รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 046


    ตอนที่ ๔๖

    ผู้ฟัง จะขอเรียนถามท่านอาจารย์ว่า สิ่งที่เกิดดับที่เกิดตลอดเวลามีเรียกว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้ก็อย่าไปเกิดไปดับดีไหมคะรู้ซะก่อนค่ะเกิดดับนั่นทีหลังไม่ต้องมีชื่อค่ะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏที่ถูกต้องตามความเป็นจริงซะก่อนชื่อก็ไม่ต้องรู้ค่ะไม่จำเป็นค่ะการเจริญสติปัฏฐานเป็นการรู้ลักษณะมีลักษณะจริงๆ ปรากฏ ทางตาบ้าง ทั้งหูบ้าง ทั้งจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง มีลักษณะให้สติระลึกรู้ เป็นของจริง ไม่ใช่ของปลอม ไม่ใช่ของเท็จ ไม่จำเป็นต้องสร้างขึ้นเลย เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องปกติรู้สิ่งที่มีตามปกติ แม้แต่ลมหายใจ ต้องไปสร้างลมหายใจหรือเปล่า ไม่ต้อง มีแล้วก็ระลึกได้ เป็นสติปัฏฐาน

    ในคราวก่อนได้กล่าวถึงข้อความในวิสุทธิมรรค ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินิเทส มีข้อความว่า

    ถามว่า ลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการอะไร อะไรปิดบังไว้

    ตอบว่า อนิจจลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการถึงความเกิดขึ้น และความดับ และเพราะสันตติบังไว้

    ทุกขลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการถึงการบีบคั้นเนืองๆ และอิริยาบถปิดบังไว้

    อนัตตลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการถึงการแยกธาตุต่างๆ และเพราะ ฆนะปิดบังไว้

    เมื่อพิจารณาความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปแล้ว และสันตติขาดไป อนิจจลักษณะย่อมปรากฏตามความเป็นจริง

    เมื่อมนสิการถึงความบีบคั้นเนืองๆ และเพิกอิริยาบถเสียได้ ทุกขลักษณะก็ปรากฏตามความเป็นจริง

    เมื่อพรากธาตุต่างๆ ออกจากกัน และพรากฆนะได้ อนัตตลักษณะก็ปรากฏตามความเป็นจริง

    ไม่ใช่เพียงแต่ข้อความในวิสุทธิมรรคเท่านั้นที่กล่าวถึงการเพิกอิริยาบถ ใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ นันทโกวาทสูตร มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณ-ฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นพระมหาปาชาบดีโคตมีพร้อมด้วยภิกษุณีประมาณ ๕๐๐ รูป เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้ว ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงโอวาทสั่งสอนพวกภิกษุณี จงรับสั่งแสดงธรรมแก่พวกภิกษุณีเถิด

    ซึ่งในที่สุดพระผู้มีพระภาคก็ได้มีพระดำรัสให้ท่านพระนันทกะแสดงธรรมกับภิกษุณี ข้อความที่ท่านพระนันทกะแสดงกับภิกษุณีทั้งหลายนั้น เป็นเรื่องของจักษุไม่เที่ยง โสตไม่เที่ยง ฆานไม่เที่ยง ชิวหาไม่เที่ยง กายไม่เที่ยง มโนไม่เที่ยง รูปไม่เที่ยง เสียงไม่เที่ยง เป็นต้น คือ ทั้งอายตนะภายในและอายตนะภายนอก

    ข้อความที่พระท่านนันทกะแสดงธรรมซึ่งเป็นคำอุปมา มีว่า

    ดูกร น้องหญิงทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ฉลาด ฆ่าโคแล้วใช้มีดแล่โคอันคมชำแหละโค แยกส่วนเนื้อข้างใน แยกส่วนหนังข้างนอกไว้ ในส่วนเนื้อนั้น ส่วนใดเป็นเนื้อล่ำในระหว่าง เอ็นในระหว่าง เครื่องผูกในระหว่าง ก็ใช้มีดแล่โคอันคมเถือแล่คว้านส่วนนั้นๆ ครั้นแล้วคลี่ส่วนหนังข้างนอกออก เอาปิดโคนั้นไว้ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า โคตัวนี้ประกอบด้วยหนังผืนนี้ เหมือนอย่างเดิมนั่นเอง

    ดูกร น้องหญิงทั้งหลาย คนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคที่กล่าวนั้น ชื่อว่ากล่าวชอบหรือหนอแล

