แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1391
ครั้งที่ ๑๓๙๑
สาระสำคัญ
การเจริญสมถภาวนา (สติสัมปชัญญะรู้ขณะที่จิตเป็นกุศลต่างกับจิตที่เป็นอกุศล)
อานาปานสติเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ
ขณะใดที่เป็นกุศล เป็นการพักผ่อนที่แท้จริง
ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๒๗
ถ. แต่กระผมรู้สึกว่าสงบขึ้น
สุ. เพียงรู้สึกว่า แต่ขณะที่เป็นกุศลจริงๆ อย่างในขณะนี้รู้ไหม
ขณะที่กำลังฟังธรรมเป็นกุศลหรือไม่ใช่กุศล เป็นกุศล และสงบไหม ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่ระลึก จะไม่รู้ลักษณะที่สงบ แต่บอกได้ว่า เวลาฟังธรรม จิตสงบ
เวลาอ่านพระธรรม ศึกษาพระธรรม พิจารณาพระธรรม ขณะนั้นสามารถระลึกลักษณะของจิตที่สงบขึ้นได้จริงๆ ถ้าเพียงแต่รู้ว่าสติเป็นสภาพที่ระลึกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ โดยเฉพาะถ้าเป็นการเจริญสมถภาวนาเพื่อให้สงบขึ้น ต้องระลึกลักษณะของจิตที่สงบ เมื่อรู้ว่าจิตที่สงบต่างกับจิตที่ไม่สงบ จึงจะเพิ่มความสงบขึ้นได้ แต่ด้วยความไม่รู้ ไม่สามารถให้ความสงบนั้นเพิ่มขึ้นได้
ถ้าตอนต้นไม่รู้ ต่อไปจะรู้ได้ไหม เมื่อไม่เคยสังเกตก็ย่อมรู้ไม่ได้ แต่ลองเริ่มสังเกต การสังเกตไม่ใช่ตัวตน เป็นลักษณะของสติที่ระลึกได้ที่จะพิจารณาว่า จิตที่กำลังเป็นกุศลเป็นอย่างนี้ ผ่องใสอย่างนี้ สะอาดอย่างนี้ ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ เช่น ในขณะที่ให้ทาน ถ้าระลึกจะรู้สภาพของจิตในขณะที่ให้จะรู้ว่า ขณะนั้นประกอบด้วยความผ่องใสจริงๆ ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ และอาจจะประกอบด้วยปีติโสมนัส ฉะนั้น จะเห็นได้เลยว่ากุศลจิตเป็นอย่างนี้ และค่อยๆ เปรียบเทียบลักษณะของกุศลจิตกับอกุศลจิตในชีวิตประจำวัน
เวลาที่กุศลจิตเพิ่มขึ้น สติที่เคยระลึกลักษณะของกุศลจิตย่อมรู้ว่า สภาพของกุศลจิตที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างนั้น ปราศจากอกุศล คือ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นสภาพที่ปลาบปลื้มปีติในกุศล ไม่เหมือนกับขณะที่ยินดีพอใจเวลาที่ได้วัตถุสิ่งของ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ซึ่งขณะนั้นปีติเหมือนกัน ดีใจเหมือนกัน แต่สภาพของจิตต่างกับขณะที่เป็นกุศล
ต้องสังเกต และเป็นผู้ที่สติเกิดระลึกจึงจะรู้ว่า การอบรมเจริญความสงบที่แท้จริงนั้นต่างกับความต้องการจดจ้องอยู่ที่อารมณ์ใดและไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็มีแต่ความไม่รู้เพิ่มขึ้น แต่มีลักษณะของสมาธิเกิดได้ ที่จะไม่ซัดส่ายไปในอารมณ์อื่น และเต็มไปด้วยความพอใจ ซึ่งขณะนั้นต้องเป็นมิจฉาสมาธิ
ทำไมเจาะจงที่จะเจริญอานาปานสมาธิ
ถ. ถ้าไม่เดินอานาปานะรู้สึกว่าจะผิดปกติไป คือ ศีรษะจะมีอาการหนัก
สุ. ลมหายใจเป็นสิ่งที่รู้ยาก ไม่ใช่รู้ง่าย ทางตามีสิ่งที่กำลังปรากฏชัดเจน ทางหูก็มีเสียงที่กำลังปรากฏตามปกติ ขณะนี้ใครมีลมหายใจปรากฏบ้าง ลมเย็นๆ กระทบที่กายรู้ได้ แต่ลมหายใจแผ่วเบากว่านั้นกระทบเพียงช่องจมูก หรือว่าเบื้องบนริมฝีปากเท่านั้น จะปรากฏไหม
เพราะฉะนั้น ไม่ควรต้องการมีอารมณ์ที่ละเอียดในการเจริญความสงบ เพราะแม้อริยสาวก สมถภาวนาของท่านคืออนุสติ ๖ ได้แก่ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ จาคานุสสติ สีลานุสสติ เทวตานุสสติ ท่านเป็นพระอริยสาวกแล้ว แต่ท่านไม่ได้เจาะจงที่จะมีลมหายใจซึ่งเป็นสิ่งที่รู้ยากเป็นอารมณ์ และในพระไตรปิฎกแสดงว่าเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ เช่น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย เพราะเหตุว่าเป็นอารมณ์ที่ละเอียด เฉพาะผู้ที่มีปัญญาเป็น มหาบุรุษจึงควรที่จะมีอารมณ์นั้นๆ จนกระทั่งสามารถถึงอัปปนาสมาธิเป็นฌานจิต ขั้นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌานได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนในยุคนี้ไม่อาจจะมีลมหายใจเป็นอารมณ์ได้ ไม่ใช่อย่างนั้น
