แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1375


    ครั้งที่ ๑๓๗๕


    สาระสำคัญ

    อถ.สัจจวิภังค์ นิทเทสชรา-ทรงแสดงชราโดยสภาพ โดยกิจ

    ชราไม่ใช่สิ่งที่รู้แจ้งด้วยตาแต่ด้วยใจ

    ตัวชราไม่เป็นทุกข์ แต่ว่าเป็นวัตถุที่ตั้งของทุกข์

    พระคัมภีร์ สัจจสังเขป - พิจารณารูปโดยนัยต่างๆ

    รูปเปลี่ยนแปลงไม่เที่ยง


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๗


    ตอนเด็กๆ กลัวทุกข์ไหม รู้จักทุกข์หรือเปล่า ก็ไม่รู้จัก เพราะฉะนั้น ก็ไม่กลัว จึงยังเต็มไปด้วยความพอใจ เพราะยังไม่เห็นทุกข์ ผู้ที่เป็นหนุ่มสาว กำลังสนุกสนาน มีชีวิตที่กำลังเจริญในทางโลก กลัวทุกข์ไหม ก็ไม่กลัว เพราะยังไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ จนกว่าจะถึงวัยชรา ซึ่งข้อความใน สัจจวิภังค์ นิทเทสชรา มีว่า

    จริงอยู่ ชรานี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้วโดยสภาพด้วยบทว่า ชิรณตา ความคร่ำคร่า ทรงแสดงแล้วโดยกิจ คือ การทำภาวะที่ฟันและเล็บหักในเมื่อล่วงกาล ด้วยบทว่า ขัณฑิจจัง ภาวะที่ฟันหัก ทรงแสดงแล้วโดยกิจ คือ การทำภาวะที่ผมและขนหงอกด้วยบทว่า ปาลิจจัง ภาวะที่ผมหงอก ทรงแสดงแล้วโดยกิจ คือ การให้เนื้อเหี่ยวแล้วทำให้หนังย่นด้วยบทว่า วลิตตจตา ภาวะที่หนังย่น

    เพราะเหตุนั้น ๓ ศัพท์ มีว่า ขัณฑิจจัง ภาวะที่ฟันหักเป็นต้นนี้ จึงเป็นศัพท์แสดงกิจในเมื่อล่วงกาลผ่านไปของชรานั้น

    ด้วยศัพท์ทั้ง ๓ นั้น ได้ทรงแสดงชราอันปรากฏว่า เป็นธรรมชาติปรากฏแล้วด้วยอำนาจแสดงวิกาลเหล่านี้ เปรียบเหมือนทางเดินแห่งน้ำ หรือลม หรือไฟ ย่อมปรากฏด้วยภาวะที่หญ้าและต้นไม้เป็นต้นหักโค่นระเนระนาด หรือถูกเผาไหม้ และทางเดินนั้นไม่ใช่น้ำเป็นต้นนั้นเลยฉันใด ทางเดินของชราก็ฉันนั้นเหมือนกัน ปรากฏที่ฟันเป็นต้นด้วยอำนาจภาวะที่หักเป็นต้น ใครๆ แม้ลืมตาดูก็ทราบได้ แต่ลักษณะ มีภาวะที่ฟันหักเป็นต้นเท่านั้นไม่ใช่ชรา เพราะชราไม่ใช่เป็นสิ่งจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ

    ตอนนี้เห็นทุกข์หรือยัง

    ผู้ฟัง เห็นตอนแก่

    สุ. ตอนเป็นเด็กไม่เห็น ตอนกำลังเป็นหนุ่มสาวก็ไม่เห็น ต่อเมื่อถึงวัยเสื่อม หรือวัยชราจึงเห็นทุกข์ แต่ตามความเป็นจริง ชราไม่ใช่สิ่งที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ เพราะขณะที่เห็น เห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่การที่จะรู้ว่าสิ่งนั้นชรา ต้องทาง มโนทวาร ซึ่งเป็นการเตือนให้รู้ว่า ขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่เป็นมโนทวารวิถี ต้องแยกระหว่างจักขุทวารวิถีและมโนทวารวิถี

