รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 047


    ตอนที่ ๔๗

    แต่นั่นไม่มีในพระไตรปิฎก ที่จะให้เจริญสติปัฏฐานอย่างนั้น ไม่มีเลยที่จะให้เอาทุกข์มาทับถมตนเองผู้ไม่มีทุกข์ ให้ไปนั่งเมื่อยๆ ไม่มี เพราะเหตุว่าทุกขลักษณะไม่ใช่อิริยาบถที่นั่งจนเมื่อย นอนจนเมื่อย ยืนจนเมื่อย เดินจนเมื่อย เพราะเหตุว่าปัญญาจะต้องรู้ชัด ในลักษณะของนามรูป เพิกอิริยาบถ แล้วก็ไม่ใช่ว่าไปเห็นว่าเป็นทุกข์ก็ต้องเปลี่ยน แต่ว่า ทุกข์นี้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นปกติทุกอย่าง เพราะฉะนั้นทุกคนที่เจริญสติปัฏฐาน ไม่จำเป็นต้องนั่งให้เมื่อย นอนให้เมื่อย เดินให้เมื่อย นอนให้เมื่อยเลย ท่านจะลุกไปไหนทำอะไรมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นทุกอย่างแล้ว ถ้าจิตโลภะเกิดสติระลึกรู้ได้ ถ้าท่านจะทำอะไรด้วยโลภะ สติระลึกรู้ ถ้าสติเกิดต่อไปไม่ใช่รู้แต่เฉพาะโลภะแล้ว นางมมีปรากฏรูปก็มีปรากฏ เพราะสติระลึกลักษณะของนามของรูปต่อไป สมมติว่า ท่านจะแต่งตัวหวีผมให้เรียบร้อย ระลึกได้เป็นโลภะใช่ไหม หมดแล้ว สติระลึกต่อไปเป็นอ่อนเป็นแข็งที่กระทบสัมผัสที่หวีแล้ว เป็นสีที่ปรากฏ หรือว่าเป็นเสียงที่กระทบปรากฏทางหูแล้ว ถ้ามีสติระลึกรู้แล้ว จะมีลักษณะของนามของรูปสืบต่อกันไปเรื่อยๆ ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ท่านกลัว หวั่นไหว ไม่ให้โลภะเกิดขึ้น หรือว่าไม่ใช่ต้องไปนั่งไปทรมานอะไรเลย เป็นปกติธรรมดา แต่เริ่มรู้ลักษณะของนามของรูปตามปกติ ที่จะแยกโคทั้งตัวออกเป็นส่วนหนังคืออายตนะภายนอก และส่วนเนื้อล่ำเนื้อต่างๆ ที่เป็นอายตนะภายใน ที่จะเป็นจากความไม่ใช่ตัวตนเป็นอนัตตลักษณะ ความเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปซึ่งเป็นทุกข์ ไปนั่งทรมานให้เกิดทุกข์จะได้เห็นทุกข์ แต่ว่าทุกข์ที่นี่เป็นความเกิดขึ้นและดับไปของนามรูปตามปกติ ซึ่งจะต้องเริ่มจากการพิจารณารู้ลักษณะของนามของรูปเสียก่อน เป็นอิสระจริงๆ ไม่ได้มีความต้องการที่จะไปสร้างอะไรขึ้น ระลึกเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น เป็นอิสระแล้ว ไม่ใช่ทำไปด้วยความต้องการ แต่ว่าเป็นปกติธรรมดา ระลึกเมื่อไหร่ก็รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏเมื่อนั้น แต่ตรงกันข้าม ถ้าไปด้วยความต้องการ ก็เป็นทาสของความต้องการ ถ้าเจาะจงที่จะรู้เฉพาะนามนั้นรูปนี้ ก็เป็นทาสของความต้องการ นามนั้นรูปนี้อีกโดยไม่รู้ตัวว่าเป็นทาสของความต้องการ ไม่ได้เป็นอิสระเลย จ้องที่จะรู้ ไม่ให้ไปที่ไหนเลย แต่ตรงกันข้ามสติเป็นสภาพที่ระลึกรู้ ทางตาก็ได้ จมูกก็ได้ ลิ้นก็ได้ กายก็ได้ ใจก็ได้ เป็นเรื่องของสติจริงๆ

