แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1418


    ครั้งที่ ๑๔๑๘


    สาระสำคัญ

    ลักษณะของอวิชชา

    เพียรศึกษารู้ลักษณะนามธรรมหรือรูปธรรม

    อเหตุกจิต ๑๘

    มโนธาตุ ๓ (รู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ อารมณ์)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๒๘


    ได้สนทนากับท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านกล่าวว่า ในขณะที่กำลังรับประทานอาหาร สติก็เกิด แต่พอสติเกิดแล้ว ก็ตื้อๆ อย่างไรไม่ทราบ รู้สึกหายๆ ไป เป็นอาการตื้อๆ เพราะฉะนั้น ก็พยายามที่จะนำสติด้วยการทำให้เกิดความรู้สึกตัวขึ้น จะได้พิจารณาลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    โยนิโสมนสิการเกิดกับกุศลจิต ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะรู้มัชฌิมาปฏิปทา จริงๆ ขณะที่กำลังพยายามนำให้สติเกิด ขณะนั้นมีสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ไม่รู้ จึงพยายามที่จะนำสติด้วยความเป็นตัวตน บางท่านอาจจะคิดว่า ถูกแล้ว เมื่อสติ ไม่เกิด ก็พยายามนำให้สติเกิด

    แต่ที่จริงสภาพธรรมมีอยู่แล้วตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น ลักษณะอาการที่ตื้อๆ นั่นคือความไม่รู้ เป็นอวิชชา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงใน สติปัฏฐาน จะไม่มีความต้องการที่จะนำให้สติเกิดขึ้น แต่สติจะระลึกทันทีในลักษณะอาการที่ตื้อ คือ ลักษณะของความไม่รู้ ซึ่งเป็นอวิชชา

    ไม่ใช่ว่า ดีมาก เมื่อสติไม่เกิดก็พยายามทำอย่างอื่นนำให้สติเกิด แต่แสดง ให้เห็นว่า ขณะนั้นมีสภาพธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นตามปกติ ไม่ต้องนำ เป็นอนัตตาเพราะว่าอาศัยปัจจัย ลักษณะของความไม่รู้ซึ่งเป็นลักษณะของอวิชชาจึงเกิดปรากฏ แต่เมื่อไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นความไม่รู้ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น จึงมีความเป็นตัวตนพยายามที่จะทำอย่างอื่น คือ นำให้สติเกิด คือ ทำอย่างอื่นด้วยความต้องการที่จะให้สติระลึกสิ่งใหม่

    นี่เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ จึงจะละข้อปฏิบัติที่ผิดด้วยตนเอง แต่ก็ยังไม่สามารถรู้ว่า นี่ผิดแล้ว เพราะแทนที่จะระลึกทันทีในสิ่งที่มี กลับไปทำอย่างอื่นเพื่อนำ ซึ่งการกระทำอย่างนี้แสดงชัดเจนว่า ขณะนั้นสติไม่สามารถเป็นสติปัฏฐานที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามเหตุตามปัจจัย ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ถ้าผู้นั้นยังนำต่อไปเรื่อยๆ ก็จะปิดบัง โดยที่ว่าปกติสภาพธรรมเกิดอยู่ตลอดเวลาตามเหตุตามปัจจัย ทำไมสติไม่ระลึกในสิ่งที่ปรากฏ แต่กลับมีความเป็นตัวตนที่ไปนำให้สติเกิด

    แสดงให้เห็นว่า การพิจารณาเรื่องของมรรคมีองค์ ๘ เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ แม้แต่ในเรื่องของความเพียร พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทให้พุทธบริษัทเป็นผู้ไม่ประมาท นั่นคือเป็นผู้ที่มีความเพียร ไม่ใช่ว่าให้เพียรนั่งทั้งคืนด้วยความเป็นตัวตน ด้วย ความต้องการ แต่ขณะที่สติระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ มีวิริยเจตสิก ซึ่ง เป็นสัมมาวายามะ เป็นสภาพที่เพียรศึกษาเพื่อรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นสติปัฏฐาน เป็นสภาพธรรมตามปกติจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรม แม้ธรรมที่ทรงแสดง คือ โมหมูลจิต เป็นสภาพที่มีจริง ขณะใดที่เกิดปรากฏ สติก็ต้องระลึกในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของความสงสัย ความเคลือบแคลงในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น

