แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1415
ครั้งที่ ๑๔๑๕
สาระสำคัญ
ขุ.ทุก.อถ.กฬายมุฏฐิชาดก - พระธรรมที่พระผู้มีพระภาค ตรัสเล่าถึงอดีตชาติของพระองค์ (โยนิโสมนสิการของพระโพธิสัตว์)
อถ.พันธนาคารชาดก ที่๖ - หนทางเดียวที่จะละโลภะ
อถ.อุปาหนชาดกที่ ๑ - อกุศลทั้งหลายเพื่อที่จะได้ประโยชน์ใหญ่
อถ.ราธชาดกที่ ๘ - ไม่พูดวาจาที่ประกอบด้วยความจริง แต่ไม่ดี
อถ.สาธุศีลชาดกที่ ๑๐
ขุ.จูฬ.โธตกมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๒๑๘ - ตรัสเตือนให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๘
ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ประมาทไม่ได้ เพราะว่ายังมีอกุศล ไม่รู้ว่าจะมีเหตุปัจจัย ที่ทำให้เกิดกาย วาจา หรือใจที่คิด ซึ่งไม่สมควรในขณะไหน วันไหน
เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ ถ้าไม่พิจารณาด้วย โยนิโสมนสิการในเหตุการณ์แต่ละวันจริงๆ ยากที่จะบรรลุอริยสัจธรรมได้ เพราะแม้แต่เหตุการณ์ธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน ยังไม่สามารถเป็นผู้ตรงที่จะพิจารณาด้วย โยนิโสมนสิการได้ จะสามารถพิจารณาสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงได้อย่างไร
ขอกล่าวถึงข้อความในชาดกต่อไป ซึ่งแต่ละท่านอาจจะไม่ได้สังเกตเลย ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าถึงอดีตชาติของพระองค์ เช่น ใน ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก อรรถกถา กฬายมุฏฐิชาดก
ข้อความมีว่า
ในพระราชอุทยานใกล้ที่ประทับของพระราชา มีลิงตัวหนึ่งลงจากต้นไม้ ฉวยเอาถั่วที่ทหารม้าเอามาใส่ไว้ในราง ใส่ปากจนเต็ม แล้วยังคว้าติดมือไปอีก กระโดดขึ้นไปนั่งบนต้นไม้ เริ่มจะกิน เมื่อมันจะกิน ถั่วเม็ดหนึ่งหลุดจากมือตกลงไปบนดิน มันจึงทิ้งถั่วทั้งหมดทั้งที่อยู่ในปากและที่มือ ลงจากต้นไม้ มองหาถั่วที่ตกนั้น ครั้นไม่เห็น จึงกลับขึ้นต้นไม้ นั่งเศร้าโศกเสียใจ หน้าซึมอยู่บนกิ่งไม้ เหมือนแพ้คดีไปสัก ๑,๐๐๐ คดี
จบแค่นี้หรือเปล่า
ถ้าคนที่ไม่คิด ไม่พิจารณา จะไม่มีโยนิโสมนสิการอะไรเลย แต่ผู้ที่เป็น พระโพธิสัตว์ จะพิจารณาทุกอย่างที่เห็นด้วยโยนิโสมนสิการ ซึ่งคนธรรมดาก็เห็น แต่ผ่านไป เพียงลิงตัวหนึ่งลงจากต้นไม้ ฉวยเอาถั่วกำหนึ่งใส่ปากจนเต็ม และคว้า ติดมือ กระโดดขึ้นไป เมื่อเริ่มจะกิน ถั่วตกไปเม็ดเดียว ก็ทิ้งหมดทั้งที่มือและที่ปาก ลงจากต้นไม้มองหาถั่วที่ตกนั้น ครั้นไม่เห็นก็กลับขึ้นต้นไม้ไปนั่งเศร้าโศกเสียใจ หน้าซึมอยู่บนกิ่งไม้ ถ้าใครจะมองดู ก็คงเห็นเพียงเท่านี้ แต่พระโพธิสัตว์ซึ่งในครั้งนั้นเป็นอำมาตย์ผู้สอนธรรมของพระราชา คือ เป็นธรรมานุสาสก ได้กราบทูลพระราชาว่า
ผู้โง่เขลา ไร้ปัญญา ไม่มองถึงของมาก มองแต่ของน้อย ลิงผู้เที่ยวหาอาหารตามกิ่งไม้นี้โง่เขลายิ่งนัก ปัญญาของมันก็ไม่มี มันสาดถั่วทั้งกำเสียหมดสิ้น แล้วเที่ยวค้นหาถั่วเม็ดเดียวที่ตกลงยังพื้นดิน
ข้าแต่พระราชา พวกเราก็ดี ชนเหล่าอื่นที่โลภจัดก็ดี จะต้องละทิ้งของมากเพราะของน้อย เปรียบเหมือนวานรเสื่อมจากถั่วทั้งหมดเพราะถั่วเม็ดเดียว ฉะนั้น
กำลังเป็นอย่างนี้หรือเปล่า นี่คือโยนิโสมนสิการที่ได้จากการพิจารณา เริ่มพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างด้วยโยนิโสมนสิการอย่างพระโพธิสัตว์หรือเปล่า ทุกคนทิ้งประโยชน์ใหญ่ คือ กุศลทุกขั้นจนถึงมรรคผลนิพพาน เพราะของน้อย คือ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพียงชั่วขณะหนึ่งๆ ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เปรียบกับลิงได้ไหม ทิ้งของมาก ทิ้งประโยชน์ใหญ่ เพราะต้องการเพียงถั่ว เม็ดเดียว ถั่วเม็ดเดียว คือ ความเล็กน้อยของรูปที่กำลังปรากฏทางตา เสียงที่กำลังปรากฏทางหู กลิ่นที่กำลังปรากฏทางจมูก รสที่กำลังปรากฏทางลิ้น โผฏฐัพพะที่ปรากฏทางกาย ชั่วขณะเดียวที่สั้นมากที่เกิดขึ้นและดับไป ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด กุศลไม่เกิด นั่นคือผู้ที่โลภจัด และหลงไป ติดไป ด้วยกำลังของอกุศลในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ถ้าเปรียบกับลิง รู้สึกอย่างไร เหมือนกัน หรืออยากจะพ้นจากสภาพซึ่ง เป็นเพียงลิง นี่คือโยนิโสมนสิการของพระโพธิสัตว์