ในอดีตอนันตชาติก็มีผู้ที่อบรมเจริญทั้งสมถภาวนาและสติปัฏฐานมาแล้ว เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีลมหายใจเป็นอารมณ์ เช่นเดียวกับมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ หรือมีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะปรากฏ สติก็ควรจะระลึก ถ้าสามารถเกิดได้ ไม่ควรหวั่นเกรง แต่ไม่ควรเจาะจงที่จะมีอานาปานสติ หรือลมหายใจเป็นอารมณ์ของสติ ต้องแล้วแต่สติซึ่งเป็นอนัตตาที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด ที่กำลังปรากฏ ซึ่งสภาพธรรมนั้นก็ปรากฏเพียงชั่วขณะและดับสูญสิ้นไป ไม่กลับมาอีกเลย ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นอย่างนี้ และเมื่อสิ้นชีวิตก็สูญสิ้นสภาพของความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิงอีก เพราะฉะนั้น ไม่มีสิ่งใดที่เหลืออยู่แม้ในขณะที่กำลังมีชีวิตอยู่ ซึ่งสติจะระลึกได้ว่า เป็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น
อย่างนี้จะสงบไหม เมื่อได้ฟังเหตุผล จิตที่เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา รู้ความจริง ขณะนี้จิตสงบ ต่างกับขณะที่กำลังต้องการที่จะเดินอานาปาหรือเปล่า
ปัญญาจะต้องอบรมเจริญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่เจริญเติบโตช้า ไม่เหมือนกับอกุศลทั้งหลายซึ่งเกิดอยู่บ่อยๆ เป็นปกติ
ถ. ที่ผมหนักๆ นี้ อาจารย์มีหนทางจะแนะนำผมบ้างไหม
สุ. ต้องการปัญญาไหม
ถ. ผมจึงได้มาหาอาจารย์
สุ. นี่เป็นจุดประสงค์ ซึ่งบางคนต้องการทำสมาธิเพื่อให้หายโรค หรือ เพื่อเหตุอื่น แต่ผู้ที่เข้าใจพระธรรมจะรู้ว่า ไม่มีสิ่งอื่นประเสริฐเท่ากับปัญญา เพราะฉะนั้น ถ้าอบรมเจริญปัญญา ขณะนั้นเป็นกุศล ดีกว่าขณะที่เป็นมิจฉาสมาธิ แน่นอน
การพักผ่อนมีหลายอย่าง บางท่านแสวงหาการทำสมาธิหลายวิธี ทั้งโดยอาจารย์ในประเทศหรือว่าชาวต่างประเทศซึ่งกำลังใช้สมาธิเป็นการรักษาโรค แต่ถ้าเป็นกุศล จะต่างกับขณะที่เป็นโลภะซึ่งต้องการจะหายโรค
เพราะฉะนั้น การพักผ่อนที่ถูกที่สุด คือ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นการพักผ่อนทั้งกายและใจ กายก็ไม่เดือดร้อนไปด้วยอกุศลกรรม วาจาก็ไม่เดือดร้อนตามอกุศลจิต
ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นพักผ่อนได้ทันที เป็นการพักผ่อนที่แท้จริง คือ พักจากการไหลไปของอกุศลในวันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นกุศล ผลจะต้องมากกว่า และต้องประกอบด้วยปัญญาด้วย
แต่อย่าลืม เมื่อมีกายต้องมีโรค เมื่อมีตาต้องมีโรคตา มีหูต้องมีโรคหู ตลอดไปหมด เพราะฉะนั้น ไม่ควรหวังที่จะหายโรค แต่หวังที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะถ้าสติระลึก ขณะนั้นเป็นผู้ที่มีกัมมัสสกตาญาณจริงๆ เป็นผู้ที่รู้เรื่องของกรรมและผลของกรรมในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน บังคับบัญชาไม่ได้ และสามารถรู้ว่า เมื่อเห็นแล้วเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลซึ่งเป็นกรรม ไม่ใช่เป็นวิบาก เพราะฉะนั้น ขอให้เปลี่ยนจุดประสงค์ คือ ไม่ใช่เพียงต้องการให้หายโรค เพราะว่าโรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว
ถ. ผมคิดว่า ไม่ใช่โรคทางกายที่มีอาการหนัก ผมเดินอานาปาแล้วหาย นี่คือปัญหา ซึ่งปัญญาอย่างผมไม่สามารถจะชี้ชัดลงไปได้