    สิ่งซึ่งปัญญาจะต้องอบรมเจริญมีมาก เช่น ทางตา เกิดความเคลือบแคลงสงสัยขึ้นว่า เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม แม้ขณะที่กำลังเคลือบแคลงสงสัย ก็เป็นอาการของวิจิกิจฉาเจตสิก ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น สติจะระลึกที่ลักษณะนั้นก็ได้ หรือจะระลึกลักษณะของสภาพเห็นซึ่งเป็นอาการรู้ แทนที่จะระลึกถึงลักษณะที่เคลือบแคลงสงสัยก็ได้ หรือจะศึกษาลักษณะของสิ่งที่เป็นรูปธรรม ชินหูเหลือเกินกับคำว่า รูปธรรม เพียงชินหู แต่ต้องชินกับลักษณะของรูปธรรมด้วยว่า เป็นสิ่งซึ่งเพียงปรากฏทางตา ไม่ใช่สภาพรู้ จนกว่าจะละการยึดถือ สิ่งที่ปรากฏทางตาว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จึงจะเข้าถึงความหมายที่เป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างเท่านั้น

    พอที่จะทราบได้แล้วใช่ไหมว่า โมหมูลจิตเกิดในขณะไหนบ้าง ที่เป็นโมหมูลจิต วิจิกิจฉาสัมปยุตต์ พิสูจน์ด้วยสติปัฏฐาน มีไหม ระลึกได้ไหม ไม่ระลึกก็ได้ เพราะว่าในขณะนี้ก็ไม่ใช่มีแต่เห็น ได้ยินก็มี คิดนึกก็มี เพราะฉะนั้น ไม่เจาะจงที่จะต้องระลึกที่ลักษณะของโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ แต่ระลึกตรงลักษณะซึ่งเป็นสภาพรู้ที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็ได้ โดยรู้ว่า ถ้าตายแล้วจะไม่มีการเห็นเลย เพียงเท่านี้ ก็จะรู้ว่า ที่เห็นในขณะนี้ที่ยังไม่ตายนั้นเป็นนามธรรม เพราะว่าไม่ได้เกี่ยวกับรูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าเลย

    . เมื่อตายแล้ว ไม่มีเห็น แต่ข้างหลังเรา ก็ไม่มีเห็น ใช่ไหม

    สุ. ไม่เหมือนกัน

    . ข้างหลังเราไม่มีเห็น กับตายแล้วไม่มีเห็น ไม่เหมือนกัน ใช่ไหม

    สุ. ไม่เหมือน

    . ถ้าหลับตา เหมือนกันไหม

    สุ. ไม่เหมือนอีกเหมือนกัน เพราะถ้าตายแล้วมีแต่รูปธรรมอย่างเดียว แต่เมื่อยังไม่ตาย แม้ข้างหลังไม่มีเห็น ข้างหน้าก็มีเห็น อย่างอื่นก็มี ได้ยินก็มี เพราะฉะนั้น นามธรรมมี

    ที่จะแยกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม พิจารณาโดยนัยใดนัยหนึ่งก็ได้ ที่จะให้สามารถน้อมไปเข้าใจลักษณะของนามธรรมได้จริงๆ ว่า เพียงแต่ตายแล้ว โลกนี้ไม่ปรากฏ เห็นในขณะนี้ไม่มี เพราะฉะนั้น ก็ทำให้น้อมมาพิจารณาที่เห็นว่า เห็นในขณะนี้ มี จึงเป็นสภาพรู้ อาการรู้ ซึ่งคนตายไม่มี

    . การไม่เห็นข้างหลัง กับการหลับตา ต่างกันอย่างไร

    สุ. ก็มีอย่างอื่น มีนามธรรมอื่น ไม่จำเป็นต้องไปคิดถึงข้างหลัง ขณะที่ ได้ยินก็ไม่มีเห็น ขณะที่คิดก็ไม่มีเห็น