    ผู้ฟัง ยังสงสัยเรื่องภายใน ภายนอก

    ท่านอาจารย์ ภายใน ภายนอก ก็ต้องแยกเป็นแต่ละหมวด หรือแต่ละบรรพด้วย ไม่ใช่ปนกันหรือว่ารวมกัน กายานุปัสสนาสติปัฏฐานแต่ละบรรพ ก็มีข้อความว่า พิจารณาเห็นกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นทั้งกายภายในและภายนอกบ้าง นี่แสดงให้เห็นว่าไม่ควรหลงลืมสติเลย เพราะว่าบางครั้งระลึกที่กายภายในที่ตนเอง แต่บางครั้งระลึกที่ตายภายนอก ที่มีลักษณะปรากฏให้รู้ ถ้าคิดถึงความเป็นปกติธรรมดาแล้วไม่มีข้อสงสัย แต่ถ้าคิดว่าจะต้องไปสร้างจะต้องไปทำผิดปกติก็เกิดความสงสัยขึ้นอย่างลมหายใจ พิจารณาลมหายใจภายใน พิจารณาที่ไหน ที่ตนเองใช่ไหม ที่กาย พิจารณาลมหายใจภายนอกที่ไหน ของคนอื่น คนอื่นมีลมหายใจไหม เคยมากระทบบ้างไหม ลมหายใจคนอื่น ปกติธรรมดาที่สุด ที่สติระลึกรู้ทุกสิ่งที่เกิดปรากฏตามความเป็นจริง อย่าให้มีอะไรมาขัดขวาง มาปิด มาติดมาข้องว่า ระลึกไม่ได้ รู้ไม่ได้ ต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ นั่นไม่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงเลย แต่ถ้าทราบว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้นไม่มีสักขณะเดียวที่สติจะระลึกรู้ไม่ได้ถ้าสิ่งนั้นเป็นของจริงที่ปรากฏ และที่ทรงโอวาทให้ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปบ่อยๆ เนืองๆ ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ก็เพราะเหตุว่ามีสิ่งที่เป็นของจริงที่ปรากฏให้สติระลึกรู้ได้ ไม่ใช่จะระลึกเฉพาะที่กายตนเอง บางครั้งสติไม่ได้ระลึกที่กายตนเอง แต่ระลึกที่กายคนอื่น ในรถประจำทาง ถ้านั่งติดๆ ชิดๆ กัน มีลมหายใจของคนอื่นมากระทบบ้างไหม ควรระลึกรู้ไหม ในขณะนั้นสติระลึกรู้ได้ไหม ไม่ควรหลงลืมสติปกติธรรมดาที่สุดไม่มีอะไรน่าสงสัยเลย ถ้าลมหายใจของตนเองมีของผู้อื่นก็มี ของตนเองปรากฏก็ระลึกรู้ลมหายใจที่ปรากฏกับตนที่เป็นลมหายใจภายใน ถ้าลมหายใจของคนอื่นปรากฏกระทบ ก็อย่าหลงลืมสติ ระลึกได้รู้ได้ในขณะนั้น แม้ส่วนที่เป็นลมหายใจของคนอื่น ข้อสำคัญที่สุดคือไม่ให้เป็นผู้หลงลืมสติ อย่าคิดว่าเจริญสติไม่ได้ เจริญสติได้ทุกขณะ แม้แต่เป็นนายแพทย์กำลังมีลมหายใจของคนอื่นเป็นอารมณ์ หรือว่าอยู่ในรถประจำทาง หรือว่าในที่ไหนก็ตามแต่ ที่มีลมหายใจของคนอื่นมาสัมผัสมากระทบมาปรากฏก็ไม่ควรเป็นผู้ที่หลงลืมสติ เป็นปกติธรรมดาจริงๆ

