แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1420


    ครั้งที่ ๑๔๒๐


    สาระสำคัญ

    อถ. องฺ. เอก. สูตรที่ ๑๐ - ธรรม ๖ ประการเป็นไปเพื่อละวิจิกิจฉา

    ธรรมสังคณีปกรณ์ - อธิบายความหมายของวิจิกิจฉา

    ธรรมทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๒๘


    ข้อ ๙๗

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนการประกอบอกุศลธรรมเนืองๆ การไม่ประกอบ กุศลธรรม ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การประกอบอกุศลธรรมเนืองๆ การไม่ประกอบ กุศลธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่

    ขณะใดที่ทำกุศล แม้แต่ในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในการฟังธรรม หรือในขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นเป็นเพราะโยนิโสมนสิการ แต่ขณะใดที่เป็นอกุศลทุกประเภท คือ การประกอบอกุศลธรรม เนืองๆ ตั้งแต่เช้ามา โลภะ โทสะ โมหะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะอโยนิโสมนสิการ ถ้าเป็นผู้ที่ใส่ใจพิจารณาทุกอย่างโดยแยบคายจริงๆ กุศลจิตต้องเกิดมากกว่า เพราะเป็นผู้ที่มีสติระลึกได้ จึงเจริญกุศลทุกประการ

    สำหรับการเจริญกุศลธรรมที่ทำให้ละคลายวิจิกิจฉา ความสงสัยใน สภาพธรรมที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคลได้นั้น ข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต อรรถกถานีวรณปหานวรรคที่ ๒ อรรถกถาสูตรที่ ๑๐ มีว่า

    อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการ เป็นไปเพื่อละวิจิกิจฉา คือ

    ความเป็นผู้พหูสูต ๑

    การสอบถาม ๑

    ความเป็นผู้ชำนาญวินัย ๑

    ความเป็นผู้มากด้วยน้อมใจเชื่อ ๑

    ความมีกัลยาณมิตร ๑

    การกล่าวถ้อยคำอันเป็นสัปปายะ ๑

    ซึ่งมีคำอธิบายว่า

    เมื่อภิกษุเรียน ๑ นิกาย ๒ นิกาย ๓ นิกาย ๔ นิกาย หรือ ๕ นิกาย ด้วยอำนาจบาลีหรือด้วยอำนาจอรรถ ย่อมละวิจิกิจฉาได้แม้ด้วยความเป็นพหูสูต

    ถ้าไม่ศึกษา มีใครสามารถหมดความสงสัยในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะคิดขึ้นมาเอง เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการเรียน ๑ นิกาย ๒ นิกาย ๓ นิกาย ๔ นิกาย หรือ ๕ นิกาย ซึ่งหมายความถึงพระสุตตันตปิฎกนั่นเอง

    เมื่อภิกษุมากด้วยการสอบถามเกี่ยวกับพระรัตนตรัยก็ดี ผู้มีความช่ำชองชำนาญในพระวินัยก็ดี ผู้มากไปด้วยอธิโมกข์ กล่าวคือ ศรัทธาปักใจเชื่อในฐานะ ๓ ก็ดี ผู้ซ่องเสพกัลยาณมิตรเสมือนท่านพระวักกลิเถระผู้น้อมไปในศรัทธาก็ดี ย่อมละ

    วิจิกิจฉาได้ ย่อมละได้แม้ด้วยการกล่าวถ้อยคำอันเป็นสัปปายะอิงคุณพระรัตนตรัย ในอิริยาบถยืนและนั่งเป็นต้น

    ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อละวิจิกิจฉา

    จบ อรรถกถาสูตรที่ ๑๐

    ในนีวรณปหานวรรคนี้ ท่านกล่าวไว้ทั้งวัฏฏะและวิวัฏฏะแล

    จบ อรรถกถาสูตรนีวรณปหานวรรคที่ ๒

    ไม่ว่าจะนั่ง หรือจะยืน ถ้ามีถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ คือ พูดเรื่องธรรมและเรื่องพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ในขณะนั้นย่อมละคลายความสงสัยได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นในขณะไหน จะนั่ง หรือจะยืน เมื่อได้ฟังถ้อยคำที่สามารถทำให้เกิดความเข้าใจในพระธรรมได้ย่อมเป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น ถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ สะดวกสบายแก่การที่จะให้สติเกิด ปัญญาเจริญขึ้น ย่อมไม่จำกัดว่า จะอยู่ในอิริยาบถไหน

