แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1374
ครั้งที่ ๑๓๗๔
สาระสำคัญ
อถ.วิ.อรรถของทุกข์ของชาติ
ชาติ ความเกิดเป็นทุกข์ ก่อนทุกข์ทั้งปวง
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๗
ผู้ฟัง พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้มีหลายนัยมาก ถ้าศึกษา ไม่ละเอียดจะทำให้สับสน ที่พระเถระทั้งหลายกล่าวว่า ส่วนสุดทั้งสองควรกำหนดรู้ แต่ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมกับปัญจวัคคีย์ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสุดทั้งสองอันบรรพชิตไม่พึงเสพ ซึ่งส่วนสุดทั้งสองนั้นหมายถึงกามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยค และให้เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นมัชฌิมาปฏิปทาซึ่งเป็นท่ามกลาง แต่ในพระสูตรนี้พระเถระทั้งหลายให้รู้ส่วนสุดทั้งสองและรู้ท่ามกลางด้วย จะสามารถบรรลุเป็นพระอริยเจ้าได้ เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาไม่ดีแล้ว อาจเกิดการสับสนกันได้
สุ. มัชฌิมาปฏิปทา คือ สติปัฏฐาน เกิดขึ้นระลึกรู้อะไร ก็ไม่พ้นไปจากที่พระเถระทั้งหลายท่านได้กล่าวแล้วนั่นเอง คือ อดีตเป็นส่วนสุดข้างหนึ่ง อนาคตเป็นส่วนสุดข้างหนึ่ง ปัจจุบันเป็นท่ามกลาง เพราะฉะนั้น ที่พระปัญจวัคคีย์ต้องเว้นจากส่วนสุดทั้งสอง และอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นท่ามกลาง เป็นทางสายกลาง ก็คือสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั่นเอง ไม่ได้ผิดกันเลย เมื่อเว้นส่วนสุดทั้ง ๒ ข้างแล้ว ก็ทรงแสดงหนทางไว้ด้วย คือ อบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ โดยสติปัฏฐานเกิดขึ้น สติปัฏฐานเกิดขึ้นเป็นสภาพธรรมที่ระลึกรู้ ระลึกรู้อะไร ก็ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามที่พระเถระทั้งหลายได้กล่าวว่า สภาพธรรมใดเป็น ส่วนสุด และสภาพธรรมใดเป็นท่ามกลาง ก็ตรงกัน
ท่านผู้ฟังอาจจะสงสัยว่า กำลังพูดถึงเรื่องโทสมูลจิต เรื่องของโทมนัสเวทนา เรื่องของทุกข์ต่างๆ แต่ตามความเป็นจริงเวลาที่สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแม้ในขณะที่เป็นทุกข์ หรือในขณะที่เป็นโทมนัสเวทนาด้วย เพราะวันหนึ่งๆ ไม่มีใครสามารถจัดแบ่งได้ว่า ให้สุขเกิดเท่านั้น ให้ทุกข์เกิดเท่านี้ แต่สุขเวทนาก็ดี หรือทุกขเวทนา โทมนัสเวทนาจะเกิดขึ้นเมื่อไร ในวันไหน มากบ้าง น้อยบ้างอย่างไร ไม่มีใครสามารถรู้ได้ แต่การที่จะรู้ลักษณะของทุกข์ ต้องรู้ลักษณะของทุกข์ทุกอย่าง ไม่ใช่แต่เฉพาะโทมนัสเวทนาเท่านั้น และควรรู้ถึงเหตุที่ให้เกิดทุกข์ด้วยว่า ทุกข์ทั้งหลายในปัจจุบันชาติที่ผ่านมาแล้วทั้งหมด หรือในชาติก่อนๆ หรือในชาติต่อๆ ไปซึ่งจะมีได้นั้น เกิดจากอะไร เพราะถึงแม้ว่าทุกข์มีอยู่จริง เป็นอริยสัจธรรมด้วย แต่ถ้าไม่พิจารณา ก็ย่อมไม่เห็น
พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาแสดงเรื่องของทุกข์ไว้มาก ไม่ใช่แต่เฉพาะ โทสมูลจิตหรือโทมนัสเวทนาเท่านั้นที่เป็นทุกข์ แต่ว่าทุกข์ทั้งหลายทั้งหมดย่อมมีได้ เมื่อยังมีภพชาติอยู่
เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาถึงเหตุที่นำมาซึ่งทุกข์ คือ ทุกข์ของการเกิดขึ้น ทุกข์ของภพชาติ ถ้าไม่มีการเกิดขึ้นเลย ทุกข์ทั้งหลายในชาตินี้ย่อมมีไม่ได้ หรือในชาติก่อนๆ ก็เหมือนกัน ถ้าชาติก่อนๆ ไม่มีการเกิดเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ ทุกข์ทั้งหลายในชาติก่อนๆ ก็มีไม่ได้ หรือในชาติต่อไปก็เช่นเดียวกัน ถ้าจะไม่มีการเกิดอีกเลย ทุกข์ทั้งหลายก็ย่อมจะเกิดขึ้นอีกไม่ได้เลย
