แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1384


    ครั้งที่ ๑๓๘๔


    สาระสำคัญ

    ความหมายของทุกข์ต่างๆ

    ขันธ์ หรืออุปาทานขันธ์เป็นทุกข์

    ส.นิ.อัสสุสูตร


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๒๗


    นอกจากโสกะ ปริเทวะ ข้อความต่อไปได้กล่าวถึงลักษณะของทุกข์และโทมนัส ซึ่งอรรถหรือความหมายของทุกข์และโทมนัสมีว่า

    แม้ทุกข์และโทมนัสทั้งสองนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า เป็นทุกข์ เพราะตัวเองเป็นทุกข์ด้วย เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์ทั้งทางกายและทางใจด้วย

    จริงอยู่ สำหรับคนที่ถึงทุกข์ โดยทุกข์เพราะตัดมือ เท้า หู และจมูก นอนวางกระเบื้องเพื่ออาหารอันเป็นเดนไว้ข้างหน้าในศาลาของคนอนาถา เมื่อหนอนทะลักออกจากปากแผลอยู่ ย่อมเกิดทุกข์ทางกายอย่างรุนแรงขึ้น เพราะเห็นมหาชนมี ผ้าย้อมสีต่างๆ มีเครื่องอลังการที่น่าเจริญใจ เล่นนักษัตรอยู่ ย่อมเกิดโทมนัสอย่างรุนแรงขึ้น

    คนที่กำลังเจ็บไข้ได้ป่วย จะเห็นอาการของทุกข์ทางกายมากมายหลายอย่าง อาจจะถึงกับมีหนอนทะลักออกจากปากแผลก็ได้ หรือว่าบาดแผลธรรมดาที่ถูกตัดมือ เท้า หู จมูก โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่เกิดกับร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า นั่นก็เป็นอาการของทุกข์ทางกาย แต่ว่าคนที่กำลังมีทุกข์ทางกาย ย่อมมีความโทมนัสเพิ่มขึ้น เวลาที่เห็นคนอื่นสนุกสนานร่าเริงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บใดๆ ก็จะมีความรู้สึกน้อยใจ เสียใจ เป็นโทมนัสเกิดขึ้น

    อนึ่ง ผู้ที่แปล้ด้วยทุกข์ทางใจ จะสยายผมและขยี้อุระ จะหมุนไปทั่ว หมุนไปต่างๆ จะโดดเหว จะนำศาสตรามาฆ่าตัว จะดื่มยาพิษ จะเอาเชือกแขวนคอ จะเข้ากองไฟ จะมีปกติเดือดร้อน มีจิตใจร้อนรุ่มอยู่ด้วยอาการนั้นๆ คิดเรื่องวิปริตนั้นๆ อยู่

    อีกประการหนึ่ง เพราะโทมนัสย่อมบีบคั้นจิตใจ และนำความบีบคั้นมาให้แก่ร่างกาย ฉะนั้น บัณฑิตทั้งหลายจึงกล่าวแม้โทมนัสว่า เป็นทุกข์แล

    เวลาที่ใจเป็นทุกข์ กายก็พลอยกินไม่ได้ นอนไม่หลับ เป็นทุกข์ไปด้วย ฉะนั้น ทุกข์กายจึงทำให้เกิดทุกข์ใจ และทุกข์ใจก็ทำให้เกิดทุกข์กาย บางคนปวดหัว เป็นไข้ หรือเป็นโรคภัยซึ่งเกิดจากจิตที่กำลังเป็นทุกข์ได้

    ข้อความต่อไปแสดงความหมายของทุกข์อีกประการหนึ่ง คือ อุปายาส ไว้ดังนี้

    ชื่อว่าอายาสะ ความคับใจ ด้วยอรรถว่า ลำบาก

    บทว่า อายาสะ ความคับใจนี้ เป็นชื่อของความลำบากแห่งจิตใจ อันเป็นไปแล้วด้วยอาการหดหู่และย่อท้อ ความคับใจอย่างรุนแรงชื่อว่าอุปายาสะ ความคับแค้นใจ ก็อุปายาสะนี้นั้น มีความวุ่นวายใจเป็นลักษณะ มีการถอนหายใจเป็นรสะ มีความปราศจากความยินดีเป็นปัจจุปัฏฐาน

