แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1367


    ครั้งที่ ๑๓๖๗


    สาระสำคัญ

    ความโกรธที่มีกำลังมาก

    พิจารณารู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน

    สาวก คือ ผู้ฟัง

    องฺ.สตฺตก.โกธนาสูตร - ความหวังร้ายของคนที่เป็นข้าศึกศัตรูกัน ๗ ประการ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๗


    บางครั้งความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้ตีฟัน แต่ยังไม่ทำให้หักให้แหลก

    ตีทีสองทีก็มี ใช่ไหม ผิดกับขณะอื่นๆ ซึ่งถ้าความโกรธมีกำลังไม่ใช่แค่ทีสองทีแน่ๆ แต่ถึงกับให้หักให้แหลกละเอียดทีเดียว

    บางครั้งความโกรธทำให้เป็นแต่เพียงทำให้หักให้แหลก แต่ยังไม่ถึงให้อวัยวะน้อยใหญ่หลุดไป

    ถ้าถึงหลุด คือ แขนขาด ขาขาด

    บางครั้งความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้อวัยวะน้อยใหญ่เคลื่อนที่หลุดไป แต่ยังไม่ถึงทำให้ชีวิตดับ

    บางครั้งความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้ชีวิตดับ แต่ว่ายังไม่ถึงทำให้เสียสละชีวิตของตนให้หมดไป ก็มี

    เพราะฉะนั้น ปาณาติบาตเกิดขึ้นทำให้สัตว์อื่นตาย แต่นั่นก็เป็นเพราะความโกรธที่ไม่ถึงขั้นที่จะทำให้ตัวเองตาย ถ้าเป็นความโกรธที่มีกำลังมาก แม้ทำให้บุคคลอื่นตายแล้ว ความโกรธนั้นยังไม่หมด ยังทำให้ชีวิตของตนหมดด้วย คือ ตายด้วย ซึ่งนั่นต้องนับว่าเป็นความโกรธที่มีกำลังมาก

    เมื่อใดความโกรธให้ฆ่าบุคคลอื่นแล้วจึงให้ฆ่าตน เมื่อนั้นความโกรธถึงความเป็นความโกรธอย่างแรงยิ่ง ถึงความเป็นความโกรธมากยิ่ง ความโกรธนั้นอันบุคคลใดละ ตัดขาด สงบแล้ว ทำไม่ให้อาจเกิดขึ้นได้อีก เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ บุคคลนั้นชื่อว่ากำจัดกิเลสเพียงดังควัน ชื่อว่าวิธูมะ เพราะเป็นผู้ละความโกรธ เพราะเป็นผู้กำหนดรู้วัตถุแห่งความโกรธ เพราะเป็นผู้ตัดขาดซึ่งเหตุแห่งความโกรธ จึงชื่อว่าผู้ไม่โกรธ

    เมื่อไรจะเป็นอย่างนี้ได้ ต้องค่อยๆ อบรมไป เจริญไป โดยเห็นโทษของความโกรธจริงๆ แต่ก่อนนี้ถ้าหน้างอแล้วไม่เคยรู้สึกตัว เดี๋ยวนี้สติอาจจะเกิดระลึกได้ ในขณะที่เกิดความเปลี่ยนแปลงของหน้าแม้เพียงเล็กน้อยก็พอที่จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง

    ก่อนอื่น ไม่ใช่ละความโกรธ แต่รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะความโกรธต้องเกิดเมื่อมีปัจจัย และความโกรธต้องดับด้วย ไม่ใช่ไม่ดับ และเมื่อความโกรธดับ เนื่องจากการเห็นก็มีในขณะที่กำลังโกรธ การได้ยินก็มีในขณะที่กำลังโกรธ การกระทบสัมผัสทางกายก็มีในขณะที่กำลังโกรธ เย็นร้อนอ่อนแข็งปรากฏ ในขณะที่กำลังโกรธ เพราะฉะนั้น ความโกรธจริงๆ ก็เป็นเพียงชั่วขณะที่เกิดขึ้นและ ดับไป จึงต้องรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของสภาพธรรม แม้ความโกรธ

