แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1334
ครั้งที่ ๑๓๓๔
สาระสำคัญ
อถ.เอก - ฌานสมาบัติไม่สามารถจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
ทบทวนโลภมูลจิตดวงที่ ๑ โดยนัยของปัจจัย ได้ ๒๒ ปัจจัย
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๒๗
ถ. คติธรรมในที่นี้ คือ คนที่เข้าใจว่าตัวเองสำเร็จ เพราะในขณะนั้นได้รับแต่อารมณ์ที่ดีก็เข้าใจว่าสำเร็จ แต่เมื่อไปเจออารมณ์ที่ไม่ดี ก็ไม่สามารถที่จะดำรงไว้ได้ ใช่ไหม
สุ. แสดงให้เห็นว่า ฌานสมาบัติไม่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น คนที่อยากจะเจริญสมถภาวนา ถ้าเข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ยังต้องการจะเจริญสมถภาวนาจนถึงฌานจิตไหม หรือเป็นผู้ที่เจริญกุศล ทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นทาน หรือศีล หรือความสงบของจิตในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถเป็นไปได้ ขณะที่ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ระลึกถึงจาคะ คือ ทาน ระลึกถึงศีล ระลึกถึงเทวดา หรือคุณของเทวดา แสดงให้เห็นว่า มีสภาพธรรมที่จะทำให้จิตสงบได้ในชีวิตประจำวัน หรืออบรมเจริญเมตตาในชีวิตประจำวัน แทนที่จะคิดว่าต้องการให้บรรลุถึงฌานจิต เพราะไม่ใช่เป็นการง่ายที่จะบรรลุถึงฌานจิต ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่า ฌานจิตจะต้องเป็นความสงบของจิตถึงขั้นอัปปนาสมาธิ
และเดี๋ยวนี้ความสงบมีหรือเปล่า นี่เป็นจุดแรกที่จะต้องเข้าใจ ถ้ามี ความสงบในขณะนี้เป็นความสงบขั้นไหน เป็นความสงบเพราะมีอะไรเป็นอารมณ์ เมื่อรู้เหตุรู้ผลว่า ความสงบในขณะนี้มีอะไรเป็นอารมณ์ จึงอาศัยความสงบซึ่งมีสิ่งนั้นแหละเป็นอารมณ์ ระลึกถึงด้วยจิตที่เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์จริงๆ จนกว่าความสงบนั้นจะเพิ่มขึ้นจนลักษณะของสมาธิปรากฏโดยที่ยังไม่ถึงอัปปนาสมาธิ หรืออุปจารสมาธิ เพราะแม้การระลึกถึงพระรัตนตรัย เช่น พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล ไม่สามารถที่จะสงบถึงอุปจารสมาธิ แต่ความสงบที่เพิ่มขึ้นสามารถที่จะสังเกตได้ จนรู้ว่าความสงบนั้นประกอบด้วยสมาธิขั้นหนึ่ง เพียงแต่สมาธิที่เพิ่มกำลังขึ้นจนปรากฏลักษณะของความสงบขึ้น ซึ่งนั่นแสดงว่าจะต้องประกอบด้วยสมาธิขั้นหนึ่ง มากกว่าในขณะนี้ซึ่งเป็นเพียงขณิกะ สั้นๆ ชั่วขณะหนึ่งๆ เพราะถ้าไม่สงบขึ้นก็ย่อมไม่สามารถรู้ว่า ในขณะนี้ที่เป็นกุศลนั้นสงบคืออย่างไร
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า แม้ในชีวิตประจำวัน ถ้าความสงบยังไม่เพิ่มขึ้น และไม่มีมหากุศลญาณสัมปยุตต์อะไรทั้งสิ้น แต่ต้องการที่จะให้ถึงฌานจิต ย่อมเป็นการเข้าใจผิด และฌานจิตนั้นไม่ใช่ทางที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แต่อาจจะเป็นทางที่ทำให้เข้าใจผิดว่าได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เช่น พระเถระในอดีต
ถ. ที่อาจารย์อ่านมา ในมโนรถปูรณีอรรถกถา บุคคลตัวอย่าง เช่น พระมหาติสสเถระกับท่านพระธัมมทินนะ ชื่อก็เหมือนกันมีแสดงอยู่ในวิสุทธิมรรค บอกว่าท่านพระมหาติสสเถระถูกอุปกิเลส ๑๐ ประการกั้นไว้ ถึงพรรษา ๖๐ คิดว่า ท่านเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน และท่านพระธัมมทินนะก็ไปช่วย โดยให้พระมหาติสสะเนรมิตช้างให้วิ่งปรี่เข้ามาหา ท่านพระมหาติสสะเกิดความกลัว ทำให้เข้าใจถูกว่า ท่านยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ตัวอย่างต่างๆ นี้ ท่านอรรถกถาจารย์ ท่านคิดขึ้นมาเอง หรือว่าเป็นความจริง