    ข้อความต่อไป ยกตัวอย่างในอรรถกถาที่ว่า

    ผู้ที่ถูกพระราชากริ้ว ตัดอิสริยยศ มีบุตรและพี่น้องที่ถูกประหาร ตัวเองก็ถูก สั่งฆ่า ก็ได้หนีเข้าไปสู่ดงด้วยความกลัว ปราศจากความยินดีอย่างใหญ่หลวง เกิดทุกข์ทางกายอย่างรุนแรงขึ้น ยืนเป็นทุกข์ นอนเป็นทุกข์ นั่งเป็นทุกข์ เมื่อคิดอยู่ว่า ญาติของเราเท่านี้ โภคะของเราเท่านี้พินาศแล้ว ย่อมเกิดโทมนัสอย่างรุนแรงขึ้น

    คนที่เคยมีทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าสูญสิ้นหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เกือบทนมีชีวิตต่อไปไม่ได้ ด้วยความรู้สึกโทมนัส

    อีกประการหนึ่ง อุปายาสะ ย่อมให้ทุกข์มีประมาณยิ่งอันใดเกิด เพราะเผาลนจิตใจ และเพราะทำกายให้เศร้าหมองโดยทุกข์นั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัส ให้ชื่อว่า ทุกข์แล

    ก็ในทุกข์ ๕ อย่างนี้ คือ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสะ พึงทราบ โสกะ ดุจการหุงน้ำมันเป็นต้นในภายในภาชนะเท่านั้นด้วยไฟอ่อน พึงทราบปริเทวะ ดุจการล้นออกข้างนอกภาชนะของของที่เคี่ยวด้วยไฟแรง พึงทราบอุปายาสะ ดุจการเคี่ยวจนสิ้นไปรอบในภายในภาชนะนั่นเองของสิ่งที่เหลือจากล้นออกข้างนอก แม้ไม่พอที่จะล้นออกอยู่

    หวังว่าชีวิตของแต่ละท่านคงจะไม่ได้ประสบกับโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสะ อย่างรุนแรง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่พ้นไปเลย แล้วแต่กำลังของความโศกในขณะนั้น บางทีเมื่อผู้เป็นที่รักสิ้นชีวิตไป ก็พอที่จะระลึกได้ว่า ความโศกที่เกิดขึ้นในขณะนั้นถึงขั้นไหน ก็เป็นเรื่องการสะสมของแต่ละบุคคล แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ทุกภพทุกชาติ ทุกคนต้องประสบกับทั้งโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสะ

    ต่อไปก็เป็นชีวิตประจำวัน คือ การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ที่ทำให้เกิดโทมนัสหรือทุกข์ขึ้น

    มีข้อความอธิบายว่า

    อัปปิยสัมปโยคะ คือ บทว่า ที่เขาไม่ต้องการ คือ โดยอรรถว่า ที่เขาไม่แสวงหา

    เวลาท่านผู้ฟังได้อะไรที่ท่านไม่ต้องการ ก็หมายความว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งซึ่ง ท่านไม่ได้แสวงหา

    บทว่า ที่เขาไม่ต้องการนี้ เป็นชื่อของอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจทั้งหลาย อันเขาไม่พึงแสวงหา ธรรมมีรูปเป็นต้นเหล่าใดไม่ก้าวไป คือ ไม่ก้าวไปในใจ เหตุนั้น ธรรม มีรูปเป็นต้นเหล่านั้น จึงชื่อว่าอกันตา ไม่ก้าวไปในใจ

    อยู่ข้างนอก คือ เห็นก็ผ่านไป ไม่ได้สนใจ ไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้ติดใจ ไม่ได้ต้องการ ไม่ได้แสวงหา

    ธรรมเหล่าใดย่อมไม่เอิบอาบในใจ หรือย่อมไม่ยังใจให้เจริญ เหตุนั้น ธรรมเหล่านั้นชื่อว่าอมนาปา ไม่เอิบอาบใจ หรือไม่ให้ใจเจริญ คือ ไม่น่าพึงใจ