    แต่ละบรรพก็ต้องแยกไป อย่างอสุภบรรพ ถ้าสมมติว่าจะเห็นคนตายที่ถนนอุบัติเหตุ เห็นกาย เป็นกายภายนอก น้อมถึงความเป็นอสุภะที่ตน ไม่ต่างกันเลยกับบุคคลนั้น ให้เป็นเครื่องระลึก กายภายนอกนั่นแหละอย่าหลงลืมสติ ขณะนั้นมีการภายนอกเป็นเครื่องระลึก แล้วแต่ว่าจะรู้ชัดในลักษณะของนามหรือรูป ทาหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ แล้วก็น้องระลึกถึงกายที่ตนพิจารณากาย เพราะฉะนั้นก็พิจารณาทั้งกายภายในคือที่ตนเอง กายภายนอก และก็ทั้งกายภายในกายภายนอกด้วย เพื่อความไม่เป็นผู้ไม่หลงลืมสติ ไม่ใช่ว่าให้ระลึกรู้แต่เฉพาะที่กายของตนเอง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ บางครั้งไม่ได้ระลึกรู้ที่กายของตนเองใช่ไหม ไประลึกรู้ที่กายของคนอื่น เห็นผมของคนอื่นเห็นไหม ปฏิกูลได้ไหม เป็นเครื่องระลึกได้ไหม เป็นสติปัฏฐานไหม กายคนอื่นก็ทำให้สติเกิดได้ สติปัฏฐานทั้ง ๔ เวลาที่รู้ชัดก็จะต้องรู้ชัดในนามรูปทางตาหูจมูกลิ้นกายใจนั่นเอง สติปัฏฐานเป็นเพียงเครื่องระลึก แล้วให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามรูป ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ เห็นกายว่าเป็นกาย เห็นกายในกาย ไม่ใช่เห็นกายในเวทนา ไม่เห็นกายในจิต ทุกบรรพ ผมขนเล็บฟันหนังก็เห็นกายในกาย ลมหายใจก็เห็นกายในกาย อิริยาบถบรรพก็เห็นกายในกาย คือรู้ลักษณะของกายที่กายส่วนนั้น เห็นว่าเป็นกายจริงๆ ไม่ใช่เป็นตัวตน ไม่ใช่เป็นสัตว์ ไม่ใช่เป็นบุคคล

    สำหรับในคราวต่อไปก็จะเป็นเรื่องของเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าท่านผู้ฟังมีความเข้าใจเรื่องของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เรื่องของเวทนาุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็จะไม่มีข้อข้องใจใดๆ ข้อสำคัญที่สุดคือ ท่านจะต้องเข้าใจถึงเรื่องของมหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ ว่ามีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องระลึกรู้อย่างเรื่องของกาย เพราะเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นรูปที่ประชุมรวมกันเป็นคณะ เป็นกลุ่มเป็นก้อน ทำให้เข้าใจผิดยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ เพราะฉะนั้นก็จะต้องระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏที่กายตามความเป็นจริง เพื่อละความเห็นผิดการยึดถือกายว่าเป็นตัว

