แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1325
ครั้งที่ ๑๓๒๕
สาระสำคัญ
พระอภิธัมมวิภาวินีฎีกา - แสดงลักษณะของความสงบของจิต
ผลนั้นย่อมมาจากกุศลของตนเอง
อถ.คุตติลชาดกที่ ๓ - บอกคืนอาจารย์แล้วกลับเป็นศัตรู
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๒๗
ข้อความใน พระอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา แสดงลักษณะความสงบของจิตว่า
ภาวะ คือ ความสงบเป็นต้นของจิตนั่นเอง จะมีได้เพราะโสภณสาธารณเจตสิก ๖ คู่ เป็นต้น
คือ ขณะใดที่กายปัสสัทธิเจตสิกและจิตตปัสสัทธิเจตสิกไม่เกิด ไม่มี สภาพธรรมอื่นที่จะทำให้จิตสงบได้
เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคหาได้ตรัสไว้ในสมาธิเป็นต้นไม่
คือ ไม่ได้ทรงแสดงไว้ว่า สมาธิมีลักษณะที่สงบ แต่ทรงแสดงไว้ว่า ภาวะ คือ ความสงบเป็นต้นของจิตนั่นเอง จะมีได้เพราะจิตตปัสสัทธิเป็นต้น
เพราะฉะนั้น ที่บางคนคิดว่าจะต้องเป็นสมาธิก่อนจึงสงบ ในขณะนั้นลืมพิจารณาว่า ขณะที่จิตไม่ซัดส่ายไปสู่อารมณ์ต่างๆ และใช้คำว่าสงบ แต่ในขณะที่เป็นอกุศลนั้น ไม่มีโสภณธรรมเจตสิกซึ่งทำให้จิตสงบ
ในคราวก่อนได้กล่าวถึงอกุศลจิต ซึ่งเป็นโลภมูลจิตดวงที่ ๑ ที่เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะอกุศลจิต คือ โลภมูลจิตนั้น มีตั้งแต่โดยทั่วไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จนถึงแม้ในข้อปฏิบัติ ก็ย่อมมีการยึดถือข้อปฏิบัติที่ผิดได้เมื่อเกิดร่วมกับความเห็นผิด เพราะฉะนั้น ทุกคนควรพิจารณาและเป็นผู้ที่ตรงต่อการมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะว่า แต่ละครั้ง แต่ละขณะ มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะมั่นคงแค่ไหน
บางท่านอาจจะนับถือบูชาบุคคลอื่นยิ่งกว่าพระรัตนตรัย เช่น เมื่อมีข่าวเล่าลือว่า บุคคลนั้นบุคคลนี้สามารถหยิบยื่นแก้วแหวนเงินทองให้ได้ ก็คิดว่าเป็นผู้ที่ควรเคารพบูชามาก แต่ในขณะนั้นเป็นผู้ตรงหรือเปล่าที่จะพิจารณาในเหตุในผล หรือแม้แต่การที่จะขอสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ไม่ว่าจะขอจากใคร เป็นผู้ที่ตรงหรือเปล่า ในขณะนั้นว่า ผู้อื่นสามารถจะบันดาลให้เป็นไปตามที่ขอได้ไหม และถ้าเกิดเป็นไปได้ จะเข้าใจว่าอย่างไร ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อไปอีกที่จะพิจารณาเหตุผลว่า เพราะอะไร
ทุกท่านต้องมีขณะซึ่งเป็นทุกข์ หรือว่ายามคับขันในชีวิต ในขณะนั้นลองพิจารณาดูว่า ปกติท่านทำอย่างไรเวลาที่เป็นทุกข์หรือว่าในยามคับขัน ผู้ที่มี พระรัตนตรัยเป็นสรณะ ในขณะนั้นจะทำอย่างไร
เคยขอไหม คุณพระช่วย เวลาตกใจขอให้คุณพระช่วย เรื่องของการขอนี่ เป็นเรื่องที่ง่ายมากต่อการที่จะนึกขอ แต่ถ้ารู้จริงๆ ว่า สิ่งใดๆ ที่ต้องการย่อม ไม่สามารถจะสำเร็จได้เพราะการขอ แต่ต้องทำกุศลของตนเอง เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็คงจะทำกระทำกุศลมากกว่าที่จะขอ
ถ้าเป็นสิ่งที่ขอได้ง่ายๆ ทุกคนคงขอกันมาก แต่เมื่อบอกว่า สิ่งที่ขอทั้งหมดนั้นจะสำเร็จได้ด้วยตนเอง คือ ด้วยการทำกุศล จะมีใครคิดที่จะทำกุศลให้พอเพียงกับการขอสิ่งต่างๆ เหล่านั้นบ้างไหม
เวลาขอ ของ่าย แต่เวลาที่จะทำกุศลเพื่อที่จะให้ได้สิ่งนั้นมาด้วยตนเอง ต้องหยุดยั้งแล้วใช่ไหมว่า กุศลนี้พอแก่การที่จะขอให้ได้สิ่งที่ปรารถนามากๆ นั้นหรือเปล่า แต่ถ้าไม่ชี้ให้เห็นว่า ผลนั้นย่อมมาจากกุศลของตนเอง ก็ยังคงจะขอกันอย่างง่ายๆ และขอมากๆ อยู่ตลอด
ขอกล่าวถึงชาดกเรื่องหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในครั้งที่บุคคลในอดีตท่านมีความทุกข์ ท่านทำอย่างไร คือ ในครั้งที่พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลนักขับร้อง ใน คุตติลชาดก
