แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1434


    ครั้งที่ ๑๔๓๔


    สาระสำคัญ

    ผู้มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

    ชื่อว่าสรณคมน์ขาด

    ดิรัจฉานกถาคืออะไร

    อกุศลวิบากจิต ๗ ดวง เป็นผลของอกุศลกรรม

    ขณะที่ใกล้จะตาย แบ่งเป็น ๒ กาล


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๘


    ทุกคนยังปลอดภัย เพราะว่ายังเป็นมนุษย์อยู่ แต่กาลข้างหน้า อาจจะช้าหรือเร็วเพียงใดก็ไม่ทราบ ที่จะต้องเปลี่ยนสภาพจากความเป็นบุคคลนี้ ซึ่งควรที่จะขวนขวายในการเจริญกุศลจริงๆ เพราะถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมทำให้เกิดในอบายภูมิ จะขาดการเจริญกุศลอย่างที่มนุษย์สามารถจะเจริญได้

    สำหรับผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ เวลาที่จุติ คือ สิ้นชีวิตแล้ว ไปสู่อบายภูมิได้ทั้ง ๔ คือ จะเกิดในนรกก็ได้ เกิดเป็นเปรตก็ได้ เป็นอสุรกายก็ได้ เป็นสัตว์ดิรัจฉานก็ได้ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม และสามารถไปสู่สวรรค์ได้ทั้ง ๖ ชั้น แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกุศลกรรมใด ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญความสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิเป็นฌานจิต และไม่เสื่อม คือ ฌานจิตเกิดก่อนจุติ ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดในรูปพรหมได้ ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญฌานจิตถึงขั้นอรูปพรหม ก็ยังสามารถเกิดในภูมิซึ่งไม่มีรูปเลย มีแต่นามธรรมเท่านั้น

    แต่ถ้าสามารถอบรมเจริญปัญญา ดับกิเลสได้หมดถึงความเป็นพระอรหันต์ จะไม่มีการเกิดอีกเลย ไม่ว่าในที่ไหนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถและกรรมของแต่ละบุคคล ถ้ายังไม่เป็นพระอริยบุคคลก็ยังเกิดในอบายภูมิได้ เมื่อเป็นผลของอกุศลกรรม

    . เรื่องสรณคมน์ ปุถุชนธรรมดาอย่างผมรู้สึกว่า จะขาดอยู่เป็นประจำ เพราะว่าปกติในชีวิตประจำวันของปุถุชนที่ยังมีกิเลสหนาอยู่ ที่จะนึกถึงพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ วันๆ หนึ่งแทบจะไม่มี ส่วนใหญ่นึกถึงแต่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สิ่งที่เป็นกามคุณกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ขณะที่นึกถึงสิ่งที่เป็นอกุศล ขณะนั้นสรณคมน์คงจะไม่มี

    สุ. คนละขณะจิต แต่ยังเป็นผู้ที่มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เพราะไม่ใช่ว่าเมื่อถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะแล้วกิเลสจะดับได้ทันที แต่การถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะแสดงว่า เป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติตามเพื่อถึงโลกุตตรสรณคมน์

    . วันหนึ่งๆ ไม่ค่อยจะได้นึกถึง

    สุ. แต่ก็ยังไม่ได้ถึงศาสดาอื่นเป็นสรณะ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ยังไม่ขาด

    . ถือว่ายังไม่ขาด

    สุ. ยังไม่ขาด ต่อเมื่อใดรู้สึกว่า เจริญสติปัฏฐานไม่เห็นว่าได้ผลอะไรเลย หรือการรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนี้จะมีประโยชน์อะไร รู้สึกว่ายากเหลือเกิน ผลไม่เห็น สู้นับถืออย่างอื่นไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น เมื่อใดที่มอบตนแก่ศาสดาอื่น เมื่อนั้นชื่อว่าสรณคมน์ขาด แต่ถ้าตราบใดยังเป็นผู้เห็นพระคุณของพระรัตนตรัย และน้อมประพฤติปฏิบัติตามเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะไม่ใช่ว่าเมื่อถึงสรณคมน์แล้วกิเลสขาดหมด แต่ต้องประพฤติปฏิบัติตามด้วยความรอบคอบจริงๆ ด้วยการไม่มีบุคคลอื่นเป็นศาสดา

