แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1419
ครั้งที่ ๑๔๑๙
สาระสำคัญ
อเหตุกจิต ๑๘ ดวง (มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวง ถึง ๑๒ ดวง)
โมหมูลจิต ๒ ดวง - เจตสิกเกิดร่วมด้วยต่างกัน แม้มีจำนวนเท่ากัน)
ศึกษาเหตุผลของสภาพธรรม (เพื่อคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน)
องฺ.เอก.นิวรณปหานวรรค - เหตุที่ทำให้เกิดวิจิกิจฉา
องฺ. เอก.ปมาทาธิวรรคที่ ๙ - ทรงแสดงโทษของอโยนิโสมนสิการ
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๒๘
เมื่อพูดถึงอเหตุกจิต และเจตสิก รู้ได้เลยว่า สัพพจิตตสาธารณะต้องเกิด ทั้ง ๗ ดวง ส่วนฉันทะไม่เกิดกับอเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวง เพราะว่าไม่สามารถเลือกได้ แล้วแต่อารมณ์ที่กระทบ ถ้าเป็นอารมณ์ที่กระทบจักขุปสาท ต้องมีการเห็นเกิดขึ้น และเป็นไปตามอารมณ์ เพราะฉะนั้น ไม่มีฉันทะที่จะเลือกอารมณ์ได้ตามพอใจ อเหตุกจิตทั้งหมดจึงไม่ประกอบด้วยฉันทเจตสิก
และอเหตุกจิตดวงใดไม่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา อเหตุกจิตดวงนั้นก็ไม่เกิดร่วมกับปีติเจตสิก และถ้าไม่ใช่มโนทวาราวัชชนะและหสิตุปปาทะ ก็ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น สันตีรณะที่เป็นอุเบกขาเวทนา จึงมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๐ ดวง
ตามเหตุผล โสมนัสสันตีรณะกุศลวิบาก ๑ ดวง จะมีเจตสิกเกิดเท่ากันกับ อุเบกขาสันตีรณะหรือเปล่า หรือเพิ่มขึ้น
คำตอบ คือ ไม่เท่า เพราะปีติเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงเป็นเหตุให้โสมนัสสันตีรณกุศลวิบาก ๑ ดวง มีเจตสิกเกิดเพิ่มขึ้นเป็น ๑๑ ดวง
สำหรับอเหตุกะดวงต่อไปที่เหลือ คือ มโนทวาราวัชชนจิต หรือโวฏฐัพพนจิตเมื่อเกิดทางปัญจทวาร มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๑ ดวง เพราะว่าอัญญสมานาเจตสิกมี ๑๓ ดวง เมื่อเว้นฉันทเจตสิกก็เหลือ ๑๒ ดวง และต้องเว้นปีติ เพราะว่า มโนทวาราวัชชนจิตเกิดกับอุเบกขาเวทนา จึงมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๑๑ ดวง เว้นฉันทเจตสิกและปีติเจตสิก
สำหรับอเหตุกจิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่าอเหตุกจิตดวงอื่น คือ หสิตุปปาทจิต เพราะว่าเป็นจิตที่ทำชวนกิจ เจตสิกจึงต้องเกิดมากกว่าที่เพียงเห็น เพียงได้ยิน หรือเพียงเป็นสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ เพราะฉะนั้น หสิตุปปาทจิตจึงมีอัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมด้วยถึง ๑๒ ดวง เว้นฉันทเจตสิก เท่านั้น
ถ้าจะจำอย่างย่อๆ ก็คือ อเหตุกจิต ๑๘ ดวง เป็นเป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยตั้งแต่ ๗ ดวง ถึง ๑๒ ดวง และสำหรับอกุศลจิต โมหมูลจิต ๒ ดวง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยกว่าโลภมูลจิตและโทสมูลจิต ที่ต้องน้อยกว่าเพราะว่าไม่มีโลภเจตสิกและบริวารของโลภะเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสเจตสิกและบริวารของโทสะเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น โมหมูลจิต ๒ ดวง เป็นสเหตุกจิต คือ จิตที่ประกอบด้วยเหตุ ที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยกว่าสเหตุกจิตอื่นๆ เพราะว่า มีเหตุประกอบเพียงเหตุเดียว
โมหมูลจิต ๒ ดวง ได้แก่ อุเปกขาสหคตัง วิจิกิจฉาสัมปยุตตัง ๑ ดวง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๕ ดวง และอุเปกขาสหคตัง อุทธัจจสัมปยุตตัง ๑ ดวง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๕ ดวง
การศึกษาเรื่องเหตุผลของสภาพธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องประกอบให้คลาย การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ในขั้นของการฟัง เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึกได้ ในขณะที่แล้วแต่ว่าสภาพธรรมในขณะนั้นจะเป็นโลภะ หรือเป็นโทสะ หรือเป็นโมหะ เช่น ในขณะที่กำลังตื้อๆ อย่างที่ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งได้กล่าวถึงเมื่อกี้นี้