    แต่ถึงแม้ว่าจะได้ศึกษาเรื่องของสภาพธรรมจากนิกายต่างๆ การที่จะดับ ความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็ไม่ได้หมดเพียงด้วยการศึกษา ความสงสัยในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้น ยังมีอยู่สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชน คือ ผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ธรรมสังคณีปกรณ์ มีข้อความที่อธิบายความหมายของวิจิกิจฉาว่า

    ปุถุชนเคลือบแคลงสงสัยในพระศาสดา

    เมื่อพูดถึงความเคลือบแคลงสงสัย ต้องเป็นปุถุชนเท่านั้น เพราะผู้ที่เป็น พระอริยบุคคลทั้งหมด หมดวิจิกิจฉา คือ ความเคลือบแคลงสงสัยในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ในส่วนอดีต ในส่วนอนาคต ทั้งในส่วนอดีตและส่วนอนาคต ในปฏิจจสมุปปาทธรรมที่ว่า เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัยธรรมนี้จึงเกิดขึ้น

    การเคลือบแคลง กิริยาที่เคลือบแคลง ความเคลือบแคลง ความคิดเห็นไปต่างๆ นานา ความตัดสินอารมณ์ไม่ได้ ความเห็นเป็นสองแง่ ความเห็นเป็นทาง สองแพร่ง ความสงสัย ความไม่สามารถจะถือเอาโดยส่วนเดียวได้ ความคิดส่ายไป ความคิดพร่าไป ความไม่สามารถจะหยั่งลงถือเอาเป็นยุติได้ ความกระด้างแห่งจิต ความลังเลใจอันใด นี้เรียกว่า วิจิกิจฉา

    ในขณะที่กำลังได้ฟัง แม้แต่ในเรื่องของ เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัยธรรมนี้จึงเกิดขึ้น ถ้าเป็นผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญามามากพอที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็สามารถแทงตลอดในสภาพที่กำลังเป็นปัจจัยในขณะนี้ได้

    โดยมากท่านผู้ฟังจะคิดว่า ท่านเพิ่งเริ่มศึกษาปริยัติธรรม ยังมีความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เนื่องจากยังไม่ได้ศึกษาเรื่องของปัจจัย ท่านอาจจะคิดอย่างนั้นได้ และอาจจะสงสัยว่า สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเป็นปัจจัยในขณะนี้ได้อย่างไร

    นี่คือผู้ที่เริ่มศึกษา และเกิดความสงสัย แต่ถ้าคิดถึงก่อนที่ท่านจะได้ฟัง พระธรรม ยังไม่มีความรู้ในเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ในเรื่องของจิต เจตสิก รูป ในเรื่องการเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันของจิต เจตสิก รูปเลย กับการที่ได้ฟังบ้าง แม้ ในชาตินี้ ก็ยังเกิดความเข้าใจบ้าง แต่ถ้าเป็นในอดีตอนันตชาติของท่านที่เป็น พระสาวก เช่น ท่านพระอัครสาวก ท่านพระสารีบุตรเถระ ท่านได้ฟังมามากเหลือเกิน และสติปัฏฐานก็ระลึกมามาก เพราะฉะนั้น ทันทีที่ได้ยินท่านพระอัสชิกล่าวว่า ธรรมทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด ก็เหมือนขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ตามปกติ

    คำว่า ธรรมทั้งหลาย คือ ขณะกำลังเห็นในขณะนี้ ขณะกำลังได้ยินในขณะนี้ แต่ปัญญาของผู้ที่อบรมมา ย่อมสามารถรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนของธรรมทั้งหลาย คือ ขณะที่ท่านกำลังฟังท่านพระอัสชิกล่าว มีสภาพของจิตที่กำลังได้ยินเสียง ซึ่ง ในขณะนั้นจะมีปัจจัยเกิดขึ้นโดยที่ท่านสามารถจะประจักษ์อย่างไร ดูเป็นของธรรมดามากสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะสงสัย เพราะว่ายังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    แต่ถ้ารู้ลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ ซึ่งกำลังได้ยินเสียง จะรู้ได้ไหมว่า เสียงที่ปรากฏนั้นเองเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง เพราะถ้าเสียงนั้นไม่มี จิตได้ยินจะเกิดได้ไหม นี่แสดงให้เห็นถึงการที่จิตซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ไม่มีความสามารถที่จะเลือกอารมณ์ได้เลย เป็นอนัตตาจริงๆ เป็นผู้ทุรพล ไม่มีกำลัง แล้วแต่อารมณ์ที่จะปรากฏกระทบกับแต่ละทวาร ซึ่งท่านอุปมาว่า เหมือนกับคนชรา ที่จะลุกขึ้นได้ต้องอาศัยไม้เท้า