    เพราะฉะนั้น จิตซึ่งประกอบด้วยความโกรธ จึงเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นสิ่งซึ่งสติระลึกรู้ในสภาพที่เป็นเพียงจิตที่ประกอบด้วยโทสะ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้าสติไม่เกิดก็แล้วแต่เหตุปัจจัยว่าจะตามความโกรธไปรุนแรงแค่ไหน ตามกำลังของอวิชชาและโทสะ

    ถ. บิดามารดาตีลูก ทำให้ลูกกลัวไม่กล้าทำความผิด สามารถกล่าว ได้ไหมว่า ลูกไม่กล้าทำความผิดเพราะกลัวมารดาหรือบิดาจะโกรธและจะถูกลงโทษ กับบิดามารดาซึ่งไม่ตีลูก คิดว่าไม่อยากจะโกรธ และบุตรนั้นก็กลายเป็นคนเสียนิสัย ไม่ทราบว่าต่างกันอย่างไร

    สุ. ตีโดยไม่โกรธ กับตีเพราะกำลังโกรธ ต่างกันไหม

    ถ. ต่างกัน

    สุ. เพราะฉะนั้น ถ้ามารดาเป็นผู้ที่มีสติ รู้ว่ากระทำในสิ่งที่ควรทำ เพราะต้องมีการอบรมบุตรตามวัย โตแล้วต้องไม่ตีแน่ ถ้าจะตีก็ตีตอนเป็นเด็ก เพราะเด็กบางคนจำเป็นต้องตี แต่ในขณะที่ตี ไม่ใช่ตีด้วยความโกรธ ตีด้วยความโกรธผิดกับตีเพราะรู้ว่าจำเป็นต้องตี

    ถ. ส่วนมากเวลาจะตี อะไรใกล้มือก็คว้าฟาดไปเลย ไม่ทันคิดว่า โกรธหรือไม่โกรธ

    สุ. ขณะนั้นจะเห็นได้ว่า เป็นโทษ ไม่ใช่เป็นประโยชน์เลย เพราะเป็นความโกรธของตัวเอง การที่จะสั่งจะสอนก็พลอยหายไปด้วยเพราะความโกรธ

    ถ. ตีเสร็จแล้ว สั่งสอนทีหลัง

    สุ. ทีหลัง ไม่ใช่ในขณะนั้น ก็เป็นคนละขณะ

    ถ. จะทำอย่างไร น้องตัวเองซน พูดดีๆ ว่า อย่านะ อย่านะ ก็ยังทำอีก ก็ต้องตี ต้องโกรธแล้ว

    สุ. ตีก็ตี แต่ตีด้วยความรู้ในเหตุผลว่าจำเป็นต้องตี ต่างกันไหม

    ถ. ต่างกัน และกับบิดามารดาซึ่งกลัวตนเองจะมีอกุศลจิต คือ ความโกรธ ลูกจะซนอย่างไรก็ช่างปล่อยตามยถากรรม คิดว่าเอาตัวเองรอดก็แล้วกัน จะไม่สะสม อกุศลจิต ผลออกมา คือ ลูกมีความประพฤติไม่ดี อย่างนี้จะขัดกันไหม

    สุ. ถ้ายังไม่เป็นพระอนาคามีบุคคล ก็ต้องทำสิ่งที่เกี่ยวข้องกับโลกในทางที่เป็นประโยชน์ ในทางที่เหมาะที่ควร แต่ไม่ใช่ด้วยกำลังของความโกรธ มารดาบิดาหลายท่านไม่ตีบุตรเพราะความโกรธ ตี แต่ไม่ได้ตีในขณะที่กำลังโกรธ