ที่โมหมูลจิตต่างกันเป็น ๒ ดวง ทั้งๆ ที่เป็นอุเปกขาสหคตังคือเกิดร่วมกับ อุเบกขาเวทนาทั้ง ๒ ดวง ก็เพราะว่าดวงหนึ่งเป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตตัง เกิดร่วมกับวิจิกิจฉาเจตสิก ส่วนอีกดวงหนึ่งไม่ได้เกิดร่วมกับวิจิกิจฉาเจตสิก จึงต่างกัน แม้ว่าจะมีจำนวนเจตสิกเท่ากัน
สำหรับโมหมูลจิตดวงที่ ๑ คือ อุเปกขาสหคตัง วิจิกิจฉาสัมปยุตตัง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๕ ดวง ได้แก่ อัญญสมานาเจตสิก ๑๐ ดวง (เว้นฉันทะ ปีติ และ อธิโมกขเจตสิก) อกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวง และวิจิกิจฉาเจตสิก ๑ ดวง รวมเป็น ๑๕ ดวง
สำหรับโมหมูลจิตดวงที่ ๒ คือ อุเปกขาสหคตัง อุทธัจจสัมปยุตตัง มี อัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๑ ดวง ซึ่งต่างกันกับโมหมูลจิตดวงที่ ๑ เพราะว่าโมหมูลจิตดวงที่ ๑ มีอัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๐ ดวง เว้นฉันทะ ปีติ และอธิโมกข์ แต่โมหมูลจิตดวงที่ ๒ มีอัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๑ ดวง เว้นเฉพาะฉันทเจตสิกและปีติเจตสิก แต่มีอธิโมกขเจตสิกเกิดร่วมด้วย และมี อกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวงเกิดร่วมด้วย รวมเป็น ๑๕ ดวง
นี่คือความต่างกัน คือ ต่างกันที่โมหมูลจิตดวงที่ ๑ มีอัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๐ ดวง และมีวิจิกิจฉาเกิดร่วมด้วย ส่วนโมหมูลจิตดวงที่ ๒ มี อัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๑ ดวง แต่ไม่มีวิจิกิจฉาเจตสิกเกิดร่วมด้วย
ซึ่งควรพิจารณาถึงสภาพลักษณะของเจตสิกที่เกิดกับโมหมูลจิตดวงที่ ๑ คือ อุเปกขาสหคตัง วิจิกิจฉาสัมปยุตตัง ซึ่งมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๕ ดวง ได้แก่ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ปกิณณกเจตสิก ๓ อกุศลสาธารณเจตสิก ๔ และวิจิกิจฉาเจตสิก ๑ รวม ๑๕ ดวง
ในขณะที่โมหมูลจิตที่เป็นอุเปกขาสหคตัง วิจิกิจฉาสัมปยุตตังเกิด ผัสสเจตสิกในขณะนั้นกระทบอารมณ์ เพราะถ้าเป็นผัสสเจตสิกก็ต้องกระทบอารมณ์ มีลักษณะกระทบ มีกิจกระทบ การกระทบอารมณ์ไม่ใช่ลักษณะของจิต แต่เป็นลักษณะของเจตสิก เพราะฉะนั้น เมื่อโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์มีผัสสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ในขณะนั้นผัสสะที่เกิดกับโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ก็กระทบอารมณ์และประกอบด้วยความสงสัย
การกระทบอารมณ์ที่เป็นกุศลนั้นอย่างหนึ่ง การกระทบอารมณ์ที่เป็นอกุศลนั้น ก็อย่างหนึ่ง กระทบอารมณ์และเกิดร่วมกับโลภมูลจิตก็อย่างหนึ่ง กระทบอารมณ์และเกิดร่วมกับโทสมูลจิตนั้นก็อย่างหนึ่ง
เพราะฉะนั้น เวลาที่ผัสสเจตสิกเกิด ทำกิจกระทบอารมณ์จริง แต่แล้วแต่ว่าผัสสเจตสิกนั้นเกิดกับจิตประเภทใด ถ้าเกิดกับโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ แม้ในขณะที่ผัสสเจตสิกเกิดกระทบอารมณ์ในขณะนั้นก็ประกอบด้วยความสงสัย
เป็นอย่างนั้นไหม เวลาที่ความสงสัยเกิดขึ้น แม้แต่ผัสสเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ในขณะนั้น ก็กระทบอารมณ์และประกอบด้วยความสงสัย ไม่ใช่ด้วยความเข้าใจชัดเจนในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังกระทบนั้น แต่กระทบด้วยความสงสัย
เวทนาเจตสิกซึ่งเกิดกับโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ เป็นอุเบกขา คือ ความรู้สึกเฉยๆ จะชอบก็ไม่ได้ เพราะว่าไม่รู้ในลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏ จะไม่ชอบก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เวทนาในขณะนั้นเป็นอุเบกขาเวทนา ไม่ชอบ ไม่ชัง และประกอบด้วยความสงสัย แม้แต่ความรู้สึกเฉยๆ ที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ก็ประกอบด้วยความสงสัยในลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ
สัญญาเจตสิกเกิดขึ้นจำอารมณ์ในขณะนั้น ก็จำอารมณ์ด้วยความสงสัย ไม่รู้ในสภาพธรรมนั้น พิจารณาดูได้ ขณะที่ความสงสัยเกิดขึ้น สัญญาจะจำด้วยความสงสัย ไม่ใช่ด้วยความชัดเจน ไม่ใช่ด้วยความรู้แจ่มแจ้ง
เจตนาเจตสิก คือ สภาพที่จงใจ ตั้งใจ ขวนขวายกระทำกิจในขณะนั้น ก็ประกอบด้วยความสงสัย ทางโลกมีไหม เวลาที่ทำอะไรด้วยความตั้งใจ จงใจ แต่ก็ยังสงสัย ในทางโลก เช่น ในขณะที่ปรุงอาหาร ไม่ทราบว่าจะใส่เกลือดีไหม แต่ก็ใส่ มีความจงใจ มีความตั้งใจที่จะใส่ แต่ก็ใส่ด้วยความสงสัย ตั้งใจหรือขวนขวายที่จะทำด้วยความสงสัย
นี่เป็นเรื่องของทางโลกซึ่งเห็นได้ แต่ในขณะที่โมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์เกิดขึ้น แม้แต่ลักษณะของเจตนาซึ่งขวนขวาย ตั้งใจ จงใจในอารมณ์ในขณะนั้น ก็ประกอบด้วยความสงสัย คือ ความเคลือบแคลง ความไม่รู้ในลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ
เอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น ไม่ใช่ในอารมณ์อื่น ก็ประกอบด้วยความสงสัย คือ วิจิกิจฉาเจตสิกไม่ได้จากไปเลยในขณะนั้น แม้แต่การตั้งมั่นในอารมณ์นั้นซึ่งไม่ใช่ในอารมณ์อื่น ก็ประกอบด้วยความสงสัยในอารมณ์ ที่ตั้งมั่นนั้น
ชีวิตินทริยเจตสิก เป็นเจตสิกที่รักษาสหชาตธรรม คือ จิตและเจตสิกอื่นๆ ให้ดำรงอยู่ในฐีติขณะ ในขณะนั้นก็รักษาสหชาตธรรมซึ่งเกิดร่วมด้วยด้วยความสงสัย เพราะว่าเกิดร่วมกับวิจิกิจฉาเจตสิก
และมนสิการเจตสิก ซึ่งใส่ใจในอารมณ์ที่ปรากฏในขณะนั้น แม้กำลังใส่ใจอยู่ ก็เกิดประกอบด้วยความสงสัยในขณะนั้น
สำหรับปกิณณกเจตสิกทั้งหมด ๖ ดวง คือ วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก อธิโมกขเจตสิก วิริยเจตสิก ปีติเจตสิก ฉันทเจตสิกนั้น มี ๓ ดวงเท่านั้นที่เกิดกับ โมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ คือ วิตกเจตสิก๑ วิจารเจตสิก ๑ และวิริยเจตสิก ๑ ฉันทะไม่เกิดกับโมหมูลจิต ปีติไม่เกิดกับโมหมูลจิต อธิโมกขเจตสิกไม่เกิดกับ โมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์
เพราะฉะนั้น ปกิณณเจตสิก ๓ ดวง ที่เกิดกับโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ วิตกเจตสิกที่จรดในอารมณ์ที่ปรากฏนั้น ก็ประกอบด้วยความสงสัย วิจารเจตสิกที่ ตามอารมณ์ที่วิตกเจตสิกจรดในขณะนั้น ก็ประกอบด้วยความสงสัย แม้วิริยเจตสิกซึ่งเพียรในอารมณ์ที่ปรากฏนั้น คือ เพียรให้อยู่ในอารมณ์นั้น ไม่ใช่อารมณ์อื่น ก็ประกอบด้วยความสงสัย
นี่คือสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันในโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ที่เป็น อัญญสมานาเจตสิก ๑๐ ดวง
สำหรับอกุศลเจตสิกทั้งหมดมี ๑๔ ดวง ไม่ได้เกิดกับโมหมูลจิตทั้ง ๑๔ ดวง
อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง คือ โมหเจตสิก ๑ อหิริกเจตสิก ๑ อโนตตัปปเจตสิก ๑ อุทธัจจเจตสิก ๑ โลภเจตสิก ๑ ทิฏฐิเจตสิก ๑ มานเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ อิสสาเจตสิก ๑ มัจฉริยเจตสิก ๑ กุกกุจจเจตสิก ๑ ถีนเจตสิก ๑ มิทธเจตสิก ๑ และวิจิกิจฉาเจตสิก ๑ รวมเป็นอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง แบ่งเป็นพวกๆ ได้ คือ
เป็นอกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวง ได้แก่ โมหเจตสิก ๑ อหิริกเจตสิก ๑ อโนตตัปปเจตสิก ๑ อุทธัจจเจตสิก ๑ ซึ่งต้องเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง ฉะนั้น โมหมูลจิตที่เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ นอกจากอัญญสมานาเจตสิก ๑๐ ดวงแล้ว ก็มีอกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวงเกิดร่วมด้วย และมีวิจิกิจฉาเจตสิกเกิดร่วมด้วยอีก ๑ ดวง รวมเป็นอกุศลเจตสิก ๕ ดวง รวมเจตสิกทั้งหมดที่เกิดร่วมกับโมหมูลจิต วิจิกิจฉาสัมปยุตต์จึงเป็น ๑๕ ดวง
สำหรับโมหมูลจิต มีอกุศลสาธารณเจตสิกเกิด ๔ ดวง แต่ไม่มีโลติกะ คือ ธรรมหมวดโลภะ ๓ ได้แก่ โลภเจตสิก ๑ ทิฏฐิเจตสิก ๑ มานะเจตสิก ๑ ไม่มี โทจตุกะ คือ ธรรมหมวดโทสะ ๔ ได้แก่ โทสเจตสิก ๑ อิสสาเจตสิก ๑ มัจฉริยเจตสิก ๑ กุกกุจจเจตสิก ๑ และไม่มีหมวด ๒ ของถีนะ คือ ถีนเจตสิก ๑ และมิทธเจตสิก ๑ เกิดร่วมด้วย แต่มีวิจิกิจฉาเจตสิกเกิดร่วมด้วย
