แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1432
ครั้งที่ ๑๔๓๒
สาระสำคัญ
สติปัฏฐานมีหลายขั้น
สํ.มหา.ราชาสูตร
องฺ.จตุก.ภยสูตรที่ ๑ - ภัยของอกุศล ๔ ประการ
ม.มู.วัตถูปมสูตร
ขุ.ฆีติโกสลชาดก
อถ.พรรณนาอฐานบาลี - พระภิกษุอนุเคราะห์บิดาท่านในมรณาสันนกาล
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๒๘
สุ. คำถามนี้คงจะหมายความว่า เวลาที่โลกุตตรจิตเกิดมีนิพพานเป็นอารมณ์ สติในขณะนั้นเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า คำตอบ คือ เป็น
แต่สติปัฏฐานมีหลายขั้น สติปัฏฐานที่เป็นการอบรมเจริญปัญญาในขณะที่ยังไม่รู้แจ้งนิพพาน สติปัฏฐานนั้นระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และเวลาที่วิปัสสนาญาณแต่ละขั้นเกิด ก็ต้องเป็นสติปัฏฐาน เพราะว่ามีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสติ
เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจความหมายของสติปัฏฐานว่า สิ่งที่สติระลึกรู้ เพราะว่าสติต้องเป็นสภาพที่ระลึกรู้ ในขณะที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นโลกุตตรจิต สติในขณะนั้นก็ระลึกรู้ที่ลักษณะของนิพพาน เพราะไม่ว่าสติจะเกิดขณะใด สตินั้น ต้องเป็นสภาพที่ระลึกรู้ ที่เป็นสัมมาสติ
ถ, สตินั้นต้องระลึกรู้ลักษณะของนิพพานว่า ไม่มีตัวตนด้วย ใช่ไหม
สุ. แน่นอน แต่ไม่ได้หมายความถึงในขั้นที่กำลังอบรมเจริญ แต่สติปัฏฐานนั้นเป็นขั้นที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน
ถ. และในขณะผลจิต สติที่เกิดนั้นจะเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า
สุ. เหมือนกัน มิฉะนั้นแล้ว ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐาน เป็นสติอะไร
ถ. มรรคจิตปหานกิเลสแล้ว ในขณะผลจิตก็ไม่มีกิจที่จะต้องทำแล้ว ทำไมต้องมีสติปัฏฐาน
สุ. แม้ไม่มีกิจต้องทำ แต่ปัฏฐาน คือ ที่ตั้งที่สติระลึกรู้ ในความหมายนั้น เพราะฉะนั้น อย่าติดที่ศัพท์ เพราะถ้าติดที่ศัพท์จะย้อนกลับไปว่า มิฉะนั้นแล้วสติในขณะนั้นเป็นสติอะไร ใช่ไหม เพราะสติขั้นสูงสุด คือ สติปัฏฐาน ซึ่งระลึกลักษณะที่กำลังปรากฏชัดตามความเป็นจริง
ถ. แต่ทำกิจคนละอย่าง
สุ. ไม่ใช่ในขณะที่กำลังเจริญอบรมอยู่ แต่เป็นในขณะที่กำลังประจักษ์แจ้งลักษณะสภาพของนิพพาน
ถ. เรื่องของมานะ เวลาเจริญสติ รู้ลักษณะของมานะ จำเป็นต้องพิจารณาถึงว่า มานะเกิดทางไหน หรือเปล่า
สุ. ไม่ต้อง เวลาที่เป็นสติปัฏฐาน บางท่านถามว่า ต้องแยกปัญจทวารกับมโนทวารไหม นี่คำถามหนึ่ง และคำถามที่ว่า เวลาที่มานะปรากฏ ต้องพิจารณาว่าเป็นมานะชนิดไหนหรือเปล่า ใช่ไหม
ถ. ใช่
สุ. ไม่ต้อง เพราะสำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น เพื่อรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะสภาพที่สติกำลังระลึกนั้นเป็นลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้อย่างหนึ่ง หรือว่าเป็นลักษณะของรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้อีกอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่ต้องแยกว่า นี่เป็นทางปัญจทวาร หรือนี่ทางมโนทวาร เพราะว่าตามความเป็นจริงในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ทั้งทางปัญจทวารและทางมโนทวารเกิดสืบต่อกัน โดยแยกไม่ออกเลย
