แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1371


    ครั้งที่ ๑๓๗๑


    สาระสำคัญ

    ทุกข์ทุกอย่างเป็นทุกข์ (ทุกข์ ๗ ประการ)

    อถ.ชาติเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์

    สติเพียงเริ่มเกิดขึ้น ระลึกลักษณะสภาพธรรม

    เพียงแข็งเท่านั้นที่ปรากฏ ปัญญาจะอบรมเจริญขึ้น จนกระทั่งเราไม่มี


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ ตุลาคม ต่อวันอาทิตย์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๗


    . ทุกขสัจจะที่อาจารย์ได้ยกพระสูตรขึ้นมากล่าวว่ารู้ได้ง่าย แต่ข้อความ ในมหาสติปัฏฐานสูตรบอกว่า สัจจะเบื้องต้น ๒ รู้ได้ยากเพราะลึกซึ้ง และสัจจะเบื้องหลัง ๒ เพราะลึกซึ้งจึงรู้ได้ยาก ผู้ที่จะรู้สัจจะทั้ง ๔ นั้น อุปมาเหมือนคิดว่า จะเอาเท้าหยั่งถึงอเวจีมหานรก หรือจะเอามือจับภวัคพรหม แสดงว่าที่จะรู้สัจจะนั้นเป็นสิ่งที่ยาก แต่ทำไมพระสูตรที่อาจารย์ยกมาบอกว่า ทุกขสัจจะนั้นรู้ได้ง่าย

    สุ. ที่กล่าวถึงนั้น หมายความถึงทุกข์ทั่วๆ ไป ไม่ได้หมายความถึงขั้นที่ เป็นทุกขลักษณะของสังขารธรรมทั้งหลาย ซึ่งการทรงแสดงธรรมนั้นต้องให้ผู้ฟังสามารถพิจารณาเข้าใจได้ตั้งแต่เบื้องต้นด้วย

    ไม่มีใครที่ไม่รู้จักทุกข์ ใช่ไหม

    เมื่อไม่มีใครที่ไม่รู้จักทุกข์ ก็หมายความว่า มีทุกข์ขั้นที่ทุกคนสามารถรู้ได้ว่า เป็นทุกข์ ซึ่งเป็นสัจธรรม เป็นของจริง เพราะไม่ว่าจะเป็นทุกขเวทนา หรือสังขารทุกข์ ก็เป็นสภาพธรรม

    ถ้ากล่าวถึงโดยลักษณะที่รู้ยาก ก็คือโดยขั้นที่ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป แต่ถ้าโดยขั้นที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ ก็คือขั้นที่ทุกคนพอจะรู้ได้ว่าทุกข์คืออย่างไร เพราะทุกคนล้วนแต่มีทุกข์ทั้งนั้น

    และการที่จะรู้ทุกขอริยสัจจะนั้นยังง่ายกว่าการที่จะรู้ทุกขสมุทยสัจจะที่จะเห็นว่า โลภะ ความยินดี ความเพลิดเพลิน ความพอใจในสิ่งใด เป็นเหตุของความทุกข์

    เวลาที่กำลังเพลิดเพลินยินดี ไม่เห็นหรอกว่าเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะกำลังพอใจ เมื่อเป็นความเพลิดเพลินยินดีก็ต้องการสิ่งซึ่งน่าเพลิดเพลินยินดีนั้น จึง ไม่สามารถเห็นได้ว่า โลภะหรือความยินดีความต้องการนั้น เป็นทุกขสมุทยสัจจะ

    . คำว่า ทุกข์ เป็นคำที่น่าศึกษามาก ผู้ที่ไม่ศึกษาหรือศึกษาอย่างผิวเผิน ก็เข้าใจว่า ทุกข์เป็นเพียงทุกขเวทนาเท่านั้น ซึ่งคำว่า ทุกขทุกข์ กับทุกขอริยสัจจะ มีความหมายแตกต่างกันมาก ทุกข์ในสามัญลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น พอจะเข้าใจว่า เป็นทุกข์จากการเกิดดับ แต่ในทุกขอริยสัจจะ ในอริยสัจจ์ ๔ นั้น ขึ้นต้นด้วยทุกข์ ถ้าจะแปลว่าเกิดดับ อริยสัจข้อที่ ๒ สมุทัย รู้สมุฏฐานของการเกิดดับ หรือข้อที่ ๓ คือ นิโรธ การดับทุกข์ การดับของความเกิดดับ ก็รู้สึกจะซ้ำซ้อน จนกระทั่งนิโรธคามินีปฏิปทา ก็ไปอีกเรื่องหนึ่ง เรียนถามว่า ทุกข์ไหนที่เป็น ทุกขอริยสัจจะ รวมทุกขทุกข์ด้วย ใช่ไหม

