แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1426


    ครั้งที่ ๑๔๒๖


    สาระสำคัญ

    เหตุ ๖ (แบ่งเป็น ๒ ประเภท)

    อเหตุกะและสเหตุกะ

    อกุศลจิตเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบากและรูป

    อนุสัย ๗


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๒๘


    เรื่องของเหตุ เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะว่าตราบใดที่ไม่ได้ดับอกุศล ก็ยังต้องมีโลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุเกิดบ่อยๆ เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้พิจารณาเจตสิก ๖ ดวงที่เป็นเหตุ ซึ่งเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

    สำหรับเหตุ ๖ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก เป็นอกุศลเหตุ ๓ เมื่อใช้คำว่า อกุศลเหตุ แสดงว่าเกิดกับจิตอื่นไม่ได้ นอกจากอกุศลจิตเท่านั้น และเป็นชาติอกุศลชาติเดียว เป็นวิบากไม่ได้ เป็นกิริยาไม่ได้

    ส่วนอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และปัญญาเจตสิก เป็นโสภณเหตุ ๓ ซึ่ง โสภณเหตุ ๓ นั้น ที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นวิบากก็มี ที่เป็นกิริยาก็มี

    และถ้าจิตใดประกอบด้วยเจตสิกที่เป็นเหตุหนึ่งเหตุใดในเหตุ ๖ ก็เป็นสเหตุกะ ถ้าไม่ประกอบด้วยเจตสิก ๖ ดวงนี้ ก็เป็นอเหตุกะ ถ้าประกอบด้วยเจตสิกที่เป็นเหตุเพียงเหตุเดียว ก็เป็นเอกเหตุกะ ถ้าประกอบด้วยเจตสิกที่เป็นเหตุ ๒ เหตุ ก็เป็น ทวิเหตุกะ ถ้าประกอบด้วยเจตสิกที่เป็นเหตุ ๓ เหตุ ก็เป็นติเหตุกะ

    เพราะฉะนั้น ในจิตทั้งหมด ๘๙ ดวง เป็นอเหตุกจิตเพียง ๑๘ ดวง นอกจากนั้นเป็นสเหตุกะทั้งหมด

    สำหรับอกุศลจิตไม่เป็นติเหตุกะ คือ ไม่ประกอบด้วย ๓ เหตุ แต่เป็นทวิเหตุกะ และเอกเหตุกะ คือ โลภมูลจิต ๘ ดวง เป็นทวิเหตุกะ เพราะว่าประกอบด้วย โมหเจตสิกและโลภเจตสิก โทสมูลจิต ๒ ดวง เป็นทวิเหตุกะ เพราะว่าประกอบด้วยโมหเจตสิกและโทสเจตสิก โมหมูลจิต ๒ ดวง เป็นเอกเหตุกะ เพราะว่าประกอบด้วยโมหเจตสิกเหตุเดียว

    สำหรับกุศลจิต ไม่เป็นเอกเหตุกะ เพราะว่าไม่ประกอบด้วยเหตุเดียว จะต้องประกอบด้วยอย่างน้อย ๒ เหตุ เพราะฉะนั้น กุศลจิตเป็นทวิเหตุกะ คือ ประกอบด้วยอโลภเจตสิกและอโทสเจตสิก และบางดวงก็เป็นติเหตุกะ คือ ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และปัญญาเจตสิกซึ่งเป็นอโมหเหตุ

    ในวันหนึ่งๆ คงเป็นที่ยอมรับว่า อกุศลจิตเกิดมากกว่ากุศล และอกุศลจิตนั้น เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผล จึงไม่ควรละเลย แต่ควรจะพิจารณาว่า อกุศลจิตซึ่งทุกคนมี เช่น โลภมูลจิต ซึ่งประกอบด้วยทิฏฐิบ้าง หรือมานะบ้าง โทสมูลจิต ซึ่งประกอบด้วยอิสสาบ้าง หรือมัจฉริยะบ้าง หรือกุกกุจจะบ้าง และโมหมูลจิต ซึ่งประกอบด้วยวิจิกิจฉาบ้าง หรืออุทธัจจสัมปยุตต์บ้างนั้น จะทำให้เกิดผล คือ สภาพธรรมอะไรบ้าง

