แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1390
ครั้งที่ ๑๓๙๐
สาระสำคัญ
มั่นคงในกัมมัสสกตาญาณ (ไม่ใช่เป็นเหตุการณ์กว้างๆ)
อัฏฐสาลินี กุกกุจจเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิต
นิวรณ์ตามลำดับกิเลสและลำดับมรรค
กรรมและผลของกรรม
จิตที่สงบต่างกับจิตที่ไม่สงบอย่างไร
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๒๗
ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส แม้ทางใจที่จะเป็นกุศลหรืออกุศลก็บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดขึ้นเป็นไป ตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดและเห็นว่าบังคับบัญชาไม่ได้ จะทำให้เห็นว่า สภาพธรรมที่เกิดปรากฏที่เป็นวิบาก การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การกระทบสัมผัสทั้งหมด ล้วนเป็นผลของกรรมทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น วิปัสสนาญาณทุกญาณ ยกเว้นสัจจานุโลมิกญาณ เป็นกัมมัสสกตาญาณทั้งหมด นี่เป็นเหตุที่พระโสดาบันทั้งหลายมีความรู้ชัดจริงๆ ว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับกรรม ไม่ว่าใครจะเห็นสิ่งใด ได้ยินสิ่งใด ได้กลิ่นสิ่งใด ลิ้มรสสิ่งใด กระทบสัมผัสสิ่งใด ไม่ว่าจะได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุข ก็เป็นเพราะกรรมของแต่ละคนที่ได้กระทำแล้ว ไม่มีบุคคลอื่นบุคคลใดสามารถเปลี่ยนแปลงกรรมของบุคคลนั้นๆ ได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่มีความมั่นคงในกัมมัสสกตาญาณ
เวลาที่ท่านผู้ฟังยังไม่ได้เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ก็รู้ว่า กุศลกรรมมี อกุศลกรรมมี กุศลกรรมได้แก่อะไรบ้าง อกุศลกรรมได้แก่อะไรบ้าง และก็รู้ว่าอกุศลกรรมจะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบาก กุศลกรรมจะเป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบาก
ดูเหมือนว่าเข้าใจเรื่องกรรม ถ้ามีคนถามว่า กรรมมีไหม ท่านก็จะตอบว่ามี เพราะว่าท่านศึกษาท่านก็ทราบ ท่านได้เห็น ได้รู้กายสุจริต วจีสุจริต และกายทุจริต วจีทุจริตที่มีปรากฏอยู่ในโลกก็จำแนกออกได้ว่า เป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ดูเสมือนว่าเป็นผู้ที่มีความเข้าใจเรื่องกรรม มีความเชื่อมั่นในเรื่องของกรรม
แต่ขณะนี้เป็นผลของกรรมหรือเปล่า ถ้าสติปัฏฐานไม่ระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย การเข้าใจเรื่องกรรมก็ยังเป็นเรื่องที่กว้างเกินไป คือ กล่าวถึงเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใดและรู้ว่าเหตุการณ์นั้นเรื่องนั้นเป็นกุศลกรรมหรือเป็นอกุศลกรรม แต่ก็ไม่เท่ากับขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
ถ้าเป็นสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายจริงๆ การรู้เรื่องของกรรมจะละเอียดขึ้น ไม่ใช่เป็นเหตุการณ์กว้างๆ เท่านั้น แต่สามารถรู้ถึงลักษณะของสภาพธรรมว่า ขณะใดเป็นผลของกรรมที่ กำลังเห็น กำลังได้ยิน และขณะใดเป็นกรรม คือ เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต สามารถรู้ความต่างกันของกรรมและผลของกรรมได้ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน จึงจะทำให้รู้แน่ว่า กรรมมี และผลของกรรมมี
ไม่ใช่เพียงแต่เข้าใจว่า มี แต่ว่าขณะนี้ผลของกรรมเป็นสภาพธรรมอะไร ถ้าเข้าใจเรื่องผลของกรรมจริงๆ คือ สติระลึก และรู้ว่าทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่กำลังได้กลิ่น ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส นั่นเป็นผลของกรรม
ถ. อาการปวดท้องและเป็นไข้ ซึ่งธรรมดาน่าจะหายภายใน ๒ อาทิตย์ แต่สภาพนี้เป็นบ่อยๆ แสดงว่าเป็นวิบากกรรมที่ทำไว้มาก ใช่ไหม ทั้งๆ ที่มีการรักษา แต่ก็ไม่หาย
สุ. นี่ก็เป็นเรื่องยาว แต่สภาพธรรม ถ้าสติเกิดระลึกที่ลักษณะของเจ็บหรือปวดขณะนั้น ลักษณะนั้นแน่นอนที่สุด เป็นทุกขกายวิญญาณซึ่งเป็นวิบาก ไม่มีใครต้องการให้ทุกขเวทนานั้นเกิดแน่นอน แต่ไม่มีอะไรที่จะยับยั้งทุกขเวทนานั้นได้ เพราะฉะนั้น ก็ทราบได้ว่าขณะนั้นเป็นวิบาก
ถ. ไม่ได้เป็นตลอดเวลา ...
