราะเหตุว่าแสดงกถาอันใกล้ต่ออริยมรรคด้วยสามารถแห่งการเรียนและการสอบถาม
เพราะฉะนั้น ท่านก็ให้พระมหาติสสเถระไปด้วยในฐานะพระสังฆเถระ ท่านก็ไปหาพระมหาติสสเถระพร้อมด้วยภิกษุหลายรูป เมื่อได้แสดงวัตรแก่พระเถระในที่พักกลางวัน นั่งแล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ก็ได้เรียนให้ทราบว่า ภิกษุที่ติสสมหาวิหารได้นิมนต์ท่านไปแสดงธรรม แต่ท่านใคร่จะขอให้พระติสสเถระไปด้วย ซึ่งเมื่อได้ปราศรัยกันพอสมควรแล้ว ท่านพระธัมมทินนเถระก็ได้ถามว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมนี้อันท่านบรรลุแล้วในกาลไร
ถามว่า ที่เข้าใจว่าได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้วนั้น ตั้งแต่เมื่อไร
ท่านพระติสสเถระกล่าวว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุชื่อว่าธรรมทินนะ ธรรมนี้อันเราบรรลุแล้ว ๖๐ ปี
เป็นเวลาไม่น้อยเลย คิดถึงช่วงอายุของคน ๖๐ ปี ที่เข้าใจว่าได้รู้แจ้ง อริยสัจธรรม ซึ่งท่านพระธัมมทินนเถระท่านทราบว่า พระมหาติสสเถระไม่ได้บรรลุ เพราะฉะนั้น ท่านก็กล่าวว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านย่อมเข้าถึงสมาธิได้หรือ
ท่านพระมหาติสสเถระตอบว่า
ขอรับ ท่านผู้มีอายุ
พระธัมมทินนเถระได้เรียนถามว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านอาจจะเนรมิตสระโบกขรณีสระหนึ่งได้หรือ
พระมหาติสสเถระก็กล่าวว่า
ดูกร อาวุโส นั่นมิใช่เป็นกรรมหนักเลย
ดังนี้แล้ว จึงเนรมิตสระโบกขรณีในที่จำเพาะหน้าแล้ว ซึ่งพระธัมมทินนเถระก็ได้กล่าวว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านจงเนรมิตกอแห่งปทุมกอหนึ่งในที่นี้ ดังนี้
ท่านพระมหาติสสเถระก็ได้เนรมิตกอบัวขึ้น
พระธัมมทินนเถระก็กล่าวว่า
ท่านจงแสดงดอกไม้ใหญ่ในสระโบกขรณีในกาลบัดนี้
พระมหาติสสเถระก็เนรมิตดอกปทุมใหญ่
และพระธัมมทินนเถระก็ได้กล่าวว่า
ท่านจงแสดงรูปหญิงมีอายุ ๑๖ ปี ในที่นี้
พระมหาติสสเถระก็ได้เนรมิตรูปหญิงขึ้น
ต่อจากนั้น พระธัมมทินนเถระก็ได้กล่าวว่า
ท่านจงมนสิการถึงรูปของหญิงนั้นบ่อยๆ โดยเป็นสุภะ
เมื่อพระมหาติสสเถระแลดูรูปแห่งหญิงอันตนนั่นเทียวเนรมิตแล้ว ยังความโลภให้เกิดขึ้นแล้ว ทราบความที่ตนเป็นปุถุชนอยู่
ยากที่จะรู้ว่ามีโลภะ ถ้าเป็นผู้ที่ได้สมาบัติมาตั้งแต่พรรษา ๘ และเรื่อยมาโดยที่ไม่มีอารมณ์ที่จะทำให้รู้สึกตนว่ายังเป็นปุถุชน แต่ท่านเป็นผู้ที่เคยสะสมเหตุผลและบุญมาแล้วในอดีต เพราะฉะนั้น ท่านก็ขอให้พระธัมมทินนเถระเป็นที่พึ่ง โดยนั่งกระหย่งในสำนักของอันเตวาสิก พระธัมมทินนเถระก็ได้บอกกัมมัฏฐาน คือ อสุภกัมมัฏฐานแก่พระเถระ และออกไปข้างนอกเพื่อทำโอกาสแก่พระเถระ ซึ่งพระมหาติสสเถระนั้น ก็ได้บรรลุอรหัตพร้อมทั้งปฏิสัมภิทา และท่านพระธัมมทินนเถระก็ไปสู่มหาวิหารชื่อ ติสสะ แสดงธรรมแก่พระภิกษุทั้งหลายตามที่ได้นิมนต์ พร้อมด้วยพระมหาติสสเถระ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๑๓๓๑ – ๑๓๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1321
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1322
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1323
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1324
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1325
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1326
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1327
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1328
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1329
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1330
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1331
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1332
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1333
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1334
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1335
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1336
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1337
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1338
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1339
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1340
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1341
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1342
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1343
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1344
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1345
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1346
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1347
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1348
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1349
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1350
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1351
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1352
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1353
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1354
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1355
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1356
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1357
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1358
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1359
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1360
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1361
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1362
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1363
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1364
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1365
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1366
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1367
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1368
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1369
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1370
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1371
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1372
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1373
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1374
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1375
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1376
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1377
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1378
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1379
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1380