สุ. ไม่มีใครเกิดในสมัยนั้น และเหตุการณ์นั้นก็ดับไปแล้ว แต่ยังมีจารึกจนกระทั่งสามารถเป็นตัวอย่างในปัจจุบัน และเหตุการณ์ในครั้งนั้น ผู้ที่ได้ฌานก็มีมาก เพราะยังเป็นในระยะของอรรถกถา คือ ๑๐๐๐ ปีหลังปรินิพพาน ยังไม่เลยจากนั้นไป เพราะฉะนั้น ผู้ที่บรรลุมรรคผล ก็เป็นผู้ที่ได้ปฏิสัมภิทา เมื่อไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ จะทำอย่างไร ก็ควรสนใจหลักธรรมเรื่องอื่นที่จะเป็นประโยชน์
ถ. ในเมื่อไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ ตำราต่างๆ เราจะเชื่อถือได้หรือไม่ ในเมื่อมีความเคลือบแคลงอย่างนี้
สุ. เรื่องของฌานเป็นเรื่องที่มีจริงได้ไหม เรื่องของความเข้าใจผิด ความเห็นผิดมีได้ไหม แม้เป็นผู้ที่ได้ฌาน ก็ยังไม่ได้ดับมิจฉาทิฏฐิหรือความเห็นผิด
ถ. ทั้งสองตัวอย่างก็มีทั้งนั้น ในครั้งพระพุทธกาล พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ มีภิกษุ ๓๐ รูป ได้ปฐมฌานแล้วเข้าใจผิด จะเข้ามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคให้พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ พระผู้มีพระภาคทรงรู้ล่วงหน้าว่าภิกษุทั้ง ๓๐ รูปนั้นยังไม่ได้บรรลุจึงสั่งพระอานนท์ว่า อย่าให้เข้ามา คืนนี้ให้ไปพักที่ป่าช้าก่อน เมื่อไปเห็นซากศพผู้หญิงที่ยังใหม่อยู่ เกิดกามราคะ จึงเข้าใจถูกว่าตนเองยังไม่ได้บรรลุ พระอรหันต์ ครั้นได้พิจารณาอสุภกัมมัฏฐานจึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พรุ่งนี้ได้เข้าเฝ้า
ตัวอย่างต่างๆ มีจริงๆ ด้วย และเป็นไปได้ด้วย อุปกิเลสทั้ง ๑๐ ประการนี่เป็นเครื่องกั้นทำให้เข้าใจผิดได้ ฌานสมาบัติก็ทำให้เข้าใจผิดได้เหมือนกัน แต่เผอิญบุคคลทั้งสองชื่อเดียวกัน ทำให้สงสัยว่า จะเป็นบุคคลตัวอย่างเดียวกันที่คิดขึ้นมาเอง หรือบุคคลตัวอย่างที่มีจริงๆ
สุ. ชื่อเดียวกัน ๒ คน ก็ยังน้อย จริงๆ แล้วชื่อเดียวกันมากกว่านั้นอีก ดูตามรายนามท่านที่มีก็เห็นได้ ชื่อเดียวกันมากกว่า ๑ มากกว่า ๒ ก็คงจะไม่เป็นปัญหาสำคัญ เพียงแต่เป็นตัวอย่างให้เห็นชีวิตในอดีตว่า ย่อมเป็นไปได้
สำหรับปัจจัยที่จะกล่าวถึงต่อไป เพื่อที่จะให้ครบทั้ง ๒๔ ปัจจัย ปัจจัยที่ยังไม่ได้กล่าวถึง คือ วิปปยุตตปัจจัย
วิปปยุตตปัจจัย หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยโดยเข้ากันไม่ได้หมายความว่า นามธรรมเมื่อเป็นปัจจัยแก่รูป เป็นปัจจัยโดยวิปปยุตตปัจจัย หรือเวลาที่รูปเป็นปัจจัยแก่นามธรรม ก็เป็นปัจจัยโดยเป็นวิปปยุตตปัจจัย
ไม่เหมือนกับสัมปยุตตปัจจัย คือ สัมปยุตตปัจจัยนั้น ได้แก่ นามธรรมเป็นปัจจัยแก่นามธรรม จิตเป็นปัจจัยแก่เจตสิก และเจตสิกเป็นปัจจัยแก่จิต นั่นเป็นสัมปยุตตธรรมจริงๆ เป็นสภาพธรรมที่เข้ากันได้ แต่สำหรับรูปธรรมกับนามธรรม เมื่อเป็นปัจจัยกันแล้ว เป็นโดยวิปปยุตตปัจจัย เช่น จักขุปสาท เป็นปัจจัยโดยเป็นที่อาศัยให้เกิดจักขุวิญญาณโดยวิปปยุตตปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นโดยนัยใดๆ ทั้งสิ้น ถ้ารูปเป็นปัจจัยแก่นาม และนามเป็นปัจจัยแก่รูปแล้ว เป็นโดยวิปปยุตตปัจจัย
เพราะฉะนั้น สำหรับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ คือ โสมนัสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง เป็นปัจจัยแก่จิตตชรูป โดยวิปปยุตตปัจจัย
สำหรับปัจจัยต่อไป โดยอัตถิปัจจัย