สุ. นั่นก็เป็นเรื่องคิดอีก ยาวไปอีกว่า ตลอดเวลาหรือไม่ตลอดเวลา แต่ที่จะรู้แน่ คือ เฉพาะขณะที่ความปวดหรือความเจ็บปรากฏ และสติระลึก ขณะนั้นเป็นสิ่งที่บังคับไม่ให้เกิดไม่ได้เลย เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนั้น เป็นอารมณ์ของวิบากจิต ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นอกุศลวิบากะ เพราะฉะนั้น ก็เชื่อมั่นในเรื่องของกรรมและผลของกรรม
ถ. ขณะที่เป็นอย่างนี้ และเราระลึกว่า เราคงเคยทำอะไรไว้ ผลของกรรมจึงเป็นอย่างนี้ ถูกต้องไหม
สุ. ก็เป็นเรื่องคิด ไม่ใช่เรื่องการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ถ้า รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน คือ เข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรม สมกับที่เรียนอภิธรรมหรือปรมัตถธรรม เพราะว่ากำลังมีลักษณะของปรมัตถธรรมปรากฏ ให้ศึกษา ให้รู้ชัดว่า นี่คือสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
สำหรับมัจฉริยะที่ทำให้เกิดในนรกได้ ก็เนื่องจากกระทำอกุศลกรรมแม้ด้วยกายหรือด้วยวาจา ด้วยการกีดกันลาภของบุคคลอื่น คือ เวลาที่บุคคลอื่นกำลังจะให้ทาน ก็อาจจะขัดขวางด้วยความตระหนี่ ไม่พอใจที่จะให้บุคคลนั้นได้ คิดว่าท่านควรจะเป็นผู้เดียวที่ได้ ถ้าเป็นการกระทำอย่างนั้น ย่อมทำอันตรายสวรรค์ของทายก เพราะว่า เขากำลังจะให้ แต่กีดกันไม่ให้เขาให้ และทำอันตรายแก่ลาภของปฏิคาหกผู้ซึ่งกำลังจะได้รับก็พลอยไม่ได้รับ นอกจากนั้น ยังทำลายตัวเอง เพราะว่าขณะนั้นเป็นเจตนาที่ ไม่ต้องการให้คนอื่นได้รับลาภ จึงเป็นเหตุที่จะทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ ถ้ากรรมนั้นสำเร็จเป็นอกุศลกรรมบถครบองค์
สำหรับเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิตได้อีกดวงหนึ่ง คือ กุกกุจจเจตสิก
ใน อัฏฐสาลินี ข้อ ๑๑๖๖ และ ๗๕๒ มีข้อความว่า
กุกกุจจะเป็นไฉน
คือ ความสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร ความสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร ความสำคัญว่ามีโทษในของที่ไม่มีโทษ ความสำคัญว่าไม่มีโทษในของที่มีโทษ
กุกกุจจะ คือ การรำคาญ กุกกุจจายนา คือ กิริยาที่รำคาญ กุกกุจจายิตัตตัง ความรำคาญ เจตโส วิปปฏิสาโร คือ ความเดือดร้อนใจ มโนวิเลโข ความยุ่งใจ ซึ่งมีลักษณะเช่นว่านี้อันใด นี้เรียกว่า กุกกุจจะ
อธิบายนิทเทสกุกกุจจะ มีข้อความว่า
เวลาที่เกิดระลึกได้แล้วก็เดือดร้อนอยู่เนืองๆ อย่างนี้ว่า เราทำชั่วเสียแล้ว ดังนี้ กุกกุจจะนี้ย่อมเกิดด้วยอำนาจความเดือดร้อนเนืองๆ ในภายหลัง
ด้วยเหตุนี้ เพื่อจะทรงแสดงกุกกุจจะนั้นโดยมูล จึงตรัสพระพุทธพจน์ว่า ความสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร เมื่อได้ทำผิดไปแล้ว ก็ย่อมจะทำให้เกิดความเดือดร้อนใจภายหลัง
สำหรับลักษณะของกุกกุจจะ ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า
กรรมที่ทำไปอันบัณฑิตเกลียดชื่อว่ากุกตะ ภาวะแห่งกุกตะนั้นชื่อว่ากุกกุจจะ กุกกุจจะนั้น ปัจฉานุตาปนลักขณัง มีความเดือดร้อนใจในภายหลังเป็นลักษณะ กตากตานุโสจนรสัง มีความเศร้าโศกเนืองๆ ถึงกรรมที่ทำแล้วและยังไม่ได้กระทำ เป็นรสะ วิปปฏิสารปัจจุปัฏฐานัง มีวิปฏิสาร คือ ความร้อนใจเป็นปัจจุปัฏฐาน กตากตปทัฏฐานัง มีกรรมชั่วที่ทำแล้วและกรรมดีที่ยังไม่ทำเป็นปทัฏฐาน บัณฑิตพึงเห็นเหมือนอย่างความเป็นทาส
คนที่เป็นทาส ต้องคิดใช่ไหมว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง และมีอะไรบ้างที่ยังไม่ได้ทำ เพราะฉะนั้น เวลาที่กุกกุจจะเกิด จะคิดถึงสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญใจ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นอกุศลกรรมที่ได้ทำแล้ว และคิดถึง กุศลกรรมที่ยังไม่ได้ทำ จึงเกิดความเดือดร้อนใจขึ้นว่า ยังไม่ได้ทำกุศลกรรมนั้น นี่เป็นลักษณะของกุกกุจจเจตสิก
ข้อความต่อไป แสดงนิวรณ์ตามลำดับกิเลสและลำดับมรรค ข้อความมีว่า
กุกกุจจะและวิจิกิจฉาอันโสดาปัตติมรรคย่อมละได้