    เพราะฉะนั้น การที่จิตจะรู้อารมณ์แต่ละอย่าง ก็เพราะว่าอารมณ์นั้นเป็นปัจจัยให้จิตแต่ละทวารเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบทางทวารนั้นๆ เช่น ในขณะที่กำลังได้ยิน ในขณะนี้ ท่านพระสารีบุตรก็ได้ยินท่านพระอัสชิกล่าว เป็นปกติธรรมดาอย่างนี้ แต่ท่านสามารถรู้ลักษณะของนามธรรมที่กำลังได้ยินในขณะนั้นว่า เพราะเสียงเกิดขึ้นเป็นปัจจัยทำให้เกิดสภาพที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    สภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นการแสดงเรื่องของสภาพธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ แต่ถ้าในขณะที่กำลังฟังอย่างนี้ สติของใครยังไม่เกิด ผู้นั้นก็ต้องอบรมเจริญสติ เพื่อที่สติจะค่อยๆ เกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง แต่ละภพแต่ละชาติสะสมไป จนกว่าความรู้ในลักษณะของนามธรรมสามารถจะเกิดทันทีที่ได้ยินว่า ธรรมทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด แม้แต่จิตที่กำลังได้ยินในขณะนี้ ก็ต้องเพราะเสียงเกิดขึ้นกระทบเป็นปัจจัยทำให้จิตได้ยินเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังเป็นปุถุชน ก็ต้องมีความเคลือบแคลงสงสัยอยู่ จนกว่า กุศลทั้งหลายจะเจริญขึ้น จนสามารถถึงขั้นที่ปัญญาคมกล้าดับกิเลสได้ ซึ่งการที่กุศลทั้งหลายจะเจริญเพิ่มขึ้น ก็ต้องอาศัยการศึกษาเรื่องของอกุศลทุกประเภท เพื่อให้รู้ สภาพธรรมที่เกิดกับตนตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    อกุศลทั้งหมดมี ๑๒ ประเภท จำแนกเป็นโลภมูลจิต ๘ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง

    และในบรรดาอกุศลทั้ง ๑๒ ประเภทนั้น อกุศลที่รู้ยากเพราะว่ามีกำลังอ่อนมาก คือ อกุศลจิตดวงที่ ๑๒ ได้แก่ โมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๕ ดวง คือ อัญญสมานาเจตสิก ๑๑ ดวง เว้นปีติเจตสิกและฉันทเจตสิก เพราะว่าฉันทเจตสิกไม่เกิดกับโมหมูลจิต เลือกอารมณ์ไม่ได้ และโมหมูลจิตทั้ง ๒ ดวง เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา จึงเว้นปีติเจตสิกด้วย และมีอกุศลสาธารณเจตสิกเกิด ร่วมด้วย ๔ ดวง รวมเป็น ๑๕ ดวง ไม่มีอกุศลเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วยเลย เพราะฉะนั้น จึงเป็นสภาพจิตที่รู้ยาก เนื่องจากไม่มีลักษณะของโลภเจตสิก หรือ ทิฏฐิเจตสิก มานะเจตสิกเกิดร่วมด้วยให้รู้ได้ ไม่มีลักษณะของโทสเจตสิก อิสสาเจตสิก มัจฉริยเจตสิก กุกกุจจเจตสิกเกิดร่วมด้วยที่จะทำให้รู้ได้ว่าเป็นอกุศล และไม่มีลักษณะของถีนมิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วยที่จะรู้ได้ว่าเป็นอกุศล