ขณะใดที่มีความสงสัยเกิดขึ้น สังเกตลักษณะของเจตสิกต่างๆ ถ้าเป็นปัญญาสามารถจะพิจารณาได้ เพราะว่าสภาพธรรมปรากฏนิดเดียว เนื่องจากผัสสะหมดแล้ว เพราะฉะนั้น ขณะที่สภาพธรรมใดปรากฏ สามารถน้อมระลึกถึงลักษณะที่ผัสสะทำให้สภาพธรรมนั้นปรากฏ เพราะถ้าปราศจากผัสสเจตสิก สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ปรากฏไม่ได้
ถ้ายิ่งประจักษ์การที่สภาพธรรมแต่ละขณะปรากฏเพียงสั้นๆ คือ เป็นลักษณะของปริตตารมณ์ จะยิ่งสามารถรู้ได้ว่า ที่ธรรมนั้นปรากฏได้สั้นอย่างนั้นและหมดไป และสภาพธรรมอื่นก็ปรากฏสืบต่ออย่างสั้นและหมดไป ก็เพราะว่าผัสสเจตสิก กระทำกิจกระทบอารมณ์นั้น
เมื่อวิจิกิจฉาเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จึงควรทราบถึงเหตุ ที่ทำให้เกิดวิจิกิจฉา
อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต นีวรณปหานวรรคที่ ๒ ข้อ ๑๖ มีข้อความว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นธรรมอื่นสักอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุเกิดขึ้นแห่งวิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิดก็ดี เป็นเหตุเป็นไปเพื่อความยิ่งใหญ่ขึ้นแห่งวิจิกิจฉาที่เกิดแล้ว ก็ดี เหมือนดังอโยนิโสมนสิการคือความทำในใจโดยไม่แยบคายนี้เลย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลไม่พิจารณาโดยแยบคาย วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้นด้วย วิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นด้วย
นี่คือโทษของอโยนิโสมนสิการ ซึ่งนอกจากจะทำให้อกุศลเป็นไปในโลภะ และโทสะแล้ว ยังทำให้เกิดวิจิกิจฉาด้วย
อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ปมาทาทิวรรคที่ ๙ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโทษของอโยนิโสมนสิการใน มีข้อความว่า
ข้อ ๙๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนการใส่ใจโดยไม่แยบคาย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การไม่ ใส่ใจโดยแยบคาย ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่
ข้อ ๙๒
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนการใส่ใจโดยแยบคาย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การใส่ใจโดยแยบคาย ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่
การใส่ใจมี ๒ อย่าง คือ โดยแยบคายและโดยไม่แยบคาย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต วิจิกิจฉาสัมปยุตต์ก็ตาม ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นการใส่ใจโดยไม่แยบคาย
ข้อ ๙๓
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนความเป็นผู้ไม่รู้สึกตัว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นผู้ ไม่รู้สึกตัว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่
นี่คือลักษณะของโมหะ ความไม่รู้สึกตัวทั้งหมด ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งต้องเกิดจากอโยนิโสมนสิการ เพราะว่าขณะใดก็ตามที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นเพราะอโยนิโสมนสิการนั่นเอง
เพราะฉะนั้น ถ้าใครอยากทราบว่าอโยนิโสมนสิการเป็นอย่างไร หรือว่า เกิดเมื่อไร ก็จะรู้ลักษณะของอโยนิโสมนสิการได้ทันทีที่อกุศลจิตเกิด ไม่ว่าจะเป็น อกุศลจิตประเภทใดก็ตามที่เกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นเพราะอโยนิโสมนสิการ เพราะว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนที่จะทำให้อกุศลจิตในขณะนั้นเกิด นอกจากการ ไม่พิจารณาโดยแยบคาย
ข้อ ๙๕
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่
การมีมิตรชั่วก็เพราะอโยนิโสมนสิการอีกเหมือนกัน ทุกอย่างที่เป็นไปใน ทางเสื่อม ต้องเป็นเพราะอโยนิโสมนสิการทั้งสิ้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๒ ตอนที่ ๑๔๑๑ – ๑๔๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1381
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1382
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1383
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1384
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1385
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1386
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1387
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1388
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1389
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1390
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1391
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1392
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1393
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1394
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1395
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1396
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1397
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1398
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1399
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1400
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1401
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1402
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1403
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1404
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1405
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1406
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1407
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1408
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1409
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1410
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1411
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1412
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1413
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1414
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1415
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1416
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1417
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1418
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1419
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1420
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1421
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1422
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1423
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1424
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1425
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1426
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1427
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1428
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1429
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1430
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1431
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1432
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1433
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1434
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1435
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1436
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1437
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1438
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1439
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1440