เวลาที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุกกุจจะ ก็รู้ว่าเป็นแต่เพียง สภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน สภาพธรรมทุกอย่างย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น ความเดือดร้อนใจในระหว่างที่อบรมเจริญสติปัฏฐานก็จะละคลาย และลดน้อยลงจนกระทั่งเมื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็ดับได้เป็นสมุจเฉท แต่ยังมีโทสมูลจิตเกิด เมื่อประสบกับอารมณ์ที่ไม่พอใจ
แสดงให้เห็นว่า อารมณ์มีอิทธิพลมาก ถ้าจิตใจผูกพันฝังแน่นใน กามอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทำให้เกิดเป็นกามบุคคลในกามภูมิ เวลาที่ประสบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าพอใจ ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้ความชอบใจเกิดขึ้น เวลาที่กระทบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ไม่น่าพอใจ ก็เป็นปัจจัยให้โทสมูลจิตซึ่งยังไม่ได้ดับเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น เป็นการยากที่จะอบรมจนกระทั่งแม้ประสบอารมณ์ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ แต่โทสมูลจิต ก็เกิดน้อยลงๆ
ถ. ดับเป็นสมุจเฉท หมายความว่า ถ้าเจอเหตุปัจจัยอีก สามารถดับได้ ไม่เกิดขึ้นอีก ใช่ไหม
สุ. ไม่เกิดอีกเลย ดับอนุสัยกิเลส ไม่มีแม้แต่กิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เจตสิกประเภทนั้นๆ เกิดขึ้นทำกิจการงานได้
เวลานี้ไม่มีโทสะ เพราะว่าโทสะดับแล้ว และยังไม่ได้เกิด แต่ไม่ได้หมายความว่าดับโทสะแล้ว เพียงแต่ว่าโทสะที่เกิดดับไปแล้วเท่านั้นเอง แต่เมื่อมีปัจจัยโทสะก็ต้องเกิดอีก เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่มีทางที่จะดับกิเลสใดๆ ได้
ถ้าวันนี้โทสะเกิดน้อย และคิดว่าโทสะไม่เกิดแล้ว ต่อไปคงจะดับเป็นสมุจเฉท เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าปัญญาไม่ได้เกิด
ได้ทราบว่ามีท่านผู้ฟังมาจากต่างจังหวัด เมื่อได้รับฟังเรื่องของการเจริญ สติปัฏฐานแล้ว อาจจะมีข้อสงสัยบ้าง ถ้ามีข้อสงสัยก็ขอเชิญ
ถ. กระผมมาจากพิษณุโลก ได้รับฟังคำบรรยายธรรมของอาจารย์จากสถานีวิทยุ รู้สึกประทับใจมาก ผมมีคำถามที่อยากจะเรียนถาม คือ ผมปฏิบัติแล้ว รู้สึกว่าจะหนักๆ ที่ศีรษะ และเดินอานาปาอยู่เรื่อยๆ ขอคำแนะนำจากอาจารย์
สุ. ขณะนั้นยังไม่อยากจะให้ชื่อว่าเป็นสมถภาวนา หรืออานาปานสติสมาธิ จนกว่าจะรู้ลักษณะสภาพของจิตที่กำลังมีลมหายใจเป็นอารมณ์ว่า ขณะนั้นเป็นลักษณะของจิตที่สงบจากโลภะ จากโทสะ จากโมหะ และประกอบด้วยปัญญา หรือเปล่า
ถ้าขณะนั้นไม่ใช่จิตที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ไม่เป็นมหากุศลจิต และ ไม่ประกอบด้วยปัญญา ขณะนั้นก็ยังไม่ใช่การอบรมเจริญความสงบซึ่งเป็น อานาปานสติ
เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเป็นเพียงสมาธิ ความต้องการจดจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใดเพื่อให้จิตไม่คิดถึงอารมณ์อื่น ซึ่งอาจจะมีความรู้สึกว่าได้ผล แต่ว่าผลของการอบรมเจริญสมถภาวนานั้น จะทำให้จิตที่เป็นกุศลสงบมั่นคงขึ้น ประกอบด้วยสมาธิตามลำดับขั้น ไม่ใช่เพียงแต่ให้มีสมาธิจดจ้องอยู่ที่ลมหายใจและไม่รู้ว่า ขณะนั้นจิตเป็นโลภะ มีความต้องการที่จะให้จดจ้องอยู่ที่นั่น หรือว่าเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์
และปนกันด้วย ใช่ไหม เพราะระลึกถึงพุทโธขณะใด ขณะนั้นไม่ได้มีลมหายใจเป็นอารมณ์
ถ. พร้อมกัน คือ หายใจเข้าเป็น พุท หายใจออกเป็น โธ
สุ. เพราะฉะนั้น ไม่รู้เลยว่า จิตเกิดดับสลับเร็วมาก เพราะจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งต้องมีอารมณ์เดียวเท่านั้น จะมี ๒ อารมณ์ไม่ได้ ขณะที่นึกถึงคำว่า พุท ขณะนั้นไม่ใช่มีลมหายใจเป็นอารมณ์ และขณะที่กำลังมีลมหายใจเป็นอารมณ์ขณะนั้นไม่ได้นึกคำว่า พุท
