รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 071


    ตอนที่ ๗๑

    เป็นเรื่องที่ผู้เจริญสติจะต้องเจริญบ่อยๆ เนืองๆ ความรู้เพิ่มขึ้นเป็นขั้นๆ แล้วแต่ว่ากำลังเจริญความรู้ขั้นไหนก็รู้ขั้นนั้น ขั้นแรกที่สุดจะต้องรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม เพราะว่าธรรมดาเวลาที่สติไม่ระลึกรู้แล้ว ทั้งนามธรรมและรูปธรรมจะติดกันแน่นมาก เป็นต้นว่ากำลังเห็นหรือว่ากำลังได้ยิน ลักษณะใดเป็นรูปธรรม ลักษณะใดเป็นนามธรรม ถ้าสติไม่ระลึกรู้ก็แยกไม่ออก รู้โดยการฟัง รู้โดยการศึกษาขั้นปริยัติ แต่ไม่ใช่รู้ลักษณะจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ถ้าเป็นความรู้ลักษณะจริงๆ ที่กำลังปรากฏแล้ว สติจะต้องเกิดในขณะที่สิ่งนั้นปรากฏแล้วก็จะระลึกรู้ลักษณะของนามก็รู้ว่าเป็นนาม จะระลึกรู้ลักษณะของรูปก็รู้ว่าเป็นรูป ไม่ใช่ไปจะระลึกรู้ลักษณะของรูปแล้วคิดว่าเป็นนาม เป็นเรื่องละเอียดและต้องเจริญมาก

    ถ. เจริญปัญญา

    ท่านอาจารย์ บางทีมีทานมีศีลแต่ไม่มีปัญญาก็ได้ ข้อสำคัญที่สุดที่จะต้องเข้าใจก็คือว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นชีวิตธรรมดา เป็นชีวิตจริงๆ ปัญญาที่รู้ก็คือรู้ชีวิตจริงๆ ตามปกติธรรมดา แล้วธรรมดาปกติทำอะไรบ้างที่ทำไปด้วยความหลงลืมสติถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน แต่ถ้าเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ชีวิตดำเนินไปเป็นปกติ แต่สติก็ระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะมีเหตุปัจจัยที่ให้เกิดขึ้นปรากฏตามความเป็นจริง

    การเจริญปัญญาเป็นเรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากจะง่ายขึ้นถ้าเริ่มเจริญ แต่ถ้ายังไม่เริ่มเจริญเลย สิ่งที่ยากก็คงยากอยู่ต่อไป

    การเจริญสติปัฏฐาน การเจริญปัญญาเป็นเรื่องยาก แต่ควรเริ่มเจริญทันที และไม่ใช่ระลึกแต่กุศลจิต เมื่อมีสราคจิตที่เป็นอกุศลสติก็ระลึกได้ จะประจักษ์ว่าสภาพนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา และเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ เพราะเมื่อมีปัจจัยให้โลภมูลจิตเกิด โลภมูลจิตก็เกิด แต่สติก็ระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิตนั้นว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งไม่ใช่ตัวตน เริ่มเจริญทันทีเป็นปกติ ไม่ใช่คิดมากมายเสียเวลาคิดโน่นคิดนี่ ระหว่างที่คิดก็พอดีหลงลืมสติ สติไม่ได้ระลึกรู้ว่าขณะที่คิดนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง

    พระธรรมโอวาททั้งหมดก็เพื่อเตือนให้สติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น แม้แต่คำอุปมาที่ว่า เหมือนกับไฟไหม้บนศีรษะ เพราะฉะนั้นการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปก็ควรจะระลึกเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องคอยเลือกว่าจะต้องทำอย่างนั้นเสียก่อนทำอย่างนี้เสียก่อน หรือว่าจะต้องให้เป็นกุศลจิตเสียก่อน ทุกอย่างที่เป็นของจริงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สติก็สามารถจะระลึกรู้ได้ตามความเป็นจริง

