รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 060
ตอนที่ ๖๐
ผู้เจริญสติปัฏฐานถ้าไม่มีความเข้าใจในเรื่องการเจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้อง ผู้นั้นจะไม่พอใจเลยที่จะระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิต มีอัตตาตัวตนที่เลือกแล้ว ไม่ชอบจิตชนิดนี้ ไม่อยากระลึกรู้ อยากจะไปทำอะไรก็ได้ที่ไม่ให้เป็นโลภะ ไม่ให้เป็นโทสะ ไม่ให้เป็นโมหะ ไม่ยอมที่จะระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิตซึ่งมีเป็นปกติเป็นธรรมดาและก็เป็นตัวของท่านเองจริงๆ ซึ่งท่านยังไม่ใช่เป็นผู้หมดโลภะ เพราะฉะนั้นเมื่อมีโลภะเกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัย ก็ระลึกรู้ลักษณะนั้นจึงจะละการยึดถือได้ แต่เพราะอาจจะมีความเข้าใจผิด มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ทำให้ไม่กล้า หรือว่าไม่พอใจที่จะระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิตที่กำลังมีหรือกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาเรื่องของมหาสติปัฏฐาน ๔ โดยละเอียด ก็จะช่วยทำให้ท่านเกิดฉันทะ วิริยะ ที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นปรากฏ และก็เป็นตัวท่านแท้ๆ เพราะเหตุว่าตัวท่านจริงๆ เป็นอย่างไร มีแต่ความดี มีแต่กุศลจิต มีแต่จิตที่สงบ มีแต่ความดีทั้งนั้นหรือเปล่า ระลึกถึงตัวของท่านเองจริงๆ สิ ว่าตัวของท่านแท้ๆ เป็นอย่างไร ถ้าท่านเป็นพระอริยบุคคลแล้วแล้วก็ละจิตอกุศลบางประเภทไปแล้วหรือว่าถ้าท่านเป็นพระอรหันต์แล้วไม่มีโลภะโทสะโมหะแล้ว นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ท่านก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ สติก็ระลึกรู้อยู่ที่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่ปรากฏ แต่ว่าไม่มีกิเลสเกิดขึ้น ถ้าเป็นพระอรหันต์เป็นผู้ที่ละกิเลสได้หมดสิ้น แต่ตัวท่านจริงๆ ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล มีความดีความชั่วมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มีสติเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ท่านจะละอกุศลได้ไหม อกุศลใดๆ ก็ตามที่สะสมมามาก ท่านอาจจะเป็นผู้หนักในกิเลสทางตา บางท่านก็หนักทางหู บางท่านก็ทางจมูก บางท่านก็ทางลิ้น บางท่านก็ทางกาย ถ้าท่านไม่ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่เกิดกับท่านจริงๆ แล้ว ก็ไม่มีโอกาสที่จะละความยึดถือสภาพธรรมเหล่านั้นหรือว่าละกิเลสได้เลย ในขณะนั้นแทนที่ท่านจะคิดว่าท่านจะทำวิปัสสนา หรือว่าท่านจะดูนามนั้น ดูรูปนี้ ไม่ให้เป็นโลภะ ไม่ให้เกิดโทสะ แทนที่ท่านจะคิดอย่างนี้ ท่านก็ควรจะระลึกได้ว่าแท้ที่จริงตลอดชีวิตมานี้ก็เป็นแต่เพียงนามรูป ถ้าเป็นนามธรรมที่ดีเกิดกับท่านก็เป็นเพราะเหตุว่าสะสมเหตุปัจจัยให้นามชนิดนั้นเกิดขึ้น ถ้าเป็นนามธรรมฝ่ายอกุศลฝ่ายไม่ดีที่เกิดกับท่าน ก็เป็นเพราะเหตุปัจจัยที่สะสมมาที่จะต้องเกิดขึ้น เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น ให้เห็นชีวิตจริงๆ ของท่าน เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน
สำหรับความรู้ขั้นของความคิดพิจารณาธรรม ความรู้ของขั้นปฏิบัติต่างกันอย่างไร เวลาที่ศึกษาธรรม พิจารณาตาม เข้าใจได้ใช่ไหมคะว่าสภาพธรรมสำหรับท่านที่รู้แจ้งแล้วเป็นอนัตตาเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยมีลักษณะต่างๆ กันทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะที่ระลึกตามคิดตามเป็นเรื่องของสภาพธรรม ไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ลักษณะของธรรมที่กำลังเกิดดับจริงๆ เป็นแต่เพียงขั้นการพิจารณาในเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง หรือว่าบางท่านก็ระลึกได้ ว่าจะต้องเจริญสติรู้ว่าควรจะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ แต่พอระลึกได้ เรื่องของสิ่งที่กำลังปรากฏมาก่อน กำลังเห็นเป็นนามธรรมจะนึกอย่างนี้ หรือว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นรูปปธรรม แต่ผู้ที่เจริญสติรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏจะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดเป็นผู้ที่มีความสำเหนียกว่า แม้ในขณะนั้นที่ระลึกคิดว่า กำลังเห็นเป็นนามธรรม ก็ไม่ใช่กับเวลาที่ไม่คิด แต่เห็นกำลังมี ขณะนี้ไม่ต้องคิดว่าเห็นเป็นนามธรรม กำลังเห็นเป็นสิ่งที่มีจริง ระลึกว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสีสันวรรณะต่างๆ ก็เป็นของจริงทางตา หรือว่าที่กำลังเห็นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ถึงแม้ว่าในตอนแรกอาจจะคิด แต่ว่าเมื่อระลึกบ่อยๆ เนืองๆ แล้วก็สำเหนียกรู้ความต่างกันว่า ขณะที่คิด ไม่ใช่ขณะที่กำลังระลึกที่เห็นโดยไม่คิด ทีหลังก็สามารถที่จะรู้ชัดขึ้นว่าที่กำลังเห็นโดยไม่ต้องไปคิดก็รู้ว่าเป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง เป็นเรื่องที่จะต้องขัดเกลาอย่างละเอียดทีเดียว ความเห็นผิดที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน การไม่รู้ลักษณะของนามและรูปทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ สะสมมามาก เพราะฉะนั้นที่จะละคลายให้หมดได้จริงๆ ก็จะต้องอาศัยสติระลึกบ่อยๆ เนืองๆ แล้วความรู้ก็จะมากขึ้น เพิ่มขึ้น
สำหรับเรื่องวิเวก ได้ทรงแสดงวิเวกไว้ ๓ ประการว่า วิเวกนั้นมี ๓ เรื่องวิเวกนี้มีหลายแห่งในพระไตรปิฎก แต่ข้อความก็เหมือนกัน
ขุททกนิกาย มหานิทเทส ตุวฏกสุตตนิทเทส ที่ ๑๔ มีข้อความว่า
ชื่อว่า วิเวก ในคำว่า ผู้สงัด
ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดผ่านสถานที่หนึ่งที่ใดมีแต่ทุ่งนา ป่า เขา และก็มีอาจจะเป็นนายโคบาล คนเลี้ยงวัว หรือว่าใครก็ได้ที่กำลังอยู่ในสถานที่นั้น จะกล่าวว่าผู้นั้นกำลังวิเวกได้ไหม ถ้าใครบังเอิญไปอยู่ชายแดน ไม่มีใครเลยที่จะเข้ามาพัวพันใกล้ชิต หรือว่าบ้านช่องที่อยู่อาศัยของท่าน อาคารบ้านเรือนของท่านไปอยู่ในถิ่นที่ไกลมาก ห่างไกลจากผู้คน จะถือว่าบุคคลที่อยู่ในสถานที่ต่างๆ เหล่านั้นเป็นผู้วิเวกได้หรือยัง
ถ้ายังมีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ ไม่ได้คิดที่จะปลีกออกจากกาม รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แม้ว่าโดยขั้นสมถภาวนา หรือว่าโดยการรู้ชัดแล้วละคลายความติดข้อง แต่บังเอิญที่อยู่อาศัยของท่านอยู่ในสถานที่ห่างไกลคนอื่น อย่างนั้นจะเรียกว่า เป็นวิเวก หรือจะถือว่าวิเวกได้ไหม เพราะเรื่องของวิเวกนั้นเป็นเรื่องของผู้สงัด ผู้ที่ไม่ต้องการที่จะคลุกคลีใกล้ชิดกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะโดยเป็นอัธยาศัยจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพราะท่านบังเอิญต้องไปอยู่คนเดียวไกลๆ เลยกลายเป็นท่านวิเวกไปเสียแล้ว ทั้งๆ ที่ใจของท่านก็มีโลภะ มีโทสะ มีความกลัว ไม่รู้ลักษณะของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพียงแต่บังเอิญไปอยู่ที่เปลี่ยวๆ ไกลๆ จะถือว่าเป็นวิเวกก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ข้อความนี้มีว่า
ชื่อว่า วิเวก ในคำว่า ผู้สงัด มีสันติบท แสวงหาคุณใหญ่ ดังนี้ วิเวกมี ๓ อย่าง คือ กายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก
ข้อความต่อไปมีว่า
กายวิเวกเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมซ่องเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง รอมฟาง และเป็นผู้สงัดด้วยกายอยู่ เธอเดินผู้เดียว ยืนผู้เดียว นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว เข้าสู่บ้านเพื่อบิณฑบาตผู้เดียว กลับผู้เดียว นั่งในที่หลีกเร้นผู้เดียว อธิษฐานจงกรมผู้เดียว ผู้เดียวเที่ยวไป ยับยั้งอยู่ ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถเป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา นี่ชื่อว่า กายวิเวก