    . ชื่อว่าการเกิดเป็นทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ แต่คนทำบุญส่วนมากก็ปรารถนาไปเกิดในสวรรค์ เกิดในสวรรค์นั้นมีทุกข์หรือมีสุขอย่างไรบ้าง

    สุ. สวรรค์เที่ยงไหม อยู่ตลอดไปได้ไหม เหมือนความสุขในวันนี้ ทุกคนอาจจะกำลังเสวยสุข แต่จะสุขอยู่นานเท่าไร ความสุขบนสวรรค์มีมากกว่าในมนุษย์ และเป็นระยะที่ยาวกว่า แต่ก็ไม่เที่ยง เพราะทุกคนก็เคยได้เสวยสุขอย่างนั้นแล้ว แต่ขณะนี้ก็ไม่พ้นไปจากภูมิมนุษย์ ซึ่งเป็นภูมิที่เป็นทุกข์ตั้งแต่เกิด เป็นทุกข์ที่มองไม่เห็น ถ้าไม่พิจารณา

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อนึ่ง ชรานั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยปกติ กล่าวคือ ความสิ้นอายุและความแก่รอบแห่งอินทรีย์มีจักขุเป็นต้น อันปรากฏเฉพาะในเมื่อล่วงกาลเท่านั้น ถ้ายังไม่ถึงเวลาชราก็ไม่ปรากฏ ต่อเมื่อใดเพราะอายุของผู้ที่ถึงความชราแล้ว ย่อมเสื่อม ฉะนั้น ชรา พระผู้มีพระภาคจึงตรัสโดยเทียบเคียงผลว่า ความเสื่อมพร้อมแห่งอายุ

    อนึ่ง เพราะอินทรีย์มีจักขุเป็นต้น ในคราวเป็นหนุ่มผ่องใสดี สามารถรับอารมณ์ของตนแม้ละเอียดได้โดยง่ายทีเดียว สำหรับผู้ที่ถึงชราแล้วย่อมเป็นอินทรีย์ แก่รอบ โลเล ไม่คล่องแคล่ว ไม่สามารถจะรับอารมณ์ของตนแม้หยาบๆ ได้ ฉะนั้น พระองค์จึงตรัสโดยเทียบเคียงผลเหมือนกันว่า ความแก่รอบแห่งอินทรีย์

    ตาที่ไม่เคยใส่แว่นตา เมื่อถึงวัยชราก็ต้องเสื่อม และไม่ไว ไม่คล่องแคล่ว เพราะฉะนั้น ในคราวเป็นหนุ่มผ่องใสดี สามารถรับอารมณ์ของตนแม้ละเอียดได้โดยง่ายทีเดียว สำหรับผู้ที่ถึงชราแล้วย่อมเป็นอินทรีย์แก่รอบ โลเล ไม่คล่องแคล่ว ไม่สามารถจะรับอารมณ์ของตนแม้หยาบๆ ได้ มองอะไรก็ไม่เห็นชัดเจน นั่นก็เป็นลักษณะของอินทรีย์ซึ่งแก่รอบ

    ข้อความต่อไป

    ความคร่ำคร่าในรูปธรรม ชื่อชราปรากฏ เพราะแสดงภาวะมีการหัก ที่ฟันเป็นต้น ส่วนความคร่ำคร่าในอรูปธรรม ชื่อชราปกปิด เพราะไม่แสดงวิกาลเช่นนั้น

    ในชรา ๒ อย่างนั้น ภาพมีการหักเป็นต้นซึ่งปรากฏนี้นั้น คือ วัณณะนั่นเอง เพราะฟันเป็นต้นเช่นนั้นเป็นสิ่งที่พึงรู้กันได้ง่าย บุคคลเห็นภาพนั้นด้วยจักษุแล้วคิดทางมโนทวารย่อมทราบชราได้ว่า ขันธ์เหล่านี้ถูกชรากระทบแล้ว ดุจแลเห็นเขาโคเป็นต้น ที่เขาผูกไว้ตรงที่ตั้งน้ำแล้วทราบได้ว่า น้ำมีข้างใต้ ฉะนั้น

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสี และการที่รู้ว่าเป็นฟันหัก หรือเป็นสิ่งที่ชรา ก็เพราะรู้ทางมโนทวาร นอกจากนั้นยังมีชราที่ไม่มีร่องรอย ๑ และชรามีร่องรอย ๑

    ข้อความต่อไป

    ชรานี้ ย่อมมี ๒ อย่างแม้อย่างนี้ คือ ไม่มีร่องรอย ๑ มีร่องรอย ๑ ใน ๒ อย่างนั้น ความคร่ำคร่าของแก้วมณี ทอง เงิน แก้วประพาฬ ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ เป็นต้น ชื่อชราไม่มีร่องรอย อธิบายว่า ชราไม่มีระหว่าง เพราะความแปลกแห่งสีเป็นต้นในระหว่างๆ เป็นสิ่งที่พึงรู้ได้ยาก ดุจความแปลกแห่งสี เป็นต้นในระหว่างของสัตว์มีชีวิตในจำพวกสัตว์มันททสกะเป็นต้น และของสิ่งไม่มีชีวิตในจำพวกดอกไม้ผลไม้และใบอ่อนเป็นต้น ฉะนั้น ส่วนความคร่ำคร่าในสิ่งอื่นๆ จากแก้วมณีเป็นต้นนั้นตามที่กล่าวแล้ว ชื่อชรามีร่องรอย เพราะความแปลกแห่งสีเป็นต้น ในระหว่างๆ เป็นสิ่งที่พึงรู้ได้ง่าย

    มีใครเห็นพระอาทิตย์ชราบ้างไหม ต้องเกิน ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้ว เป็นชราที่ไม่มีร่องรอย แต่ชราอื่นที่มีร่องรอยจึงสามารถรู้ได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ในชรา ๒ อย่างนั้น ชรามีร่องรอยพึงทราบอย่างนี้ ด้วยอำนาจอุปาทินนกสังขารและด้วยอนุปาทินนกสังขาร

    ความจริง ธรรมดาฟันน้ำนมย่อมขึ้นแก่เด็กๆ ผู้เยาว์วัยก่อนทีเดียว ฟันน้ำนมนั้นไม่ถาวร แต่พอหลุดฟันแท้จะขึ้นอีก ฟันแท้นั้นชั้นแรกทีเดียวเป็นสีขาว แต่ในคราวถูกลมชรากระทบจะกลายเป็นสีดำ

    อนึ่ง ผมชั้นแรกทีเดียวเป็นสีแดงบ้าง ดำบ้าง ขาวบ้าง ส่วนผิวเป็นสีมีแดงร่วมด้วยสำหรับผู้กำลังเจริญอยู่ คนขาวจะปรากฏเป็นสีขาว คนดำจะปรากฏเป็นสีดำ แต่ในคราวถูกลมชรากระทบจะจับรอยย่น ข้าวกล้าแม้ทั้งหมดในคราวที่เขาหว่านจะเป็นสีขาว ภายหลังเป็นสีเขียว แต่ในคราวถูกลมชรากระทบจะกลายเป็นสีเหลือง จะแสดงแม้ด้วยหน่อมะม่วงก็ควรเหมือนกัน นี้เรียกว่าชรา โดยอรรถนี้ เรากล่าว ให้ชื่อว่าชรา

    ก็ชรานี้มีความแก่รอบแห่งขันธ์เป็นลักษณะ มีการนำเข้าไปหาความตายเป็น รสะ มีการทำความหนุ่มสาวให้พินาศเป็นปัจจุปัฏฐาน

    นี่คือลักษณะของชรา คนที่ชราแล้วมองดูก็รู้ว่า ไม่เป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว และกิจของชรา คือ นำเข้าไปหาความตาย ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

    ข้อความต่อไป

    พึงทราบอรรถแห่งชราเป็นทุกข์

    ชราแม้นี้ ตัวเองไม่เป็นทุกข์ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าทุกข์โดยเป็นวัตถุที่ตั้งของทุกข์