ทางตา ในขณะที่คิดว่าเห็นอยู่ตลอดเวลา มีมโนทวารวิถีเกิดคั่นสลับพร้อมทั้งภวังคจิตด้วย ซึ่งแยกไม่ออก ถ้าถามจริงๆ ว่า ขณะที่กำลังเห็นนี้เป็นจักขุทวารวิถีจิตหรือมโนทวารวิถีจิต จะตอบไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น สำหรับปัญญาขั้นต้นที่จะต้องรู้ คือ ศึกษาพิจารณาเพื่อรู้จริงๆ ว่า สภาพรู้ที่กำลังเห็นเป็นอย่างไร คือ ในขณะที่กำลังเห็นนี้เองเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้ที่กำลังเห็น ไม่ต้องแยกว่าเป็นจักขุทวารวิถีหรือมโนทวารวิถี เพราะมิฉะนั้นก็คือคิด แต่ไม่ได้ศึกษาสภาพรู้ ลักษณะซึ่งเป็นธาตุรู้ในขณะที่กำลังเห็น ฉันใด เวลาที่มานะเกิดขึ้น พิจารณารู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง เพื่อที่จะไม่ยึดถือมานะนั้นว่าเป็นเรา
จุดสำคัญที่สุด คือ เพื่อเห็นสภาพที่เป็นอนัตตาของธรรมทั้งหลาย เพื่อละการที่เคยยึดถือว่าเป็นเราทั้งหมด ไม่ว่าจะเห็น หรือไม่ว่าจะเป็นมานะ
ถ. ที่สงสัยเพราะศึกษาปริยัติมาว่า มานะนั้นประกอบกับโลภะ ซึ่งโลภะปรากฏได้ทั้ง ๖ ทวาร จึงสงสัย แต่ที่ปฏิบัติมา ตอนเริ่มใหม่ๆ เวลามีสติระลึกรู้ ก็เฉพาะปรากฏทางมโนทวาร จึงสงสัยว่า มานะจะไม่เกิดทางจักขุทวารเลย หรืออย่างไร
สุ. บางอาจารย์กล่าวว่า มานะ หรืออิสสา หรือมัจฉริยะ เหล่านี้ จะเกิดเฉพาะทางมโนทวารเท่านั้น แต่นี่ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องคิด เรื่องที่ควรจะประพฤติปฏิบัติอบรม คือ เวลาที่มานะเกิด ก็ระลึกลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน
ถ. และต้องรู้ลักษณะของมานะที่มีลักษณะอาการพองขึ้น ไม่สงบ หวั่นไหวด้วยไหม
สุ. แล้วแต่สภาพธรรมใดปรากฏ เปลี่ยนแปลงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปและปรากฏในขณะนั้นให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เมื่อเกิดขึ้นปรากฏอย่างไร ก็รู้ในลักษณะที่กำลังปรากฏอย่างนั้น
ท่านที่เป็นทุกข์ เศร้าโศกเสียใจ เพราะว่าญาติพี่น้อง ภรรยาสามี บุตรธิดาตายจากไป ก็ลืมคิดถึงชาติก่อนว่า เมื่อท่านจากมาสู่โลกนี้ บางคนอาจจะกำลัง เศร้าโศกเสียใจถึงท่าน โดยที่ท่านก็ไม่รู้เลยได้ใช่ไหม ท่านมาเกิดเป็นบุคคลใหม่ใน โลกนี้แล้ว โดยที่ไม่รู้ว่า ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๔๐ ปี ผู้ที่ท่านจากมานั้น อาจจะยังคงมีชีวิตอยู่ และเศร้าโศกเสียใจถึงท่านอยู่จนถึงเดี๋ยวนี้ก็ได้ โดยที่ท่านไม่รู้ตัวเลย ฉันใด ผู้ที่จากท่านไปสู่โลกอื่น เป็นบุคคลอื่น ก็ฉันนั้น ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า เคยมีความสัมพันธ์กับบุคคลใด และบุคคลนั้นๆ ก็กำลังเศร้าโศกเสียใจระลึกถึงท่าน เพราะว่าการมีชีวิตอยู่ในแต่ละภพแต่ละชาตินั้นตามกำลังของกรรมว่า จะมากน้อยเพียงไร และเมื่อสิ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้น ก็ไม่กลับไปสู่สภาพของความเป็นบุคคลนั้นอีกเลย จะเป็นบุคคลใหม่ตามกรรมแต่ละกรรมไปเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้น สำหรับในชาตินี้ เป็นบุคคลนี้ ได้เป็นมนุษย์ มีโอกาสได้ฟัง พระธรรม ก็ต้องไม่ประมาท เพราะถ้ายังไม่เป็นพระอริยบุคคล จะเกิดในอบายภูมิได้ แล้วแต่ว่าจะเกิดในนรก หรือว่าเกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นดิรัจฉาน
ถ้าเห็นดิรัจฉานเกิดใหม่จะรู้ไหมว่า เคยเป็นใครที่เรารู้จัก เป็นไปได้ไหม ก็ย่อมเป็นได้ เพราะฉะนั้น จะทำให้เรามีเมตตาจิตกับสัตว์ดิรัจฉานได้เพิ่มขึ้น เพราะว่าอาจจะเคยเป็นผู้มีอุปการคุณในชาติหนึ่งชาติใดก็เป็นได้ แทนที่จะคิดเบียดเบียนหรือประทุษร้าย ก็จะรู้ได้ว่า แต่ละชีวิตเป็นไปตามกรรม แล้วแต่ว่ากรรมจะทำให้ดำรงอยู่ในภพนั้นนานเท่าไร
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เวฬุทวารวรรคที่ ๑ ราชาสูตร ข้อ ๑๔๑๑
มีข้อความว่า
พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิเสวยราชสมบัติเป็นอิสราธิบดีในทวีป ทั้ง ๔ สวรรคตแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ... ถึงอย่างนั้น ท้าวเธอก็ยังไม่พ้นจากนรก จากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน จากปิตติวิสัย จากอบาย ทุคติ วินิบาต
... อริยสาวกเยียวยาอัตภาพอยู่ด้วยคำข้าวที่แสวงหามาด้วยปลีแข้ง นุ่งห่มผ้าที่เศร้าหมอง ... ถึงอย่างนั้น เธอก็พ้นจากนรก จากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน จากปิตติวิสัย และจากอบาย ทุคติ วินิบาต
เพราะฉะนั้น การได้ทวีปทั้ง ๔ คือ ไม่ว่าจะเป็นสมบัติใดๆ มากมายสักเท่าไร ก็ตาม ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ซึ่งจำแนกออกไปแล้ว ๑๖ หน ของการได้ธรรม ๔ ประการ คือ ธรรมของพระอริยบุคคล ได้แก่ ความเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหวในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ และในศีลของพระอริยสาวก
เวลาที่จะจุติจริงๆ น่ากลัวตรงที่ไม่รู้คติที่ไปเลยว่า จะไปสู่ภพไหน ภูมิไหน เพราะว่าทุกคนยังคงมีอกุศลจิต ซึ่งเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรม
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ภยวรรคที่ ๓ ภยสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๒๑ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงภัยของอกุศล ๔ ประการ คือ
อัตตานุวาทภัย ภัยเกิดแต่การติเตียนตนเอง ๑ ปรานุวาทภัย ภัยเกิดแต่ ผู้อื่นติเตียน ๑ ทัณฑภัย ภัยเกิดแต่อาญา ๑ ทุคติภัย ภัยเกิดแต่ทุคติ ๑
นี่คือภัยต่างๆ ของอกุศลกรรมที่ได้กระทำ นอกจากจะติเตียนตนเอง คือ เมื่อได้กระทำอกุศลกรรมแล้ว บางคนระลึกขึ้นมาจิตใจก็เป็นทุกข์เศร้าหมองมาก ที่ได้เผลอทำอกุศลกรรม เพราะในขณะที่ทำอกุศลกรรมต้องเป็นในขณะที่ไม่รู้สึกตัว ไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่กุศลในขณะนั้น ปราศจากการระลึกที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล
เพราะฉะนั้น เมื่อได้กระทำแล้ว เวลาระลึกขึ้นได้ก็ทำให้จิตใจเศร้าหมอง นอกจากจะติเตียนตนเอง มีความทุกข์เพราะการกระทำของตนเองแล้ว ก็ยังเป็นที่ ติเตียนของคนอื่นด้วย จึงทำให้ผู้ที่ได้รับการติเตียนต้องเป็นทุกข์แน่นอน และถ้าเป็นอกุศลกรรมที่มีกำลัง ทำให้ได้รับภัยคืออาญา ก็เป็นความทุกข์ เป็นโทษ เป็นภัยของอกุศลกรรมนั้น
และประการสำคัญที่สุด ซึ่งใครก็ช่วยไม่ได้เลย คือ ทุคติภัย ภัยเกิดแต่ทุคติ คือ การไปเกิดในอบายภูมิ
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ วัตถูปมสูตร ข้อ ๙๑ – ๙๒
มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผ้าที่เศร้าหมองมลทินจับ ช่างย้อมพึงนำเอาผ้านั้นใส่ลงในน้ำย้อมใดๆ คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีชมพู ผ้านั้นพึงเป็นของมีสีที่เขาย้อมไม่ดี มีสีมัวหมอง ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะผ้าเป็นของไม่บริสุทธิ์ ฉันใด เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันหวังได้ ฉันนั้น
... เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติก็เป็นอันหวังได้ ฉันนั้น
โดยนัยที่ตรงกันข้าม
ในเวลาใกล้จะตาย ก่อนที่จุติจิตจะเกิดจริงๆ ยังอาจจะเปลี่ยนจากจิตที่ เศร้าหมอง ถ้ามีเวลาพอ หมายความว่า ถ้าไม่ใช่การตายอย่างปัจจุบันทันทีซึ่งไม่รู้ตัว
ขุททกนิกาย ปัญจกนิบาตชาดก อัฑฒวรรค ทีฆีติโกสลชาดก ข้อ ๘๐๕ - ๘๐๗
มีข้อความว่า
ข้าแต่พระราชา เว้นสุจริต และวาจาสุภาษิตเสีย เหตุอย่างอื่นจะป้องกันได้ ในเวลาใกล้มรณกาล ไม่มีเลย ทรัพย์นอกนี้ก็เหมือนกันแหละ
