รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 048
ตอนที่ ๔๘
ถ้าเป็นปกติธรรมดาแล้วแต่จะระลึกลักษณะของนามของรูปบ่อยๆ เนืองๆ เพิ่มความเข้าใจถูก ความรู้ชัดทุกทีละเล็กทีละน้อยแล้ว จะเบื่อไหมการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ได้ให้ไปทำอะไรที่จะต้องเบื่อ เพียงระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นตัวจริงๆ ชีวิตแท้ๆ ของแต่ละคน แต่ถ้าไปทำอะไรจนกระทั่งทรมานมากมายและก็ไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการก็จะเกิดความเบื่อขึ้น
เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่แต่ละบุคคลที่จะเป็นผู้ที่ไม่อิ่มในการฟังพระสัทธรรม เป็นผู้ที่ไม่เบื่อในการเจริญสติปัฏฐาน แล้วจากโลกนี้ไป หรือจะจากโลกนี้ไปโดยที่ไม่เคยเจริญสติปัฏฐานตามความเป็นจริง ไม่ระลึกรู้ลักษณะที่กำลังเห็น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของได้ยินกับเสียง ไม่ระลึกรู้ลักษณะของกลิ่นกับการรู้กลิ่น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของรสที่ปรากฏกับสภาพที่รู้รส ไม่ระลึกรู้ความคิดนึกการรู้เรื่อง รู้ความหมาย สุข ทุกข์ต่างๆ ที่เกิดปรากฏเลย ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะจากโลกนี้ไปโดยไม่เจริญสติ
แต่ถ้าเริ่มเจริญสติแล้วไม่ว่าจะอยู่ในภพภูมิไหนก็สามารถจะเจริญต่อไปได้ อย่างในพรหมโลก ก็มีทางตา ทางหู ทางใจ ไม่มีทางจมูก ไม่มีทางลิ้น ไม่มีทางกาย ผู้ที่ไปเกิดเป็นรูปพรหมสามารถระลึกรู้ลักษณะของเห็นกับสี ระลึกรู้ลักษณะของเสียงกับได้ยิน แล้วแต่จะมีรูปใดนามใดที่สติจะระลึกรู้ได้ เป็นผู้ที่เจริญสติ ไม่หลงลืมสติ
ผู้ฟัง อยากทราบว่า ในอบายภูมิสามารถจะเจริญสติปัฏฐานได้หรือเปล่า ถ้าเจริญไม่ได้ คนไข้ที่มีเวทนามากๆ ก็คงเจริญไม่ได้เหมือนกัน
ท่านอาจารย์ คนไข้อยู่มนุษย์ภูมิ ไม่ใช่อบายภูมิ ปฏิสนธิจิตต่างกัน ถ้าเจริญสติเป็นปกติ สติย่อมสามารถระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปที่ปรากฏในขณะนั้น ถ้าเจ็บหนัก แล้วสติระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปก็ได้ ทางหนึ่งทางใดก็ได้ แต่ปัญญาที่เคยอบรมมามากอาจทำให้รู้ชัด ละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ แม้เพียงชั่วขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปในขณะนั้นนั่นเอง ใครจะรู้ความแก่กล้าของอินทรีย์ว่าจะเกิดในขณะนั้นก็ได้
ผู้ฟัง ที่เขากล่าวอ้างกันบ่อยๆ ว่า พระพุทธองค์ประทานผ้าขาวให้พระภิกษุรูปหนึ่ง พระภิกษุรูปนั้นก็ลูบผ้านั้นจนนั้นเกิดมัวหมองขึ้น และปัญญาภิกษุนั้นก็ได้เกิดรู้ขึ้นมาว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียง อนิจฺจัง ทุกฺขัง อนัตตา เท่านั้น เช่นนี้จะเป็นบาทให้พระภิกษุรูปนั้นรู้รูปรู้นามอื่นๆ เช่นเดียวกันได้หรือไม่
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นมีเวทนาไหม ความรู้สึกมีไหม มี ถ้าสติไม่ระลึกรู้จะละการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ไหม ขณะนั้นมีธรรม เมื่อมีสติก็ต้องระลึกรู้ แล้วปัญญาจะแก่กล้า รู้ชัด ละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตน เมื่อถึงความแก่กล้าแล้ว ซึ่งผู้อื่นก็ห้ามหรือยับยั้งไม่ได้ แต่ไม่ใช่หมายความว่าไม่รู้ ไม่ใช่หมายความว่าไม่เจริญสติ ไม่ใช่หมายความว่าพ้นจากกาย เวทนา จิต ธรรม เวลาที่จับผ้ามีการกระทบสัมผัสไหมขาดสติระลึกรู้ไหม ถ้าขาดสติก็ไม่มีหนทาง แต่ว่าเวลาที่ท่านเจริญสติแล้วแต่ว่าสติของท่านจะเป็นไปในกาย เป็นไปในเวทนา เป็นไปในจิต เป็นไปในธรรม และเพราะว่าท่านไม่ใช่อุคฆติตัญญู ไม่ใช่วิปจิตัญญู ท่านก็เจริญสติปัฏฐาน ๔ โดยที่ไม่ต้องมีใครไปนั่งจำแนกว่าในชั่วโมงนั้นขณะนั้นท่านเจริญกายาฯ ท่านเจริญเวทนาฯ ท่านเจริญจิตตาฯ หรือว่าท่านเจริญธรรมมาฯ มีอยู่แล้ว จิตของท่านก็มีอยู่ในขณะนั้น เวทนาของท่านก็มีในขณะนั้น ธรรมก็มีในขณะนั้น สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกายก็มี ทางตาก็มี ทางหูก็มี
