แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1435
ครั้งที่ ๑๔๓๕
สาระสำคัญ
เรื่องกรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ และคตินิมิตอารมณ์
องฺ.เอก. -การกลับมาเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ของง่าย
กัมมัสสกตาญาณ เป็นผู้ที่เชื่อในเรื่องกรรม
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๘
สำหรับกรรมอารมณ์ คือ การนึกถึงกรรม ย่อมเกิดได้ทางมโนทวาร คตินิมิตอารมณ์ คือ การเห็นนิมิตของคติที่จะไป ปรากฏได้ทางมโนทวาร แต่สำหรับอารมณ์อื่นนอกจากนี้ทั้งหมดเป็นกรรมนิมิตอารมณ์ คือ เป็นนิมิตของกรรมหนึ่ง กรรมใดที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด อาจจะเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เห็นและดับไป ขณะนั้นก็เป็นกรรมนิมิตอารมณ์ทางตา ในขณะที่ได้ยินเสียงหนึ่งเสียงใด โสตทวารวิถีดับไปแล้วจุติจิตเกิด ขณะนั้นก็มีเสียงนั้นเป็นกรรมนิมิตอารมณ์ จะเป็นกลิ่นก็ได้ เป็นรสก็ได้ เป็นโผฏฐัพพะก็ได้
เพราะฉะนั้น สำหรับกรรมนิมิตอารมณ์ อารมณ์ใดก็ตามที่ไม่ใช่การคิดถึงกรรมซึ่งเป็นกรรมอารมณ์ ไม่ใช่คตินิมิตอารมณ์ เป็นกรรมนิมิตอารมณ์ทั้งหมด
กรรมนิมิตอารมณ์ปรากฏได้ทั้ง ๖ ทวาร อาจจะเป็นอารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ได้ ซึ่งเลือกไม่ได้เลย
ถ. กรรมนิมิตอารมณ์จะเป็นสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็ได้ ใช่ไหม
สุ. ได้ เพราะฉะนั้น บางคนกำลังเห็นอยู่ พอจักขุทวารวิถีจิตดับหมดแล้ว จุติจิตก็เกิด เพราะฉะนั้น ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์
ถ. ถ้าในขณะที่จะตาย ในขณะนั้นไม่ได้มีการเจริญสติปัฏฐาน สีจะปรากฏในขณะนั้นได้ไหม คือ ไม่มีจิตที่จะระลึกรู้ว่าเป็นสีจริงๆ
สุ. เวลานี้เห็น เมื่อจักขุทวารวิถีจิตดับแล้วจุติจิตเกิดต่อได้ทันที แต่ยังไม่เกิด เพราะว่ากรรมยังไม่ทำให้จุติจิตเกิด ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็เห็นกันต่อไป ได้ยินกันต่อไป คิดนึกกันต่อไป แต่ในขณะที่เห็น และจักขุทวารวิถีจิตดับ จุติจิตเกิดต่อได้
ถ. ในขณะที่เห็นแล้ว อย่างในขณะนี้ก็เห็นเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ และถ้าตายลงในขณะนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าสีปรากฏเวลาใกล้จะตาย เพราะว่าเห็นเป็นรูปร่างสัณฐานปรากฏในขณะที่ใกล้จะตาย ใช่ไหม
สุ. ขณะนั้นเป็นมโนทวารวิถี ซึ่งมีรูปารมณ์ต่อจากจักขุทวารวิถีเป็นอารมณ์ได้ทั้ง ๖ ทวาร
ถ. กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ และคตินิมิตอารมณ์ ที่จะปรากฏกับ ชวนะ ๕ วิถีสุดท้ายนั้น ก็เนื่องจากชนกกรรมทำให้ปรากฏ ใช่ไหม
สุ. ใช่
ถ. และกรรมอารมณ์ คือ ตัวเจตนาเจตสิกใช่ไหม
สุ. กรรมอารมณ์เป็นอารมณ์ ขณะที่จิตนึกถึงกรรม เพราะฉะนั้น ต้องเป็นทางมโนทวารวิถี ต้องเป็นทางมโนทวาร