    ถ. แต่เท่าที่เคยประสบมาเห็นว่า โกรธแล้วก็ถูกตีทุกคน

    สุ. เด็กบางคนถามว่า ทำไมไม่ตีเขาบ้าง เพราะเขาเข้าใจว่า ถ้าไม่ตีคือ ไม่รัก นี่เป็นอีกอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อพ่อแม่รักและตีลูก ลูกเข้าใจในความรักของพ่อแม่ที่ตี รู้ว่าตีเพราะรัก เพราะสั่งสอน เพราะต้องการให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เวลาที่อยู่กับคนอื่นและคนอื่นไม่ตี เขาถามว่า ทำไมไม่ตี เหมือนกับว่า ไม่รักเขาจึงไม่ตี เพราะฉะนั้น การตีก็มีหลายอย่าง ถ้าตีด้วยความรัก ด้วยความหวังดี เป็นการสั่งสอน เด็กรู้ได้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าไม่ตีเลย

    ถ. ถ้าหากมีสติก่อนที่จะตี น้ำหนักการตีระหว่างที่มีสติและไม่มีสติก็ต่างกันใช่ไหม คือ ค่อยๆ ตี หรือตีเบาๆ

    สุ. จะตีให้ตาย หรือตีเพราะควรตีเท่านั้นเอง ให้รู้ ให้จำ ไม่ลืมที่จะไม่ทำอย่างนั้นอีก เท่านั้นเอง

    ถ. เมื่อสักครู่อาจารย์กล่าวว่า สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของโทสะในขณะนั้น คือ สติมีโทสมูลจิตในขณะนั้นเป็นอารมณ์ ใช่ไหม

    สุ. แล้วแต่ เพราะในขณะที่กำลังเกิดโทสะ ทางตาก็เห็น ทางกายก็กระทบ ทางหูก็ได้ยินเสียงได้ เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมใดสภาพธรรมหนึ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องเลือกให้สติอีกเหมือนกัน

    ถ. ไม่ต้องเลือก แต่ถ้าสติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของโทสะได้ อะไรจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของโทสะในขณะนั้น

    สุ. ปัญญาที่รู้ว่า การที่จะละความเป็นตัวตนได้ ก็ต่อเมื่อระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏและประจักษ์ชัดว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน โดยไม่เว้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าท่านผู้ใดจะเจริญปัญญาโดยต้องไม่ให้โทสะเกิด เพราะส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า จิตไม่สงบ วุ่นวาย ปัญญาเกิดไม่ได้ คิดว่าอย่างนั้น คิดว่าจะต้องละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไม่ให้มีโลภะโทสะใดๆ และไปเจริญปัญญา แต่ ตามความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น ตราบใดที่ปัญญายังไม่สามารถรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา

    ถ. ปกติ ลักษณะของโทสะก็ปรากฏอยู่ ใช่ไหม

    สุ. เกิดขึ้น แล้วแต่สติจะระลึกหรือไม่ระลึก

    ถ. ถ้าไม่ระลึก ชื่อว่าไม่ปรากฏ ใช่ไหม

    สุ. ปรากฏ แต่เป็นเรา

    ถ. ถ้าสติเกิดขึ้น คือ ขณะนั้นไม่ใช่เรา

    สุ. พิจารณารู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ในสภาพที่เป็นนามธรรม ประเภทหนึ่ง เหมือนกับแข็ง ก่อนที่สติจะเกิดก็รู้ว่าแข็ง ไม่ใช่ว่าแข็งไม่ได้ปรากฏ เพราะฉะนั้น ลักษณะอาการของโทสะก็ปรากฏ แต่เป็นเราที่โกรธ ยึดถือสภาพความโกรธนั้นว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น เมื่อสติเกิดระลึกได้ จึงพิจารณาในอาการที่ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับที่เห็นขณะนี้ ก็เป็นแต่เพียงสภาพรู้อย่างหนึ่ง ขณะที่กำลังได้ยินก็เป็นสภาพที่กำลังรู้อย่างหนึ่ง คือ รู้เสียง ขณะที่กระทบสัมผัสก็เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง คือ กำลังรู้แข็ง

    ถ. คนที่ไม่เคยรู้อย่างนี้เลย เขาจะรู้ได้อย่างไรว่า ไม่ใช่เรา

    สุ. ไม่มีทาง ต้องเป็นสาวก คือ ผู้ฟัง ต้องเป็นพหูสูต ฟังมากๆ พิจารณาโดยแยบคายที่จะอบรมเจริญปัญญาสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง ข้อสำคัญ คือ ตามปกติ ตามความเป็นจริง