ท่านที่จะไปวิเวกเป็นอัธยาศัยหรือไม่ หรือว่าไปเพราะคิดว่าจะได้อะไรๆ กลับมา จะไปเอาอะไรๆ กลับมา หรือว่าเป็นอัธยาศัยของท่านแท้ๆ ที่จะไม่คลุกคลี เป็นเนกขัมมบารมี ฆราวาสเป็นอย่างนั้นหรือไม่ เป็นอัธยาศัยจริงๆ หรือไม่ ถ้าเป็นอัธยาศัยจริงๆ ไม่เป็นฆราวาสแล้ว และก่อนที่ท่านจะวินิจฉัยความหมายของคำว่า
เธอเดินผู้เดียว ยืนผู้เดียว นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว เข้าสู่บ้านเพื่อบิณฑบาตผู้เดียว กลับผู้เดียว นั่งในที่หลีกเร้นผู้เดียว อธิษฐานจงกรมผู้เดียว ผู้เดียวเที่ยวไป ยับยั้งอยู่ ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถเป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา นี้ชื่อว่า กายวิเวก
ขอให้ดูความหมายในพระสูตรอื่นๆ ประกอบด้วย คือ ใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค มิคชาลสูตร ที่ ๑ มีข้อความว่า
ท่านพระมิคคชาละไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลถามว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว ผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว ฉะนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรพระเจ้าข้า ภิกษุจึงชื่อว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว และด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุจึงชื่อว่า อยู่ด้วยเพื่อนสอง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร มิคชาละ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ให้เกิดความรัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุยินดี กล่าวสรรเสริญ หมกมุ่นรูปนั้นอยู่ เมื่อเธอยินดีกล่าวสรรเสริญ หมกมุ่นรูปนั้นอยู่ ย่อมเกิดความเพลิดเพลิน เมื่อมีความเพลิดเพลินก็มีความกำหนัดกล้า เมื่อมีความกำหนัดกล้าก็มีความเกี่ยวข้อง
ดูกร มิคชาละ ภิกษุผู้ประกอบด้วยความเพลิดเพลิน และมีความเกี่ยวข้อง เราเรียกว่า ผู้มีปกติอยู่ด้วยเพื่อนสอง
ข้อความต่อไป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ โดยนัยเดียวกัน
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร มิคชาละ ภิกษุผู้มีปกติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ ถึงจะเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าหญ้า และป่าไม้ เงียบเสียง ไม่อื้ออึง ปราศจากลมแต่ชนที่เดินเข้าออก ควรเป็นที่ประกอบกิจของมนุษย์ผู้ต้องการสงัด สมควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็ยังเรียกว่า มีปกติอยู่ด้วยเพื่อนสอง
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้นั้นยังมีตัณหาเป็นเพื่อนสอง เขายังละตัณหานั้นไม่ได้ ฉะนั้นจึงเรียกว่า มีปกติอยู่ด้วยเพื่อนสอง
สำหรับโดยนัยตรงกันข้าม คือ
ถึงแม้ว่าจะมีรูปที่น่ารัก มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพารมณ์ที่น่ารัก น่าพอใจ มีอยู่ แต่ภิกษุไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่หมกมุ่น ไม่ประกอบด้วยความเพลิดเพลิน และความเกี่ยวข้อง เราเรียกว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว
ดูกร มิคชาละ ภิกษุผู้มีปกติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ แม้จะปะปนกับภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ ในที่สุดบ้านก็จริง ถึงอย่างนั้นก็ยังเรียกว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว
เรื่องของการอยู่ผู้เดียว เป็นเรื่องของใจที่จะออกไป ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ยึดถือ ไม่ติด ไม่เพลินไปด้วยความเป็นตัวตน เป็นสัตว์บุคคล กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะใดๆ
เพราะฉะนั้น เรื่องของกายวิเวก จะต้องเข้าใจด้วยว่า ไม่ใช่ไปโดยที่ยังเกี่ยวข้องเต็มไปด้วยความต้องการบางสิ่งบางประการชั่วครั้งชั่วคราว แล้วก็จะกลับมา แต่กายวิเวกจริงๆ เป็นอัธยาศัยในเนกขัมมะที่จะออกจากการคลุกคลี
ข้อความต่อไปมีว่า
จิตวิเวก เป็นไฉน
ที่ออกไป ต้องการพ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย ผู้ที่มีกายวิเวกออกไปแล้วก็ไม่ใช่เพียงแต่ออกไปเฉยๆ แต่ก็ยังมีความต้องการที่จะสงบจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะด้วย ข้อความมีว่า
จิตวิเวก เป็นไฉน
ภิกษุบรรลุปฐมฌานมีจิตสงัดจากนิวรณ์ บรรลุทุติยฌานมีจิตสงัดจากวิตก วิจาร บรรลุตติยฌานมีจิตสงัดจากปีติ บรรลุจตุตถฌานมีจิตสงัดจากสุขและทุกข์ บรรลุอากาสานัญจายตนฌานมีจิตสงัดจากรูปสัญญา ปฏิฆะสัญญา และนานัตตสัญญา บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานมีจิตสงัดจากอากาสานัญจายตนสัญญา บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน มีจิตสงัดจากวิญญาณัญจายตนสัญญา บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานมีจิตสงัดจากอากิญจัญญายตนสัญญา
สงัดขึ้นเรื่อยๆ สงบขึ้นเรื่อยๆ สำหรับจิตวิเวก แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์อันสูงสุดในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เพียงแค่นั้น เพราะถึงแม้ว่าไม่ใช่พระพุทธศาสนา กายวิเวกก็มี จิตวิเวกก็มี แต่สำหรับในพระพุทธศาสนานั้น เป็นการเจริญปัญญารู้สภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงเพื่อละคลายกิเลส ไม่ใช่เพียงชั่วคราว แต่สามารถที่จะดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทด้วยการเจริญสติปัฏฐาน มีการเจริญปัญญาระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปจนกว่าจะละคลายกิเลส จนกระทั่งดับหมดสิ้นเป็นพระอริยบุคคลเป็นลำดับขั้นด้วย
ข้อความมีต่อไปว่า
เมื่อพระภิกษุนั้นเป็นพระโสดาบัน มีจิตสงัดจากสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับ สักกายทิฏฐิเป็นต้นนั้น
สำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคล จะต้องสงัดจากสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส และสงัดจากทิฏฐานุสัย ความเห็นผิดที่ยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน อย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดาน ไม่มีอีกต่อไปเลย การที่จะหมดความสงสัยในลักษณะของนามของรูปได้ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปตามความเป็นจริง จะหมดความสงสัยได้ไหม ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานที่ท่านเป็นผู้ตรงต่อธรรม เป็นผู้ตรงต่อตนเอง ท่านทราบได้ทีเดียวว่า ท่านหมดความสงสัย หมดวิจิกิจฉานุสัยแล้วหรือยัง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ว่าท่านจะอยู่ในสถานที่ใด จิตไม่มีเชื้อของวิจิกิจฉานุสัย ไม่มีเชื้อของทิฏฐิ ความเห็นผิดที่เคยยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน ไม่มีการลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด
ถ้าท่านสามารถระลึกรู้ลักษณะของนามรูปตามความเป็นจริงได้ หมดความสงสัยในลักษณะของนามรูป หมดความเห็นผิดที่เคยยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน ไม่ว่าท่านจะอยู่ในสถานที่ใดก็ตาม ท่านจะเป็นผู้เจริญสติอย่างไหนถึงจะหมดความสงสัยได้ ก็ต้องไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน ท่านก็ต้องเจริญสติ ไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดนามและรูปด้วย
ข้อความต่อไปมีว่า
เป็นพระสกทาคามี มีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัยอย่างหยาบๆ และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับกามราคสังโยชน์เป็นต้นนั้น
