แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1327
ครั้งที่ ๑๓๒๗
สาระสำคัญ
การอบรมเจริญความสงบ (สติสัมปชัญญะรู้ความต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิต)
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๒๗
สุ. อัปปนาสมาธิหมายความว่าอย่างไร
ถ. คือ สภาวะที่จิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์
สุ. หมายความว่า ในขณะนั้นไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้โผฏฐัพพะใดๆ ทั้งสิ้นหรือ
ถ. ได้เห็นอยู่สิ่งเดียว อย่างอื่นไม่สนใจเลย
สุ. ไม่ได้ยินเสียงเลย
ถ. ได้ยิน
สุ. ถ้าได้ยิน จะชื่อว่าอัปปนาสมาธิไม่ได้ เป็นการเข้าใจผิด
ถ. หมายความว่า ขณะที่จิตส่องไป
สุ. จิตส่องได้อย่างไร
ถ. เขาเรียกจิตส่อง เป็นคลื่นออกไป
สุ. ดิฉันเข้าใจว่า ในขณะนั้นไม่สงบเลย เพราะมัวแต่จะเอาจิตไปส่อง คงไม่สงบแน่ มีความต้องการจะส่อง ขณะนั้นเข้าใจว่าไม่สงบ
เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน ในขณะนี้ สติสัมปชัญญะเกิดจึงสามารถพิจารณารู้ว่า จิตที่สงบเพราะไม่ใช่อกุศลนั้นคือขณะไหน เพราะเหตุใด ตามปกติ อย่างนี้ก่อน อย่าเพิ่งไปทำอะไรที่เข้าใจว่าถึงอัปปนาสมาธิ
เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่ยาก และเป็นเรื่องที่ถ้าเข้าใจผิดจะเป็นอันตรายด้วย เพราะเป็นมิจฉาทิฏฐิ และเป็นมิจฉาสมาธิ
ถ. เรื่องของสมาธิกับนิมิตนั้น เป็นเรื่องที่ถูกกล่าวควบคู่กันไปเสมอ อยากจะให้อาจารย์ช่วยขยายความเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสมาธิกับนิมิตว่า ระดับของสมาธิขั้นไหน จะทำให้เกิดนิมิตอะไร พอคร่าวๆ
สุ. ขณะนี้เอง กุศลจิตเกิด หรืออกุศลจิตเกิด ถ้ากุศลจิตเกิด คือ สงบแล้วจากอกุศล และถ้าสงบขึ้นๆ ย่อมปรากฏลักษณะของความสงบที่ถึงขั้นสมาธิระดับต่างๆ แต่ต้องจากปกติธรรมดาในขณะนี้ ต้องมีสติสัมปชัญญะที่จะสังเกตพิจารณาลักษณะของจิตที่สงบ และรู้ว่าที่สงบนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร
ขณะที่ให้ทาน กุศลจิตเกิดจึงให้ ขณะนั้นความจริงเป็นกุศล ขณะนั้นต้องประกอบด้วยโสภณธรรม ๖ คู่ เช่น กายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิ เป็นต้น เพราะฉะนั้น กุศลธรรม กุศลจิต จึงสงบ แต่ขณะที่เป็นอกุศล จะสงบไม่ได้
ขณะที่ให้ทาน สงบเล็กน้อย แต่ทำอย่างไรจึงจะสงบขึ้นได้จากการให้ทาน หรือการรักษาศีล เป็นต้น หรือการฟังธรรมแล้วจิตสงบ การระลึกถึงพระพุทธคุณแล้ว จิตสงบบ้าง และทำอย่างไรจิตจึงจะสงบขึ้นๆ
นี่คือการอบรมเจริญความสงบที่ประกอบด้วยปัญญาจริงๆ ไม่ใช่ไม่สังเกต อะไรเลย ไม่มีการเปรียบเทียบที่จะให้รู้ความต่างกันของกุศลและอกุศล แต่ต้องการมุ่งจ้องสิ่งหนึ่งสิ่งใด และเข้าใจว่าขณะนั้นสงบ
ถ. ความสงบระดับต่างๆ เช่น เรานั่งในห้องประชุมเวลานี้ จะสามารถสงบจนกระทั่งทำให้เห็นนิมิตได้ไหม
สุ. แล้วแต่อารมณ์ว่า จะเป็นอารมณ์ที่ทำให้นิมิตเกิดหรือไม่เกิด ไม่ใช่ว่าสมถภาวนาทั้งหมดต้องมีนิมิต
ถ. คำว่า นิมิต มีนิมิตบางอย่างที่บุคคลปฏิบัติไปแล้วพบเห็น ซึ่งนิมิตเหล่านั้นไม่ตรงกับที่ในปริยัติกล่าวไว้ เป็นต้นว่าเห็นนรก สวรรค์ หรือเห็นพระธาตุเจดีย์ต่างๆ ล้มลงไป ไม่ทราบว่านิมิตเหล่านั้นเกิดขึ้นเพราะอำนาจสมาธิหรืออย่างไร
