แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1372


    ครั้งที่ ๑๓๗๒


    สาระสำคัญ

    ขุ.มหา.สารีปุตตสุตตนิทเทส - มีจิตเป็นธรรมเอกผุดขึ้น

    รูปไม่ใช่สิ่งที่พึงละ

    สงฺ.มหา.ธารณสูตรที่ ๒ - อริยสัจจ์ทั้ง ๔


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๗


    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาต้องค่อยๆ ละคลายการที่เคยยึดถือ สภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน จนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏเพียงอย่างเดียว ไม่มีอย่างอื่นปะปนด้วย จึงจะแสดงให้เห็นว่า ปัญญาและสติมีกำลัง ที่มั่นคง

    ข้อความในพระไตรปิฎกซึ่งท่านผู้ฟังคงจะได้พบบ่อยๆ คือ ธรรมเอกผุดขึ้น ธรรมเอก คือ ธรรมอย่างเดียว

    ในขณะนี้มีธรรมหลายอย่าง ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ยังไม่ใช่ธรรมเอก คือ ธรรมเพียงอย่างเดียวเกิดขึ้นปรากฏให้รู้ ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง

    ขุททกนิกาย มหานิทเทส สารีปุตตสุตตนิทเทสที่ ๑๖ ข้อ ๙๘๗ มีข้อความว่า

    คำว่า มีจิตเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ในคำว่า เป็นผู้มีจิตเป็นธรรมเอกผุดขึ้น พึงกำจัดความมืด

    คือ ไม่ใช่ผุดขึ้นเฉยๆ แต่ปัญญาไม่เกิด

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดังนี้ ความว่า เป็นผู้มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีใจไม่กวัดแกว่ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้มีจิตเป็นธรรมเอกผุดขึ้น

    ข้อความต่อไปอธิบาย คำว่า ภิกษุนั้นพึงกำจัดความมืด เวลาที่แข็งปรากฏในขณะที่กำลังลงบันได ไม่มีเรา ไม่มีอิริยาบถ มีแต่แข็งหรือเปล่า

    ทุกท่านลงบันไดเป็นชีวิตประจำวัน ถ้าสติเกิดระลึกในขณะนั้น ก็เป็นการตรวจสอบตัวเองได้ว่า ขณะนั้น มีจิตเป็นอารมณ์เป็นหนึ่ง มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีใจไม่ กวัดแกว่ง หรือเปล่า เพราะแข็งเท่านั้นปรากฏ เมื่อแข็งเท่านั้นปรากฏ ใจไม่กวัดแกว่ง หมายความว่า ไม่นึกถึง ไม่ทรงจำในรูปอื่น ในนามอื่น ในความสำคัญหมายว่า เป็นตัวตน จึงจะชื่อว่า เป็นผู้ที่มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีใจไม่กวัดแกว่ง เพราะไม่มีเรา ไม่มีอะไรเลย มีแต่แข็งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นปัญญาที่มั่นคง สติที่มั่นคง สมาธิที่มั่นคง ซึ่งต้องเป็นวิปัสสนาญาณ จึงจะชื่อว่าเป็นผู้มีจิตเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะข้อความต่อไปอธิบายว่า

    ภิกษุนั้นพึงกำจัดความมืด ความว่า พึงขจัด กำจัด ละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีซึ่งความมืดคือราคะ ความมืดคือโทสะ ความมืดคือโมหะ ความมืด คือมานะ ความมืดคือทิฏฐิ ความมืดคือกิเลส ความมืดคือทุจริต อันทำให้บอด ทำให้ไม่มีจักษุ ทำให้ไม่มีญาณ ดับปัญญา เป็นฝักฝ่ายความลำบาก ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน

    ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมจะไม่ได้คิดว่า ขณะที่มานะเกิด ทิฏฐิเกิด ทุจริตเกิด โลภะเกิด โทสะเกิด หรือโมหะเกิด ขณะนั้นเป็นความมืด ต่อเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว จึงรู้ได้ตามความเป็นจริงว่า ขณะใดที่อกุศลทั้งหลายเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นความมืดทั้งหมด เพราะ ทำให้ไม่มีจักษุ ทำให้บอด ทำให้ไม่มีญาณ ดับปัญญา เป็นฝักฝ่ายความลำบาก ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน

    อีกท่านหนึ่งเข้าใจว่า การที่จะหมดกิเลสต้องทำใจให้ว่าง ซึ่งถ้าเป็นลักษณะนั้นที่พยายามทำใจให้ว่าง ในขณะนั้นปัญญาก็ไม่ได้เกิดขึ้นรู้อะไรๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะว่ากำลังพยายามทำใจให้ว่าง ทางตาเห็น ไม่รู้อะไรเลย ทางหูได้ยิน ทางจมูก ได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึกก็พยายามทำให้ว่าง จึงไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา เพราะถ้าว่างปัญญาก็ไม่ได้เกิดขึ้นรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งการที่จะดับกิเลสได้นั้น ไม่ใช่การพยายามไปละอะไรๆ ที่จะให้ว่าง แต่ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้น ตามปกติ ตามความเป็นจริง