หมายความว่า ธรรมที่เป็นปัจจัย ต้องเป็นปัจจัยโดยสภาพที่ยังมีอยู่ จึงจะเป็นปัจจัยได้ เช่น สหชาตัตถิปัจจัย ได้แก่ จิตและเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกันในขณะนั้น เกิดพร้อมกัน
คำว่า สหชาต คือ เป็นปัจจัยโดยเกิดพร้อมกับปัจจยุปบัน เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตเป็นสหชาตัตถิปัจจัยแก่เจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย และจิตตชรูป เพราะจิตตชรูปต้องเกิดพร้อมกับจิต
โลภมูลจิตเป็นปัจจัยแก่เจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วยในขณะที่โลภมูลจิตยังมีอยู่ในขณะนั้น และเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับโลภมูลจิตนั้นก็เป็นปัจจัยแก่โลภมูลจิตในขณะที่เจตสิก ๑๙ ดวงนั้นยังมีอยู่ในขณะนั้น ยังไม่หมดไป และโลภมูลจิตพร้อมทั้งเจตสิกก็เป็นปัจจัยให้เกิดจิตตชรูปในขณะที่โลภมูลจิตนั้นยังมีอยู่เท่านั้น
เพราะฉะนั้น การเป็นปัจจัยโดยที่สภาพที่เป็นปัจจัยนั้นกำลังมีอยู่ ชื่อว่า อัตถิปัจจัย
ถ้าจะคิดถึงสภาพธรรมอื่นก็ย่อมจะพิจารณาได้ เช่น มหาภูตรูปเป็นปัจจัยให้เกิดมหาภูตรูป มหาภูตรูป ๔ ได้แก่ ธาตุดิน ๑ ธาตุน้ำ ๑ ธาตุไฟ ๑ ธาตุลม ๑ ถ้ายกมหาภูตรูปหนึ่งขึ้นเป็นปัจจัย มหาภูตรูป ๓ ก็เป็นปัจจยุปบัน
เพราะฉะนั้น ในขณะที่มหาภูตรูป ๑ เป็นปัจจัยแก่มหาภูตรูป ๓ ต้องเป็นปัจจัยในขณะที่มหาภูตรูป ๑ กำลังมีอยู่ในขณะนั้นเอง เช่นเดียวกับมหาภูตรูป ๔ เป็นปัจจัยแก่อุปาทายรูปซึ่งเป็นรูปที่อาศัยเกิดกับมหาภูตรูป มหาภูตรูปที่จะเป็นปัจจัยแก่ อุปาทายรูปได้ ต้องในขณะที่มหาภูตรูปนั้นยังมีอยู่ โดยนัยของอัตถิปัจจัย
สภาพธรรมกำลังอยู่ที่ตัวเกิดดับโดยปัจจัยต่างๆ พร้อมทั้งรูปภายนอกด้วย ก็เป็นปัจจัยกันโดยอัตถิปัจจัย
สำหรับปัจจัยต่อไป เป็นปัจจัยที่คู่กับอัตถิปัจจัย ได้แก่ อวิคตปัจจัย ซึ่งเป็นธรรมที่อุปการะโดยเป็นสภาพที่ยังไม่ปราศไป คือ ยังไม่จากไป ยังไม่หมดไป ยังไม่ สิ้นไป
สำหรับอัตถิปัจจัย เป็นปัจจัยโดยเป็นสภาพที่มีอยู่ แต่อวิคตปัจจัย เป็นปัจจัยโดยสภาพที่ยังไม่ปราศไป คือ ยังไม่หมดไป เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นสภาพธรรมที่มีอยู่ด้วยกันในขณะนั้นก็จริง แต่อาจจะปราศไป คือ จากสภาพธรรมอื่นซึ่งมีอยู่ในที่นั้นขณะไหนก็ได้ ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้นไม่ใช่โดยอวิคตปัจจัย แต่ถ้าโดยอวิคตปัจจัย หมายความว่า สภาพธรรมที่เป็นปัจจัยนอกจากจะเป็นปัจจัยโดยอัตถิปัจจัย คือ โดยเป็นสภาพที่ยังมีอยู่แล้ว ยังต้องเป็นปัจจัยโดยเป็นอวิคตปัจจัย คือ ถึงมีอยู่ก็ยังไม่ปราศไปด้วย
และระหว่างจิตกับเจตสิก ขณะที่จิตเกิดขึ้น เป็นปัจจัยให้เจตสิกเกิดพร้อมกัน ในขณะที่จิตนั้นยังมีอยู่โดยอัตถิปัจจัย และในขณะที่จิตเกิดขึ้นเป็นปัจจัยให้เจตสิกเกิดพร้อมกันด้วยในขณะนั้น นอกจากจะเป็นอัตถิปัจจัยแล้ว ยังเป็นโดยอวิคตปัจจัย คือ โดยที่จิตนั้นยังไม่ปราศไปด้วย ฉะนั้น ทั้งยังมีอยู่และยังไม่ปราศไป
ปัจจัยต่อไป คือ โดยนัตถิปัจจัย
ได้แก่ สภาพธรรมที่อุปการะโดยเป็นสภาพที่ไม่มีแล้ว ตรงกันข้ามกับอัตถิปัจจัย อัตถิปัจจัย หมายความถึงเป็นสภาพธรรมในขณะที่กำลังมีอยู่ แต่นัตถิปัจจัยเป็นสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยโดยเป็นสภาพที่ไม่มีแล้ว ได้แก่ จิตและเจตสิกดวงก่อนๆ ที่เกิดและดับไปเป็นปัจจัยแก่นามธรรม คือ จิตและเจตสิกดวงหลังๆ ซึ่งเกิดต่อ
