รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 072


    ตอนที่ ๗๒

    สติเป็นอนัตตาจริงๆ อาศัยเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น แต่เวลาเจริญสติจริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ความต้องการเข้ามาแทรก เข้ามาบิดเบือนเล็กๆ น้อยๆ ด้วยความหวังผลว่าให้ทำอย่างนั้น มีตัวตนเข้าไปแทรก เวลาที่ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานก็เข้าใจถูกต้อง แต่เวลาสติเกิดจริงๆ ไม่เป็นเหมือนอย่างที่ฟังแล้วเข้าใจ เพราะเหตุว่าอวิชชานั้นหลายขั้นมากมายเหลือเกิน กำลังฟังพิจารณาเหตุผลแล้วเข้าใจถูกเป็นญาณสัมปยุตต์ เป็นกุศลจิต ไม่ใช่อวิชชา แต่อวิชชานั้นไม่ใช่หมดไปด้วยการฟัง อวิชชายังมีกิจที่จะทำงานจริงๆ อีกมากมายหลายขณะ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้อบรมเจริญสติจนกระทั่งสามารถสำเหนียกสังเกตรู้จริงๆ ว่า ขณะนั้นจิตยังมีความต้องการ ยังมีตัวตนที่แฝงอยู่ ทำให้จงใจ หรือว่าประพฤติปฏิบัติคลาดเคลื่อนไปอย่างไรบ้าง

    เพราะฉะนั้น อวิชชานี้ก็กั้นได้หลายขั้น ถ้าไม่ฟังธรรม อวิชชาก็กั้นอยู่ตลอดเปรียบเหมือนลิ่มสลัก สำหรับอวิชชาสวะนี้จะละดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทด้วยอรหัตตมรรค

    ในวันหนึ่งๆ กามาสวะก็มีทุกขณะที่สติไม่เกิด ภาวสวะก็มี ทิฏฐาสวะก็มี อวิชชาสวะก็มี ไหลไปเป็นกระแสของจิตที่เป็นอกุศลอยู่เรื่อยๆ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป ถ้าเห็นกิเลสมากๆ อย่างนี้ ก็จะต้องเห็นด้วยว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นจะต้องมากอย่างไร แล้วก็จะต้องรู้ชัดอย่างไร

    ปปัญจสูทนีย์ อรรถกถามัชฌิมนิกาย มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคนั้นทรงรู้แล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อให้รู้

    ทรงรู้อะไรแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นนามขันธ์ใด รูปขันธ์ใดที่เกิดขึ้นปรากฏ พระผู้มีพระภาคทรงรู้แล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อให้รู้ ไม่ใช่เพื่อให้ไม่รู้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระผู้มีพระภาคนั้นทรงฝึกฝนแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อฝึกฝน

    ไม่ใช่ว่าพระผู้มีพระภาคไม่ได้อบรมสติปัฏฐาน แต่ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และทรงแสดงธรรมเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ให้ประพฤติปฏิบัติ ให้ฝึกฝน ให้เจริญ

    เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องของการเจริญ เป็นเรื่องของการอบรม

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระผู้มีพระภาคนั้นทรงสงบแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อความสงบทั้งปวง

    ท่านที่ยังเต็มไปด้วยกามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะนั้น ไม่ใช่ผู้สงบ เป็นผู้ที่กระสับกระส่ายยิ่งนักด้วยความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารัมณ์ พอใจในขันธ์ ในตา ในหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในการเห็น ในการได้ยิน ในทุกสิ่งทุกอย่างหมดทีเดียว ไม่ใช่เป็นผู้ที่สงบเลย แต่พระผู้มีพระภาคนั้นทรงสงบแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อความสงบทั้งปวง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระผู้มีพระภาคนั้นทรงข้ามพ้นแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อให้ข้ามพ้น

    คือ ข้ามพ้นจากภัยต่างๆ ของวัฏฏะ หรือว่าข้ามพ้นจากวัฏฏะ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระผู้มีพระภาคนั้นทรงปรินิพพานแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อปรินิพพาน