    มีอีกท่านหนึ่งถามว่า ที่กล่าวว่ารูปไม่ใช่สิ่งที่พึงละนั้นคืออย่างไร

    ทุกท่านเห็นรูป ได้ยินรูป ได้กลิ่นรูป ลิ้มรสรูป รู้รูปที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น จึงมีผู้ถามว่า รูปไม่ใช่สิ่งที่พึงละนั้นคืออย่างไร เพราะบางคนพยายาม อีกเหมือนกันที่จะละรูป ไม่แต่งตัวสวยๆ ไม่เพลิดเพลินสนุกสนาน แต่ก็รู้ตัวเองว่า ยังพอใจอาหารที่อร่อย พยายามที่จะละรูป แต่รูปไม่ใช่สิ่งที่พึงละ

    มีใครสามารถจะละรูปได้บ้าง จะละสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาไม่ให้ปรากฏ จะละเสียงซึ่งเกิดขึ้นและกำลังได้ยินไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้ปรากฏ ย่อมละไม่ได้ เพราะสมุฏฐานที่ทำให้เกิดรูปมีทั้งกรรม จิต อุตุ และอาหาร รูปบางรูปเกิดขึ้นเพราะกรรม รูปบางรูปก็เกิดขึ้นเพราะจิต รูปบางรูปเกิดขึ้นเพราะอุตุ รูปบางรูปก็เกิดขึ้นเพราะอาหาร จึงไม่มีใครสามารถละรูปที่เกิดขึ้นเพราะสมุฏฐานต่างๆ เหล่านี้ได้ แต่ควรอบรมเจริญปัญญาเพื่อละความยินดีพอใจ ความติดในรูป จึงจะเป็นไปได้ หรือว่า มีใครจะละรูปได้ รูปเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ละไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่รู้ความจริงว่า รูปไม่ใช่สิ่งที่พึงละ และควรอบรมเจริญปัญญาเพื่อละความติด ความพอใจในรูป ซึ่งสามารถจะอบรมเจริญได้

    . หมายความว่า ไม่ได้ละ แต่ว่าไม่ติด เจริญปัญญาไม่ให้ติด ใช่ไหม

    สุ. ทุกคนปราศจากรูปไม่ได้แน่ ใช่ไหม ต้องอาศัยรูป แต่ต้องรู้ความจริงว่า สภาพใดเป็นทุกข์ และสภาพใดเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จึงจะสามารถละทุกข์ได้ แต่สำหรับรูปที่เกิดเพราะสมุฏฐานต่างๆ อย่างเช่น ต้นไม้ใบหญ้า ต้องเกิดขึ้นเพราะอุตุ จึงไม่มีใครไปทำลายการเกิดขึ้นของรูปที่เกิดเพราะอุตุได้ ตราบใดที่ยังมีอุตุอยู่

    มีคำถามต่อไปอีกว่า ท่านที่ละเพศคฤหัสถ์ออกสู่เพศบรรพชิต ชื่อว่าละรูปไหม

    ตามความเป็นจริงแล้ว การอบรมเจริญปัญญาในเพศของบรรพชิตนั้น สำหรับผู้ที่สะสมเหตุปัจจัย มีฉันทะในการเจริญปัญญาในเพศของบรรพชิต โดยละความพอใจในรูป เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่จะบวช ก็มีกายวิเวก คือ หลีกออกจากวัตถุกาม เพราะเห็นว่าวัตถุกามเป็นที่ตั้งของความยินดีเพลิดเพลิน เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะอุปสมบทและอบรมเจริญปัญญาในเพศของบรรพชิตจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่รู้หนทางที่ถูกต้อง และต้องเข้าใจด้วยว่า การที่จะห่างออกจากวัตถุกามนั้นเพื่ออะไร ก็เพื่ออบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เข้าใจว่า กิเลสจะหมดโดยการเพียงห่างจากวัตถุกาม เพราะถึงแม้จะห่างจากวัตถุกามสักเท่าไร ถ้าข้อปฏิบัติไม่ถูก ไม่มีทางดับความยินดีพอใจในวัตถุกามนั้นได้

    เพราะฉะนั้น ความสำคัญอยู่ที่ความยินดีพอใจ ความติดในกามคุณ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะซึ่งเป็นวัตถุกาม แล้วแต่ว่าฉันทะ อัธยาศัย ความพอใจของใครจะอบรมปัญญาในเพศไหน แต่ถ้าไม่อบรมปัญญา เพียงแต่ออกจากวัตถุกามเท่านั้น ไม่สามารถดับความยินดีพอใจในวัตถุกามได้