สุ. ท่านผู้ฟังควรจะสนใจเรื่องสมาธิ หรือควรสนใจเรื่องกุศลธรรม กุศลจิต นี่เป็นข้อที่จะทำให้กุศลเจริญขึ้น เพราะการที่จะอบรมเจริญกุศลทุกประการ ต้อง ไม่เว้นเรื่องทานกุศล ศีลกุศล สมถะคือความสงบ และสติปัฏฐานในชีวิตประจำวันด้วย เพราะฉะนั้น ความสงบในชีวิตประจำวันมีบ้างหรือยัง ถ้าความสงบในชีวิตประจำวันยังไม่มี ยังไม่ปรากฏ และต้องการจะทำให้สงบมากๆ ก็เป็นไปไม่ได้
ถ. ในการศึกษาปริยัตินั้น จำเป็นที่เราจะต้องเรียนรู้อย่างทั่วถึง และเข้าใจพอสมควร อีกประการหนึ่งที่เป็นเหตุให้ถาม คือ เคยพบพระสูตรนี้ ขอเล่าโดยย่อๆ คือ สมัยหนึ่งนางธัมมทินนาเถรีได้สนทนากับวิสาขอุบาสกซึ่งเป็นอดีตสามี อุบาสกถามปัญหาที่ ๑ ว่า อะไรชื่อว่าสมาธิ ปัญหาที่ ๒ สมาธินิมิตคืออะไร ปัญหาที่ ๓ สมาธิบริขารคืออะไร และปัญหาที่ ๔ อะไรชื่อสมาธิภาวนา
นางธัมมทินนาเถรีตอบว่า สมาธินั้น ชื่อว่าความตั้งมั่น
สมาธินิมิต ได้แก่ มหาสติปัฏฐาน ๔ ท่านตอบอย่างนี้จริงๆ
สมาธิบริขาร ได้แก่ สัมมัปปธาน ๔
และสมาธิภาวนา ได้แก่ การเจริญให้มากซึ่งสมถะและวิปัสสนา
เพราะฉะนั้น เกรงว่าจะเกิดความเข้าใจผิดกันในวงการศึกษา เพราะมักจะกล่าวกันว่า โน่นคือนิมิต นั่นคือนิมิต แต่ในที่นี้กล่าวว่า สมาธินิมิต ได้แก่ มหาสติปัฏฐาน ๔ หรืออารมณ์กัมมัฏฐาน ๔๐ อย่างใดอย่างหนึ่ง
ตามศัพท์ คำว่า นิมิต หมายความว่า เครื่องกำหนดหมายให้เรารู้ อุปมาเหมือนหนึ่งคนเดินทางก็ต้องมีเครื่องกำหนดหมาย คือ นิมิต เป็นเครื่องชี้ทางให้เดิน และสติปัฏฐาน ๔ เป็นนิมิตหมาย เป็นเครื่องกำหนดทิศทางให้ผู้เดินเดินไปตามนิมิตนั้น คือ สติปัฏฐาน ๔ ถ้าเป็นสมถะก็เป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน ๔๐ นิมิตที่นอกเหนือจากนี้ไม่จัดว่าเป็นนิมิต แต่อาจจะเรียกว่า อุปกิเลส ใช่อย่างนั้นหรือไม่ ขอเรียนถาม
สุ. ต้องเข้าใจความหมายของนิมิตต่างๆ ด้วย มีหลายความหมาย สำหรับการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น นิมิต คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ว่าไม่เที่ยง ไม่ควรจะยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน จึงใช้คำว่านิมิต
ถ. จึงพยายามแยกแยะให้เห็นชัดๆ ว่า อะไรเป็นนิมิต และอะไรไม่ใช่นิมิต เพราะว่าเกิดการไขว้เขวถือว่าสิ่งนั้นเป็นนิมิต ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่ใช่นิมิต อย่างนี้ใช่ไหม
สุ. เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาโดยละเอียด โดยเฉพาะเรื่องของสมาธิ ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ขอเรียนให้ทราบว่า การที่จิตจะเป็นกุศล และสงบขึ้นๆ จนกระทั่งมั่นคงพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นเรื่องของการอบรมเจริญกุศล แต่ถ้าเป็นเรื่องความต้องการที่จะทำสมาธิโดยจดจ้องที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด โดยไม่รู้ลักษณะของกุศลจิตและอกุศลจิตที่เกิดแทรกในขณะนั้น ก็ไม่เป็นหนทางที่จะทำให้จิตสงบตั้งมั่นคงได้
ถ. ย้อนไปถึงปัญหาแรกที่ถามว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสมาธิกับนิมิต เคยฟังว่า สมาธิเมื่อถึงระดับหนึ่งจะมีนิมิตลักษณะอย่างนั้น และเมื่อถึงอีกระดับหนึ่ง เช่น เมื่อถึงอุปจารสมาธิจะมีปฏิภาคนิมิต จึงอยากเข้าใจว่า ระดับของปฏิภาคนิมิตก็ดี อุปจารสมาธิก็ดี หรืออัปปนาสมาธิ หรืออารมณ์ฌานก็ดี ขั้นตอนเป็นอย่างไร อยากจะทราบพอคร่าวๆ
สุ. เคยกล่าวถึงแล้วว่า จะต้องมีการระลึกที่ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏซึ่งเป็นกุศลจิต เช่น ถ้ามีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ หรืออารมณ์อื่น จะต้องรู้เหตุผลว่า เพราะเหตุใดจิตจึงสงบ และระลึกอย่างไร แต่ไม่ใช่การจดจ้อง