ถ. องค์ธรรมเป็นเจตนาเจตสิก ใช่ไหม
สุ. อกุศลจิตเกิดเพราะระลึกถึงกรรม โดยมีกรรมเป็นอารมณ์ จึงเป็นทางมโนทวาร
ถ. ในมรณาสันนกาลกับมรณาสันนวิถี มีอารมณ์เดียวกันได้ไหม
สุ. ได้
ถ. จะต่างกันก็ได้ ใช่ไหม
สุ. ต่างกันก็ได้ อารมณ์เดียวกันก็ได้ เพราะว่าอารมณ์ของมรณาสันนวิถีจริงๆ ไม่มีใครสามารถรู้ได้เลย
ถ. แต่อารมณ์ที่ปรากฏในขณะมรณาสันนกาล คือ เวลาใกล้จะตาย เจ็บหนัก อารมณ์ปรากฏอย่างใดอย่างหนึ่ง สมมติว่าสัททารมณ์เกิด ได้ยินเสียงอะไรก็แล้วแต่ อารมณ์นั้นอาจจะเกิดได้ในมรณาสันนวิถี
สุ. ปรากฏได้กับมรณาสันนวิถีจิต เพราะว่ามรณาสันนวิถีจิตหมายความถึงชวนวิถีสุดท้าย ๕ ขณะก่อนจุติจิต แต่มรณาสันนกาล หมายความถึงเวลาใกล้จะตาย แต่ไม่ใช่มรณาสันนวิถี ๕ ขณะจิตนั้น
ถ. อาจารย์บอกว่า ในมรณาสันนกาลก็ดี มรณาสันนวิถีก็ดี ไม่มีทางที่จะทราบได้
สุ. มรณาสันนกาลยังอาจจะทราบได้ แต่มรณาสันนวิถีไม่มีทางรู้ได้เลย
ถ. ก่อนที่ธัมมิกอุบาสกจะถึงมรณาสันนวิถี ก่อนหน้านั้นมีทายาทไปนิมนต์พระมาสวด และธัมมิกอุบาสกสามารถเห็นรถของเทวดาทั้ง ๖ ชั้นมา แต่คงจะไม่ได้เกิดจากการได้ฟังการสวดมนต์
สุ. ไม่มีใครจะรู้ได้ว่า ขณะจะตายจริงๆ จะมีสภาพการณ์อย่างไร จะมีเสียงพระสวดหรือว่าจะเห็นดอกบัว หรือว่าจะอะไรก็แล้วแต่ ไม่มีใครสามารถรู้ได้
ถ. เหตุที่มีคตินิมิตอาของธัมมิกอุบาสก คงไม่ได้เกิดจากการสวดมนต์ก็ได้
สุ. ถ้าเป็นกรรมนิมิตอารมณ์ คือ เมื่อเห็นทางจักขุทวารวิถี เห็นสิ่งซึ่งทำให้กุศลจิตเกิด จิตผ่องใส เมื่อจักขุทวารวิถีจิตดับ จุติจิตเกิดต่อ นั่นคือมีกรรมนิมิตเป็นอารมณ์ แต่ถ้ามีคตินิมิตเป็นอารมณ์ จะต้องเห็นทางมโนทวาร ซึ่งในขณะนั้นไม่มีใครรู้ได้ว่า มรณาสันนวิถี ๕ ขณะของธัมมิกอุบาสกมีอะไรเป็นอารมณ์ แต่รู้ได้ว่า เป็นผลของกุศลกรรม เพราะว่ามีผู้ที่แสดงไว้ว่าธัมมิกอุบาสกเกิดที่ไหน
เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่เจริญกุศลอยู่เรื่อยๆ เห็นสิ่งใดก็เป็นกุศล เวลาใกล้จะตายจริงๆ การสะสมกุศลนั้นอาจทำให้จิตผ่องใสได้ แต่ไม่มีใครสามารถบอกได้จริงๆ ว่า เมื่อจากโลกนี้แล้วจะไปสู่ที่ไหน และจะมีอารมณ์อะไร
สัตว์ดิรัจฉานก็เกิดเป็นมนุษย์ได้ ทุกคนก็คงสงสัยใช่ไหมว่า กรรมอะไรทำให้สัตว์ดิรัจฉานเกิดเป็นมนุษย์ ก็ต้องมีอดีตกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วนั่นเองเป็นปัจจัย และสำหรับมนุษย์ที่ไปเกิดในอบายภูมิ ก็ต้องเป็นผลของอกุศลกรรมนั้นเองเป็นปัจจัย
ในขณะที่เป็นวิถีจิต ระหว่างที่กำลังเป็นวิถีจิตทางทวารหนึ่งทวารใดนั้น จุติจิตเกิดไม่ได้เลย เพราะว่าจุติจิตเป็นวิถีมุตตจิต เป็นทวารวิมุตตจิต เช่นเดียวกับ ปฏิสนธิจิตและภวังคจิต เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเห็นเป็นจักขุวิญญาณ เป็นสัมปฏิจฉันนะ เป็นสันตีรณะ เป็นชวนะ จะเป็นจุติจิตไม่ได้ หลังจากที่วิถีจิตทั้งหมดดับแล้ว จุติจิตจึงจะเกิดได้
