แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1422
ครั้งที่ ๑๔๒๒
สาระสำคัญ
อถ.เอก.พระสูตรที่ ๑๐ - มารดาบิดาอุปมาหมายถึงภวังคจิต
อส - ขณะที่เป็นโวฏฐัพพนวาระ
โมหมูลจิต ๒ ดวง
ลักษณะของอธิโมกขเจตสิก
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๒๘
ข้อความใน สูตรที่ ๑๐ มีว่า
เมื่อชวนจิตเป็นกุศล ก็ดุจบุตรที่ทำให้มารดาบิดามีเกียรติว่า ได้เป็นผู้ที่สอนและโอวาทบุตร และภวังคจิตนี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า หลุดพ้นแล้วจากอุปกิเลสทั้งหลายอันจรมา ด้วยสามารถแห่งกุศลจิตอันเกิดขึ้นแล้วในชวนขณะ ดังนี้
ขณะนี้ ภวังคจิตจะเป็นมารดาบิดา อาจารย์ หรืออุปัชฌาย์ประเภทไหน รู้ได้ตรงชวนะ ถ้าชวนะในขณะนี้เป็นกุศล ภวังคจิตก็มีเกียรติ เพราะว่าดุจมารดาบิดา อาจารย์ หรืออุปัชฌาย์ที่ได้สอนและโอวาท ทำให้ชวนจิตนั้นเป็นกุศล เพราะว่า โยนิโสมนสิการ ซึ่งไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า ขณะไหนบุตรไม่ดีจะเกิด และขณะไหนบุตรดีจะเกิด แต่ไม่ว่าบุตรดีหรือบุตรไม่ดีจะเกิด ย่อมทำให้มารดาได้ชื่อว่าได้เกียรติหรือว่าเสื่อมเกียรติ ตามประเภทของชวนจิตซึ่งเกิดในภายหลัง
ทุกคนรู้จักมารดาบิดาอีกอย่างหนึ่งแล้วที่เป็นคำอุปมาว่า หมายความถึงภวังคจิต เพราะฉะนั้น ขณะที่จิตเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ เวลาที่ไม่รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ขณะนั้นเป็นประเภทของจิตที่เป็นภวังคจิต ยังไม่ใช่วิถีจิต ยังไม่ใช่จิตที่ เป็นวิถีที่มีกำลังอ่อนที่สุด คือ โมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ เพราะว่าในขณะนั้นไม่รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดทางหนึ่งทางใดเลย ฉะนั้น กล่าวได้ว่า โลกนี้ไม่ปรากฏ ในขณะที่เป็นภวังคจิต และไม่ใช่ขณะที่เป็นโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์
ธรรมดาของการเกิด เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ในสุคติภูมิ ในสวรรค์ ในรูปพรหมภูมิ ในอรูปพรหมภูมิ เป็นกุศลวิบาก เพราะฉะนั้น สำหรับมนุษย์ ภวังคจิตเป็นกุศลวิบาก และการที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ จะต้องเทียบเคียงตั้งแต่ขณะที่เป็นภวังคจิตเพื่อจะได้ทราบว่า ขณะไหนเป็นอกุศลจิตประเภทที่อ่อนที่สุด
ขณะนอนหลับสนิทจริงๆ ไม่มีวิถีจิตใดๆ เลย ซึ่งต้องหมายความถึงขณะที่ ไม่ฝันด้วย ขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหน
เป็นภวังคจิต
ขณะตื่น เริ่มเป็นวิถีจิตประเภทต่างๆ ซึ่งควรรู้ว่า ขณะที่เป็นวิถีจิตต่างกับขณะที่เป็นภวังคจิต ขณะที่ตื่นแต่ไม่สนใจในอารมณ์ที่ปรากฏ เพียงตื่น มีไหม ขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหน กุศลจิตหรืออกุศลจิต ชีวิตประจำวัน ขณะที่กำลัง หลับสนิท อารมณ์ไม่ปรากฏเลย แต่สภาพรู้มี เพราะว่ายังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ใช่คนตาย เพราะฉะนั้น มีภวังคจิตเกิดดับจนกว่าจะตื่น และทันทีที่ตื่น แต่ไม่สนใจในอารมณ์ที่ปรากฏ เพียงตื่น ในขณะนั้นจะเป็นจิตประเภทไหน
เป็นโมหมูลจิต
ขณะนั้นมีวิจิกิจฉาสัมปยุตต์เกิดร่วมด้วยไหม ไม่มี เพราะฉะนั้น ต้องเป็น โมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ ซึ่งเป็นอกุศลจิตประเภทที่อ่อนที่สุด ในขณะที่ทางโลกใช้คำว่า ไม่รู้สึกตัว เพราะว่าตื่นแล้วก็ยังงัวเงีย หรือยังไม่สนใจที่จะรู้อะไรทั้งนั้น ตรงกันข้ามกับผู้ที่มีธุรกิจที่จะต้องทำ เมื่อตื่นก็ลุกขึ้น รีบทำธุรกิจทันทีด้วยความสนใจ ด้วยความใส่ใจ
เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันในวันหนึ่งๆ มีสภาพของจิตประเภทต่างๆ ซึ่งไม่มีใครรู้ได้ว่า วันนี้ตื่นขึ้นมาแล้วจิตประเภทไหนจะเกิด อาจจะเป็นโลภมูลจิตเกิด นึกถึงเรื่องที่ต้องการจะทำหรือธุรกิจที่จะต้องทำทันที หรืออาจจะมีเรื่องขุ่นข้องเคืองใจทำให้หงุดหงิดเศร้าหมองไม่ผ่องใส หรืออาจจะไม่สนใจสิ่งที่กำลังปรากฏ อยากจะนอนต่อ ไม่สนใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยก็ได้