    ในคราวที่แล้วก็เป็นเรื่องของ สราคจิต โลภมูลจิต ซึ่งทุกคนก็มี และมีมากๆ ในทุกๆ วันด้วย สราคจิตเป็นของจริง ก็ย่อมเป็นสติปัฏฐาน เป็นสิ่งที่สติสามารถที่จะระลึกรู้ได้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ในขั้นของปริยัติได้สงเคราะห์เป็น ๘ ประเภท ข้อสำคัญก็คือท่านผู้ฟังอาจจะคิดสงสัยว่า จะมีประโยชน์อะไรในการรู้ลักษณะของสราคจิตซึ่งเป็นจิตของท่านเองทุกๆ วัน แต่ว่าความที่จะรู้โดยสงเคราะห์กับขั้นของปริยัติ ซึ่งบางขณะโลภมูลจิตนั้นก็เป็นไปเกิดพร้อมกับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏตลอดทั้งวันว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน การรู้ว่าเป็นโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เป็นไปกับความเห็นผิดบ้าง หรือไม่เป็นไปกับความเห็นผิดบ้างนั้น จะมีประโยชน์อะไร บางท่านอาจจะคิดอย่างนี้ใช่ไหม หรือว่าไม่จำเป็นต้องรู้ จะมีความเห็นผิดร่วมด้วยหรือว่าไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยก็ไม่เห็นว่าจะมีประโยชน์อะไร หรือคิดว่ามีประโยชน์ ความรู้ทุกอย่างเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ถ้าสมมติวันหนึ่งๆ ไม่ทราบเลยว่าท่านมีสราคจิต หรือว่าโลภมูลจิต ท่านก็คงจะบอกคนอื่นใช่ไหมว่า ท่านก็ดีแล้ว โลภะก็ไม่มี โทสะก็ไม่มี อย่างที่หลายท่านที่ไม่ได้ศึกษาปริยัติธรรม ก็เข้าใจว่าตัวท่านเองนั้น ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เป็นผู้ที่มีกิเลสเบาบาง แต่เวลาที่ท่านศึกษาแล้วท่านทราบ รู้จักตัวของท่านเอง ละเอียดชัดเจนถูกต้องขึ้นว่าท่านยังมีกิเลสเต็มที่ทีเดียวทั้งโลภะ ทั้งโทสะ ทั้งโมหะ การรู้ว่าท่านมีกิเลสประเภทใดบ้าง มากน้อยเท่าไหร่ กับการไม่รู้นั้นอย่างไหนจะดีกว่ากัน การรู้ก็ต้องดีกว่าใช่ไหม และก็สำหรับสราคจิตหรือโลภมูลจิตซึ่งบางครั้งบางขณะก็เป็นทิฏฐิคตวิปยุตต์ (ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด) และบางครั้งบางขณะก็เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ (เกิดร่วมกับความเห็นผิด) นั้น ก็ยิ่งจะมีประโยชน์ ถ้าท่านทราบว่า ขณะไหนกำลังเป็นโลภมูลจิตประเภทใด เป็นต้นว่าทุกๆ วัน ท่านอาจจะไม่ทราบ ว่าท่านยังมีความเห็นผิดอยู่ ท่านอาจจะคิดว่าท่านเป็นพุทธศาสนิกชน มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้ว ไม่ได้เห็นผิดว่าบาปบุญไม่มีผล หรือว่าบาปไม่มี ผลของบาปของบุญไม่มี ท่านไม่ได้เชื่ออย่างนั้น ท่านก็เป็นผู้ศึกษาและเข้าใจธรรมแล้ว แต่ว่าความเห็นผิดนั้นมีมากมายหลายขั้น เช่นในขณะที่ไม่รู้ลักษณะของนาม ไม่รู้ลักษณะของรูป แล้วก็เกิดความเห็นที่ยึดถือสัตว์บุคคลตัวตนเกิดขึ้นในขณะใด ขณะนั้นเป็นโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ซึ่งถ้าท่านทราบ และรู้ชัดว่า ตัวท่านยังมี ประโยชน์มีแล้วคือว่า ท่านก็ย่อมมีความพากเพียรเกิดขึ้นที่จะละโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เป็นไปกับความเห็นผิดที่ยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นการรู้สภาพธรรม ถ้ายิ่งรู้ก็ยิ่งอุปการะทำให้ท่านดำเนินชีวิตในตามที่ถูกต้องขึ้น เป็นต้นว่าถ้าท่านทราบว่าวันหนึ่งๆ สติเกิดน้อย หรือว่าอาจจะไม่เกิดเลย หรือว่าอาจจะยังมีความเข้าใจผิดในข้อปฏิบัติที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ อยู่ ท่านก็ควรที่จะได้เข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อเจริญมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะละสักกายทิฏฐิและทิฏฐิทั้งหมดได้ มิฉะนั้นก็ไม่มีโอกาสเลยที่จะละความเห็นผิดที่ยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน

    ในเรื่องของจิตตานุปัสสนา ยิ่งท่านรู้จักตัวของท่านเอง รู้กิจการงานของอกุศลธรรม อกุศลจิตที่เกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ มากเท่าไหร่ ก็จะเป็นประโยชน์ทำให้ท่านรู้ชัดและสามารถที่จะละคลายกิเลสได้ถูกต้อง ไม่ใช่ละข้ามขั้น คือละโดยที่ว่าจะเป็นพระอรหันต์ทีเดียว ไม่ให้มีโลภะเสียเลย หรือว่าจะไปละโทสะเป็นพระอนาคามีบุคคลคือไม่ให้เกิดโทสะเลย นั่นก็ไม่ใช่เรื่องการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่การเจริญปัญญาเป็นขั้นๆ แต่ถ้าท่านรู้สภาพกิเลสตามความเป็นจริง เจริญกุศลให้ตรงซึ่งสามารถจะละกิเลสได้ ก็สามารถจะละกิเลสได้เป็นขั้นๆ

