รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 045


    ตอนที่ ๔๕

    บุคคลในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อสุขแก่ชนหมู่มาก ยังประชุมชนมากให้ตั้งอยู่ในธรรมที่ควรรู้ เป็นอริยะ ได้แก่ ความเป็นผู้มีกัลยาณธรรม ความเป็นผู้มีกุศลธรรม ๑

    บุคคลนั้นย่อมจำนงเพื่อตรึกเรื่องใด ย่อมตรึกเรื่องนั้นได้ ย่อมไม่จำนงเพื่อตรึกเรื่องใด ย่อมไม่ตรึกเรื่องนั้นได้ ย่อมจำนงเพื่อดำริเหตุที่พึงดำริใด ย่อมดำริเหตุที่พึงดำรินั้นได้ ย่อมไม่จำนงเพื่อดำริเหตุที่พึงดำริใด ย่อมไม่ดำริเหตุที่พึงดำรินั้น เป็นผู้ถึงความชำนาญแห่งใจ ในคลองแห่งวิตกทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้ ๑

    เป็นผู้มีปกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยากซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ๑

    กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ๑

    เมื่อได้ฟังโดยตรงจากพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ วัสสการพราหมณ์ก็ได้กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่เคยมีมาแล้ว พระโคดมผู้เจริญตรัสคำนี้ดีแล้ว ข้าพระองค์จะจำไว้ซึ่งพระโคดมผู้เจริญว่า ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แท้จริง

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ ท่านกล่าววาจารับสมอ้างแน่แท้แล และเราจักพยากรณ์แก่ท่าน แท้จริงเราเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อสุขแก่ชนหมู่มาก ยังประชุมชนหมู่มากให้ตั้งอยู่ในญายธรรมอันประเสริฐ คือ ความเป็นผู้มีกัลยาณธรรม ความเป็นผู้มีกุศลธรรม

    บุคคลใดรู้แจ้งหนทางอันจะปลดเปลื้องสัตว์ทั้งปวงเสียจากบ่วงแห่งมัจจุ ประกาศญายธรรมอันเกื้อกูลแก่เทวดาและมนุษย์ อนึ่งชนเป็นอันมากย่อมเลื่อมใสเพราะเห็นหรือสดับบุคคลใด เราเรียกบุคคลนั้นซึ่งเป็นผู้ฉลาดต่อธรรมอันเป็นทางและมิใช่ทาง ผู้ทำกิจเสร็จแล้ว หาอาสวะมิได้ เป็นผู้รู้แล้ว มีสรีระในภพเป็นที่สุดว่า เป็นมหาบุรุษ

    ไม่จำกัดว่าเฉพาะพระผู้มีพระภาค ถ้าเป็นพระผู้มีพระภาคซึ่งเป็นมหาบุรุษยิ่ง ก็ใช้คำว่า “พระมหาบุรุษ” หมายความถึงเฉพาะพระผู้มีพระภาค เพราะทรงเป็นมหาบุรุษยิ่งกว่ามหาบุรุษทั้งหลาย คำว่ามหาบุรุษนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะพระผู้มีพระภาคพระองค์เดียว แม้แต่ผู้หมดกิจ สิ้นกิเลส สิ้นภพชาติ ก็เป็นมหาบุรุษด้วย

    ผู้ฟัง คำว่า รูป หมายความว่าเสียงก็เป็นรูป กลิ่นก็เป็นรูป รสก็เป็นรูป เย็น ร้อน อ่อน แข็ง อะไรก็เป็นรูป ก็มีแต่รูปกับนาม ถ้าพูดรวมว่า สภาวธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นไม่มีอะไรนอกจากรูปกับนามแล้ว จะรวมลงเป็นรูปเดียวนามเดียวได้ไหม คือลักษณะของรูปที่เกิดนี้ อย่างลักษณะของรูปยืน ก็รู้ลักษณะว่ารูปยืน รูปนั่ง ก็รู้ลักษณะว่ารูปนั่ง

    ท่านอาจารย์ ในขณะที่กำลังยืนเดี๋ยวนี้มีลักษณะของรูปอะไร ต้องมีลักษณะ มีมหาภูตรูป ๔ เป็นใหญ่เป็นประธาน ได้แก่ ธาตุดิน มีลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง ธาตุน้ำ มีลักษณะที่ไหลหรือเกาะกุม ธาตุไฟ มีลักษณะที่เย็นหรือร้อน ธาตุลม มีลักษณะที่ไหวหรือเคร่งตึง นี่เป็นรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน และก็ปรากฏให้รู้ได้ทางกาย ๓ รูป รู้ลักษณะของรูปโดยนัยของอิริยาบถบรรพ ก็จะมีเย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ตึง หรือไหวบ้าง