    ภิกษุณีกล่าวตอบว่า

    หามิได้ เจ้าข้า

    ท่านพระนันทกะถามว่า

    นั่นเพราะเหตุไร

    ภิกษุณีตอบว่า

    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เพราะคนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ฉลาดโน้น ฆ่าโคแล้ว ใช้มีดแล่โคอันคมชำแหละโค แยกส่วนเนื้อข้างใน แยกส่วนหนังข้างนอกไว้ ในส่วนเนื้อนั้น ส่วนใดเป็นเนื้อล่ำในระหว่าง เอ็นในระหว่าง เครื่องผูกในระหว่าง ก็ใช้มีดแล่โคอันคมเถือ แล่คว้านส่วนนั้นๆ ครั้นแล้วคลี่ส่วนหนังข้างนอกออก เอาปิดโคนั้นไว้ แม้เขาจะกล่าวอย่างนี้ว่า โคตัวนี้ประกอบด้วยหนังผืนนี้เหมือนอย่างเดิมนั่นเอง ก็จริง ถึงกระนั้น โคนั้นก็แยกกันแล้วจากหนังผืนนั้น

    ท่านพระนันทกะกล่าวต่อไปว่า

    ดูกร น้องหญิงทั้งหลาย เราเปรียบอุปมานี้ เพื่อให้เข้าใจเนื้อความชัด เนื้อความในอุปมานั้น มีดังต่อไปนี้

    ดูกร น้องหญิงทั้งหลาย ข้อว่าส่วนเนื้อข้างในนั้น เป็นชื่อของอายตนะภายใน ๖ ส่วนหนังข้างนอกนั้น เป็นชื่อของอายตนะภายนอก ๖ เนื้อล่ำในระหว่าง เอ็นในระหว่าง เครื่องผูกในระหว่างนั้น เป็นชื่อของนันทิราคะ มีดแล่โคอันคมนั้น เป็นชื่อของปัญญาอันประเสริฐ ซึ่งใช้เถือ แล่ คว้านกิเลสในระหว่าง สังโยชน์ในระหว่าง เครื่องผูกในระหว่างได้

    อันนี้เหมือนกับการเพิกอิริยาบถไหม มีโค ๑ ตัว แต่ยังไม่ได้กระจัดกระจายส่วนต่างๆ ของโคนั้นออกเลย เพราะยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปที่ประชุมรวมกัน แต่เมื่อใดที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป ปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามของรูป แล้วก็แยกส่วนต่างๆ ที่เป็นภายใน ได้แก่ อายตนะภายใน ส่วนหนังโคที่หุ้มไว้ภายนอก ก็ได้แก่อายตนะภายนอก สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์

    ทุกท่านที่ยังไม่เคยเจริญสติปัฏฐานเลย ติดกันหมดทั้งอายตนะภายในอายตนะภายนอก แยกได้ไหม ขณะที่กำลังเห็นมีอายตนะภายใน มีอายตนะภายนอก ขณะที่กำลังได้ยิน ได้ยินเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นจิตที่รู้ทางหู เป็นโสตายตนะ ส่วนเสียงก็เป็นสัททายตนะ เป็นอารมณ์ภายนอก ไม่ใช่อย่างเดียวกันเลย ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของเห็นกับสีทางตา ก็ไม่สามารถแยกอายตนะภายในกับภายนอกได้ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของได้ยินว่า ต่างกับเสียงที่ปรากฏทางหู ก็ไม่สามารถแยกอายตนะภายในกับภายนอกได้

    เพราะฉะนั้น ก็ติดกันแน่นหมด ตลอดทุกขณะเรื่อยมา ไม่ว่าจะเห็น ไม่ว่าจะได้ยิน ขณะนั้นเป็นโคตัวหนึ่ง ซึ่งความจริงแล้วก็มีส่วนต่างๆ ซึ่งปัญญาต้องแยกส่วนต่างๆ นั้น รู้ชัดตั้งแต่ส่วนที่เป็นหนังที่ปกคลุมไว้ภายนอก กับส่วนเนื้อต่างๆ ที่เป็นภายใน ถ้าปัญญาไม่รู้ชัดอย่างนี้ ก็ปรากฏเป็นโค ๑ ตัว

