แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1359


    ครั้งที่ ๑๓๕๙


    สาระสำคัญ

    ความสำคัญตนด้วยมานะ (ด้วยความทะนง ด้วยความสำคัญตน)

    ถ้าไม่รู้ว่าขณะใดเป็นมานะ ก็ละมานะไม่ได้

    อถ.ขุ.มานสูตร - มานะทั้งหมดมีการยกตน และข่มผู้อื่น เป็นนิมิต

    อถ.ขุ.มักขสูตร - แสดงลักษณะของมานะ

    อถ.ขุททกวัตถุวิภังคนิทเทส - ลักษณะของความลบหลู่

    อถ.ขุททกวัตถุ- วิภังคนิทเทส - ตีเสมอผู้อื่น


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๒๗


    ท่านผู้ฟังเคยมีความสำคัญตนด้วยมานะไหม เคยคิดได้บ้างไหมว่า ขณะไหนในวันหนึ่งๆ ที่มีความสำคัญตนว่าเรา เมื่อมีคำว่าเรา สังเกตได้เลยว่า ด้วย ความพอใจ หรือว่าด้วยความทะนง ความสำคัญตน หรือว่าด้วยความเห็นผิด

    ซึ่งปกติแล้วจะเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรา หรือของเรา ด้วยความพอใจที่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ หรือในบางขณะก็เป็นเราด้วยความสำคัญตน คือ เป็นมานเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกับ โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ในขณะนั้น

    สำคัญตนว่าเป็นเราในรูปธรรมได้ไหม คือ ความพอใจในรูปธรรมด้วยโลภะ มีแน่นอนตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า มีความพอใจในผม ในหน้า ในคิ้ว ในตา ในเล็บ ในมือ ในเท้า ทุกสิ่งทุกประการ นั่นคือความพอใจในรูปธรรมว่า ของเราเป็นอย่างนี้ ของเราเป็นอย่างนั้น และสามารถจะมีความสำคัญตน ทะนงตนในรูปธรรมที่ถือว่า เป็นเราได้ไหม มีไหม

    ตำราดูลักษณะ ศีรษะอย่างนั้น หน้าผากอย่างนี้ ตา จมูก คางต่างๆ เหล่านั้น นี่คือเรา หน้าผากเราไม่เหมือนของคนอื่น คางเราไม่เหมือนของคนอื่น เมื่อ มีความยินดีพอใจแล้ว ย่อมทำให้มีความสำคัญในสิ่งซึ่งพอใจนั้นเพิ่มขึ้นด้วย ความมานะหรือความสำคัญตน

    ในการแต่งตัวมีมานะได้ไหม แต่งตัวเพราะพอใจด้วยความสวยงาม เพราะ ทุกคนก็ต้องชอบสิ่งที่น่าดู สิ่งที่สวยงาม นั่นก็ด้วยความพอใจที่เป็นโลภะ แต่ว่าตกแต่งประดับประดาด้วยมานะได้ไหม เพชรนิลจินดาต่างๆ บางท่านก็บอกว่า ไม่ใส่ไม่ได้ เพราะคนอื่นจะมองว่าไม่มีสมบัติอะไรเลย เพราะฉะนั้น ในบางงานก็จำเป็นต้องประดับประดาตกแต่งด้วยเครื่องเพชรนิลจินดาต่างๆ ในขณะที่เป็นอย่างนั้น จะระลึกได้ไหมว่าด้วยมานะ หรือว่าด้วยโลภะ หรือว่าทั้งสองอย่าง โลภะก็ แก้วแหวนเงินทองต่างๆ สวย แต่เวลาใส่นอกจากความสวยแล้ว ยังเพิ่มความ สำคัญตน ความทะนงตนขึ้นอีกหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นพิจารณารู้ลักษณะของ สภาพธรรมตามความเป็นจริง ย่อมเป็นปัจจัยให้โลภะเจริญอยู่ตลอดเวลา ในชีวิตประจำวัน และการที่จะละคลายความพอใจ หรือความสำคัญตนจะมีได้เมื่อไร ถ้าเป็นผู้ที่มากมายด้วยทรัพย์สมบัติแก้วแหวนเงินทองสิ่งต่างๆ มีทางที่จะละคลายมานะได้ไหม หรือว่าไม่มี แต่ต้องมี ถ้าระลึกถึงกรรมและผลของกรรม เท่านั้นเอง