    ชื่อว่าสังคติ การไปพร้อม สมาคโม ความมาพร้อม ภาวะที่ร่วมกันในการยืนและนั่งเป็นต้น ชื่อว่าสโมธานัง การประชุม การทำกิจทั้งปวงร่วมกัน ชื่อว่ามิสสีภาโวความเป็นผู้ปะปน อัปปิยสัมปโยคทุกข์นั้นมีการประชุมสิ่งที่เขาไม่ปรารถนาเป็นลักษณะ มีการทำความกระทบจิตใจด้วยอาการต่างๆ เป็นรสะ มีภาวะที่ ไร้ประโยชน์เป็นปัจจุปัฏฐาน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นทุกข์ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์แม้ทั้ง ๒ อย่าง แก่ผู้ที่ประจวบแล้วกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก

    ลองพิจารณาว่า สิ่งอันไม่เป็นที่รักในชีวิตของทุกๆ ท่าน คืออะไรบ้าง

    จริงอยู่ วัตถุที่เขาไม่ปรารถนาแล้ว (หมายถึงสิ่งของ) ถึงการประชุมเข้าแล้วย่อมให้เกิดทุกข์แม้ทางกาย โดยการเจาะ การตัด และการผ่าเป็นต้น แม้ทางใจ โดยนัยอันเกิดแต่ความหวาดกลัวขึ้นได้

    สิ่งที่ไม่ปรารถนาทางกาย คือ ไม่ปรารถนาที่จะให้รูปซึ่งเป็นอันตรายกระทบกับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นมีด เป็นปืน เป็นวัตถุใดๆ ก็ตามที่จะทำให้ร่างกายปวดเจ็บ เป็นทุกข์ทรมานเกิดขึ้น นั่นคือวัตถุที่ไม่น่าปรารถนา แม้ทางใจก็มีทุกข์ เวลาที่ ประจวบกับสิ่งซึ่งไม่น่าพอใจ ทำให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นได้

    เพราะเหตุนั้น ท่านจึงตรัสไว้ดังนี้ว่า

    เพราะเห็นสัตว์อันไม่เป็นที่รักทีเดียว จึงมีทุกข์ที่ใจก่อน และมีทุกข์อันเกิดแต่ความพยายามของสัตว์อันไม่เป็นที่รักนั้นที่กายเหตุใด เพราะเหตุนั้นพึงทราบ ความสมาคมกับสัตว์อันไม่เป็นที่รักนั้นว่า อันพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นทุกข์ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแม้แห่งทุกข์ทั้ง ๒ ในโลกนี้

    ท่านผู้ฟังคงจะเคยมีคนซึ่งท่านไม่ชอบ การไม่ชอบนี่ แม้เพียงเห็นก็ไม่สบายใจแล้ว ไม่อยากเห็น บางทีถ้าได้ทราบว่าคนนั้นจะไปในที่ไหน ท่านก็ไม่ไป เพราะว่า ไม่ต้องการที่จะพบเห็นคนที่ท่านไม่พอใจ นั่นคือการประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก

    และถ้าไม่ชอบมากกว่านั้นอีก คือ โจรผู้ร้ายต่างๆ ซึ่งจะไม่มีใครชอบเลย เวลาที่เห็นขโมย โจร นอกจากจะไม่เป็นที่พอใจแล้ว ก็ถึงกับหวาดกลัวด้วย ซึ่งในขณะที่กำลังหวาดกลัวนั้น ก็เป็นทุกข์

    เมื่อเห็นผู้ไม่เป็นที่รัก เกิดความทุกข์เพียงเห็น แต่ถ้าเห็นกันต่อไปอีกอาจจะเกิดทุกข์มากกว่านั้น คือ ทะเลาะกัน ตีกัน วิวาทกัน ฆ่ากัน ทำร้ายกันก็ได้

    เพราะฉะนั้น ทุกข์ซึ่งเกิดจากการประสบกับสิ่งหรือผู้ไม่เป็นที่รัก ย่อมมีตั้งแต่อย่างเล็กๆ น้อยๆ จนกระทั่งถึงการทำให้เกิดภัยอันตรายขึ้นได้