จนกระทั่งเกิดนิมิตที่ติดตา แม้ว่าจะหลับตาก็ยังเห็นอารมณ์นั้นได้ จนกระทั่งความสงบมั่นคงขึ้นเป็นลำดับ แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อใครต้องการที่จะทำ สมถภาวนาก็ไปนั่งจ้องทันที เห็นอะไรก็เข้าใจว่าเป็นนิมิตแล้ว และก็ค่อยๆ ใสขึ้น บางท่านก็บอกว่า ถึงอุปจารสมาธิแล้ว ถึงอัปปนาสมาธิแล้ว ถึงปฐมฌานจิตแล้ว ถึงทุติยฌานจิตแล้ว บางคนก็กล่าวว่าถึงอรูปฌานขั้นต่างๆ แล้ว นั่นเป็นเรื่องที่ ไม่ถูกต้องเลย
ถ. คือ เราคิดกันเอง ใช่ไหม คิดกันไปเองว่าถึงแล้วๆ
สุ. ข้อสำคัญ คือ ขณะนี้ถ้าสติสัมปชัญญะไม่สามารถที่จะรู้ว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ก็อย่าได้ไปทำสมาธิอะไรเลย เพราะการอบรมเจริญความสงบจะต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะซึ่งสามารถจะรู้ความต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิต
ถ. สัมมาสมาธิอาจเป็นไปกับสมถะก็ได้ กับวิปัสสนาก็ได้ ใช่ไหม
สุ. สัมมาสมาธิ หมายความถึงเอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดกับกุศลจิต
ถ. เป็นไปกับสมถะหรือวิปัสสนาก็ได้
สุ. แน่นอน
ผู้ฟัง มีอีกสูตรหนึ่ง พระพุทธเจ้ากล่าวถึงสมาธิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่ออบรมเจริญสมาธิแล้ว ควรใส่ใจในนิมิต ๓ อย่าง ๓ อย่างเป็นไฉน ๑. ควรใส่ใจในสมาธินิมิต ๒. ควรใส่ใจในปัคคหนิมิต ๓. ควรใส่ใจในอุเปกขานิมิต เพราะว่าทั้ง ๓ อย่างนี้จะเป็นองค์คุณทำให้ภิกษุนั้นเจริญสมาธิได้ยิ่งๆ ขึ้นไป หากแม้ว่าภิกษุ รูปใดใส่ใจเฉพาะสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะไม่ทำให้การงานนั้นสำเร็จโดยบริบูรณ์ เช่น ถ้าใส่ใจในสมาธินิมิตอย่างเดียว จะทำให้เกิดการง่วงซึม ถ้าใส่ใจในปัคคหนิมิต ปัคคหนิมิต หมายถึงการน้อมใจ ประคองใจเป็นไปในความเพียรอย่างเดียว จะทำให้เกิดความฟุ้งซ่านขึ้น ถ้าใส่ใจในอุเปกขานิมิตเพียงอย่างเดียว จะทำให้เกียจคร้าน เห็นว่าวันนี้เราพูดถึงเรื่องสัมมาสมาธิ จึงนำมาเสนอบ้างพอสมควร
สุ. ข้อสำคัญ คือ ขณะนี้ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่จะรู้ลักษณะที่ต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิต ก่อนที่จะถึงนิมิตต่างๆ และระดับขั้นของความสงบขั้นต่างๆ ซึ่งท่านผู้ฟังพิสูจน์ได้ ธรรมเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ทันที เพราะฉะนั้น ในขณะนี้สติสัมปชัญญะของใครสามารถจะรู้ลักษณะของจิตว่า เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล
ผู้ฟัง มิได้ ถ้าเป็นตามที่นางธัมมทินนาเถรีตอบวิสาขอุบาสกว่า สมาธินิมิต ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ แล้ว ขณะนี้เราก็สามารถจะพบนิมิตได้ตลอดเวลา ทุกลมหายใจเข้าออก เพราะกาย เวทนา จิต ธรรม มีอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น การที่เราจะเข้าใจว่าอะไรเป็นกุศลหรืออกุศลนั้น ในขณะที่เรารู้ลักษณะของรูปนามตามความเป็นจริงนั้น ก็ได้ชื่อว่ามีนิมิตแล้ว พร้อมทั้งรู้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศลด้วย พร้อมเพรียงกัน
สุ. ก่อนที่จะมีรูปนามเป็นนิมิต ขณะที่กำลังนั่งอยู่ในขณะนี้ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของจิตที่ต่างกันว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล สามารถเจริญกุศลได้ไหม