    ธรรมที่ทรงแสดงไม่ใช่เพียงเพื่อให้สัตว์โลกบรรลุคุณธรรมเป็นเพียงพระโสดาบันบุคคล แต่ให้ถึงกับเป็นพระอรหันต์ทีเดียว ซึ่งการบรรลุคุณธรรมที่ทำให้สงบทั้งปวงแล้วก็ปรินิพพานได้นั้น ก็ด้วยหนทางเดียวเท่านั้น คือ การเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป แล้วก็ละกิเลสเป็นขั้นๆ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระผู้มีพระภาคนั้นทรงดับเย็นแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อให้ดับเย็น

    นี่ก็เป็นการเจริญสติปัฏฐานเหมือนกัน

    สำหรับอาสวะ ๔ ที่ได้กล่าวถึง โลภเจตสิก ๑ ซึ่งเป็นกามาสวะและภวาสวะ ทิฏฐิเจตสิก ๑ ซึ่งเป็นทิฏฐาสวะ โมหเจตสิก ๑ ซึ่งเป็นอวิชชาสวะ เพียง ๓ เจตสิกที่ทำให้จิตไหลไปสู่กระแสของความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในขันธ์ และในความเห็นผิดต่างๆ แต่ในวันหนึ่งๆ กิเลสมากกว่านี้ ยังมีอีกมากนักที่เป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นภัย ทำความเศร้าหมองแก่จิตใจ

    ไม่ใช่ความบริสุทธิ์ผ่องแผ้วให้เกิดขึ้น และมีคนละมากๆ ด้วย

    ถ้ารู้จักตัวของท่านเองละเอียดว่ามีเรื่องจะต้องขัดเกลาละมากมายอย่างนี้ ก็เป็นเครื่องเตือนให้สติเกิดได้บ่อยๆ เหมือนกัน

    รู้ว่ามีมากดี หรือว่า มีมากแต่ไม่รู้

    ผู้ฟัง ขอให้อาจารย์อธิบายคำว่า ภวาสวะ

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่ละความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นพระอนาคามีบุคคล แต่ยังไม่หมดความยินดีพอใจในขันธ์ที่ไม่ใช่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ผู้ที่จะละภวาสวะได้ คือ พระอรหันต์ซึ่งท่านหมดกิเลสทั้งปวง ไม่มีกิเลสเหลืออีกเลย จะเห็นได้ว่า การละกิเลสต้องเป็นขั้นๆ การเจริญสติปัฏฐานก็ไม่ใช่ให้ละภวาสวะ หรือกามาสวะ หรืออวิชชาสวะ แต่ให้ละทิฏฐาสวะก่อน

    เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดเจริญสติบรรลุอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลละทิฏฐาสวะแล้ว ก็ยังมีกามาสวะ ยังมีภวาสวะ ยังมีอวิชชาสวะ ซึ่งแสดงให้เห็นความเหนียวแน่น ความหนาแน่นของโลภมูลจิต สราคจิตว่ามีประเภทต่างๆ กัน

    ผู้ที่เป็นปุถุชนเจริญสติก็ระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิตที่เป็นกามาสวะได้ ที่เป็นทิฏฐาสวะได้ เวลาที่ผู้นั้นบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ยังมีกามาสวะ ยังมีภวาสวะ ยังมีอวิชชาสวะ ก็ระลึกรู้ต่อไปอีกจนกว่าจะเป็นพระสกทาคามีบุคคล ก็ระลึกรู้ลักษณะของกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะต่อไป จนกว่าจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล ก็หมดกามาสวะ แต่ยังมีภวาสวะและอวิชชาสวะที่จะให้ระลึกรู้ต่อไป

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเจริญสติ ท่านจะรู้ลักษณะของจิตเหล่านี้ได้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดเกิดขึ้น จิตประเภทไหนเกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าเหตุปัจจัยยังมีอยู่ ต้องเกิด อย่างทิฏฐาสวะยังไม่หมด เพราะเหตุว่ายังไม่ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ยังจะต้องมีทิฏฐาสวะเกิดขึ้นปรากฏเป็นโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ให้จิตสำเหนียกระลึกรู้ได้ จนกว่าจะดับหมดเป็นพระโสดาบัน แต่ยังมีปัจจัยของจิตประเภทอื่นเกิดขึ้น จิตประเภทนั้นก็เกิดขึ้นได้