เวลาที่ใกล้ตายจริงๆ เว้นสุจริตและวาจาสุภาษิตเสีย เหตุอย่างอื่นจะป้องกันได้ในเวลาใกล้มรณกาล ไม่มีเลย เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยกุศลจิตและวาจาสุภาษิต ซึ่งจะเกื้อกูลได้ ถ้ากรรมนั้นไม่ใช่เป็นอนันตริยกรรมที่เป็นอกุศล ที่จะต้องให้ผลสืบต่อจากชาตินี้ทันที
ข้อความต่อไปมีว่า
ชนเหล่าใดเข้าไปผูกเวรว่า คนนี้ได้ด่าเรา คนนี้ได้ฆ่าเรา คนนี้ได้ชนะเรา คนนี้ได้ลักของของเรา เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่สงบ ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกเวรว่า คนนี้ได้ด่าเรา คนนี้ได้ฆ่าเรา คนนี้ได้ชนะเรา คนนี้ได้ลักของของเรา เวรของ ชนเหล่านั้นย่อมสงบ
ในกาลไหนๆ เวรในโลกนี้ ย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย แต่ย่อมระงับได้ด้วยความไม่มีเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า
จบ ทีฆีติโกสลชาดกที่ ๑
เรื่องความโกรธ หรือความผูกโกรธเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งขณะที่เกิดขึ้นผู้โกรธย่อม ไม่รู้ตัวว่า เป็นจิตเศร้าหมองที่ทำให้เกิดในอบายภูมิได้ ถ้าไม่ละเว้นความผูกโกรธ หรือยังมีความคิดว่า คนนี้ได้ด่าเรา คนนี้ได้ฆ่าเรา คนนี้ได้ชนะเรา แม้แต่เพียงคนนี้ ได้ชนะเรา เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ เมื่อไรจะเห็นโทษจริงๆ ว่า ไม่ควรคิดอย่างนี้แม้กับใครๆ เลย เพราะว่าเป็นโทษสำหรับตัวเอง และโทษนี้ถ้าเป็นอกุศลกรรมก็ทำให้เกิดในอบายภูมิได้ นอกจากจิตใจเศร้าหมองเพราะโทสะ เพราะความโกรธ ยังเศร้าหมองเพราะโลภะ เศร้าหมองเพราะโมหะ จนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้นถึงขั้นรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล จึงจะไม่เกิดในอบายภูมิอีกเลยได้
มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย พรรณนาอฐานบาลี มีเรื่อง ของพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งได้อนุเคราะห์ผู้ที่เป็นบิดาของท่านในมรณาสันนกาล
ข้อความมีว่า
ในเขลวิหารที่เชิงเขาชื่อว่าโสณะ มีพระธรรมกถึกรูปหนึ่งนามว่า โสณเถระ ท่านเห็นว่าบิดาของท่านแก่แล้ว ก็ไม่อยากให้บิดาของท่านถึงความพินาศ คือ ไปสู่อบายภูมิเมื่อตาย ท่านจึงได้ให้บิดาบวชเมื่อแก่ เมื่อภิกษุผู้เป็นบิดาป่วยและนอนอยู่นั้น ภูมินรกก็ปรากฏ เห็นเป็นสุนัขตัวใหญ่จากเชิงเขาตรงจะมากัดกิน ซึ่งภิกษุผู้เป็นบิดาก็ได้บอกพระโสณเถระห้ามไม่ให้สุนัขกัด
พระโสณเถระก็คิดว่า ท่านควรจะเป็นที่พึ่งของบิดาของท่าน อย่าให้บิดาของท่านต้องเกิดในนรกเลย ท่านก็เอาดอกไม้มาให้ภิกษุผู้เป็นบิดาน้อมระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ซึ่งในกาลนั้นเทวโลกก็ปรากฏ ทั้งสวนนันทวัน สวนจิตรลดาวัน สวนมิสกวัน และวิมานทั้งหลาย และนักฟ้อนรำก็มาแวดล้อมภิกษุผู้เป็นบิดา ซึ่งเมื่อเห็นอย่างนั้นเป็นคตินิมิต ภิกษุผู้เป็นบิดาก็บอกให้พระโสณะหลีกไปเพราะว่าเทพธิดาทั้งหลายมา พระโสณเถระท่านก็ทราบว่า สวรรค์ปรากฏแล้วแก่ผู้ที่เป็นบิดา
เพราะฉะนั้น สำหรับมรณกาล คือ ยังไม่ใช่ขณะที่จิตเกิดก่อนจุติจริงๆ ไม่ใช่ชวนวิถีสุดท้ายก่อนจุติ ยังสามารถเกื้อกูลให้กุศลจิตเกิดได้ เป็นมรณาสันนกรรม คือกรรมที่ได้กระทำใกล้จะตาย ในเมื่อไม่มีกรรมอื่นที่มีกำลังกว่าที่จะให้ผล กรรมนี้ก็ให้ผลได้
ถ. หนทางเดียวคืออะไร
สุ. อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าจะเป็น พระอริยบุคคล ถ้ายังไม่เป็นพระอริยบุคคล ก็ยังมีโอกาสเกิดในอบายภูมิได้
