แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1361


    ครั้งที่ ๑๓๖๑


    สาระสำคัญ

    พระสูตรแสดงไว้มากในเรื่องของโลภะ กิเลสต่างๆ

    จาปัลยนิทเทสอธิบายการชอบ ตบแต่ง

    อสภาควุตตินิทเทส อธิบายความประพฤติไม่สมควร

    อถ.วิ.อธิบายสมุทัยสัจจะ

    อถ.ติก.ติตถิยสูตรที่ ๘ แสดงเรื่องโทษของโลภะ โทสะ โมหะ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๗


    ข้อความต่อไปใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา ขุททกวัตถุวิภังคนิทเทส จาปัลยนิทเทส อธิบายการชอบตบแต่ง มีว่า

    คำว่า อิมัสสะ วา ปูติกายัสสะ (แปลว่าการตบแต่งกายอันเปื่อยเน่า) คือ กายมนุษย์แม้มีสีเพียงดั่งสีแห่งทอง พระผู้มีพระภาคย่อมตรัสเรียกว่า กายอันเปื่อยเน่านั่นแหละ การประดับกายอันเปื่อยเน่านั้นด้วยเครื่องอาภรณ์ มีเครื่องนุ่งห่มเป็นต้น อันมีสีแดง สีเหลือง เป็นต้น ชื่อว่าการตบแต่ง

    คำว่า มัณฑนา วิภูสนานี้ พึงทราบว่า ชื่อว่ามัณฑนา (การแต่งกาย) ด้วยสามารถแห่งการยังที่อันบกพร่องให้เต็ม

    ชื่อว่าวิภูสนา (การประดับ) ด้วยสามารถแห่งการประเทืองผิว เป็นต้น

    คำว่า เกฬนา ได้แก่ การเล่นหัว

    คำว่า ปริเกฬนา ได้แก่ การร่าเริง

    เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ใช่ไหม โลภะทั้งนั้นจริงๆ ถ้าสติเกิด ย่อมสามารถระลึกรู้ลักษณะของโลภะได้

    ความเป็นแห่งจิตที่หวั่นไหว ชื่อว่าสภาพที่หวั่นไหว ความเป็นแห่งบุคคลผู้ชอบตบแต่ง ก็ฉันนั้น

    คำว่า อิทัง วุจจติ พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ความเป็นผู้หวั่นไหวไปเพราะชอบตบแต่ง บุคคลผู้ประกอบด้วยการตบแต่งใด บุคคลนั้นแม้มีอายุตั้งร้อยปีก็ย่อมเป็นราวกะทารกผู้เกิดในวันนั้น ดังนี้

    ถ้าไม่ทรงแสดงไว้ ก็ไม่สามารถระลึกถึงกิเลสของตนเอง แต่แม้ว่าจะทรงแสดงไว้อย่างนี้ หรือมากยิ่งกว่านี้ ผู้ที่มีกิเลสก็ไม่สามารถที่จะดับหรือละกิเลสนั้นได้ ถ้าปัญญาไม่เจริญขึ้นจนสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง และ ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทเป็นขั้นๆ ตามลำดับ

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ทรงเตือน ทรงโอวาท เพื่อให้รู้สภาพของกิเลสตามความเป็นจริง ซึ่งนอกจากกิเลสที่เป็นไปในการแต่งตัวแล้ว ยังมีกิเลสที่ทำให้เป็นไป ในความประพฤติที่ไม่สมควรต่างๆ

    ข้อความใน อสภาควุตตินิทเทส อธิบายความประพฤติไม่สมควรว่า ความประพฤติไม่สมควรนี่มีมาก แต่ที่ทรงแสดงไว้ให้ระลึกได้ คือ ความประพฤติไม่คล้อยตามพระพุทธพจน์ ชื่อว่าความประพฤติไม่สมควร

    คำว่า อยัง วุจจติ ความว่า บุคคลนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียก ชื่อว่า ผู้มีความประพฤติไม่สมควร อธิบายว่า ความเป็นผู้มีชีวิตอยู่อันไม่เหมาะสมดังนี้

    บุคคลผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้มีชีวิตอยู่อันไม่สมควรใด คือ ย่อมไม่ปฏิบัติเหลียวแลเลี้ยงดูมารดาหรือบิดาผู้ป่วยไข้ ย่อมทำการทะเลาะกับบิดามารดา เพราะทรัพย์สมบัติ ย่อมทะเลาะกับพี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว เพราะเหตุ แห่งทรัพย์ของมารดาบิดา ย่อมกล่าววาจาหมดยางอาย ย่อมไม่ทำวัตรและวัตรอาศัยต่ออาจารย์ ต่ออุปัชฌาย์ ไม่อุปัฏฐากภิกษุผู้อาพาธ ย่อมถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะในสถานที่เป็นที่เคารพแห่งพระเจดีย์ของพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระพุทธเจ้า ย่อมทิ้งเขฬะบ้าง น้ำมูกบ้าง ย่อมกั้นร่ม ย่อมเดินใส่รองเท้าเข้าไป ย่อมไม่ละอายใน พระสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมไม่เคารพยำเกรงในสงฆ์ ย่อมไม่ยังหิริโอตตัปปะให้ตั้งขึ้นในที่อันควรเคารพในบุคคลทั้งหลาย มีมารดาและบิดาเป็นต้น การทำอย่างนี้ แม้ทั้งปวงในวัตถุทั้งหลายและในบุคคลมีมารดาเป็นต้นของผู้ประพฤติอยู่อย่างนี้ ย่อมชื่อว่าความประพฤติไม่สมควร

    เป็นการเตือนบุคคลที่เป็นน้องบ้าง พี่บ้าง หรือบุตรธิดาบ้าง เพื่อให้ระลึกได้ว่า ในขณะนั้นเป็นผู้ที่มีความประพฤติสมควรหรือไม่สมควรต่อผู้ที่ควรเคารพ

    เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้าสติไม่เกิดก็ไม่สามารถรู้ได้ในขณะนั้นว่า เป็นความประพฤติที่ไม่สมควร เพราะถ้าโลภะเกิด หรือโทสะเกิด และจะให้กายวาจาเป็นกุศล ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่อย่าลืมว่า ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะถึงแม้จะรู้ว่าเป็นโลภะ หรือเป็นโทสะ แต่ก็ไม่สามารถหมดโลภะและโทสะได้เพียงด้วยความต้องการที่จะให้หมด

    อย่างในคราวก่อน มีท่านผู้ฟังบางท่านที่ได้สนทนาด้วย ท่านบอกว่า พระภิกษุขอให้ท่านเลิกกินหมาก ขอบิณฑบาตไม่ให้กินหมาก ซึ่งถ้าพิจารณาจริงๆ แล้ว การขอไม่ให้กินหมาก ก็เท่ากับขอให้ละสมุทัย เพราะโลภะเป็นสมุทัย เป็นเหตุที่จะให้เกิดอีกในภพต่อๆ ไป ซึ่งทุกคนที่ยังมีโลภะ ยังจะต้องเกิด และเมื่อมีโลภะก็ต้องมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะตามขั้นของบุคคล เพราะฉะนั้น ถ้าจะขอใครไม่ให้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด อย่าลืมว่า ขณะนั้นเท่ากับขอให้บุคคลนั้นละสมุทัยซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดภพ แต่ถ้าสติปัฏฐานไม่เจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม ย่อมไม่สามารถละสมุทัยได้ ซึ่งทุกคนพิสูจน์ได้ว่า ขณะนี้ใครต้องการจะละโลภะอะไร และดูว่าสามารถที่จะละได้หรือไม่

    สัมโมหวิโนทนี สัจจวิภังคนิทเทส นิทเทสสมุทยสัจจะ มีข้อความว่า

    การกระทำภพใหม่เป็นปกติของตัณหานั้น เหตุนั้นตัณหานั้นชื่อว่า โปโนพฺภวิกา

    ถ้าจะรู้ว่า ต้องมีชาติหน้า ก็เพราะชาตินี้ยังมีโลภะอยู่ คนที่ไม่มีโลภะเท่านั้น ที่จะไม่มีภพใหม่ เพราะ การกระทำภพใหม่เป็นปกติของตัณหานั้น เหตุนั้นตัณหานั้นชื่อว่า โปโนพฺภวิกา มีการกระทำภพใหม่เป็นปกติ