    สำหรับเวทนาก็มีความสำคัญมากทีเดียว ซึ่งผู้ที่ต้องการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ละเลยไม่ได้ ขาดไม่ได้ ท่านคิดว่าท่านเพียงแต่จะระลึกรู้ลักษณะของกายอย่างเดียวแลh;ก็จะรู้แจ้งอริยสัจจ์นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าแม้แต่ญาณที่ ๑ นามรูปปริจเฉทญาณไม่ใช่เป็นปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของรูปอย่างเดียว แต่ว่าต้องเป็นปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของนามที่ปรากฏด้วย วันหนึ่งวันหนึ่งมีเวทนาอะไรบ้าง คำว่า เวทนา หมายความถึงความรู้สึก ความรู้สึกเป็นสิ่งที่มีจริง มีสุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา สุขเวทนาก็เป็นความรู้สึกที่เป็นสุขแช่มชื่น ทุกขเวทนาก็เป็นความรู้สึกที่เป็นทุกข์เดือดร้อน อุเบกขาเวทนาก็ได้แก่ความรู้สึกเฉยๆ ตลอดทั้งวัน หรือว่าทุกขณะที่จิตเกิดขึ้นก็จะต้องมีเวทนาคือความรู้สึกเกิดร่วมกับจิตทุกครั้งไป ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดก็ตาม ขณะที่นอนหลับสนิทมีจิตก็จะต้องมีเวทนาความรู้สึกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ขณะที่เห็นมีจิตที่เห็นก็จะต้องมีเวทนาความรู้สึกเกิดกับจิตที่เห็นทุกครั้ง ขอให้คิดดูว่า สมมติว่ามีแต่เพียงรูป มีสี มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะ มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย และแม้มีใจคือมีการเห็น มีการได้ยิน มีการรู้กลิ่น มีการรู้รส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แม้ว่าจะมีสิ่งเหล่านี้ ถ้าไม่มีเวทนาคือความรู้สึกเป็นสุขบ้าง ความรู้สึกเป็นทุกข์บ้าง ความรู้สึกเฉยๆ บ้าง จะมีความสำคัญอะไร ถ้าเห็นแล้วก็ไม่รู้สึกว่าเป็นสุข หรือว่าเป็นทุกข์ หรือว่าเฉยๆ ถ้าได้ยินไม่เกิดความรู้สึกว่าเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉยๆ ถ้ารับประทานอาหารและก็ไม่เกิดความรู้สึกว่าเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือว่าเฉยๆ ก็ไม่มีความสำคัญอะไรเลย ก็เป็นแต่เพียงเห็นก็เห็น รูปก็รูป สีก็สี เสียงก็เสียง กลิ่นก็กลิ่น แต่ที่เดือดร้อนกันทุกวันนี้ไม่ใช่เพราะอย่างอื่น แต่เป็นเพราะเวทนาความรู้สึกเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์ บ้างเฉยๆ บ้าง ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้างนั่นเอง ความรู้สึกนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ยิ่งกว่าการที่มีรูปปรากฏเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย หรือว่ามีสภาพที่เห็นที่ได้ยินซึ่งเป็นจิตที่รู้สี รู้เสียง แต่เพราะเหตุว่าแต่ละท่านแสวงหาความสุข ไม่ต้องการความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทำให้เกิดการเพลิดเพลิน ยึดถือว่าเป็นตัวตน หลงลืมสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ก็เพราะเหตุว่าความรู้สึกนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนแสวงหาและก็ต้องการ ทางตาอยากเห็นสิ่งที่ชอบที่พอใจ เห็นแล้วก็ทำให้เกิดความสุข ทางหูก็เหมือนกันแสวงหาอะไร ก็ต้องแสวงหาสิ่งที่เมื่อได้ยินแล้ว ให้เกิดความเพลิดเพลิน ความพอใจ ความสุข ทางจมูกก็เช่นเดียวกัน ทางลิ้นที่แสวงหารสต่างๆ ก็เพื่อให้เกิดความสุข ที่จะได้กระทบรสที่พอใจ ทางกายก็เหมือนกัน ทางใจก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นเวลาที่ท่านเจริญสติจะสังเกตได้ทีเดียว ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติไม่ใช่เป็นผู้ที่บังคับสติแล้ว เวลาที่กระทบหรือว่าสัมผัสแล้วจะเกิดความรู้สึกที่สติสามารถระลึกรู้ได้ในความรู้สึกนั้น ว่าเป็นความดีใจ ความเสียใจ ความสุข หรือว่าความทุกข์ หรือว่าเฉยๆ ในวันหนึ่ง เมื่อเวทนาก็มีตั้งแต่เช้าถึงค่ำตลอดเวลา ไปจนกระทั่งถึงวันต่อๆ ไปทุกๆ ขณะจิต แต่ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของเวทนาความรู้สึกนั้นตามความเป็นจริงแล้ว ก็ย่อมจะหลงยึดถือความรู้สึกนั้นว่าเป็นตัวตน ไม่ยึดถือความรู้สึกว่าเป็นตัวตนได้ ก็จะต้องอาศัยสติระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึกซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่าไม่สำคัญ ข้ามไปก็ได้ ท่านเพียงรู้รูปเดียวก็สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เป็นไปไม่ได้เลย สำหรับผู้ที่เจริญสติจริงๆ จะเข้าใจได้ถูกต้องว่า เรื่องที่จะต้องระลึกรู้นั้นมีมากเหลือเกิน ไม่ใช่น้อยเลย แม้ความรู้สึกเกิดขึ้นก็จะต้องระลึกรู้ด้วย และในการเจริญสติปัฏฐานก็ควรจะต้องสอดคล้องกันทุกประการ ทั้งในภพนี้ในโลกมนุษย์นี้และในที่อื่นด้วย ถ้าท่านเข้าใจถูกต้องในสติปัฏฐาน อยู่ในโลกอื่นก็สามารถระลึกลักษณะของนามของรูปที่เกิดปรากฏในโลกนั้น ในภูมินั้นได้ จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ถ้าเกิดในอบายภูมิก็เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ หรือว่า ในอรูปพรหมภูมิก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ นอกจากเป็นพระโสดาบันบุคคลในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เสียก่อน