    ชีวิตประจำวันนั้น นอกจากจะประสบกับสิ่งซึ่งไม่เป็นที่รักแล้ว ยังมีทุกข์อื่นอีก คือ พลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก

    ก็ในนิทเทสนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสคำเป็นอาทิว่า มาตา วา ได้แก่ มารดา ก็ตาม ดังนี้ เพื่อทรงแสดงบุคคลผู้ใคร่ประโยชน์โดยสรุปในคำว่า มารดา เป็นต้นนั้น มีวิเคราะห์ศัพท์ดังต่อไปนี้

    ชื่อว่ามารดา ด้วยอรรถว่า ประพฤติยึดถือว่าของเรา

    ชื่อว่าบิดา ด้วยอรรถว่า ประพฤติรักใคร่

    ชื่อว่าพี่น้องชาย ด้วยอรรถว่า เป็นผู้คบ

    ชื่อว่าพี่น้องหญิง ก็เหมือนกัน

    ชื่อว่ามิตร ด้วยอรรถว่า ประพฤติเมตตา หรือด้วยอรรถว่า นับถือ

    ชื่อว่าอำมาตย์ ด้วยอรรถว่า เป็นผู้ร่วม โดยอรรถ คือ เป็นไปร่วมกันในกิจและกรณียะทั้งหลาย

    ชื่อว่าญาติ ด้วยอรรถว่า เป็นผู้ทราบหรือรู้อย่างนี้ว่า คนนี้เป็นคนข้างในของเรา

    ชื่อว่าสาโลหิต โดยอรรถว่า เป็นผู้สัมพันธ์กันโดยสายเลือด

    ปิเยหิวิปโยคะนั้น มีการพลัดพรากจากวัตถุที่น่าปรารถนาเป็นลักษณะ มีการให้เกิดความโศกขึ้นเป็นรสะ มีการโยนความพินาศให้เป็นปัจจุปัฏฐาน

    นี่คือการพลัดพรากจากผู้ที่เป็นที่รักทั้งหลาย คือ มารดา บิดา พี่น้องชาย พี่น้องหญิง หรือแม้มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต

    จริงอยู่ วัตถุที่น่าปรารถนาอันบุคคลพลัดพรากอยู่ ย่อมให้เกิดทุกข์แม้ทางกาย โดยลักษณะมีทำให้มีสรีระซูบซีดและเหี่ยวแห้งเป็นต้น แม้ทางใจ โดยเศร้าสร้อยเป็นลำดับว่า แม้สิ่งซึ่งมีอยู่แล้วแก่เรานั้น ก็จะไม่มีแก่เขาอีก ดังนี้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ดังนี้ว่า เพราะพลัดพรากจากญาติและทรัพย์เป็นต้น คนพาลผู้เพียบพร้อมด้วยลูกศร คือ ความโศกจึงเสียดแทงใจ เหตุใด เพราะเหตุนั้น ความพลัดพรากจากของรักนี้ ท่านจึงกล่าวว่า เป็นทุกข์

    เมื่อมารดาบิดา พี่น้องชาย พี่น้องหญิง มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต สิ้นชีวิตไป ผู้ที่คิดถึงก็จะมีความโศกเศร้า และคิดว่า สิ่งซึ่งมีอยู่แล้วแก่เรานั้น ก็จะ ไม่มีแก่เขาอีก

    ชีวิตของเราที่ยังมีอยู่ แต่ชีวิตของเขาไม่มีอีกที่จะเป็นบุคคลนั้น ทรัพย์สมบัติ บ้านช่อง ข้าวปลาอาหารทั้งหลายที่เรามี เรากำลังบริโภค สำหรับเขาก็จะไม่มีอีก นี่คือความรู้สึกที่ระลึกถึงผู้จากไปโดยสิ้นชีวิต ขณะที่เพียงคิดถึงระลึกถึงนั้น ก็เป็นโทมนัสเวทนาอย่างอ่อน แต่จะเพิ่มกำลังขึ้นจนถึงกับทำให้ร่างกายซูบซีดเหี่ยวแห้งหรือไม่นั้น ก็แล้วแต่กำลังของโทมนัสเวทนา

