รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 059


    ตอนที่ ๕๙

    จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ เป็นอริยสัจจธรรมสำหรับผู้ที่ละคลายเพราะรู้ทั่ว ถึงโลภมูลจิตเกิดก็ดับ เป็นทุกขอริยสัจจ์ได้ ละสมุทยสัจจ์ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน ไม่มีความยินดีที่ยึดถือสิ่งนั้นว่าเป็นตัวตนเพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจ โลภมูลจิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเป็นปกติ โลภมูลจิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเป็นปกติ สติระลึกรู้เท่านั้นเพื่อจะไม่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล ไม่ใช่ว่าจะให้เปลี่ยน หรือว่าให้ทำอะไร หรือว่าให้มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ ที่จะทำให้ไม่รู้ลักษณะของโลภะตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง มีคำอธิบายบางประการบอกว่า เพื่อกันอภิชฌาและโทมนัสไม่ให้เกิดขึ้น คำว่า กัน หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เวลาที่โลภะเกิดขึ้น หลงลืมสติ ก็เป็นโลภะไปเรื่อยๆ เกิดดับสืบต่อกันนาน ทันทีที่สติเกิดโลภะไม่เกิด สติเป็นคุณธรรม เป็นสัมมาสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามที่ปรากฏ ถึงแม้ว่าจะเกิดแล้วดับสืบเนื่องก็ยังปรากฏให้รู้ได้ เหมือนกับกำลังเห็น เห็นก็เกิดดับ แล้วก็มีได้ยิน แล้วแต่สติจะระลึกที่นาม หรือที่รูปทางตา หรือนาม หรือรูปทางหู ไม่มีกฎเกณฑ์ที่จะไปบังคับ เป็นเรื่องธรรมดาที่ว่า สภาพธรรมทั้งหลายมีเกิดขึ้นปรากฏ แต่สติก็ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเนืองๆ บ่อยๆ เป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘ สติไม่ใช่โลภะ แต่ถ้าหลงลืมสติ ก็ยึดถือโลภมูลจิตที่เกิดดับสืบต่อกันว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    ที่จะละคลายการยึดถือได้ ก็เมื่อสติเกิดขึ้นระลึกรู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง เพราะโลภะก็ดับ มีปัจจัยก็ต้องเกิด การเจริญสติปัฏฐานเป็นการรู้ปัจจัยของงานและรูปที่พิจารณา ถ้าไม่พิจารณาจะไม่รู้ว่าสภาพนั้นเป็นนามหรือเป็นรูป เมื่อไม่รู้ว่าเป็นนามหรือเป็นรูป ก็จะไม่มีปัญญาสมบูรณ์ถึงจะรู้ว่านามนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไรเป็นปัจจัย รูปนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไรเป็นปัจจัย เมื่อไม่รู้ก็ไม่คลายลงไป ถ้าว่าการเจริญสติปัฏฐานความสมบูรณ์ของปัญญาที่รู้จะทำให้คลายการยึดถือตามรูปมาเป็นตัวตนเป็นลำดับเป็นขั้นๆ ไป ไม่ใช่รู้เพียงแค่ลักษณะของนามของรูป ปัญญายังสมบูรณ์ต่อไปอีก

    ถ้าใครถามถึงคำแนะนำสั้นๆ ก็บอกว่า เป็นผู้มีปกติเจริญสติ ไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นขณะที่นั่ง นอน ยืน เดิน พูด นิ่ง คิด เหยียด คู้ ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่เว้น

    ใน ปปัญจสูทนี ซึ่งเป็น อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สติปัฏฐานสูตร มีข้อความว่า

    จิตมีราคะ ได้แก่ จิตอันไปกับโลภะ ๘ อย่าง

    หมายความถึงโลภมูลจิต ๘ ดวง สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิตได้ทั้ง ๘ ดวง โดยไม่จำเป็นต้องนึกถึงชื่อ ว่าเป็น โลภมูลจิต โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง ไม่ใช่เป็นการระลึกชื่อ แต่ลักษณะของจิตในขณะนั้นมีสภาพอย่างไรที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่ใช่จิตประเภทอื่นด้วย แต่เป็นจิตที่มีลักษณะยินดีพอใจ มีความปรารถนาหรือต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น เพราะมีลักษณะปรากฏให้รู้ความต่างกัน แต่ว่าใครจะรู้ลักษณะของโลภมูลจิต ๘ ดวงที่ต่างกันบ้าง