    ต้องมีผล เพราะว่าอกุศลจิต ๑๒ ดวงเป็นเหตุ ซึ่งผลของอกุศลจิต ๑๒ ดวงนี้ มี ๒ อย่าง คือ ผลที่ไม่ใช่วิบากจิตและวิบากเจตสิก ๑ กับผลที่เป็นวิบากจิตและ วิบากเจตสิก ๑

    ผลที่ไม่ใช่วิบากจิตและวิบากเจตสิกนั้น คือ รูปที่เกิดเพราะอกุศลจิต รูปไม่ใช่วิบากจิต รูปที่เกิดเพราะจิต ชื่อว่าจิตตชรูป เกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิต

    เวลาที่โลภมูลจิตเกิด รู้ได้ไหม เวลาที่โลภมูลจิตเกิด เวลาใครดีใจ รู้ได้ไหม หรือจิตขณะนั้นยินดี โสมนัส ดูที่ไหน ดูที่รูป เพราะว่าโลภมูลจิตเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น โทสมูลจิตก็เป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น โมหมูลจิตก็เป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น อกุศลจิตไม่ได้เป็นปัจจัยให้เกิดเฉพาะอกุศลวิบากเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยให้รูปซึ่งไม่ใช่วิบากเกิดด้วย เป็นเหตุให้มีการกระทำต่างๆ ทางกาย ทางวาจาด้วยอกุศลจิตนั้นๆ

    ถ้าเป็นอกุศลจิตที่มีกำลังอ่อน ในวันหนึ่งๆ ก็มีการเคลื่อนไหวอิริยาบถ ประกอบธุรกิจการงานต่างๆ เขียนจดหมาย โทรศัพท์คุยกัน ขณะเหล่านั้นทั้งหมด ถ้าพิจารณาจิตก็จะรู้ว่า เป็นจิตที่ประกอบด้วยอกุศลประเภทใด คือ ขณะนั้นเป็นไปด้วยโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต

    ผลของอกุศลที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันจะมีอย่างไร ถ้าไม่ใช่อกุศลกรรมบถ คือ ไม่มีกำลังแรง เจตนาในขณะนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อการเบียดเบียนประทุษร้ายบุคคลอื่น ผล คือ เมื่ออกุศลจิตนั้นๆ ในชีวิตประจำวันดับลง จะสะสมสืบต่อในจิตขณะต่อๆ ไป เป็นอุปนิสสยปัจจัย ทำให้มีกำลังให้อกุศลประเภทนั้นๆ เกิดขึ้นอีก

    อย่างคนที่ต้องการทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เคยพอ ต่อๆ ไปก็จะมีลักษณะอย่างนั้น ไม่เคยคิดว่าพอ ก็ยังคงมีความต้องการอยู่มากๆ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ทุกคนมีโลภะมาก ยังไม่พอกันทั้งนั้น แต่ความไม่พอของใคร หรือว่าความต้องการของใคร จะมีกำลังจนปรากฏ แสดงให้รู้ทางกาย ทางวาจาที่น่ารังเกียจ นี่ก็เป็นขั้นหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงโลภะประเภทนั้นๆ ที่เคยเกิดมามาก จนมีกำลังทำให้กายวาจาของบุคคลนั้นในภพนี้ชาตินี้เป็นอย่างนั้น

