แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1404
ครั้งที่ ๑๔๐๔
สาระสำคัญ
ความโกรธไม่มีประโยชน์ เต็มไปด้วยโทษ
พยาบาทอันละด้วยธรรม ๖
ขุ.มหา.สารีปุตตสุตตนิทเทส - รากของความโกรธ
ขุ.มหา.ปุราณเภทสุตต-นิทเทส - แสดงบุคคลที่โกรธเพราะเหตุต่างๆ
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๒๘
ผู้ฟัง สมัยที่ยังไม่เรียนธรรม คนที่เราโกรธจัดๆ รวมแล้วเกือบ ๑๐ คน ก็เรียงลำดับว่า คนนี้เดี๋ยวนี้เรายังโกรธเขาอยู่แค่ไหน คนนั้นลดลงไปบ้างแล้วหรือยัง สมัยที่ยังไม่ได้เรียนธรรม ยังไม่รู้จักเมตตา ยังไม่ได้พิจารณาเรื่องของกรรม สมัยนี้ก็ นึกถึงอยู่เหมือนกัน ซึ่ง ๗ – ๘ คน หรือ ๑๐ คนนั้น ผมก็ยังมีความโกรธอยู่บ้าง แต่น้อยลงไป ไม่ใช่เพราะอาศัยปัญญา แต่เพราะเวลาที่ห่างออกไปๆ จึงไม่โกรธ
สุ. เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาจริงๆ ว่า ที่หายโกรธนั้นเพราะอะไร เพราะลืม เพราะไม่สนใจ หรือเพราะรู้ว่าความโกรธไม่มีประโยชน์ เต็มไปด้วยโทษ เหมือนกับคนที่จับถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลว หรือจับซี่เหล็กอันร้อน และคูถ คือ ของสกปรก ของไม่สะอาด เป็นต้น แล้วประหารคนอื่น
ผู้ฟัง บางทีไม่อยากโกรธ แต่คนเราอยู่ด้วยกัน ถ้าเราทำดีมากๆ เช่น มีอัธยาศัยดี มีความโอบอ้อมอารี มีความเผื่อแผ่ แต่เขาก็ไม่รู้จักคำว่า พอดี ถ้าเราทำโกรธบ้าง ให้เขารู้สึกว่าเขาทำความผิด เมื่อเราแสดงกิริยาโกรธโดยแสดงสีหน้าหรือท่าทาง ผู้ที่ถูกเราโกรธ เขาจะรู้สึกตัว และดีขึ้น
สุ. ตอนแรกๆ ที่ยังไม่ได้พิจารณาธรรมโดยละเอียด จะคิดอย่างนี้ และจะทำอย่างนี้ แต่ถ้าเห็นโทษแม้เพียงเล็กน้อยของความโกรธ ยังอยากจะทำอย่างนั้นหรือเปล่า
ผู้ฟัง ตอนแรกที่ยังไม่ได้ศึกษา คิดว่าจะต้องโกรธให้เห็น
สุ. โดยมากจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าศึกษาโดยละเอียดจริงๆ จะเริ่มเห็นโทษแม้เพียงเล็กน้อยของความโกรธหรือของอกุศล และถ้าเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ยิ่งจะรู้ว่า เพียงแต่ต้องการแสดงอย่างนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควร เป็นการสะสม อกุศลธรรม ต้องพยายามขัดเกลาไปเรื่อยๆ จริงๆ ในทางโลกอาจจะคิดอย่างหนึ่ง แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ ในทางธรรม ต้องเป็นผู้ตรง คือ กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล และที่คิดว่าได้ผล ที่จริงถ้าได้ผลทั้งสองฝ่ายต้องเป็นกุศล ไม่ใช่เพราะอกุศลจึงทำให้ดีทั้งสองฝ่าย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะอกุศลดีไม่ได้ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ ไม่สามารถทำให้ได้รับผลที่เป็นสุข เพราะว่าอกุศลธรรมทั้งหลายทำให้เกิดทุกข์
ข้อความต่อไปมีว่า
เมื่อตั้งอยู่ในความใคร่ครวญ พิจารณากัมมัสสกตาทั้งสองก็ดี เมื่อ เสพกัลยาณมิตรผู้ยินดีในเมตตาภาวนาเช่นกับพระอัสสคุตตเถระก็ดี ย่อมละพยาบาทได้
มีคำว่า ใคร่ครวญ เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาจริงๆ ให้เห็นว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล โดยเฉพาะเรื่องของกัมมัสสกตาทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ทั้งเขาและเรา ไม่ว่าเราจะเป็นผู้โกรธ หรือเขาจะโกรธเราก็ตาม เพราะถ้าเราโกรธคนอื่น ข้อความมีว่า ท่านโกรธเขาแล้วจะทำอะไรเขาได้