    ถามว่า เป็นที่ตั้งของทุกข์ไหน

    ตอบว่า ของทุกข์กาย และทุกข์คือโทมนัส

    ลองพิจารณาดูจริงๆ ว่า ถ้าขันธ์ คือ รูปขันธ์ มีรอยย่น มีหนังเหี่ยว ฟันหัก เป็นต้น เป็นทุกข์หรือไม่เป็นทุกข์ ตัวชราเองจริงๆ เป็นทุกข์หรือเปล่า ชราแม้นี้ ตัวเองไม่เป็นทุกข์ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าทุกข์โดยเป็นวัตถุที่ตั้งของทุกข์ ของทุกข์ไหน ของทุกข์กาย และทุกข์คือโทมนัส

    ถ้าชราแล้วโรคภัยเบียดเบียนได้ง่ายขึ้น ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ความชราก็ทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ ชราเองไม่เป็นทุกข์ แต่เป็นที่ตั้งของทุกข์ทางกาย และทุกข์คือโทมนัส

    จริงอยู่ อัตภาพของคนชราแล้ว ย่อมทุรพลดุจเกวียนคร่ำคร่า เมื่อพยายาม จะยืน จะเดิน หรือจะนั่ง ย่อมเกิดทุกข์ทางกายอย่างเหลือเกิน ครั้นเมื่อลูกเมียไม่กำหนดตนเหมือนแต่ก่อนย่อมเกิดโทมนัส พึงทราบชราว่าเป็นทุกข์ โดยเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้

    ท่านผู้สูงอายุ บางท่านก็บอกว่าใจน้อย เพราะว่าคนอื่นอาจจะไม่ได้สนใจเหมือนแต่ก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ตัวชราเองไม่เป็นทุกข์ แต่เป็นวัตถุที่ตั้งของทุกข์

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อีกอย่างหนึ่ง สัตว์ถึงทุกข์ใดทั้งกายและใจเพราะอวัยวะหย่อนยาน เพราะอินทรีย์พิการ เพราะความหนุ่มสาวพินาศ เพราะกำลังถูกบั่นทอน เพราะลูกเมียของตนไม่พึงเลื่อมใส โดยเหตุอยู่ปราศจากสติ เป็นต้น และโดยถึงความเป็นคนพาล อย่างยิ่ง ทุกข์นี้ทั้งหมดมีเพราะเหตุชรา เพราะเหตุฉะนั้น ชราจึงเป็นทุกข์แล

    . ที่อาจารย์บรรยายว่า เมื่อแรกเกิดครั้งแรกก็เป็นโลภะแล้ว ไม่ทราบว่าเป็นโลภะอย่างไร

    สุ. วันหนึ่งๆ ปกติก็เป็นโลภะมากอยู่แล้ว ยับยั้งไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น การสะสมโลภะก็เป็นปัจจัยทำให้ทันทีที่เกิดรู้อารมณ์ในภพใดก็ตาม รู้สึกตัวเกิดขึ้น ขณะนั้นก็มีความยินดีพอใจในภพ คือ ในการเกิด

    . แต่ตอนแรกที่เราเริ่มออกจากครรภ์ของมารดา เรายังไม่มีความรู้สึก เรายังจำอะไรไม่ได้

    สุ. เพราะจำไม่ได้จึงไม่รู้ว่าเป็นโลภะแล้ว แต่ลองคิดถึงปกติธรรมดา ทุกๆ วัน โลภะมีมากไหม เมื่อโลภะมีมาก และเก็บสะสมสืบต่ออยู่ในจิต จะเป็นปัจจัยให้ชวนวิถีจิตประเภทไหนเกิดก่อนเป็นครั้งแรก วันนี้ลืมตาตื่นขึ้นมาเป็นอะไรก่อน

    . อาจจะพอใจในสิ่งที่เห็น

    สุ. เฉพาะวันนี้วันเดียว ตื่นขึ้นทันทีก็เป็นโลภะแล้ว ฉันใด เวลาเกิดใน ภพไหนภูมิไหนก็ตาม เมื่อมีการรู้สึกตัว ก็มีความยินดีพอใจในการมีชีวิต