    นี่คือการพลัดพรากจากสิ่งซึ่งเป็นที่รัก

    รวมความทั้งหมดของทุกข์ คือ ปรารถนาสิ่งใดเมื่อไม่ได้ย่อมเป็นทุกข์ เช่น ปรารถนาที่จะไม่แก่ ปรารถนาที่จะไม่เจ็บ ปรารถนาที่จะไม่ตาย ก็ไม่มีทางเป็นไปได้

    พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ยัมปิจฉัง น ลภติ ตัมปิ ทุกขัง ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้แม้นั้นเป็นทุกข์ ความปรารถนานั้น มีความปรารถนาวัตถุอันไม่พึงได้ เป็นลักษณะ มีการแสวงหาวัตถุนั้นเป็นรสะ มีความไม่สำเร็จเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏ

    อีกประการหนึ่ง สำหรับสัตว์ผู้ปรารถนาวัตถุนั้นๆ อยู่ เพราะไม่ได้วัตถุนั้นๆ ย่อมเกิดทุกข์อันสำเร็จแต่ความพลาดหวังใดในโลกนี้ เพราะความปรารถนาวัตถุอันไม่พึงได้เป็นเหตุแห่งทุกข์นั้น ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสความไม่ได้สิ่งที่ปรารถนาแล้วว่า เป็นทุกข์แล

    โดยย่อ คือ อุปาทานขันธ์ เป็นทุกข์

    เมื่อย่อลงไปจนถึงที่สุดของทุกข์ทั้งหมดที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ ขันธ์ หรือ อุปาทานขันธ์นั่นเองเป็นทุกข์

    บทว่า สังขิตเตน (โดยย่อ) พระผู้มีพระภาคตรัสทรงหมายเอาเทศนา จริงอยู่ ใครๆ ไม่อาจย่นย่อทุกข์ได้ว่า เท่านี้ ๑๐๐ ทุกข์ หรือว่าเท่านี้ ๑,๐๐๐ ทุกข์ แต่เทศนาอาจย่นย่อได้ เพราะฉะนั้น เมื่อทรงย่นย่อเทศนาว่า ขึ้นชื่อว่าทุกข์มิใช่อะไรอื่น โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ดังนี้ จึงตรัสอย่างนั้น

    เพราะทุกข์มีชาติเป็นต้นอันใด อันพระผู้มีพระภาคผู้คงที่ตรัสไว้ในโลกนี้ และทุกข์ใดที่พระองค์มิได้ตรัสไว้ ทุกข์นั้นๆ ทั้งหมด เว้นขันธ์ ๕ นี้เสียแล้ว ย่อมไม่มี ฉะนั้น อุปาทานขันธ์ ๕ นี้ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงแสดงที่สุดทุกข์ จึงได้ตรัสว่า เป็นทุกข์ โดยย่อ

    ถ้าจะกล่าวถึงทุกข์ของแต่ละคน ให้แต่ละคนเอาความทุกข์ของตัวเองมาเล่า สู่กันฟัง คงไม่มีวันจบ เพราะว่าวันนี้ทุกข์อย่างหนึ่ง อีกวันก็ทุกข์อีกอย่างหนึ่ง ในโลกนี้มีผู้คนมากมายเพียงใด ทุกข์ก็แจกแจงไปตามเหตุตามปัจจัยเพียงนั้น ไม่มีทางจะประมาณได้ว่า นี้ ๑๐๐ ทุกข์ นี้ ๑,๐๐๐ ทุกข์ ก็จริง แต่โดยสรุปแล้ว ทุกข์ทั้งหมด คือ อุปาทานขันธ์ ๕ นั่นเอง เป็นทุกข์ เพราะถ้าไม่มีขันธ์ ๕ ก็ไม่มีทุกข์ ซึ่งข้อความอุปมาว่า

