แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1416
ครั้งที่ ๑๔๑๖
สาระสำคัญ
โธตกมาณวกปัญหานิทเทส
เทพ มี ๓ อย่าง
ความหมายคำว่าพราหมณ์ (พระผู้มีพระภาคชื่อว่าเป็นพราหมณ์)
ความหมายของสมันตจักษุ
จดหมายของท่านผู้ฟัง (จากหัวใจผู้ตั้งใจฟังธรรม)
องฺ.จตุก.มหาวรรค
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๘
อีกอย่างหนึ่ง ตรัสสุขเวทนาว่าชั้นสูง ตรัสทุกขเวทนาว่าชั้นต่ำ ตรัส อทุกขมสุขเวทนาว่าชั้นกลางส่วนกว้าง
สุขเวทนา ใครไม่ชอบบ้าง เมื่อชอบ เมื่อพอใจ เมื่อปรารถนา ก็เป็นชั้นสูง คือ เป็นสิ่งซึ่งปรารถนาต้องการ ส่วนทุกขเวทนานั้นใครๆ ก็ไม่ชอบ ไม่ปรารถนา ก็เป็น ชั้นต่ำ แต่อทุกขมสุขเวทนานั้น คือ ชั้นกลางส่วนกว้าง เพราะว่าตามปกติมีมากกว่าสุขเวทนาและทุกขเวทนา
ทางตาที่กำลังเห็น อุเบกขาเวทนาเกิดกับจักขุวิญญาณ เกิดกับสัมปฏิจฉันนะ เกิดกับปัญจทวาราวัชชนะ เกิดกับโวฏฐัพพนะ และอกุศลประเภทที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาก็มี แสดงให้เห็นว่า อุเบกขาเวทนาเป็นธรรมที่มีเป็นปกติ และมีมากกว่าเวทนาอื่นๆ เพราะฉะนั้น จึงเป็นชั้นกลางส่วนกว้าง
ตรัสกุศลธรรมว่าชั้นสูง ตรัสอกุศลธรรมว่าชั้นต่ำ ตรัสอัพยากตธรรมว่า ชั้นกลางส่วนกว้าง
เพราะว่ากุศลธรรมย่อมนำสุขมาให้ จึงเป็นธรรมชั้นสูง อกุศลธรรมย่อมนำทุกข์มาให้ จึงเป็นธรรมชั้นต่ำ อัพยากตธรรม คือ วิบากจิตและกิริยาจิต ซึ่งเป็นไปตามกรรม เกิดขึ้นเป็นผลของกรรม มีกรรมเป็นปัจจัยชั่วขณะหนึ่งๆ อย่างมาก อย่างในวันนี้ ตลอดเวลา ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายกระทบสัมผัส ล้วนแล้วแต่เป็นวิบากจิตและกิริยาจิตซึ่งเป็นอัพยากตธรรม เป็นธรรมชั้นกลางส่วนกว้าง
นี่เป็นสิ่งซึ่งสติจะต้องระลึก ไม่ใช่เพียงแต่รู้ ทุกขณะซึ่งเป็นของจริง เป็นปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ผู้ที่รู้ธรรมอย่างนี้ได้จึงจะเป็นผู้ที่ข้ามตัณหา อันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกได้
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ตรัสเทวโลกว่าชั้นสูง ตรัสอบายโลกว่าชั้นต่ำ ตรัสมนุษยโลกว่าชั้นกลางส่วนกว้าง ตรัสอรูปธาตุว่าชั้นสูง ตรัสกามธาตุว่าชั้นต่ำ ตรัสรูปธาตุว่าชั้นกลางส่วนกว้าง ตรัสส่วนเบื้องบนตลอดถึงพื้นเท้าว่าชั้นสูง ตรัสส่วนเบื้องต่ำตลอดถึงปลายผมว่าชั้นต่ำ ตรัสส่วนกลางว่าชั้นกลางส่วนกว้าง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลางส่วนกว้าง
พร้อมด้วยเวลาจบพระคาถา โธตกมาณพนั่งประนมอัญชลีนมัสการ พระผู้มีพระภาค ประกาศว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ฉะนี้แล
จบ โธตกมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๕
ดูเป็นธรรมดาๆ ทุกอย่างที่ทรงแสดง ไม่ผิด จริง ประกอบด้วยเหตุผล แต่เป็นสิ่งที่ต้องประจักษ์แจ้ง
สำหรับข้อความตอนต้น ข้อ ๒๑๓ ซึ่งโธตกมาณพกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าพระองค์ย่อมเห็นพระองค์ผู้เป็นเทพ ผู้ไม่มีเครื่องกังวล เป็นพราหมณ์ เที่ยวอยู่ในมนุษยโลก ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระสมันตจักษุ ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์นั้น ข้าแต่พระสักกะ ขอพระองค์จงปลดเปลื้องข้าพระองค์จากความสงสัยทั้งหลาย
โธตกมาณพรู้ว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์เดียวจะเป็นผู้ที่ทำให้ความสงสัยของท่านหมดลงได้ จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคตามความศรัทธาของท่านว่า ท่านเห็นพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเทพ ไม่มีเครื่องกังวล เป็นพราหมณ์ เป็นผู้มีพระสมันตจักษุ และเรียกพระองค์ว่า พระสักกะ นี่ก็เป็นคุณนามต่างๆ ของพระผู้มีพระภาค
ข้อ ๒๑๔
เทพ ในอุทเทสว่า ปัสสามหัง เทวมนุสสโลเก ดังนี้ มี ๓ คือ สมมติเทพ ๑ อุปปัติเทพ ๑ วิสุทธิเทพ ๑