    . การที่เรานับถือพระรัตนตรัย แต่เราไม่ได้นึกถึง เพราะว่าโดยปกติเราเพลิดเพลินไปตามอารมณ์ คือ มีอกุศลจิตเกิดตลอดเวลา ก็ถือว่าไตรสรณคมน์ ยังไม่ขาด

    สุ. ข้อสำคัญที่จะต้องพิจารณา คือ ยังนับถืออยู่หรือเปล่า ถ้ายังนับถืออยู่ ยังไม่มีบุคคลอื่นเป็นสรณะ ก็ยังเป็นผู้ที่มีไตรสรณคมน์

    . ก็ยังกราบไหว้อยู่ ไหว้พระสวดมนต์ทุกเช้า ทุกเย็น แต่เวลาไหว้โดยมากจิตไม่ค่อยได้น้อมไปในพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณสักเท่าไร จิตจะฟุ้งซ่านไปในเรื่องอื่นๆ มากกว่า อย่างนี้ก็ยังถือว่าไม่ขาด

    สุ. ผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์มีหลายประเภทจริงๆ บางท่านได้ฟังพระธรรม แต่ ไม่เชื่อ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังเชื่อ ก็ยังชื่อว่าถึงไตรสรณคมน์ แม้ว่าวันหนึ่งๆ จะมีกิเลสมากก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่มีศาสดาอื่นเป็นสรณะ ก็ยังถือว่าเป็นผู้ที่มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะคมน์

    . ตราบใดที่ยังไม่ได้ปฏิญาณตนนับถือศาสดาอื่น ก็ยังถือว่ามีสรณคมน์อยู่

    สุ. และต้องไม่หมิ่นพระผู้มีพระภาคด้วย คิดว่าเหมือนคนธรรมดาๆ สอนเรื่องธรรมดาๆ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่มีความหมายของคำว่า เป็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย

    . การถึงไตรสรณคมน์ ผมคิดว่าเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ในข้อ ๓ ภาวนามัย

    สุ. ถ้ากล่าวถึงบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ เป็นข้อทิฏฐุชุกรรม

    ถ. ผมอยากทราบ คำว่า ดิรัจฉานคาถา

    สุ. คือพูดเรื่องซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ทำให้กุศลเจริญขึ้น ที่จะทำให้รู้แจ้ง อริยสัจธรรม

    . ผมนึกว่าเป็นคาถาที่ท่องกัน

    สุ. ไม่ใช่ เป็นการพูดถึงสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ วันหนึ่งๆ พูดบ้างหรือเปล่า

    . บ่อย

    สุ. ก็ถูกต้องแล้ว ถูกต้องในข้อที่ว่า รู้ว่าดิรัจฉานกถาคืออะไร

    . แต่ผมไม่ทราบคำนี้เวลาที่เขาเรียกเป็นบาลี

    สุ. คือคำพูดที่ไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นปัจจัยให้กุศลหรือปัญญาเจริญขึ้น

    . ผมฟังวิทยุเมื่อคืนนี้ที่อาจารย์บอกว่า พันปีแรกมีพระอรหันต์ปฏิสัมภิทา พันปีที่สองมีพระอรหันต์สุกขวิปัสสกะ และตอนนี้พันปีที่สาม ใช่ไหม

    สุ. ไม่ใช่สมัยของพระอรหันต์แล้ว เป็นสมัยของพระอนาคามีบุคคล

    . ที่ไปลือกันว่าเป็นพระอรหันต์ ก็ไม่มีใช่ไหม

    สุ. สำคัญที่ข้อปฏิบัติด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะพระอรหันต์ ถ้ามีคนบอกว่า คนนั้นเป็นพระโสดาบัน ยังไม่ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์ คนนั้นเป็นพระสกทาคามี หรือว่าคนนั้นเป็นพระอนาคามี จะเชื่อไหม ถ้าเขาบอกว่า สมัยนี้ไม่ใช่สมัยของ พระอรหันต์ ถ้าอย่างนั้นคนนี้เป็นพระอนาคามีบุคคล คนนั้นเป็นพระสกทาคามีบุคคล คนนั้นเป็นพระโสดาบันบุคคล จะเชื่อไหม ถ้ามีคนบอกอย่างนั้น

