รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 057


    ตอนที่ ๕๗

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คือ อิงโสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือ ล่วงเสียซึ่งโทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละโทมนัสนั้นๆ ได้ เป็นอันล่วงโทมนัสนั้นๆ ได้

    เวลาที่มีญาณเกิดขึ้น รู้ความเกิดดับของนามและรูปแล้ว แต่เพราะตั้งความหวังไว้ในอนุตตรวิโมกข์แล้วไม่บรรลุจึงเกิดโทมนัส ควรละด้วยอย่างไร เพราะว่าโทมนัสเป็นอกุศล เวลาที่เจริญสติ ความรู้สมบูรณ์ขึ้น เป็นญาณขั้นต่างๆ ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามและรูป ญาณเป็นกุศล ไม่ใช่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นเวลาที่มหากุศลเกิดพร้อมกับญาณที่ประจักษ์การเกิดดับของนามและรูป เป็นโสมนัสเวทนา ในขณะนั้นไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่โทมนัสเวทนา เพราะฉะนั้นผู้ที่รู้การเกิดขึ้นและดับไป เป็นปัญญาในขณะนั้น แล้วก็ดับ แต่ก็เกิดโทมนัสเวทนา เศร้าสร้อยน้อยใจขึ้น มีความเสียใจต่อไปว่า ไม่ได้บรรลุอนุตตรวิโมกข์ คือการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ในเดี๋ยวนั้น ในบัดนั้น ในวันนั้น ในเดือนนั้น ในปีนั้น โทมนัสเวทนาเป็นอกุศล วิธีละโทมนัสที่อาศัยเนกขัมมะ จะละได้อย่างไร เจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ประจักษ์การเกิดดับ บ่อยๆ เนืองๆ ขึ้นอีก จึงเป็นโสมนัสเวทนา ถ้าเกิดเศร้าสร้อย หยุดเจริญสติปัฏฐานได้ไหม พอเกิดรู้แจ้งการเกิดดับของนามรูป เป็นโสมนัส เป็นญาณแล้ว จิตก็ดับไป ญาณก็หมดไป จะเกิดโทมนัสเสียใจว่าไม่ได้บรรลุมรรคผล ไม่มีประโยชน์ในขณะนั้นที่จะให้อกุศลจิตเกิด อกุศลจิตแม้เพียงชั่วนิดหน่อย ถึงแม้ว่าจะเป็นโทมนัสอาศัยเนกขัมมะ พระผู้มีพระภาคก็ยังทรงแสดงหนทางที่จะให้ละโทมนัสเวทนาที่อาศัยเนกขัมมะนั้น วิธีที่จะละมีทางเดียว คือ เจริญสติรู้ลักษณะของนามและรูป เพื่อจะได้ประจักษ์การเกิดดับ เป็นญาณที่มั่นคงประกอบด้วยโสมนัสเวทนาต่อไป ไม่ใช่ว่าให้สะดุ้ง ตกใจ ถึงแม้ว่าจะเป็นโทมนัสเวทนาที่อาศัยเนกขัมมะเกิดขึ้น ก็จะต้องเจริญสติ เพื่อจะได้เป็นโสมนัสเวทนาที่อาศัยเนกขัมมะ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คือ อิงอุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือ ล่วงเสียซึ่งโสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละโสมนัสนั้นๆ ได้ เป็นอันล่วงโสมนัสนั้นๆ ได้

    เรื่องต้องละแม้แต่โสมนัสที่อาศัยเนกขัมมะ ละด้วยอะไร อุเบกขาที่อาศัยเนกขัมมะ อุเบกขาในที่นี้ ในปปัญจสูทนี กล่าวว่า ได้แก่อุเบกขาที่สัมปยุตต์ด้วยอุเบกขาญาณ คือญาณที่เกิดก่อนมรรควิถี แต่ท่านใช้คำสั้นๆ ว่า อุเบกขาที่สัมประยุทธ์ด้วยอุเบกขาญาณ เกิดแก่ผู้เช่นนั้นเรียกว่า อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ

    ข้อความในปปัญจสูทนี ได้แสดงความหมายของอุเบกขาไว้ว่า อุเบกขาอย่างต่ำได้แก่ อัญญาณอุเบกขา อย่างสูงได้แก่ ฌฬังคุเบกขา ในที่นี้ท่านถือเอา ๒ อย่าง สมถอุเบกขาและวิปัสสนาอุเบกขา โดยมากท่านผู้ฟังที่ศึกษาปรมัตถธรรมคิดว่า ฉฬังคุเบกขาเป็นเฉพาะของพระอรหันต์ใช่ไหม เวลาที่ท่านเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วก็รู้ธรรมารมณ์ทางใจ ท่านก็มีอุเบกขาคือ ไม่เป็นผู้ที่หวั่นไหวไปด้วยอกุศลธรรม เป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะแต่ฉฬังคุเบกขาหมายความถึงอุเบกขาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ประกอบด้วยญาณ ในที่นี้ ก็ไม่ได้หมายเฉพาะแต่พระอรหันต์ที่มีฉฬังคุเบกขา แต่ว่าปกติธรรมดาก็มีได้ แต่สำหรับพระอรหันต์นั้นท่านมีเป็นประจำ ความรู้สึกเสมอกันเหมือนกันในขณะที่ญาณนั้นเป็นไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ได้ต่างกันเลย แต่สำหรับปุถุชนนั้นไม่ได้เป็นประจำ เป็นครั้งคราว แต่พระอรหันต์เพราะท่านเจริญสติรู้ลักษณะของนามและรูป จนชินจนทั่ว เป็นปกติจริงๆ ปัญญาของท่านสมบูรณ์รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นขั้นๆ จนไม่สามารถที่จะมีอกุศลธรรมใดๆ ทำให้จิตหวั่นไหวไปด้วยความยินดียินร้ายได้ ไม่ว่าท่านจะเห็นสิ่งที่น่ารื่นรมย์หรือไม่น่ารื่นรมย์ เป็นฉฬังคุเบกขาทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ แต่สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์นั้นก็เป็นเพียงชั่วคราว เพราะฉะนั้นข้อความในที่นี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นโสมนัสเวทนาที่อาศัยเนกขัมมะ ก็ควรละด้วยอุเบกขาเวทนาที่อิงอาศัยเนกขัมมะ เพราะหมายถึง อุเบกขาญาณ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยอารมณ์ต่างๆ ก็มี อุเบกขาที่มีความเป็นหนึ่ง อาศัยอารมณ์เป็นหนึ่งก็มี

    ก็อุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยอารมณ์ต่างๆ เป็นไฉน คือ อุเบกขาที่มีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ นี้อุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยอารมณ์ต่างๆ

    หมายความถึงทวารต่างๆ นั่นเอง อุเบกขาทางตาก็อย่างหนึ่ง ทางหูก็อย่างหนึ่ง ทางจมูกก็อย่างหนึ่ง ทางลิ้นก็ยังหนึ่ง ทางกายก็อย่างหนึ่ง ทางใจก็อย่างหนึ่ง บางคนสะสมมาไม่เหมือนกัน บางคนชอบรูปสีสันวรรณะที่น่ารื่นรมย์ ก็เป็นโสมนัสส่วนมากเวลาที่ประสบกับอิฏฐาอารมณ์ แต่บางคนไม่ได้สะสมมาทางตา ก็เป็นอุเบกขาได้ แต่ว่าสะสมหนักมาในทางหู เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้ยินเสียงเพราะๆ เพลงเพราะๆ ดนตรีเพราะๆ ก็เป็นโสมนัส แต่ว่าผู้ที่ไม่ได้สะสมหนักมาในทางหูก็เป็นอุเบกขา เพราะฉะนั้นอุเบกขาจึงมีต่างๆ ทางทวารต่างๆ

    ข้อความต่อไปว่า

    ก็อุเบกขาที่มีความเป็นหนึ่ง อาศัยอารมณ์เป็นหนึ่ง เป็นไฉน คือ อุเบกขาที่อาศัยอากาสานัญจายตนะ อาศัยวิญญาณัญจายตนะ อาศัยอากิญจัญญายตนะ อาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนะ นี้อุเบกขาที่มีความเป็นหนึ่ง อาศัยอารมณ์เป็นหนึ่ง

