แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1364


    ครั้งที่ ๑๓๖๔


    สาระสำคัญ

    องฺ.สตฺตก.สัญญาสูตรที่ ๒ - การอบรมเจริญสัญญา ๗ ประการ

    โทสมูลจิต ๒ ดวง

    อส.อธิบายอกุศลจิตดวงที่ ๙ (โทสมูลจิตดวงที่ ๑)

    อส.อธิบายของโทสเจตสิก


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๗


    สัญญาที่ ๒ มรณสัญญา

    เมื่อเจริญอบรมมรณสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับจากการรักชีวิต

    ถ้ายังรักชีวิตอยู่ แสดงว่าการอบรมเจริญมรณสัญญายังไม่ถึงที่ คือ ยังไม่สามารถที่จะกันความรักชีวิตได้ ถ้าผู้ที่มีความรักชีวิตมากย่อมกลัวตาย และอาจ จะทำร้ายสัตว์อื่น บุคคลอื่นได้ เพราะเหตุที่รักชีวิตของตน ซึ่งเป็นอกุศลกรรม ทำให้ไม่พ้นจากสังสารวัฏฏ์ เพราะมีความรักชีวิต

    ทุกคนเกิดมาต่างกันหลายประการ โดยชาติ โดยสกุล โดยฐานะ โดยสมบัติ แต่เวลาตาย เหมือนกันหมด หรือต่างกัน

    ผู้ฟัง ต่างกันที่การประดับศพ คนมีทรัพย์สมบัติมากก็ประดับมาก

    สุ. แต่ผู้ที่ตายแล้วไม่รู้เรื่องเลย

    ผู้ฟัง ถ้าตายแล้ว เหมือนกันหมด

    สุ. คนที่ยังอยู่มองเห็นการประดับศพว่าต่างกัน แต่คนที่ตายแล้ว เหมือนกันหมด คือ สูญสิ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้น ไม่ว่าจะเป็นใครทั้งนั้น

    สัญญาที่ ๓ อาหาเรปฏิกูลสัญญา

    การพิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหารซึ่งบริโภคอยู่ทุกวัน ถ้าผู้ใดเจริญ อาหาเรปฏิกูลสัญญาบ่อยๆ ย่อมทำให้จิตหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับจากตัณหา ในรส ซึ่งมีมากเหลือเกิน ไม่ว่าใคร เวลาที่พูดถึงเรื่องอาหารก็ อะไรอร่อย นั่นแสดงแล้ว ตัณหาในรส

    ถ้าเป็นผู้เจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญาในขณะนั้น ย่อมทำให้ถอยกลับจาก ตัณหาในรส แต่ถ้าจิตยังไหลไปในตัณหาในรส แสดงว่าการเจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญานั้นยังไม่ถึงที่ ถ้าเป็นการอบรมเจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญาที่ถึงที่แล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เพราะว่าสติระลึกในขณะที่กำลังบริโภคอาหาร

    ถ้าเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ กำลังเห็นในขณะที่บริโภค ไม่ใช่ขณะที่กำลังลิ้มรส เพียงเท่านี้ก็เป็นประโยชน์ที่จะให้เห็นว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่สิ่งที่ควรยินดี แม้รสที่อร่อยที่กำลังปรากฏก็สั้นมาก เพราะเพียงเสียงปรากฏ รสอร่อยในขณะนั้นก็ ไม่ปรากฏแล้ว ซึ่งนี่คือผู้ที่จะมีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด

    สัญญาที่ ๔ คือ การเจริญ สัพพโลเกอนภิรตสัญญา

    ไม่เห็นว่าสิ่งใดๆ ในโลกเป็นที่ยินดี ย่อมทำให้จิตหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับจากความวิจิตรของโลก หรือความวิจิตรแห่งโลก ไม่ยื่นไปรับความวิจิตรแห่งโลก