ขณะนี้ ใครจะจับผ้าสักนิด ยังไม่ทันมัวหมอง ก็รู้แจ้งอริยสัจจ์ได้ เพราะเหตุว่าเจริญสติแล้วก็รู้ชัดในลักษณะของนามรูปที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องถึงกับไปลูบคลำจนกระทั่งมัวหมองก็ได้ … แล้วแต่ จะเกิดการสลดเพราะเหตุใด การรู้ต้องรู้กาย เวทนา จิต ธรรม แต่ตอนที่จะละ จะละเพราะเหตุใด แล้วแต่การสะสมอบรมมา แต่ละคนเมื่อเจริญสติแล้ว รู้ลักษณะของนามของรูปแล้ว อย่าคิดว่าจะละได้ง่ายๆ ทันที เรื่องของรู้ก็นานมากกว่าจะพิจารณา เจริญบ่อยๆ เนืองๆ แล้วก็รู้มากขึ้นชัดขึ้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และถึงตอนที่จะละ ก็ยังต้องนานมากอีกด้วย ไม่ใช่ว่าจะละคลายได้ง่ายๆ เป็นเรื่องของการรู้อย่างละเอียด และการละอย่างละเอียดจริงๆ จะจับผ้าอะไรก็ได้ แล้วก็บรรลุมรรคผลในขณะนั้นก็ได้ ไม่ต้องไปลูบคลำจนกระทั่งหมองไปก็ได้
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ปฐมสคาทวรรคที่ ๑ สมาธิสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ เวทนา ๓ เป็นไฉน คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้แล สาวกของพระพุทธเจ้ามีจิตมั่นคงดีแล้ว มีสัมปชัญญะ มีสติ ย่อมรู้ชัดซึ่งเวทนา และเหตุเกิดแห่งเวทนาทั้งหลาย อนึ่งเวทนาเหล่านี้จะดับไปในที่ใด ย่อมรู้ชัดซึ่งที่นั้น
ซึ่งข้อความนี้หมายถึงพระนิพพาน ข้อความต่อไปมีว่า
และทางดำเนินให้ถึงความสิ้นไปแห่งเวทนาเหล่านั้น เพราะสิ้นเวทนา ภิกษุเป็นผู้หายหิว ปรินิพพานแล้ว
ไม่มีใครไม่สุข ไม่ทุกข์ หรือไม่รู้สึกเฉยๆ ถ้าไม่เจริญสติในขณะนั้นก็เป็นตัวเป็นตน ไม่รู้ลักษณะของนามชนิดหนึ่ง คือ สภาพความรู้สึกที่มีจริงในขณะนั้น แล้วไม่รู้ด้วยว่า นามนั้นเกิดเพราะเหตุใด ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้ที่เจริญสติ ถ้าเห็นแล้วเกิดโสมนัส จะตื่นเต้นดีใจ ยิ้มแย้ม หัวเราะ ในขณะนั้นรู้ได้ไหม ถ้าสติระลึกก็รู้ว่าเวทนานี้เกิดขึ้นเพราะเห็น หรือเวลาได้ยินเสียงแล้วเกิดขบขันสนุกสนานรื่นเริงขึ้น เป็นโสมนัสเวทนา รู้ได้ไหมว่าที่กำลังพอใจรื่นเริงเบิกบานนี้เกิดขึ้นเพราะได้ยิน ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติก็รู้ได้ แล้วควรระลึกรู้ด้วย
เพราะฉะนั้น จะคิดว่าการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้นง่าย ข้ามไป ไม่รู้โน่นไม่รู้นี่ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งทุกท่านคงพิสูจน์ด้วยตัวของท่านเองได้ว่า ท่านรู้อะไรมากขึ้นหรือยัง หรือว่ายังคงไม่รู้อยู่ ถ้ายังคงไม่รู้อยู่ ก็อย่าไปคิดว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ต้องมีสติเพิ่มขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปมากขึ้น
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สุขสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ เวทนา ๓ เป็นไฉน คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้แล ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ตาม ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอกมีอยู่ ภิกษุรู้ว่า เวทนานี้เป็นทุกข์ มีความพินาศเป็นธรรมดา มีความทำลายเป็นธรรมดา ถูกต้องความสิ้นไปอยู่ ย่อมคลายความยินดีในเวทนาเหล่านั้น ด้วยประการอย่างนี้