    . มีท่านผู้หนึ่งบอกว่า หลับตาไม่เห็น ไม่จริงหรอก เพราะว่าขณะหลับตาก็ยังมีเห็น การเห็นอย่างนั้น กับการไม่เห็นข้างหลังนี่ไม่เห็นแน่นอน ต่างกันไหม

    สุ. ต่างกัน เพราะว่าจักขุปสาทไม่ได้อยู่ข้างหลัง แต่ที่ข้างหน้า หลับตาแล้ว เวลามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเคลื่อนไหวผ่านไป ก็ยังมองเห็นเป็นลักษณะที่ต่างกัน ถ้าไม่มีจักขุปสาทเลย จะมีสีแดงๆ ฟ้าๆ เหลืองๆ ขณะที่หลับตาไหม

    . นั่นไม่เป็นธัมมารมณ์ ใช่ไหม แม้กระทั่งแว็บๆ เพราะฉะนั้น ก็เป็น จักขุปสาท …

    สุ. จักขุปสาทสามารถรับกระทบกับสีสันวัณณะ จะใช้คำว่าแสง หรืออะไรก็ได้ที่ปรากฏทางตา สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏโดยอาศัยตา

    . หลับตาแล้ว

    สุ. หลับตาแล้ว จักขุปสาทก็เกิดดับอยู่

    . ไม่รู้ลอดมาจากไหน

    สุ. มีอากาศธาตุแทรกอยู่อย่างละเอียด โดยอณูที่เล็กที่สุดต้องมี อากาศธาตุคั่นอยู่

    . ถ้าอย่างนั้น ขณะหลับตา ที่ยังเห็นอยู่ก็เป็นรูปารมณ์

    สุ. แน่นอน

    . เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้

    สุ. ทุกอย่างที่มีจริงๆ ไม่อย่างนั้น สงสัยแล้วใช่ไหม นามธรรมหรือเปล่า รูปธรรมหรือเปล่า ไม่หมดความสงสัย ซึ่งตามที่ได้ศึกษามา ไม่มีสภาพธรรมที่เกิดปรากฏที่จะพ้นไปจากนามธรรมหรือรูปธรรมได้

    เพราะฉะนั้น เมื่อสิ่งนั้นปรากฏ จะเป็นอะไร ผู้ที่มีปัญญาต้องพิจารณาทันทีว่า นามธรรมหรือรูปธรรม และต้องไม่มีคำถามว่า เป็นสติปัฏฐานไหม มิฉะนั้นแล้ว จะเป็นความเข้าใจผิด คิดว่าเฉพาะบางอารมณ์เท่านั้นที่เป็นสติปัฏฐาน แต่ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานจริงๆ ต้องรู้ว่า ต้องรู้ทั่ว ไม่ว่าจะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นในขณะไหน จะหลับตาหรือลืมตาก็ตามแต่ สิ่งที่กำลังปรากฏต้องไม่เป็นที่ตั้งของความสงสัย และ ที่จะไม่เป็นที่ตั้งของความสงสัยได้ ก็เพราะสติระลึกจึงจะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งกำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ มิฉะนั้นแล้ว ใครที่เห็นสีอย่างนั้น เวลาหลับตาและมีบางแสงบางสีที่ปรากฏ ในขณะนั้นเป็นใครเห็น

    . ก็เป็นเรา

    สุ. ก็ต้องเป็นเรา เพราะฉะนั้น ต้องอบรมเจริญปัญญา เพื่อละความสงสัย ไม่ว่าจะลืมตา หรือหลับตา