    สุ. ทุกข์ทุกอย่างดังที่กล่าวถึงแล้ว ทุกข์ ๗ ประการ คือ ๑. ทุกขเวทนา ที่เป็นทางกายและใจ เป็นทุกขทุกข์ ชื่อว่าทุกข์เพราะทนได้ยาก นี่ก็เป็นทุกข์ สุขเวทนาชื่อว่าทุกข์เพราะแปรปรวนไป นี่ก็เป็นทุกข์ อุเบกขาเวทนาและสังขารธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ ที่เหลือ ชื่อว่าทุกข์แห่งสังขาร หรือสังขารทุกข์ เพราะเป็นสิ่งที่ถูกความเกิดความดับบีบคั้น ตลอดไปจนถึงทุกข์ประการที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ คือ ทุกข์โดยตรง ทุกข์โดยอ้อม ทุกข์ที่ปกปิด หรือทุกข์ที่ไม่ปกปิด เหล่านี้เป็นทุกข์ทั้งนั้น โดยสรุป คือ ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ทั้ง ๕ ขันธ์เป็นทุกข์

    . สำหรับขันธ์ ๕ ที่เป็นทุกข์นั้น ฟังแล้วเข้าใจว่า คือ การเกิดดับของนามธรรม ถูกไหม แต่ทุกข์ในอริยสัจจะนั้น ...

    สุ. ขอประทานโทษ ทุกข์ในอริยสัจจะพ้นจากขันธ์ ๕ ได้ไหม

    . ก็ไม่พ้นขันธ์ ๕

    สุ. เพราะฉะนั้น สรุปว่า ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ได้ไหม

    . ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ แน่นอนอยู่แล้ว

    สุ. ง่ายกว่าที่จะนึกถึงทุกข์อื่นๆ ใช่ไหม ถ้าคิดเพียงว่า ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

    ผู้ฟัง คำว่า ทุกข์ ที่คนทั่วไปเข้าใจนั้น มักจะเข้าใจแต่ทุกขเวทนา เช่น เมื่อนั่งนานๆ ก็พยายามยืนขึ้นเพื่อให้ทุกข์นั้นหายไป เมื่อยืนนานๆ ก็เมื่อย ก็นั่งลง อะไรอย่างนั้น มีคนเข้าใจคำว่า ทุกข์ เพียงเท่านี้ไม่น้อยทีเดียว

    สุ. เพราะฉะนั้น ไม่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้โดยเพียงรู้ทุกข์อย่างนั้น

    . เมื่อกี้อาจารย์กล่าวว่า ทุกข์ทุกอย่างเป็นทุกข์หรือ

    สุ. ใช่ ทั้ง ๗ ประการ หรือจะกล่าวว่า ...

    . ก็แค่ ๗ ประการเท่านั้น

    สุ. จะอย่างที่ ๑ ก็ได้ จะอย่างที่ ๒ ก็ได้ จะอย่างที่ ๓ ก็ได้ จะอย่างที่ ๔ ก็ได้ จะอย่างที่ ๕ ก็ได้

    . ทุกข์ต้องเกิดดับ ใช่ไหม

    สุ. แน่นอน

    . สิ่งที่ไม่เกิดดับ ไม่ใช่ทุกข์

    สุ. แน่นอน เพราะฉะนั้น ทุกข์ทุกอย่าง

    . ยกเว้นนิพพาน

    สุ. ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี ได้แสดงถึงทุกข์ทั้งหลายที่เป็น ทุกขอริยสัจจะ เช่นที่ถามว่า ก็ชาตินี้เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์ชนิดไหน เพราะว่าชาติ ความเกิดเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น จึงมีคำถามว่า ก็ชาตินี้เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์ชนิดไหน เฉลยว่า ชาตินี้เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์ทั้งหมด คือ ทุกข์ที่เกิดในอบาย ในมนุษย์ และในภูมิอื่นๆ สภาพธรรมทั้งหลายที่มีการเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในภูมิใดทั้งสิ้น โดยชาติ คือ การเกิด ย่อมนำมาซึ่งทุกข์ทั้งปวง

    . การเจริญอานาปานสติ ผมระลึกที่ลมหายใจ รู้สึกว่าลมหายใจ แผ่วเบาลง และมีอาการตึงที่หน้าผาก เป็นอาการของจิตหรือเปล่า