ทุกข์ของชาติก่อนๆ ผ่านไปหมด จำไม่ได้ ก็ไม่เดือดร้อน ใช่ไหม หรือใครยังเป็นทุกข์อยู่ว่า ชาติก่อนๆ โน้นเป็นทุกข์มากมายอย่างนั้นอย่างนี้ เคยเป็นเปรต เคยตกนรก แต่นั่นก็เป็นเรื่อง ไม่ใช่ทุกข์ที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้
สำหรับทุกข์ในชาตินี้ที่ผ่านมาแล้ว ใครยังคร่ำครวญคำนึงถึงอยู่อีกหรือเปล่าว่า เคยเป็นทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เสียเวลาจริงๆ แต่ทุกข์ที่จะเกิดต่อไปที่จะติดตามชาติภพข้างหน้า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอรรถของทุกข์ของชาติใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ สัจจวิภังค์ ว่า
ก็ชาตินี้ (คือ ขณะที่เกิด) ตัวเองไม่เป็นทุกข์ แต่ท่านเรียกว่า ทุกข์ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์
ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่โทมนัสเวทนา เป็นวิบาก และขณะนั้นเป็นจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต เพราะฉะนั้น ขณะนั้นอารมณ์ไม่ปรากฏ จะมีใครเป็นทุกข์จริงๆ ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นขณะแรกบ้าง
ถามว่า ก็ชาตินี้เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์ชนิดไหน
เฉลยว่า ชาตินี้เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์ทั้งหมด คือ ทุกข์ที่เป็นไปในอบาย ซึ่งแม้พระผู้มีพระภาคทรงประกาศไว้ด้วยอำนาจอุปมาในพาลปัณฑิตสูตรเป็นต้น และทุกข์อันต่างโดยชนิด มีการหยั่งลงสู่ครรภ์เป็นมูลเป็นต้น ในมนุษย์โลกซึ่งเกิดขึ้นในสุคติ
ขณะปฏิสนธิขณะเดียวเป็นวิบากจิต ตัวเองไม่เป็นทุกข์ แต่ที่เรียกว่าทุกข์ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์ซึ่งจะติดตามมา ไม่ว่าจะเป็นการเกิดในอบาย เป็นทุกข์ที่จะประสบอกุศลวิบากต่างๆ และถึงแม้ว่าเกิดเป็นมนุษย์ การหยั่งลงสู่ครรภ์เป็นมูล เป็นต้นในมนุษยโลกซึ่งเกิดขึ้นในสุคติ ก็เป็นทุกข์
ข้อความต่อไปมีว่า
ทุกข์มีการหยั่งลงสู่ครรภ์เป็นมูล
ความจริงสัตว์นี้เมื่อบังเกิดในครรภ์มารดา ไม่ใช่บังเกิดอยู่ในดอกอุบล ดอกปทุมและดอกปุณฑริกเป็นต้น ที่แท้แลย่อมบังเกิดในส่วนแห่งครรภ์ที่น่าเกลียดมีประมาณยิ่ง หมกอยู่ด้วยป่าใหญ่ คือ กลิ่นเหม็นอย่างยิ่ง ไม่สะอาด อบอวลด้วยกลิ่นซากศพต่างๆ มืดตื้อคับแคบอย่างยิ่ง หว่างกลางพื้นท้องและกระดูกสันหลัง ภายใต้กระเพาะอาหารใหม่เบื้องบนกระเพาะอาหารเก่า ดุจหนอนเกิดในปลาเน่า ขนมกุมมาสบูดและบ่อน้ำครำเป็นต้น สัตว์นั้นบังเกิดในที่นั้นแล้ว ถูกไออุ่นอันเกิดในครรภ์มารดาตลอด ๑๐ เดือนอบดุจข้าวห่อ นึ่งดุจก้อนแป้ง เว้นอาการคู้เข้าเหยียดออกเป็นต้น ย่อมเสวยทุกข์มีประมาณยิ่งแล ทุกข์นี้ชื่อว่าทุกข์มีการหยั่งลงสู่ครรภ์เป็นมูลก่อน
ถ้าจะพิจารณาข้างใน ไม่ใช่ข้างนอก จะเห็นตามความเป็นจริงได้ไหมว่า น่าเกลียดมีประมาณยิ่ง เพียงแต่เอาผิวหนังออก แต่ลึกลงไปในนั้นอีก ที่เกิด คือ ไม่ใช่ในดอกอุบล ดอกปทุม ดอกปุณฑริก แต่ว่าหมกอยู่ในป่าใหญ่ คือ กลิ่นเหม็นอย่างยิ่ง อบอวลด้วยกลิ่นซากศพต่างๆ มืดตื้อคับแคบอย่างยิ่ง ภายใต้กระเพาะอาหารใหม่เบื้องบนกระเพาะอาหารเก่า ดุจหนอนเกิดในปลาเน่า
ในตัวนี้มีหนอน และในขณะที่มีสิ่งที่มีชีวิตในครรภ์ ก็อยู่ใกล้ๆ กัน
