แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1402


    ครั้งที่ ๑๔๐๒


    สาระสำคัญ

    องฺ.ติก.ปังกธาสูตร - เพียงความคิดอกุศลยังทำให้เดือดร้อนใจ

    เหตุที่จะให้เกิดกุกกุจจะ

    อถ.สติปัฏฐานวิภังคนิทเทส - อุทธัจจะกุกกุจจะเกิดขึ้นด้วยอโยนิโสมนสิการ

    ธรรม ๖ อย่างเพื่อการละอุทธัจจะกุกกุจจะ

    ขุ.มหา.ปุราณเภทสุตตนิทเทส - ลักษณะของผู้เป็นที่รังเกียจ และผู้ไม่เป็นที่รังเกียจ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๒๘


    กุกกุจจะเป็นอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นรบกวนจิตใจ ทำให้จิตใจไม่สงบ ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะในสมัยนี้ แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เพียงความคิดในใจ ไม่ได้กล่าวออกมา ก็ยังทำให้เดือดร้อนใจได้ถ้าเป็นอกุศล

    อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปังกธาสูตร ข้อ ๕๓๑ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนิคมแห่งชาวโกศลชื่อปังกธา ได้ยินว่า สมัยนั้นพระองค์ประทับอยู่ ณ นิคมแห่งชาวโกศลชื่อปังกธา ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุชื่อกัสสปโคตรเป็นเจ้าอาวาสอยู่ ณ ปังกธานิคม ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุทั้งหลาย ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถาอันปฏิสังยุตด้วยสิกขาบท

    ครั้งนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาอันปฏิสังยุตด้วยสิกขาบทอยู่ ภิกษุกัสสปโคตร ได้เกิดความขัดใจไม่แช่มชื่นว่า สมณะนี้ขัดเกลายิ่งนัก

    ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปังกธานิคมตามควรแก่พระอภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกกลับไปทางพระนครราชคฤห์ ได้ยินว่า สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์

    ครั้งนั้นแล ภิกษุกัสสปโคตรเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปได้ไม่นาน ได้เกิดความรำคาญเดือดร้อนว่า เราผู้เกิดความขัดใจไม่แช่มชื่นว่า สมณะนี้ขัดเกลายิ่งนัก ในเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีถกาอันปฏิสังยุตด้วยสิกขา ชื่อว่าเป็นอันหมดลาภ ไม่มีลาภ ได้ชั่ว ไม่ได้ดีแล้วหนอ ถ้ากระไรเราควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ แล้วพึงแสดงโทษโดยความเป็นโทษในสำนักของพระผู้มีพระภาคเถิด

    ลำดับนั้นแล ภิกษุกัสสปโคตรเก็บงำเสนาสนะ ถือบาตรและจีวร หลีกไปทางพระนครราชคฤห์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ แล้วกราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคได้โปรดทรงรับโทษของท่านโดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมระวังต่อไปเถิด

    แสดงให้เห็นว่า แม้เพียงความคิด ยังไม่กล่าววาจาหรือแสดงด้วยกาย ก็ทำให้เดือดร้อนรำคาญใจได้ เพราะฉะนั้น ถ้ารู้วิธีที่จะทำให้หมดความเดือดร้อนรำคาญใจ โดยพระวินัยจะเห็นได้ว่า ถ้าเห็นโทษโดยความเป็นโทษและขอโทษ จะทำให้ความเดือดร้อนรำคาญใจนั้นหมดไปได้ ไม่ต้องมีกุกกุจจะในเรื่องนั้นอีก แต่การขอโทษก็เป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับบางคน แม้ว่าจะเห็นโทษของตัวเองแล้ว ก็ยังมีอกุศลที่ทำให้ไม่สามารถขอโทษได้ แต่ก็พยายามแก้ตัวใหม่ด้วยการประพฤติสำรวมระวังต่อไป ซึ่ง ควรจะพิจารณาว่า เพราะอะไรทำให้ขอโทษไม่ได้ และถ้ายังขอโทษไม่ได้ในชาตินี้ ในชาติต่อๆ ไปก็เป็นผู้ที่ขอโทษยากอยู่นั่นเอง จะต้องมีความเดือดร้อนใจอยู่เสมอ เพราะว่าตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ย่อมจะมีความคิด หรือการกระทำทางกาย ทางวาจา ที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญใจ ฉะนั้น ควรพิจารณาถึงเหตุที่ทำให้เกิดกุกกุจจะ เพื่อละคลายกุกกุจจะให้เบาบางลง