แม้ว่าโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์จะเป็นจิตที่รู้ได้ยากก็จริง แต่ต้องพิจารณาว่า ขณะไหนบ้างที่เป็นสภาพของโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ ในขณะที่ไม่รู้สึกตัว เพ้อ บางคนก็ไม่รู้ว่าพูดอะไร บางทีพูดก็ไม่เป็นคำ หรือไม่มีความหมายเลย อาจจะเป็นเสียงอื้อๆ อ้าๆ เท่านั้นเองก็ได้ ซึ่งในขณะนั้นไม่รู้ตัว ไม่ได้ประกอบด้วยโลภะ หรือโทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ วิจิกิจฉาใดๆ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น เป็น โมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์
หรือขณะที่ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้จะทำสิ่งนั้นมาด้วยความชำนาญแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีการผิดพลาดพลั้งเผลอได้ เช่น อาจจะใช้สันมีดแทนคมมีด ในขณะนั้นก็เป็น โมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ เวลาที่รีบร้อนมากๆ ใส่เสื้อกลับตะเข็บ ปกติธรรมดาก็ ใส่โดยถูกต้องอยู่เสมอ แต่ก็ยังมีการที่จะไม่รู้ในขณะนั้น จึงมีความผิดพลาดพลั้งเผลอเกิดขึ้นได้ ขณะนั้นก็แสดงถึงสภาพของจิตที่เป็นโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์
เคยใส่รองเท้ากลับข้างไหม บางคนคู่ละข้างก็ได้ หรืออะไรอย่างนี้ หรือบางที ก็บวกเลขผิดหลายๆ หน ทอนเงินผิดพลาด โดยที่ไม่ได้ตั้งใจเลย
ที่อินเดีย มีครั้งหนึ่ง ดิฉันสนทนาธรรมกับชาวต่างประเทศท่านหนึ่งที่โรงแรม ตอนที่กำลังรับประทานอาหารเช้า ท่านผู้นั้นมีความสนใจมาก และท่านก็นึกขึ้นได้ คงจะหิว ท่านขอขนมปัง ทั้งๆ ที่ขนมปังวางอยู่ตรงหน้า แต่ไม่เห็น นี่แสดงถึงการ ไม่สนใจ หรือการไม่ใส่ใจในอารมณ์ที่ปรากฏ
บางทีลูกกุญแจอยู่ที่ประตู แต่ไปหาลูกกุญแจที่อื่น เพราะว่าขณะนั้นไม่ได้ใส่ใจในสภาพที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นถึงลักษณะของโมหมูลจิตที่เป็นอุทธัจจสัมปยุตต์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าสังเกตและพิจารณา ตั้งแต่ตื่นก็อาจจะสังเกตได้ว่า ขณะที่ตื่นไม่ใช่ขณะที่หลับ และขณะที่ตื่นแล้ว จิตจะมีลักษณะต่างๆ กันไปตามเหตุตามปัจจัย ด้วยอกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใด บางวันอาจจะเป็น โมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ บางวันอาจจะเป็นโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ บางวันอาจจะเป็นโลภมูลจิต บางวันอาจจะเป็นโทสมูลจิต ซึ่งทั้งหมดนี้ ยังไม่ตื่นจากอกุศล
การตื่น จะต้องมีการตื่นเป็นขั้นๆ และนั่นเป็นเพียงการตื่นจากหลับคือ อารมณ์ไม่ปรากฏให้รู้ แต่เมื่ออารมณ์ปรากฏแล้ว จิตเป็นอกุศล ก็ชื่อว่ายังไม่รู้ลักษณะที่แท้จริงของอารมณ์ที่ปรากฏ เพียงแต่เห็นและมีความไม่รู้ และเกิดโลภะ ถ้าในขณะนั้นมีความพอใจในสิ่งใดก็ตามที่กำลังปรากฏให้ทราบว่า ในขณะนั้นต้องมีความไม่รู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ
เพียงตื่นจากหลับ และรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยอกุศล ยังไม่ใช่การตื่นจากกิเลสทั้งหลาย เพราะว่ากุศลธรรมและปัญญายังไม่เกิด เพราะฉะนั้น ควรที่จะพิจารณาการเกิดขึ้นรู้อารมณ์ของวิถีจิตต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะได้ตื่นจากอกุศลทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะสามารถดับอกุศลได้เป็นสมุจเฉท การรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย คือ การรู้อารมณ์ ทางทวารทั้ง ๕ มีวาระต่างๆ กัน เพราะว่าบางครั้งอารมณ์เกิดขึ้นกระทบทวาร และกระทบภวังค์ แต่วิถีจิตไม่เกิดเลยก็ได้