ที่กล่าวถึงชาดก ก็เพราะไม่อยากจะให้ขาดส่วนหนึ่งส่วนใดในพระไตรปิฎก ซึ่งย่อมเป็นประโยชน์เกื้อกูลให้เห็นสภาพการสะสมของจิตของแต่ละชาติๆ ว่า เหตุที่ได้สะสมไว้ในจิตในแต่ละชาติทำให้จิตในชาตินี้เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนี้ ซึ่งแต่ละบุคคลไม่สามารถรู้อดีตชาติว่า ทำไมจิตของท่านวันนี้คิดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ทางกาย ทางวาจา แต่ให้ทราบว่า ในชาติก่อนๆ ต้องเคยคิดอย่างนี้ เคยทำอย่างนี้มาแล้ว สะสมเป็นปัจจัยทำให้จิตในชาตินี้เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนี้ แต่ในเมื่อแต่ละท่านไม่สามารถทราบอดีตชาติของแต่ละท่านได้ พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงเหตุที่เกิดในอดีตว่า ในอดีตชาติของท่านเหล่านั้นได้เคยมีชีวิตอย่างไร และมีการกระทำทางกาย ทางวาจาอย่างไร
ข้อความใน คุตติลชาดก มีว่า
ข้าพระองค์ได้สอนให้ศิษย์ชื่อมุสิละเรียนวิชาดีดพิณ ๗ สาย มีเสียงไพเราะ จับใจคนฟัง เขากลับมาขันดีดพิณสู้ข้าพระองค์ ณ ท่ามกลางสนาม ข้าแต่ท้าวโกสีย์ ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์เถิด
ขอไหม ขอให้บุคคลอื่นเป็นที่พึ่ง แต่ก็เหมือนกับการขอให้เพื่อนฝูงช่วยเหลือ ยามมีทุกข์ ถ้าท่านสามารถรู้ว่าใครจะช่วยได้ ท่านก็คงขอให้บุคคลนั้นช่วย เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นเทพก็ย่อมมีความสามารถเก่งกว่ามนุษย์ แต่พระโพธิสัตว์ไม่ได้ติดสินบนว่า จะถวายอะไรถ้าพระอินทร์ได้ช่วยท่าน
จะเห็นได้ว่า การที่จะเข้าใจเหตุและผลตรง จะต้องเริ่มสะสมมา เพราะถ้าเพียงแต่ขอโดยให้สินบน เช่น ถ้าสำเร็จแล้วจะให้สิ่งนั้นสิ่งนี้ จะถูกต้องไหมในการที่จะให้บุคคลอื่นเกิดกุศลจิตและช่วยเหลือ และทำไมเทวดายังจะต้องการสิ่งที่ท่านให้ เช่น บางคนกล่าวว่าจะถวายไข่ ไม่ทราบว่าเพราะอะไรเทวดาสนใจที่จะได้ไข่ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา แม้เมื่อครั้งที่พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลนักขับร้อง และในยามทุกข์ก็ได้ขอให้พระอินทร์ช่วย แต่ไม่ได้มีความเห็นผิดว่า เมื่อช่วยแล้วจะถวายสิ่งหนึ่งสิ่งใดแก่พระอินทร์เป็นการตอบแทน เพราะพระอินทร์เองก็เป็นผู้ที่เจริญกุศล เมื่อมีสิ่งซึ่งสามารถจะช่วยได้เพราะกรรมของบุคคลนั้น ก็ช่วย
ข้อความใน อรรถกถา คุตติลชาดกที่ ๓ มีว่า
ครั้งที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระเทวทัต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า สัตตตันตึ สุมธุรัง ดังนี้
เหตุที่ทรงแสดงชาดกนี้มีว่า
ในครั้งนั้นภิกษุทั้งหลายกล่าวกะพระเทวทัตว่า
ดูก่อน พระเทวทัต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอาจารย์ของท่าน ท่านอาศัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเล่าเรียนพระไตรปิฎก ยังฌาน ๔ ให้เกิดขึ้น การที่จะเป็นศัตรูต่อผู้ที่ชื่อว่าเป็นอาจารย์ ไม่สมควรเลย
นี่คือโลภมูลจิตของท่านพระเทวทัตที่สะสมมาเนิ่นนาน จนกระทั่งมีความ สำคัญตน และเป็นศัตรูต่อพระผู้มีพระภาค
พระเทวทัตกล่าวว่า
ดูก่อน อาวุโสทั้งหลาย พระสมณโคดมเป็นอาจารย์ของเรารึ พระไตรปิฎกเราเรียนด้วยกำลังของตนเองทั้งนั้นมิใช่หรือ ฌานทั้ง ๔ เราก็ทำให้เกิดด้วยกำลังของตนทั้งนั้น บอกคืนอาจารย์แล้ว ฉะนี้
ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า
อาวุโสทั้งหลาย พระเทวทัตบอกคืนอาจารย์แล้วกลับเป็นศัตรูต่อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ถึงความพินาศแล้ว
เมื่อพระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร
ครั้นภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตมิใช่บอกคืนอาจารย์ เป็นศัตรูต่อเรา แล้วถึงความพินาศในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนก็ถึงความมหาวินาศแล้วเหมือนกัน แล้วตรัสเรื่อง ในอดีต