    คือ สภาพธรรมทุกอย่างที่เป็นวิบาก ที่จะปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ต้องเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็จะได้รับทุกสิ่งทุกอย่างทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มีความสุขความสบายพร้อมมูลทุกประการ แต่ถ้าเกิดความวิบัติขึ้นในขณะใด ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นผลของกรรม เพราะทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกรรมซึ่งเป็นปัจจัยด้วย

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีทรัพย์สมบัติ และรู้ว่าเป็นผลของกรรม จะไม่มีมานะก็ได้ ถึงแม้ว่าจะประดับประดาตบแต่งด้วยเหรียญตราเครื่องยศต่างๆ ก็รู้ว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไป ลาภ สักการะ ยศศักดิ์ต่างๆ ก็ตามกรรมที่ได้กระทำไว้ และไม่เที่ยงด้วย มีการที่จะเสื่อมลาภ เสื่อมยศได้ หรือการสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ ก็จะทำให้ สูญสิ้นในลาภ ยศ สักการะต่างๆ

    แม้แต่การรับประทานอาหารซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ด้วยโลภะธรรมดาก็ได้ หรือว่าด้วยมานะได้ไหม บางท่านต้องรับประทานอาหารร้อนๆ สุกใหม่ๆ เพราะว่า คนอย่างเราจะรับประทานอาหารเย็นๆ ชืดๆ ไม่ได้ ในขณะนั้นก็ต้องเพราะความสำคัญตน แต่ถ้าในขณะที่ขวนขวายจะปรุงอาหารให้ร้อนด้วยความพอใจเท่านั้น เนื่องจากเป็นผู้ติดในรสที่อาหารต้องร้อน ในขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิตซึ่งที่ไม่ได้ประกอบด้วยความสำคัญตน แต่จะมีความสำคัญตนเกิดร่วมด้วยถ้ามีความสำคัญว่า เราจะบริโภคอาหารเย็นๆ ชืดๆ อย่างนั้นไม่ได้

    ถ. ถ้าเราทานอาหารโดยคิดว่า เพื่อบำรุงสุขภาพร่างกายของเราให้มีชีวิตอยู่รอดต่อไปเพื่อปฏิบัติธรรมได้มากยิ่งขึ้น และเราก็เลือกอาหารที่มีคุณค่ามารับประทาน อย่างนี้จะเป็นความสำคัญผิดได้หรือเปล่า

    สุ. ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ต้องเป็นอกุศล แล้วแต่ว่าจะน้อยหรือจะมาก

    ถ. หมายความว่า เป็นกุศล ใช่ไหม ถ้าเลือกอาหารที่มีคุณภาพเพื่อ หล่อเลี้ยงร่างกายของเราให้ปฏิบัติธรรมได้มากยิ่งขึ้น ขณะที่จิตคิดอย่างนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    สุ. มีความพอใจในรสอาหารอย่างนั้นไหม

    ถ. ไม่มี กินเพื่อจะมีชีวิตอยู่ เพื่อจะปฏิบัติธรรม

    สุ. ถ้าเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ ก็ต้องเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นด้วยจึงจะรู้ว่า มีความพอใจในรสอาหารนั้นด้วยหรือเปล่า ซึ่งความจริงแล้ว การที่จะได้อิฏฐารมณ์แต่ละอย่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับ ตบแต่ง หรือว่าอาหารก็ตาม ขอให้พิจารณาว่า กว่าจะได้อิฏฐารมณ์แต่ละอย่างๆ นั้น อกุศลจิตเกิดมากเท่าไร กว่าจะสำเร็จได้

    ถ. บางทีโลภะเข้ามาทำให้เราหลงว่า เราทำถูก มีความพอใจ คือ ทำให้เรามองคนภายนอกว่า ทัศนะความเห็นของเรานี่ถูกต้อง แต่สภาพความจริงไม่เป็นอย่างนั้น แสดงว่าเรามีโมหะ