    นี่พูดถึงโค แต่ตัวของท่านเองเหมือนกันไหม ไม่ได้ต่างกันเลย มีข้อความอุปมาว่า เวลาที่เห็นโคเดินหรือว่าเกวียนเดินไป มีโคเทียมและก็มีคนขับ ก็ปรากฏเหมือนกับโคที่ลากเกวียนเดินไป แต่ถ้าปัญญารู้ชัดจริงๆ โคก็ไม่มี มีแต่ส่วนต่างๆ ที่ประชุมรวมกันเนื้อเอ็นเนื้อล่ำต่างๆ แล้วก็มีหนังปกคลุมหุ้มไว้ เมื่อโคก็ไม่มีแล้ว เดินจะมีได้ไหม ไม่มี แต่ที่ปรากฏเห็นว่าโคกำลังเดิน เกวียนกำลังเดินไป ก็เพราะเหตุว่าส่วนต่างๆ นี้ประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เมื่อปัญญายังไม่รู้ชัด ยังไม่รู้ว่าแท้จริง โคก็ไม่มี เกวียนก็ไม่มี เป็นแต่เพียงที่ประชุมกันเป็นกลุ่มก้อน ทรงอยู่ ตั้งอยู่ ในลักษณะอย่างใดก็เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น ตราบใดที่ปัญญายังไม่รู้ชัดในลักษณะของนามของรูปที่ประชุมรวมกัน นั่นเป็นเรื่องโคเรื่องเกวียนฉันใด เรื่องของแต่ละบุคคลก็เหมือนกัน ปรากฏ ทรงอยู่ ตั้งอยู่ มีทั้งอายตนะภายในมีทั้งอายตนะภายนอก และก็มีความรู้สึกว่านั่งอยู่ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าปัญญายังไม่รู้ชัดเลยในลักษณะของรูปแต่ละรูป นามแต่ละนาม ตามความเป็นจริง จึงคิดว่ากำลังนั่งอยู่ ยังไม่ได้เพิกอิริยาบถ เพราะเหตุว่าปัญญายังไม่รู้ชัดในลักษณะของรูปที่ประชุมรวมกันในลักษณะของนาม ต่อเมื่อใดที่ปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแต่ละลักษณะ รู้ชัดในลักษณะของรูปแต่ละรูปที่ปรากฏแล้วก็ดับไป ไม่ปรากฏสภาพความเป็นสัตว์เป็นบุคคลเลย ในขณะนั้นเมื่อบุคคลก็ไม่มี แล้วนั่งจะมีได้อย่างไร แล้วนอนจะมีได้อย่างไร แล้วยืนแล้วเดินจะมีได้อย่างไร

    บางท่านยังยึดมั่นในความเห็นเรื่องรูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน ก็ไม่ทราบว่าพระธรรมส่วนนี้จะทำให้ท่านละทิ้งความเห็นที่คิดว่ามีรูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดินได้ไหม ในเมื่อได้ทรงแสดงไว้แล้วว่า ไม่มีแม้แต่สัตว์ แม้แต่บุคคล เป็นแต่เพียงลักษณะของนามของรูปที่เกิดขึ้นแล้วดับไปแต่ละลักษณะเท่านั้นเอง กระจัดกระจายออกแล้วก็เป็นรูปแต่ละรูป นามแต่ละนาม เมื่อเป็นรูปแต่ละรูป เมื่อเป็นนามแต่ละนาม คนก็ไม่มี

    เพราะสติไม่ระลึกรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏนี้เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ส่วนที่รู้ว่าเป็นคนนั้นเป็นนามที่เกิดต่อจากการเห็นสีที่ปรากฏทางตา คนละลักษณะ เหมือนกับโค มีหนังหุ้มอยู่ ไม่เคยแยกอายตนะภายในกับอายตนะภายนอกเลย เห็นกับสีปนกัน เสียงจะได้ยินปนกัน ทุกอย่างไป แต่ว่าเวลาที่แยกอายตนะออกเป็นส่วนภายนอก พิจารณาสีไม่ใช่เห็น พิจารณาเสียงไม่ใช่ได้ยิน คนละลักษณะกัน เพราะฉะนั้นก็ไม่มีความสงสัยในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทั้งตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ว่าขณะใดเป็นภายนอก เป็นรูปที่ปรากฏ ไม่ใช่เป็นสภาพรู้ ซึ่งเป็นอายตนะภายใน ถ้าปัญญารู้อย่างนี้แล้วก็ไม่มีอะไรปิดบัง แต่ถ้าไม่รู้อย่างนี้ก็ไม่ได้แยกส่วนหนังออกจากตัวโค ไม่ได้แยกเอ็น ไม่ได้แยกส่วนต่างๆ ของโคเลย ก็รวมประชุมติดกันเป็นโคนั่ง โคนอน โคยืน โคเดิน แต่ว่าความจริงเมื่อโคยังไม่มีแล้ว นั่งก็มีไม่ได้ นอนยืนเดินก็มีไม่ได้ทั้งนั้น จึงชื่อว่า “เพิกอิริยาบถ”