    ซึ่งปกติแล้ว ยื่นไปรับความวิจิตรแห่งโลกที่เพิ่มขึ้นทุกวันตามความคิดที่วิจิตรขึ้น บางท่านตื่นเช้า อ่านรายการสินค้าแล้วว่า ที่ประเทศไหนผลิตสินค้าอย่างไหน และ จะออกจำหน่ายเมื่อไร เริ่มตั้งแต่เช้าก็มีรายการสินค้าต่างๆ ซึ่งวิจิตรยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเครื่องใช้ ของใช้ต่างๆ แต่ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสัพพโลเกอนภิรตสัญญา จะไม่เห็นว่าสิ่งใดๆ ในโลกเป็นที่ยินดี ไม่ได้สนใจที่จะต้องตามความวิจิตรของโลก เพราะฉะนั้น การเจริญสัพพโลเกอนภิรตสัญญานั้น คือ ไม่เห็นว่าสิ่งใดๆ ในโลกเป็นที่ยินดี ตามที่ชาวโลกกำลังยินดีไปตามความวิจิตรที่เพิ่มขึ้น

    สัญญาที่ ๕ คือ การเจริญ อนิจจสัญญา

    จะเห็นได้ว่า ทุกอย่างต้องมาที่ลักษณะของไตรลักษณ์ การเจริญอนิจจสัญญา คือ พิจารณาสภาพความไม่เที่ยงซึ่งมีอยู่เป็นปกติประจำวัน ถ้าเพียงแต่จะพิจารณา เมื่อเช้ากับเดี๋ยวนี้ ก็ต่างกันแล้ว เหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งยังไม่เกิดเมื่อเช้านี้ ตอนบ่ายนี้อาจจะเกิดขึ้น ก็แสดงถึงความไม่เที่ยง สิ่งที่มีแล้วหมดไป ก็แสดงถึงความไม่เที่ยง สิ่งซึ่งยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ก็แสดงถึงความไม่เที่ยง

    เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาถึงสภาพที่ไม่เที่ยงให้ละเอียดขึ้น ย่อมทำให้ จิตหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับ ไม่ยื่นไปรับในลาภ สักการะ และคำสรรเสริญ เมื่อได้อบรมเจริญอนิจจสัญญาถึงที่ แต่ถ้าไม่ถึงที่ ก็ยังไหลไปสู่การยื่นไปรับลาภ สักการะ และคำสรรเสริญ ซึ่งบางคนติดมากจริงๆ ในวันหนึ่งๆ อาจจะไม่คิดเรื่องอื่นเลย นอกจากเรื่องลาภ เรื่องยศ และเรื่องคำสรรเสริญ เพราะไม่ได้เจริญอนิจจสัญญา

    สัญญาที่ ๖ คือ การเจริญ อนิจเจทุกขสัญญา

    เมื่อเห็นว่าไม่เที่ยงแล้ว ยังต้องเห็นว่าเป็นทุกข์ด้วย ไม่ใช่ว่าไม่เที่ยงๆ ก็แล้วไป แต่ต้องเห็นว่า สิ่งที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์ ทุกข์ทั้งนั้น ตลอดวัน เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

    แม้แต่การที่จะต้องแก้ไขสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน ถ้าพิจารณาจริงๆ จะเห็นว่า นั่นคือทุกข์ที่ต้องแก้ไข ถ้าไม่ต้องแก้ไขเลย ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะชีวิตจะคงอยู่โดยที่ไม่มีการบริหาร หรือไม่มีการแก้ไขสิ่งบกพร่องต่างๆ ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญอนิจเจทุกขสัญญา ย่อมทำให้จิตเห็นภัยอย่างแรงกล้าในความเฉื่อยชา ความเกียจคร้าน ความท้อถอย ความประมาท การไม่ประกอบความเพียร การไม่พิจารณา ย่อมปรากฏเปรียบเหมือนความสำคัญว่า เป็นภัย ย่อมปรากฏเหมือนขณะเพชฌฆาตเงื้อดาบขึ้น

    นี่คือความไม่เที่ยงจริงๆ ถ้าทุกคนรู้ว่า อาจจะตายเดี๋ยวนี้ หรือพรุ่งนี้ หรือเมื่อไรก็ได้ แต่ส่วนมากมักจะลืม คือ ไม่ได้คิดถึงความเป็นอนิจจังซึ่งสั้นที่สุด และอาจจะสิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนี้ในขณะไหนก็ได้