    สุ. มานะด้วยก็ได้ ถ้ามีเรา มีเขา เราถูก เราเก่ง เราดี หรือว่าคนอื่น ด้อยกว่า ความติดในสิ่งที่มี และยึดถือว่าเป็นของเราด้วยโลภะ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะโลภะอย่างเดียว ยังเพิ่มความสำคัญตนซึ่งเป็นมานะขึ้นมาอีก ซึ่งจะเห็นได้ว่า เวลาที่มานะเกิดขึ้น จะมีความรู้สึกเหมือนกับว่า เราเก่งกว่าคนอื่น เราดีกว่าคนอื่น หรือเราเสมอกันกับคนอื่น

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ควรที่จะพิจารณาว่า มีมานะมากน้อยแค่ไหน และในขณะไหนบ้าง เพราะถ้าไม่รู้ว่าขณะใดเป็นมานะ ก็ไม่ละมานะในขณะนั้น

    ถ. คือ ไม่เห็นโทษ ใช่ไหม

    สุ. ไม่เห็นโทษก็ไม่ละ แต่ทำอย่างไรจึงจะเห็นได้ว่า มานะมากแล้วจึงได้ปรากฏ เพราะปกติประจำวันถ้าไม่สังเกต ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ อรรถกถามานสูตร ข้อ ๑๘๔ มีข้อความว่า ที่จะรู้ตัวว่ามีมานะมากน้อยแค่ไหน ในขณะไหน คือ

    มานะทั้งหมด มีการยกตนและข่มผู้อื่นเป็นนิมิต

    คือ เป็นสภาพที่ปรากฏให้รู้ได้

    เป็นเหตุให้ไม่ทำการกราบไหว้ต้อนรับ คือ อัญชลีกรรมและสามีจิกรรมเป็นต้น ในท่านผู้อยู่ในฐานะที่ควรเคารพ เป็นเหตุให้ถึงความประมาทโดยความมัวเมาในชาติ เป็นต้น

    สภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับมานะ คือ ขณะที่ จิตอ่อนน้อมในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ในขณะที่มีความรู้สึกอ่อนน้อมในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ความรู้สึกในขณะนั้น ดุจคนจัณฑาลเข้าไปสู่ราชสภา

    เคยเป็นคนสำคัญมากเวลาที่มานะเกิด แต่ขณะใดมานะไม่เกิด และมีความอ่อนน้อมแทนมานะ ความรู้สึกในขณะนั้น ดุจคนจัณฑาลเข้าไปสู่ราชสภา

    ถ. เวลาที่คนอื่นมีปฏิกิริยาตอบโต้เรามา จะถือว่าเป็นวิบากของเราได้ไหม

    สุ. วิบาก หมายความถึงสภาพธรรมที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ไม่น่าพอใจขณะใด ขณะนั้นเป็นอกุศลวิบาก ถ้าเป็นสิ่งที่น่าพอใจ ขณะนั้นเป็นกุศลวิบาก

    เพราะฉะนั้น รู้จักตัวเองได้ ขณะใดที่ไม่มีการกราบไหว้ ไม่มีการต้อนรับต่อผู้ที่อยู่ในฐานะที่ควรแก่การที่จะต้อนรับหรือกราบไหว้ ในขณะนั้นถ้ารู้สึกตัวขึ้นมาทันที จะรู้ถึงความกระด้างของจิต และถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะรู้ว่า ในขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้ว ชื่อว่ามานะ เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ต้องเห็นว่าเป็นโทษจริงๆ

    สำหรับความสำคัญตนและความทะนงตน ซึ่งเป็นลักษณะของมานะที่ทำให้มีอาการเย่อหยิ่ง จะเป็นเหตุให้มีการกระทำทางกาย ทางวาจาต่างๆ ซึ่งเป็นไปด้วยโลภะบ้าง มานะบ้าง เช่น ข้อความใน อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ มักขสูตร แสดงลักษณะของมานะ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการกระทำต่างๆ ทางวาจา และในขณะที่วาจาต่างๆ นั้นเกิดขึ้น เป็นขณะที่จิตเป็นไปด้วยโทสะ แต่เป็นเพราะมานะเป็นมูล เช่น การลบหลู่คุณท่าน ถ้าผู้นั้นไม่มีความสำคัญตน การลบหลู่คุณบุคคลอื่นย่อมไม่มี แต่ในขณะใดที่มีความสำคัญตน และมีความไม่พอใจในบุคคลนั้น จะสามารถแสดงกิริยาอาการลบหลู่ได้