ผู้ฟัง พูดถึงบุคคลที่ยังไม่รู้ลักษณะของรูปและนาม ใช่ไหม
สุ. เพราะฉะนั้น ทุกท่านควรจะอบรมเจริญกุศลด้วยความรอบคอบ ด้วยความละเอียดในชีวิตประจำวัน ในขณะนี้
ถ. ระหว่างสมาธิกับวิปัสสนา ไม่ทราบว่าหนทางใดที่ทำให้หลุดพ้นที่ถูกต้อง ที่แท้จริง
สุ. ถ้าใช้คำว่า สมาธิกับวิปัสสนา ดูเหมือนจะแยกกันออกไปเลย แต่การอบรมเจริญวิปัสสนาต้องมีสมาธิด้วย คือ ต้องมีสัมมาสมาธิด้วย ไม่ใช่ว่าไม่มี เวลาที่เป็นการอบรมเจริญความสงบของจิต ในขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน จึงไม่ใช่วิปัสสนา แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาแล้ว ต้องมีสัมมาสมาธิด้วยทุกครั้ง
ถ. คนส่วนมากมักนิยมทำสมาธิกัน โดยอ้างว่าสามารถจะหลุดพ้นได้ ซึ่งตนเองก็ศึกษามาน้อย
สุ. ไม่ถูกต้อง สมาธิไม่ทำให้หลุดพ้น ต้องเป็นปัญญาจึงจะทำให้หลุดพ้น
ถ. ตัวเองศึกษามาน้อย ก็ยังสงสัย
สุ. สมาธิเป็นเพียงความตั้งมั่นของจิต จึงมีทั้งสัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ ถ้าขณะใดที่ตั้งมั่นด้วยอกุศล ขณะนั้นเป็นมิจฉาสมาธิ ถ้าขณะใดตั้งมั่นด้วยกุศล ขณะนั้นเป็นสัมมาสมาธิ
ถ. ผู้ที่จะหลุดพ้น เจริญรอยตามเบื้องยุคลบาทของพระศาสดา ต้องเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว ใช่ไหม
สุ. ซึ่งต้องมีสัมมาสมาธิด้วย มรรคมีองค์ ๘ หรือมรรคมีองค์ ๕ จะขาดสัมมาสมาธิไม่ได้
ถ. เพราะเหตุใดพระศาสดาจึงมิได้ทรงสั่งสอนว่า อย่าเจริญสมาธิเลย เจริญวิปัสสนาจะดีกว่า ทำไมแบ่งเป็น ๒ สาย
สุ. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้อบรมเจริญกุศลทุกประการตามความสามารถ ก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีผู้ที่แสวงหาทางที่จะดับกิเลสมากมายหลายท่าน แต่เนื่องจากไม่ได้อบรมบารมีที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่สามารถพบทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพียงแต่สามารทำให้จิตสงบจากอกุศล โดยการอบรมความสงบนั้นให้ตั้งมั่น มั่นคงขึ้น จนถึงฌานจิตขั้นต่างๆ ซึ่งขณะนั้นก็เป็นกุศล
คนที่จะเจริญความสงบจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต้องรู้ตัวว่า เมื่อเห็นแล้วที่จะยับยั้งไม่ให้อกุศลจิตเกิดเป็นไปไม่ได้ เมื่อเห็นแล้วย่อมเป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้ตัวจริงๆ ว่า ในวันหนึ่งๆ ที่เห็น โลภะมากเท่าไร โทสะมากเท่าไร จึงใคร่ที่จะละหรือระงับอกุศลนั้นๆ ด้วยการทำให้กุศลจิตเกิดบ่อยๆ เนืองๆ มั่นคงขึ้นในอารมณ์ที่ทำให้จิตเป็นกุศลและสงบขึ้น
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องทราบว่า อารมณ์ที่จะทำให้จิตสงบได้คืออารมณ์อะไร และไม่ใช่แต่เฉพาะอารมณ์นั้นเท่านั้น ขณะนั้นต้องประกอบด้วยโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาอย่างแยบคายพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะที่จะรู้ว่า ในขณะที่เห็นสิ่งซึ่งเป็นอารมณ์ที่จะทำให้จิตสงบนั้น จิตเป็นกุศลหรือจิตเป็นอกุศล
เช่น อสุภะ เห็นแล้วกลัว ทั้งๆ ที่อสุภะเป็นสมถภาวนาทำให้จิตสงบ ควรจะเป็นอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ แต่ใครสงบ ใครไม่สงบ ต้องเพราะสติสัมปชัญญะเกิด จึงจะรู้ได้ว่า ในขณะที่เห็นนั้นเอง จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ไม่ใช่ขึ้นชื่อว่า เป็นอสุภะแล้วจะทำให้จิตสงบทั้งหมด แต่ต้องแล้วแต่บุคคลนั้นที่จะเป็นผู้ตรงว่า เมื่อท่านได้เห็นอสุภะแล้ว กุศลจิตเกิด หรืออกุศลจิตเกิด ถ้ากลัว ตกใจ ขณะนั้นก็ เป็นอกุศล ไม่ใช่กุศล