    นี่เป็นผลของอกุศลจิต ซึ่งไม่ถึงกับมีเจตนาที่จะเบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น แต่ถ้าอกุศลนั้นมีกำลังขึ้น เจตนาที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตนั้นๆ ก็เป็นอกุศลกรรมบถ อย่างใดอย่างหนึ่งในอกุศลกรรมบถ ๑๐ มีการฆ่าสัตว์ หรือมีการถือเอาสิ่งที่เจ้าของไม่ได้ให้เป็นของตน หรือมีการประพฤติผิดในกาม หรือมีการมุสาวาท เป็นต้น และขณะนั้น ถ้าอกุศลกรรมนั้นครบองค์ของอกุศลกรรมบถนั้นๆ เมื่อให้ผล จะเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิได้ แต่ถ้าไม่ครบองค์ จะเป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากเกิดหลังจากปฏิสนธิแล้วได้

    . โลภะ โทสะเกิดขึ้น จะสังเกตได้จากรูป ที่อาจารย์กล่าวเมื่อกี้ ...

    สุ. ถ้าไม่มีรูปจะรู้ไหมว่า จิตของใครกำลังเป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต

    . ก็คงไม่ทราบ โลภะ โทสะก็พอจะสังเกตได้ แต่ถ้าบุคคลนั้นมีโมหะ จะสังเกตได้อย่างไร

    สุ. เผลอ มีไหม เรียกเท่าไรก็ไม่รู้ นั่งเผลอไปเลย

    . บางทีเผลอ เขาก็ยิ้มนะ

    สุ. ก็แล้วแต่ แต่ขณะใดที่เรียกแล้วไม่ได้ยิน หรือพูดด้วยก็ไม่รู้เรื่อง อย่างนี้ก็พอที่จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นโมหะ

    คนเพ้อ เวลาที่เป็นไข้ ไม่รู้สึกตัวเลย แต่มีการกล่าวคำออกมา ซึ่งอาจจะไม่เป็นคำ อาจจะเป็นเสียงอื้อๆ อ้าๆ ขณะนั้นก็รู้ได้เหมือนกันว่า เป็นโมหมูลจิต

    โมหมูลจิตที่เป็นอุทธัจจสัมปยุตต์ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า โมหมูลจิตดวงนี้เป็นอุทธัจจสัมปยุตต์ เพราะว่าแม้อุทธัจจเจตสิกจะเป็นอกุศลสาธารณเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทุกดวงก็จริง แต่ลักษณะของอุทธัจจเจตสิกที่เกิดกับอกุศลประเภทอื่นนั้นไม่ปรากฏ เช่น เวลาที่อุทธัจจเจตสิกเกิดกับโลภมูลจิต มีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีอหิริกเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีอโนตตัปปเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ลักษณะของอุทธัจจะไม่ปรากฏ

    อุทธัจจเจตสิกจะมีกำลังปรากฏให้รู้ว่าเป็นลักษณะของอุทธัจจะ เมื่อเป็น โมหมูลจิตดวงที่ ๒ ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงว่า โมหมูลจิตดวงที่ ๒ เป็น อุทธัจจสัมปยุตต์ เพราะว่าลักษณะของอุทธัจจเจตสิกมีกำลังปรากฏในโมหมูลจิต ดวงสุดท้าย ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับอกุศลดวงอื่นๆ แล้ว ก็เป็นอกุศลที่มีกำลังอ่อน แต่เฉพาะลักษณะของอุทธัจจะนั้นมีกำลังที่จะให้รู้ได้ มากกว่าเวลาที่เกิดกับอกุศลจิตประเภทอื่น

    ถ้าไม่มีรูปเลย ยากที่จะรู้จิตของคนอื่น ใช่ไหม แต่ถ้าเห็นใครหัวเราะ หรือเห็นใครร้องไห้ ก็ยังพอจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหน

    ถ้าสะสมความพอใจในรูปอย่างใดไว้มาก หรือความพอใจในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เนิ่นนานมาในสังสารวัฏฏ์ ก็ไม่สูญหาย ยังคงปรากฏเป็นความชอบในสิ่งนั้นๆ อยู่ในปัจจุบันชาติ ซึ่งนี่เป็นลักษณะของโลภะที่เกิดขึ้นสะสมสืบเนื่องจากอดีตอนันตชาติจนถึงปัจจุบันชาติ