    ถ้าขณะนี้กำลังง่วง รู้ได้ไหมว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    สภาพที่กำลังง่วงเหงา หดหู่ ท้อถอย ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง เพราะกำลังง่วง ในขณะนั้นจะเป็นกุศลไม่ได้ ถ้ามีลักษณะของถีนมิทธเจตสิกเกิด ยังพอที่จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นต้องไม่ใช่กุศล แต่โมหมูลจิตทั้ง ๒ ดวง ไม่มีถีนมิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ที่บางท่านสงสัยว่า เวลาที่สติเกิดและกำลังง่วง มีผู้ที่เจริญสติบอกว่า ขณะนั้นรู้ลักษณะของโมหะ คือ ความไม่รู้ ก็ไม่ผิด เพราะว่าโมหมูลเจตสิกเกิดกับอกุศลจิต ทุกประเภท ซึ่งในขณะนั้นทั้งๆ ที่กำลังง่วงก็จริง แต่ไม่ได้พิจารณารู้ลักษณะสภาพอาการง่วง แต่รู้ลักษณะสภาพที่กำลังไม่รู้ทั้งนั้น ไม่ว่าขณะนั้นใครจะพูดว่าอะไร ใครจะถามว่าอะไร ก็เป็นลักษณะสภาพที่กำลังไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ถ้าผู้นั้นจะระลึกลักษณะซึ่งเป็นโมหะ และบอกว่าในขณะที่กำลังง่วงเป็นโมหะ ก็ไม่ผิด เพราะว่าในขณะนั้นมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย แม้ว่ามีถีนะและมิทธเจตสิกเกิด แต่สติไม่ได้ระลึกลักษณะของถีนมิทธะ

    เพราะฉะนั้น แล้วแต่จิตในขณะนั้น ซึ่งมีเจตสิกเป็นสัมปยุตธรรม เป็น สหชาตธรรมเกิดร่วมด้วย สติจะระลึกลักษณะของสัมปยุตธรรม คือ เจตสิกอะไรก็ได้ที่เกิดร่วมกับจิตในขณะนั้น หรือว่าจะระลึกลักษณะสภาพของจิตก็ได้

    การที่จะเข้าใจลักษณะของอกุศลจิตดวงที่ ๑๒ คือ โมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ จะต้องอาศัยการพิจารณาสภาพลักษณะของจิตประเภทต่างๆ ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ไม่ใช่ว่าท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะเจริญสติปัฏฐาน ก็พยายามพากเพียรที่จะรู้ลักษณะของโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ด้วยความจงใจอยากจะรู้ว่า จิตดวงนี้มีลักษณะอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะแล้วแต่สติจริงๆ ว่า สติจะเกิดขึ้นระลึกลักษณะสภาพของนามธรรม หรือจะระลึกลักษณะของรูปธรรมประเภทใด

    ด้วยการศึกษาที่จะต้องพิจารณาเพื่อรู้ลักษณะของโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ ควรจะทราบตั้งแต่เริ่มว่า ปกติธรรมดาจิตที่เกิดดับสืบต่ออยู่เรื่อยๆ เป็นจิตประเภทไหน

    เป็นภวังคจิต จริงไหม

    ขณะที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดไม่ได้กระทบทวารหนึ่งทวารใดเลย ภวังคจิตต้องดำรงภพชาติสืบต่อความเป็นบุคคลนี้ไว้ ในขณะที่ไม่มีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดกระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้น เวลาที่อารมณ์กระทบทางตา เช่น ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ และอารมณ์กระทบทางหู ขณะที่ได้ยินเสียง หรือขณะที่กลิ่นกระทบจมูก รสกระทบลิ้น กายกำลังกระทบสัมผัสสิ่งหนึ่งสิ่งใด ลืมเรื่องภวังคจิตที่เกิดสลับหรือเกิดคั่น ใช่ไหม ซึ่งภวังคจิตจะต้องเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติเป็นปกติ ในขณะที่ไม่ได้รู้อารมณ์หนึ่ง อารมณ์ใดทางทวารหนึ่งทวารใด เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของภวังคจิต ย่อมสามารถจะประจักษ์แจ้งได้เมื่อได้อบรมเจริญปัญญา เพราะตามความเป็นจริงแล้วไม่ได้ต่างจากขณะนี้เลย