อรรถกถา พันธนาคารชาดกที่ ๖ มีข้อความสั้นๆ ว่า
กิเลสเกิดขึ้นแม้คราวเดียวด้วยอำนาจตัณหาและโลภะ ย่อมแก้หลุดได้ยาก
สั้นๆ เพียงเท่านี้ แต่ก็เตือนทุกครั้งที่โลภะเกิดว่า โลภะมีอันตรายแค่ไหน
ยังจะให้แก้ยากๆ ต่อไป หลุดยากๆ ต่อไปอีก หรือจะเริ่มระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที เพราะเป็นหนทางเดียวจริงๆ ที่จะละโลภะได้ นอกจากนั้นไม่มีทางอื่นเลยที่จะละอกุศลธรรมทั้งหลายได้
อรรถกถา อุปาหนชาดกที่ ๑ มีข้อความว่า
พระโพธิสัตว์ทั้งหลายเมื่อจะบอกศิลปะ ย่อมไม่ปิดบังวิชา ให้ศึกษาวิชาตามที่ตนรู้มาโดยไม่มีเหลือ
ทุกคนเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ไม่ตระหนี่ ไม่หวงแหน ถ้าเปรียบเทียบกับถั่ว เม็ดเดียว ถ้ายังมีโลภะอยู่จะเสียประโยชน์ใหญ่ แทนที่จะทิ้งๆ ไป อกุศลทั้งหลาย เพื่อจะได้ประโยชน์ใหญ่ คือ กุศล แม้แต่การที่จะบอกศิลปะ ย่อมไม่ปิดบังวิชา ให้ศึกษาวิชาตามที่ตนรู้มาโดยไม่มีเหลือ
เมื่อท่านพระวังคีสะยังไม่ได้ฟังพระธรรม ท่านก็มีความภูมิใจในความรู้ของท่านว่า ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้มาก สามารถเคาะกะโหลกศีรษะก็รู้ว่าผู้นั้นไปปฏิสนธิที่ไหน เมื่อท่านพบพระผู้มีพระภาค ท่านก็หวังที่จะแลกวิชา คือ วิชาทำนายกะโหลกศีรษะกับพระผู้มีพระภาค แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ความรู้ไม่ใช่สิ่งซึ่งจะแลก แต่ว่าเป็นสิ่งซึ่งจะให้
นี่ก็เป็นโยนิโสมนสิการ เพราะฉะนั้น แต่ละวันๆ ลองพิจารณาดูชีวิตจริงๆ ของท่านว่า เจริญกุศลมากทุกประการทั้งกาย วาจา และใจที่คิด แม้แต่ในเรื่องของวิชาความรู้หรือเปล่า
อรรถกถา ราธชาดกที่ ๘ มีข้อความสั้นๆ ว่า
ธรรมดา บัณฑิตไม่พูดวาจาที่ประกอบด้วยความจริง แต่ไม่ดี
วันหนึ่งๆ พูดมาก จะได้ระลึกถึงข้อความใน อรรถกถา ราธชาดก ที่ว่าธรรมดา บัณฑิตไม่พูดวาจาที่ประกอบด้วยความจริง แต่ไม่ดี
ถ้าไม่เป็นประโยชน์ แม้ว่าเป็นความจริงก็ไม่ได้ให้ประโยชน์อะไร
เป็นการสะสมกุศล จนกว่าจะบรรลุอริยสัจธรรม
อรรถกถา สาธุสีลชาดกที่ ๑๐ มีข้อความสั้น ๆ ว่า
คนมีศีลวิบัติแล้ว แม้เมื่อมีรูปสมบัติก็น่าตำหนิ เพราะฉะนั้น รูปสมบัติหาเป็นประมาณไม่ เราชอบความเป็นผู้มีศีล
แสดงให้เห็นว่า รูปไม่สำคัญ แต่คุณธรรม คือ กุศลทั้งหลาย สำคัญกว่า
กิเลสเป็นเรื่องที่ละยาก ยิ่งได้ฟังชาดกต่างๆ ในแสนชาติ ในแสนกัปมาแล้วของพระสาวกรูปนั้น ของพระอรหันต์ท่านนี้ จะเห็นได้ว่า การรู้แจ้งอริยสัจธรรม ต้องสะสมอบรมบารมีทุกประการ
แม้การดับกิเลสเป็นเรื่องยาก แต่มีหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญาดับกิเลสได้ มีทางที่ปัญญาจะเจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถหมดความสงสัยในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องยากและไม่มีหนทาง เป็นเรื่องยากแต่มีหนทาง ซึ่งหนทางนั้นก็ยากด้วย แต่ไม่พ้นวิสัยที่จะค่อยๆ อบรมเจริญไป
ขุททกนิกาย จูฬนิทเทศ โธตกมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๒๑๘ พระผู้มีพระภาคตรัสกับโธตกมาณพว่า
ดูกร โธตกะ เราไม่อาจปลดเปลื้องใครๆ ที่มีความสงสัยในโลกได้ ก็แต่ท่านเมื่อมารู้ธรรมอันประเสริฐ พึงข้ามโอฆะนี้ได้ด้วยความมารู้อย่างนี้
แสดงว่าต้องเป็นการอบรมเจริญความรู้ของตนเอง แม้พระผู้มีพระภาคผู้ทรงตรัสรู้แล้ว ก็ไม่สามารถปลดเปลื้องความสงสัยในธรรมของใครๆ ได้ นอกจากผู้นั้นจะอบรมเจริญปัญญาของตนเอง ซึ่งเมื่อโธตกมาณพได้กราบทูลถามถึงข้อปฏิบัติที่เป็นการอบรมเจริญปัญญา พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ดูกร โธตกะ เราจักบอกความสงบในธรรมที่เราเห็นแล้วอันประจักษ์แก่ตน แก่ท่าน ที่บุคคลได้ทราบแล้วเป็นผู้มีสติเที่ยวไป พึงข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ ต่างๆ ในโลกได้