    สุ. ความรู้สึกเป็นจิต ลักษณะที่ตึงเป็นรูป เพราะจิตตึงไม่ได้ แต่รูปตึงได้ ในขณะที่รู้สึกตึง ความรู้สึกนั้นเป็นจิต เป็นกายวิญญาณ เพราะเป็นสภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏที่กาย

    . สิ่งนั้นควรยึดไหม

    สุ. การเจริญภาวนาประเภทหนึ่งประเภทใด ควรประกอบด้วยเหตุผลอย่างละเอียดจริงๆ ก่อนที่จะเจริญภาวนาประเภทนั้น อย่าเพียงคิดว่า อยากจะทำ

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งบอกว่า เวลาที่ท่านโกรธ ท่านก็ไม่ใส่ใจ แต่ไปจ้องอยู่ที่อื่น ซึ่งในขณะนั้นรู้สึกว่าความโกรธหายไป ชอบที่จะทำอย่างนั้นบ้างไหม

    ทุกคนไม่ชอบความโกรธ เวลาที่เกิดโกรธก็หาวิธี เช่น จ้องที่หนึ่งที่ใดเพื่อที่จะไม่โกรธ และในขณะนั้นก็ไม่โกรธจริงๆ เพราะว่าไม่ใส่ใจในสิ่งที่ทำให้โกรธ ไปเพ่งจ้องสิ่งอื่นเพื่อที่จะให้ไม่โกรธ ทำอย่างนั้นจะดีไหม

    นี่เป็นเรื่องเหตุผลซึ่งจะต้องพิจารณาโดยละเอียด ในขณะที่จ้องที่อื่นเพื่อจะ ไม่โกรธ ขณะนั้น คือ ให้มีโลภะที่จะจดจ้องที่อื่นแทนโทสะ ถูกไหม ไม่ใช่เรื่องของปัญญา แต่เป็นการหาวิธีที่จะไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้นมาก ซึ่งการอบรมเจริญภาวนา อย่าลืมว่า ต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ คือ ต้องประกอบด้วยปัญญา

    ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งบอกว่า เวลาที่ท่านจะเจริญพุทธานุสสติ ระลึกถึง พระพุทธคุณ ยากและก็ยาว เพียงแต่พุทโธก็จะต้องนึกถึงพระคุณต่างๆ กว่าจะได้รู้ว่า นั่นคือมหากุศลจิตซึ่งเป็นไปในการระลึกถึงพระพุทธคุณ แสดงให้เห็นว่า การที่จะให้กุศลจิตเกิดจริงๆ ไม่ใช่เพียงท่องเฉยๆ แต่ผู้ใดก็ตามที่ได้ศึกษาธรรมอย่างซาบซึ้งในพระธรรม ไม่ว่าจะในพระสูตร ในพระอภิธรรม ในพระวินัย ในอรรถกถา หรือในชาดกต่างๆ เมื่อได้ระลึกถึงพระมหากรุณาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ ที่ได้ทรงแสดงพระธรรมไว้เป็นอันมาก เพียงคำว่า พุทโธ คำเดียว สามารถที่จะเกิดปีติอย่างล้นเหลือได้ เช่นเดียวกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเมื่อได้ยินคำว่า พุทโธ เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลก็สังเกตจิตในขณะที่ระลึกถึงคำว่า พุทโธ

    เมื่อเริ่มศึกษาธรรมก็ทราบว่า พุทโธ เป็นคำที่กล่าวถึง หรือระลึกถึง พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียงระลึกถึง ก็เหมือนกับการคิดถึงคนอื่น ใช่ไหม แต่จะต่างกันมากน้อยแค่ไหนอย่างไรขึ้นอยู่กับ เวลาที่ได้ศึกษาพระธรรมและ เข้าใจ เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานก็มีปัญญายิ่งขึ้น แม้แต่ขณะที่สวดมนต์ เพียงระลึกถึงพุทโธด้วยจิตที่เป็นกุศลก็เพิ่มกำลังขึ้นได้ ซึ่งในขณะนั้นจะมีลักษณะของกุศลที่ประกอบด้วยความสงบ และจะรู้ว่าการที่จิตจะสงบต้องระลึกถึงสิ่งที่ทำให้ จิตสงบโดยอาการอย่างไร