    ถ้าไม่สามารถที่จะประชุมรวมกันให้ยึดถือว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล ก็พิจารณาลักษณะของนามรูปที่ปรากฏตามความเป็นจริง แต่ละอย่าง ไม่ปะปนกัน เพราะการเห็นทุกข์นั้นไม่ใช่เห็นแต่ทุกขเวทนา สุขเวทนามีไหม เที่ยงไหม ต้องละการยึดถือว่าเป็นตัวตนไหม สุขเวทนาก็เป็นของจริงซึ่งจะต้องรู้แล้วละการยึดถือว่าเป็นตัวตนด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะตัวทุกขเวทนาว่าไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าสุขเวทนาก็มีและก็เป็นของจริงด้วย เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า เมื่อธรรมปรากฏโดยสภาพความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนนั้น ไม่มีอิริยาบถ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมก็ต้องปรากฏแล้วแต่ว่าจะเป็นลักษณะของนามใดของรูปใด เพราะเหตุว่าอนัตตาลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการถึงการแยกธาตุต่างๆ และเพราะฆนะปิดบังไว้ แต่ถ้าแยกธาตุต่างๆ ออกแล้ว ฆนะ การรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนไม่ปิดบังแล้ว จึงจะปรากฏความเป็นอนัตตลักษณะ

    ในนามรูปปริจเฉทญาณ จะปรากฏลักษณะของนามทีละนาม ลักษณะของรูปทีละรูป โดยไม่ปนกัน ไม่สืบเนื่องติดต่อกันปรากฏเหมือนกับทางตาหูจมูกลิ้นกายใจขณะที่กำลังปรากฏอย่างนี้ ซึ่งสลับกันอย่างรวดเร็ว แต่ว่านั่นเป็นการรู้ชัดทางมโนทวารซึ่งเป็นการเพิกอิริยาบถแล้ว

    ผู้ที่รู้ชัดนามรูปในนามรูปปริจเฉทญาณ จะมีแต่ลักษณะของรูปที่กำลังปรากฏแล้วแต่ว่าจะเป็นรูปอะไร และแต่ละท่านจะประจักษ์กี่รูปก็เป็นเรื่องของแต่ละท่าน แต่ละท่านจะประจักษ์ลักษณะของนามอะไรกี่นามก็เป็นเรื่องของแต่ละท่านด้วย แต่ไม่มีอิริยาบถในนามรูปปริจเฉทญาณ

    แม้แต่ในมหาสติปัฏฐานสูตร ที่ได้กล่าวถึงแล้ว ท่านก็จะเห็นได้ว่าใช้คำว่า “อนุปัสสนา” พิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ ไม่ใช่ให้ท่านไปคร่ำเคร่งอยู่ ให้ติดต่อกันไม่ขาดเลย ไปบังคับไม่ให้ต่อกัน ไม่ใช่เป็นการพิจารณาระลึกได้ตามปกติธรรมดาเนืองๆ บ่อยๆ เพราะเหตุว่าสติเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป ฉะนั้นก็ระลึกอีกได้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติ ขออย่าให้ผละทิ้งสิ่งที่เกิดปรากฏในขณะนี้ บางท่านก็กล่าวว่ายาก ระลึกยาก ชาตินี้ยาก เพราะเหตุว่าไม่ฝึก ไม่เริ่ม ไม่ปรารภ ไม่ลงมือเจริญสติเลย ไม่ระลึกรู้ลักษณะของเห็น ของได้ยิน ของสี ของเสียง ของกลิ่น ของรส ของการคิดนึก ของสุข ของทุกข์ ตามปกติ ที่เกิดขึ้นปรากฏแล้วเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่เริ่มระลึกตั้งแต่ชาตินี้ ชาติหน้าก็ยากอีก ชาติโน้นก็ยากอีก ที่จะเป็นของที่ไม่ยากเกินไป ก็เพราะว่า ของจริงมีเพียงชั่วระลึกเท่านั้น ระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏบ่อยๆ เนืองๆ แล้วก็จะรู้ชัดได้ ไม่ใช่ต้องไปสร้างขึ้นมา แต่ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วให้สติระลึก และก็จะเห็นว่าไม่ยากเกินไป