ทำได้ไหม เวลาโกรธคนอื่นซึ่งไม่โกรธ แต่จะทำได้กับผู้ที่ยังโกรธอยู่
ถ้าคนนั้นเป็นผู้ที่ไม่โกรธ เราจะทำอะไรเขาได้ เพราะทำอย่างไรๆ เขาก็ไม่โกรธ แม้จะทำอย่างไรก็ตามแต่ จักอาจเพื่อยังคุณมีศีลเป็นต้นของเขาให้พินาศไปได้หรือ
ถ้าเขาเป็นผู้ที่มีศีล มีคุณ ความโกรธของเราสามารถจะทำให้เขาเป็นผู้ที่ หมดคุณ หมดศีล ได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความโกรธไม่มีประโยชน์เลย นอกจากนั้น ยังต้องได้รับผลจากความโกรธของตนเอง และเวลาที่คนอื่นโกรธท่าน ท่านไม่ควรโกรธตอบด้วย แต่ควรพิจารณาใคร่ครวญว่า แม้บุคคลอื่นโกรธเราแล้ว จักทำอะไรเราได้ จักอาจเพื่อยังคุณมีศีลเป็นต้นของเราให้พินาศไปได้หรือ
ถ้าท่านเป็นคนดี และคนอื่นโกรธ คนที่โกรธท่านไม่สามารถทำให้ท่านเสื่อมจากคุณ จากศีลของตัวท่านได้เลย เพราะว่ายิ่งเขาโกรธ ก็ยิ่งเป็นโทษสำหรับเขา ต้องใคร่ครวญและอย่าลืมว่า เมื่อตั้งอยู่ในความใคร่ครวญ พิจารณากัมมัสสกตาทั้งสอง ก็ดี เมื่อเสพกัลยาณมิตรผู้ยินดีในเมตตาภาวนาเช่นกับพระอัสสคุตตเถระก็ดี ย่อมละพยาบาทได้
นอกจากนั้น
ย่อมละพยาบาทได้ แม้ด้วยสัปปายกถาอันอาศัยซึ่งเมตตาเป็นต้น ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ธรรม ๖ ย่อมเป็นไปเพื่อการละพยาบาท ดังนี้ ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดว่า พยาบาทอันละด้วยธรรม ๖ เหล่านี้ ไม่เกิดต่อไปด้วยอนาคามิมรรค ดังนี้
ถึงแม้ว่าจะศึกษาธรรม ใคร่ครวญธรรม พิจารณาธรรม และเจริญเมตตา แต่ ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ถึงแม้ว่าโทสะจะไม่เกิดบ่อยอย่างที่เคย หรือว่าลดน้อย เบาบางลงไปก็ตาม แต่ยังไม่หมดความขุ่นเคืองใจแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ โดยสิ้นเชิง จนกว่าจะบรรลุความเป็นพระอนาคามีบุคคล นี่คือการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
และอกุศลทั้งหลาย คือ อกุศลเจตสิก ย่อมเกี่ยวข้องสัมพันธ์เป็นปัจจัยแก่กันและกัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงรากของความโกรธใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส สารีปุตตสุตตนิทเทสที่ ๑๖
ข้อความมีว่า
รากแห่งความโกรธ ในคำว่า พึงขุดรากความโกรธและความดูหมิ่นนั้นดำรงอยู่ เป็นไฉน อวิชชา อโยนิโสมนสิการ อัสมิมานะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ เป็นรากแห่งความโกรธ
รากแห่งความดูหมิ่นเป็นไฉน อวิชชา อโยนิโสมนสิการ อัสมิมานะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ เป็นรากแห่งความดูหมิ่น
เพราะฉะนั้น ขณะใดที่โกรธเกิดขึ้น ผู้ที่มีสติซึ่งได้ศึกษาธรรมและได้ฟัง พระธรรมโดยละเอียดจะระลึกได้ว่า ในขณะนั้นไม่ได้มีแต่โทสะอย่างเดียว ยังมีกิเลสอื่นๆ อยู่อีกมาก คือ ทั้งอวิชชา อโยนิโสมนสิการ อัสมิมานะ อหิริกะ อโนตตัปปะ และอุทธัจจะด้วย
เพียงอกุศลธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกได้ว่า แม้ อกุศลธรรมอื่นๆ ก็ยังมีอยู่มากด้วย จึงเห็นความน่ารังเกียจของอกุศลธรรมที่มีอยู่ ในตนได้ เพราะมักจะรังเกียจอกุศลธรรมที่มีอยู่ในบุคคลอื่น แต่ผู้ที่ฉลาดต้องรังเกียจอกุศลธรรมที่มีอยู่ในตน
ข้อ ๙๔๖ มีข้อความว่า