    เมื่อพิจารณาจาก วุฏฐิสูตร และ ปังกธาสูตร จะเห็นความวิจิตรของจิต แม้ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน และพระภิกษุทั้งหลายก็อยู่ร่วมกันในสำนักของพระผู้มีพระภาคเสมือนญาติในธรรม เพราะว่าพระภิกษุทั้งหลายละ วงศาคณาญาติแล้วจึงออกบวช แต่ความวิจิตรของจิตที่สะสมมาต่างๆ กันก็ทำให้ ต่างคนก็ต่างความคิด

    เช่น พระภิกษุรูปที่คิดว่า ท่านพระสารีบุตรจงใจให้ชายจีวรกระทบตนแล้วไม่ ขอโทษ นี่ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้เลย และถ้าพระผู้มีพระภาคจะตรัสว่า ท่านพระสารีบุตรไม่จงใจ ภิกษุนั้นก็จะคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นฝ่ายท่านพระสารีบุตร

    เป็นความวิจิตรของจิตจริงๆ ที่แสดงให้เห็นว่า การคิดนึกของแต่ละคนบังคับบัญชาไม่ได้เลย ถ้าสะสมอกุศลที่จะคิดในทางอกุศล ก็ย่อมคิดในเรื่องอกุศลต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ในสมัยนี้ ผ่านจากสมัยของพระผู้มีพระภาคมาเป็นเวลาถึง ๒,๕๐๐ กว่าปี อกุศลที่สะสมไว้ก็เพิ่มขึ้น ถ้ายังไม่ได้ขัดเกลาด้วยการฟังพระธรรม และน้อมประพฤติปฏิบัติตามทุกประการ ก็ย่อมมีเหตุให้เกิดกุกกุจจะได้บ่อยๆ เนืองๆ เพราะฉะนั้น จึงควรพิจารณาว่า กุกกุจจะของแต่ละท่านที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร

    ประการหนึ่ง คือ โทสะและกุกกุจจะเกิดจากความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ ซึ่งรวมถึงความไม่รู้และความไม่เข้าใจบุคคลและเหตุการณ์ต่างๆ ด้วย ตัวอย่างคือเรื่องของท่านพระภิกษุรูปหนึ่งกับท่านพระสารีบุตร

    ทุกคนมีเหตุผล แต่ถ้าไม่พิจารณาถึงเหตุผลของคนอื่น เอาแต่ตนเองเป็นเครื่องวัด ย่อมจะเกิดความคิดว่า ทำไมคนนั้นไม่ทำอย่างนี้ ทำไมคนนี้ไม่ทำอย่างนั้น หรือว่าควรจะทำอย่างนี้ไม่ควรจะทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ทำให้เกิดกุกกุจจะได้ ถ้าเป็นผู้ที่พยายามเข้าใจคนอื่น มีความเห็นใจ และให้อภัย ก็จะเป็นผู้ที่มีความอดทน ไม่แสดงกายวาจาให้คนอื่นเดือดร้อน ซึ่งขณะใดที่แสดงกายวาจากระทบกระเทือน ให้คนอื่นเดือดร้อน ตนเองย่อมเดือดร้อนในภายหลัง

    . คนที่ไม่ยอมพูดขอโทษคนอื่น นั่นคือมีกุกกุจจะในใจของตัวเองแล้ว ซึ่งเป็นอกุศล และถ้าเขายกน้ำชามาให้ ไม่ยอมกล่าวคำว่า ขอบคุณ ขอบคุณกับ ขอโทษนี่ จะคู่กันไหม

    สุ. เวลาไม่ขอบคุณ ภายหลังก็นึกว่า ขอบคุณหรือยัง หรือไม่ได้ขอบคุณ ก็เป็นกุกกุจจะได้

    . เท่าที่สังเกต ผู้ที่ไม่ยอมขอโทษ ก็ไม่ยอมขอบคุณเหมือนกัน เป็นอัธยาศัยของบุคคลคนนั้น คือ จะมีมานะรวมเข้าไปด้วยไหม นอกจากกุกกุจจะแล้ว

    สุ. เป็นการสะสมของจิต เพราะฉะนั้น เวลาเห็นคนอื่น สะท้อนให้เห็นว่า อาจจะเป็นเราได้ไหมในชาติหนึ่งข้างหน้า ถ้าอกุศลนั้นๆ ยังไม่ได้ขัดเกลา