แสดงให้เห็นว่า ถ้าฟังพระธรรมด้วยความเข้าใจจริงๆ จะมีปัจจัยให้สติเกิดเที่ยวไปในอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้ อย่าลืม ต้องในขณะนี้ จึงจะข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกได้
คำอธิบายใน ข้อ ๒๓๐ มีว่า
คำว่า ทิฏเฐ ธัมเม ในอุทเทศว่า ทิฏเฐ ธัมเม อนีติหัง ดังนี้ ความว่า ในธรรมที่เราเห็นแล้ว คือ ในธรรมที่เรารู้แล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ปรากฏแล้ว แจ่มแจ้งแล้วว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่าในธรรมที่เราเห็นแล้ว
ไม่ใช่ผิดไปจากปกติธรรมดา แต่ก่อนที่ธรรมจะปรากฏ ธรรมที่เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ปรากฏแล้ว แจ่มแจ้งแล้ว สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ คือ สังขารทั้งปวงมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาหรือเปล่า หรือผิดธรรมดา
เห็นในขณะนี้เป็นธรรมดาไหม
เป็นของธรรมดา ซึ่งบังคับไม่ได้ เป็นธรรมดา คือ เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา
เห็น บังคับไม่ให้เห็นไม่ได้ แข็งที่กำลังปรากฏ บังคับไม่ให้เกิดขึ้นแข็งไม่ได้ ได้ยิน บังคับไม่ให้ได้ยินไม่ได้ นี่คือสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา
คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นเรื่องธรรมดาๆ จริงๆ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสเตือนให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อีกอย่างหนึ่ง เราจักบอกทุกข์ในทุกข์ที่เราเห็นแล้ว จักบอกสมุทัยในสมุทัยที่เราเห็นแล้ว จักบอกมรรคในมรรคที่เราเห็นแล้ว จักบอกนิโรธในนิโรธที่เราเห็นแล้ว แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่าในธรรมที่เราเห็นแล้ว
ธรรมที่ทุกคนจะต้องเห็นตาม คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
อีกอย่างหนึ่ง เราจักบอกธรรมอันบุคคลผู้บรรลุพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ในธรรมที่เรา เห็นแล้ว แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่าในธรรมที่เราเห็นแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าในธรรมที่เราเห็นแล้ว
คำว่า ประจักษ์แก่ตน ความว่า เราจักบอกซึ่งธรรมอันประจักษ์แก่ตนที่เรารู้เฉพาะด้วยตนเอง โดยไม่บอกว่ากล่าวกันมาดังนี้ ไม่บอกตามที่ได้ยินกันมา ไม่บอกตามลำดับสืบๆ กันมา ไม่บอกโดยอ้างตำรา ไม่บอกตามที่นึกเดาเอาเอง ไม่บอกตามที่คาดคะเนเอาเอง ไม่บอกด้วยความตรึกตามอาการ ไม่บอกด้วยความชอบใจว่าต้องกับลัทธิของตน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ในธรรมที่เราเห็นแล้วอันประจักษ์แก่ตน
ใครก็ตามที่จะเห็นธรรมและประจักษ์ธรรม จะไม่บอกว่า กล่าวกันมาดังนี้ หรือตามที่ได้ยินกันมา หรือตามที่ลำดับสืบๆ กันมา หรือตามตำรา หรือตามที่นึกเดา เอาเอง แต่เป็นการประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมด้วยตนเอง
ข้อ ๒๓๑
คำว่า เป็นผู้มีสติ ความว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ มีสติเจริญ สติปัฏฐานเครื่องพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม บุคคลนั้นตรัสว่า เป็นผู้มีสติ
คำว่า เที่ยวไป ความว่า เที่ยวไป เที่ยวไปทั่ว ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ ประพฤติ รักษา บำรุง เยียวยา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าที่รู้แจ้งแล้วเป็นผู้มีสติเที่ยวไป
ข้อ ๒๓๒
คำว่า ตัณหา ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล ตรัสว่า ตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในอุทเทศว่า ตเร โลเก วิสัตติกัง
คำว่า วิสัตติกา ความว่า ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะอรรถว่ากระไร ฯลฯ เพราะอรรถว่า ซ่านไปกว้างขวาง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวิสัตติกา
ซ่านไปกว้างขวางนี่ ตลอดหมดทุกโลก ซึ่งคำอธิบายมีว่า