    ท่านที่ศึกษาปรมัตถธรรมก็ทราบเรื่องของการเจริญสมถภาวนาว่าทำให้จิตสงบถึงสมาธิขั้นต่างๆ เวลาที่ถึงอัปปนาสมาธิเป็นฌานจิต เป็นไปในรูปก็เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานโดยจตุตถนัย หรือถึงปัญจมฌานโดยปัญจกนัย ยังมีท่านที่เห็นภัย เห็นโทษว่า รูปที่เป็นอารมณ์ของรูปฌานนั้นใกล้ชิดกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ดังนั้นจึงเจริญอรูปฌาน คือการระลึกถึงอากาศซึ่งไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ เวลาที่จิตมั่นคงเป็นปัญจมฌาน ที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ มีอากาศเป็นอารมณ์ ก็เป็นอากาสานัญจายตนะ แล้วต่อไปก็ประณีตขึ้นเป็นวิญญาณัญจายตนะ ต่อไปก็ประณีตขึ้นเป็นเนวสัญญาณาสัญญายตนะ ซึ่งทั้งหมดนี้อาศัยทางมโนทวารทวารเดียว ไม่ใช่ตาหูจมูกลิ้นกาย จึงกล่าวว่า อุเบกขาที่มีความเป็นหนึ่ง อาศัยอารมณ์เป็นหนึ่ง

    ข้อความต่อไปว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอุเบกขา ๒ อย่าง พวกเธอจงอาศัย คืออิงอุเบกขา ที่มีความเป็นหนึ่ง อาศัยอารมณ์เป็นหนึ่งนั้น แล้วละ คือล่วงเสียซึ่งอุเบกขาที่ มีความเป็นต่างๆ อาศัยอารมณ์ต่างๆ นั้น อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละอุเบกขานี้ได้ เป็นอันล่วงอุเบกขานี้ได้

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงอาศัย คืออิงความเป็นผู้ไม่มีตัณหา แล้วละ คือล่วงเสียซึ่งอุเบกขาที่มีความเป็นหนึ่ง อาศัยอารมณ์เป็นหนึ่งนั้น อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละอุเบกขานี้ได้ เป็นอันล่วงอุเบกขานี้ได้ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ในทางดำเนินของสัตว์ ๓๖ นั้น พวกเธอจงอาศัยทางดำเนินของสัตว์นี้ ละทางดำเนินของสัตว์นี้ นั่นเราอาศัยการละ การล่วง ดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ

    อุเบกขาที่อาศัยตาหูจมูกลิ้นกาย รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ กับ อุเบกขาที่อาศัยความสงบ อย่างไหนจะดีกว่ากัน ความสงบดีกว่า เพราะฉะนั้นการที่จะละอุเบกขาที่มีอารมณ์ต่างๆ เป็นไปในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ก็จะต้องอาศัยอุเบกขาที่มีความเป็นหนึ่ง อาศัยอารมณ์หนึ่ง ละอุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ และอาศัยอารมณ์ต่างๆ

    พระธรรมเทศนาสมบูรณ์ ไม่ได้สิ้นสุดแค่เพียงแค่นั้น

    ข้อความต่อไปที่ว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงอาศัย คืออิงความเป็นผู้ไม่มีตัณหา แล้วละ คือล่วงเสียซึ่งอุเบกขาที่มีความเป็นหนึ่ง อาศัยอารมณ์เป็นหนึ่งนั้น อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละอุเบกขานี้ได้ เป็นอันล่วงอุเบกขานี้ได้ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ในทางดำเนินของสัตว์ ๓๖ นั้น พวกเธอจงอาศัยทางดำเนินของสัตว์นี้ ละทางดำเนินของสัตว์นี้ นั่นเราอาศัยการละ การล่วง ดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ

    ไม่ใช่เป็นสิ่งประเสริฐที่สุดที่เป็นอุเบกขาอาศัยอารมณ์หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นรูปฌานหรืออรูปฌาน แต่ว่าที่ถูกแล้วควรอาศัยอุเบกขาที่ละตัญหา ละความยินดีความพอใจในอุเบกขาที่มีอารมณ์เป็นหนึ่ง