    ท่านผู้นั้นได้ถามถึงเรื่องอานาปานสติว่า ท่านระลึกที่ลมหายใจ ทำอย่างไรจึงจะให้เป็นกุศล ก็ยังเป็นผู้ตรงที่รู้ว่า ขณะระลึกที่ลมหายใจไม่ใช่จะเป็นกุศลเสมอไป ไม่ใช่ว่าเด็กเล็กๆ ระลึกที่ลมหายใจโดยไม่รู้อะไรและจะเป็นกุศล แต่การที่ผู้ใดจะระลึกที่ลมหายใจด้วยกุศลจิต ต้องเป็นผู้ที่พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะคือปัญญาจริงๆ ที่รู้ว่าเพราะอะไรขณะที่ระลึกที่ลมหายใจแล้วจิตเป็นกุศลได้ ซึ่งดิฉันได้เรียนให้ทราบว่า เพียงการระลึกที่ลมหายใจและจิตจะเป็นกุศลในขั้นต้นยังยากอย่างนี้ ที่จะให้เป็น อานาปานสติสมาธิจะยิ่งยากขึ้นอีกสักเท่าไร เพราะเพียงขั้นต้นที่จะระลึกด้วยจิตที่สงบ ก็ยังไม่ทราบว่า จะระลึกอย่างไรกุศลจิตจึงจะเกิดและสงบ

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่การไปจดจ้องอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดและเข้าใจว่า ในขณะนั้นเป็นภาวนาที่เป็นภาวนามัย คือ กุศลที่สำเร็จด้วยการอบรมเจริญทางใจ เป็นเรื่องที่ละเอียด มิฉะนั้นจะเป็นมิจฉาสมาธิ ทิ้งไป ถ้าในขณะนั้นไม่ประกอบด้วยปัญญา

    . เข้าใจแล้ว ผมเป็นผู้ปฏิบัติใหม่ ขอถามต่อไปว่า การที่ผมอ่านหนังสือและระลึกที่ลมหายใจ เป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำ

    สุ. ระลึกอย่างไรจิตจึงสงบ การระลึก สามารถระลึกที่หนึ่งที่ใดก็ได้ ที่กายที่กระทบ ที่ลมที่กระทบกาย ระลึกถึงคนนั้นคนนี้ก็ได้ แต่ในขณะนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่า จิตสงบหรือไม่สงบ เพราะว่าสภาพที่ระลึกมีจริง แต่สภาพที่ระลึกที่เป็นอกุศลก็มี สภาพที่ระลึกที่เป็นกุศลก็มี ถ้ายังแยกลักษณะสภาพที่ระลึกที่เป็นกุศลกับสภาพที่ระลึกที่เป็นอกุศลไม่ได้ ก็อย่าทำอะไร เพราะไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นเรื่องการอบรมเจริญด้วยปัญญาพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ

    . การอ่านหนังสือและระลึกที่ลมหายใจนั้น ถือว่ามีสติหรือเปล่า

    สุ. เวลาที่กระทบหนังสือและรู้ว่าแข็ง มีสติหรือเปล่า เวลาที่ได้ยินเสียง เสียงปรากฏ มีสติหรือเปล่า

    . มี

    สุ. ถ้าอย่างนั้นมีสติทั้งวัน นี่เป็นสิ่งซึ่งจะต้องพิจารณาว่า ขณะที่กำลังรู้แข็ง กับขณะที่สติระลึกที่แข็ง ขณะที่กำลังรู้ลมที่กระทบ กับขณะที่ระลึกที่ลักษณะของลมที่กระทบด้วยปัญญา อย่าทิ้งคำว่าด้วยปัญญา ไม่ใช่ระลึกเฉยๆ ถ้าระลึก เฉยๆ ไม่ใช่การอบรมเจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา เพราะการเจริญภาวนาต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ คือ ประกอบด้วยปัญญา

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ควรจะพิจารณาว่า ขณะที่ประกอบด้วยปัญญา ต่างกับขณะที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา จึงจะอบรมเจริญภาวนาได้

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์กล่าวว่า ผู้ที่จะเจริญพุทธคุณนั้นใช้เวลานาน นั่นคือผมเอง ผมสังเกตว่า ก่อนที่จิตจะเป็นกุศลเพราะระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าจริงๆ นั้น ผมต้องนึกใคร่ครวญว่า พระองค์มีพระมหากรุณาคุณมากเหลือเกิน เมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ นั้น ก็นึกถึงปัญจวัคคีย์ซึ่งอยู่ไกลถึง ๑๕๐ กม. จากพุทธคยาถึงพาราณสี ๑๕๐ กม. พระองค์ต้องเสด็จดำเนินไปเพื่อที่จะโปรด เมื่อเสด็จดำเนินไปโปรดพระปัญจวัคคีย์แล้ว โปรดพระยสะแล้ว ก็กลับมาที่พุทธคยามาโปรดชฎิลดาบสอีก ผมนึกนานกว่าจะ รู้สึกว่าจิตเป็นกุศล นี่เป็นความจริง เมื่ออาจารย์บอกว่า บางคนได้สะสมเหตุปัจจัย ในเรื่องของกุศลมามากเพียงแต่ได้ยินว่า พุทโธ เท่านั้น จิตก็เป็นกุศล ตรงนี้ผมเข้าใจหลักสมถะได้ลึกซึ้งทีเดียว