    สำหรับภวาสวะนั้นก็เป็นความยินดีในขันธ์ ที่ไม่ใช่เป็นความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ผู้ฟัง เมื่อคราวที่แล้ว อาจารย์ได้อธิบายถึงความหมายของคำว่า เห็นรูปโดยความเป็นตน เห็นตนมีรูป เห็นรูปในตน เห็นตนในรูป เฉพาะข้อ ๒ ข้อ ๓ ข้อ ๔ หมายความถึงไปยึดมั่นนามขันธ์ทั้ง ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นตน เลยเข้าใจว่าตนนั่นแหละมีรูป หรืออะไรเช่นนี้

    นามขันธ์ ๔ ทั้งหมด ใน ๔ ข้อนี้เอานามทั้งนั้นมาเป็นตน บางท่านอธิบายว่าการที่ต้องพิจารณาเฉพาะนามอย่างนี้ เพราะว่าเมื่อตาเห็นสี ให้พิจารณาเฉพาะเห็น พิจารณาที่จิตเห็น อย่างนี้จะสงเคราะห์เข้ามาเป็นตนมีรูป เห็นรูปในตน อะไรอย่างนี้ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ทรงแสดงสักกายทิฏฐิไว้ไม่ใช่เพียง ๕ คือ ไม่ใช่ยึดถือรูปว่าเป็นตน เวทนาว่าเป็นตน สัญญาว่าเป็นตน สังขารขันธ์ว่าเป็นตน หรือวิญญาณว่าเป็นตนเท่านั้น แต่ยังทรงจำแนกไปถึง ๒๐ ประการ คือ ขันธ์ละ ๔ อย่าง

    ผู้ที่เจริญสติสามารถสำเหนียกรู้ลักษณะของสักกายทิฏฐิในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร บางท่านที่เริ่มระลึกรู้ลักษณะของรูปแต่ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนาม ก็เกิดความรู้สึกว่า สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นรูป แต่สักกายทิฏฐิยังอยู่ที่นามขันธ์ คือ ที่เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ที่ยังไม่ได้พิจารณาว่าเป็นนามธรรม ก็เห็นว่านามธรรม คือ เวทนา สัญญา สังขาร หรือวิญญาณ ในขณะนั้นเป็นตัวตนที่มีรูป (ซึ่งกำลังพิจารณานั้น) ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ไม่ใช่มีแต่นามขันธ์ ๔ แล้วสัตว์บุคคลนี้ยึดถือรูปขันธ์และนามขันธ์ ๔ ว่าเป็นตัวตน แต่เวลาที่พิจารณาเพียงบางสิ่งบางประการ เธอๆ ก็ยังแอบแฝงอยู่ที่ขันธ์อื่นที่ยังไม่ได้พิจารณา

    เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะที่กำลังพิจารณาระลึกรู้นามขันธ์หนึ่งนามขันธ์ใด เป็นต้นว่า จะระลึกรู้ลักษณะของวิญญาณขันธ์ว่าเป็นนามธรรม แต่ไม่ได้พิจารณารูปขันธ์ ก็ยึดถือว่า รูปขันธ์นั้นเป็นตัวตน และก็ยังมีความยึดถือต่อไปอีก แล้วแต่ว่าจะเป็นในข้อไหน

    ผู้ฟัง ที่ท่านให้กำหนดเฉพาะ พิจารณาเฉพาะขันธ์

    ท่านอาจารย์ ขอให้อ้างข้อความในพระไตรปิฎกสักแห่งหนึ่งที่ให้เจาะจงพิจารณาแต่เฉพาะว่า ทางตาให้รู้แต่เห็นไม่ให้รู้สี ทางหูให้รู้แต่ได้ยินไม่ให้รู้เสียง ทางจมูกให้รู้แต่กลิ่นไม่ให้รู้สภาพที่รู้กลิ่น ทางลิ้นให้รู้แต่รสไม่ให้รู้สภาพที่รู้รส ทางกายให้รู้แต่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ไม่ให้รู้สภาพที่รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ขอพยัญชนะข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ซึ่งก็ไม่มี