    เพราะฉะนั้น ควรพิจารณาเห็นอกุศลตามความเป็นจริงและเห็นโทษ เพียรที่จะละคลายอกุศลทุกประการ และคิดถึงบุคคลอื่นในทางที่เป็นกุศล พร้อมกันนั้น เป็นผู้ที่ทำความดีเสมอและเพิ่มขึ้น เพราะว่าอกุศลมีมาก ซึ่งทางเดียวที่จะคลาย อกุศลได้ คือ ด้วยการเจริญกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติทำกุศลและเจริญ สติปัฏฐาน ย่อมมีเหตุที่จะให้เกิดกุกกุจจะน้อย แต่ถ้าอดทนไม่ได้ต่อการกระทำ ทางกายทางวาจาของคนอื่น และใช้กิริยาอาการที่ไม่เหมาะสม ตนเองย่อมเป็นผู้เดือดร้อนในภายหลังได้

    สัมโมหวิโนทนี สติปัฏฐานวิภังคนิทเทส นิวรณบรรพ มีข้อความที่แสดงว่า

    อุทธัจจกุกกุจจะเกิดขึ้นด้วยอโยนิโสมนสิการ ในเพราะความไม่เข้าไปสงบ แห่งจิต

    ขณะใดที่ไม่ใช่กุศล พิจารณาได้เลย กำลังคิดอะไรในขณะนั้นที่ไม่ใช่กุศล ก็มักจะคิดถึงคนอื่นในทางที่ไม่ถูก ในทางที่ไม่เข้าใจ ไม่ประกอบด้วยเมตตา เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น อุทธัจจกุกกุจจะเกิดขึ้นด้วยอโยนิโสมนสิการ ในเพราะความไม่เข้าไปสงบแห่งจิต

    อาการแห่งจิตอันไม่เข้าไปสงบ ชื่อว่าอวูปสมะ แต่เมื่อว่าโดยอรรถ คำนี้ก็คือ อุทธัจจกุกกุจจะนั่นแหละ เมื่อยังอโยนิโสมนสิการในอุทธัจจกุกกุจจะนั้นให้เป็นไปมากอยู่ อุทธัจจกุกกุจจะย่อมเกิดขึ้น

    นี่เป็นเครื่องเตือนใจท่านผู้ใดที่ยังข้องใจอยู่ ไม่ว่าในเรื่องใดๆ ก็ตามลองคิดดูว่าในขณะนั้นเพราะไม่ลืม ไม่ยอมพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการ เพราะฉะนั้น ยังคงมีความขุ่นหมองเดือดร้อนใจอยู่ แต่ถ้าเป็นโยนิโสมนสิการเกิดขึ้นรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ไม่ว่ากายของใคร วาจาของใคร แม้แต่กายวาจาของเราเอง ก็ย่อมมีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นเป็นไป ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ แต่ว่าเหตุการณ์นั้นๆ ก็ผ่านไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าคิดใหม่ด้วยโยนิโสมนสิการ เข้าใจใหม่ และขณะนั้นอภัยให้และมีเมตตา อุทธัจจะย่อมไม่เกิด แต่ตราบใดที่ยังไม่เปลี่ยน เมื่อยัง อโยนิโสมนสิการในอุทธัจจกุกกุจจะนั้นให้เป็นไปมากอยู่ อุทธัจจกุกกุจจะย่อมเกิดขึ้น

    ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความไม่เข้าไปสงบแห่งจิตมีอยู่ การทำให้มากซึ่ง อโยนิโสมนสิการในธรรมนั้น นี้เป็นอาหารเพื่อให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือว่าเพื่อความไพบูลย์มากขึ้นแห่งอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนี้

    เพราะฉะนั้น ต้องรู้อาหารของอุทธัจจกุกกุจจะด้วย เวลาที่อุทธัจจกุกกุจจะเกิดระลึกได้ทันทีว่า อโยนิโสมนสิการ และตราบใดที่ยังไม่เป็นโยนิโสมนสิการ อุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดแล้วก็จะไพบูลย์เพิ่มมากขึ้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อนึ่ง การละอุทธัจจกุกกุจจะย่อมมีด้วยโยนิโสมนสิการ ในเพราะความสงบแห่งจิต กล่าวคือสมาธิ ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเข้าไปสงบแห่งจิตมีอยู่ การทำให้มากซึ่ง โยนิโสมนสิการในธรรมนั้น นี้เป็นอาหารเพื่อให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น หรือว่าเพื่อการละอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนี้

