รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 077


    ตอนที่ ๗๗

    ไม่ต่างโดยองค์ธรรม แต่ทำกิจต่างกัน คันถะทำกิจผูกไว้ อุปาทานยึดมั่นทีเดียว บางทีก็จะคลายแล้วแต่ว่า ยังไม่ไป ยังผูกไว้ไม่ถึงกับหนาแน่นเหนียวแน่นจริงๆ ว่าข้อปฏิบัติผิดนั้นต้องถูก ยากที่จะกล่าวว่าอย่างใดแน่นกว่าไม่แน่นกว่า เพราะว่าเป็นเรื่องของนามธรรมฉันก็ทำกิจอย่างนี้ด้วยทำกิจอย่างนั้นด้วย

    ผู้ฟัง การยึดมั่นในการพิจารณาวิการรูป ๓ หรือวิการรูป ๕ ว่าจะเป็นทางให้เห็นไตรลักษณ์ได้นั้น เป็นสีลัพพตุปาทาน หรือว่าเป็นสีลัพพตปรามาสได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ วิการรูปทั้ง ๓ คือ สภาพที่เบา ที่อ่อน ที่ควรแก่การงานนี้ มีมหาภูตรูปเป็นปทัฏฐาน มีท่านผู้ใดที่สติระลึกรู้ลักษณะของวิการรูปได้บ้าง

    ผู้ฟัง เขาให้พิจารณานั่ง นอน ยืน เดิน

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังกล่าวว่า มีท่านที่ให้รู้รูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน แล้วก็กล่าวว่า รูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดินนั้นเป็นวิการรูป เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังข้องใจ จึงได้ถามอย่างนี้

    จะต้องตรวจสอบทานกับความเป็นจริงว่า รูปนั่งซึ่งเป็นท่านั่ง มีหรือไม่มี เป็นปรมัตถ์ หรือไม่ใช่ปรมัตถ์ ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ ทรงอยู่ตั้งอยู่ในลักษณะอาการหนึ่งอาการใด เพราะเหตุว่ามีการประชุมรวมกันของรูปหลายๆ รูป จึงทำให้มีลักษณะอาการที่ทรงอยู่ตั้งอยู่ในลักษณะนั้น แต่ว่าถ้ากระจัดกระจายออกแต่ละรูป ไม่มีรูปนั่งท่าเล็กๆ ไม่มีท่านอนท่าเล็กๆ ไม่มีรูปยืนท่าเล็กๆ ไม่มีรูปเดินท่าเล็กๆ ในแต่ละรูปเลย แต่ว่ามีลักษณะของรูปปรมัตถ์ ไม่ว่าจะกระจัดกระจายแตกย่อยอย่างไร ก็จะต้องมีสภาพของรูปเป็นปรมัตถ์ เป็นสภาพของรูปที่มีจริง ที่ไม่ใช่นั่ง ไม่ใช่นอน ไม่ใช่ยืน ไม่ใช่เดิน นั่นเป็นรูปปรมัตถ์

    เพราะฉะนั้น ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน เป็นแต่เพียงรูปหลายๆ รูปที่มาประชุมรวมกัน ทรงอยู่ตั้งอยู่ในลักษณะอาการเช่นนั้น แต่ไม่ใช่วิการรูป

    สีลัพพตปรามาสกายคันถะ หมายความถึงการลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิดไปจากมรรคมีองค์ ๘ แล้วยังเข้าใจว่าสามารถจ้องที่ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดินนั้น จนกระทั่งดับเป็นอุทยัพพยญาณได้ ท่านผู้ฟังเคยถามว่า ผู้ที่ประจักษ์สภาพเช่นนั้นแล้วก็กล่าวว่าเหมือนตกบันได ใจหายวูบ การประจักษ์ไตรลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ คือ เห็นที่กำลังมี สีที่กำลังปรากฏ ได้ยินกับเสียงที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ตามปกติ อันไหนเป็นปัญญาแท้ เป็นปัญญาที่รู้ชัดจริงๆ ในสิ่งที่มีจริงแล้วก็เกิดดับจริงๆ เป็นปกติด้วย