    ประการต่อไป เป็นอกุศลธรรมที่เป็น โอฆะ ๔

    ถ้าตราบใดยังไม่บรรลุอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคล ก็จะไม่พ้นไปจากห้วงน้ำของกิเลส ซึ่งตัวท่านก็จะพิจารณาได้ว่า ท่านมีแม่น้ำ หรือว่าห้วงน้ำที่จะกั้นท่านให้จมอยู่ ให้วนเวียนอยู่ในวัฏฏะมากมายสักเท่าไร หรือว่าลดลงไป ละคลายลงไปได้แล้ว

    สำหรับองค์ธรรม หรือสภาพธรรมที่เป็นโอฆะ ก็เหมือนกับอาสวะทั้ง ๔ คือ กาโมฆะ ๑ ภโวฆะ ๑ ทิฏโฐฆะ ๑ อวิชโชฆะ ๑ เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่กามาสวะ หรือกาโมฆะเกิดขึ้น ทำให้ท่านไม่พ้นไปจากการเกิดและการตาย ภวาสวะ หรือ ภโวฆะเกิดขึ้น ไม่ทำให้ท่านพ้นไปจากการเกิดและการตาย เช่นเดียวกับทิฏโฐฆะ และทิฏฐาสวะ อวิชโชฆะ และอวิชชาสวะ

    ใน ปุคคลปัญญัติปกรณ์ อภิธรรมปิฎก ได้กล่าวถึงบุคคลจมน้ำ ๗ จำพวก ซึ่งใน ๗ จำพวกนี้ เป็นพระอริยบุคคล ๔ จำพวก และเป็นผู้ที่ไม่ใช่ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลอีก ๓ จำพวก

    สำหรับผู้ที่เป็นอริยบุคคล ๔ จำพวกนั้น คือ

    พระโสดาบันบุคคลนั้นเปรียบเหมือนกับบุคคลที่จมน้ำ แล้วโผล่ขึ้นเหลียว มองดู

    สำหรับบุคคลที่เป็นพระอริยะขั้นต่อไป คือ พระสกทาคามีบุคคลนั้นเปรียบเหมือนบุคคลที่โผล่ขึ้น แล้วก็ว่ายต่อไป

    สำหรับพระอริยบุคคลขั้นต่อไป คือ พระอนาคามีบุคคลนั้นเปรียบเหมือนบุคคลที่โผล่ขึ้น แล้วว่ายไปถึงที่ตื้นพอที่จะหยั่งได้

    ส่วนพระอรหันต์นั้น ซึ่งเป็นพระอริยบุคคลขั้นที่ ๔ เปรียบเหมือนบุคคลที่โผล่ขึ้น แล้วว่ายข้ามไปถึงฝั่ง ยืนอยู่บนบก จึงเป็นผู้พ้นจากห้วงโอฆะของความเกิด ความตาย

    ผู้ที่ยังไม่บรรลุเป็นพระอริยบุคคล มี ๓ จำพวก คือ

    ๑. ผู้ที่จมแล้วไม่โผล่

    ไม่โผล่เลยยังจมอยู่ใต้น้ำ ได้แก่ คนที่เกิดมาแล้วก็แวดล้อม พัวพัน หมกมุ่นอยู่แต่เฉพาะในอกุศลธรรม ก็เป็นบุคคลที่จมแล้วไม่โผล่

    ๒. ส่วนอีกบุคคลหนึ่ง คือ บุคคลจำพวกที่ ๒ นั้นโผล่ขึ้น แล้วก็จมลงอีก ได้แก่ ผู้ที่โผล่ขึ้นทำกุศลธรรม แต่ไม่เจริญกุศลอยู่เป็นนิจ

    ๓. ส่วนบุคคลอีกประเภทหนึ่งนั้น ก็เป็นผู้ที่โผล่ขึ้นจากน้ำ แล้วก็หยุดอยู่ ไม่จมลงไปอีก ได้แก่ บุคคลที่เจริญกุศลแล้วไม่ประมาท เพียรเจริญกุศลสม่ำเสมอตลอดไป จนกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคล


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    8 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