... อกุศลธรรมทั้งหลายเป็นฝักฝ่ายมาร เป็นบ่วงมาร เป็นเบ็ดมาร เป็น เหยื่อมาร เป็นวิสัยมาร เป็นเครื่องให้เดือดร้อนของมาร เป็นอาหารมาร เป็นเครื่องผูกของมาร เป็นฝักฝ่ายอกุศล เป็นเครื่องให้เกิดทุกข์ เป็นสภาพมีวิบากเป็นทุกข์ เป็นเหตุให้ไปนรก เป็นเหตุให้เกิดเป็นดิรัจฉานและเปรตวิสัย
คงไม่มีใครอยากเกิดที่นั่นแน่ แต่ถ้ายังมีกิเลส ยังมีอกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ แสดงให้เห็นว่า ยังมีอาหารของมาร ยังมีเครื่องผูกของมาร ยังเป็นเยื่อของมาร เป็นวิสัยของมาร เป็นฝักฝ่ายอกุศล เป็นเครื่องให้เกิดทุกข์ เป็นสภาพมีวิบากเป็นทุกข์ เป็นเหตุให้ไปนรก เป็นเหตุให้เกิดเป็นดิรัจฉานและเปรตวิสัย
โกรธเกิดขึ้นขณะเดียวคิดว่าไม่มาก แต่ทีละขณะ สองขณะไปเรื่อยๆ ย่อมเป็นเหตุที่สามารถไปสู่อบายภูมิได้
เวลาที่ความโกรธเกิดขึ้น ถ้าพิจารณาจะเห็นได้ว่า ผู้ที่ยังโกรธ เพราะว่ายังมีความติด ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ถ้ามีความโกรธมาก แสดงว่า เป็นผู้ที่ติดมากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งข้อความใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส ปุราเภทสุตตนิทเทสที่ ๑๐ แสดงบุคคลที่โกรธเพราะเหตุต่างๆ คือ
ข้อ ๔๑๐
พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า บุคคลย่อมโกรธเพราะไม่ได้ลาภอย่างไร
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ยังโกรธ ขัดเคือง แค้นใจ ทำความโกรธ ความ ขัดเคือง และความไม่ยินดีให้ปรากฏว่า เราย่อมไม่ได้สกุล ไม่ได้คณะ ไม่ได้อาวาส ไม่ได้ลาภ ไม่ได้ยศ ไม่ได้สรรเสริญ ไม่ได้สุข ไม่ได้จีวร ไม่ได้บิณฑบาต ไม่ได้เสนาสนะ ไม่ได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ไม่ได้บุคคลเป็นคิลานุปฐาก เราเป็นผู้มีชื่อเสียงไม่ปรากฏ บุคคลย่อมโกรธเพราะไม่ได้ลาภอย่างนี้
นี่เป็นชีวิตประจำวัน ถ้าได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ในขณะนั้นจะมีความ ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินพอใจ จะไม่เป็นปัจจัยให้เกิดความโกรธเลย แต่ในวันหนึ่งๆ พิจารณาดูว่า ที่ความโกรธ ความไม่พอใจ ความขุ่นเคืองใจ ความเสียใจ ความน้อยใจเกิด ก็เพราะไม่ได้ลาภ แม้เป็นภิกษุก็ยังมีความแค้นใจ ขัดเคือง ขณะที่รู้สึกว่า ไม่ได้สกุล ไม่ได้คณะ ไม่ได้อาวาส ไม่ได้ลาภ ไม่ได้ยศ ไม่ได้สรรเสริญ ไม่ได้สุข ไม่ได้จีวร ไม่ได้บิณฑบาต ไม่ได้เสนาสนะ ไม่ได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ไม่ได้บุคคลเป็นคิลานุปฐาก เราเป็นผู้มีชื่อเสียงไม่ปรากฏ บุคคลย่อมโกรธเพราะไม่ได้ลาภอย่างนี้ แต่ถ้าไม่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็ไม่เดือดร้อน เมื่อไม่ได้ ก็ไม่ได้
การที่จะได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เพราะอะไร ต้องมีเหตุ ไม่ใช่ว่าธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุ ต้องเป็นผลของกุศลที่ได้กระทำแล้ว ฉะนั้น ถ้าไม่ได้ทำกุศล และอยากได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุข ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ และบางคนเมื่อได้แล้วก็กลับเป็นโทษได้
ข้อ ๓๘๕ มีข้อความว่า
... ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สะดุ้ง หวาดเสียว สยดสยอง ภิกษุนั้นย่อมสะดุ้ง หวาดเสียว สยดสยอง กลัว ถึงความสะดุ้งว่า เราไม่ได้สกุล ไม่ได้ หมู่คณะ ไม่ได้อาวาส ไม่ได้ลาภ ไม่ได้ยศ ไม่ได้สรรเสริญ ไม่ได้สุข ไม่ได้จีวร ไม่ได้บิณฑบาต ไม่ได้เสนาสนะ ไม่ได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ไม่ได้บุคคลผู้พยาบาลในคราวเป็นไข้ เราจะไม่เป็นผู้มีชื่อเสียงปรากฏ
บางทีก็กลัวไปถึงอนาคตว่า จะไม่เป็นอย่างนั้น จะไม่เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่มีความหวาดกลัว แม้แต่คฤหัสถ์ก็ยังกลัวอนาคตได้ว่า ต่อไปข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จะไม่ได้หมู่คณะ ไม่ได้ลาภ ไม่ได้ยศ ไม่ได้สรรเสริญ ไม่ได้สุขต่างๆ ซึ่งแสดงถึงความห่วงใยในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ตามความจริงถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงในกรรมก็หมดห่วงได้ เพราะว่าอารมณ์ที่ดีทั้งหลายต้องเป็นผลของกุศลกรรม เมื่อถึงเวลาที่กุศลกรรมให้ผลสิ่งต่างๆ ที่ดีย่อมกระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย แม้ว่าจะปรารถนาหรือไม่ปรารถนาก็ตาม แต่ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมก็ตรงกันข้าม
เรื่องความสรรเสริญเป็นสิ่งซึ่งทุกคนติดอย่างมาก บางคนไม่อยากได้ลาภหรือยศ แต่ยังเป็นผู้ที่ปรารถนาความสรรเสริญ ซึ่งข้อความใน ปสูรสุตตนิทเทสที่ ๘ ข้อ ๒๗๗ มีว่า
คำว่า เป็นผู้ใคร่ความสรรเสริญ กล่าวว่าตนเป็นคนฉลาด มีความว่า เป็นผู้ใคร่ความสรรเสริญ คือ เป็นผู้ใคร่ความสรรเสริญ ต้องการความสรรเสริญ ประสงค์ความสรรเสริญ มุ่งหมายความสรรเสริญ เที่ยวแสวงหาความสรรเสริญ
คำว่า กล่าวว่าตนเป็นผู้ฉลาด คือ พูดว่าตนเป็นคนฉลาด พูดว่าตนเป็นบัณฑิต พูดว่าตนเป็นนักปราชญ์ พูดว่าตนเป็นผู้มีญาณ พูดว่าตนเป็นผู้มีเหตุ พูดว่าตนเป็นผู้มีลักษณะ พูดว่าตนเป็นผู้มีการณะ พูดว่าตนเป็นผู้มีฐานะ ด้วยลัทธิของตน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้ใคร่ความสรรเสริญ กล่าวว่าตนเป็นผู้ฉลาด
เป็นโลภะนั่นเอง และถ้าไม่ได้อย่างนี้ ก็เป็นเหตุให้เกิดโทสะ ความขุ่นเคืองใจ ถ้าไม่ต้องการความสรรเสริญ จะกล่าวว่าตนเป็นผู้ฉลาดไหม ทำไมจึงกล่าวว่า ตนเป็นผู้ฉลาด ถ้าคิดกลับกันก็จะรู้ได้ว่า เพราะเป็นผู้ที่ใคร่ความสรรเสริญ และ ถ้าไม่ได้ก็ต้องเกิดความขุ่นเคืองใจ
ปสูรสุตตนิทเทสที่ ๘ ข้อ ๒๘๐ มีคำอธิบายว่า
คำว่า เมื่ออยากได้ความสรรเสริญ ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ มีความว่า เมื่ออยากได้ความสรรเสริญ คือ เมื่ออยากได้ ยินดี ปรารถนา ชอบใจ รักใคร่ ความสรรเสริญ คือ ความชม ความมีเกียรติ ความยกย่องคุณ
คำว่า ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ คือ ก่อนแต่โต้ตอบย่อมเป็นผู้มีความสงสัย ลังเลใจ คือ ก่อนแต่โต้ตอบย่อมเป็นผู้สงสัยลังเลใจอย่างนี้ว่า เราจักมีชัยหรือไม่หนอ หรือเราจักปราชัย เราจักข่มเขาอย่างไร จักทำลัทธิของเราให้เชิดชูอย่างไร จักทำลัทธิของเราให้วิเศษอย่างไร จักทำลัทธิของเราให้วิเศษเฉพาะอย่างไร จักทำความผูกมัดเขาอย่างไร จักทำความปลดเปลื้องอย่างไร จักทำความตัดรอบวาทะเขาอย่างไร เราจักขนาบวาทะเขาไว้อย่างไร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเมื่ออยากได้ความสรรเสริญ ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ
นี่เป็นการแสดงทิฏฐิต่างๆ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้เว้นการโต้เถียงกันในเรื่องทิฏฐิ หรือไม่ควรวิวาทในเรื่องของทิฏฐิ แต่เป็นการสมควรที่จะแสดงเหตุและผล เพราะถ้าเป็นผู้มุ่งที่จะได้รับคำสรรเสริญ ย่อมปรารถนาให้คำของตนเองเท่านั้นถูก คำของคนอื่นทั้งหมดผิด แทนที่จะคิดว่า ธรรมที่ถูกคืออย่างไร และแสดงในเหตุในผลของธรรมที่ถูกเพื่อให้บุคคลอื่นได้เปรียบเทียบพิจารณาว่า ธรรมที่ถูกต่างกับธรรมที่ผิด แต่ถ้าเป็นผู้ที่คิดถึงตนเองที่จะได้รับคำสรรเสริญมากกว่าที่จะคิดถึงธรรม ย่อมลังเลใจ ในขณะที่แสดงธรรมต่างๆ หรือจะโต้ตอบในเรื่องลัทธิความเห็นของตนก็ย่อมคิดว่า จะชนะหรือจะแพ้ในขณะที่จะตอบ หรือจะข่มเขาอย่างไร จะทำลัทธิของเราให้เชิดชู ได้อย่างไร จักทำลัทธิของเราให้วิเศษอย่างไร จักทำความผูกมัดเขาอย่างไร จักทำความปลดเปลื้องอย่างไร ซึ่งไม่ใช่การพิจารณาเหตุผล แต่เป็นการพยายามที่จะได้รับคำสรรเสริญจากการแสดงลัทธิของตน ถ้าคนอื่นมีเหตุผลมากกว่าและชนะในเหตุผล ผู้ที่ลังเลใจหรือต้องการคำสรรเสริญ ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน ในเมื่อถ้อยคำของตนถูกเขาค้านตกไป
ซึ่ง ข้อ ๒๘๑ มีข้อความว่า
... ชนผู้พิจารณาปัญหามีความเอ็นดูปรานี ย่อมคัดค้านให้ตกไป คือ ย่อมคัดค้านโดยอรรถว่า คำที่ท่านกล่าวไม่ประกอบด้วยอรรถ ย่อมคัดค้านโดยพยัญชนะว่า คำที่ท่านกล่าวไม่ประกอบด้วยพยัญชนะ ย่อมคัดค้านโดยอรรถและพยัญชนะว่า คำที่ท่านกล่าวไม่ประกอบทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ ย่อมคัดค้านว่า เนื้อความท่านชักมาไม่ดี พยัญชนะท่านยกขึ้นไม่ดี อรรถและพยัญชนะท่านชักมาไม่ดี ยกขึ้นไม่ดี ความข่มผู้อื่นท่านไม่กระทำ ความเชิดชูลัทธิท่านทำไม่ดี วาทะอันวิเศษท่านไม่กระทำ วาทะอันวิเศษเฉพาะท่านทำไม่ดี ความผูกมัดผู้อื่นท่านไม่ทำ ความปลดเปลื้องท่านทำไม่ดี ความตัดรอบวาทะผู้อื่นท่านไม่ทำ ความขนาบวาทะผู้อื่นท่านทำไม่ดี ท่านพูดชั่ว กล่าวชั่ว เจรจาชั่ว เปล่งวาจาชั่ว ภาษิตชั่ว
คำว่า ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน ในเมื่อถ้อยคำของตนถูกเขาค้านตกไป คือ เมื่อถ้อยคำของตนถูกเขาค้านตกไป ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน คือ อับอาย กระวนกระวาย ลำบากกาย ทุกข์ใจ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าย่อมเป็นผู้เก้อเขินในเมื่อถ้อยคำของตน ถูกเขาค้านตกไป
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๑๔๐๑ – ๑๔๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1381
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1382
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1383
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1384
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1385
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1386
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1387
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1388
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1389
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1390
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1391
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1392
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1393
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1394
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1395
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1396
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1397
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1398
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1399
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1400
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1401
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1402
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1403
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1404
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1405
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1406
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1407
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1408
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1409
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1410
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1411
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1412
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1413
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1414
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1415
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1416
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1417
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1418
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1419
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1420
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1421
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1422
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1423
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1424
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1425
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1426
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1427
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1428
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1429
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1430
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1431
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1432
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1433
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1434
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1435
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1436
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1437
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1438
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1439
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1440