เป็นพระอนาคามี มีจิตสงัดจากกามราคะสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัยอย่างละเอียดๆ และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับกามราคสังโยชน์เป็นต้นนั้น
เป็นพระอรหันต์ มีจิตสงัดจากรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย กิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับรูปราคะเป็นต้นนั้น และจากสังขารนิมิตทั้งปวงในภายนอก
นี้ชื่อว่า จิตวิเวก
ข้อความต่อไปก็เป็นเรื่อง อุปธิวิเวกมีข้อความว่า
อุปธิวิเวก เป็นไฉน
กิเลสก็ดี ขันธ์ก็ดี อภิสังขารคือ เจตนาที่เป็นกุศลและอกุศลทั้งหลายก็ดี เรียกว่า อุปธิ
อมตนิพพาน เรียกว่า อุปธิวิเวก ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่สำรอกตัณหา เป็นที่ดับตัณหา เป็นที่ออกไปจากตัณหาเครื่องร้อยรัด นี้ชื่อว่า อุปธิวิเวก
ก็กายวิเวก ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีกายหลีกออก ยินดียิ่งในเนกขัมมะ
ไม่ใช่บังคับ ไม่ใช่เรื่องที่ต้อง แต่ท่านทรงแสดงไว้ว่า ก็กายวิเวกย่อมมีแก่ บุคคลผู้มีกายหลีกออก ยินดียิ่งในเนกขัมมะ เป็นอัธยาศัยหรือไม่ ยินดียิ่งในเนกขัมมะ
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 041
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 042
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 043
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 044
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 045
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 046
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 047
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 048
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 049
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 050
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 051
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 052
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 053
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 054
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 055
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 056
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 057
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 058
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 059
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 060
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 061
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 062
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 063
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 064
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 065
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 066
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 067
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 068
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 069
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 070
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 071
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 072
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 073
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 074
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 075
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 076
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 077
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 078