แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1414
ครั้งที่ ๑๔๑๔
สาระสำคัญ
โยนิโสมนสิการ หรืออโยนิโสมนสิการ
อถ.เอก.อถ.โลสกชาดกที่ ๑ - โทษของอกุศลกรรมของพระโลสกติสสเถระ
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๘
เวลาที่ฟังสัจธรรมแล้ว รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไหม หรือฟังแล้วมีบัญญัติเป็นอารมณ์ สติปัญญาไม่สามารถเกิดได้ ถ้าคิดอย่างนี้ จะไม่ตรงกับความจริงและไม่ตรงกับข้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประกาศสัจธรรมจบ ภิกษุผู้เป็นเหตุให้ตรัสชาดกนี้บรรลุพระอรหันต์ และคนอื่นๆ ที่ฟัง สติก็สามารถที่จะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้
เพราะฉะนั้น จากเรื่องนี้ เป็นคติเตือนใจให้ทุกคนได้พิจารณาชีวิตของแต่ละท่านในวันหนึ่งๆ ในแต่ละเหตุการณ์ว่า เป็นโยนิโสมนสิการ หรือเป็นอโยนิโสมนสิการ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก อย่าละเลย และคิดว่า จะเพียงแต่เจริญสติปัฏฐานเท่านั้น
การพูด การทำ ทุกอย่างแม้การคิด ถ้าเป็นผู้ที่สะสมเหตุปัจจัยมา ย่อมจะพิจารณาได้ว่า ขณะนี้ถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร ถ้าพิจารณาอย่างนี้บ่อยๆ ก็หมายความว่า สะสมเหตุปัจจัยที่จะเกิดกุศล ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ไม่ใช่เรา แต่เป็นโยนิโสมนสิการ การพิจารณาโดยแยบคาย
ขณะใดที่อกุศลเกิด ไม่ว่าจะเป็นอกุศลประเภทใดทั้งสิ้น จะเป็นทางกาย หรือทางวาจา หรือแม้แต่การคิดในใจ ขณะนั้นคืออโยนิโสมนสิการ ซึ่งจะสะสมสืบต่อไปในสังสารวัฏฏ์ทำให้มีการคิด การพูด การกระทำต่างๆ ต่อไปอีกในอนาคตข้างหน้า
ขอกล่าวถึงโทษของอกุศลกรรมของพระอรหันต์เถระท่านหนึ่ง คือ ท่านพระโลสกติสสเถระ เพื่อให้ท่านผู้ฟังรังเกียจในอกุศลที่อาจจะเกิดมีขึ้นกับท่าน ในลักษณะอาการต่างๆ กัน ซึ่งควรจะได้เห็นว่า อกุศลทั้งหลายเมื่อเกิดขึ้นแล้วสามารถทำให้ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาแต่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม เกิดอโยนิโสมนสิการ ในลักษณะอาการต่างๆ กันได้
เอกนิบาตชาดก อรรถกถาอัตถกามวรรคที่ ๕ อรรถกถาโลสกชาดกที่ ๑ มีข้อความว่า
ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระโลสกติสสเถระ และได้ตรัสประวัติของท่าน
ซึ่งประวัติโดยย่อของท่านมีว่า
ท่านพระโลสกติสสเถระเป็นบุตรของชาวประมงคนหนึ่งในแคว้นโกศล เป็นผู้ทำลายวงศ์ตระกูลของตน เพราะว่าตั้งแต่ท่านเกิดมาในครรภ์มารดานั้น ครอบครัวของท่านก็ประสบภัยพิบัติเรื่อยมา บ้านเรือนถูกไฟไหม้ถึง ๗ ครั้ง
คนสมัยนี้มีไหม อาจจะมีก็ได้ เป็นชีวิตธรรมดา แล้วแต่ว่ากรรมของใครจะให้ผลอย่างไร เมื่อไร
ถูกพระราชาปรับสินไหม ๗ ครั้ง ครั้งนั้นมารดาบิดาของท่านเลี้ยงชีพมาโดยแร้นแค้น พอท้องแก่ก็คลอด ณ ที่แห่งหนึ่ง แต่ธรรมดาท่านผู้เป็นสัตว์เกิดมาในภพสุดท้าย คือ ผู้ที่จะเป็นพระอรหันต์นั้น ใครไม่อาจทำลายได้เพราะมีอุปนิสัยแห่งอรหัตตผล คือ การสะสมกุศลธรรมทั้งหลายที่จะเป็นพระอรหันต์ รุ่งเรืองอยู่ในใจ เหมือนดวงประทีปภายในหม้อ ฉะนั้น