    การที่อกุศลจิตเกิดขึ้นและดับไป สะสมเป็นพืชเชื้ออยู่ในจิตสันดาน คือ การเกิดดับสืบต่อกันของจิตนั้น ทำให้แต่ละบุคคลมีจริตอัธยาศัยต่างๆ กัน ตามอนุสัยกิเลส

    อนุสัยกิเลส คือ กิเลสซึ่งนอนเนื่องอยู่ในจิต ได้แก่ กามราคานุสัย ๑ ปฏิฆานุสัย ๑ ทิฏฐานุสัย ๑ มานานุสัย ๑ วิจิกิจฉานุสัย ๑ ภวราคานุสัย ๑ อวิชชานุสัย ๑ สำหรับอกุศลเจตสิกอื่นไม่จัดว่าเป็นอนุสัย เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย เป็นสังโยชน์ เป็นกิเลสทำให้จิตเศร้าหมองได้ แต่ไม่เป็นพืชเชื้ออยู่ในจิต โดยเป็น อนุสัยกิเลส

    บางคนหงุดหงิด เป็นคนที่หงุดหงิดมาก บางคนก็ใจน้อย คิดมาก บางคนก็มองทุกอย่างในแง่ร้าย เห็นแต่ความผิดของคนอื่นทุกวัน ตั้งแต่ลืมตา ทุกคนจะต้องมีข้อบกพร่อง สิ่งนั้นไม่ดีเพราะคนนี้ สิ่งนี้ไม่ดีเพราะคนนั้น สะสมอะไรมาเป็นอนุสัย ก็ต้องสะสมโทสมูลจิต เป็นปฏิฆานุสัย

    ถ้าใครสะสมทิฏฐิความเห็นผิดไว้มาก ผู้นั้นจะเป็นผู้ที่มีปกติชอบคิดผิดๆ ควรคิดให้ตรงตามเหตุผล ก็ไม่สามารถที่จะตรงตามเหตุผลได้ มีความเชื่อซึ่งไม่เป็นเหตุเป็นผล เช่น บางคนเชื่อว่า ถ้าใครเห็นดอกประดู่บานเป็นครั้งแรก และเอา ดอกประดู่นั้นทัดหู จะมีความสุขความเจริญรุ่งเรือง เพราะว่าตัวเองทำอย่างนั้น ก็เชื่อว่า ความสุขความเจริญที่เกิดขึ้นนั้นมาจากเมื่อเห็นดอกประดู่และเอามาทัดหู ซึ่งปรากฏว่า มีผู้เอาดอกประดู่มาทัดหูเพราะว่าได้ยินได้ฟังอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุ มีผลเลย แต่ก็ยังทำ ผลคือกำลังขับรถยนต์อยู่ รถก็ถูกชน

    แสดงให้เห็นว่า ความเชื่อหรือความเห็นผิดต่างๆ ถ้าสะสมไว้ แม้ในสิ่งซึ่ง ไม่น่าเชื่อ ไม่ควรเชื่อ ไม่มีเหตุผลเลย ก็ยังเชื่อได้

    อนุสัยกิเลสอีกอย่างหนึ่งที่ถ้าสะสมไว้มากๆ จะทำให้เป็นผู้ที่สำคัญตน คือ มานานุสัย จะเป็นผู้ที่มีลักษณะเย่อหยิ่ง ถือตัว ไม่สามารถจะรับผิดหรือขอโทษได้ เพราะว่าต้องเป็นผู้ที่เก่งเสมอ นี่ก็เป็นอกุศลที่สามารถจะพิจารณาตนเองได้ แต่ถ้ารังเกียจอกุศล เพราะว่าเกิดหิริและโอตตัปปะขึ้น ก็จะทำให้ละคลายความสำคัญตนได้ ซึ่งความเย่อหยิ่ง หรือความทะนงตน ความสำคัญตนนั้น เป็นกิเลสที่ละยาก ต้องถึงขั้นพระอรหันต์จึงจะดับได้เป็นสมุจเฉท