อีกสูตรหนึ่ง คือ ปหานสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ เวทนา ๓ เป็นไฉน คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงละราคานุสัยในสุขเวทนา พึงละปฏิฆานุสัยในทุกขเวทนา พึงละอวิชชานุสัยในอทุกขมสุขเวทนา เพราะเหตุที่ภิกษุละราคานุสัยในสุขเวทนา ละปฏิฆานุสัยในทุกขเวทนา ละอวิชชานุสัยในอทุกขมสุขเวทนา ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ไม่มีราคานุสัย มีความเห็นชอบ ตัดตัณหาได้เด็ดขาด เพิกถอนสังโยชน์ได้แล้ว ได้กระทำที่สุดแห่งทุกข์แล้ว เพราะละมานะได้โดยชอบ
ราคานุสัยนั้นย่อมมีแก่ภิกษุผู้เสวยสุขเวทนา ไม่รู้สึกตัวอยู่ มีปกติไม่เห็นธรรมเป็นเครื่องสลัดออก ปฏิฆานุสัยย่อมมีแก่ภิกษุผู้เสวยทุกขเวทนา ไม่รู้สึกตัวอยู่ บุคคลเพลิดเพลินอทุกขมสุขเวทนาซึ่งมีอยู่ อันพระผู้มีพระภาคผู้มีปัญญาประดุจปฐพีทรงแสดงแล้ว ย่อมไม่หลุดพ้นไปจากทุกข์เลย
เพราะเหตุที่ภิกษุผู้มีความเพียร ละทิ้งเสียได้ด้วยสัมปชัญญะ เธอชื่อว่า เป็นบัณฑิต ย่อมกำหนดรู้เวทนาทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้เวทนาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในธรรม ถึงที่สุดเวทย์ เมื่อตายไป ย่อมไม่เข้าถึงความนับว่า เป็นผู้กำหนัด ขัดเคือง เป็นผู้หลง ดังนี้
คงจะไม่ทราบเรื่องอนุสัยกิเลสที่มีมากมายเหลือเกิน แล้วก็ยังสะสมไปทุกๆ ขณะที่หลงลืมสติ ไม่ว่าจะเป็นขณะที่ยินดี พอใจ เพลิดเพลิน เป็นสุขเวทนา ถ้าไม่รู้สึกตัว ไม่ระลึกรู้ลักษณะของเวทนา หรือนามรูปในขณะนั้น ก็เป็นราคานุสัย เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่แสวงหาความสุขเพลิดเพลิน สุขเวทนา แล้วไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามรูปในขณะนั้น เป็นผู้ไม่รู้สึกตัว เท่ากับผู้นั้นสะสมเพิ่มพูนราคานุสัยหนาแน่นมากขึ้นๆ เรื่อยๆ วันหนึ่งๆ มีความไม่พอใจ มีความขัดเคือง มีความไม่แช่มชื่น แต่สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามรูปในขณะนั้น เป็นผู้ที่ไม่รู้สึกตัว ไม่เจริญสติ สะสมปฏิฆานุสัย ตลอดวันถ้าให้รู้จักตัวของตัวเองดีขึ้น จะพบว่าหนาแน่นด้วยอะไร เพิ่มพูนด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ความหลงลืมสติ หรือว่าเป็นผู้ที่เพิ่มพูนด้วยการเจริญสติ เปรียบเทียบได้ ก็รู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้นว่า จะเป็นผู้ที่หนาแน่น หรือว่าเป็นผู้ที่เบาบาง แต่ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติย่อมเป็นผู้ที่ละราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัยได้
ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปตามปกติ ขอให้ลองนึกถึงท่านผู้นั้นดูว่า ในวันหนึ่งๆ จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดมาก ชีวิตธรรมดาๆ ถ้าผู้นั้นเจริญสติแล้วจะรู้จักลักษณะของจิตใจประเภทใดมากที่สุด โลภมูลจิต มากที่สุด ขณะที่ยังไม่เจริญสติต้องการที่จะเห็นอะไรไหม ต้องการที่จะได้ยินอะไรไหม ต้องการที่จะได้กลิ่นอะไรไหม ต้องการที่จะได้รสอะไรบ้างไหม ต้องการที่จะได้สัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งตึงไหวอะไรบ้างไหม คิดนึกก็คิดนึกไปด้วยความต้องการรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเป็นปกติใช่ไหม ผู้ที่เจริญสติโดยละเอียด รู้ลักษณะของนามรูปที่เกิดปรากฏตามปกติ ก็จะเห็นลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏแต่ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน ชีวิตจริงๆ เต็มไปด้วยโลภะมากมายเหลือเกินทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ วันหนึ่งๆ เจริญกุศลพอที่จะให้สติระลึกรู้บ้างไหม