เพราะฉะนั้น น่ากลัวจริงๆ แต่บางท่านก็บอกว่า พระสูตรหรือชาดกคงจะไม่มีประโยชน์อะไรเท่าไร ไม่ลึกซึ้งเท่ากับพระอภิธรรม ซึ่งความจริงแล้ว ธรรมทั้งหมด ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ก็เป็นอุทาหรณ์ เป็นตัวอย่างให้เห็นลักษณะของสภาพธรรมที่น่ากลัว คือ โลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดบ้าง เกิดร่วมกับมานะบ้างว่าเป็นอันตราย ถ้าไม่พยายามละคลายให้เบาบางแม้ในปัจจุบันชาติ ก็ย่อมสะสมสืบต่อ และถ้ามีกำลังมากก็จะเป็นดังเช่นท่านพระเทวทัตได้ คือ สามารถที่จะกล่าวว่า ดูก่อน อาวุโสทั้งหลาย พระสมณโคดมเป็นอาจารย์ของเรารึ พระไตรปิฎกเราเรียนด้วยกำลังของตนเองทั้งนั้นมิใช่หรือ เป็นต้น
พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องในอดีตว่า
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี ในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลนักขับร้อง มารดาบิดาตั้งชื่อว่า คุตติลกุมาร กุมารนั้นครั้นเจริญวัย สำเร็จศิลปะการขับร้อง ได้เป็นนักขับร้องชั้นยอดในชมพูทวีปทั้งสิ้น ชื่อว่าคุตติลคนธรรพ์ ท่านไม่มีภรรยา ท่านเลี้ยงมารดาบิดาผู้ตาบอด
ในครั้งนั้น พ่อค้าชาวกรุงพาราณสีไปค้าขายยังเมืองอุชเชนี เมื่อได้ยินข่าว ป่าวร้องว่ามีมหรสพ จึงเรี่ยไรกันหาดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ตลอดจนของเคี้ยว ของบริโภคเป็นต้นเป็นอันมาก ไปประชุมกัน ณ สนามกีฬา ให้ค่าจ้างแล้วกล่าวว่า พวกท่านจงนำนักร้องมาคนหนึ่งเถิด
สมัยนั้น ในกรุงอุชเชนีมีนักขับร้องชั้นเยี่ยมชื่อ มุสิละ
พวกพ่อค้าได้จัดหาเขาให้มาแสดงการขับร้องให้พวกตนชม มุสิละเมื่อจะ ดีดพิณ ได้ขึ้นสายเสียงเอก ดีดแล้ว การดีดสีของเขานั้นได้ปรากฏดุจเสียงเกาเสื่อ รำแพนแก่พวกพ่อค้าเหล่านั้น ผู้มีความชินหูในการดีดสีของคุตติลคนธรรพ์ จึงมิได้แสดงอาการชอบใจแม้สักคนเดียว มุสิละเมื่อพวกพ่อค้าเหล่านั้นไม่แสดงอาการพอใจ ก็คิดว่า เราเห็นจะดีดพิณขันตึงเกินไป จึงลดลงปานกลาง ดีดด้วยเสียงปานกลาง พวกพ่อค้าเหล่านั้นก็คงเฉยเวลาที่ได้ยินเสียงพิณนั้น ลำดับนั้นเขาคิดว่า พวกพ่อค้าชาวพาราณสีคงไม่รู้จักอะไร จึงแกล้งทำเป็นไม่รู้เรื่องการดีดพิณ และดีดพิณหย่อนๆ พวกพ่อค้าก็มิได้ว่าอะไร
ใครจะเคยเกิดเป็นพ่อค้าชาวพาราณสีในสมัยนั้นบ้าง ก็ไม่อาจจะทราบได้ แต่ให้ทราบว่า ถ้ายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ จะต้องมีการเกิดดับสืบต่อมา แม้จนกระทั่งในขณะนี้ ก็คงจะต้องมีบุคคลซึ่งเคยเป็นพ่อค้าชาวพาราณสี
มุสิละจึงกล่าวกะพ่อค้านั้นว่า
ดูก่อน พ่อค้าผู้เจริญ เมื่อข้าพเจ้าดีดพิณ ท่านไม่พอใจหรือ
พวกพ่อค้ากล่าวว่า
ก็ท่านดีดพิณอะไร พวกเรามิได้เข้าใจว่าท่านขึ้นเสียงพิณดีดสี
มุสิละถามว่า
ก็ท่านรู้จักอาจารย์ที่เก่งกว่าข้าพเจ้ารึ หรือไม่รู้สึกยินดีเพราะว่าไม่รู้จักฟัง
พวกพ่อค้ากล่าวว่า
เราเคยได้ฟังเสียงพิณของคุตติลคนธรรพ์ที่กรุงพาราณสี เสียงพิณของท่านจึงฟังคล้ายเสียงสตรีกล่อมเด็ก
มุสิละกล่าวว่า
ถ้าเช่นนั้นท่านจงรับค่าจ้างที่ท่านให้คืนไปเถิด ข้าพเจ้าไม่ต้องการค่าจ้างนั้น ก็แต่ว่าเมื่อท่านจะกลับไปกรุงพาราณสี ช่วยพาข้าพเจ้าไปด้วย
พวกพ่อค้าเหล่านั้นรับว่า
ดีละ
ในเวลากลับได้พาเขาไปกรุงพาราณสี และบอกมุสิละว่า นี่คือที่อยู่ของ คุตติลคนธรรพ์ แล้วเลยไปที่อยู่ของตน
มุสิละเข้าไปบ้านพระโพธิสัตว์ เห็นพิณคู่มือของพระโพธิสัตว์จึงหยิบมาดีด
ลำดับนั้นมารดาบิดาของพระโพธิสัตว์แลไม่เห็นมุสิละเพราะตาบอด เข้าใจว่าหนูกัดพิณ จึงกล่าวว่า หนูกัดพิณ
มุสิละจึงวางพิณ ไหว้มารดาบิดาพระโพธิสัตว์ เมื่อท่านถามว่า มาแต่ไหน จึงกล่าวว่า มาจากเมืองอุชเชนีเพื่อขอเรียนศิลปะในสำนักของท่านอาจารย์
เมื่อมารดาบิดาพระโพธิสัตว์รับว่า ดีละ แล้ว มุสิละจึงถามว่า ท่านอาจารย์อยู่ไหน ก็ได้ทราบว่าพระโพธิสัตว์ไม่อยู่ วันนี้จะกลับมา จึงนั่งคอยอยู่
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๓ ตอนที่ ๑๓๒๑ – ๑๓๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1321
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1322
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1323
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1324
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1325
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1326
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1327
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1328
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1329
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1330
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1331
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1332
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1333
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1334
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1335
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1336
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1337
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1338
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1339
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1340
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1341
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1342
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1343
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1344
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1345
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1346
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1347
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1348
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1349
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1350
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1351
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1352
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1353
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1354
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1355
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1356
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1357
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1358
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1359
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1360
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1361
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1362
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1363
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1364
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1365
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1366
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1367
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1368
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1369
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1370
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1371
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1372
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1373
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1374
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1375
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1376
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1377
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1378
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1379
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1380