    . ทั้งๆ ที่ตอนนั้นยังจำความไม่ได้หรือ

    สุ. จำความได้หรือจำความไม่ได้ การสะสมของโลภะที่มีเป็นปกติใน ทุกๆ วัน จะเป็นปัจจัยทำให้โลภชวนะเกิดเป็นชวนวิถีแรกทางมโนทวาร ไม่ว่าวัยไหนทั้งนั้น ใช่ไหม ลืมตาตื่นขึ้น ชวนวิถีเป็นอะไร

    . เมื่อสักครู่อาจารย์บอกว่า ตัวชราไม่เป็นทุกข์ แต่ว่าขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

    สุ. อะไรชรา

    . ขันธ์ ๕ ชรา

    สุ. ขันธ์อื่นไม่เห็น ใช่ไหม

    . ตัวชราไม่เป็นทุกข์ แต่ชราเองมีภาวะเป็นทุกข์ ใช่ไหม มีสภาวะเป็นทุกข์เหมือนกัน

    สุ. เป็นอย่างไร ทุกขเวทนาทางกายหรืออะไร

    . ไม่ใช่ คำว่า ชราก็เป็นทุกข์ คือ ไม่เที่ยงเหมือนกัน

    สุ. ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องไม่เที่ยง ถ้าเรื่องไม่เที่ยง ก็เป็นทุกขณะที่สังขารธรรมเกิดขึ้นและดับไป เป็นสังขารทุกข์ แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทุกข์โดยตลอดตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงชราว่า เป็นที่ตั้งของทุกข์

    . ที่แสดงนี่เป็นทุกขเวทนา

    สุ. เป็นที่ตั้งของทุกข์ เพราะว่าโทมนัสเวทนาก็เกิดด้วย ไม่ใช่มีแต่ทุกข์กาย ทุกข์ใจก็มีจากความชรา เพราะทุกคนไม่อยากชรา ก็เป็นโทมนัสเวทนาทางใจแล้ว ทางใจไม่ชอบความชรา เพราะฉะนั้น เมื่อชราก็เป็นโทมนัสเวทนา

    การพิจารณารูปมีโดยนัยหลายอย่าง ซึ่งข้อความใน พระคัมภีร์สัจจสังเขป ได้กล่าวถึงการพิจารณารูปโดยนัยต่างๆ คือ

    พิจารณารูปในภพหนึ่งๆ อันกำหนดด้วยจุติและปฏิสนธิย่อมดับไปในภพ นั้นๆ นั่นแหละ เพราะเหตุนั้นรูปไม่เที่ยง เพราะไม่เที่ยงจึงเป็นทุกข์ เพราะเป็นทุกข์จึงเป็นอนัตตา

    ทุกคนมีรูป แต่ไม่ได้พิจารณารูป จึงไม่สามารถดับความยินดีพอใจในรูป เพราะไม่เห็นว่ารูปไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น ข้อความใน พระคัมภีร์สัจจสังเขป จึงได้แสดงการพิจารณารูปในภพหนึ่งชาติหนึ่ง คือ รูปชาติก่อนเป็นใคร และสิ้นชีวิตจากชาติก่อนในขณะวัยไหน อาจจะในวัยเด็ก หรือในวัยกลาง หรือในวัยชรา ก็ไม่สามารถรู้ได้ เพราะรูปชาติก่อนก็ดับหมดพร้อมกับจุติจิตของชาติก่อน

    สำหรับในชาตินี้ รูปที่กำลังมีอยู่นี้ เป็นใครในชาตินี้ ก็เป็นอยู่ได้ไม่นานเลย และรูปซึ่งยึดถือว่าเป็นเราในชาตินี้ทั้งหมดก็จะดับพร้อมจุติจิต เพราะฉะนั้น ควรจะพิจารณาความไม่เที่ยงของรูปตั้งแต่ชาติก่อน จนถึงความไม่เที่ยงของรูปในชาตินี้ และรูปในชาติต่อๆ ไปด้วย