นี่เป็นชีวิตประจำวัน ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอารมณ์เกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย เมื่อเกิดขึ้นแล้วกระทบกับทวารและภวังคจิตได้ แต่ว่าวิถีจิตไม่เกิดเลยก็ได้ เช่น ในขณะที่ฝนตก ฟ้าร้อง แต่บางคนนอนหลับสนิท ถ้ารุ่งขึ้นถามว่า ได้ยินเสียง ฟ้าร้องไหม รู้ไหมว่าฝนตก คนนั้นก็ไม่รู้เลย แสดงว่าอารมณ์เกิดขึ้นกระทบทวาร กระทบภวังค์ แต่วิถีจิตไม่เกิด ไม่มีปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่มีโสตวิญญาณ ไม่มีสัมปฏิจฉันนจิต ไม่มีสันตีรณจิต ไม่มีโวฏฐัพพนจิต ไม่มีชวนจิต ไม่มี ตทาลัมพนจิต มีแต่เพียงอตีตภวังค์ คือ อารมณ์กระทบทวารและกระทบภวังค์ และเป็นภวังคจลนะ คือ ภวังค์ไหว อารมณ์ก็ดับ เพราะฉะนั้น ไม่มีวิถีจิตเกิดเลย ขณะที่เป็นอย่างนั้น เป็นโมฆวาระ มีไหมอย่างนี้ มีก็ไม่รู้ ใช่ไหม แต่มีแน่ แสดงให้เห็นถึงการเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า การที่อารมณ์เกิดกระทบทวารทั้ง ๕ แต่ละทวารนั้น บางวาระจะเป็นอย่างไร
สำหรับวาระที่ ๑ มีแต่อตีตภวังค์และภวังคจลนะ โดยวิถีจิตไม่เกิดเลยนั้น เป็นโมฆวาระ เพราะว่าอารมณ์กระทบ ภวังค์ไหว แต่อารมณ์ดับก่อนที่วิถีจิตจะเกิดได้
วาระที่ ๒ คือ เมื่ออารมณ์กระทบกับปสาทรูป และกระทบภวังค์ ภวังค์ที่อารมณ์กระทบเป็นอตีตภวังค์หลายขณะก่อนที่จะเป็นภวังคจลนะ เมื่อภวังคจลนะดับไปแล้ว ภวังคุปัจเฉทะเกิดต่อ เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับไป อาวัชชนจิตก็เกิดต่อและ ดับไป ทวิปัญจวิญญาณดวงหนึ่งดวงใดก็เกิดขึ้นและดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว สันตีรณจิตเกิดต่อและดับไป โวฏฐัพพนจิตเกิด ๒ หรือ ๓ ขณะ ซึ่งในบางแห่ง เช่น ใน อัฏฐสาลินี แสดงว่า ๑ หรือ ๒ ขณะก็มี และถ้าอารมณ์นั้นยังไม่ดับ ภวังคจิตก็เกิดต่อ แต่ไม่มีชวนวิถีจิตเกิด วาระนั้นจึงเป็น โวฏฐัพพนวาระ เพราะว่าวิถีจิตสิ้นสุดลงที่โวฏฐัพพนะ เนื่องจากอารมณ์นั้นปรากฏเป็นปริตตารมณ์ คือ เพียงเล็กน้อย ไม่พอที่จะให้ชวนจิตเกิดขึ้นเสพอารมณ์นั้น ฉะนั้น ขณะที่เป็นอย่างนั้น แม้โมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ก็ไม่เกิด เพราะว่าวิถีจิตสิ้นสุดลงที่โวฏฐัพพนจิต
ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี กล่าวถึงขณะที่เป็นโวฏฐัพพนวาระว่า
เป็นไปในขณะที่บุคคลกล่าวว่า เหมือนอย่างข้าพเจ้าจะได้เห็น หรือที่กล่าวว่า เหมือนอย่างข้าพเจ้าจะได้ยิน
คือ ไม่แน่ และไม่ชัดเจน เหมือนอย่างว่าเท่านั้นเอง เพราะว่าวิถีจิตเกิดตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต ทวิปัญจวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ และโวฏฐัพพนะ แต่ชวนะไม่เกิด จึงไม่มีแม้โมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ ซึ่งเป็นในขณะที่บางคนกล่าวว่า เหมือนอย่างข้าพเจ้าจะได้เห็น หรือ เหมือนอย่างข้าพเจ้าจะได้ยิน คือ เพียงรู้สึกว่าเหมือนได้ยิน หรือเพียงรู้สึกว่าเหมือนเห็นเท่านั้นเอง ฉะนั้น ขณะนั้นจึงเป็น โวฏฐัพพนวาระ
วาระที่ ๓ คือ เมื่ออารมณ์กระทบกับปสาทรูป กระทบภวังค์ เป็นอตีตภวังค์ ภวังคจลนะเกิด ภวังคุปัจเฉทะเกิด และวิถีจิตเกิด แต่ตทาลัมพนจิตไม่เกิด เพราะว่าอารมณ์นั้นดับไปก่อน ขณะนั้นจึงเป็นชวนวาระ เพราะว่าอารมณ์ในขณะนั้น เป็นมหันตารมณ์ ฉะนั้น เมื่อชวนจิตเกิด ขณะนั้นอาจจะเป็นโมหมูลจิต อุทธัจจสัมปยุตต์ หรือโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ก็ได้ หรืออาจจะเป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิต หรือกุศลจิตก็ได้ เพราะว่าชวนวิถีจิตเกิด
อีกวาระหนึ่ง คือ เมื่ออารมณ์กระทบกับปสาท และกระทบภวังค์ วิถีจิตเกิดตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิตตลอดไปจนถึงตทาลัมพนจิต วาระนี้จึงชื่อว่า ตทาลัมพนวาระ
นี่คือการรู้อารมณ์แต่ละวาระ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มี ๔ อย่าง ได้แก่
โมฆวาระ คือ วิถีจิตไม่เกิดเลย ๑
โวฏฐัพพนวาระ คือ วิถีจิตเกิดถึงโวฏฐัพพนจิต ๑
ชวนวาระ คือ วิถีจิตเกิดถึงชวนจิต ๑