    เกิดดับตามปกติไม่ต้องไปสร้างให้วูบเหมือนตกบันได และเป็นอะไรก็ไม่ทราบที่ดับ จะเป็นนามหรือว่าจะเป็นรูปไหน เพราะกำลังดูรูปนั่ง หรือรูปนอน หรือรูปยืน หรือรูปเดิน แล้วรู้สึกว่ารูปนั้นดับไป ใจก็หายวูบ แต่ปกติธรรมดาไม่รู้นามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเกิดขึ้นแล้วดับไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ปัญญาไหนเป็นปัญญาแท้ เป็นปัญญาจริง เป็นปัญญาที่รู้ชัด ที่เป็นอริยสัจธรรม เพราะเหตุว่ากำลังเห็น แล้วไม่รู้ว่าเห็นดับ สีกำลังปรากฏ ไม่รู้ว่าสีดับ ได้ยินเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เสียงปรากฏแล้วก็ดับไป แต่ไม่รู้อย่างนี้ จะชื่อว่าเป็นปัญญาได้ไหม

    ได้เคยสนทนากับอุบาสิกาหลายท่านซึ่งได้ปรารภให้ฟังว่า แต่ก่อนในอดีตนั้นเคยอยู่สงบในถ้ำตามป่า จิตใจผ่องใส รู้สึกเหมือนกับว่าได้รู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรม ไม่มีอะไรติดขัดเลย แต่พอกลับออกมาจากถ้ำเป็นปกติธรรมดาไม่รู้อะไรเลย ทางตาก็ไม่รู้ ทางหูก็ไม่รู้ ทางจมูกก็ไม่รู้ ทางลิ้นก็ไม่รู้ ทางกาย ทางใจตามปกติไม่รู้ แล้วอย่างนี้จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามที่กำลังเห็น สีที่กำลังปรากฏ นามที่กำลังได้ยิน เสียงที่กำลังปรากฏได้ไหม เพราะเหตุว่าไม่เคยรู้ชีวิตปกติธรรมดา แต่ดูเหมือนกับว่า แทงตลอดธรรมปรุโปร่งทีเดียวขณะที่อยู่ในถ้ำซึ่งเป็นสถานที่วิเวก

    เพราะฉะนั้น ญาณไม่ผิดปกติ คนอื่นไม่สามารถรู้ได้ว่า คนนี้กำลังถึงญาณขั้นนั้น เพราะกำลังผิดปกติอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นไม่ใช่ปัญญา ถ้าเป็นปัญญาต้องรู้ชัดในลักษณะของนามและรูป แล้วแต่ว่าจะเป็นญาณขั้นไหน ถ้าเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญารู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมทีละอย่างที่กำลังปรากฏในขณะนั้น โดยเลือกไม่ได้ว่าจะรู้ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย ปัญญารู้ชัดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทางมโนทวารในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม แล้วแต่ว่าบุคคลหนึ่งจะรู้นามอะไร กี่ชนิด จะรู้รูปอะไรกี่ชนิด ที่กำลังปรากฏเป็นปกติในขณะนั้น

    นี่เป็นเพียงนามรูปปริจเฉทญาณ ยังไม่ได้สามารถแทงตลอดไปถึงอริยสัจจธรรม เพราะว่าอินทรีย์ยังไม่แก่กล้าที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในขณะนั้น แต่ได้อบรมอินทรีย์มาเพียงที่จะให้รู้ชัดในลักษณะของนามและรูปที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ

    ทำไมเวลาที่ระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปเพียงบางประการแล้วยังไม่เห็นภัยเลย อย่างท่านที่กำลังระลึกรู้ลักษณะที่เย็น เห็นโทษเห็นภัยไหม ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น ยังไม่เป็นโทษ ยังไม่เป็นภัย เพราะอะไร เพราะว่าไม่ใช่อุทยัพพยญาณ รูปดับก็ดับ ไม่เห็นเป็นโทษไม่เห็นเป็นภัย เพราะความอุ่นใจว่าตัวตนยังมีอยู่ที่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ยังไม่ได้พิจารณา