    . คงไม่ค่อยเชื่อ

    สุ. ยังไม่ต้องเชื่อ เพราะถ้ายังไม่รู้หนทางปฏิบัติที่จะทำให้เป็น พระอริยบุคคลจะเชื่อได้อย่างไร ใช่ไหม ถ้ารู้หนทางปฏิบัติที่จะทำให้เป็น พระอริยบุคคลแล้วก็พิจารณาได้ว่า สมัยนี้ยังจะมีพระอนาคามีบุคคล พระสกทาคามีบุคคล พระโสดาบันบุคคลไหม

    . ในทางปฏิบัติ สำหรับในไทยของพวกเรา เราควรศึกษาลัทธินิกายของเถรวาท หรือศึกษานิกายของมหายาน อาจารย์มีความเห็นอย่างไร

    สุ. เป็นชื่อทั้งนั้น ใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นมหายานหรือเถรวาทก็คือชื่อ เพราะฉะนั้น คำสอนจริงๆ สอนเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าสอนเรื่องจิตซึ่ง เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ไม่ใช่ตัวตน ถูกหรือผิด สอนเรื่องเจตสิก สภาพธรรมซึ่งเกิดกับจิต เช่น โลภะบ้าง โทสะบ้าง ซึ่งมีจริง ถูกหรือผิด สอนเรื่องรูปซึ่งเป็นอนัตตา มีลักษณะที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายแต่ละรูป ถูกหรือผิด โดยที่ไม่ต้องใช้ชื่อว่า เถรวาทหรือมหายาน

    . หมายความว่า ทางไหนก็ได้ ใช่ไหม

    สุ. ถ้าเอาชื่อออก อย่างเช่น พูดถึงเรื่องการเห็นไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย จะต้องกล่าวว่า นี่เป็นเถรวาท หรือว่า นี่เป็นมหายานไหม

    พูดถึงเรื่องการเห็น ในขณะที่กำลังเห็น ไม่จำเป็นต้องกล่าวว่าเถรวาทหรือมหายาน เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรม คือรู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง และทรงตรัสรู้สภาพของปรมัตถธรรมทั้ง ๔ คือ ทั้งจิต ทั้งเจตสิก ทั้งรูป ทั้งนิพพาน ทั้ง ๓ ปิฎกเป็นเรื่องของสภาพธรรมทั้งนั้น จึงไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า เถรวาทหรือมหายาน ถ้าเป็นเรื่องนี้

    แต่ถ้าเป็นเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม ซึ่งไม่ใช่เรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะใช้ชื่อว่าอะไรก็แล้วแต่ ควรศึกษาไหม ในเมื่อไม่ได้พูดถึงสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏเพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมที่จะรู้ว่าเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจากการตรัสรู้ของพระองค์ คือ การฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริงและที่กำลังปรากฏ จนเพิ่มความเข้าใจขึ้น จนถึงขั้นที่สามารถอบรมเจริญปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของ สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงได้

    สำหรับอกุศลจิตซึ่งมี ๑๒ ดวง เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบากจิต ๗ ดวง ได้แก่

    จักขุวิญญาณที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑ ดวง

    โสตวิญญาณที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑ ดวง

    ฆานวิญญาณที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑ ดวง

    ชิวหาวิญญาณที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑ ดวง

    กายวิญญาณที่เกิดร่วมกับทุกขเวทนา ๑ ดวง

    สัมปฏิจฉันนจิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑ ดวง

    สันตีรณจิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑ ดวง

    สำหรับอกุศลวิบากจิต ๗ ดวง เกิดได้ทุกภูมิที่มีขันธ์ ๕ มีเหตุปัจจัยที่จะให้อกุศลวิบากดวงหนึ่งดวงใดเกิดขึ้นเมื่อไร อกุศลวิบากดวงนั้นก็เกิดขึ้น โดยเป็นผลของอกุศลกรรม