    ใครรู้ความต่างกันของ โสมนัสสสหคตัง ทิฎฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง กับ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง สสังขาริกัง ผู้เจริญสติเท่านั้นที่สามารถรู้ได้ แต่ไม่ใช่มุ่งหมายว่า ผู้เจริญสติมีความจงใจว่า จะรู้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่หมายความว่า เริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม เมื่อระลึกรู้ลักษณะของเวทนา ก็ชินกับการที่จะไม่ยึดถือความรู้สึกทุกข์บ้าง สุขบ้าง โสมนัส โทมนัส อุเบกขาว่าเป็นตัวตน เมื่อได้พิจารณารูปอื่นนามอื่นแล้วก็ทำให้รู้ว่า ยังมีอีกมากนักที่ยังไม่รู้ จิตที่มีความต้องการเกิดขึ้น สติก็จะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสราคจิต คือ จิตที่เป็นไปกับโลภะ แต่ไม่ใช่จงใจจะรู้จิตดวงนั้น หรือจิตดวงนี้ แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดปรากฏ

    การยึดการติดในนามในรูปนี้เหนียวแน่นมาก ละคลายยาก เพราะฉะนั้น เวลาที่ระลึกแล้ว ยังอาจจะเกิดความต้องการรู้แทรกขึ้นมาก็ได้ ซึ่งผู้เจริญสติต้องเป็นผู้ที่สำเหนียกด้วยความละเอียดจริงๆ จึงจะละคลายได้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งจนกว่าจะคลายได้จริงๆ ไม่อย่างนั้นความเป็นตัวตนไม่ได้ต้องการอย่างนั้นก็จะต้องการอย่างอื่น เมื่อเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของจิตมีสภาพของจิตให้รู้แล้ว ความต้องการที่เหนียวแน่นก็ยังแซงเข้ามาได้ ที่จะต้องการรู้จิตชนิดนั้นว่าเป็นลักษณะอย่างไร เพราะฉะนั้นความเหนียวแน่นของอัตตาหรือว่าการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนมากมายทีเดียว ผู้ที่จะรู้ว่าเหนียวแน่นแค่ไหนต้องเป็นผู้เจริญสติแล้ว เพราะรู้ละเอียดจึงจะละได้ ถ้ายังคงไม่รู้อย่างนี้ก็ไม่มีหนทางเลยที่จะละได้ ในขณะที่พิจารณาโลภมูลจิต ไม่ได้พิจารณาโสมนัสเวทนา แล้วเมื่อสำเหนียกละเอียดขึ้นจนชินกับลักษณะของโลภมูลจิต ภายหลังอาจจะเกิดรู้ใกล้เคียงกันว่าลักษณะนั้นเป็นลักษณะของโลภมูลจิตและก็เป็นลักษณะของโสมนัสเวทนา เพราะว่าจิตไม่ได้เกิดดวงเดียวเท่านั้น เกิดหลายชวนวิถีที่เกิดดับสืบต่อกัน สติขณะหนึ่งก็อาจจะระลึกในสภาพความเป็นสราคจิตคือโลภมูลจิต และขณะต่อไปก็ระลึกรู้ว่าเป็นโสมนัส แต่ก็เป็นเรื่องที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละชนิดโดยไม่หลงเข้าใจผิด ถูกต้องตามความเป็นจริง ละคลายการยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ โดยวิธีนี้วิธีเดียว ผู้เจริญสติปัฏฐานเป็นผู้ที่ละเอียดมาก ถ้าไม่รู้ละเอียดละไม่ได้