    ข้อที่ว่า อนึ่ง การละอุทธัจจกุกกุจจะย่อมมีด้วยโยนิโสมนสิการ ในเพราะความสงบแห่งจิต กล่าวคือสมาธิ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศลธรรมอื่นๆ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นสัมมาสมาธิ ขณะใดที่เมตตาเกิด ขณะนั้นก็เป็นสมาธิขั้นหนึ่ง เพราะเมื่อเป็นกุศลจิต เอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดกับกุศลจิตก็เป็นสัมมาสมาธิ

    เพราะฉะนั้น ละอุทธัจจกุกกุจจะ หรือละโทสะ ความขุ่นเคืองใจ ด้วยการเจริญเมตตาได้ แต่ขณะใดที่ไม่เข้าใจคนอื่น ขณะนั้นไม่ใช่เมตตา

    พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้ทุกท่านเป็นผู้ที่อดทน แม้การคิดร้ายต่อคนอื่น ก็ต้องรู้ว่า ขณะนั้นไม่อดทน จึงคิดร้ายต่อคนอื่น ขณะที่ไม่เข้าใจบุคคลอื่น หรือไม่ให้อภัยบุคคลอื่น หรือขณะที่กล่าวคำที่ไม่สมควร ขณะนั้นเป็นผู้ที่ไม่อดทน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อีกอย่างหนึ่ง ธรรมทั้งหลาย ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อการละอุทธัจจกุกกุจจะ คือ

    • ๑. ความเป็นพหูสูต (การฟังและการศึกษามาก)
    • ๒. ปริปุจฉกถา (การสอบถาม)
    • ๓. ความเป็นผู้ชำนาญในพระวินัย (นี่สำหรับบรรพชิต สำหรับคฤหัสถ์ก็เป็น ผู้ที่มีความชำนาญในความประพฤติทางกายทางวาจาที่สมควร)
    • ๔. การคบบุคคลผู้เจริญ
    • ๕. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
    • ๖. สัปปายกถา

    ถ้าเกิดกุกกุจจะขึ้น ต้องละด้วยธรรม ๖ ประการนี้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    จริงอยู่ แม้เมื่อเรียนพระพุทธพจน์และอรรถกถานิกาย ๑ หรือว่า ๒ นิกาย ๓ นิกาย ๔ นิกาย ๕ นิกาย แม้โดยการสดับมาก ก็ย่อมละอุทธัจจกุกกุจจะได้

    ถ้าไม่ศึกษา ก็ไม่เข้าใจสภาพธรรม ไม่สามารถรู้ว่า อกุศลธรรมมีโทษอย่างไร กุศลธรรมมีประโยชน์อย่างไร แต่เมื่อศึกษามาก พิจารณาธรรมมาก ขณะนั้นย่อมเป็นปัจจัยทำให้รู้ว่า แม้กุกกุจจะที่เกิดก็เป็นชั่วขณะจิตหนึ่งและดับไป ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    เมื่อเป็นผู้ที่มากด้วยการสอบถามถึงสิ่งที่ควรและไม่ควรก็ดี

    ฉะนั้น โอกาสที่จะทำสิ่งที่ไม่ควรที่จะทำให้เกิดกุกกุจจะก็ย่อมน้อยลง

    เมื่อเป็นผู้รู้ ผู้ชำนาญในพระวินัยบัญญัติ เพราะความเป็นผู้ชำนาญนั้นก็ทำให้ความประพฤติเป็นไปในทางที่ดี สำหรับคฤหัสถ์นั้น การเป็นผู้รู้ในการประพฤติที่สมควรต่อบรรพชิต ย่อมทำให้ไม่มีกุกกุจจะได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่รู้ว่า คฤหัสถ์ควรจะประพฤติต่อบรรพชิตอย่างไร แม้ในเรื่องของการไหว้ การนมัสการ การติดต่อ เมื่อได้กระทำไปโดยที่ไม่สมควรไม่เหมาะ ก็ทำให้เกิดกุกกุจจะได้ ด้วยเหตุนี้จึงควรเป็นผู้ที่ศึกษามาก เพื่อจะได้เป็นผู้รู้ ผู้ชำนาญทั้งในวินัยของบรรพชิตและของคฤหัสถ์ด้วย

    การคบบุคคลผู้เจริญ เช่น เมื่อเข้าไปหาพระเถระผู้ใหญ่ผู้เจริญเช่นกับท่าน พระอุบาลีก็ดี ย่อมละกุกกุจจะได้