ในขณะนั้นก็ระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าสิ่งที่ปรากฏมีลักษณะอย่างไรก็รู้อย่างนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน ถ้ารู้ว่าไม่ใช่ตัวตนนั่นแหละ เป็นปัญญาที่เกิดร่วมด้วย ท่องก็เป็นนามธรรมที่คิดนึก ผู้เจริญสติปัฏฐานเป็นผู้ที่ละเอียดมาก แม้แต่ว่าขณะนั้นเกิดคิดขึ้นมา ก็รู้แล้วว่าเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง แล้วก็ไม่อาลัยอาวรณ์ ไม่โยงกับที่ดับไปเมื่อสักครู่นี้หรือว่าที่หมดไปเมื่อสักครู่นี้ เพราะว่าผู้ที่จะละการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ เพราะรู้ว่าเป็นแต่เพียงนามและรูป แล้วไม่มีเยื่อใยที่จะโยงผูกขณะที่เพิ่งพ้นไป กับขณะที่กำลังปรากฏ ต้องชิน ต้องชินมากทีเดียว ต้องเจริญบ่อยๆ เนืองๆ จนกระทั่งชินและก็เป็นปกติจริงๆ การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติระลึกรู้เนืองๆ บ่อยๆ และปัญญาก็รู้ชัดขึ้น เหมือนกับจับด้ามมีด
ผู้ฟัง สำหรับคำว่า พิจารณาเห็นกายในกายนี้ เท่าที่ผมศึกษามาก็มีอยู่หลายแบบ คือ แบบหนึ่งในปริจเฉทที่ ๗ ท่านอธิบายไว้ว่า กายนี้ คือ มีนามกายและรูปกาย ให้พิจารณาเพียงรูปกายเท่านั้น นี่ก็เป็นอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งท่านบอกว่า กายนี้มีรูปต่างๆ มาประชุมรวมกัน ๒๘ รูป หรือถ้าคิดเป็นอาการก็มีอาการ ๓๒ แล้วเอาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาพิจารณา อย่างนี้ก็เรียกว่าพิจารณาเห็นกายในกาย ๑ ในอาการ ๓๒ หรือว่าในรูป ๒๘ เอาอย่างเดียว แต่บางทีฟังวิทยุ คำว่ากายในกายนี้ มีการบอกอีกแบบหนึ่งคือ หัวข้อว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ก็เป็นหัวข้อใหญ่ และในหัวข้อนี้ก็มีแบ่งออกไปว่าเป็นอานาปานสตินี่ก็เรียกว่าเป็นกาย ๑ หรือว่าอิริยาบถก็เรียกว่ากาย ๑ สัมปชัญญะนี่ก็เรียกว่ากาย ๑ หรือว่าธาตุก็เรียกว่ากาย ๑ หรืออสุภะ ก็เรียกว่ากาย ๑ กายต่างๆ แต่ละ ๑ เหล่านี้ รวมอยู่ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่เท่าที่กระผมได้สอบถามท่านอาจารย์ก็ได้ความรู้มาใหม่ว่า คำว่า พิจารณาเห็นกายในกายนี้ คือ พิจารณากายอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นลมหายใจ รู้ว่ามีลมหายใจ ลมหายใจนี้เป็นกาย พิจารณาเห็นลมหายใจนี้ในฐานะที่ไม่ใช่ตัวตน อันนี้เป็นความเข้าใจของกระผมที่ได้รับฟังจากท่านอาจารย์ หรือจะยกเอาเส้นผม ก็พิจารณาเห็นเส้นผมนี้เป็นกายในฐานะที่ไม่ใช่ตัวตน
ท่านอาจารย์ บางท่านคิดว่า การพิจารณาธรรมเป็นเรื่องของปริยัติ เป็นต้นว่า ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานมี ๑๔ บรรพ เพราะฉะนั้น แต่ละบรรพ คือ หมวดของกายหนึ่งในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑๔ บรรพ นั่นไม่ใช่เรื่องการรู้ลักษณะ แต่ว่าการเจริญสติเป็นการรู้ลักษณะส่วนของกายที่ปรากฏที่กายทั้งหมด
ความหมายของกายานุปัสสี คือ การพิจารณาเห็นกายที่กายว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่อัตตา เป็นรูปธรรม
คัมภีร์ปปัญจสูทนี ซึ่งเป็น อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สติปัฏฐานสูตร มีความหมายของคำว่า กาย
ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คำว่า กาย หมายถึง รูปกาย โดยความหมายว่า เป็นที่ประชุมแห่งอวัยวะทั้งหลายด้วย แห่งอาการทั้งหลาย มีผมเป็นต้นด้วย รูปกายนั้นเป็นที่มาแห่งสิ่งที่น่าเกลียดอย่างยิ่งด้วย เป็นที่ประชุมแห่งสิ่งที่น่าเกลียดทั้งหลาย เป็นที่มาแห่งสิ่งที่น่าเกลียดทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า กาย
ที่กายนี้ ทุกส่วนเป็นที่ประชุมของปฏิกูลทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นตา ไม่ว่าจะเป็นหู ไม่ว่าจะเป็นปาก ไม่ว่าจะเป็นกาย ตลอดทั้งกายก็เป็นที่ประชุมแห่งสิ่งที่น่าเกลียด