    บางท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมต้องพิจารณาไปถึงรูปในชาติก่อนนั้นด้วย ก็เพื่อที่จะเทียบเคียงให้เห็นว่า แม้รูปในปัจจุบันชาตินี้ก็เช่นเดียวกัน เพราะในชาติก่อนทุกคนก็ไม่ทราบว่ามีรูปร่างหน้าตาอย่างไร มีผิวพรรณอย่างไร มีตระกูล มีทรัพย์สมบัติอย่างไร อาจจะเป็นผู้ที่มีรูปสวยงามเลอเลิศเป็นเทพธิดา หรือเป็น พระราชธิดา เคยมีทรัพย์สมบัติ คฤหาสน์ราชวัง ข้าทาสบริวารมากมาย แต่เดี๋ยวนี้ สิ่งที่เคยมีแล้วในชาติก่อนๆ อยู่ที่ไหน ฉันใด ในชาตินี้ก็เหมือนกัน ไม่ต่างกันเลย แม้รูปร่างหน้าตาผิวพรรณสมบัติที่มีอยู่ในชาตินี้ ก็จะเป็นเจ้าของอยู่ได้ไม่นาน และ จะเหมือนชาติก่อนที่ต้องจากสิ่งต่างๆ เหล่านั้นไป

    เพราะฉะนั้น การคิดถึงรูปแม้ในชาติก่อนว่าไม่เที่ยง ก็จะเป็นเหตุให้คลายความยึดติดในรูปของตนเองแม้ในชาติปัจจุบัน หรือว่าแม้ในสมบัติทั้งหลายที่มีในชาติปัจจุบันด้วย

    ข้อความต่อไป กล่าวถึงการพิจารณาโดยอาการถึงความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งรูปที่เจริญวัย คือ

    รูปที่เกิดขึ้น เมื่อเกิดแล้วจะต้องเกิดดับสืบต่อจนกระทั่งเติบโตขึ้นเป็นวัยต่างๆ ซึ่งถ้ากำหนดโดยระยะ ๑๐๐ ปี ก็แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ด้วยอำนาจแห่งวัยทั้ง ๓ คือ วัยต้น วัยกลาง และวัยปลาย

    พิจารณาว่ารูปที่เป็นไปแล้วในปฐมวัยซึ่งมีประมาณ ๓๓ ปี ย่อมไม่ถึงวัยที่ ๒ เลย ย่อมดับไปในวัยที่ ๑ นั้นนั่นแล

    ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงอายุ ๓๓ ปี รูปตอนเป็นเด็ก บางคนเป็นเด็กที่น่ารัก หรือว่าเวลาเติบโตขึ้นก็มีความสวยงามตามวัย แต่ว่าแม้รูปด้วยอำนาจแห่งปฐมวัย ซึ่งมีประมาณ ๓๓ ปี ย่อมไม่ถึงวัยที่ ๒ เลย ย่อมดับไปในวัยที่ ๑ นั้นนั่นแล คือ ไม่มีใครคงเหลือรูปตอนเป็นเด็กอยู่เลย รูปเป็นเด็กก็เกิดดับตอนเป็นเด็ก

    เพราะเหตุนั้นจึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    พิจารณารูปที่เป็นไปแล้วในวัยที่ ๒ คือ มัชฌิมวัย ซึ่งมีประมาณ ๓๔ ปีว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพราะไม่ถึงวัยที่ ๓ เลย ดับไปในวัยที่ ๒ นั้นนั่นแล

    ท่านที่กำลังอยู่ในวัยที่ ๒ ก็พิจารณาได้ว่า รูปที่อยู่ในวัยที่ ๒ ก็ไม่เที่ยง กำลังดับไปในวัยที่ ๒ ไม่ต่อไปถึงวัยที่ ๓ ได้เลย

    พิจารณารูปที่เป็นไปแล้วในวัยสุดท้าย ซึ่งมีประมาณ ๓๓ ปีว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพราะไม่ทันถึงระยะตาย ก็ดับไปในวัยนั้นนั่นแล

    การที่จะเห็นว่ารูปไม่เที่ยง ไม่ต้องรอจนกระทั่งถึงวันตายจึงจะคิดว่าไม่เที่ยง แต่แม้ในขณะที่ยังไม่ถึงวันตาย รูปก็เปลี่ยนแปลงไม่เที่ยงอยู่แล้ว



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๘ ตอนที่ ๑๓๗๑ – ๑๓๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 89
    28 ธ.ค. 2564