เพราะฉะนั้น ระลึกอย่างไรที่จิตจะสงบในอารมณ์ต่างๆ ที่เป็นสมถภาวนา ไม่ใช่ว่าเมื่อเป็นอารมณ์ที่เป็นสมถภาวนา ทุกคนก็จ้องไปๆ และจิตจะสงบ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย
ถ. อาจารย์ที่สอนพระผู้มีพระภาค คือ ท่านอาฬารดาบสและอุทกดาบส ซึ่งท่านเจริญสมาธิถึงขั้นสูงสุด ขณะนี้พูดง่ายๆ ภาษาชาวบ้านว่า ท่านอยู่เบื้องบนสูงสุด แต่ยังไม่ได้บรรลุ ใช่ไหม
สุ. ถูกต้อง สมาธิไม่สามารถดับกิเลสได้ ต้องเป็นปัญญาจึงดับกิเลสได้
ถ. การทำงานของสมาธิกับปัญญาในมิลินทปัญหา พระยามิลินท์ถาม พระนาคเสนว่า สมาธิเป็นบาทของปัญญานั้นเป็นเช่นไร พระนาคเสนตอบว่า อุปมาเหมือนกับการเกี่ยวข้าว ลักษณะมือที่ดึงกอข้าวให้ตึงนั้น เป็นลักษณะของสมาธิ ส่วนเคียวที่เกี่ยวควับไปที่กอข้าวนั้น เป็นลักษณะของปัญญา ทั้งสองจะทำงานร่วมกันโดยลักษณะอย่างนี้ นี่เป็นอุปมาอุปไมยแบบพระสูตร ถ้าในด้านของพระอภิธรรมคงจะลึกซึ้งกว่านี้ เรียนถามอาจารย์
สุ. ต้องน้อมมาที่ตนในขณะนี้เอง อย่าลืม ไม่ว่าจะเป็นในมิลินทปัญหา ในอรรถกถา ในชาดก ในพระไตรปิฎก ส่วนของพระอภิธรรม หรือของพระสูตรก็ตาม คือ ในขณะนี้เอง ถ้าใครสนใจเรื่องของความสงบ ก็คือในขณะนี้ ไม่ใช่ขณะอื่น
ถ้าขณะนี้ไม่สงบ ไม่สามารถที่จะรู้ว่า จิตที่เป็นกุศลสงบต่างกับอกุศลซึ่งไม่สงบอย่างไร ก็หมดหวังที่จะเจริญความสงบให้มั่นคงขึ้น
เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ เช่น ขณะที่ให้ทาน การให้แต่ละครั้ง ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่า จิตที่ให้ในขณะนั้นปราศจากอกุศลจึงให้ และเนื่องจากขณะที่ให้นั้นสั้นเพียงเล็กน้อย เพราะกุศลจิตเกิดและดับไป อกุศลก็เกิดต่อมากมายหลายขณะ จึงไม่สามารถสังเกตได้จริงๆ ว่า กุศลที่ปราศจากอกุศล คือ กุศลที่สงบนั้นเป็นอย่างไร
ดังนั้น ต่อไปนี้ลองสังเกต คือ มีสติสัมปชัญญะที่จะรู้สภาพของจิตในขณะที่กระทำกุศลแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม แทนที่จะให้ไปโดยปราศจากสติสัมปชัญญะ ก็ควรระลึกลักษณะของจิต และจะเริ่มสงบขึ้นๆ ในขณะที่ให้ได้ หรือแม้ในขณะที่สวดมนต์ ถ้าระลึกถึงสภาพของจิตที่กำลังน้อมระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณจริงๆ จะเห็นสภาพของจิตที่อ่อนและประกอบด้วยกุศล ไม่ใช่อย่างในขณะที่รีบจะสวดให้เสร็จเพื่อที่จะไปทำกิจธุระอย่างอื่น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๓ ตอนที่ ๑๓๒๑ – ๑๓๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1321
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1322
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1323
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1324
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1325
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1326
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1327
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1328
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1329
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1330
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1331
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1332
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1333
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1334
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1335
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1336
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1337
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1338
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1339
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1340
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1341
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1342
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1343
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1344
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1345
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1346
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1347
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1348
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1349
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1350
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1351
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1352
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1353
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1354
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1355
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1356
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1357
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1358
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1359
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1360
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1361
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1362
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1363
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1364
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1365
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1366
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1367
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1368
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1369
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1370
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1371
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1372
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1373
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1374
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1375
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1376
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1377
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1378
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1379
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1380