ข้อความต่อไปมีว่า
คำว่า เป็นที่มา คือ เป็นที่เกิด ในคำนี้มีเนื้อความว่า
สิ่งที่น่าเกลียดทั้งหลายย่อมมาจากสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น สิ่งนั้นจึงชื่อว่า เป็นที่มา
สิ่งที่น่าเกลียดทั้งหมดหาได้ที่กาย กายของสัตว์ ของมนุษย์เป็นสิ่งที่เป็นปฏิกูล มากกว่ารูปภายนอก
ข้อความต่อไปมีว่า
อะไรมา สิ่งที่น่าเกลียดทั้งหลาย มีผมเป็นต้นมา
ถ้าจะไปพบผมข้างนอกตกอยู่แถวไหนก็ตาม ผมมาจากไหน ก็ต้องมาจากกาย
โดยเหตุที่การมาแห่งสิ่งที่น่าเกลียดทั้งหลาย จึงเรียกว่า กาย
คำว่า กายานุปัสสี แปลว่า ผู้มีปกติเล็งเห็นซึ่งกาย หรือผู้เล็งเห็นอยู่ซึ่งกาย
ถึงพระผู้มีพระภาคตรัสว่า กายอันมีแล้ว ก็ควรทราบว่า ทรงพูดถึงกายเป็นคำที่สองอีกว่า กายานุปัสสี ดังนี้
ในมหาสติปัฏฐาน กาเยกายานุปัสสี
กาเย คำแรก ได้แก่ สรรพกาย กายทั้งหมด
ส่วนกายา คำหลังนั้น ได้แก่ กายเฉพาะส่วน เช่น ผม เป็นต้น
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 041
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 042
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 043
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 044
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 045
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 046
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 047
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 048
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 049
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 050
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 051
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 052
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 053
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 054
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 055
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 056
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 057
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 058
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 059
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 060
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 061
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 062
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 063
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 064
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 065
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 066
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 067
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 068
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 069
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 070
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 071
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 072
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 073
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 074
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 075
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 076
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 077
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 078