    คราวที่แล้วก็เป็นเรื่องของจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การเจริญสติปัฏฐานนั้น เป็นเรื่องที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริง มีแล้ว มีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นปรากฏแล้วในขณะนี้ แล้วแต่จะระลึก คือถ้าสติจะระลึกที่กายก็ได้เพราะเหตุว่ากายกำลังมี แต่ว่าที่กายนี้เคยรวมกัน เป็นกลุ่มเป็นก้อน มีรูปมากมายหลายรูปที่ประชุมรวมกัน ถ้าสติไม่ระลึกรู้กระจัดกระจายลักษณะของรูปที่รวมกันอยู่ ก็ย่อมจะทำให้เกิดความยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์บุคคล เมื่อกายมีแล้วก็เคยเป็นที่ตั้งของความยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งของ เพราะฉะนั้นสติจึงมีหน้าที่ที่จะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ประชุมรวมกัน เพื่อให้ปัญญารู้ชัด แล้วก็ละลายความไม่รู้ความที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นที่กายนี้ก็ระลึกได้ สติระลึกได้ไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งส่วนใด ที่ลมหายใจซึ่งเป็นส่วนของกายสติก็ระลึกได้ แต่เมื่อสติระลึกก็จะต้องมีสภาพลักษณะของจริงปรากฏให้สติรู้ชัดในส่วนของกายที่สติระลึกรู้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นผมขนเล็บฟันหนังใดๆ ก็ตาม ขณะใดที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมปรากฏที่กาย ขณะนั้นเป็นกายานุปัสสนา แต่ไม่ใช่หมายความว่าจะตั้งเป็นกฎเกณฑ์ให้ท่านเจริญได้จะต้องให้สติจดจ้องระลึกรู้อยู่ที่กาย ไม่ใช่มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับ แต่ว่าในมหาสติปัฏฐานทั้ง 4 นั้น ไม่ว่าสติจะระลึกที่ใด ก็รู้ความจริงในสภาพธรรมที่สติกำลังรู้อยู่ เช่นในขณะนี้สติของท่านจะระลึกที่กาย เป็นไปได้ ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ ขณะที่ระลึกที่กายจะมีลักษณะของมหาภูตรูป เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ตึงบ้าง ไหวบ้างปรากฏเป็นปกติทีเดียว ในขณะนั้นสติที่ระลึกเป็นไปในกายก็ชื่อว่ากายานุปัสสนา แต่ว่าไม่ใช่มีแต่กาย สภาพธรรมที่มีปรากฏเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยนั้นมีมากมาย และตราบใดที่ยังไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่กระจัดกระจายสภาพธรรมที่เกิดสืบต่อกันอย่างรวดเร็วให้เป็นลักษณะของแต่ละนามแต่ละรูปแล้ว ไม่สามารถที่จะละความยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ เพราะฉะนั้นก็จะต้องระลึกลักษณะสภาพธรรมที่มีจริงประการอื่นๆ ต่อไปด้วยเช่น เวทนาความรู้สึก ซึ่งเป็นของจริง เป็นปกติประจำวันทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนาก็ข้ามไม่ได้ เพราะเหตุว่าถ้าขณะใดที่หลงลืมสติ ขณะนั้นก็เป็นความไม่รู้ขณะนั้นก็ยึดถือสภาพของสุขเวทนานั้นว่าเป็นตัวตน เวทนาเกิดดับสืบต่อเป็นปกติในชีวิตประจำวันซึ่งสติจะต้องแทรกเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพของเวทนาความรู้สึกเพื่อที่จะได้ไม่ยึดถือความรู้สึกต่างๆ ว่าเป็นตัวตน ถ้าขณะนี้ไปอุเบกขาความรู้สึกเฉยๆ ก็รู้ว่าความรู้สึกเฉยๆ นี้ ก็เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง คำว่า นามธรรม นั้นเป็นสภาพรู้ธรรมดาๆ มีสิ่งที่ไม่ใช่สภาพรู้กับมีสิ่งที่เป็นสภาพรู้ ขณะที่รู้ ขณะที่รู้สึก นั่นเป็นสภาพรู้ ใช้ชื่อว่าสภาพรู้เพื่อให้รู้ว่าหมายความถึงลักษณะของสภาพธรรมชนิดใดที่กำลังปรากฏ เมื่อความรู้สึกมีแล้วก็ขณะใดที่ระลึกได้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งขณะนั้นก็เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรมดาในวันหนึ่งวันหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องกฎเกณฑ์อีกเหมือนกันว่าไม่ให้รู้เวทนาหรือว่าเวทนานั้นรู้ไม่ได้ แต่ว่าเรื่องของสติแล้วก็เป็นเรื่องที่จะต้องเจริญ แล้วก็มีสิ่งที่สติจะต้องระลึกรู้ บางครั้งระลึกที่กายบ้า งบางครั้งก็ระลึกที่ความรู้สึก หรือถ้าไม่ระลึกขณะใดหลงลืมมีสติ มีความยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเราสุข เป็นเราทุกข์ เป็นเรารู้สึกเฉยๆ ทันที เพราะเหตุว่ามีเชื้ออยู่ในจิตใจ แต่ว่าขณะใดที่มีความรู้สึกเกิดขึ้น และสติก็เริ่มระลึกรู้ลักษณะของเวทนาบ้าง ในขณะนั้นก็จะทำให้ความรู้ชัดในลักษณะของเวทนาซึ่งเป็นความรู้สึกนั้นถูกต้องว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป แล้วก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีตัวตนที่ไปบังคับ สุขเวทนาเกิดแล้วปรากฏ สติระลึกตามปกติ อุเบกขาเวทนากำลังมีปรากฏเพราะเกิดแล้ว สติก็ระลึกตามปกติ ถ้าไม่เจริญสติจะไม่ทราบลักษณะของเวทนาตามความเป็นจริง อย่างอุเบกขาเวทนา ก็อาจจะไม่ทราบว่ามีในขณะใด เห็นตลอดเวลาใช่ไหม ได้ยินก็มีตลอดเวลาเวลา เห็น ก็ยังไม่ดีใจยังไม่เสียใจยังไม่เป็นสุขยังไม่เป็นทุกข์ ความรู้สึกในขณะที่เห็นก็มี ว่าเป็นแต่เพียงความรู้สึกเฉยๆ ทำไมจะปล่อยให้โอกาสผ่านไปด้วยการไม่ระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึกเฉยๆ ที่มี ในขณะที่เห็น ว่าไม่ใช่สัตว์ ว่าไม่ใช่บุคคล ถ้าไม่ระลึกรู้ก็เป็นผู้หลงลืมสติ ก็ไม่มีโอกาสที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ละเอียดยิ่งขึ้นเพื่อการรู้ชัดยิ่งขึ้น เพื่อการละคลายยิ่งขึ้น นอกจากที่สติจะระลึกเป็นไปในเวทนาแล้วก็ยังมีสภาพของจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ และโดยมากทุกท่านเข้าใจเรื่องของกายกับเรื่องของวิจัยว่าแยกกัน กายก็ไม่ใช่สภาพรู้ จิตใจก็เป็นสภาพรู้ทางตาบ้าง ขณะที่กำลังเห็นนี้ก็เป็นนามธรรม เป็นจิต ขณะที่กำลังได้ยินถ้าพูดถึงสภาพที่ได้ยินพูดถึงสภาพที่เห็นก็เป็นสภาพรู้ ไม่ใช่เรื่องของความยินดีความพอใจหรือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ แต่เป็นตัวสภาพรู้ที่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ ทางตาจิตเป็นประธานในการเห็น ส่วนที่จะชอบหรือไม่ชอบนั้นนอาศัยเกิดกับจิตได้ แต่ว่าสภาพที่รู้อารมณ์ที่ปรากฏจริงๆ ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์จริงๆ นั้นเป็นจิตซึ่งมีเกิดดับสืบต่อกันไม่ขาดเลย เวลาที่จิตเกิดขึ้นครั้งใดขณะใด จิตเป็นสังขารธรรมก็จะต้องมีสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่เกิดร่วมกับจิต หลายๆ ประการ สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิตคือเจตสิก เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต เพราะฉะนั้นในขณะที่จิตเกิดขึ้นครั้งหนึ่งก็มีสภาพของเจตสิกมากมายหลายชนิดเกิดร่วมด้วย แต่เพราะเหตุว่าผู้เจริญสติเป็นผู้ที่เริ่มที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ไม่ใช่ว่าจะไประลึกรู้แต่ลักษณะสภาพของเจตสิกเกิดร่วมกับจิตในขณะนั้นเช่นผัสสเจตสิก แต่ว่าเวลาที่ระลึกได้ ก็ระลึกถึงลักษณะสภาพของจิตที่ปรากฏในขณะนั้น เป็นจิตตานุปัสสนา ถ้าของที่มีจริงแล้วล่ะก็สติระลึกได้แล้วก็รู้ลักษณะนั้นเนืองๆ บ่อยๆ ความรู้ก็มากขึ้นเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นในมหาสติปัฏฐานไม่ได้จำกัดเฉพาะกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา หรือว่าจิตตานุปัสสนา แต่มีมหาสติปัฏฐาน ๔ สติจะระลึกเป็นไปในกายก็ได้ ในเวทนาก็ได้ ในจิตก็ได้ ในธรรมก็ได้