เหมือนอย่างขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน และในขณะที่ได้ยิน ก็ต้องไม่มีสีสันวัณณะรวมอยู่ในเสียงซึ่งกำลังได้ยินด้วย แต่ปรากฏเสมือนว่าเห็นด้วย ได้ยินด้วย เพราะฉะนั้น การที่จะสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้นตรงตามความเป็นจริงได้ ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะและปัญญา
ถ้าไม่มีปัญญา ไม่สามารถจะรู้ได้เลย และขณะที่มีคำว่าพุทเป็นอารมณ์บ้าง หรือมีลมหายใจเป็นอารมณ์บ้าง ขณะนั้นก็ไม่รู้ลักษณะของจิตว่าเป็นกุศลหรืออกุศล เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ใช่กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าไม่รู้อย่างนี้ การอบรมเจริญต่อไปก็เป็นความไม่รู้ ไม่ทราบว่าทำมานานเท่าไรแล้ว
ถ. ตั้งแต่ปี ๒๕๒๐
สุ. ประมาณ ๗ – ๘ ปี ปัญญาเพิ่มขึ้นไหม
ถ. เพิ่มหลังจากการฟังของอาจารย์
สุ. เพราะฉะนั้น ปัญญาไม่ได้เพิ่มจากการที่เดินอานาปาเลย
ถ. มีแต่ความสงบอย่างเดียว
สุ. มีแต่ความพอใจที่เข้าใจว่าสงบ เพราะว่าจิตตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์เดียว แต่ถ้าสงบจริงๆ ขณะใดที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้นสงบจากอกุศล ถ้าไม่ใช่กุศลจิต จะกล่าวว่าสงบไม่ได้
โลภะกำลังยินดีพอใจในอารมณ์เดียว และคิดว่าสงบ แต่ความจริงขณะนั้น เป็นอกุศล ไม่ใช่เป็นกุศล
เป็นเรื่องที่ละเอียดที่จะต้องพิจารณาจากชีวิตประจำวันว่า ในวันหนึ่งๆ กุศลจิตเกิดขณะไหนบ้าง เพื่อที่จะได้ทราบความต่างกันของขณะที่เป็นกุศลจิต กับขณะที่เป็นอกุศลจิตในชีวิตประจำวัน
และเมื่อกุศลจิตเกิด ยังต้องสังเกตด้วยสติสัมปชัญญะว่าขณะนั้นสงบไหม เพราะว่าวันหนึ่งๆ ทุกคนก็ทำกุศล ซึ่งการทำกุศลครั้งหนึ่งๆ อาจจะใช้เวลาหลายชั่วโมงก็เป็นไปได้ เช่น ในการทำบุญเลี้ยงพระ แต่จิตซึ่งเกิดดับในระหว่างนั้น เป็นกุศลขณะไหนบ้าง เป็นอกุศลขณะไหนบ้าง
เวลาที่กุศลจิตเกิด สติสัมปชัญญะต้องระลึกรู้ลักษณะของกุศลจิตจึงจะรู้ว่าขณะนั้นสงบ ถ้าในวันหนึ่งๆ สติยังไม่เคยระลึกลักษณะของกุศลจิตเลย จะไม่รู้ลักษณะของสภาพจิตที่สงบ ทั้งๆ ที่จิตเป็นกุศล แต่ไม่รู้ลักษณะของจิตที่สงบ เพราะว่ากุศลจิตเกิดและดับไปอย่างรวดเร็ว และอกุศลจิตก็เกิดตามอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายได้
อย่างเช่น เวลาที่มีเสียงดัง ไม่น่าพอใจ ในขณะที่กำลังทำกุศล ขณะนั้นต้องเป็นอกุศลที่ไม่พอใจในเสียงซึ่งกำลังปรากฏ สลับกับกุศลจิต
และไม่ใช่มีแต่จิตได้ยินทางหู ยังมีทางตา เห็นสิ่งซึ่งไม่น่าพอใจบ้าง น่าพอใจบ้าง เพราะฉะนั้น ในระหว่างนั้นก็เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง โลภะบ้าง โทสะบ้าง สลับกันไป
การที่จะเป็นสมถภาวนาจริงๆ สติสัมปชัญญะต้องพิจารณาสภาพของกุศลจิต จึงจะเพิ่มกุศลจิตนั้นให้สงบมั่นคงขึ้นได้ แต่ไม่ใช่ด้วยการที่ว่า วันนี้จะจ้องที่หนึ่งที่ใด และเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นความสงบ ซึ่งความจริงเป็นแต่เพียงลักษณะของจิตที่ไม่ ซัดส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ เป็นลักษณะของสมาธิที่เกิดกับโลภมูลจิต เป็นมิจฉาสมาธิก็ได้ สังเกตได้จากการที่ปัญญาไม่เกิด ถ้าปัญญาเกิด ต้องรู้ลักษณะความสงบของจิต และรู้ว่าจิตที่สงบเพิ่มขึ้นเป็นอย่างไร จนกระทั่งประกอบด้วยสมาธิขั้นไหนบ้าง นั่นจึงเป็นลักษณะของปัญญา
เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ไม่ใช่ญาณสัมปยุตต์ ไม่ใช่มหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ขณะนั้นไม่ใช่การเจริญสมถภาวนา จะทำไปสักกี่ปีก็ตาม ผลคือไม่รู้อะไรเลย แม้แต่ลักษณะของจิตว่า จิตที่สงบต่างกับจิตที่ไม่สงบอย่างไร
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๙ ตอนที่ ๑๓๘๑ – ๑๓๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1381
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1382
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1383
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1384
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1385
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1386
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1387
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1388
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1389
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1390
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1391
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1392
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1393
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1394
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1395
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1396
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1397
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1398
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1399
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1400
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1401
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1402
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1403
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1404
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1405
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1406
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1407
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1408
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1409
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1410
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1411
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1412
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1413
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1414
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1415
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1416
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1417
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1418
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1419
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1420
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1421
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1422
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1423
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1424
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1425
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1426
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1427
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1428
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1429
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1430
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1431
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1432
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1433
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1434
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1435
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1436
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1437
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1438
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1439
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1440