    ถ้าใครพยายามฝืนปกติ กั้นทุกสิ่งทุกอย่างทั้งโลภะ ทั้งโทสะ ไม่มีทางที่จะ รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะไม่ใช่ตัวจริง ไม่ใช่การรู้ถึงเหตุปัจจัยจริงๆ ที่สะสมมา คือทั้งอวิชชา โลภะ โทสะ ที่มากมายในสังสารวัฏฏ์ แต่ขณะหนึ่งๆ ที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือเป็นกุศล

    การกระทำทางกาย ทางวาจา ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนหลับ ถ้าสติระลึกจะรู้ชัด จริงๆ ว่า ขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ เป็นลักษณะของนามธรรมใด หรือ รูปธรรมใด เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่มีปกติอบรมสติปัฏฐาน ไม่ใช่เป็นผู้ที่ผิดปกติ เจริญสติปัฏฐาน

    ถ. ขณะที่กำลังพิจารณานั้น จะมีลักษณะของโทสะจริงๆ ปรากฏได้ไหม

    สุ. ได้ เป็นสติปัฏฐาน ขึ้นชื่อว่าสติปัฏฐานแล้ว ต้องเป็นสิ่งที่สติระลึกได้

    ถ. ในขณะนั้น โทสะปรากฏจริงๆ ใช่ไหม

    สุ. เหมือนแข็ง เหมือนเสียง เหมือนเห็น เหมือนได้ยิน

    ถ. ชั่วขณะนั้นไม่ได้ยึดถือว่าเป็นตัวตน แต่ขณะอื่นยึดถือ ใช่ไหม

    สุ. ไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อใดๆ แต่มีลักษณะอาการที่ปรากฏให้รู้ว่า ไม่ใช่เรา

    ถ. แต่ขณะอื่นก็ยึดถือไป

    สุ. ขณะอื่นก็เป็นเราเวลาที่สติไม่เกิด ความต่างกันอยู่ที่พิจารณาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ในอาการ ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน

    ที่ใช้คำว่า อนัตตา ต้องค่อยๆ เป็น สัพเพ ธัมมา อนัตตา จริงๆ คือ ไม่ว่าจะเป็น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ ดีใจ เสียใจ เรื่องราวต่างๆ ที่เคยทำให้เกิดความไม่สบายใจ หรือความเสียใจ ความเศร้าโศก ถ้าสติระลึกได้จะรู้ว่า สั้นนิดเดียว เพียงชั่วขณะที่จิตคิดเท่านั้น เพราะขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่คิด ขณะที่ได้ยินก็ไม่ใช่ขณะที่คิด ขณะที่กำลังรู้แข็งก็ไม่มี เรื่องนั้นอีกแล้ว เพราะฉะนั้น จึงรู้ได้ว่า เรื่องทั้งหมดไม่ใช่สาระอะไรเลย เป็นแต่เพียงสิ่งที่สัญญาทรงจำไว้ เมื่อระลึกขณะใดก็ทำให้จิตพลอยเกิดเวทนาต่างๆ บางครั้งอาจจะเป็นสุขเวทนา บางครั้งอาจจะเป็นโทมนัสเวทนา บางครั้งเป็นอุเบกขาเวทนา แต่ก็เพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น และถ้าเป็นการนึกคิดเรื่องราวต่างๆ ขณะนั้นก็ไม่ใช่ขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน ไม่ใช่ขณะที่ได้กลิ่น ไม่ใช่ขณะที่ลิ้มรส ไม่ใช่ขณะที่กำลังกระทบสัมผัส

    ในวันหนึ่งๆ ให้รู้ว่า เห็นอยู่เรื่อยๆ กระทบสัมผัสอยู่เรื่อยๆ ได้ยินเสียง อยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น เรื่องต่างๆ จะสั้นแค่ไหน เพราะมีเห็นสลับ มีได้ยินสลับ มีการกระทบสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง สลับอยู่เรื่อยๆ จึงไม่ควรที่จะเป็นทุกข์เดือดร้อน เศร้าโศก หรือว่าเกิดโทสมูลจิต

    อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต โกธนาสูตร ข้อ ๖๑ มีข้อความที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความหวังร้ายของคนที่เป็นข้าศึกศัตรูกัน ๗ ประการ ให้พิจารณาว่า เคยคิดอย่างนั้นบ้างไหม ถ้าเคย ต่อไปจะได้ลดน้อยลง ไม่ควรที่จะคิดเป็นไปในอกุศลที่หวังร้ายต่อคนที่ท่านไม่ชอบ คือ

    ประการที่ ๑ ย่อมปรารถนาให้คนผู้เป็นศัตรูมีผิวพรรณทราม

    ตามความเป็นจริงแล้ว คนโกรธเอง ทันทีที่โกรธผิวพรรณทราม ไม่ต้องรอเลย เพราะฉะนั้น เพียงคิดหวังร้ายต่อใคร ในขณะที่อกุศลจิตนั้นเกิด ผู้หวังร้ายหรือคิดร้ายนั้นได้รับผลทันที

    ประการที่ ๒ ย่อมปรารถนาให้คนผู้เป็นศัตรูนอนเป็นทุกข์

    ผู้ที่หวังร้าย แม้จะนอนบนที่นอนที่น่าจะสบายสักเท่าไร ขณะนั้นก็เป็นทุกข์แล้วเพราะความโกรธ เวลาโกรธนี่นอนหลับไหม รู้บ้างไหมว่าที่นอนสบาย ขณะที่กำลังโกรธไม่รู้สึกอย่างนั้นเลย ทั้งๆ ที่ควรจะสบายถ้าไม่โกรธ ก็ยังไม่สามารถที่จะไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่พิจารณาโดยแยบคาย

    ประการที่ ๓ ย่อมปรารถนาให้คนผู้เป็นศัตรูอย่ามีความเจริญ

    แต่คนที่หวังร้ายอย่างนั้น ย่อมไม่เจริญ เพราะในขณะที่กำลังขัดขวางคนอื่นไม่ให้เจริญ ขณะนั้น เข้าถึงความเสียแห่งจิต เป็นเหตุให้ถึงความพินาศ ยังวินัย อาจาระ (คือ ความประพฤติ) รวมทั้งรูปสมบัติ และประโยชน์สุขเป็นต้น ให้ถึงความพินาศ

    ประการที่ ๔ ย่อมปรารถนาให้คนผู้เป็นศัตรูอย่ามีโภคะ

    แต่ตนเองย่อมจะได้รับผลนั้น

    ประการที่ ๕ ย่อมปรารถนาให้คนผู้เป็นศัตรูอย่ามียศ

    แต่ตัวผู้ปรารถนาให้คนอื่นไม่มียศนั้นเอง ย่อมเสื่อมยศ แม้ยศที่ได้มาแล้ว

    ประการที่ ๖ ย่อมปรารถนาให้คนผู้เป็นศัตรูอย่ามีมิตร

    แต่คนที่หวังร้ายต่อใครๆ คนอื่นจะคบคนนั้นไหม เพียงได้ยินความคิดหรือความมุ่งร้ายของคนนั้นต่อคนอื่น ก็ทำให้ไม่มีใครคบค้าสมาคมกับคนนั้น

    ประการที่ ๗ ย่อมปรารถนาให้คนผู้เป็นศัตรูตายไปแล้ว ตกนรกบ้าง หรือว่าเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง

    ตอนเด็กๆ คงเคยแช่งกันบ่อยๆ ลองคิดดู แช่งอย่างเด็ก ก็คงไม่พ้นจาก ๗ ประการนี้

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    คนโกรธมีผิวพรรณทราม ย่อมนอนเป็นทุกข์ ถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว กลับปฏิบัติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์

    เวลาที่ยังไม่โกรธ ก็รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว แต่เมื่อความโกรธเกิดขึ้น กลับปฏิบัติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์