    ถ้าคิดถึงการเกิดของสังสารวัฏฏ์ ซึ่งบางครั้งก็เป็นสุคติภูมิ บางครั้งก็เป็น ทุคติภูมิ เสมือนภูเขาสูงใหญ่กลิ้งมาหาทั้ง ๔ ทิศ ในขณะนี้กำลังเป็นอย่างนั้นจริงๆ เวลาที่คิดถึงการเกิด การตาย ซึ่งจะต้องมีต่อไปเรื่อยๆ ในสังสารวัฏฏ์ แต่มองไม่เห็นเลย แต่ถ้าเห็นเป็นภัยใหญ่ เสมือนเขาสูงใหญ่ที่กลิ้งมาหาทั้ง ๔ ทิศ เมื่อนั้นจะรู้สึกว่า ไม่ว่าจะเกิดในภพภูมิใด ก็ต้องมีการจุติและการปฏิสนธิ และมีการรับผลของกุศลกรรมและอกุศลกรรมอย่างสั้นๆ ถ้าเป็นกามาวจรวิบาก ไม่ยาวนานเลย เช่น เสียงกระทบปรากฏนิดเดียวหมดไป สีที่กำลังปรากฏทางตากระทบนิดเดียวหมดไป กลิ่นที่กระทบจมูกนิดเดียวหมดไป อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวที่กระทบกายก็เพียงเล็กน้อยและหมดไป

    สัญญาที่ ๗ คือ การอบรมเจริญ ทุกเขอนัตตสัญญา

    ย่อมเห็นว่าสภาพที่เป็นทุกข์นั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา ผู้ที่อบรมเจริญ ทุกเขอนัตตสัญญา ย่อมมีใจปราศจากทิฏฐิว่าเรา ปราศจากตัณหาว่าของเรา และปราศจากมานะ ทั้งในร่างกายที่มีใจครองนี้ และในสัพพนิมิตในภายนอกเสียได้ ก้าวล่วงกิเลส ๓ ประการ สงบระงับ หลุดพ้นได้เป็นอย่างดี

    แต่ถ้ายังไม่ถึงที่ ก็ยังหวนกลับไปด้วยทิฏฐิว่าตัวเรา หรือว่าด้วยตัณหาว่า ของเรา หรือด้วยมานะว่าเรา สำหรับผู้ที่ถึงที่ย่อมได้ผล คือ มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๗ ประการนี้แล อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ฯ

    จบ สูตรที่ ๖

    นี่เป็นเรื่องของโลภะซึ่งมีอยู่เป็นประจำ แต่ยังมีหนทาง มีสัญญาต่างๆ ที่จะ ทำให้โลภะนั้นคลายลง จนกระทั่งสามารถที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท

    ต่อไปเป็นเรื่องของอกุศลจิตอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่มีใครชอบ คือ โทสมูลจิต ว่าโดยประเภทมีเพียง ๒ ดวงเท่านั้น คือ

    โทมนัสสสหคตัง ปฏิฆสัมปยุตตัง อสังขาริกัง ๑ ดวง

    และ โทมนัสสสหคตัง ปฏิฆสัมปยุตตัง สสังขาริกัง ๑ ดวง

    อกุศลจิตที่เป็นโทสมูลจิตมีเพียง ๒ ดวงเท่านั้น แต่เป็นอกุศลจิตประเภทที่ ไม่มีใครชอบ เพราะเป็นสภาพที่ประทุษร้ายเบียดเบียนให้เป็นทุกข์

    และจะสังเกตรู้ได้ว่า ขณะใดเป็นอกุศลจิตประเภทใด เพราะโลภมูลจิตมี ๘ ดวง หรือ ๘ ประเภท โทสมูลจิตมี ๒ ดวง และโมหมูลจิตมี ๒ ดวง ถ้าขณะนั้นไม่ใช่ความรู้สึกไม่สบายใจ ขณะนั้นก็จะเป็นอกุศลจิตประเภทโลภมูลจิต หรือโมหมูลจิต ซึ่งเกิดกับอุเบกขาเวทนา แต่ถ้าเป็นโทสมูลจิตแล้ว จะเกิดกับเวทนาได้เพียงประเภทเดียวเท่านั้น คือ โทมนัสเวทนา เป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจ

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ขณะใดที่มีความรู้สึกไม่สบายใจ ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะใดทั้งสิ้น จะเป็นในลักษณะความเดือดร้อนใจ ความกังวลใจ ความกระสับกระส่าย ความเศร้าโศก ความหงุดหงิด ความขุ่นเคือง ขณะที่ไม่เพลิดเพลินยินดี แต่รู้สึกยินร้าย ขณะนั้นเป็นจิตซึ่งประกอบด้วยโทสเจตสิกและโทมนัสเวทนา ในอารมณ์ต่างๆ ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ในวันหนึ่งๆ แต่ละคนจะสังเกตได้ว่า เป็นเจ้าโลภะ หรือเจ้าโทสะ ขณะใดที่โกรธบ่อยๆ ลักษณะของโทสะเกิดมากเป็นไปในอาการต่างๆ เป็นผู้ที่มีความโกรธเกิดขึ้นง่ายและเร็ว ขณะนั้นก็เป็นผู้สะสมโทสะมามาก ก็จะรู้สึกตัวว่า เป็นคนเจ้าโทสะ

    อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ พรรณนาอกุศลบทภาชนียะ อธิบาย อกุศลจิตดวงที่ ๙ คือ โทสมูลจิตดวงที่ ๑ มีข้อความว่า

    ใจเสีย หรือใจที่บัณฑิตเกลียด เพราะมีเวทนาอันเลว เหตุนั้นชื่อว่าทุมนะ แปลว่า ใจเสีย หรือใจที่บัณฑิตเกลียด ภาวะแห่งทุมนะ ชื่อว่าโทมนัสสะ

    แสดงให้เห็นว่า เป็นสภาพของจิตที่ไม่มีใครชอบเลย เพราะมีเวทนาอันเลว ซึ่งทำให้เป็นสภาพที่โทมนัส คือ ทุมนะ

    อกุศลจิตชื่อว่าโทมนัสสสหคตัง ด้วยอรรถว่า เกิดร่วมกับโทมนัสเวทนานั้น

    บางท่านอาจจะคิดว่า โทสมูลจิต คือ ลักษณะของความโกรธ ขณะที่จิตประกอบด้วยความโกรธ แต่ไม่ใช่เฉพาะโกรธ กลัว หรือไม่ชอบขณะใด ขณะนั้นต้องเป็นโทสมูลจิตทั้งหมด เพราะเกิดร่วมด้วยกับโทมนัสเวทนา

    สำหรับลักษณะของโทมนัสเวทนา คือ

    อนิฏฐารัมมณานุภวนลักขณัง มีการเสวยอนิฏฐารมณ์เป็นลักษณะ

    อนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ซึ่งเป็นที่ไม่พอใจ

    ยถา ตถา วา อนิฏฐาการสัมโภครสัง มีการเสวยโดยอาการที่ไม่น่าปรารถนาอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นรสะ คือ เป็นกิจ

    เจตสิกาพาธปัจจุปัฏฐานัง มีความเจ็บทางใจเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏ

    เอกันเตเนวะ หทยวัตถุปทัฏฐานัง มีหทยวัตถุโดยส่วนเดียวเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

    เพราะโทสมูลจิตไม่เกิดกับรูปพรหมและอรูปพรหมบุคคล จะเกิดกับผู้ที่เกิดในกามสุคติภูมิหรืออบายภูมิ คือ ในกามภูมิเท่านั้น