    อีกประการหนึ่ง ชื่อว่าโปโนพฺภวิกา ด้วยอรรถว่า เป็นตัวให้ภพใหม่ เป็นตัวเป็นไปเพื่อภพใหม่ เป็นตัวให้เกิดในภพบ่อยๆ ก็ตัณหานี้นั้นย่อมเป็นตัวให้ ภพใหม่ก็มี ไม่ใช่ตัวให้ภพใหม่ก็มี เป็นตัวเป็นไปเพื่อภพใหม่ก็มี ไม่ใช่เป็นไปเพื่อภพใหม่ก็มี เป็นเพียงตัวอำนวยอุปธิแก่ปฏิสนธิที่ตนให้ก็มี ตัณหานั้นแม้ที่ให้ภพใหม่ แม้ที่ไม่ให้ภพใหม่ แม้ที่เป็นไปเพื่อภพใหม่ แม้ที่ไม่เป็นไปเพื่อภพใหม่ แม้ที่อำนวยอุปธิแก่ปฏิสนธิที่ตนให้ ย่อมได้ชื่อว่าโปโนพฺภวิกา ทั้งนั้น

    แสดงให้เห็นว่า ตัณหาในวันหนึ่งๆ ที่จะเป็นเหตุให้เกิดภพใหม่ก็มี ที่ไม่เป็น เหตุให้เกิดภพใหม่ก็มี คือ ถ้าไม่เป็นอกุศลกรรมบถ ก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดภพใหม่ แต่จะเป็นเพียงตัวอำนวยอุปธิแก่ปฏิสนธิที่ตนให้ก็มี คือ ทำให้เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยเป็นไปในเรื่องของโลภะตามที่ได้สะสมมา และเป็นปัจจัยที่จะให้วิบากเกิดขึ้นตามปัจจัยนั้นๆ ด้วย

    ที่ชื่อว่า นันทิราคสหคตา (ประกอบด้วยความกำหนัดยินดี) ด้วยอรรถว่า ไปพร้อมกับนันทิราคะ กล่าวคือ ความยินดียิ่ง

    ผู้ที่ชอบสนุกมากๆ และวันหนึ่งๆ ก็สนุกจริงๆ ด้วยอย่างที่ต้องการ ขณะนั้นให้ทราบว่า นันทิราคสหคตา ด้วยอรรถว่า ไปร่วมกับนันทิราคะ กล่าวคือ ความยินดียิ่ง

    บทว่า ตัตรตัตรา ภินันทินี แปลว่า อันมีความยินดียิ่งในภพที่มีอัตภาพ นั้นๆ หรือแปลว่า อันมีความยินดียิ่งในบรรดาอารมณ์มีรูปเป็นต้นนั้นๆ อธิบายว่า ด้วยความยินดียิ่งในรูป มีความยินดียิ่งในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะและ ในธรรมารมณ์

    ตัณหา ความทะยานอยากในกาม ชื่อว่ากามตัณหา บทนี้เป็นชื่อของราคะเป็นไปในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ความทะยานอยากในภพ ชื่อว่าภวตัณหา ความทะยานอยากในภพ บทนี้ เป็นชื่อของราคะในรูปภพและอรูปภพและความใคร่ในฌาน อันสหรคตด้วยสัสสตทิฏฐิซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจปรารถนาภพ

    ความทะยานอยากในความปราศจากภพ ชื่อว่าวิภวตัณหา ความทะยานอยากในความปราศจากภพ บทนี้เป็นชื่อของราคะ (คือ โลภะ) อันสหรคต (คือ เกิดร่วม) ด้วยอุจเฉททิฏฐิ

    บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเพื่อจะทรงแสดงวัตถุที่ตั้งของตัณหานั้นโดยพิสดาร จึงตรัสคำเป็นอาทิว่า สา โข ปเนสา (ก็ตัณหานี้นั้นแล)

    ในคำนั้น บทว่า อุปปัชชติ แปลว่าย่อมเกิด

    ตัณหานี้ย่อมเกิด ใครจะห้ามหรือยับยั้งไม่ได้เลย

    บทว่า นิวีสติ (ย่อมตั้งอยู่) ด้วยอรรถว่า ย่อมตั้งมั่นด้วยอำนาจเป็นไปบ่อยๆ

    ให้เห็นว่าตัณหาของแต่ละคนมั่นคง แข็งแรง ลึกจริงๆ ยากที่จะสั่นคลอน

    คำว่า สิ่งใดเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ด้วยอรรถว่า สิ่งใดมีสภาพน่ารักและมีสภาพอ่อนหวานในโลก ในคำว่า จักขุง โลเก จักขุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลกเป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้