    ทำปาณาติบาตด้วยกายและวาจา ย่อมเข้าถึงความเสื่อมทรัพย์ ผู้มัวเมาเพราะความโกรธ ย่อมถึงความไม่มียศ ญาติมิตร และสหาย ย่อมเว้นคนโกรธเสียห่างไกล คนผู้โกรธย่อมไม่รู้จักความเจริญ ทำจิตให้กำเริบ ภัยที่เกิดมาจากภายในนั้น คนผู้โกรธย่อมไม่รู้สึก คนโกรธย่อมไม่รู้อรรถ ไม่เห็นธรรม ความโกรธย่อมครอบงำ นรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมีในขณะนั้น คนผู้โกรธย่อมก่อกรรมที่ทำได้ยากเหมือนทำได้ง่าย ภายหลังเมื่อหายโกรธแล้ว เขาย่อมเดือดร้อนเหมือนถูกไฟไหม้

    คนผู้โกรธย่อมแสดงความเก้อยากก่อน เหมือนไฟแสดงควันก่อน ในกาลใด ความโกรธเกิดขึ้น คนย่อมโกรธในกาลนั้น คนนั้นไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ และไม่มีความเคารพ คนที่ถูกความโกรธครอบงำ ย่อมไม่มีความสว่างแม้แต่น้อยเลย กรรมใดยังห่างไกลจากธรรม อันให้เกิดความเดือดร้อน เราจักบอกกรรมเหล่านั้น เธอทั้งหลายจงฟังธรรมนั้นไปตามลำดับ

    คนโกรธฆ่าบิดาก็ได้ ฆ่ามารดาของตนก็ได้ ฆ่าพระขีณาสพก็ได้ ฆ่าปุถุชนก็ได้ ลูกที่มารดาเลี้ยงไว้จนได้ลืมตาดูโลกนี้ ลูกเช่นนั้นกิเลสหยาบช้า โกรธขึ้นมาย่อมฆ่า แม้มารดานั้นผู้ให้ชีวิตความเป็นอยู่ได้

    จริงอยู่ สัตว์เหล่านั้นมีตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบ เพราะตนเป็นที่รักอย่างยิ่ง คนโกรธหมกมุ่นในรูปต่างๆ ย่อมฆ่าตัวเองได้เพราะเหตุต่างๆ ย่อมฆ่าตัวเองด้วยดาบบ้าง กินยาพิษบ้าง เอาเชือกผูกคอตายบ้าง โดดเขาตายบ้าง คนเหล่านั้นเมื่อกระทำกรรมอันมีความเสื่อมและทำลายตนก็ไม่รู้สึก

    ความเสื่อมเกิดแต่ความโกรธตามที่กล่าวมานี้ เป็นบ่วงของมัจจุราช มีถ้ำเป็น ที่อาศัย บุคคลผู้มักโกรธ มีการฝึกตน คือ มีปัญญา ความเพียรและสัมมาทิฏฐิ พึงตัดความโกรธนั้นขาดได้

    บัณฑิตพึงตัดอกุศลธรรมแต่ละอย่างเสียให้ขาด พึงศึกษาในธรรมเหมือนอย่างนั้น เธอทั้งหลายปรารถนาอยู่ว่า ขอความเป็นผู้เก้อยากอย่าได้มีแก่เราทั้งหลายเลย เธอทั้งหลายเป็นผู้ปราศจากความโกรธ ไม่มีความคับแค้นใจ ปราศจากความโลภ ไม่มีความริษยา ฝึกฝนตนแล้ว ละความโกรธได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะ จักปรินิพพาน ฯ

    จบ สูตรที่ ๑๑

    จบ อัพยากตวรรคที่ ๑

    ยังอยู่อีกไกลไหม หรือถึงแม้ว่าจะไกลอย่างไร ก็ค่อยๆ อบรมเจริญหนทางที่ถูก ข้อสำคัญที่สุด คือ อบรมเจริญหนทางที่ถูก เพราะข้อความในพระไตรปิฎกแสดงเรื่องให้ระลึกรู้ลักษณะของความโกรธทุกขั้น เพื่อจะได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๗ ตอนที่ ๑๓๖๑ – ๑๓๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 89
    28 ธ.ค. 2564