    แม้กายไม่เจ็บแต่ใจเจ็บได้ไหม ในวันหนึ่งๆ นั่นคือ ลักษณะของโทมนัสเวทนา

    ทุกคนร่างกายแข็งแรงดี ปกติ แต่ทั้งๆ อย่างนั้น ใจเจ็บแล้วด้วยเวทนาซึ่ง เป็นโทมนัสเวทนา เพราะฉะนั้น ถ้ากายเจ็บ ใจจะเป็นอย่างไร ก็ต้องพลอยรู้สึก ขุ่นข้องหม่นหมองเป็นทุกข์เดือดร้อนด้วยแน่ๆ ด้วยกำลังของทุกขเวทนาที่เกิดทางกาย นอกจากกุศลจิตเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นจึงจะไม่ใช่อกุศลจิต ถึงแม้ว่ากายจะเจ็บ แต่ถ้าสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ปัญญาสามารถประจักษ์แจ้งได้จริงๆ ว่าไม่ใช่ตัวตน ทุกขเวทนานั้นไม่ใช่ของเรา และไม่ใช่เรา ขณะนั้นที่เป็นกุศลนั้น ใจจึงไม่เจ็บ มิฉะนั้นบางทีกายไม่เจ็บ ใจเจ็บ หรือบางที กายเจ็บ จึงทำให้ใจพลอยเป็นทุกข์โทมนัสอย่างมากด้วย

    คำอธิบาย ปฏิฆะ มีข้อความว่า

    ที่ชื่อว่าปฏิฆะ ด้วยอรรถว่า กระทบอารมณ์โดยภาวะที่ไม่พอใจ อกุศลจิต ชื่อว่าปฏิฆสัมปยุตตัง ด้วยอรรถว่า สัมปยุตต์ คือ เกิดร่วมด้วยปฏิฆะนั้น

    เพราะฉะนั้น ปฏิฆะนั้นเป็นอีกชื่อหนึ่งของโทสเจตสิก เพราะเป็นสภาพที่กระทบกระทั่งอารมณ์โดยสภาพที่ไม่พอใจ

    สำหรับคำอธิบายโทสเจตสิก ใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีว่า

    ที่ชื่อว่าโทสะ โดยอรรถว่า เป็นธรรมที่ประทุษร้าย หรือเป็นเหตุให้ประทุษร้าย

    โทสเจตสิกนั้น จัณฑิกกลักขโณ มีความดุร้ายเป็นลักษณะ ราวกับอสรพิษที่ถูกตี

    วิสัปปนรโส มีความกระสับกระส่ายเป็นรสะ ราวกับถูกวางยาพิษ หรือ อัตตโน นิสสยทหนรโส มีการเผาที่อาศัยของตนเป็นรสะ ราวกับไฟไหม้ป่า

    ทุสสนปัจจุปัฏฐาโน มีการประทุษร้ายเป็นปัจจุปัฏฐาน ราวกับข้าศึกศัตรูที่ได้โอกาส

    อาฆาตวัตถุปทัฏฐาโน มีวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความอาฆาตเป็นปทัฏฐาน ราวกับน้ำมูตรเน่าที่ระคนด้วยยาพิษ

    นี่คือลักษณะของโทสะ ซึ่งเป็นข้าศึกภายในที่ประทุษร้ายทันทีที่เกิดขึ้น ตลอดมาในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนาน ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้ถูกใครประทุษร้ายเบียดเบียนเลย นอกจากโทสเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่ประทุษร้าย

    สำหรับโทสเจตสิกที่ว่า เป็นข้าศึกภายในที่ประทุษร้ายทันทีที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่า ไม่มีอะไรที่สามารถกั้นข้าศึกนี้ได้เลย ข้าศึกภายนอกยังมีป้อมปราการ เป็นเครื่องกั้น มีประตูหน้าต่างเป็นเครื่องกั้น แต่ว่าโทสะซึ่งเป็นข้าศึกภายใน เกิดขึ้นประทุษร้ายทันที หนีไม่ทัน เพราะไม่มีเครื่องกั้นเลย

    สภาพธรรมทั้งหลาย ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ทุกคนรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหมดไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือว่าเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ แต่ธรรมที่ประทุษร้ายได้จริงๆ ไม่ใช่ความเสื่อมลาภ หรือความเสื่อมยศ หรือการนินทา หรือความทุกข์ แต่ สภาพธรรมอย่างเดียวที่ประทุษร้ายได้ตลอดมาในสังสารวัฏฏ์ คือ โทสเจตสิก ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะพิจารณาลักษณะของโทสเจตสิก ซึ่งมีความดุร้ายเป็นลักษณะ ราวกับอสรพิษที่ถูกตี



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๗ ตอนที่ ๑๓๖๑ – ๑๓๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 89
    28 ธ.ค. 2564