    ขณะนี้ระหว่างเห็นกับได้ยิน พิจารณาดู จะมีช่องว่างหรือช่วงคั่นระหว่างเห็นกับได้ยินไหม ถ้าไม่มี จะเกิดได้ยินไม่ได้ในขณะที่กำลังเห็น หรือจะเห็นไม่ได้ในขณะที่กำลังได้ยินอยู่เดี๋ยวนี้ แต่ในขณะที่เห็นและมีได้ยิน แสดงว่าต้องมีช่องว่างหรือช่วงว่างที่คั่นแทรกระหว่างเห็นกับได้ยิน ในขณะนั้นคือภวังคจิต

    ดูเสมือนว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนี้ ไม่อาจที่จะประจักษ์แจ้งได้เลย แต่เมื่อเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นจริง เพราะว่าเห็นมีจริง ได้ยินมีจริง ภวังคจิตซึ่งแทรกคั่นมีจริง จึงเป็นสิ่งซึ่งประจักษ์แจ้งได้ เมื่อสภาพธรรมปรากฏทางมโนทวารกับปัญญาที่ได้อบรมเจริญแล้ว

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่า จิตขณะไหนเป็นอกุศลจิตประเภทใด หรือว่าเป็นกุศลจิตประเภทใด นอกจากการศึกษาแล้ว ยังต้องพิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริงด้วยว่า เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

    การเกิดดับของจิตเป็นกระแสของภวังคจิตตั้งแต่ปฏิสนธิจิตดับไป กระแสของภวังค์จะเกิดดับสืบต่อมากมาย จนกว่าอารมณ์จะกระทบทวารหนึ่งทวารใดเป็นปัจจัยให้วิถีจิตต่างๆ เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมก็เพื่อให้น้อมพิจารณาลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ที่จะได้รู้ว่า ขณะที่กำลังเห็นและได้ยินในขณะนี้ มีภวังคจิตไหม ซึ่งไม่ใช่โดยขั้นของตำรา ขณะนี้เอง ก็ต้องมีภวังค์แทรกคั่นระหว่างวาระหนึ่งๆ คือ คราวหนึ่งที่เห็น คราวหนึ่งที่ได้ยิน แล้วแต่ว่าจะเป็นวิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางไหน

    ถ้าสนใจในเรื่องของภวังคจิต และรู้จริงๆ ว่า ภวังคจิตมีแน่ๆ กำลังสลับอยู่ระหว่างทางตาที่เห็นกับทางหูที่ได้ยิน จะทำให้น้อมพิจารณาได้ว่า สภาพธรรมที่เป็นรูปก็ดี ที่ปรากฏทางตา หรือสภาพธรรมที่เป็นเสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏที่ลิ้น โผฏฐัพพะที่กำลังกระทบสัมผัส เป็นปริตตารมณ์ คือ อารมณ์ที่ สั้นมาก สั้นจริงๆ เพราะว่ามีอายุอยู่เพียงชั่วจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะเท่านั้น

    ถ้ารู้อย่างนี้ จะเป็นปัจจัยให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง คือ สติระลึกลักษณะของรูปบ้าง ที่กำลังปรากฏทางตา และเวลาที่เสียงปรากฏ ถ้าไม่มีตัวตนจริงๆ จะไม่เลือกอารมณ์เลย แล้วแต่ว่าอารมณ์ใดปรากฏและสติระลึกที่อารมณ์ใด ก็จะน้อมพิจารณาในสภาพที่เป็นปริตตารมณ์ของธรรมที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    แต่ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ อาจจะไปพากเพียรทำอย่างอื่น แทนที่จะรู้ว่า ขณะที่เสียงเพียงเล็กๆ น้อยๆ ในขณะนี้ปรากฏ สภาพที่กำลังได้ยินนั้นก็เกิดขึ้นและหมดไปโดยที่ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และไม่เลือกด้วยว่าจะต้องเป็นเสียงใด ไม่ใช่เป็นเสียงซึ่งกำลังตั้งใจฟัง เพราะว่ายังมีเสียงอื่นแทรก เพราะฉะนั้น ภวังคจิตก็เกิดแทรกคั่นอยู่ทุกวาระของวิถีจิตแต่ละทวาร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๒ ตอนที่ ๑๔๑๑ – ๑๔๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 90
    28 ธ.ค. 2564