    อากาสานัญจายตนะไม่ใช่เป็นไปทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ อากิญจัญญายตนะ วิญญาณัญจายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะเป็นไปในธรรมารมณ์ และเป็นทางมโนทวารทวารเดียว ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามตาหูจมูกลิ้นกายใจซึ่งเป็นระยะที่สั้นมาก การที่จะได้รับโสมนัสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ชั่วขณะเล็กน้อยมาก แต่ว่าการที่จะได้รับความสงบใจโดยการเจริญสมถภาวนานั้นนานกว่า มากกว่ารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ แต่ว่าไม่ใช่เป็นที่สุดของพระธรรมเทศนา

    ต้องละหมด เพราะว่ายังเป็นไปกับความยินดี ผู้ที่เจริญสมถภาวนาถึงแม้ว่าจะบรรลุปฐมฌาน ก็ยินดีในปฐมฌาน ยึดถือปฐมฌานนั้นเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคล เพราะเหตุว่าไม่รู้สภาพความเป็นอนัตตาที่เป็นลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิด รูปธรรมแต่ละชนิด เพราะเหตุว่าที่ทุกคนยังยึดมั่นในตัวตน ก็เพราะลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมปะปนกันอยู่ สับสนอยู่ อย่างทางตามีเห็น มีสีสันวรรณะ แต่ว่าผู้เจริญสติรู้ว่า สภาพเห็นเป็นสภาพรู้ทางตา สีสันวรรณะที่ปรากฏไม่ใช่สภาพรู้แต่เป็นของจริงที่ปรากฏทางตา บางท่านก็บอกว่าคนเห็นไม่เหมือนกัน บางคนก็ตาบอดสี เห็นสีไม่ครบ เห็นแต่เพียงบางสี จะกล่าวว่าการเห็นของคนนั้นจริงไหม แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้วจะใช้คำว่าสี วรรณะ รูปอารมณ์ หรือว่าจะใช้พยัญชนะอะไรก็แล้วแต่ หมายถึงสภาพที่มีจริงที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่ปรากฏทางหู ไม่ปรากฏทางจมูก เช่นเดียวกับเสียงเป็นของจริงที่ปรากฏทางหูเท่านั้น ไม่ปรากฏทางอื่น ที่ว่าสีสันวรรณะจริงนั้นจริงสำหรับใคร จริงสำหรับจักขุวิญญาณ เพราะจักจุวิญญาณเป็นธรรมชาติที่รู้สี เป็นจิตดวงหนึ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย อาศัยจักขุปสาท พร้อมกับเหตุปัจจัยอื่นเกิดขึ้นเห็นสีสันวรรณะต่างๆ การเห็นต้องเกิดที่จักขุปสาท จักจุปสาทอยู่ที่ใดก็เป็นปัจจัยให้เกิดการเห็นที่นั่น ข้างหลังนี่ไม่มีจักขุปสาท ดังนั้นจึงไม่มีการเห็นสิ่งที่อยู่ข้าง เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเห็นอะไรก็ตาม คำว่า สี ไม่ได้จำกัดว่าเป็นสีเขียวสีแดงสีอะไร แต่หมายความถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ปรากฏทางอื่น เพราะฉะนั้นสีสันวรรณะจริงนั้นจริงสำหรับจักขุวิญญาณที่กำลังเห็น ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน โดยนัยเดียวกัน เสียงเป็นของจริงสำหรับโสตวิญญาณ ไม่ใช่จริงสำหรับคนที่ได้ยินเสียงนั้น เพราะว่าจริงๆ แล้วคนไม่มี สัตว์บุคคลไม่มี เห็นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสภาพรู้ สภาพรู้ทางตาก็เห็นสีสันวรรณะต่างๆ อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นและก็ดับไป ได้ยินก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งรู้เฉพาะเสียง ไม่รู้สี ไม่รู้กลิ่น โสตวิญญาณเกิดขึ้นรู้ลักษณะของเสียง เป็นผู้ที่ทำกิจได้ยินเสียงนั้นจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล แต่ว่าสภาพนามธรรมที่รู้เรื่องรู้ความหมายของคำที่ได้ยิน ของเสียงที่ได้ยิน โสตวิญญาณต้องดับไปแล้วมากมายหลายขณะ และมีจิตดวงอื่นเกิดสืบต่อกันแล้วก็รู้ความหมายของสิ่งที่ได้ยิน เพราะฉะนั้นก็สับสนก่อนที่จะศึกษาธรรม สับสนในสภาพนามธรรมและรูปธรรมนี้ ไม่เข้าใจสภาพชีวิตจริงๆ ไม่รู้เรื่องในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ดังนั้นจึงยึดถือว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคล แต่ที่จะไม่ยึดถือได้ก็จะต้องรู้ชัด และการศึกษาก็ไม่ใช่มีเพียงขั้นปริยัติ แต่โดยนัยของการปฏิบัติก็เป็นการศึกษาด้วย