    สำหรับอริยสัจทั้ง ๔ ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นได้เลย ตามข้อความใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ธารณสูตรที่ ๒ ข้อ ๑๖๙๒ ซึ่งได้กล่าวถึงแล้วในคราวก่อนว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ทรงจำอริยสัจจ์ ๔ ที่พระองค์ทรงแสดงได้หรือไม่ ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทรงจำทุกขอริยสัจจะเป็นข้อที่ ๑ … ฯลฯ

    และภิกษุรูปนั้นได้กราบทูลต่อไปว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทรงจำทุกขสมุทยอริยสัจจะเป็นข้อที่ ๒ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ก็สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า นี้มิใช่ทุกขสมุทยอริยสัจจะข้อที่ ๒ ที่พระสมณโคดมทรงแสดงไว้ เราจักบอกเลิกทุกขสมุทยอริยสัจจะข้อที่ ๒ นั้นเสีย แล้วบัญญัติทุกขสมุทยอริยสัจจะข้อที่ ๒ อย่างอื่นใหม่ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้

    ตลอดไปจนถึงอริยสัจจะข้อที่ ๓ และอริยสัจจะข้อที่ ๔

    ข้อสำคัญที่สุด คือ ต้องไม่ลืมว่า ทุกขสมุทยอริยสัจจะ ได้แก่ โลภะ ตัณหา ความยินดี ความพอใจในทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้น แต่ละท่านรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ทรงจำทุกขสมุทยอริยสัจจะข้อที่ ๒ ได้แค่ไหน เพราะวันหนึ่งๆ ก็ลืมบ่อยๆ ใช่ไหม ขณะที่กำลังสนุกสนานเพลิดเพลิน อาหารอร่อย ขณะนั้นก็ลืมแล้วว่า เป็นทุกขสมุทยอริยสัจจะ เพราะฉะนั้น การทรงจำมีหลายขั้น แล้วแต่ว่าแต่ละท่านจะทรงจำที่จะระลึกได้ในขณะที่กำลังเพลิดเพลินยินดีว่า นี่คือทุกขสมุทยอริยสัจจะ หรือเปล่า ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ขณะนั้นสติปัฏฐานสามารถระลึกลักษณะของสภาพที่กำลังยินดีพอใจในขณะนั้นว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ตราบใดที่ยังมีโลภะ ความยินดีพอใจ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ต้องยังมีสังสารวัฏฏ์

    . จุติจิตกับปฏิสนธิจิตทำกิจต่างกัน ไม่สืบเนื่องกัน ดังนั้น บุคคลที่สิ้นชีวิตไปแล้วจึงไม่สามารถจำเหตุการณ์ในอดีตได้ แต่ด้วยเหตุผลใดญาติของ พระเจ้าพิมพิสารจึงมาส่งเสียงร้องขอส่วนบุญจากพระเจ้าพิมพิสาร ทำไมพวกเขาเหล่านั้นยังจำได้ว่า พระเจ้าพิมพิสารเป็นญาติ ทั้งๆ ที่อยู่คนละภพภูมิแล้ว

    สุ. แต่ละคนมีชีวิตที่สั้นมาก ตายแล้วก็เกิดอีก ตายแล้วก็เกิดอีก แต่ การเป็นเปรตหรือเกิดในอบายภูมิ มีอายุที่ยืนยาวกว่าด้วยอำนาจของอกุศลกรรม และ ไม่สามารถทราบได้ว่า คนที่ตายไปซึ่งเคยเป็นญาตินั้นไปเกิดที่ไหน แม้แต่เปรตที่เคยเป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสารในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปุสสะ ในกัปที่ ๙๒ แต่ภัทรกัปนี้

    ขอให้คิดถึงการสะสมปัญญาบารมีของพระเจ้าพิมพิสารก่อนที่จะได้เฝ้า พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้และได้เป็นพระโสดาบันเมื่อได้ฟังพระธรรม นานแสนนานในกัปที่ ๙๒ แต่ภัทรกัปนี้ ใครจะเคยเป็นเปรตในครั้งนั้นบ้างก็ย่อมได้ ใช่ไหม

    ในครั้งนั้นพวกชาวชนบทผู้มีจิตโลภทำอันตรายแก่ทาน กินไทยธรรมด้วย ตนบ้าง และได้ให้แก่พวกลูกๆ บ้าง และเอาไฟเผาโรงภัต เมื่อสิ้นชีวิตก็เกิดในนรก จากนรกถึงนรกจน ๙๒ กัปล่วงไป ในสมัยพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ ในภัทรกัปนี้ พวกชาวชนบทเหล่านั้นหลังจากที่ได้เกิดในนรกจากนรกจน ๙๒ กัปล่วงไปก็ได้เกิดเป็นเปรต เมื่อเห็นมนุษย์ถวายทานและอุทิศแก่ญาติผู้ล่วงลับ ญาติผู้ล่วงลับนั้นๆ ก็ได้สมบัติเป็นอานิสงส์ เปรตพวกนั้นได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะว่า ทำไฉนตนถึงจะได้อานิสงส์เห็นปานนั้นบ้าง

    พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะทรงพยากรณ์ว่า ในสมัยของพระองค์นั้น พวกเปรตเหล่านั้นยังไม่ได้อานิสงส์นั้น แต่ในอนาคตกาล ในสมัยพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าสมณโคดมพระองค์นี้ ญาติของพวกเปรตจะเป็นพระราชาทรงพระนามว่าพระเจ้าพิมพิสาร พระองค์จะถวายทานแก่พระผู้มีพระภาค และจะทรงอุทิศ ส่วนกุศลแก่พวกเปรต เมื่อนั้นพวกเปรตจึงจะได้อานิสงส์แห่งการอนุโมทนา

    ซึ่งในสมัยพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดมพระองค์นี้ พระโอรสทั้ง ๓ ในครั้งนั้น คือ ในครั้งสมัยพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าปุสสะ พร้อมทั้งบริวาร จุติจากสวรรค์ แล้วได้เกิดเป็นชฎิล คือ อุรุเวลกัสสปะกับน้องชาย ขุนคลังได้เป็นมหาเศรษฐี ชื่อว่าวิสาขะ ภริยาของขุนคลังได้เป็นธิดาเศรษฐีชื่อว่าธรรมทินนา ขุนส่วยได้เป็น พระเจ้าพิมพิสาร และพวกเปรตอื่นๆ หรือบุคคลอื่นๆ ในกัปที่ ๙๒ แต่ภัทรกัปนี้ ก็ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหนบ้าง ก็เกิดวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนาน

    มีใครไม่เคยเกิดเป็นเปรตบ้างไหม หรือคิดว่า เมื่อยังมีโลภะและอาจจะทำอกุศลกรรมคล้ายๆ กับเปรตที่เป็นญาติพระเจ้าพิมพิสารเคยทำมาแล้ว เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องเคยเป็นเปรตมาแล้ว ซึ่งในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนาน ก็มีการเกิดทั้งในนรกบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง เป็นมนุษย์บ้าง และพวกเปรตที่เป็นญาติของ พระเจ้าพิมพิสาร ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะไม่ทรงพยากรณ์ ย่อม ไม่สามารถทราบได้ว่า ญาติของตนจะเกิดเป็นพระเจ้าพิมพิสาร เพราะเมื่อตายไป ก็พ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้น ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า จะเป็นบุคคลใดในภพภูมิใด ซึ่งทุกข์ในแต่ละชาติที่ผ่านไป ไม่ว่าในชาติที่เป็นเปรตซึ่งทุกคนเคยเป็นแล้ว ในชาติที่เป็นสัตว์เดรัจฉานซึ่งทุกคนก็เคยเป็นแล้ว หรือว่าทุกข์ต่างๆ นานาที่เคยเกิดในนรกก็ผ่านไปหมดแล้ว สุขในสวรรค์มากกว่าในมนุษย์นี้ก็ผ่านไปหมดแล้ว ชาติก่อนๆ ทุกชาติ ผ่านไปหมดแล้ว แต่โลภะยังไม่หมด

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาเพื่อละคลายโลภะ โทสะ โมหะ ในวันหนึ่งๆ ไม่มีหนทางที่จะพ้นจากการเกิดอีก และถ้ายังไม่เป็นพระอริยบุคคล ก็จะเกิดในอบายภูมิ คือ เกิดในนรกก็ได้ เกิดเป็นเปรตก็ได้ เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็ได้ และถ้าชาตินี้ ในขณะนี้ สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็เหมือนกับในชาติก่อนๆ ซึ่งเคยเกิดแล้วในภพภูมิต่างๆ ทั้งสุข ทั้งทุกข์ ขณะใดที่หลงลืมสติ สภาพธรรมนั้นก็ผ่านไปโดยไม่รู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นชาติไหนทั้งนั้น ชาติก่อนหลงลืมสติขณะใด ก็ยังเต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ถ้าชาตินี้ ปีก่อน เดือนก่อน วันก่อนๆ หรือในวันนี้ ขณะใดที่หลงลืมสติ ก็เหมือนในชาติก่อนๆ สังสารวัฏฏ์ก็ต้องยืดยาวนานต่อไปอีก สำหรับผู้ที่ยังไม่สามารถละสักกายทิฏฐิ ยังไม่เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นอนัตตา



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๘ ตอนที่ ๑๓๗๑ – ๑๓๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 89
    28 ธ.ค. 2564