    ก็สัตว์ทั้งหลายผู้ยึดมั่นในจักขุเป็นต้น โดยเป็นของเราในโลก ดำรงอยู่ในสมบัติแล้ว ย่อมสำคัญจักขุของตน (เป็นต้น) มีประสาท ๕ อันแจ่มใส โดยทำนองรับเงาในกระจกเงาเป็นต้น ดุจสีหบัญชรแก้วมณีที่เผยออกในวิมานทอง ฉะนั้น

    ทุกคนมีตา และจะมีต่อไปอีกทุกภพทุกชาติ ซึ่งอาจจะไม่ได้พิจารณาว่า ตาเป็นที่รัก เป็นสภาพที่น่ารัก เป็นสภาพที่น่าพอใจ เป็นสภาพที่น่ายินดีเพียงใด

    ตาของทุกคนเป็นที่รักมาก และเป็นที่หวังว่าจะนำมาซึ่งประโยชน์ คือ การเห็นสิ่งต่างๆ มีความอยากที่จะเห็นแน่นอน ไม่มีใครอยากที่จะไม่เห็น หรือไม่อยากเห็น เพราะฉะนั้น ย่อมสำคัญจักษุ ดุจสีหบัญชรแก้วมณีที่เผยออกในวิมานทอง ฉะนั้น คือ เทียบคุณค่าของตาของแต่ละคนว่ามีความสำคัญ หรือมีความพอใจในประโยชน์ของตาที่จะเห็นถึงอย่างนั้น

    ข้อความต่อไป

    ย่อมสำคัญโสตดังหลอดเงินและดังสายสังวาล สำคัญฆานะอันได้โวหารว่า มีจมูกโด่งดุจงวงตาลสีเหลืองอันขดตั้งอยู่ สำคัญชิวหาอันอ่อนและให้รสหวานสนิท ดุจแผ่นผ้ากัมพลแดง สำคัญกายดุจไม้เท้าแก่นไม้และดุจเสาระเนียดทองคำ สำคัญมโนอันโอฬาร ไม่เหมือนใจของคนอื่นๆ

    ทั้งตา ทั้งหู ทั้งจมูก ทั้งลิ้น ทั้งกาย ทั้งใจ ใจของท่านเหมือนของคนอื่นไหม นี่เป็นสิ่งที่ทุกคนมีความสำคัญในใจของตน

    ย่อมสำคัญรูป (ภายนอก) ดุจสีทองคำและสีดอกกรรณิการ์ เป็นต้น

    ทุกคนชอบสี ไม่ว่าจะเป็นสีดอกไม้ สีเสื้อผ้า สีของอาหารต่างๆ จะเห็นได้ว่า เพราะเป็นสิ่งที่ตาเห็น และเป็นสิ่งที่ตาที่เห็นคือจักขุวิญญาณนำมาซึ่งความยินดี จึงสำคัญในรูปดุจสีทองคำ และสีดอกกรรณิการ์เป็นต้น

    สำคัญเสียง ดุจเสียงขันของนกการเวกและนกดุเหว่าผู้ยินดี และเสียงกังวานของขลุ่ยแก้วมณีที่เขาเป่าแผ่วๆ สำคัญอารมณ์ คือ กลิ่นเป็นต้น อันเกิดแต่สมุฏฐานที่ตนได้เฉพาะว่า คนอื่นใครเล่าจะมีอารมณ์เช่นนี้

    สำหรับสัตว์เหล่านั้นผู้สำคัญอยู่อย่างนี้ ย่อมมีจักขุเป็นต้นนั้นเป็นปิยรูปและสาตรูป ต่อนั้นสัตว์เหล่านั้นจะมีตัณหาที่ยังไม่เกิดนั่นแล เกิดขึ้นในปิยรูปและสาตรูปนั้น และที่เกิดแล้วจะตั้งลงด้วยอำนาจที่เป็นไปบ่อยๆ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า จักขุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิดย่อมเกิดขึ้นในจักขุนี้

    บทว่า เมื่อเกิด ในพระดำรัสนั้นมีความว่า จะเกิดเมื่อใด ย่อมเกิดขึ้นในจักขุนี้เมื่อนั้น นัยแม้ในบททั้งปวงก็เช่นนี้แล