    ข้อความต่อไปในพระสูตรนี้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า และพึงทราบการตั้งสติ ๓ ประการที่พระอริยะเสพ ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่า เป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ศาสดาเป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดู แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี้เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอ นี้เพื่อความสุขแก่พวกเธอ เหล่าสาวกของศาสดานั้นย่อมไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ และประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น ตถาคตไม่เป็นผู้ชื่นชม ไม่เสวยความชื่นชม และไม่ระคายเคือง ย่อมมีสติสัมปชัญญะอยู่

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า การตั้งสติประการที่ ๑ ที่พระอริยะเสพ ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่า เป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่

    การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เป็นการเจริญปัญญาที่รู้จริง รู้ทั่ว รู้แจ้ง สามารถละความไม่รู้ที่สะสมมาทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่ว่าจะมีผู้ที่ฟังอย่างเงี่ยโสตแล้วก็รับรู้ และประพฤติปฏิบัติตามเสมอ

    บางท่านอาจจะคิดว่า ในอดีตกาลนั้นมีผู้ที่บรรลุมรรคผลด้วยการประพฤติตามที่ได้ทรงแสดงไว้ แต่สมัยนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะประพฤติตามที่ทรงแสดงไว้ ต้องย่นย่อ ทำอย่างโน้น ทำอย่างนี้บ้างเพื่อที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น ก็ไม่เจริญสติ

    สิ่งที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ ท่านผู้ฟังต้องใคร่ครวญ พิสูจน์ ซึ่งถ้าเป็นของง่าย ก็ประพฤติตามกันไปง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องฟังมาก

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ศาสดาเป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดู แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี้เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอ นี้เพื่อความสุขแก่พวกเธอ เหล่าสาวกของศาสดานั้น บางพวกย่อมไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ แล้วประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา บางพวกย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตรับรู้ ไม่ประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้นศาสดาไม่เป็นผู้ชื่นชม ไม่เสวยความชื่นชม ทั้งไม่เป็นผู้ไม่ชื่นชม ไม่เสวยความไม่ชื่นชม เว้นทั้งความชื่นชมและความไม่ชื่นชมทั้งสองอย่างนั้นแล้ว เป็นผู้วางเฉย ย่อมมีสติสัมปชัญญะอยู่

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า การตั้งสติประการที่ ๒ ที่พระอริยะเสพ ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่า เป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่

    ไม่ใช่หวังว่าทุกคนจะต้องเชื่อตาม แล้วก็ไม่ใช่ระคายเคืองเวลาที่ผู้อื่นประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนที่พระศาสดาได้ทรงแสดงไว้แล้ว ไม่เสวยความชื่นชมเวลาที่ผู้อื่นไม่ตั้งจิตรับรู้ ไม่เงี่ยโสดสดับ นั่นก็เป็นเรื่องของบุคคลเหล่านั้นเอง แล้วแต่ว่าผู้ใดจะสะสมเหตุปัจจัยที่จะพิจารณาใคร่ครวญธรรมที่เป็นของลึกที่เป็นของละเอียด การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ต้องเกิดความเข้าใจให้ถูกต้อง ในขั้นของการฟัง ชัดเจนจริงๆ เป็นสัมมาทิฏฐิที่เกิดเพราะอาศัยการฟัง เข้าใจถูกใจข้อปฏิบัติ แล้วก็เป็นปัจจัยทำให้สัมมาสติเกิดขึ้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ศาสดาเป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดู แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    6 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