มารดาได้เลี้ยงท่านมาจนถึงในเวลาที่ท่านวิ่งเที่ยวไปมาได้ ก็ได้เอากะโล่ดินเผาใบหนึ่งใส่มือให้ และเสือกไสด้วยคำว่า ลูกเอ๋ย เจ้าจงไปสู่เรือนหลังนั้นเถิด แล้วก็หลบหนีไป
ตั้งแต่นั้นมา ท่านก็อยู่อย่างเดียวดาย เที่ยวหากินไปตามประสา หลับนอน ณ ที่แห่งหนึ่ง ไม่ได้อาบน้ำ ไม่ได้ปรนนิบัติร่างกาย ดูเหมือนปีศาจคลุกฝุ่น เลี้ยงชีวิตมาได้โดยลำบาก ท่านเจริญเติบโตจนอายุครบ ๗ ขวบโดยลำดับ เลือกเม็ดข้าวกิน ทีละเม็ดเหมือนกา ในที่สำหรับเทน้ำล้างหม้อใกล้ประตูเรือนแห่งหนึ่ง
ความทุกข์ยากเป็นผลของอกุศลกรรม ไม่ว่าในอดีต หรือในอนาคต หรือแม้ ในสมัยนี้ ก็มีผู้ที่มีความยากลำบาก ถ้าเทียบกับท่านพระโลสกติสสเถระจะเห็นได้ว่า ตอนเป็นเด็กอายุ ๗ ขวบ ท่านถึงกับเลือกเม็ดข้าวกินทีละเม็ดเหมือนกา ในที่สำหรับ เทน้ำล้างหม้อใกล้ประตูเรือนแห่งหนึ่ง
ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในเมืองสาวัตถี เห็นท่านแล้วรำพึงว่า เด็กคนนี้น่าสงสารนัก เป็นชาวบ้านไหนหนอ ท่านพระสารีบุตรแผ่เมตตาจิตไปในท่านเพิ่มยิ่งขึ้น และรียกให้มาหา ถามถึงพ่อแม่ เมื่อได้ทราบว่าพ่อแม่ทิ้งไป ก็ถามว่า ท่านจักบวชไหม ท่านก็ตอบว่า อยากบวช ซึ่งท่านพระสารีบุตรก็ได้ให้ของเคี้ยวของบริโภคแก่ท่าน แล้วพาไปวิหาร อาบน้ำให้เอง ให้บรรพชา จนอายุครบจึงให้อุปสมบท ในตอนแก่ท่านมีชื่อว่าโลสกติสสเถระ เป็นพระไม่มีบุญ มีลาภน้อย
เล่ากันว่า แม้ในคราวอสทิสทาน ท่านก็ไม่เคยได้ฉันเต็มท้อง ได้ขบฉันเพียงพอจะสืบต่อชีวิตไปได้เท่านั้น เพราะเมื่อใครใส่บาตรท่านเพียงข้าวต้มกระบวยเดียว บาตรก็ปรากฏเหมือนเต็มเสมอขอบแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นคนทั้งหลายก็สำคัญว่า บาตรของภิกษุรูปนี้เต็มแล้ว เลยถวายองค์หลังๆ
อสทิสทาน คือ ทานที่ไม่มีใครเหมือน เป็นทานที่มโหฬารยิ่ง
ในสมัยต่อมา ท่านเจริญวิปัสสนา แม้จะดำรงอยู่ในพระอรหันต์อันเป็นผลชั้นเลิศ ก็ยังคงมีลาภน้อย ครั้นเมื่ออายุสังขารของท่านร่วงโรยทรุดโทรมลงโดยลำดับ ก็ถึงวันเป็นที่ปรินิพพาน
ท่านพระสารีบุตรคำนึงอยู่ ก็รู้ถึงการปรินิพพานของท่าน จึงดำริว่า วันนี้ พระโลสกติสสเถระนี้จักปรินิพพาน ในวันนี้เราควรให้อาหารแก่เธอจนพอ เมื่อท่านคิดอย่างนี้แล้ว ก็พาท่านพระโลสกติสสเถระเข้าไปสู่เมืองสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต เพราะเหตุที่ท่านพระสารีบุตรพาท่านพระโลสกติสสเถระไปด้วย ท่านพระสารีบุตรเลยไม่ได้แม้เพียงการยกมือไหว้ในเมืองสาวัตถีอันมีผู้คนมากมาย
พระเถระจึงกล่าวว่า อาวุโส เธอจงไปนั่งคอยอยู่ที่โรงฉันเถิด ดังนี้ แล้วส่งท่านกลับ พอพระเถระมาจากที่นั้นเท่านั้น พวกมนุษย์ก็พูดกันว่า พระผู้เป็นเจ้ามาแล้ว และนิมนต์พระสารีบุตรให้นั่งเหนืออาสนะ ให้ฉันภัตตาหาร พระเถระก็ส่งอาหารที่ได้แล้วนั้นให้คนเหล่านั้นไป โดยกล่าวกับคนเหล่านั้นว่า พวกเธอจงให้ภัตนี้แก่พระโลสกติสสเถระ แต่คนที่รับภัตนั้นไปก็ลืมพระโลสกติสสเถระ พากันกินเสียหมด
เมื่อท่านพระสารีบุตรเดินไปถึงวิหาร ท่านพระโลสกติสสเถระได้ไปนมัสการท่านพระสารีบุตร ท่านพระสารีบุตรถามว่า อาวุโส คุณได้อาหารแล้วหรือ ท่านตอบว่า ไม่ได้ดอกครับ พระเถระถึงความสลดใจ เมื่อท่านดูเวลาก็เห็นว่า ยังไม่ล่วงเลยกาลที่จะบริโภค ท่านก็ให้พระโลสกติสสเถระนั่งรอในโรงฉัน แล้วได้ไปสู่พระราชวังของ พระเจ้าโกศล พระราชารับสั่งให้รับบาตรของพระเถระ ทรงพิจารณาว่า ขณะมิใช่กาลแห่งภัต แต่ก็รับสั่งให้ถวายของหวาน ๔ อย่าง จนเต็มบาตร