สุ. เวลาที่จิตจดจ้องอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ทำให้ลืมเรื่องอื่นซึ่งอาจ ทำให้จิตใจกระสับกระส่ายหมกมุ่นจนทำให้เกิดความเครียดทางกายก็ได้
ถ. ถ้าพูดถึงด้านจิตใจ ตอนนี้ผมรู้สึกว่า ว่างมาก คือ ว่างจนคิดจะอยู่วัด จะลาจากชีวิตฆราวาส คิดอยู่อย่างนั้น
สุ. ว่าง ปัญญารู้อะไร ถ้าว่าง นี่เป็นสิ่งซึ่งจะต้องพิจารณา พุทธศาสนาสมบูรณ์พร้อมในเหตุผล อย่าพอใจในความว่างซึ่งไม่ใช่ความรู้ ความว่างไม่ใช่ความรู้ เพราะฉะนั้น แทนที่จะพอใจในความว่าง ขณะนี้รู้อะไร ถ้ายังไม่รู้ก็ควรแสวงหาความรู้ อบรมเจริญความรู้ อย่าให้ว่างไปโดยที่ไม่มีความรู้ ไม่มีประโยชน์
ถ. จากการฟังเทปของอาจารย์ที่ว่า การเจริญสติปัฏฐานก่อนจะนอนเราก็ ทำได้ ผมก่อนจะนอนสวดมนต์เสร็จก็ระลึกรู้สิ่งต่างๆ ที่มากระทบทางร่างกาย ถ้าขณะนั้นหลับตา ทางตาก็หายไป แต่หูได้ยินเสียง ผมก็ท่องหรือคิดไปว่า เสียงปรากฏหรืออะไรอย่างนั้นละ ขณะนอนถ้าร้อนก็รู้สึกว่าร้อนปรากฏ หรือเย็นปรากฏถ้า หน้าหนาว หรือจมูกได้กลิ่น กลิ่นปรากฏ เป็นลักษณะอย่างนี้เรื่อยๆ จนวันหนึ่งผมตื่นขึ้นมาในลักษณะที่ไม่มีอาการง่วงหรือเพลีย ลืมตาขึ้นมาสักพักหนึ่ง ก็สงสัยว่าเราเห็นอะไร นึกตั้งนานว่านี่อะไรๆ ซึ่งความจริงเป็นตู้เสื้อผ้า จากการศึกษาถ้ายังมีความสงสัย ไม่ใช่เป็นกุศลแน่ แต่ผมก็คิดว่า นี่เป็นสติ
ฉะนั้น ก่อนนอนก็ยังทำไปเรื่อยๆ คอยว่าเมื่อไรจะเกิดอีกจะได้พิจารณาว่า ช่วงนั้นมีความสงบเกิดขึ้นไหม แต่จากการศึกษาก็ทราบว่า ความอยากหรือความต้องการจะปิดกั้นไม่ให้สติเกิดขึ้น ก็พยายามเลิก ไม่คิด แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า เมื่อไรลักษณะนั้นจะเกิดอีก ก่อนจะนอนผมก็พยายามทำในลักษณะนี้ เพราะคิดว่าอาจจะเกิดอีกสักครั้ง จนลืมไป วันหนึ่งผมฟังเทปอาจารย์ ปกติผมจะเปิดเทปอาจารย์ฟังไปเรื่อยๆ จนหลับ คราวนี้รู้สึกตัวตื่นขึ้นแต่ยังไม่ลืมตา ได้ยินเสียง ลักษณะเหมือนอย่างที่เราท่องเอาไว้ว่า เสียงปรากฏ สภาพเสียง สภาพรู้ ก็ตกใจ คล้ายๆ กับฉงนสนเท่ห์ว่า อะไรนี่ อะไรกันนะ สักขณะหนึ่งจึงรู้ว่าเป็นเสียงนกร้อง ทั้ง ๒ ลักษณะนี้เป็นแค่ขั้นนึกคิด ใช่ไหม
สุ. ขณะนั้นมีตัวตนเต็มที่ กำลังเอ๊ะนี่อะไร ใช่ไหม
ถ. ตอนแรกๆ ไม่ใช่
สุ. ขณะที่กำลังตกใจ ใครตกใจ
ถ. คงเป็นตัวเรา
สุ. ตัวเราแน่นอน แต่ปัญญาไม่ใช่ลักษณะนั้น ปัญญาไม่มีความสงสัย ปัญญาต้องมีเหตุที่จะให้เกิดขึ้น โดยการรู้ว่า ขณะปกติธรรมดาอย่างนี้ สติระลึกเป็นอย่างไร กับขณะที่หลงลืมสติ ต่างกันอย่างไร เป็นปกติ ไม่ผิดปกติเลย ไม่ใช่ว่า ระลึกแล้วก็ตกใจว่า นี่เป็นฝาตู้หรือเป็นอะไร และในระหว่างที่ เอ๊ะ อะไร ในขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา เป็นความสงสัย มีความเป็นตัวเราที่กำลังสงสัย
แต่การอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะค่อยๆ ระลึกลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม แม้ในขณะนี้เอง ไม่จำเป็นต้องคอยจนถึงตอนจะนอน หรือหลังจากที่สวดมนต์แล้ว ซึ่งความเป็นตัวตนทำให้คิดว่า จะทำสติให้ระลึกลักษณะของสิ่งนั้นบ้างสิ่งนี้บ้างหลังจากที่สวดมนต์แล้วนอน ตามความเป็นจริงแล้ว สติเป็นอนัตตา เจตนาเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา สภาพธรรมทุกอย่าง เป็นอนัตตา แต่ความเป็นตัวตนที่เคยยึดถือสภาพธรรมเหล่านี้มาในสังสารวัฏฏ์ ไม่เห็นสักขณะเดียวว่า เวทนาเป็นอนัตตา สัญญา สภาพที่จำเป็นอนัตตา เจตนาเป็นอนัตตา สติเป็นอนัตตา