    ตามปกติ การระลึกรู้ลักษณะของรูปต้องมีลักษณะของรูปให้ระลึกได้ ที่อิริยาบถ คือ นั่งอยู่ ยืนอยู่ เดินอยู่ นอนอยู่ก็ตาม ก็จะต้องมีลักษณะของรูปปรากฏให้สติระลึก ให้รู้ชัด แล้วก็ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน เวลาที่เดิน ถ้าท่านผู้ฟังจะฟังเรื่องของธรรมโดยละเอียดจะได้ยินว่า ที่รูปนั้นจะไหวไปได้ก็เพราะจิตตชวาโยธาตุ คือธาตุลมที่เกิดเพราะจิต ที่ต้องการจะไปทำให้รูปนั้นไหวไป ด้วยกำลังของธาตุลมที่แผ่ไปทำให้รูปนั้นไหวไปได้ ซึ่ง รูป มีคำจำกัดความที่เป็นลักษณะของรูป คือ รูปทุกรูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปทุกรูปไม่รู้อารมณ์อะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นรูปที่กายของสัตว์ ของบุคคล หรือว่าของสิ่งที่ประชุมรวมกันเป็นวัตถุสิ่งของใดๆ ก็ตาม รูปทั้งหมดไม่ใช่สภาพรู้ แต่ว่าที่กายของสัตว์ ของบุคคล จะมีการเคลื่อนไปไหวไป ก็เป็นเพราะจิตตชวาโยธาตุ ซึ่งได้แก่ธาตุลมที่เกิดเพราะจิต ซึ่งธาตุลมเองก็มีลักษณะ เพราะฉะนั้นผู้ที่กำลังเดิน ระลึกที่กาย แล้วก็เห็นกายในกาย สติระลึกรู้ลักษณะของธาตุลม ต้องมีลักษณะที่เป็นรูปปรากฏ ไม่ใช่ว่ามีส่วนที่ยึดถือว่าเป็นท่าทาง หรือว่าเป็นร่างกาย แต่ว่าจะต้องเห็นกายในกาย คือรู้ในลักษณะส่วนรูปที่ทำให้เกิดสภาพที่ไหว ซึ่งเป็นลักษณะของธาตุลม ท่านอุปมาว่า การที่กายซึ่งเป็นรูปที่ไม่ใช่สภาพรู้จะเคลื่อนไหวไปได้นั้น ก็อุปมาเหมือนกับเรือสำเภาที่ลอยแล่นไปเพราะแรงของลม เรือนั้นไม่ได้รู้อะไรเลย ไม่ใช่สภาพรู้เลย แต่ว่าไปได้ด้วยกำลังแรงของลมฉันใด กายนี้ก็เหมือนกัน ที่จะเคลื่อนไหวไปได้ก็เพราะเหตุว่าธาตุลม ธาตุลมมีลักษณะไหวหรือตึง ซึ่งผู้ที่กำลังเดินอยู่ สติระลึกรู้ลักษณะของธาตุนั้น จะปรากฏลักษณะของธาตุนั้น แต่ว่าต้องเพิกอิริยาบถ เพราะว่าจะต้องระลึกรู้ลักษณะของรูปที่กำลังปรากฏทีละลักษณะ แล้วแต่ว่าจะระลึกรู้ลักษณะที่ปรากฏเป็นสภาพแข็ง หรือว่าลักษณะที่ปรากฏเป็นสภาพเย็นคือเป็นธาตุไฟ หรือว่าลักษณะที่ปรากฏเป็นสภาพที่ไหวหรือนิ่งที่เป็นลักษณะของธาตุลม และท่านก็ยังอุปมาอีกว่าเหมือนกับ ธนูที่ลอยไปได้วิ่งไปได้แล่นไปได้ ด้วยกำลังของสายธนู ทั้งๆ ที่ลูกธนูนั่นก็เป็นแต่เพียงรูป แต่ว่าไหวไป ถูกผลักไป พุ่งไปได้ก็ด้วยกำลังของสายธนูฉันใด กายนี้ก็เหมือนกัน จะทรงอยู่ จะเคลื่อนไหวเป็นอิริยาปถบรรพ เป็นสัมปชัญญบรรพ ผู้ที่มีสติระลึกรู้ลักษณะของกาย เห็นกายในกายแล้วต้องรู้ลักษณะของรูป ต้องเพิกอิริยาบถออก แม้แต่ส่วนที่เป็นลมหายใจ แม้แต่ส่วนที่เป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง เป็นซากศพ จึงจะชื่อว่าเห็นกายในกาย ท่านยังอุปมาไว้อีกว่า เหมือนกับเกวียนซึ่งเดินไป ไม่มีโค ไม่มีคนขับเกวียน เกวียนอยู่เฉยๆ ไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น กายที่เป็นรูปก็เหมือนกัน ที่จะเคลื่อนไหวไปได้ก็เป็นเพราะธาตุลมที่เกิดขึ้นเพราะจิต ทำให้รูปนั้นไหวไป ธาตุลมอุปมาเหมือนกับโค จิตที่ต้องการจะไปนั้นก็เปรียบเหมือนกับคนขับ ผู้ที่มีสติระลึกรู้ลักษณะของกายในกาย จะต้องมีลักษณะของรูปแล้วแต่จะเป็นธาตุดิน