ตทาลัมพนวาระ คือ วิถีจิตเกิดตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนะจนถึงตทาลัมพนะ ๑
สำหรับทางใจ มีเพียง ๒ วาระเท่านั้น คือ อารมณ์ที่ปรากฏทางใจเป็นปัจจัยให้วิถีจิตเกิดถึงชวนวิถีเท่านั้น คือ มีเพียงมโนทวาราวัชชนวิถี และชวนวิถี ซึ่งขณะนั้นเป็นอวิภูตารมณ์ เพราะว่าไม่ถึงตทาลัมพนะ แต่บางครั้งบางขณะการระลึกถึง สิ่งหนึ่งสิ่งใดทางใจ นึกถึงด้วยความประทับใจ หรืออาจจะระลึกด้วยความสะเทือนใจ ในขณะนั้นวิถีจิตจะมีมโนทวาราวัชชนวิถี ๑ ขณะ ชวนวิถี ๗ ขณะ และตทาลัมพนวิถี อีก ๒ ขณะ คือ เป็นอารมณ์ที่ถึงตทาลัมพนะทางใจ เคยเป็นอย่างนี้ไหม
สำหรับโมหมูลจิต ๒ ดวง น่าจะได้พิจารณาถึงความต่างกันของเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย คือ โมหมูลจิตดวงที่ ๑ ได้แก่ อุเปกขาสหคตัง วิจิกิจฉาสัมปยุตตัง โมหมูลจิตดวงที่ ๒ ได้แก่ อุเปกขาสหคตัง อุทธัจจสัมปยุตตัง
โมหมูลจิตดวงที่ ๑ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๕ ดวง โมหมูลจิตดวงที่ ๒ ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๕ ดวง
โมหมูลจิตดวงที่ ๑ คือ อุเปกขาสหคตัง วิจิกิจฉาสัมปยุตตัง มีเจตสิกเกิด ร่วมด้วย ๑๕ ดวง ได้แก่ อัญญสมานาเจตสิก ๑๐ ดวง (เว้นฉันทเจตสิก ปีติเจตสิก และอธิโมกขเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับวิจิกิจฉาเจตสิก) อกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวง และวิจิกิจฉาเจตสิก ๑ ดวง รวมเป็น ๑๕ ดวง
สำหรับโมหมูลจิตดวงที่ ๒ คือ อุเปกขาสหคตัง อุทธัจจสัมปยุตตัง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๕ ดวง ได้แก่ อัญญสมานาเจตสิก ๑๑ ดวง (เว้นเฉพาะฉันทเจตสิก และปีติเจตสิก ไม่เว้นอธิโมกข์) อกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวง รวมเป็น ๑๕ ดวง
ความต่างกัน คือ โมหมูลจิตดวงที่ ๑ ไม่มีอธิโมกขเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่มีวิจิกิจฉาเจตสิกเกิดร่วมด้วย โมหมูลจิตดวงที่ ๒ มีอธิโมกขเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่มีวิจิกิจฉาเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงทำให้ต่างกันเป็นโมหมูลจิต ๒ ดวง
เพราะฉะนั้น ควรจะได้ทราบลักษณะของอธิโมกขเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ปักใจในอารมณ์
อธิโมกขเจตสิก
สันนิฏฐานลักขโณ มีความตกลงใจ ความปักใจ หรือความมั่นใจเป็นลักษณะ
อสังสัปปนรโส มีการไม่แส่ไปเป็นรสะ คือ ไม่สองฝักสองฝ่ายหรือว่า ไม่คลางแคลง เป็นรสะ คือ เป็นกิจ
นิจฉยปัจจุปัฏฐาโน มีการตัดสินเป็นอาการปรากฏ
สันนิฏฐาตัพพธัมมปทัฏฐาโน มีธรรมที่จะต้องปักใจเป็นเหตุ
สำหรับอธิโมกขเจตสิก เว้นไม่เกิดกับจิตเพียง ๑๑ ดวงเท่านั้น
ถ้าจะจำเรื่องของเจตสิก ควรจะจำจิตที่เจตสิกนั้นไม่เกิดร่วมด้วยจะสะดวกมาก เช่น อธิโมกขเจตสิก เว้นไม่เกิดกับจิต ๑๑ ดวง ถ้าพูดอย่างนี้รู้เลยใช่ไหมว่า จิตดวงไหน เพราะว่าทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวงเท่านั้น เพราะฉะนั้น อธิโมกขเจตสิกไม่เกิดร่วมกับทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง และไม่เกิดร่วมกับโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกัน อธิโมกขเจตสิกจึงไม่กับจิต ๑๑ ดวง คือ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง และโมหมูลจิต วิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ๑ ดวง
โลภมูลจิตปักใจในอารมณ์ด้วยความพอใจ จึงต้องมีอธิโมกขเจตสิกเกิด ร่วมด้วย โทสมูลจิตก็ปักใจในอารมณ์ด้วยความขุ่นเคือง เพราะฉะนั้น ขณะนั้นต้องมี อธิโมกขเจตสิกเกิดร่วมด้วย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๓ ตอนที่ ๑๔๒๑ – ๑๔๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1381
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1382
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1383
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1384
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1385
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1386
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1387
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1388
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1389
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1390
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1391
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1392
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1393
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1394
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1395
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1396
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1397
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1398
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1399
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1400
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1401
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1402
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1403
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1404
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1405
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1406
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1407
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1408
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1409
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1410
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1411
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1412
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1413
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1414
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1415
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1416
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1417
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1418
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1419
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1420
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1421
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1422
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1423
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1424
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1425
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1426
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1427
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1428
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1429
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1430
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1431
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1432
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1433
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1434
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1435
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1436
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1437
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1438
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1439
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1440