    ถ้าในโลกมนุษย์ พิจารณารู้ลักษณะของนามรูปที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในภูมิอื่น ในโลกอื่น ก็สามารถเจริญสติปัฏฐานต่อได้ แต่ถ้าเข้าใจผิด เวลาที่ท่านไปเกิดในภูมิที่ไม่มีทุกขเวทนาและท่านเคยเจริญสติปัฏฐานแบบนั่งให้เมื่อย ไปทรมานยืนให้เมื่อย นอนให้เมื่อยก่อน ท่านจะเจริญสติปัฏฐานในภูมินั้นๆ ได้อย่างไร ขอยกตัวอย่างในพระสูตร

    อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ตติยปัณณาสก์ กุสินารวรรคที่ ๓ หัตถกสูตร มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถ-บิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นเมื่อปฐมยามล่วงไป หัตถกเทพบุตรมีรัศมีงามยิ่งนัก ทำพระเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ คิดว่าจะยืนตรงพระพักตร์พระผู้มีพระภาค แล้วทรุดลงนั่ง ไม่สามารถที่จะยืนอยู่ได้ เปรียบเหมือนเนยใสหรือน้ำนมที่เขาเทลงบนทราย ย่อมจมลง ตั้งอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด หัตถกเทวบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับหัตถกเทพบุตรว่า

    ดูกร หัตถกะ ท่านจงนิรมิตอัตภาพอย่างหยาบๆ

    หัตถกเทพบุตรทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว นิรมิตอัตภาพอย่างหยาบ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า

    ดูกร หัตถกะ ธรรมที่เป็นไปแก่ท่านผู้เป็นมนุษย์ แต่ครั้งก่อนนั้น บัดนี้ยัง เป็นไปแก่ท่านอยู่บ้างหรือ

    หัตถกเทพบุตรกราบทูลว่า

    พระเจ้าข้า ธรรมที่เป็นไปแก่ข้าพระองค์เมื่อยังเป็นมนุษย์ครั้งก่อนนั้น บัดนี้ก็ยังเป็นไปแก่ข้าพระองค์อยู่ และธรรมที่มิได้เป็นไปแก่ข้าพระองค์เมื่อยังเป็นมนุษย์ครั้งก่อนนั้น บัดนี้ก็เป็นไปอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้พระผู้มีพระภาคเกลื่อนกล่นไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์อยู่ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นพระเจ้าข้า เกลื่อนกล่นไปด้วยพวกเทพบุตรอยู่ พวกเทพบุตรต่างมากันแม้จากที่ไกล ก็ด้วยตั้งใจว่า จะฟังธรรมในสำนักของหัตถกเทพบุตร ข้าพระองค์ยังไม่ทันอิ่ม ยังไม่ทันเบื่อธรรม ๓ อย่าง ก็ได้ทำกาละเสียแล้ว ธรรม ๓ อย่างเป็นไฉน คือ

    ข้าพระองค์ยังไม่ทันอิ่ม ยังไม่ทันเบื่อการเฝ้าพระผู้มีพระภาค ๑ ข้าพระองค์ยังไม่ทันอิ่ม ยังไม่ทันเบื่อการฟังพระสัทธรรม ๑ ข้าพระองค์ยังไม่ทันอิ่ม ยังไม่ทันเบื่อ การอุปัฏฐากพระสงฆ์ ๑ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังไม่ทันอิ่ม ยังไม่ทันเบื่อธรรม ๓ ประการนี้แล ได้ทำกาละเสียแล้ว