    จิตตานุปัสสนาหมวดที่ ๑ คือ สราคจิต ได้แก่ จิตที่มีราคะ มีความพอใจ ผู้ไม่เจริญสติจะไม่ทราบเลยว่า มีความต้องการมากมายสักเท่าไร โลภมูลจิตตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาจนกระทั่งถึงหลับลงไป จะมีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มากสักเท่าไร ผู้ที่หลงลืมสติ ผู้ที่ไม่เจริญสติจะไม่ทราบเลย แต่ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนั้น ตื่นขึ้นมาจะเห็นอะไรบ้าง จะได้ยินอะไรบ้าง จะได้กลิ่นอะไรบ้าง จะลิ้มรสอะไรบ้าง จะสัมผัสกระทบอะไรบ้าง ก็เป็นสิ่งที่มีความต้องการเป็นพื้นเป็นประจำ

    ตลอดเวลาที่หลงลืมสติ ขณะใดที่เกิดความต้องการพอใจขึ้นก็เป็นเรา เป็นตัวตน ไม่รู้เลยว่า ในขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง

    มีท่านผู้ฟังที่กล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ยาก เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเป็นของละเอียด ลักษณะของจิตที่มีความต้องการ แต่ว่ากิเลสที่สะสมมาเนิ่นนานในอดีตอนันตชาติก็ทำให้หลงลืมสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของจิตที่กำลังต้องการ ที่กำลังยินดี ที่กำลังพอใจอย่างยิ่งในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดที่กำลังปรากฏ แต่ขอให้คิดดูว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้และทรงแสดงนั้นเป็นสิ่งที่ยากหรือว่าเป็นสิ่งที่ง่าย การบำเพ็ญบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป เพื่อจะได้ตรัสรู้สภาพความจริงของทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัย ที่ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ก็จะต้องเป็นสิ่งที่ยาก ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่ายๆ แต่ถึงยากอย่างไร ก็มีหนทางที่จะรู้แจ้งสิ่งที่มีจริงๆ ได้ ถ้าไม่ใช่สิ่งที่มีจริงก็รู้แจ้งไม่ได้ จะทำยังไงสักเท่าไหร่ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่มีจริง สติก็เป็นสภาพที่เกิดได้ ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏได้ แม้ว่าในเบื้องแรกอาจจะเป็นทีละเล็กทีละน้อย แต่เมื่อพิจารณาสภาพธรรมแล้วเริ่มรู้ขึ้นทีละเล็กทีละน้อย วันหนึ่งก็จะต้องรู้ชัดได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นของแน่นอนที่ว่าเป็นสิ่งที่รู้ยาก แต่ก็เป็นสิ่งที่ควรเจริญ แล้วก็ควรจะพิจารณาด้วยว่า เพราะเหตุใดในจิตตานุปัสสนาจึงมี สราคจิต คือจิตที่มีความต้องการมีความยินดีมีความพอใจในอารมณ์ ประการที่ ๑ ก็เพราะว่าทุกคนมีจิตชนิดนี้ บ่อยๆ เนืองๆ เป็นปกติ แต่ไม่ระลึกรู้ก็หลงเข้าใจผิดยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะฉะนั้นที่จะละได้ ขอให้ทราบว่ามีทางเดียวคือ สติระลึกรู้ลักษณะในขณะที่จิตประเภทนี้เป็นของจริงกำลังปรากฏเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย บังคับไม่ได้ เวลาที่กำลังเป็นโทสะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จะเปลี่ยนให้สภาพของโทสะที่เกิดปรากฏแล้วเพราะเหตุปัจจัยเป็นโลภะก็ไม่ได้ เป็นโมหะก็ไม่ได้ ลักษณะของโทสมลจิตก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่มีจริงและก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อโลภมูลจิต สราคจิต จิตที่มีความต้องการมีความยินดีมีความปรารถนามีความพอใจในอารมณ์ อาจจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ได้เกิดขึ้นในขณะใด ผู้เจริญสติก็อย่าข้าม ให้ทราบว่าทางเดียวที่จะละได้ก็คือการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง

    อีกประการหนึ่ง บางท่านไม่พอใจที่จะระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิต สราคจิตที่มีความต้องการที่กำลังพอใจหรือว่ายินดีในอารมณ์ที่ปรากฏ ผู้เจริญสติปัฏฐานถ้าไม่มีความเข้าใจ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    6 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