    นี่เป็นในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เพราะฉะนั้น สำหรับในสมัยนี้ ต้องทราบว่า บุคคลใดซึ่งเป็นผู้รู้ในเรื่องใด เมื่อได้เข้าไปสอบถามท่านเหล่านั้นก็จะทำให้ละกุกกุจจะคือความประพฤติเพราะไม่รู้ได้

    การมีมิตรดี ที่คอยแนะนำตักเตือนในโอกาสที่สมควร ย่อมเป็นเหตุให้ไม่เกิด กุกกุจจะ คือ ไม่มีความประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่ไม่ถูกต้อง

    นอกจากนั้น ย่อมละอุทธัจจกุกกุจจะได้ แม้ด้วยสัปปายกถา อันอาศัยสิ่งที่ควรและไม่ควร คือ พระธรรมที่เหมาะควรแก่โอกาสและเหตุการณ์นั้นๆ

    ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ธรรม ๖ อย่าง ย่อมเป็นไปเพื่อการละอุทธัจจะกุกกุจจะ ดังนี้

    ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดว่า ก็อุทธัจจะอันละด้วยธรรม ๖ เหล่านี้ ไม่เกิดต่อไปด้วยอรหัตตมรรค และกุกกุจจะอันละได้ด้วยธรรม ๖ เหล่านี้ ไม่เกิดอีกต่อไปด้วยอนาคามิมรรค ดังนี้

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้รู้ ต้องเป็นผู้ศึกษา ต้องเป็นผู้ที่คบผู้เจริญ ต้องเป็นผู้มีกัลยาณมิตร และต้องเป็นผู้ที่เข้าใจในสัปปายกถา

    ข้อความในพระไตรปิฎกมีมากที่กล่าวถึงการประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่จะทำให้ตนเองไม่เป็นที่รังเกียจ เพราะเวลาที่กุกกุจจะเกิดขึ้นจะมีความรู้สึกว่า ตนเองได้กระทำสิ่งซึ่งเป็นที่รังเกียจ เพราะฉะนั้น จึงควรเห็นโทษของอกุศล และ อย่าทำตนให้เป็นที่รังเกียจ

    ขุททกนิกาย มหานิทเทส ปุราเภทสุตตนิทเทสที่ ๑๐ ข้อ ๔๐๐ แสดงลักษณะของผู้เป็นที่รังเกียจ และผู้ไม่เป็นที่รังเกียจ ซึ่งมีข้อความว่า

    ก็บุคคลผู้เป็นที่รังเกียจเป็นไฉน

    บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม มีความประพฤติอันไม่สะอาดที่พึงระลึกด้วยความระแวง มีการงานอันปกปิด มิใช่สมณะก็ปฏิญาณว่า ตนเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ก็ปฏิญาณว่าเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นผู้มีความเน่าอยู่ ณ ภายใน มีจิตชุ่มอยู่ด้วยราคะ เป็นดังว่าหยากเยื่อ บุคคลนี้เรียกว่า เป็นที่รังเกียจ

    ถ้าเป็นที่รังเกียจ หรือคนอื่นรังเกียจ ตนเองย่อมเกิดความรำคาญใจซึ่งเป็น กุกกุจจะขึ้น แต่กุกกุจจะนั้นเกิดขึ้นเพราะโทษของตนเอง เพราะว่าตนเอง เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม มีความประพฤติอันไม่สะอาด

    อีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้มักโกรธ มีความแค้นเคืองมาก ถูกใครว่าเข้าแต่น้อย ก็ขัดใจ โกรธเคือง มุ่งร้าย ปองร้าย ทำความโกรธ ความเคือง ความไม่ยินดีให้ปรากฏ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นที่รังเกียจ

    ใครก็ตามที่กิริยาอาการเต็มไปด้วยโทสะ หรือว่าใครก็ตามซึ่งอาจจะมีคำพูดที่เป็นคำติเพียงเล็กน้อยไม่มากมายเลย แต่ก็มีการแสดงความโกรธ ความไม่พอใจ ความขัดใจอย่างรุนแรง ในขณะนั้นย่อมเป็นที่รังเกียจของคนอื่น จนกระทั่งไม่เตือน ก็ได้ ใช่ไหม เพราะถ้าเตือนก็แสดงกิริยาอาการที่แสดงความแค้นเคืองมาก



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๑๔๐๑ – ๑๔๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 90
    28 ธ.ค. 2564