ท่านพระสารีบุตรรับบาตรและกลับไปวิหาร เรียกท่านพระโลสกติสสเถระมาและให้ฉันของหวาน ๔ อย่างนี้ โดยที่ท่านถือบาตรยืนอยู่ ให้ท่านพระโลสกติสสเถระนั่งฉัน
ท่านพระโลสกติสสเถระมีความยำเกรงในท่านพระสารีบุตร เห็นว่าท่านคงจะลำบากในการที่จะยืนถือบาตรและให้ท่านนั่งฉัน เพราะฉะนั้น ท่านก็ไม่ฉัน แต่ท่านพระสารีบุตรกล่าวกับท่านว่า
ท่านผู้มีอายุติสสะ ผมจะยืนถือบาตรไว้ คุณจงนั่งฉัน ถ้าผมปล่อยบาตรจากมือ บาตรต้องไม่มีอะไร
ลำดับนั้น ท่านพระโลสกติสสเถระ เมื่อท่านพระสารีบุตรผู้เป็นอัครสาวกยืนถือบาตรไว้ให้ จึงนั่งฉันของหวาน ๔ อย่าง ของหวาน ๔ อย่างนั้นไม่ถึงความหมดสิ้นด้วยกำลังแห่งฤทธิ์ของท่านพระสารีบุตร ท่านพระโลสกติสสเถระฉันจนเต็ม ความต้องการในเวลานั้น
ในวันนั้นเอง ท่านก็ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ พระผู้มีพระภาคประทับในสำนักของท่าน ทรงรับสั่งให้กระทำการปลงสรีระ เก็บเอาธาตุทั้งหลาย ก่อพระเจดีย์บรรจุไว้
ในเวลานั้น ภิกษุทั้งหลายก็ประชุมกันในธรรมสภา นั่งสนทนากันว่า น่าอัศจรรย์จริง ท่านพระโลสกติสสเถระมีบุญน้อย มีลาภน้อย อันผู้มีบุญน้อย มีลาภน้อยเห็นปานดังนี้ บรรลุอริยธรรมได้อย่างไร
พระบรมศาสดาเสด็จไปธรรมสภา มีพระดำรัสถามว่า
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อกี้พวกเธอประชุมกันด้วยเรื่องอะไรเล่า
เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย โลสกติสสะผู้นี้ได้ประกอบกรรม คือ ความเป็นผู้มีลาภน้อย และความเป็นผู้ได้อริยธรรมของตนด้วยตนเอง เนื่องด้วยครั้งก่อน เธอกระทำอันตรายลาภของผู้อื่นจึงเป็นผู้มีลาภน้อย แต่เป็นผู้บรรลุอริยธรรมได้ด้วยผลที่บำเพ็ญวิปัสสนา คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
แล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสเล่าอดีตชาติของท่านพระโลสกติสสะเถระ
ข้อความบางตอนมีว่า
ในอดีตกาล ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ มีภิกษุรูปหนึ่ง อาศัยกุฎุมพีผู้หนึ่งอยู่ในอาวาสประจำหมู่บ้าน เป็นผู้เรียบร้อย มีศีล หมั่นบำเพ็ญวิปัสสนา
คือ ยามปกติเป็นผู้เรียบร้อย มีศีล หมั่นบำเพ็ญวิปัสสนา
ครั้งนั้น มีพระขีณาสพองค์หนึ่งอยู่ในป่าหิมพานต์ ได้มาถึงบ้านที่อยู่ของกุฎุมพีผู้อุปัฏฐากภิกษุนั้น กุฎุมพีเลื่อมใสในอิริยาบถของพระอรหันต์ จึงรับบาตร นิมนต์เข้าสู่เรือน ให้ฉันภัตตาหารโดยเคารพ สดับพระธรรมกถาเล็กน้อย ไหว้พระเถระ แล้วนิมนต์พระคุณเจ้าให้ไปสู่วิหารใกล้บ้านของตน พระเถระจึงไปสู่วิหาร นมัสการ พระเถระเจ้าอาวาส
พระอรหันต์ยังไหว้เจ้าอาวาสซึ่งยังมีกิเลส ตามพระวินัย
ทักถามกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ภิกษุเจ้าอาวาสก็ทำปฏิสันถารกับท่าน แล้วถามว่า
ผู้มีอายุ คุณได้รับภัตตาหารแล้วหรือ
พระอรหันต์ท่านตอบว่า ได้แล้วครับ
เจ้าอาวาสถามว่า คุณได้ที่ไหนเล่า
พระอรหันต์ท่านก็ตอบว่า ได้ที่เรือนกุฎุมพีใกล้ๆ วิหารนี้แหละ