    ครั้นหัตถกเทพบุตรได้กล่าวไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้กล่าวคาถาประ พันธ์นี้ต่อไปอีกว่า

    แน่ล่ะ ในกาลไหนๆ จึงจักอิ่มต่อการเฝ้าพระผู้มีพระภาค การอุปัฏฐากพระสงฆ์ และการฟังพระสัทธรรม หัตถกอุบาสกยังศึกษาอธิศีลอยู่ ยินดีแล้วในการฟังพระสัทธรรม ยังไม่ทันอิ่มต่อธรรม ๓ อย่าง ก็ไปพรหมโลกชั้นอวิหาเสียแล้ว

    พรหมโลกชั้นอวิหาเป็นชั้นสุทธาวาสภูมิ ซึ่งเป็นภูมิของผู้ที่บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล และได้บรรลุฌานถึงขั้นปัญจมฌานด้วย มีอยู่ ๕ ภูมิด้วยกัน คือ อวิหาภูมิ อตัปปาภูมิ สุทัสสาภูมิ สุทัสสีภูมิ อกนิฏฐาภูมิ

    นี่เป็นพรหมโลก ซึ่งหัตถกเทพบุตรยังไม่ทันเบื่อการเฝ้าพระผู้มีพระภาค ยังไม่ทันเบื่อการฟังพระสัทธรรม ยังไม่ทันเบื่อการอุปัฏฐากพระสงฆ์ แต่ก็ต้องจากโลกนี้ไปสู่พรหมโลกชั้นอวิหา แต่แม้กระนั้นก็จะเห็นได้จากชีวิตในพรหมโลกนั้นว่า เป็นชีวิตปกติธรรมดา มีการฟังธรรม เทพบุตรทั้งหลายก็ไปสู่สำนักของหัตถกเทพบุตร แล้วหัตถกเทพบุตรก็เจริญธรรม คือ ศึกษาอธิศีลต่อในพรหมโลก ผู้ที่เกิดในพรหมโลกเป็นพรหมมาบุคคลนั้นไม่มีกายปสาท ไม่มีทุกขเวทนาทางกาย ไม่มีสุขขเวทนาทางกาย เจริญสติปัฏฐานได้ไหม การเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้อง ต้องสาธารณะทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นภูมิไหนทั้งสิ้น การเจริญสติปัฏฐานก็ต้องเป็นการเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปตามปกติ ไม่ใช่ไปฝืน ไปทรมาน เพราะเหตุว่าถ้าเป็นไปในลักษณะนี้แล้ว ในพรหมโลกเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ เพราะนั่งเท่าไหร่ก็ไม่เมื่อย ไม่มีทุกขเวทนาทางกาย

    ท่านผู้ฟังเบื่อการฟังพระสัทธรรมไหม เบื่อการเจริญสติปัฏฐานไหม การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติธรรมดาไม่ต้องฝืน ไม่ต้องทำอะไรให้เกิดทุกขเวทนาเลย แล้วแต่ผลของกรรมจะทำให้เห็นเมื่อไหร่ ได้ยินอะไร ได้รูปที่พอใจไม่น่าพอใจอย่างไร จะมีปัจจัยสะสมมาให้เกิดโลภะหรือโทสะอย่างไร ก็ให้สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ถ้าโดยลักษณะนี้ ไม่มุ่งหวังผล จนกระทั่งไปทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ขึ้นปิดบัง ถ้าเป็นปกติธรรมดาแล้วแต่จะระลึกลักษณะของนามของรูปบ่อยๆ เนืองๆ เพิ่มความเข้าใจถูก ความรู้ชัดทุกทีละเล็กทีละน้อยแล้ว จะเบื่อไหมการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ได้ให้ไปทำอะไรที่จะต้องเบื่อ เพียงระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นตัวจริงๆ ชีวิตแท้ๆ ของแต่ละคน แต่ถ้าไปทำอะไรจนกระทั่งทรมานมากมายและก็ไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการก็จะเกิดความเบื่อขึ้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    17 มิ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