สมมติเทพเป็นไฉน พระราชา พระราชกุมาร และพระเทวี เรียกว่า สมมติเทพ
อุปปัติเทพเป็นไฉน เทวดาชาวจาตุมหาราชิกา เทวดาชาวดาวดึงส์ เทวดาชาวยามา เทวดาชาวดุสิตา เทวดาชาวนิมมานรดี เทวดาชาวปรนิมมิตวสวัตดี เทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม และเทวดาในชั้นที่สูงกว่า เรียกว่า อุปปัติเทพ
วิสุทธิเทพเป็นไฉน พระอรหันตขีณาสพสาวกของพระตถาคต และ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า เรียกว่า วิสุทธิเทพ
พระผู้มีพระภาคเป็นเทพ ยิ่งกว่าสมมติเทพ ยิ่งกว่าอุปปัติเทพ และยิ่งกว่า วิสุทธิเทพทั้งหลาย คือ เป็นอติเทพ เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ เป็นสีหะยิ่งกว่าสีหะ เป็นนาคยิ่งกว่านาค เป็นเจ้าคณะยิ่งกว่าเจ้าคณะ เป็นมุนียิ่งกว่ามุนี เป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชา
ข้อ ๒๑๕
คำว่า อกิญจนัง ในอุทเทศว่า อกิญจนัง พราหมณึง อริยมานัง ดังนี้ ความว่า ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต เป็นเครื่องกังวล เครื่องกังวลเหล่านั้นอันพระผู้มีพระภาคผู้ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน ให้ถึงความไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว จึงชื่อว่าไม่มีเครื่องกังวล
คำว่า พราหมณัง ความว่า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะทรงลอยธรรม ๗ ประการแล้ว คือ ทรงลอยสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ราคะ โทสะ โมหะ มานะ และทรงลอยธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลอันลามก อันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชราและมรณะต่อไป
ข้อ ๒๑๖ อธิบายความหมายของสมันตจักษุ มีข้อความว่า
พระสัพพัญญุตญาณ เรียกว่า สมันตจักษุ ในบทว่า สมันตจักขุ พระผู้มีพระภาคทรงเข้าไป เข้าไปพร้อม เข้ามา เข้ามาพร้อม เข้าถึง เข้าถึงพร้อม ประกอบด้วยพระสัพพัญญุตญาณนั้น
พระตถาคตพระองค์นั้น ไม่ทรงเห็นอะไรๆ น้อยหนึ่งในโลกนี้ อนึ่ง ไม่ทรงรู้อะไรๆ ที่ไม่ทรงรู้แล้ว ไม่มีเลย
ต้องฟังจนถึงประโยคสุดท้ายที่ว่า ไม่มีเลย
พระตถาคตทรงรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวง ธรรมชาติใดที่ควรแนะนำมีอยู่ พระตถาคตทรงรู้ยิ่งซึ่งธรรมชาตินั้นแล้ว เพราะฉะนั้น พระตถาคตจึงชื่อว่ามีพระสมันตจักษุ
ข้อ ๒๑๗ มีคำอธิบายว่า
คำว่า สักกะ ในอุทเทศว่า ปมุญจ มัง สักก กถังกถาหิ ดังนี้ ความว่า พระผู้มีพระภาคทรงผนวชจากศากยสกุล แม้เพราะเหตุนี้ จึงชื่อว่าสักกะ
อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก นับว่ามีทรัพย์ แม้เพราะเหตุนี้ พระองค์จึงชื่อว่าสักกะ
พระองค์มีทรัพย์เหล่านี้ คือ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา ทรัพย์คือ สติปัฏฐาน ทรัพย์คือสัมมัปปธาน ทรัพย์คืออิทธิบาท ทรัพย์คืออินทรีย์ ทรัพย์คือพละ ทรัพย์คือโพชฌงค์ ทรัพย์คือมรรค ทรัพย์คือผล ทรัพย์คือนิพพาน
พระผู้มีพระภาคทรงมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก นับว่ามีทรัพย์ ด้วยรัตนทรัพย์หลายอย่างนี้ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงชื่อว่าสักกะ อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเป็น ผู้อาจ ผู้องอาจ อาจหาญ มีความสามารถ ผู้กล้า ผู้แกล้วกล้า ผู้ก้าวหน้า ผู้ไม่ขลาด ผู้ไม่หวาดเสียว ผู้ไม่สะดุ้ง ผู้ไม่หนี ละความกลัวความขลาดเสียแล้ว ปราศจากความเป็นผู้มีขนลุกขนพอง แม้เพราะเหตุนี้ จึงชื่อว่าสักกะ
ถ. ที่อาจารย์บรรยายถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราระลึกถึงพระพุทธคุณ ที่เราเรียนมาก็ยังน้อยไป ใช่ไหม
สุ. มีมากกว่านั้น ใช่ไหม
ถ. ใช่