    ส่วนใหญ่ที่แสดงว่า รูปารมณ์อาศัยจักขุปสาท และอาศัยแสงสว่าง หมายความถึงในขณะที่ลืมตาและเห็นสีสันวัณณะต่างๆ แต่ถึงแม้ว่าจะหลับตา จักขุปสาทก็เกิดดับ ในขณะที่หลับตากลางแดด จะเห็นได้ชัดเจนว่า ในขณะนั้นมี แสงสว่าง จะเรียกว่าสีหนึ่งสีใดก็ตามแต่จะปรากฏ ขณะนั้นก็ไม่มีตัวตน เมื่อไม่ใช่ตัวตนแล้ว สภาพเห็นมี สภาพเห็นนั้นก็เป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง และสิ่งที่ปรากฏ ก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นสีสันต่างๆ หรือแม้หลับตาแล้ว จะเป็นเพียงเหมือนแสงสว่างที่เป็นเพียงบางสี ก็ยังคงเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เพราะอาศัยจักขุปสาทนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ไม่มีการเว้นเลย ไม่ว่าในขณะใดทั้งสิ้น ต้องละวิจิกิจฉา ความสงสัย ความเคลือบแคลง ความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    คนตายเห็นอย่างนั้นไหม ไม่เห็น เพราะคนตายไม่มีนามธรรม ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ที่เห็นอย่างนั้นต้องเป็นนามธรรม คือ การเห็นสิ่งที่ปรากฏ โดยอาศัยจักขุปสาทเป็นทวาร

    โมหมูลจิต มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุดในบรรดาจิตที่ประกอบด้วยเหตุ เพราะว่าการจำแนกจิต จำแนกออกได้เป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุ เป็นสเหตุกจิต และจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เป็นอเหตุกจิต

    จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เป็นวิบากจิตและกิริยาจิต สำหรับอเหตุกจิต คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ นั้น มี ๑๘ ประเภท เป็นอเหตุกจิต ๑๘ ดวง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุด คือ มีเพียง ๗ ดวง ถึง ๑๒ ดวง เท่านั้น

    ในอเหตุกจิต ๑๘ ดวง ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวงเท่านั้น แสดงให้เห็นว่า จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยกว่าจิตที่ประกอบด้วยเหตุ และในบรรดาจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๑๘ ดวง ก็ยังต่างกัน คือ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวง ซึ่งเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก หมายความว่าเจตสิก ๗ ดวงนี้ต้องเกิดกับจิตทุกดวง

    ขณะนี้ที่กำลังเห็น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวง ขณะที่ได้ยิน โสตวิญญาณ ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวง ขณะที่ได้กลิ่น ฆานวิญญาณ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวง ขณะที่กำลังลิ้มรส มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวง ขณะที่กำลังกระทบสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว เวทนาบางครั้งเป็นสุขเวทนา บางครั้งเป็นทุกขเวทนา ขณะนั้นก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวงเท่านั้น

    และสำหรับทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง จักขุวิญญาณรู้อารมณ์เดียว คือ เฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตา โสตวิญญาณรู้เฉพาะเสียง ฆานวิญญาณรู้เฉพาะกลิ่น ชิวหาวิญญาณรู้เฉพาะรส กายวิญญาณรู้เฉพาะสิ่งที่กระทบสัมผัส

    เพราะฉะนั้น ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง จะรู้อารมณ์เฉพาะของตนๆ เพียง อารมณ์เดียว คือ จักขุวิญญาณที่เห็น ไม่ใช่โสตวิญญาณที่ได้ยินเสียง และ จักขุวิญญาณไม่สามารถรู้เสียงได้เลย นี่คือการเกิดดับของจิตแต่ละประเภท ซึ่งเป็นไปแต่ละขณะอย่างรวดเร็ว

    นี่คือ ๑๐ ดวง ในอเหตุกจิต ๑๘ ดวง ซึ่งมีสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง เกิดร่วมด้วย

    สำหรับสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ได้แก่ ผัสสเจตสิก ๑ เวทนาเจตสิก ๑ สัญญาเจตสิก ๑ เจตนาเจตสิก ๑ เอกัคคตาเจตสิก ๑ ชีวิตินทริยเจตสิก ๑ มนสิการเจตสิก ๑

    การรู้เรื่องของเจตสิก เพื่อให้รู้ความเป็นสังขารธรรม ซึ่งต้องเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยปรุงแต่งเท่านั้นเอง ให้เห็นสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    สำหรับอเหตุกจิตที่เหลืออีก ๘ ดวง ๓ ดวงเป็นมโนธาตุที่รู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ อารมณ์ คือ สามารถรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏ ทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น โผฏฐัพพะที่ปรากฏทางกาย