    ถ้าพิจารณาโดยเวทนาที่เกิดร่วมกับอกุศลวิบาก ๗ ดวงนี้ จะเห็นได้ว่า อกุศลวิบากที่เป็นทุกข์จริงๆ ที่ทำให้เกิดทุกขเวทนานั้น ได้แก่ กายวิญญาณ ๑ ดวงเท่านั้น เพราะว่าในขณะที่จักขุวิญญาณเกิดเห็นสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ไม่ใช่ทุกขเวทนา

    ในขณะที่ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ ได้ยินกันบ่อยๆ ใช่ไหม เสียงดัง เสียงซึ่ง ไม่เพราะหู ในขณะนั้น ถ้าไม่มีอกุศลกรรมเป็นปัจจัย อกุศลวิบากก็เกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้นไม่ได้ แต่เมื่ออกุศลกรรมเป็นปัจจัยทำให้โสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินเสียงที่ไม่ดี โสตวิญญาณเกิดกับอุเบกขาเวทนาก็ไม่น่าจะเป็นทุกข์ ใช่ไหม เสียงที่ไม่ดีเกิดขึ้นปรากฏเท่านั้นเอง เวทนาที่กำลังได้ยินเสียงนั้นก็เป็นอุเบกขาเวทนา เพราะฉะนั้น ผลของอกุศลกรรม เพียงทำให้โสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินเสียงที่ไม่ดี

    ทางจมูก เวลาที่ได้กลิ่นไม่ดี ฆานวิญญาณเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ทางลิ้น เวลาที่ลิ้มรสที่ไม่ดี ชิวหาวิญญาณเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ไม่น่าที่จะเป็นทุกข์เดือดร้อนเลยถ้าไม่มีกิเลส เพราะถ้าเป็นพระอรหันต์ที่ดับกิเลสหมด จะไม่เดือดร้อนหวั่นไหวกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่กระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ จักขุวิญญาณเกิดกับอุเบกขาเวทนาก็เดือดร้อน ไม่ชอบในสิ่งที่เห็น โสตวิญญาณเกิดกับอุเบกขาเวทนา ได้ยินเสียงซึ่งไม่น่าพอใจ เมื่อยังมีกิเลสก็เดือดร้อนไม่พอใจ

    เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า อกุศลวิบากที่ให้ผลเป็นทุกข์จริงๆ ที่เกิดร่วมกับทุกขเวทนานั้น มีเพียงดวงเดียว คือ กายวิญญาณอกุศลวิบากเท่านั้น

    . อกุศลวิบากจิต เดือดร้อนทางกายเท่านั้น เนื่องจากทางกายกระทบกับมหาภูตรูปซึ่งเป็นสิ่งที่แข็งกว่า จึงทำให้มีทุกข์ ส่วนอกุศลวิบากจิตทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นเท่านั้น ไม่เดือดร้อน เพราะว่าเป็นการกระทบกันของอุปาทายรูป

    สุ. เวทนาเป็นอุเบกขา เพราะว่าอุปาทายรูปกระทบกับอุปาทายรูป จึงไม่เป็นปัจจัยให้ทุกขเวทนาเกิด

    . ไม่เดือดร้อน

    สุ. ไม่ใช่ทุกขเวทนา แต่ถ้ายังมีกิเลสอยู่ เห็นสิ่งที่ไม่พอใจก็เดือดร้อน ได้ยินเสียงที่ไม่พอใจก็เดือดร้อน ได้กลิ่นที่ไม่น่าพอใจก็เดือดร้อน ลิ้มรสที่ไม่น่าพอใจ ก็เดือดร้อน เดือดร้อนไปหมด ซึ่งถ้าพิจารณาจริงๆ แล้ว น่าจะเดือดร้อนน้อยลง เสียเวลา เพราะว่าไม่ใช่ทุกขเวทนา เป็นเพียงอุเบกขาเวทนาเท่านั้นที่เกิดกับ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ

    . แต่ทางกายที่เดือดร้อนเนื่องจากว่า กระทบกับ

    สุ. มหาภูตรูป

    สำหรับอกุศลกรรมที่ทุกคนมี ไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว แม้ใน อดีตอนันตชาติมาแล้ว ไม่สูญหาย เมื่อถึงขั้นที่สำเร็จเป็นอกุศลกรรมบถที่ครบองค์ ย่อมเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้ แม้ว่าเป็นกรรมที่ได้กระทำมาแล้วแสนโกฏิกัปป์ ก็ตาม ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม เวลาที่ใกล้จะตาย จะทำให้อกุศลจิตเกิด

    สำหรับขณะที่ใกล้จะตาย แบ่งออกเป็น ๒ กาล คือ มรณาสันนกาล ๑ และมรณาสันนวิถี ๑

    มรณาสันนกาล คือ เวลาใกล้จะตาย แต่ไม่ใช่ชวนวิถีจิต ๕ ขณะสุดท้าย ก่อนจุติจิตจะเกิด เพราะฉะนั้น มรณาสันนกาลอาจจะมีสภาพของจิตที่เป็นกุศลหรือที่เป็นอกุศลปรากฏให้รู้ได้ แต่สำหรับมรณาสันนวิถี ๕ ขณะจิตก่อนจุติจิตจะเกิดนั้น ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้เลยว่า เป็นผลของกรรมอะไรในชาติไหน เพราะว่าทุกคนก็หวังที่จะให้กุศลกรรมหนึ่งกุศลกรรมใดในชาตินี้ให้ผล แต่อกุศลกรรมที่ได้ทำมาแล้ว ไม่ใช่แต่เฉพาะในชาตินี้ชาติเดียว ในชาติก่อนๆ ก็สามารถเป็นอุปนิสสยปัจจัย เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย เป็นชนกกรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด

    ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม จิตจะเศร้าหมอง เพราะว่าอกุศลกรรมที่เป็น ชนกกรรมทำให้อารมณ์ปรากฏ ทำให้ชวนวิถีจิต ๕ ขณะสุดท้ายก่อนจะตายเป็นอกุศลถ้าเป็นการนึกถึงกรรมที่ได้กระทำแล้วในชาตินี้ ขณะนั้นชื่อว่ามรณาสันนวิถีนั้น มีกรรมเป็นอารมณ์ ชื่อว่ากรรมอารมณ์ เวลาที่จุติจิตดับ และปฏิสนธิจิตเกิดต่อ จะเป็นอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ โดยมีอารมณ์เดียวกับชวนวิถี ๕ ขณะสุดท้ายก่อนจุติ

    ถ้าในขณะนั้นไม่ได้คิดถึงกรรม แต่มีนิมิตของทุคติที่จะเกิด อาจจะเห็นเป็น ไฟนรกทางมโนทวาร ขณะนั้นก็เป็นคตินิมิตอารมณ์ เวลาที่จุติจิตดับ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ ก็มีอารมณ์เดียวกับอารมณ์ที่เป็นคตินิมิต

    ถ้าเป็นการเห็นภาพของกรรม อาจจะเห็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการกระทำอกุศลกรรมนั้น ขณะนั้นก็มีกรรมนิมิตเป็นอารมณ์ เวลาที่จุติจิตดับ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากก็ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิหนึ่ง แล้วแต่ว่าจะเกิดในนรก หรือว่าเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์ดิรัจฉาน โดยมีอารมณ์เดียวกับมรณาสันนวิถี ๕ ขณะก่อนจุติจิต ซึ่งไม่มีใครสามารถจะรู้ได้เลย เวลาที่เป็นมรณาสันนกาลก็ยังพอที่จะรู้ได้ แต่ในมรณาสันนวิถีจริงๆ แล้วแต่กรรมหนึ่งกรรมใดจะเป็นชนกกรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดต่อ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๔ ตอนที่ ๑๔๓๑ – ๑๔๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 90
    28 ธ.ค. 2564