คำว่า โลเก คือ ในอบายโลก ฯลฯ (เทวโลก พรหมโลก มนุษย์โลก) ในอายตนโลก (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
คำว่า พึงข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลก ความว่า พึงเป็นผู้มีสติข้าม
ไม่ใช่ว่านึกจะชอบใจข้าม ก็ข้าม แต่ต้องมีสติข้าม
คือ ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง เป็นไปล่วง ซึ่งตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ ต่างๆ ในโลกนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าพึงข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลก เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เราจักบอกความสงบในธรรมที่เราเห็นแล้วอันประจักษ์แก่ตนแก่ท่าน ที่บุคคลได้ทราบแล้วเป็นผู้มีสติเที่ยวไป พึงข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกได้
ผล คือ ข้อ ๒๓๖ เมื่อโธตกมาณพได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสของพระองค์นั้น และสันติอันสูงสุดที่บุคคลทราบแล้วเป็นผู้มีสติเที่ยวไป พึงข้ามตัณหา อันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกได้
นี่คือผู้ได้ฟังและพิจารณา และเห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่พิสูจน์ได้ สามารถประจักษ์ความจริงได้ เพราะฉะนั้น โธตกมาณพจึงได้กราบทูลว่า ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสของพระองค์นั้น
ข้อ ๒๓๗
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ดูกร โธตกะ ท่านย่อมรู้ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลางส่วนกว้าง ท่านรู้ธรรมนี้ว่า เป็นเครื่องข้องอยู่ในโลกแล้ว อย่าได้ทำตัณหาเพื่อภพน้อยและภพใหญ่
ท่านผู้ฟังพิจารณาได้ไหมว่า ธรรมไหนเป็นธรรมชั้นสูง ธรรมไหนเป็นธรรม ชั้นต่ำ และธรรมไหนเป็นธรรมชั้นกลางส่วนกว้าง ซึ่งจะต้องรู้โดยประจักษ์แจ้ง ไม่ใช่โดยเพียงการฟัง
ข้อ ๒๓๙ มีคำอธิบายว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสอนาคตว่าชั้นสูง ในอุทเทศว่า อุทธัง อโธ ติริยัญจาปิ มัชเฌ ดังนี้ ตรัสอดีตว่าชั้นต่ำ ตรัสปัจจุบันว่าชั้นกลางส่วนกว้าง
นี่คือพระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงได้โดยหลายนัยจริงๆ ไม่ว่าจะโดย พระอภิธรรม หรือโดยพระสูตรก็ตาม พระผู้มีพระภาคยังทรงจำแนกธรรมต่างๆ ออกได้โดยเป็นธรรมชั้นสูง ธรรมชั้นต่ำ และธรรมชั้นกลางส่วนกว้าง
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสอนาคตว่าชั้นสูง เพราะว่ายังไม่เกิด ยังไม่มีเดี๋ยวนี้ จึงเหมือนสิ่งที่อยู่สูงซึ่งยังไม่ถึง ยังไม่มาถึง เพราะว่ายังไม่เกิด ตรัสอดีตว่าชั้นต่ำ เพราะว่าเกิดแล้ว เป็นไปแล้ว และหมดไปแล้วด้วย มีใครไม่รู้ธรรมชั้นต่ำซึ่งเกิดแล้ว เมื่อเกิดแล้วก็รู้แล้ว ก็เป็นธรรมชั้นต่ำ ซึ่งพบแล้ว เห็นแล้ว รู้แล้ว ไม่เหมือนกับธรรมชั้นสูงซึ่งยังไม่มาถึง
ตรัสปัจจุบันว่าชั้นกลางส่วนกว้าง เพราะว่าในขณะที่เป็นปัจจุบัน ความวิจิตรต่างกันของธรรมแต่ละขณะๆ นั้นมีมากจริงๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าสติปัฏฐานเกิด เสียงนิดเดียว ได้ยินไหม วิจิตรไหม เสียงแค่นี้ ได้ยินแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่ต้องการจะฟัง แต่ทั้งๆ ที่กำลังฟังอยู่ เสียงอื่น เล็กๆ น้อยๆ ก็ปรากฏได้ นี่คือความวิจิตรของธรรมปัจจุบันส่วนกว้าง ซึ่งมีมากแต่ละขณะ และผู้ที่จะรู้จะเข้าใจในธรรมปัจจุบันส่วนกว้าง คือ ผู้ที่สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรม และสภาพธรรมปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
เพียงปกติธรรมดา ยังไม่มีอะไรปรากฏ แต่เสียงก็มีแล้ว นิดเดียวและหมดไป นี่คือความวิจิตรของสภาพธรรมที่เป็นปัจจุบันส่วนกว้าง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๒ ตอนที่ ๑๔๑๑ – ๑๔๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1381
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1382
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1383
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1384
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1385
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1386
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1387
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1388
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1389
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1390
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1391
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1392
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1393
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1394
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1395
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1396
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1397
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1398
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1399
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1400
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1401
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1402
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1403
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1404
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1405
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1406
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1407
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1408
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1409
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1410
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1411
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1412
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1413
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1414
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1415
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1416
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1417
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1418
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1419
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1420
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1421
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1422
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1423
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1424
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1425
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1426
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1427
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1428
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1429
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1430
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1431
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1432
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1433
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1434
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1435
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1436
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1437
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1438
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1439
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1440