หรือว่าธาตุไฟ หรือว่าธาตุลมก็ตาม ปรากฏให้รู้ตามความเป็นจริง เพิกอิริยาบท ปรากฏลักษณะของรูปตามความเป็นจริง ในพระธรรมวินัยแสดงไว้ชัด แต่ผู้ที่ไม่ศึกษาโดยละเอียดไม่มีทางที่ปัญญาจะรู้ถูกต้องตามความเป็นจริงได้ เพราะเหตุว่าการฟังธรรมไม่ได้ฟังด้วยมนสิการ เช่นท่านกล่าวว่า รูปที่ไหวไปเป็นด้วยกำลังของธาตุลม เมื่อธาตุนั้นปรากฏลักษณะที่ไหวปรากฏ ลักษณะที่ไหวนั้นเป็นรูปชนิดหนึ่ง ไม่ใช่อ่อน ไม่ใช่ร้อน ไม่ใช่เย็น ไม่ใช่แข็ง นี่เป็นการรู้ลักษณะของรูปตามความเป็นจริงที่ได้ทรงแสดงไว้ แต่ว่าฟังไม่ละเอียด ผิวเผิน การศึกษาก็ไม่ตรงกับเหตุผล เพราะฉะนั้นปัญญาก็ย่อมเจริญไม่ได้ ในรูป ๒๘ รูปนั้น ไม่มีรูปที่เป็นรูปนั่ง รูปยืน รูปนอน รูปเดิน ถ้าแตกย่อยกระจัดกระจายรูปออกไปเป็นส่วนเล็กๆ แต่ละรูป ลักษณะที่อ่อน ที่แข็ง ที่เย็น ที่ร้อน ที่ตึงไหวเคร่ง ที่ไหลเกาะกุม ก็ยังคงมีในรูปนั้นๆ แต่ละอณู แต่จะกล่าวไม่ได้เลยว่า รูปที่แตกย่อยออกละเอียดแล้วนั้น นั่ง หรือนอน หรือยืน หรือเดิน เพราะเหตุว่ารูปเหล่านั้นไม่มี แต่ถ้ารูปใดเป็นปรมัตถ์ ยังคงมีลักษณะของรูปนั้นอยู่ ไม่ว่าจะแตกย่อยกระจัดกระจายออกอย่างไรก็ตาม ลักษณะของรูปนั้นต้องมี แต่ถ้ารูปใดไม่มี แตกแยกไปกระจัดกระจายออกแล้วก็หาไม่ได้ เป็นต้นว่า รูปที่แตกย่อยไปจัดกระจายออกแล้วมีธาตุดิน มีธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา เกาะกุมรวมกันเป็นอวินิโภครูป เป็นรูปที่แยกออกจากกันไม่ได้ กล่าวไม่ได้เลยว่ารูปละเอียดนั้นนั่ง หรือนอน หรือยืน หรือเดิน เพราะว่านั่งนอนยืนเดินไม่ใช่รูป แต่เป็นลักษณะอาการของรูปที่ประชุมรวมกัน ทรงอยู่ ตั้งอยู่ แต่ว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้นปัญญาจะต้องแทงตลอด รู้ชัด กระจัดกระจายฆนะ (การที่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน) จึงจะประจักษ์อนัตตลักษณะคือสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของนามและรูปได้ ถึงแม้วิการรูปที่กาย จริงอยู่รูปวัตถุภายนอกไม่มีวิการรูป แต่ว่าที่กายของสัตว์ ของบุคคลนั้น มีวิการรูป รูปที่เบา ที่อ่อน ที่ควรแก่การงานของมหาภูตรูปเป็นเหตุให้มีการที่รูปนั้นนั่งได้ นอนได้ ยืนได้ เดินได้โดยไม่ใช่ลักษณะของวัตถุ แต่ว่ามีความเบา ความอ่อน ความควรแก่การงานในขณะที่นั่ง ในขณะที่นอน ในขณะที่ยืน ในขณะที่เดิน ถ้าแตกแยกกระจัดกระจายรูปที่กำลังประชุมรวมกันออกเป็นกลุ่มเป็นกลาปแล้ว แต่ละรูปก็จะมีอวินิพโภครูป ๘ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา ในสัตว์ในบุคคลนั้นก็ยังมีวิการรูป คือ รูปที่เบา ที่อ่อน ที่ควรแก่การงาน ของมหาภูตรูปรวมอยู่ด้วย กระจัดกระจายออกแล้วก็ยังมีในส่วนย่อย แต่ละอณู แต่ว่าไม่สามารถจะบัญญัติเอารูปนั่งเข้าไปใส่ในกลาปนั้นเพิ่มขึ้นมาอีก เอานอนก็ไปใส่ เอายืนเข้าไปใส่ เอาเดินเข้าไปใส่ นั่นไม่ใช่ เมื่อกำจัดกระจายรูปออกหมดแล้ว จะไม่มีรูปนั่งเล็กๆ จะไม่มีรูปนอนเล็กๆ จะไม่มีรูปยืนเล็กๆ จะไม่มีรูปเดินเล็กๆ เลย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    3 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