    สำหรับในมหาสติปัฏฐาน ควรจะได้สังเกตพยัญชนะที่ว่า ไม่ใช่การเจริญสมถะ เพราะสติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรม ถึงแม้ว่าในหมวดของอานาปานบรรพในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็มีข้อความว่า

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่ากายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    ทุกบรรพในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะเป็นอานาปานบรรพ ปฏิกูลมนสิการบรรพ ธาตุมนสิการบรรพ นวสีวสิการบรรพ ซึ่งท่านไม่ควรไขว้เขวคิดว่าจะต้องเจริญสมถะจนกระทั่งได้ฌานเสียก่อน เพราะข้อความบอกไว้ว่า พิจารณาเห็นกายในกาย เรื่องของฌานไม่ใช่เรื่องของการพิจารณาเห็นกายในกาย แต่เป็นเรื่องให้เกิดนิมิต มีความจงใจที่จะให้สงบ ไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏ แล้วละอภิชฌาโทมนัส อย่าทิ้งข้อความในพยัญชนะที่ว่า พิจารณาเห็นกายในกาย ไม่ว่าจะเป็นในบรรพใด ก็เห็นว่าเป็นกาย ไม่ใช่ไปให้เกิดนิมิตแล้วก็เป็นสมถะ

    กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ระลึกที่กาย กำลังมีกายส่วนหนึ่งส่วนใดเป็นอารมณ์ ไม่ใช่มีอย่างอื่นเป็นอารมณ์ ในขณะนั้นไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของจิต ไม่ได้ลักษณะของเวทนา แต่ระลึกรู้ลักษณะของกายกายนั้นก็เป็นสติปัฏฐาน ระลึกแล้วเป็นโลภะได้ไหม โลภะมีกายเป็นอารมณ์ได้ไหม ได้แต่ว่าในขณะนั้นไม่ใช่โลภะที่มีกายเป็นอารมณ์ แต่เป็นมหากุศลเป็นสติที่รู้ความเป็นอสุภะของกาย เวลาที่เกิดโลภะ เห็นผมแล้วก็เกิดโลภะเพราะเห็นความน่าพอใจในผม ทำให้จิตเป็นโลภจิตเกิดขึ้นยินดีพอใจในขณะนั้น เห็นผมเหมือนกันสติระลึกรู้ไม่ใช่ในความน่าพอใจ ถ้าระลึกรู้ในความน่าพอใจก็เป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตเกิด แต่นี่ระลึกรู้ในความเป็นปฏิกูล อะไรจะเกิด ถ้ามีโยนิโสมนสิการ ก็เป็นมหากุศล เป็นสติปัฏฐานได้ ทุกครั้งที่โลภมูลจิตจะเกิด ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ก็หมายความว่าเห็นความน่าพอใจในสิ่งที่เป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นก็เป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตเกิด มีความยินดีพอใจ นั่นก็มีกายเป็นอารมณ์ แต่นี่มีกายเป็นอารมณ์แต่ไม่ใช่เห็นความน่าพอใจ เมื่อไม่เห็นความน่าพอใจโลภะก็ไม่เกิด แต่เป็นสติที่ระลึกลักษณะของกายนั้น

    ความจริงก็ธรรมดาปกติทุกอย่าง เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าไม่ใช่เป็นเรื่องต้องไปสร้าง ไม่ใช่เป็นเรื่องต้องไปทำ แต่ถ้าขณะใดที่ใครคิดจะไป ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังเกิดปรากฏแล้ว ก็ไม่มีโอกาสที่จะรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัยได้เลย ไม่มีหนทางเลย ไปไปทำไม ไปด้วยความต้องการหรือเปล่า ไปด้วยความต้องการ แล้วระลึกรู้อะไร ไม่ใช่นามไม่ใช่รูปทางตาหูจมูกลิ้นกายใจตามปกติเลย ไปบังคับ ไปทำ ไปสร้างให้เกิดปวดเมื่อยจนกระทั่งทนไม่ไหวแล้วถึงจะเปลี่ยนบ้าง แต่นั่นไม่มีในพระไตรปิฎก ที่จะให้เจริญสติปัฏฐานอย่างนั้น ไม่มีเลยที่จะให้เอาทุกข์มาทับถมตนเองผู้ไม่มีทุกข์ ไปนั่งเมื่อยๆ ไม่มี เพราะเหตุว่าทุกขลักษณะไม่ใช่อิริยาบถที่นั่งจนเมื่อย นอนจนเมื่อย ยืนจนเมื่อย เดินจนเมื่อย เพราะเหตุว่าปัญญาจะต้องรู้ชัด


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    3 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