    จิต ๓ ดวง ที่สามารถรู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ เป็นอเหตุกกิริยาจิต และสัมปฏิจฉันนจิต ๒ ได้แก่ สัมปฏิจฉันนกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

    ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง และสัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง รวมเป็นมโนธาตุ ๓ ดวง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๐ ดวง เพิ่มขึ้นจากทวิปัญจวิญญาณซึ่งมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวง สำหรับจิตที่รู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์ ก็ต้องมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยมากขึ้น

    ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นอเหตุกิริยาจิต ทำอาวัชชนกิจ เกิดก่อน ทวิปัญจวิญญาณ เพราะฉะนั้น สามารถรู้อารมณ์ไม่ว่าอารมณ์จะกระทบตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย จิตดวงนี้จึงประกอบด้วยเจตสิก ๑๐ ดวง

    และสัมปฏิจฉันนจิต ซึ่งเกิดต่อจากทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ก็สามารถ รับอารมณ์ทั้ง ๕ ได้

    มโนธาตุ ๓ ดวงนี้ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๐ ดวง คือ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง และปกิณณกเจตสิกอีก ๓ ดวง

    สำหรับเจตสิกที่สามารถเกิดกับจิตทุกประเภทได้ ชื่อว่า อัญญสมานาเจตสิกทั้งหมดมี ๑๓ ดวง แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง ต้องเกิดกับจิตทุกประเภท และปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง ซึ่งเกิดได้กับจิตบางประเภท เว้นไม่เกิดกับจิตบางประเภทตามควร

    ปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง คือ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑ อธิโมกขเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ ปีติเจตสิก ๑ และฉันทเจตสิก ๑

    สำหรับเจตสิก ๑๐ ดวง ซึ่งเกิดกับปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ และสัมปฏิจฉันนจิต ๒ รวมเป็นมโนธาตุ ๓ นั้น ได้แก่ ปกิณณกเจตสิก ๓ ดวง คือ วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก อธิโมกขเจตสิก เว้นวิริยเจตสิก ปีติเจตสิก และฉันทเจตสิก

    สำหรับการที่จะเว้น อาจจะกล่าวว่า เว้นฉันทเจตสิกก่อน และก็เว้นปีติเจตสิก และก็เว้นวิริยเจตสิกก็ได้ เพราะว่าฉันทเจตสิกไม่เกิดกับอเหตุกจิตทุกดวง ปีติเจตสิก ไม่เกิดกับจิตซึ่งไม่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา และเฉพาะอเหตุกจิต ๒ ดวงเท่านั้น ซึ่งเกิดร่วมกับวิริยเจตสิก นี่แสดงให้เห็นถึงปัจจัยซึ่งปรุงแต่งทำให้จิตเกิดดับสืบต่อกัน ต่างกัน ตามเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย

    อเหตุกจิตทั้งหมด มี ๑๘ ดวง

    ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวง

    และมโนธาตุ ๓ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ สัมปฏิจฉันนจิต ๒ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๐ ดวง

    ยังเหลืออเหตุกจิตอีก ๕ ดวง คือ สันตีรณจิต ๓ ดวง มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง และหสิตุปปาทจิต ๑ ดวง

    สำหรับสันตีรณจิต ๓ ดวง รู้อารมณ์ได้ถึง ๖ อารมณ์ นี่คือความต่างกัน ซึ่ง ควรจะได้ทราบด้วย เพราะว่าการที่รู้อารมณ์เพิ่มขึ้น ก็ต้องอาศัยประกอบด้วยเจตสิกเพิ่มขึ้นด้วย

    สันตีรณจิต เป็นวิบากจิตทั้ง ๓ ดวง แต่ว่า ๒ ดวงเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ได้แก่ อุเบกขาเวทนาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ และอุเบกขาเวทนาสันตีรณอกุศลวิบาก ๑ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๐ ดวง เหมือนมโนธาตุ ๓ ดวง คือ เว้นฉันทะ เว้นปีติ และเว้นวิริยะ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๒ ตอนที่ ๑๔๑๑ – ๑๔๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 90
    28 ธ.ค. 2564