ครั้นบอกอย่างนี้แล้ว ก็ถามถึงเสนาสนะ คือ ที่อยู่ของท่าน แล้วจัดแจงปัด กวาด เก็บบาตรจีวรไว้เรียบร้อย แล้วพักอยู่ด้วยความสุขในพลสมาบัติ เวลาเย็น กุฎุมพีให้คนถือเอาพวงดอกไม้และน้ำมันเติมประทีปไปวิหาร นมัสการพระเถระ เจ้าอาวาส แล้วถามว่า
พระคุณเจ้าผู้เจริญ มีพระเถระอาคันตุกะมาพักรูปหนึ่งมิใช่หรือ
เจ้าอาวาสตอบว่า จ้ะ มีมาพัก
คฤหบดีถามว่า เดี๋ยวนี้ท่านพักอยู่ที่ไหนขอรับ
เจ้าอาวาสตอบว่า ที่เสนาสนะโน้น
กุฎุมพีก็ไปสู่สำนักของพระอรหันต์อาคันตุกะ นั่ง ณ ที่สมควร ฟังธรรมกถาจนถึงค่ำ จึงบูชาพระเจดีย์และต้นโพธิ์ จุดประทีปสว่างไสว แล้วนิมนต์ภิกษุทั้งสองให้รับบาตรในวันรุ่งขึ้น แล้วกลับไป
กุฎุมพีถูกหรือผิดในการที่เลื่อมใสผู้ที่ควรเลื่อมใส
แต่ ฝ่ายพระเถระผู้เป็นเจ้าอาวาสคิดว่า กุฎุมพีนี้ถูกพระอาคันตุกะยุให้ แตกกับเราเสียแล้ว ถ้าพระอรหันต์รูปนั้น (ซึ่งท่านยังไม่รู้ว่าเป็นพระอรหันต์) จักอยู่ในวิหารนี้ไซร้ ที่ไหนกุฎุมพีจะนับถือเรา
นี่คืออโยนิโสมนสิการของผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ที่ยังไม่สามารถดับกิเลสได้ ยังมีความติดข้องพัวพันอยู่ในลาภ ยศ สักการะ ทำให้พระเถระผู้เป็นเจ้าอาวาสคิดอย่างนั้น ซึ่งไม่มีเหตุอะไรที่จะต้องคิดอย่างนั้นเลย แต่คนที่จะคิด ก็คิดได้ตาม อโยนิโสมนสิการที่เกิดขึ้นในขณะนั้น
เมื่อเกิดความไม่พอใจในพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์ คิดว่า เราควรแสดงอาการไม่ให้เธออยู่ในวิหารนี้ ดังนี้แล้ว ในเวลาที่พระอรหันต์อาคันตุกะมาปรนนิบัติท่าน ท่านก็ไม่พูดด้วย
นี่คืออาการที่เกิดจากอโยนิโสมนสิการ
พระอรหันต์ทราบอัธยาศัยของภิกษุผู้เป็นเจ้าอาวาสแล้ว คำนึงว่า พระเถระนี้ไม่ได้ทราบถึงการที่เราไม่มีความห่วงใยในตระกูล ในลาภ หรือในหมู่ แล้วกลับไปที่อยู่ของท่าน พักอยู่ด้วยความสุขในพลสมาบัติ
ถึงวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันที่กุฎุมพีนิมนต์ทั้งพระอรหันต์และภิกษุเจ้าอาวาสให้ไปรับบาตร ท่านพระภิกษุเจ้าอาวาสก็ตีระฆังด้วยหลังเล็บ เคาะประตูด้วยเล็บ
นี่คือการกระทำที่สามารถจะกระทำได้ ใครจะคิดว่า ใครจะทำได้ แต่การกระทำอย่างนี้ก็เกิดขึ้นแล้วด้วยอโยนิโสมนสิการ
แล้วก็ไปสู่เรือนของกุฎุมพีนั้นแต่เพียงรูปเดียว เมื่อกุฎุมพีคฤหบดีรับบาตร นิมนต์ให้นั่งเหนืออาสนะที่ปูลาดไว้ ถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระอาคันตุกะเถระ ไปไหนเสียเล่า
ท่านเจ้าอาวาสตอบว่า ข้าพเจ้าไม่ทราบความประพฤติของพระผู้ใกล้ชิด สนิทสนมของคุณ ฉันตีระฆัง เคาะประตู ก็ไม่อาจปลุกให้ตื่นได้ เมื่อวานฉันโภชนะอันประณีตในเรือนของคุณแล้วคงอิ่มอยู่จนวันนี้ บัดนี้ก็ยังนอนหลับอยู่นั่นเอง
และท่านก็กล่าวเพื่อให้กุฎุมพีไม่ควรที่จะนับถือ หรือเคารพสักการะใน พระอรหันต์ โดยกล่าวให้เห็นถึงความไม่ควรของกุฎุมพีว่า
เมื่อท่านจะเลื่อมใส ก็เลื่อมใสในภิกษุผู้มีสภาพเห็นปานนี้ทีเดียว
นี่คือการตำหนิกลายๆ ของผู้เป็นบรรพชิต
สำหรับพระอรหันต์นั้น
เมื่อท่านกำหนดเวลาภิกษาจารของท่านแล้ว ก็ชำระสรีระของตน แล้วทรงบาตรจีวร เหาะไปในอากาศ (แต่) ได้ไปเสียในที่อื่น
คือ ไม่อยู่ที่นั่นอีกต่อไป เพราะรู้ว่าเจ้าอาวาสเป็นผู้ตระหนี่ หวงแหน และ มีอโยนิโสมนสิการ