ถ. สติระลึก ทำไมต้องใช้คำว่าระลึก
สุ. สติมีกิจการงานหน้าที่ เวลาที่หลงลืมก็ไม่ระลึก ทั้งๆ ที่แข็งกำลังปรากฏ ก็ไม่ได้พิจารณาศึกษาลักษณะของแข็งซึ่งเป็นของจริงที่เกิดดับ ทั้งๆ ที่ตาเห็น ก็ไม่ระลึกว่า เป็นของจริงซึ่งปรากฏทางตาเท่านั้นเอง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนใดๆ ทั้งสิ้น
ถ. แม้จะคิดบังคับ ตอนนั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้ ใช่ไหม
สุ. ทุกอย่างเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน นี่คือ การที่สติเกิด และระลึกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ระลึกลอยๆ ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนัตตา อย่างนั้นไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา
ถ. กรรมที่เป็นอกุศลกรรม เราก็ไม่รู้ ใช่ไหม เราทำไปแล้ว ทำไมเราจะต้องได้รับผลกรรมด้วย
สุ. ไม่จำเป็นต้องรู้นี่ เพราะว่ากรรมเป็นเหตุเป็นปัจจัย เป็นกัมมปัจจัย ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วสามารถทำให้วิบากจิตเกิดได้ในอนาคต เป็นไปตามสภาพของกรรมนั้นๆ ไม่ใช่ว่ากรรมจะให้ผลต่อเมื่อรู้ว่าเป็นกรรม
ขออ่านจดหมายของท่านผู้ฟังจากจังหวัดเลย เพื่อท่านผู้ฟังจะได้อนุโมทนาผลของการรับฟังของท่านผู้ฟังที่ต่างจังหวัด
ท่านผู้นี้เขียนมา เมื่อวันที่ ๓๑ พ.ค. ๒๕๒๘
กราบเรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ตามที่กระผมได้ติดตามฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์ และหนังสือเล่มแรก คือ พุทธศาสนาในชีวิตประจำวัน ทำให้กระผมเลิกสุราได้แล้ว ก่อนตรุษสงกรานต์ที่ผ่านมา และการดูหนังสือกำลังจะจบเป็นครั้งที่ ๓ ฉะนั้น กระผมขออ้าง คือ
“ จะห้ามคนอื่นไม่ให้ดื่มเหล้าได้อย่างไร เพราะสติต่างหากที่ทำให้ยับยั้งและ ละคลายได้ทีละน้อย พระอริยบุคคลเท่านั้นที่จะรักษาศีล ๕ ได้อย่างสมบูรณ์ ปุถุชนย่อมล่วงศีลได้เมื่อมีเหตุปัจจัย เช่น เมื่อมีปัจจัย เราอาจจะฆ่าเพื่อป้องกันตัวก็ได้ และสิ่งที่เกิดขึ้นในชาตินี้ มีปัจจัยในอดีต อุปนิสัยที่มีอยู่ในชาตินี้ก็ย่อมเคยเป็นมาแล้วในอดีตด้วย กรรมใดๆ ที่กระทำในขณะนี้ ก็อาจจะเคยทำมาแล้วในอดีตด้วย ” กระผมหยุดได้ตอนนี้เองครับ อาจารย์
ก็คงจะเป็นที่อนุโมทนาว่า ท่านผู้นี้รู้ว่า สติต่างหากทำให้ไม่ดื่มเหล้าอีก
การไม่ดื่มเหล้าด้วยศรัทธาในบางกาล เช่น ในเวลาเข้าพรรษา กับการไม่ดื่มเหล้าด้วยการรู้ว่าไม่ใช่ตัวตนแต่เป็นสติที่งดเว้นการดื่มเหล้านั้น ต่างกัน เพราะว่าศรัทธาของผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลนั้นย่อมหวั่นไหวได้ แม้เพียงก้าวเดียวจากที่ที่ยืนอยู่ ศรัทธาก็สามารถเปลี่ยนได้
ไม่ทราบว่ามีท่านผู้ใดสังเกตจิตใจของท่านบ้างหรือเปล่า เวลาที่ศรัทธาเกิดชั่วคราว และไม่นานเลย ศรัทธานั้นก็หมดไป
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๔ ตอนที่ ๑๔๓๑ – ๑๔๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1381
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1382
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1383
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1384
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1385
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1386
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1387
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1388
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1389
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1390
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1391
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1392
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1393
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1394
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1395
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1396
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1397
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1398
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1399
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1400
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1401
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1402
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1403
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1404
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1405
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1406
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1407
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1408
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1409
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1410
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1411
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1412
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1413
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1414
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1415
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1416
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1417
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1418
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1419
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1420
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1421
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1422
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1423
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1424
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1425
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1426
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1427
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1428
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1429
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1430
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1431
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1432
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1433
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1434
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1435
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1436
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1437
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1438
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1439
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1440