สุ. เป็นไปตามความเข้าใจของแต่ละคน ถ้าไม่ใช่ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ไม่สามารถเข้าใจว่าพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้อะไร แต่เมื่อเจริญสติปัฏฐานก็รู้ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ความเกิดขึ้นและดับไปของสังขารธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ถ. เพราะฉะนั้น การระลึกถึงพระพุทธคุณของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน
สุ. ไม่เท่ากัน ปัจจุบันเป็นชั้นกลางส่วนกว้าง อย่าลืม ความคิดนึกของ แต่ละคน
มีจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเขียนมาว่า
๑๗ มีนาคม ๒๕๒๘
กราบเรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพ
กระผมเป็นอีกบุคคลที่เลื่อมใสในแนวทางเจริญวิปัสสนาที่ท่านอาจารย์บรรยายเป็นอย่างยิ่ง ได้ติดตามฟังตั้งแต่สมัยที่ท่านอาจารย์บรรยายที่ตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุ จนถึงปัจจุบันที่ตึกสภาการศึกษาวัดบวร จดหมายฉบับนี้เขียนขึ้นด้วยจุดประสงค์ คือ
๑. ปรารถนาให้ความปีติโสมนัสบังเกิดแก่ท่านอาจารย์ ด้วยบัดนี้มีผู้เห็นทางถูกตามที่ท่านพยายามชี้แนะเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่งแล้ว
๒. เพื่อประโยชน์แก่ผู้ฟังใหม่ หรือผู้ที่ยังไม่เข้าใจในการเจริญสติปัฏฐาน
๓. เพื่อแก้ข้อสงสัยบางประการที่เคยได้ยินเสมอ คือ นามรูปเกิดดับรวดเร็วมากจะรู้ได้อย่างไร ผู้ที่รู้ว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ต้องเป็นพระโสดาบันแล้วเท่านั้น ใช่หรือไม่
จากความไม่รู้สู่ความเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน กระผมได้ประสบการณ์ ดังนี้
ขั้นแรกจากความคิดนึกว่า เห็นเป็นนามธรรม สีเป็นรูปธรรม ได้ยินเป็นนามธรรม เสียงเป็นรูป และอื่นๆ (จำคำบรรยายโดยไม่มีความเข้าใจ) ว่าเป็นสติ
ขั้นต่อมา ฟังมากขึ้น ความเข้าใจเกิดขึ้นบ้าง เริ่มใส่ใจในสิ่งที่ปรากฏ คือ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การสัมผัสทางกาย และการคิดนึกทางใจ ได้ความเข้าใจดังนี้ คือ การเห็นเป็นเพียงสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ (มองเพลิน หลับตาการเห็นไม่ปรากฏ) การได้ยินเป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง (ฟังเสียงเพลินอย่างตั้งใจจดจ่อ) และทางทวารอื่นๆ ก็เช่นกัน
ขั้นต่อมาอีก ฟังท่านอาจารย์บรรยายมากขึ้นอีก ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น การสังเกต สำเหนียก ศึกษา พิจารณาในลักษณะของธรรมชาติที่ปรากฏไวขึ้น ละเอียดขึ้น ชัดเจนขึ้นโดยอัตโนมัติ ได้พบความต่างกันของสีและการเห็น เสียงและการได้ยิน รู้ถึงความตั้งใจ จงใจ ปรารถนา คือ ความมีตัวตนเกิดสลับกับสติที่ระลึกรู้ในลักษณะของธรรมแต่ละอย่าง ได้ความรู้ คือ สัตว์ บุคคล ตัวตน แท้ที่จริงเป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะ เกิดขึ้นแล้วหมดไปอย่างรวดเร็ว แต่สามารถรู้ได้เพราะพิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ ในลักษณะของธรรมชาติที่มีจริง ปรากฏทางทวารทั้ง ๖ ล่วงพ้นบัญญัติ เวลาใดมีตัวตน สติไม่เกิด เวลานั้นคือความเห็นผิด
๑. นามรูปเกิดดับรวดเร็วมากจะรู้ได้อย่างไร
นามธรรม คือ จิตและเจตสิกเกิดดับพร้อมกัน สติและปัญญาเป็นเจตสิก จึงรู้ลักษณะของจิตได้ อุปมาเช่น ยานอวกาศที่พุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าแล้วหายลับไปจากสายตาของผู้คนที่เฝ้ามองอยู่เบื้องล่างอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ว่าจะรวดเร็วสักปานใดก็ไม่อาจพ้นไปจากมนุษย์อวกาศที่อยู่ในยานอวกาศได้ ยานอวกาศถึงไหน เร็วปานใด มนุษย์อวกาศก็ถึงนั่นเหมือนกัน รูปธรรมก็เช่นกัน เช่น สี (ไม่ใช่สีแดง สีเขียว หรือสีอะไรทั้งนั้น) ที่ปรากฏทางตา สีเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ธาตุรู้ แต่สีจะปรากฏได้ต้องมีจิตเกิดขึ้น รู้สี เพราะฉะนั้น ไม่ว่ารูปจะเกิดดับเร็วอย่างไร จะต้องมีจิตเกิดขึ้นรู้ด้วย รู้รูปได้