    กถาแสดงนิทเทสสมุทยสัจจะ จบ

    สมุทัย คือ โลภะ ซึ่งเกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเป็นประจำ ซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่า ไม่เห็นมีอะไร นอกจากเรื่องของโลภะ โทสะ โมหะ จะมีอะไรได้อย่างไร ในเมื่อชีวิตของทุกคนก็มีแต่โลภะ โทสะ โมหะนั่นเอง ถ้าทุกคนไม่มีโลภะ โทสะ โมหะแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงเรื่องของโลภะ โทสะ โมหะเลย แต่เพราะทุกคนมีโลภะ โทสะ มากเหลือเกิน เป็นประจำ เพราะฉะนั้น จึงต้องกล่าวถึงเรื่องของอกุศลธรรม คือ โลภะ โทสะ โมหะ มากๆ เพื่อให้ระลึกได้

    มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ วรรคที่ ๒ ติตถิยสูตรที่ ๘ มีข้อความที่แสดงเรื่องโทษของโลภะ โทสะ โมหะ ว่า

    บทว่า ราโค โข ความว่า ราคะอันเป็นไปแล้ว ด้วยสามารถแห่งความยินดี

    ถ้าพูดเพียงแค่นี้แล้วสติเกิด แล้วพิจารณาจริงๆ ย่อมรู้ชัดในลักษณะของโลภะว่า ยินดี พอใจจริงๆ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ขาด

    บทว่า อัปปสาวัชโช ความว่า ราคะชื่อว่ามีโทษน้อย เพราะโทษ ๒ ประการ

    สำหรับโลภะหรือราคะเป็นสภาพธรรมที่มีโทษน้อย แต่คลายช้า สำหรับโทสะนั้นเป็นสภาพธรรมที่มีโทษมาก แต่คลายเร็ว และสำหรับโมหะนั้นเป็นสภาพธรรมที่มีโทษมาก และคลายช้า

    สำหรับโทษของโลภะที่กล่าวว่า มีโทษน้อย เพราะโทษ ๒ ประการ คือ

    ด้วยสามารถแห่งโทษที่เป็นโลกวัชชะ และด้วยสามารถแห่งโทษที่เป็น วิปากวัชชะ อธิบายว่า เป็นเครื่องประทุษร้ายน้อย

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ทุกคนตั้งแต่เกิดมามีโลภะมาก แต่ว่าโลภะนั้นถึงแม้ว่าเป็นสมุทัย เป็นธรรมที่จะทำให้ก่อเกิดภพข้างหน้าก็จริง แต่ลักษณะของโลภะนั้นมีโทษน้อย แต่คลายช้า ด้วยสามารถโทษที่เป็นโลกวัชชะ และด้วยสามารถโทษที่เป็น วิปากวัชชะ

    ถามว่า อย่างไร

    แก้ว่า ก็มารดาและบิดาทั้งหลายยังชนทั้งหลาย มีพี่ชายและพี่สาว น้องชายและน้องสาว เป็นต้น ให้กระทำซึ่งอาวาหมงคลและวิวาหมงคลแก่บุตรและ พี่น้องชาย เป็นต้น ราคะชื่อว่ามีโทษน้อย ด้วยสามารถโลกวัชชะอย่างนี้ก่อน

    นี่เป็นชีวิตประจำวันของมนุษย์ตั้งแต่เกิดมา บิดามารดาทั้งหลายก็ให้บุตรธิดากระทำอาวาหมงคล วิวาหมงคล เป็นต้น ซึ่งราคะประเภทนี้ ชื่อว่ามีโทษน้อย ด้วยสามารถโลกวัชชะอย่างนี้ก่อน

    ชาวโลกไม่ได้ติเตียนในสิ่งที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม หรือแม้แต่การทำมาหาเลี้ยงชีพซึ่งเป็นโลภะแต่กระทำโดยสุจริต ขณะนั้นก็ไม่มีโทษซึ่งเกิดจากการติเตียนของโลก นั่นคือโลกวัชชะ

    เพราะฉะนั้น สำหรับโลภะซึ่งทุกคนมีและทำให้ทุกคนยังมีชีวิตอยู่ ดำเนินชีวิตไปทุกวันด้วยโลภะนี้ ก็เพราะโลภะมีโทษน้อย ด้วยสามารถโทษที่เป็นโลกวัชชะ เพราะชาวโลกก็ไม่ได้ติเตียน ถ้าไม่ผิดทำนองคลองธรรม



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๗ ตอนที่ ๑๓๖๑ – ๑๓๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 89
    28 ธ.ค. 2564