    จะขอกล่าวถึงอกุศลธรรมซึ่งทุกคนมี เพื่อจะให้รู้ชัดและละได้ถูกต้องตามเหตุผลด้วย ที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎกก็คงจะได้ยินคำว่าอกุศลธรรมบ่อยๆ บางท่านได้ยินคำว่า กิเลส บางท่านได้ยินคำว่า อาสวะ ท่านอาจจะไม่ทราบว่า ทำไมบางครั้งใช้คำว่ากิเลส และบางครั้งก็ใช้คำว่าอาสวะ ซึ่งความจริงแล้วสภาพของอกุศลธรรมทั้งหมดเป็นเจตสิก ๑๔ ดวง หรือ ๑๔ ประเภท แต่มีกิจการงานในวันหนึ่งๆ ตามประเภทของสภาพธรรมนั้นๆ เช่น อาสวะเป็นอกุศลธรรมซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด ๔ คือ อาสวะ ๔ ได้แก่ กามาสวะ ๑ ภวาสวะ ๑ ทิฏฐาสวะ ๑ อวิชชาสวะ ๑

    กามาสวะ สภาพที่ไหลไปตามรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยความยินดี ด้วยความพอใจ ด้วยความเพลิดเพลิน

    ภวาสวะ เป็นความยินดีความพอใจ ได้แก่ โลภเจตสิก สภาพที่มีความยินดี มีความต้องการในภพ ในชาติ หรือว่าในขันธ์นั้นเอง ความยินดีพอใจนี้ไม่ได้เป็นไปแต่เฉพาะในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ว่ายังยินดีที่จะเห็น ที่จะได้ยิน ที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป เป็นภพเป็นชาติสืบต่อไป นี่เป็นความยินดีในภพซึ่งทุกท่านมี ถ้าไม่เจริญสติจะหมดไปไม่ได้เลย

    ทิฏฐาสวะ นั้นก็เป็นความเห็นผิด ยินดียึดมั่นในความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

    อวิชชาสวะ นั้นก็ได้แก่ การที่ไหลไป หลงไปด้วยความไม่รู้สภาพความเป็นจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ถ้าสติไม่เกิดระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่สามารถที่จะละอาสวะเหล่านี้ได้เลย ในพระไตรปิฎกจะพบข้อความที่ว่า ผู้ที่ได้ฟังธรรมแล้ว เป็นผู้ที่สิ้นอาสวะ แต่ก็ต้องเป็นผู้เจริญสติรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และการที่จะละอาสวะทั้ง ๔ จะยากสักแค่ไหน

    สำหรับกามาสวะ ความยินดี ความหลง ความไหลไปตามอารมณ์ที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น ใน ปปัญจสูทนี ซึ่งเป็น อรรถกถาของ มัชฌิมนิกาย แสดงการอุปมาว่า

    อุปมาเหมือนกับมีดหั่นเนื้อและเขียง คนวางเนื้อบนเขียง แล้วสับด้วยมีดฉันใด สัตว์ทั้งหลายก็ถูกกิเลสกามเบียดเบียนอยู่ เพราะต้องการวัตถุกาม ชื่อว่า ถูกสับโขกด้วยกิเลสกามบนวัตถุกาม เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสให้ละฉันทราคะในกามคุณ ๕

    เมื่อมีกามราคะ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเกิดขึ้น สิ่งนั้นเกิดขึ้นแล้ว ปรากฏแล้วเพราะมีเหตุปัจจัย สติก็ระลึกรู้ เป็นจิตตานุปัสสนา เป็นปกติธรรมดา

    ถ้ายิ่งศึกษาธรรมโดยละเอียด ท่านก็จะยิ่งเข้าใจชัดเจนขึ้นถึงการละกิเลสว่า ควรจะเจริญอย่างไร ไม่ใช่ไปบังคับ ไม่ใช่ไปฝืน เพราะเหตุว่ากามราคะ หรือกามาสวะนั้นจะหมดสิ้นไปได้ก็ต่อเมื่อบรรลุอริยสัจจธรรมเป็นพระอนาคามี ถ้าเป็นพระโสดาบันบุคคล หรือพระสกทาคามีบุคคล ก็ยังมีกามาสวะ แต่ไม่มีทิฏฐาสวะ นี่ก็เป็นสิ่งที่ควรจะเข้าใจด้วย