    เพราะฉะนั้น ทันทีที่ระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดไม่พอ เพราะเหตุว่ายังมีเยื่อใยเต็มที่ในขันธ์อื่น ไม่ได้ประจักษ์จริงๆ ว่าไม่มีอะไร มีแต่สภาพของนามที่ไม่ใช่ตัวตน เกิดแล้วก็ดับ หรือว่ารูปที่ไม่ใช่ตัวตนเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าประจักษ์อย่างนั้นจริงๆ ไม่หลงเหลือสักกายทิฏฐิ เพราะว่าพิจารณานามรูปทั่วหมดแล้ว ปัญญาที่แทงตลอดในความเกิดขึ้นและดับไปทำให้เห็นว่าเป็นโทษ เห็นว่าเป็นภัย ประจักษ์ว่าลักษณะนั้นเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมจริงๆ ได้

    แต่เวลานี้ เย็นเมื่อสักครู่นี้ก็ดับ เสียงเมื่อสักครู่นี้ก็ดับ ได้ยินเมื่อสักครู่นี้ก็ดับไป เยื่อใยตัวตนที่มีอยู่ที่นามอื่นรูปอื่น ไม่เห็นเป็นโทษเป็นภัย เพราะอุ่นใจว่าตัวตนยังอยู่เต็ม

    ถ้าท่านได้ประจักษ์ลักษณะของนามและรูปที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ โลกทั้งโลกไม่มี มีแต่ลักษณะของนามชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นปรากฏ รูปชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นปรากฏ ทีละนาม ทีละรูป โลกที่เคยติดกันแน่นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่มีเลย ประจักษ์สภาพที่ไม่ใช่เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ทีละนาม ทีละรูป อย่างอื่นไม่มีเหลือเลยที่จะควบคุมรวมกันเป็นกลุ่ม เป็นก้อน เป็นโลก เป็นแท่ง ใจจะเป็นอย่างไร หลายอย่าง เพราะว่าอะไร เพราะมีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดจิตแต่ละชนิด ไม่มีใครไปดัดแปลง ประคับประคอง เป็นอัตตาที่จะไปฝ่าฝืนทำอย่างโน้นทำอย่างนี้ขึ้นได้เลยในขณะนั้น แล้วแต่ว่าจิตประเภทใดจะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยใด สภาพธรรมใดเกิดแล้วก็ต้องดับไป พร้อมหรือยังที่จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป ถ้าไม่พร้อมเพราะอะไร เพราะว่ารู้ยังไม่ทั่ว ยังไม่ชิน ยังไม่เป็นปกติ ยังไม่ใช่ว่าที่ไหนก็ได้ นามไหนก็ได้ รูปไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ยังไม่พร้อมก็มี อย่างบางท่านสมบูรณ์เพียงถึงขั้นของนามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคหญาณ สัมมสนญาณ เพราะเหตุว่าปัญญาสามารถที่จะไม่หวั่นไหว รู้ชัดต่อไปในนามและรูปที่เกิดตรงปัจจัยที่เกิดและในการต่อกันของนามและรูปที่เกิดดับ แต่ว่าถ้ายังไม่ทั่ว จะไม่ถึงอุทยัพพยญาณเลย ถ้ายังไม่เป็นปกติทั่วไปหมดไม่ว่าในสถานที่ใด นามและรูปจะละเอียดสักเท่าไหร่ก็ตาม ติดประเภทไหนชนิดไหน จะเป็นมานะจะเป็นอะไรก็ตามที่เป็นปกติของตนเองที่มีปัจจัยแล้วพิจารณายังไม่ทั่วถึงตราบใด ยังไม่พร้อมสำหรับอุทยัพพยญาณ ไม่อย่างนั้นญาณก็คงไม่มีมากมายอย่างนี้

    สภาพของนามธรรมแต่ละชนิด รูปธรรมแต่ละชนิด ก็เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน อย่างเวทนาความรู้สึก กับจิต ก็เป็นธรรมคนละประเภท แต่สังขารธรรมหรือว่าธรรมใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย เป็นสังขารธรรม เกิดแล้วก็ดับไป นี่เป็นไตรลักษณะของสภาพธรรมทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นจิต หรือจะเป็นเจตสิก หรือว่าเป็นรูป ต้องมีลักษณะ สีไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น สีก็ดับ เสียงก็ดับ กลิ่นก็ดับ สภาพที่คิดก็ดับ สภาพที่เป็นสุขก็ดับ สภาพที่เป็นทุกข์ก็ไม่ใช่สุข คนละลักษณะ ทุกข์เกิดขึ้นแล้วดับไป


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    2 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