    บทว่า มักขัง ได้แก่ ลบหลู่คุณท่าน เป็นกรรมอันประกอบด้วยความกระด้าง คนลบหลู่นั้นเหมือนจับคูถ (อุจจาระ) แล้วประหารผู้อื่น กายของตนย่อมเปื้อนก่อนทีเดียว คนลบหลู่นั้นย่อมลบหลู่ คือ ล้างคุณของผู้อื่นให้พินาศไปดุจผ้าเช็ดน้ำเช็ดน้ำที่ติดตัวของผู้อาบน้ำ ฉะนั้น

    ทั้งๆ ที่ผู้อื่นมีคุณ แต่การที่จะให้คุณของผู้อื่นหมดไป ก็โดยการลบหลู่ ซึ่งเหมือนกับเอาผ้าเช็ดน้ำที่ติดตัวของผู้อาบน้ำฉะนั้น

    หรือใน สัมโมหวิโนทนี ขุททกวัตถุวิภังคนิทเทส มีข้อความว่า

    มักขะ เป็นราวกับว่า เหยียบย่ำความดีของผู้อื่นไว้ด้วยเท้า

    นี่คือลักษณะของความลบหลู่

    จริงอยู่ ท่านกล่าวว่า มักโข คือ ผู้ลบหลู่คุณท่าน เพราะทำลาย กำจัดสักการะอันใหญ่ซึ่งเป็นที่ปรากฏแก่คนเหล่าอื่น พึงเห็นว่าคนลบหลู่นั้น มีการลบล้างคุณของผู้อื่นเป็นลักษณะ มีการทำให้ผู้อื่นพินาศเป็นรส คือ เป็นกิจ มีการตัดทำลายคุณที่ผู้อื่นกระทำแล้วเป็นอาการปรากฏ

    บทว่า มักขิตาเส ได้แก่ เป็นผู้ลบล้างคุณของผู้อื่น คือ ป้ายร้ายความดีของผู้อื่น อธิบายว่า เป็นผู้ขจัดคุณแม้ของตน จากการที่ลบล้างคุณของผู้อื่นนั้นด้วย

    การลบล้างคุณของผู้อื่นเกิดขึ้นขณะใด ควรระลึกถึงสภาพของจิตของผู้ที่กำลังลบล้างคุณของผู้อื่นในขณะนั้นว่า เป็นอกุศลกรรมของตนเอง ซึ่งจะต้องให้ผล ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นคิดที่จะลบล้างคุณของคนอื่น แต่จิตที่กำลังคิดอย่างนั้นเป็นอกุศล และเมื่อได้กระทำกรรมนั้นแล้วก็เป็นอกุศลกรรม ซึ่งตนเองจะต้องเป็นทายาท คือ เป็นผู้ที่รับผลของกรรมนั้น

    นี่ก็เพราะมานะเป็นเหตุ แม้ว่าในขณะนั้นจิตประกอบด้วยโทสะ

    ถ. ถ้ามีผู้มาว่าเรา หมายความว่าเราเคยได้สร้างกรรมเอาไว้ ถ้าเราโต้ตอบก็เท่ากับเราสร้างกรรมต่อไป ใช่ไหม

    สุ. ถูกต้อง

    ถ. อยู่ที่เราจะสามารถอดทน เข้าใจความจริงได้แค่ไหน เราจึงจะไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ ใช่ไหม

    สุ. ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ จะรู้ลักษณะสภาพจิตในขณะนั้นได้ เพราะบางครั้งจะต้องโกรธเป็นของธรรมดา แต่ความโกรธนั้นจะถึงขั้นที่จะโต้ตอบหรือ ไม่โต้ตอบ หรือจะเกิดจิตที่เมตตาบุคคลนั้นแทนก็ได้ เพราะเห็นว่า ผู้โกรธย่อมเป็นผู้ที่ได้รับผลของความโกรธนั้นเอง

    ถ. บางครั้งคนที่เขาผูกพยาบาทเรา เราก็ใช้ความเมตตา สงสารที่เขาต้องเป็นทุกข์ เพราะเข้าใจเราผิดไป คือ เราต้องการให้เขาทำอะไรที่ถูกต้อง แต่เขากลับเห็นเป็นโทษ