    เพราะฉะนั้น บางกาลอาจจะเกิด แต่ไม่ควรให้ถึงขั้นที่น่าเกลียด อย่างบางคนปกติธรรมดาก็เป็นบุคคลที่มีเมตตา อ่อนหวาน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่มานะที่ยังมีอยู่ ก็เกิดขึ้นได้ เวลาที่อยู่ในสภาพสถานการณ์บางอย่างซึ่งทำให้เกิดความสำคัญตน ถ้าบุคคลอื่นใช้วาจาที่ไม่เหมาะไม่ควร นั่นก็เป็นไปได้ ซึ่งแต่ละคนก็สามารถพิจารณาลักษณะสภาพของจิตของตนได้

    นอกจากนั้น ก็มีวิจิกิจฉานุสัย ภวราคานุสัย และอวิชชานุสัย ถ้าเป็นผู้ที่ มักเคลือบแคลง สงสัย ลังเล ไม่แน่ใจอยู่บ่อยๆ เนืองๆ ผลก็คือ จะทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ที่ย่อมสงสัย ลังเล ไม่แน่ใจอยู่ร่ำไป บางสิ่งบางอย่างควรจะเข้าใจแล้วก็กลับไปสงสัยอีกก็มี นี่ก็เป็นเพราะว่าเป็นผู้ที่สะสมความลังเล ความไม่แน่ใจ ความสงสัย ในลักษณะของสภาพธรรม

    สำหรับภวราคานุสัย ได้แก่ ความยินดีในภพ ไม่ใช่แต่เฉพาะความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นกามภูมิเท่านั้น แต่ความยินดีในภพ ยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะละความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเป็นสมุจเฉทถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคลแล้ว ก็ยังมีความติด ความต้องการ ในภพอยู่ เพราะว่ายังไม่เป็นพระอรหันต์ ต่อเมื่อใดที่ดับความยินดี ความต้องการความพอใจในภพได้ จึงจะถึงความเป็นพระอรหันต์

    และสำหรับอวิชชานุสัย ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรม ก็มีมากหลายขั้น ตั้งแต่ไม่รู้เรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ไม่รู้ลักษณะของสติ ไม่รู้ลักษณะของจิต ของเจตสิก ของรูป ของสภาพธรรม จนกระทั่งถึงความเผลอ ไม่รู้ตัว นั่นก็เป็นลักษณะของอวิชชานุสัยได้ ซึ่งผู้ที่จะดับได้เป็นสมุจเฉทคือพระอรหันต์ แม้แต่ พระอนาคามีก็ยังมีโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ แม้ว่าพระโสดาบันดับโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์แล้วก็ตาม แต่พระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล ยังมีโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ เพราะฉะนั้น ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์จึงจะดับได้

    . มานเจตสิกจัดอยู่ในอกุศลฝ่ายโลภะ

    สุ. เกิดกับโลภมูลจิต

    . แต่ในชีวิตประจำวัน กระผมสังเกตตัวเองว่า สะสมมานานุสัยมาก ทำให้เกิดโทสะได้ง่ายๆ ฉะนั้น มานะไม่น่าจะจัดอยู่ในฝ่ายโลภะ

    สุ. เป็นปัจจัยให้เกิดโทสะ แต่ไม่เกิดร่วมกับโทสะ ต้องคนละขณะ และสลับกันได้ ในขณะที่มานะเกิดกับโลภมูลจิตและดับไป จิตอื่นก็คั่น ในที่สุดก็เป็น โทสมูลจิตได้ เหมือนกับเห็นกับได้ยินในขณะนี้สลับกันฉันใด เวลาที่โลภมูลจิตเกิดสลับกับโทสมูลจิต ก็ฉันนั้น แต่ต้องมีจิตอื่นๆ เกิดคั่นในระหว่างมาก



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๓ ตอนที่ ๑๔๒๑ – ๑๔๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 90
    28 ธ.ค. 2564