แม้สติเกิด บางคนก็กล่าวว่า ทำสติตอนนั้นตอนนี้ คือ ยังมีความรู้สึกเหมือนว่าทำ ตามความเป็นจริงทุกอย่างเป็นอนัตตา ถ้าเพียงรู้ชัดว่าขณะนั้นไม่มีเรา และการที่จะไม่มีเราได้ สติต้องระลึกลักษณะที่เป็นนามธรรม รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ตามปกติ ในขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้ ไม่มีความผิดปกติเลย ไม่มีความสงสัยว่านี่อะไร ไม่ใช่อย่างนั้น
เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน และการที่ปัญญาจะเจริญจนสภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริง ถ้าใช้ศัพท์ก็เป็นวิปัสสนาญาณ ในขณะนั้นต้องมีความสมบูรณ์ของปัญญาที่ประจักษ์ในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม
แต่ตามที่ท่านผู้ฟังเล่ามา ขณะนั้นไม่มีการรู้ความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม มีแต่ตัวตนที่ตกใจว่านี่อะไร และกำลังสงสัยในสิ่งที่ปรากฏ แต่ลักษณะของนามธรรมซึ่งกำลังคิดสงสัยว่านี่อะไร ยังเป็นเราอยู่ ถ้าสติไม่ระลึกลักษณะของนามธรรมเลย หรือว่ายังสงสัยอยู่ว่านามธรรมเป็นอย่างไร
ขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้ก็มีสิ่งที่ปรากฏ แต่นามธรรมเป็นอย่างไร
ลักษณะของนามธรรมไม่มีรูปร่าง ไม่มีสีสันวัณณะใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงอาการรู้ ธาตุรู้ เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเห็นนี่เอง คือ กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้เพราะมีสภาพรู้ จนกว่าจะชินกับลักษณะของสภาพรู้
ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ต้องไม่มีเรา มีแต่ลักษณะของสภาพรู้ และสิ่งที่ปรากฏตามปกติ โดยเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทีละอย่าง และไม่มีการสงสัยว่า นี่อะไร ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น จะมีความต้องการเป็นเหตุให้พยายามทำอย่างนั้นอีก ซึ่ง ไม่ใช่การละ และรู้ว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏกับเป็นสภาพรู้ และอบรมเจริญปัญญาต่อไปที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมอื่นๆ ในลักษณะของรูปธรรมอื่นๆ
เรื่องหลอกมีมากจริงๆ ความเป็นตัวตนและความต้องการผลจะทำให้ละความเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จะไม่หวั่นไหวเลย สติระลึกทางกายก็ระลึก ดับไปก็ดับไป สติจะระลึกทางตาก็เป็นปกติ เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน หรือสติปัฏฐานเจริญโดยเป็นปกติ
ถ. ฟังเทปอาจารย์บอกว่า ก่อนจะนอนก็สามารถอบรมเจริญได้
สุ. สติระลึกได้ทุกขณะ
ถ. ถ้าอย่างนั้น ก่อนจะนอนควรจะเลิก หรือระลึกไปเรื่อยๆ
สุ. นี่คือความเป็นตัวตน เมื่อมีการจะเลือกขณะใด ไม่พ้นเรา แสดงให้เห็นว่า ความเป็นตัวตนนี้ละเอียดมาก แม้แต่การคิดว่าจะเลิกหรือจะไม่เลิก เป็นผู้ที่มีปกติ สติระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วแต่ว่าสติจะเกิดเมื่อไร ถ้าเป็นอย่างนี้จริงๆ จะไม่มีก่อนนอน จะไม่มีตอนตื่น หรือตอนที่กำลังสวดมนต์ หรือกำลังทำอะไรก็ตามแต่ ถ้าสติจะเกิดตอนตื่นขึ้น ก็เป็นผู้ที่สติระลึกต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่ต้องไปจำกัดเวลาเลย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๐ ตอนที่ ๑๓๙๑ – ๑๔๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1381
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1382
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1383
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1384
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1385
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1386
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1387
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1388
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1389
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1390
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1391
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1392
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1393
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1394
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1395
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1396
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1397
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1398
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1399
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1400
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1401
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1402
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1403
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1404
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1405
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1406
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1407
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1408
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1409
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1410
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1411
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1412
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1413
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1414
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1415
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1416
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1417
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1418
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1419
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1420
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1421
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1422
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1423
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1424
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1425
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1426
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1427
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1428
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1429
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1430
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1431
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1432
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1433
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1434
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1435
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1436
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1437
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1438
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1439
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1440