    ชาติเป็นต้นเบียดเบียนอุปาทานขันธ์ ๕ นั่นแล โดยประการต่างๆ ดังไฟป่าเบียดเบียนเชื้อฟืน เครื่องประหารเบียดเบียนเป้า เหลือบและยุงเป็นต้นเบียดเบียนโค คนเกี่ยวข้าวเบียดเบียนนา โจรปล้นบ้านเบียดเบียนบ้าน ย่อมเกิดในอุปาทานขันธ์ ทั้ง ๕ นั่นเอง ดุจหญ้าและเถาวัลย์เป็นต้นเกิดในพื้นดิน ดุจดอกไม้ผลไม้และใบอ่อนเป็นต้นเกิดที่ต้นไม้ ฉะนั้น

    ถ้ามีขันธ์ ๕ เกิดแล้ว ก็เหมือนต้นไม้ที่เกิดแล้ว ซึ่งย่อมมีดอกไม้ผลไม้และ ใบอ่อนเกิดที่ต้นไม้นั้น ฉันใด เมื่อขันธ์ ๕ เกิดแล้ว ก็ย่อมจะมีทุกข์ลักษณะหนึ่งลักษณะใด เช่น โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส หรืออุปายาสะนั่นเอง เกิดจากอุปาทานขันธ์ ๕ นั้น

    และอุปาทานขันธ์ ๕ มีทุกข์เบื้องต้น คือ ชาติ มีทุกข์ท่ามกลาง คือ ชรา มีทุกข์สุดท้าย คือ มรณะ เพราะทุกข์มีความตายเป็นที่สุดกระทบเฉพาะ จึงมีทุกข์ที่เผาลน คือ โสกะ เพราะอดกลั้นโสกะนั้นไม่ได้ จึงมีทุกข์ที่เป็นเหตุพูดรำพัน คือ ปริเทวะ ต่อนั้นเพราะประจวบกับโผฏฐัพพะที่ไม่น่าปรารถนา กล่าวคือ ธาตุกำเริบ จึงมีทุกข์ที่เบียดเบียนกาย คือ ทุกข์ เพราะปุถุชนผู้ถูกทุกข์เบียดเบียนอยู่เกิดปฏิฆะขึ้นในอุปาทานขันธ์นั้น จึงมีทุกข์ที่เบียดเบียนใจ คือ โทมนัส เพราะโสกะเป็นต้นเจริญ สำหรับผู้ที่ปราศจากความยินดี มีทุกข์ที่ถอนหายใจเนืองๆ คือ อุปายาสะ สำหรับผู้ที่ถึงความพลาดหวังแห่งใจ มีทุกข์ เพราะพลาดหวัง คือ ความไม่ได้สิ่งที่ตนปรารถนา

    อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ที่บุคคลเข้าไปพิจารณาโดยประการต่างๆ อย่างนี้ ด้วยประการนี้นั่นแล ชื่อว่าเป็นทุกข์

    เพื่อที่จะให้พิจารณาขันธ์ ๕ นั่นเอง ที่ได้ทรงแสดงทุกข์ต่าง ๆ ไว้มาก

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระผู้มีพระภาคเพื่อทรงแสดงย่อทุกข์ที่พระองค์ตรัสแสดงแต่ละอย่างๆ นี้ ซึ่งใครๆ ไม่อาจจะกล่าวโดยไม่เหลือได้ด้วยกัปมิใช่น้อยนั้นแม้ทั้งหมดในอุปาทานขันธ์ ๕ หมวดใดหมวดหนึ่ง ดุจย่อรสแห่งน้ำในมหาสมุทรทั้งสิ้น แสดงในหยดน้ำหยดเดียว ฉะนั้น จึงได้ตรัสว่า สังขิตเตน ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา กล่าวโดยย่อแล้ว อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ดังนี้แล

    ไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้ในสังสารวัฏฏ์ หลายแสนโกฏิกัปป์นับประมาณไม่ได้เลยนั้น ความทุกข์ก็มีประการต่างๆ แต่แม้ว่าจะมีมากเพียงใด พระผู้มีพระภาคก็ทรงย่อลงที่อุปาทานขันธ์ ๕ นั่นเอง ดุจย่อรสแห่งน้ำในมหาสมุทรทั้งสิ้น แสดงในหยดน้ำ หยดเดียว ฉะนั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๙ ตอนที่ ๑๓๘๑ – ๑๓๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 90
    28 ธ.ค. 2564