เมื่อปฏิสนธิจิตดับไป ภวังคจิตเกิดสืบต่อ วิถีจิตแรกที่เกิดขึ้น ปฐมชวนวิถี เป็นโลภชวนะทางมโนทวาร และดับไป วิถีจิตหลังๆ เป็นกายทวารวิถีก็ได้ เพราะมี กายปสาทเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้น ถ้ามีกายปสาทก็มีการเจริญเติบโตขึ้น มีการกระทบสัมผัสกับสิ่งซึ่งทำให้เกิดทุกขเวทนาในขณะใด ขณะนั้นโดยปัจจัย จะทำให้เกิดโทมนัสเวทนาหรือโทสมูลจิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ได้
เริ่มทุกข์แล้ว แต่ก็ลืมไปหมด สำหรับในชาตินี้ และในชาติต่อๆ ไป ก็ต้องเป็นอย่างนี้อีก
ข้อความต่อไป
ทุกข์ของการบริหารครรภ์เป็นมูล
อนึ่ง สัตว์นั้นเสวยทุกข์ใดมีประมาณยิ่งด้วยความพยายามของมารดา มีการคร่าไปทั่ว คร่าไปรอบ ซัดลง และซัดออก เป็นต้น ในการลื่นถลา การเดิน การนั่ง การลุกขึ้น และการพลิก เป็นต้น โดยทันที ดุจลูกแพะน้อยในเงื้อมมือของนักเลงสุรา และดุจลูกงูน้อยในเงื้อมมือของหมองู และเสวยทุกข์กล้าอันใด เป็นดุจสัตว์ผู้อุบัติใน สีตนรก (คือ นรกเย็น) ในคราวที่มารดาดื่มน้ำเย็น เป็นดุจถูกฝนถ่านเพลิงปะพรมรอบในคราวที่มารดากลืนข้าวยาคูและภัตร้อนๆ เป็นต้น เป็นดุจถึงกรรมกรณ์วิธีแปลงแสบเป็นต้น ในคราวที่มารดากลืนของเค็มและของเปรี้ยวเป็นต้น ทุกข์นี้ชื่อว่าทุกข์มีการบริหารครรภ์เป็นมูล
โทมนัสเวทนาก็เกิด ทุกขกายวิญญาณังอกุศลวิบากก็เกิด ก็ผ่านไป สำหรับ ในระหว่างที่อยู่ในครรภ์ ยังไม่ได้ออกมานอกครรภ์ ก็ยังมีทุกข์ถึงอย่างนี้
ทุกข์มีความวิบัติแห่งครรภ์เป็นมูล
อนึ่ง มารดาของสัตว์นั้นผู้มีครรภ์หลง ย่อมเกิดทุกข์ใดด้วยเหตุมีการตัดการผ่า เป็นต้นในตำแหน่งที่เกิดทุกข์ ซึ่งไม่สมควรที่แม้มิตรอำมาตย์และเพื่อนฝูงเป็นต้นจะดู ทุกข์นี้ชื่อว่าทุกข์มีความวิบัติแห่งครรภ์เป็นมูล
นี่ก็มีทุกข์ประการต่างๆ เพราะว่าบางครรภ์ก็ไม่ปกติ
ทุกข์มีการคลอดเป็นมูล
ทุกข์ใดเกิดขึ้นแก่สัตว์ผู้ถูกลมกรรมชวาตของมารดาที่กำลังคลอด พัดปั่นป่วนแล้วให้เคลื่อนไปโดยลำดับ สู่ทางกำเนิดอันน่ากลัวยิ่ง ดุจปล่องเหว ผลักไปทางปากทางคลอดที่คับแคบอย่างยิ่ง ดุจช้างตัวโตที่ถูกผลักออกทางช่องลูกตาล และดุจทุกข์ที่เกิดแก่สัตว์นรกถูกภูเขากระทบบดละเอียดอยู่ ฉะนั้น ทุกข์นี้ชื่อว่าทุกข์มีการคลอด เป็นมูล
ทุกข์มีการออกนอกครรภ์มารดาเป็นมูล
อนึ่ง เด็กที่เกิดมีสรีระแบบบางเช่นกับแผลใหม่ มีทุกข์ใดเสมือนกับปลาย เข็มแทง และถูกคมมีดโกนบาด เกิดขึ้นในคราวที่เขาเอามือจับให้อาบน้ำชำระล้างและขัดสีด้วยท่อนผ้าเป็นต้น ทุกข์นี้ชื่อว่าทุกข์มีการออกนอกครรภ์มารดาเป็นมูล
เด็กที่เกิดใหม่ มีสรีระแบบบางเช่นกับแผลใหม่ เพราะฉะนั้น เวลาที่ถูก จับให้อาบน้ำชำระล้างขัดสีด้วยท่อนผ้าเป็นต้น ก็ราวกับปลายเข็มแทง หรือถูกคม มีดโกนบาด ซึ่งทุกคนก็คงได้ยินเสียงร้องจ้า นั่นก็แสดงถึงอกุศลวิบากทางกายที่เป็นทุกขกายวิญญาณัง
ทุกข์มีความพยายามของตนเองเป็นมูล
เบื้องหน้าต่อออกนอกครรภ์มารดานั้นไป ในปวัตติกาล สำหรับสัตว์ผู้ฆ่าตัวด้วยตัวเองก็ดี ผู้ประกอบความเพียรโดยการทำตัวให้ร้อนโดยทั่วและให้ร้อนโดยรอบด้วยอำนาจอเจลกวัตรเป็นต้นก็ดี ผู้อดอาหารและผู้แขวนตัวด้วยอำนาจความโกรธก็ดี มีทุกข์ใด ทุกข์นี้ชื่อว่าทุกข์มีการพยายามของตนเป็นมูล
ตัวเองก็ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ได้ ถ้ามีความเห็นผิด ก็ทรมานตัวให้ลำบากด้วยประการต่างๆ หรืออาจจะถึงกับฆ่าตัวตายก็เป็นได้
ทุกข์มีความพยายามของคนอื่นเป็นมูล
อนึ่ง ทุกข์ใดเกิดขึ้นแก่สัตว์ผู้เสวยกรรมกรณ์ มีถูกประหารและถูกจองจำ เป็นต้นแต่ผู้อื่น ทุกข์นี้ชื่อว่าทุกข์มีความพยายามของผู้อื่นเป็นมูล
สรุปความว่า
ชาตินี้ย่อมเป็นวัตถุที่ตั้งนั่นแลของทุกข์แม้ทั้งหมดนี้ ด้วยประการฉะนี้ เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวไว้ดังนี้ว่า