ถ้าจิตดวงหนึ่งยังเกิดอยู่ ยังไม่ดับไป จะไม่สามารถมีจิตดวงอื่นเกิดได้เลย แต่ต้องจิตดวงที่กำลังมีอยู่นี้แหละดับไป ปราศไปก่อน จึงเป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น การดับไปของจิตดวงก่อนซึ่งเป็นปัจจัยให้จิตดวงหลังเกิดขึ้นโดยนัตถิปัจจัย คือ เป็นสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยโดยไม่มีแล้ว จึงทำให้สภาพธรรมที่เป็นปัจจยุปบันเกิดขึ้นได้
สำหรับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ เป็นนัตถิปัจจัยแก่จิตดวงต่อไปซึ่งจะเกิดต่อ
ถ้าเป็นชวนจิตดวงที่ ๑ คือ เป็นโลภมูลจิตขณะที่ ๑ ดับไป ก็เป็นนัตถิปัจจัยให้โลภมูลจิตดวงที่ ๒ เกิดต่อ ถ้าเป็นโลภมูลจิตขณะที่ ๒ เกิดและดับไป ก็เป็นนัตถิปัจจัยให้โลภมูลจิตดวงที่ ๓ เกิดต่อ เพราะฉะนั้น จิตและเจตสิกทุกดวงซึ่งเกิดร่วมกัน เป็นปัจจัยโดยไม่มีแล้วให้จิตและเจตสิกดวงต่อไปเกิดขึ้น คือ ปัจจยุปบันต้องเกิดเมื่อจิตและเจตสิกดวงก่อนที่เป็นปัจจัยไม่มีแล้ว
สำหรับปัจจัยที่คู่กับนัตถิปัจจัย คือ วิคตปัจจัย วิคตปัจจัยเป็นปัจจัยที่อุปการะ โดยเป็นสภาพที่ปราศไปแล้ว ที่ว่าไม่มี ต้องหมายความว่า ไม่มีโดยปราศไป ไม่ใช่ว่าไม่เคยมีเลย
เพราะฉะนั้น สำหรับนัตถิปัจจัยและวิคตปัจจัย ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นปัจจัย คู่กันเหมือนกับอัตถิปัจจัยและอวิคตปัจจัย แต่สำหรับอัตถิปัจจัยนั้นนอกจากนามธรรมจะเป็นปัจจัยแก่นามธรรมแล้ว รูปธรรมยังเป็นปัจจัยแก่รูปธรรมได้ด้วย ส่วนนัตถิปัจจัย เฉพาะนามเท่านั้น เช่น เมื่อจิตเจตสิกดวงก่อนเกิดและดับไป เป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกดวงหลังเกิดขึ้นเท่านั้น
ปัจจัยทั้งหมดโดยประเภทใหญ่ๆ มี ๒๔ ปัจจัย แต่สำหรับโลภมูลจิต เป็นปัจจัยได้เพียง ๒๒ ปัจจัยเท่านั้น ที่เป็นปัจจัยไม่ได้ คือ โลภมูลจิตไม่เป็น ปุเรชาตปัจจัย และไม่เป็นวิปากปัจจัย
ปุเรชาตปัจจัย ได้แก่ รูปที่เกิดก่อนและยังไม่ดับไป เป็นปัจจัยแก่นามธรรม
ความหมายของปุเรชาตปัจจัย ปุเรชาตะ คือ สภาพของรูปธรรมที่เกิดก่อนและยังไม่ดับ เป็นปัจจัยให้เกิดนามธรรม เช่น ในขณะที่ทุกท่านกำลังเห็นในขณะนี้ จักขุปสาทเกิดก่อนจักขุวิญญาณ และรูปารมณ์ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็เกิดก่อน จักขุวิญญาณ เพราะฉะนั้น ทั้งจักขุปสาทและรูปารมณ์จึงเป็นปุเรชาตปัจจัยแก่ จักขุวิญญาณ
ในขณะที่กำลังได้ยินเสียง เสียงต้องเกิดและกระทบกับโสตปสาท เพราะฉะนั้น ทั้งเสียงและโสตปสาทเกิดก่อนโสตวิญญาณที่ได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น ทั้งเสียงและโสตปสาทเป็นปัจจัยแก่โสตวิญญาณโดยเป็นปุเรชาตปัจจัย เป็นรูปธรรมซึ่งเกิดก่อน และยังไม่ดับ เป็นปัจจัยให้นามธรรมเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น สำหรับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ เมื่อไม่ใช่รูป จึงไม่เป็นปุเรชาตปัจจัย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๑๓๓๑ – ๑๓๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1321
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1322
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1323
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1324
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1325
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1326
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1327
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1328
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1329
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1330
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1331
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1332
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1333
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1334
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1335
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1336
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1337
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1338
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1339
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1340
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1341
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1342
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1343
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1344
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1345
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1346
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1347
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1348
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1349
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1350
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1351
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1352
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1353
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1354
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1355
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1356
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1357
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1358
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1359
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1360
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1361
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1362
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1363
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1364
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1365
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1366
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1367
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1368
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1369
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1370
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1371
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1372
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1373
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1374
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1375
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1376
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1377
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1378
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1379
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1380