    สำหรับเรื่องของภวาสวะ คือ ความยินดีพอใจในภพในชาติ ไม่ว่าจะเป็นในการเห็น การได้ยิน ก็อยากจะเห็นอยู่เรื่อยๆ อยากจะได้ยินอยู่เรื่อยๆ อยากจะมีขันธ์ ๕ อยู่เรื่อยๆ ซึ่งในข้อนี้มีอุปมาว่า

    นันทิราคะ เปรียบด้วยชิ้นเนื้อ ขึ้นชื่อว่าชิ้นเนื้อนั้นคนส่วนมากต้องการ แม้มนุษย์ทั้งหลาย มีกษัตริย์ เป็นต้น เดรัจฉาน มีกา เป็นต้น ก็มีความต้องการในชิ้นเนื้อเช่นกัน สัตว์เหล่านี้มีอวิชชา ติดในนันทิราคะ ย่อมปรารถนาวัฏฏะ ชิ้นเนื้อย่อมติดอยู่ในที่ที่วางไว้แล้วฉันใด สัตว์ทั้งหลายถูกนันทิราคะผูกพัน ย่อมติดอยู่ในวัฏฏะ ฉะนั้น

    แม้ถึงประสบความทุกข์ ก็ไม่รู้จักเบื่อหน่าย เพราะเหตุนั้นนันทิราคะจึงเปรียบด้วยชิ้นเนื้อ พระผู้มีพระภาคตรัสให้ละนันทิราคะด้วยมรรคที่ ๔

    การละกิเลสนี้ต้องละเป็นขั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นพระอนาคามีบุคคล ละความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ยังมีความยินดีพอใจในภพ ในชาติ ในขันธ์ ซึ่งจะละได้ก็ด้วยอรหัตตมรรค

    นี่ก็เป็นเครื่องที่แสดงให้เห็นว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ อย่าไปละผิด หรือว่าอย่าไปบังคับผิดๆ

    สำหรับในเรื่องของ ทิฏฐาสวะ นั้นที่จะละได้หมดต้องเป็นพระโสดาบัน บุคคล สำหรับผู้ที่เริ่มเจริญสติปัฏฐาน ถ้าท่านระลึกรู้แต่เพียงรูปธรรม ตัวตนยังอยู่ที่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพราะฉะนั้น ผู้เจริญสติปัฏฐานก็ทราบว่า ปัญญาเพียงเท่านี้ยังไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ท่านก็จะไม่ข้ามการระลึกรู้ลักษณะของเวทนา คือ ความรู้สึกที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ถ้าคิดจะข้ามก็เป็นตัวตนที่คิด ไม่ใช่เป็นสติที่ระลึกรู้ว่า การละสักกายทิฏฐิได้จริงๆ นั้น ปัญญาต้องสมบูรณ์มาก ละเอียดขึ้น คมกล้าขึ้น รู้แจ้งจริงๆ ในลักษณะของรูปและนามที่กำลังปรากฏ แล้วก็ไม่มีเยื่อใยไปยึดโยงไว้ในความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน

    สำหรับ อวิชชาสวะ ใน ปปัญจสูทนี ได้ทรงแสดง เปรียบอวิชชาด้วยลิ่มสลัก ซึ่งก็เป็นลิ่มสลักของประตูเมืองที่ปิดกั้นคนข้างนอกและข้างในไม่ให้ผ่านไปมาได้

    ลิ่มสลัก คือ อวิชชาในญาณมุขของผู้ใดตกไป การเข้าถึงญาณที่จะให้บรรลุพระนิพพานของผู้นั้นถูกปิดลง เข้าประตูพระนิพพานไม่ได้

    ไปติดสลักคือ อวิชชาอยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การละอวิชชา เริ่มต้นด้วยการเรียน สอบถามกัมมัฏฐาน

    ญาณมุข คือ ข้อประพฤติปฏิบัติที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม คือรู้ว่า สิ่งใดเป็นทุกข์ หรือว่าทุกข์นั้นได้แก่อะไร ทุกข์ได้แก่ความเกิดขึ้นและดับไปของนามและรูป โดยไม่ต้องเลือก นามรูปเกิดขึ้นและดับไปอยู่แล้ว แต่ปัญญายังไม่สมบูรณ์จึงยังไม่ประจักษ์ เพราะฉะนั้น หน้าที่ของผู้เจริญสติปัฏฐานคือ เจริญสติให้เกิดความรู้ชัดในลักษณะของนามของรูป เพื่อที่จะได้ละคลายความไม่รู้

    บางท่านฟังปริยัติมีความเข้าใจชัดเจนในการเจริญสติปัฏฐาน แต่เวลาเจริญสติจริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ความต้องการเข้ามาแทรก เข้ามาบิดเบือนเล็กๆ น้อยๆ ด้วยความหวังผลว่าให้ทำอย่างนั้น มีตัวตนเข้าไปแทรก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    8 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