หากสัตว์ไม่พึงเกิดในพวกนรกไซร้ จะไม่พึงได้ทุกข์ มีถูกเผาด้วยไฟในนรกนั้น เป็นต้น ที่ใครๆ อดกลั้นไม่ได้ในที่ไหนอย่างมั่นคง เพราะเหตุนั้นท่านผู้รู้จึงกล่าวความเกิดในโลกนี้ว่า เป็นทุกข์
การเกิดในนรกนั้นย่อมเห็นได้ชัดว่า ถ้าไม่มีการเกิดในนรก ทุกข์ที่จะได้รับจากการเกิดในนรกก็มีไม่ได้
ข้อความต่อไป แสดงถึงทุกข์ของพวกสัตว์ดิรัจฉานว่า
ทุกข์ในพวกสัตว์ดิรัจฉานเกิดจากการถูกกระหน่ำด้วยแส้ ปฏัก และท่อนไม้ เป็นต้น มีไม่น้อยประการใดก็ตาม เว้นความเกิดเสียแล้ว จะพึงมีในพวกสัตว์ดิรัจฉานนั้นได้อย่างไร แม้เพราะเหตุนั้น ความเกิดในพวกสัตว์ดิรัจฉานนั้น ก็ชื่อว่าเป็นทุกข์
จะเห็นได้ว่า ทุกข์ของสัตว์ดิรัจฉานซึ่งถูกตี ถูกกระหน่ำด้วยแส้ ด้วยปฏัก ด้วยท่อนไม้ ถ้าไม่เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็จะไม่ได้รับทุกข์อย่างนั้นๆ
อนึ่ง ทุกข์เพราะความหิวกระหายในพวกเปรต มีต้นเหตุเกิดแต่ลมและแดด เป็นต้นชนิดต่างๆ เพราะจะไม่มีแก่สัตว์ผู้ไม่เกิดในพวกเปรตนั้น แม้เหตุนั้น ท่านผู้รู้ก็กล่าวความเกิดว่า เป็นทุกข์
อนึ่ง ทุกข์ในพวกอสุรกายซึ่งมีในโลกันตร์ที่หนาวจนทนไม่ได้มืดตื้อนั้น จะไม่พึงมีในพวกอสุรกายนั้น เพราะไม่มีความเกิดนั่นเอง แม้เหตุนั้น ความเกิดนี้ก็ชื่อว่า เป็นทุกข์
อนึ่ง สัตว์ที่กำลังอยู่ในครรภ์มารดา อันเป็นดุจคูถนรกตลอดกาลนานก็ดี กำลังออกนอกครรภ์มารดานั้นก็ดี ย่อมถึงทุกข์แม้ใดอันร้ายแรงยิ่ง ทุกข์แม้นี้ เว้นความเกิดเสียแล้วก็ย่อมไม่มี แม้เพราะเหตุนั้น ความเกิดนี้นั้นแล ก็ชื่อว่าความทุกข์
กล่าวมากไปจะมีประโยชน์อะไร ทุกข์แม้ไรๆ ในโลกนี้ ซึ่งมีในที่ไหนๆ นี้ จะไม่มีได้เลยในกาลไหนๆ เพราะเว้นความเกิดเสียมิใช่หรือ เพราะเหตุนั้นพระผู้แสวงคุณใหญ่นี้จึงตรัสความเกิดนี้ว่า เป็นทุกข์ก่อนทุกข์ทั้งปวง
แสดงให้เห็นว่า เหตุของความทุกข์ทั้งหลายขึ้นอยู่กับการเกิด ซึ่งความเกิดจะมีได้ก็ต่อเมื่อยังมีสมุทัย คือ ยังมีความยินดีพอใจในภพชาติการเกิด ก็จะต้องเกิด ซึ่งเลือกไม่ได้ว่าจะประสบทุกข์ประเภทไหน จะประสบทุกข์ในภูมินรก จะประสบทุกข์ในภูมิดิรัจฉาน จะประสบทุกข์ในภูมิเปรต หรือจะประสบทุกข์ในภูมิมนุษย์
เวลาเกิด ไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ ทุกคนผ่านมาแล้วแต่ไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์ตอนที่เกิด แม้ข้อความในอรรถกถาได้แสดงไว้อย่างนี้ กลัวการเกิดไหม หรือไม่กลัวการเกิด แต่กลัวทุกข์อื่นๆ ซึ่งจะติดตามมา
เฉพาะการเกิดไม่กลัว ใช่ไหม เหมือนกับชาตินี้ที่ดูเสมือนว่าไม่กลัวความเกิด แต่กลัวทุกข์อื่นๆ ที่จะเกิดหลังจากการเกิดแล้วมากกว่า เพราะจำความทุกข์ในขณะที่เกิดไม่ได้ แต่ถ้าเกิดมาแล้วและสามารถจำได้ จะทำให้ไม่พอใจที่จะได้รับความทุกข์อื่น เช่น ความทุกข์ยากลำบากกาย และความรู้สึกโทมนัส
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๘ ตอนที่ ๑๓๗๑ – ๑๓๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1321
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1322
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1323
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1324
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1325
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1326
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1327
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1328
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1329
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1330
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1331
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1332
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1333
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1334
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1335
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1336
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1337
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1338
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1339
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1340
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1341
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1342
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1343
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1344
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1345
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1346
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1347
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1348
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1349
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1350
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1351
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1352
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1353
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1354
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1355
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1356
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1357
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1358
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1359
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1360
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1361
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1362
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1363
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1364
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1365
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1366
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1367
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1368
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1369
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1370
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1371
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1372
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1373
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1374
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1375
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1376
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1377
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1378
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1379
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1380