๒. ต้องเป็นพระโสดาบันแล้วเท่านั้นหรือจึงจะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ที่รู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะมีลักษณะของธรรมชาติแต่ละชนิดปรากฏ ผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานยังไม่บรรลุถึงความเป็นพระโสดาบัน ก็รู้ได้เมื่อ สติเกิด สติเกิดระลึกในลักษณะของนามหรือรูปที่ปรากฏจนเคยชิน ปัญญาจึงได้พิจารณาศึกษาอบรมให้คมกล้ายิ่งขึ้น จนกว่าจะรู้ชัด
สุดท้ายนี้กระผมขอกราบไหว้บูชาทุกท่านที่กล่าวข้อความต่อไปนี้ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต คำกล่าว คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ความเลื่อมใสศรัทธาของกระผมที่มีต่อท่านอาจารย์นั้น ลึกซึ้งเกินกว่าที่จะหาคำเปรียบเทียบได้ นอกจากขอเรียนว่า กระผมจะติดตามฟังท่านอาจารย์ไปตลอดชีวิต
ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาจากหัวใจ
ผู้ตั้งใจฟังธรรม
สุ. จดหมายฉบับนี้ยาว และข้อที่ควรจะชี้แจงข้อหนึ่ง คือ ท่านบอกว่า นามรูปเกิดดับรวดเร็วมากจะรู้ได้อย่างไร นามธรรม คือ จิตและเจตสิกเกิดดับพร้อมกัน สติและปัญญาเป็นเจตสิก จึงรู้ลักษณะของจิตได้
ถ้าโดยคร่าวๆ ก็กล่าวว่า จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ จิตจะรู้รูปใดก็ได้ นามใดก็ได้ทั้งสิ้น จิตจะรู้ลักษณะของความจงใจ ความตั้งใจก็ได้ จิตจะรู้ลักษณะของความเพียรก็ได้ จิตจะรู้ลักษณะของสมาธิที่ตั้งมั่นก็ได้
แต่ในตอนต้นๆ ที่กล่าวถึงการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ได้แยกโดยละเอียดชี้ชัดลงไปว่า ต้องไม่ใช่จิตดวงเดียวกัน ต้องเป็นจิตคนละขณะ นิ้วชี้ไม่สามารถแตะปลายนิ้วชี้ได้ แต่สามารถจะแตะปลายนิ้วอื่นได้ ฉันใด จิตและเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกันก็ไม่สามารถรู้ลักษณะของจิตหรือเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกันได้ แต่จะรู้ลักษณะของจิตและเจตสิกซึ่งเกิดคนละดวง ต่างขณะกัน
จิตมีจิตเป็นอารมณ์ ไม่ได้หมายความว่าจิตที่เกิดในขณะนั้นมีจิตนั้น เป็นอารมณ์ หรือจิตมีเจตสิกเป็นอารมณ์ ไม่ได้หมายความว่าจิตในขณะนั้นมีเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกันในขณะนั้นเป็นอารมณ์ แต่ความเกิดดับของจิตรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่า จิตรู้จิต หรือจิตรู้เจตสิก เช่น ความรู้สึก และเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดกับจิต ต้องไม่ใช่จิตดวงเดียวกัน ซึ่งในตอนต้นๆ ของจดหมายไม่ได้กล่าวโดยละเอียดว่า ต้องไม่ใช่จิตดวงเดียวกัน จึงอาจจะทำให้บางท่านเข้าใจว่า รู้ในขณะเดียวกันได้
ไม่ทราบท่านว่าผู้ฟังคิดอย่างนี้หรือเปล่า จากจดหมายฉบับนี้ แต่ถ้าไม่ได้คิดอย่างนี้ คือ คิดถูกต้องแล้ว ก็ไม่เป็นไร แต่ต้องเข้าใจว่า การที่จิตรู้จิต หรือการที่จิตรู้เจตสิก ต้องไม่ใช่รู้เจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกับจิตดวงนั้นในขณะนั้น ต้องเป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตขณะอื่น และการที่จิตจะรู้จิตได้ จิตต้องรู้จิตขณะอื่น เพราะว่าจิตเกิดขึ้นทีละขณะเท่านั้น
ยังไม่หมดความสงสัยในนามธรรมและรูปธรรม ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ยังมีวิจิกิจฉา ซึ่งเป็นโมหมูลจิตดวงหนึ่งในโมหมูลจิต ๒ ดวง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๒ ตอนที่ ๑๔๑๑ – ๑๔๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1381
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1382
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1383
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1384
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1385
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1386
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1387
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1388
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1389
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1390
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1391
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1392
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1393
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1394
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1395
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1396
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1397
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1398
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1399
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1400
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1401
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1402
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1403
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1404
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1405
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1406
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1407
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1408
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1409
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1410
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1411
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1412
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1413
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1414
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1415
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1416
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1417
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1418
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1419
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1420
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1421
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1422
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1423
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1424
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1425
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1426
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1427
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1428
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1429
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1430
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1431
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1432
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1433
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1434
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1435
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1436
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1437
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1438
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1439
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1440