    สุ. เป็นเรื่องยากที่จะให้ผู้อื่นเข้าใจเจตนาของเรา เพราะบางครั้งแม้เรามีกุศลเจตนา แต่คนอื่นก็ยังเข้าใจผิดได้ เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรถ้าคนอื่นเข้าใจเราผิด

    ถ. เราก็ทำตัวให้ผิดกับที่เขาคิดเอาไว้ เปลี่ยนความคิดเขาโดยการปฏิบัติเป็นอีกอย่างหนึ่ง เขาก็จะเข้าใจว่า สิ่งที่เขาทำนั้น เขาคิดผิด ถูกไหม

    สุ. บางท่านก็พากเพียรใช้วิธีต่างๆ ที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจถูก แต่ถ้าเหลือวิสัยที่จะเข้าใจได้ ก็ต้องปล่อยไป เพราะไม่สามารถจะทำได้ดีกว่านั้นอีก

    ถ. ต้องใช้ความอดทน ถ้าเขาว่าเรามากๆ ว่า สิ่งที่เราทำนั้นผิด แต่ที่ เราปฏิบัติมานั้นตรงทาง ซึ่งคนอื่นเขายังมองไม่เห็น

    สุ. ข้อสำคัญที่สุด คือ รักษาใจของเราให้เป็นกุศล

    นอกจากนั้น มานะยังเป็นเหตุให้มีอกุศลกรรมทางวาจา คือ ปลาสะ การตีเสมอ

    นี่คือชีวิตตามความเป็นจริง ไม่ใช่ใครทั้งนั้น แต่เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ซึ่งเมื่อสะสมมีกำลังเพิ่มขึ้น ที่จะไม่ให้ปรากฏทางกาย ทางวาจา เป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ และเมื่อมีการปรากฏแล้ว ถ้าสติเกิดระลึกได้ย่อมเห็นโทษ ข้อสำคัญที่สุด คือ ต้องเห็นโทษของอกุศลตามความเป็นจริง เพราะตราบใดที่ยังไม่เห็นว่าอกุศลนั้นๆ เป็นโทษ ก็จะไม่มีการพากเพียรที่จะละอกุศลนั้นๆ และบางครั้งอาจจะไม่รู้จัก สภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นอกุศลประเภทใด เช่น ตีเสมอ ก็เป็นอกุศลธรรม เพราะมีความสำคัญตนด้วย

    สัมโมหวิโนทนี ขุททกวัตถุวิภังคนิทเทส วรรณนาทุกนิทเทส มีข้อความว่า

    บุคคลใดย่อมตีเสมอผู้อื่น คือ ไม่แสดงคุณของผู้อื่น ย่อมทำคุณทั้งหลายคล้ายกับเป็นคุณของตนๆ เพื่อนำมาซึ่งความชนะของตนเป็นลักษณะ ทำคุณทั้งหลายของตนให้เสมอกับคุณของบุคคลอื่นเป็นรส

    ดีเท่ากัน เก่งเท่ากัน รู้เท่ากัน เพราะฉะนั้น ย่อมยังคุณของตนให้แผ่ออกไปเสมอๆ

    ข้อความในอรรถกถา ยกตัวอย่างเช่น

    ในโรงธัมมสากัจฉา (คือ การสนทนาธรรม) ย่อมจะกล่าวเหยียดออกไปซึ่งคุณของตนให้เสมอๆ กับผู้อื่นว่า ในวาทะของท่านและวาทะของเรา เหตุอันแตกต่างกัน ชื่อว่ามีอยู่หรือ ถ้อยคำของเรา ก็เป็นเช่นเดียวกับท่านนั่นแหละ เปรียบเหมือนแท่งทองคำอันบุคคลผ่าออกแล้ว ก็เป็นทองคำนั่นแหละ มิใช่หรือ

    นี่คือสำนวนของคนในยุคนั้น ซึ่งท่านก็มีคำที่สุภาพ แต่แม้กระนั้นก็เป็นการ ตีเสมอ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๖ ตอนที่ ๑๓๕๑ – ๑๓๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 89
    28 ธ.ค. 2564