    สุ. ท่านผู้หนึ่งเล่าให้ฟังถึงชีวิตประจำวันของท่านว่า ท่านเป็นผู้ที่สนใจในการฟังธรรม และในการเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน แต่สติก็เป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ แล้วแต่ว่าขณะใดมีปัจจัยที่สติจะเกิดสติก็เกิด วันหนึ่งขณะที่ท่านลงบันได สติเกิดระลึกที่แข็ง ตอนแรกระลึกแข็งที่เท้าที่กระทบพื้น ต่อจากนั้นระลึกแข็ง ที่มือที่จับราวบันใด ซึ่งท่านถามว่า เป็นการถูกต้องไหม

    ขณะนั้นสติเกิดระลึกลักษณะของแข็ง แต่ขอให้สังเกตว่า สำหรับผู้ที่เริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐาน สภาพธรรมเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็วจนปรากฏเป็นทั้งเห็น ทั้ง ได้ยิน ทั้งได้กลิ่น หรือว่าจะลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ยังไม่ปรากฏว่า มีเฉพาะสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพียงอย่างเดียว เช่น แข็ง ธรรมเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ ในขณะนี้ แข็งกำลังปรากฏแน่ๆ แต่เพราะการเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็วของสภาพธรรม ทำให้สภาพธรรมไม่ได้ปรากฏเพียงอย่างเดียว เพราะในขณะรู้สึกแข็ง ทางตาก็กำลังเห็น หรือขณะที่กำลังได้ยินในขณะนี้ ทางตาก็ยังกำลังเห็นอีก ทางใจก็คิดนึก

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การที่สติเพียงเริ่มเกิดขึ้นระลึกลักษณะสภาพธรรม ไม่ผิด เพราะแข็งมีจริง แล้วแต่ว่าขณะใดสติระลึก แต่ยังไม่สามารถปรากฏเพียงเฉพาะแข็งอย่างเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะยังมีความรู้สึกว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นรูปร่างอิริยาบถตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เช่น กำลังลงบันได ยังมีความรู้สึกว่าเป็นเรากำลังลงบันได และมีรูปร่างจริงๆ ทั้งหมดเป็นเราแน่ๆ จนกว่าเมื่อไรปัญญาจะอบรมเจริญขึ้นจนกระทั่งเราไม่มี เพราะรูปร่างไม่ได้ปรากฏร่วมด้วยในขณะที่รู้แข็ง เพียงแข็งเท่านั้น ที่ปรากฏ

    เมื่อไรที่ย่อสิ่งซึ่งเคยใหญ่โตเป็นรูปร่างสัณฐานตลอดทั้งตัว จนกระทั่งเหลือเพียงลักษณะเดียวของสภาพธรรมที่ปรากฏเท่านั้นจริงๆ เมื่อนั้นจึงจะเห็นได้ว่า แข็งนั้นไม่ใช่เรา จะเป็นเราไปได้อย่างไร หรือว่าขณะที่เพียงแข็งปรากฏ มานะมีได้ไหมว่า เป็นเราสำคัญมากในขณะที่เพียงแข็งเท่านั้นที่ปรากฏ แต่ตราบใดที่ยังไม่เป็น อย่างนั้น ความสำคัญในแข็ง หรือว่าในอิริยาบถ หรือว่าในกิริยาท่าทาง หรือว่า ในอากัปกิริยาอาการต่างๆ ก็ยังมีได้ว่า เรา

    เพราะฉะนั้น ถ้าสักกายทิฏฐิ หรือความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ยังไม่ดับหมดสิ้นจริงๆ เพียงแข็งมีความเห็นผิดว่าเป็นเราก็ได้ หรือเห็นว่าเป็นเท้าของเรา ก็ได้ หรือเห็นว่าเป็นเรามีความสำคัญในแข็งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นก็ได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๘ ตอนที่ ๑๓๗๑ – ๑๓๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 89
    28 ธ.ค. 2564