กุฎุมพีนั้นได้นิมนต์พระเถระเจ้าอาวาสฉันข้าวปายาสที่ปรุงด้วยเนยใส น้ำผึ้ง น้ำตาลกรวด แล้วรมบาตรด้วยของหอม ใส่ข้าวปายาสจนเต็ม แล้วกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระเถระนั้นเห็นจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า พระคุณเจ้าจงนำข้าวปายาสนี้ไปให้ท่านด้วยเถิด แล้วถวายบาตรไป
อโยนิโสมนสิการก็ยังไม่หมด
พระเถระเจ้าอาวาสไม่ห้ามเสียทันที คงรับบาตรมา เดินไปแล้วคิดว่า ถ้าภิกษุนั้นได้ข้าวปายาสนี้ไซร้ ถึงเราจะจับคอฉุดให้ไป ก็จักไม่ไป
นี่คือความคิดหวงแหนในตระกูลอุปัฏฐาก และท่านก็คิดต่อไปว่า
ก็ถ้าเราจักให้ข้าวปายาสนี้กับมนุษย์ กรรมของเราก็จักปรากฏ
คือ ใครๆ ก็จะรู้ว่า ท่านไม่ได้เอาไปให้พระเถระอาคันตุกะ
หากเททิ้งลงในน้ำเล่า เนยใสก็จักปรากฏเหนือน้ำได้
อโยมนสิการก็มีวิธีการที่แยบยล ที่จะกระทำตามแบบของอโยนิโสมนสิการ เพราะฉะนั้น ท่านก็คิดว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะถ้าทิ้งลงในน้ำ เนยใสก็จะปรากฏเหนือน้ำ
ถ้าทิ้งลงบนแผ่นดิน ฝูงกาจักรุมกันกิน กรรมของเราก็จักปรากฏ ควรทิ้งข้าวปายาสนี้ที่ไหนดีหนอ ขณะนั้นเห็นนากำลังไหม้อยู่แห่งหนึ่ง ก็คุ้ยถ่านขึ้น เทข้าวปายาสลงไป กลบด้วยก้อนถ่าน แล้วจึงไปวิหาร
ครั้นไม่เห็นภิกษุรูปนั้น จึงคิดได้ว่า ชะรอยภิกษุนั้นจักเป็นพระขีณาสพ รู้อัธยาศัยของเราแล้ว จักไปเสียที่อื่นเป็นแน่ โอ เพราะท้องเป็นเหตุ เราทำกรรม ไม่สมควรเลย ทันใดนั้นเองความเสียใจอย่างใหญ่หลวงก็เกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น จำเดิม แต่วันนั้นไปทีเดียว ท่านก็กลายเป็นมนุษย์เปรต อยู่มาไม่นานก็ตาย ไปเกิดในนรก
ไม่สามารถที่จะกินอยู่ ไม่สามารถรักษาสุขภาพร่างกายไว้ได้ ทำให้ผอม กลายเป็นมนุษย์เปรต อยู่มาไม่นานก็ตาย ไปเกิดในนรก
ภิกษุนั้นหมกไหม้อยู่ในนรกหลายแสนปี เศษของผลกรรมยังนำให้เกิดเป็นยักษ์ถึง ๕๐๐ ชาติ เกิดเป็นสุนัข ๕๐๐ ชาติ และภายหลังต่อมาในภพสุดท้าย ได้เกิด เป็นท่านพระโลสกติสสเถระ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๒ ตอนที่ ๑๔๑๑ – ๑๔๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1381
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1382
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1383
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1384
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1385
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1386
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1387
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1388
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1389
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1390
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1391
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1392
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1393
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1394
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1395
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1396
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1397
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1398
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1399
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1400
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1401
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1402
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1403
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1404
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1405
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1406
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1407
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1408
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1409
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1410
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1411
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1412
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1413
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1414
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1415
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1416
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1417
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1418
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1419
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1420
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1421
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1422
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1423
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1424
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1425
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1426
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1427
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1428
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1429
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1430
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1431
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1432
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1433
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1434
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1435
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1436
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1437
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1438
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1439
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1440