เพราะฉะนั้น จุติจิตเกิดหลังจากที่ชวนจิตดับแล้วก็ได้ หลังจากที่ตทาลัมพนจิตซึ่งเป็นวิถีจิตต่อจากชวนจิตดับแล้วก็ได้ หรือว่าเมื่อวิถีจิตดับแล้ว ภวังคจิตเกิดต่อ จุติจิตเกิดต่อจากภวังคจิตก็ได้ ซึ่งเป็นไปอย่างเร็วมาก
อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ข้อ ๒๐๕
มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ที่เกิดบนบกมีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่เกิดในน้ำมากกว่าโดยแท้
นี่ก็ภพภูมิหนึ่งภูมิใดซึ่งแต่ละท่านอาจจะไปสู่ก็ได้ ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาท
สัตว์ที่กลับมาเกิดในมนุษย์มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่กลับมาเกิดในกำเนิดอื่นจากมนุษย์มากกว่าโดยแท้ สัตว์ที่เกิดในมัชฌิมชนบทมีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่เกิดใน ปัจจันตชนบท ในพวกชาวมิลักขะที่โง่เขลามากกว่าโดยแท้ สัตว์ที่มีปัญญา ไม่โง่เง่า ไม่เงอะงะ สามารถที่จะรู้อรรถแห่งคำเป็นสุภาษิตและคำเป็นทุพภาษิตได้มีเป็น ส่วนน้อย สัตว์ที่เขลา โง่เง่า เงอะงะ ไม่สามารถที่จะรู้อรรถแห่งคำเป็นสุภาษิตและคำเป็นทุพภาษิตได้มากกว่าโดยแท้ สัตว์ที่ประกอบด้วยปัญญาจักษุอย่างประเสริฐ มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ตกอยู่ในอวิชชาหลงใหลมากกว่าโดยแท้
สัตว์ที่ได้เห็นพระตถาคตมีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่ได้เห็นพระตถาคตมากกว่าโดยแท้ สัตว์ที่ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศไว้มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศไว้มากกว่าโดยแท้ สัตว์ที่ได้ฟังธรรมแล้วทรงจำไว้ได้ มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ได้ฟังธรรมแล้วทรงจำไว้ไม่ได้มากกว่าโดยแท้ สัตว์ที่ไตร่ตรองอรรถแห่งธรรมที่ตนทรงจำไว้ได้มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่ไตร่ตรองอรรถแห่งธรรมที่ตนทรงจำไว้ได้มากกว่าโดยแท้
บางท่านจำได้ นามธรรม รูปธรรม จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ จำชื่อได้ แต่ สัตว์ที่ไม่ไตร่ตรองอรรถแห่งธรรมที่ตนทรงจำไว้ได้มากกว่าโดยแท้
สัตว์ที่รู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรมแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่รู้ทั่วถึงอรรถ ไม่รู้ทั่วถึงธรรม แล้วปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรม มากกว่าโดยแท้ สัตว์ที่สลดใจในฐานะที่ตั้งแห่งความสลดใจมีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่สลดใจในฐานะที่ตั้งแห่งความสลดใจมากกว่าโดยแท้ สัตว์ที่สลดใจเริ่มตั้งความเพียรโดยแยบคายมีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่สลดใจไม่เริ่มตั้งความเพียรโดยแยบคายมากกว่าโดยแท้ สัตว์ที่กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้วได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต มีเป็น ส่วนน้อย สัตว์ที่ได้กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้วไม่ได้สมาธิ ไม่ได้เอกัคคตาจิตมากกว่าโดยแท้ สัตว์ที่ได้ข้าวอันเลิศและรสอันเลิศมีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่ได้ข้าว อันเลิศและรสอันเลิศ ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการแสวงหาด้วยภัตที่นำมาด้วยกระเบื้องมากกว่าโดยแท้ สัตว์ที่ได้อรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่ได้อรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส มากกว่าโดยแท้
เปรียบเหมือนในชมพูทวีปนี้ มีสวนที่น่ารื่นรมย์ มีป่าที่น่ารื่นรมย์ มีภูมิประเทศที่น่ารื่นรมย์ มีสระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์เพียงเล็กน้อย มีที่ดอน ที่ลุ่ม เป็นลำน้ำ เป็นที่ตั้งแห่งตอและหนาม มีภูเขาระเกะระกะเป็นส่วนมาก ฉะนั้น เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ได้อรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ
ยากจริงๆ ใช่ไหม โดยพระธรรมที่ทรงแสดงจะเห็นได้ว่า การกลับมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้ไม่ใช่ของง่าย เพราะว่าชีวิตในวันหนึ่งๆ อกุศลจิตเกิดมากกว่ากุศลจิต แต่อย่างไรก็ตามถ้าเป็นเพียงอกุศลจิต ยังไม่ถึงอกุศลกรรม ก็เพียงแต่สะสมเป็นอุปนิสัยทำให้มีความพอใจมากมายทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยง่าย หรือทำให้เป็นผู้ที่เจ้าโทสะ ผู้ที่ริษยา หรือมีความตระหนี่มาก ซึ่งนั่นเป็นอกุศลจิตที่ยังไม่ใช่ขั้นอกุศลกรรม แต่ถ้าเป็นอกุศลกรรม ก็ทำให้อกุศลวิบากจิตเกิดได้ ๗ ดวง
ข้อ ๒๐๖
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ที่จุติจากมนุษย์กลับมาเกิดในมนุษย์และในเทพยดา มีเป็นส่วนน้อย
ทุกคนที่เป็นมนุษย์ก็หวังจะได้เกิดเป็นมนุษย์อีก หรือมิฉะนั้นก็เกิดในสวรรค์ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
... สัตว์ที่จุติจากมนุษย์กลับมาเกิดในมนุษย์และในเทพยดามีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปเกิดในนรก เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เกิดในปิตติวิสัย มากกว่าโดยแท้
แม้ว่าใครมีกุศลกรรมที่ทำให้เกิดในสวรรค์แล้ว ก็ไม่เที่ยง ก็ยังจะต้องจุติ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
สัตว์ที่จุติจากเทพยดากลับมาเกิดในเทพยดาและในมนุษย์มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่จุติจากเทพยดาไปเกิดในนรก เกิดในกำเนิดดิรัจฉาน เกิดในปิตติวิสัย มากกว่าโดยแท้
ถ้าเป็นผลของการอบรมเจริญความสงบถึงขั้นฌานจิต ทำให้บุคคลนั้นเกิดเป็นรูปพรหมภูมิ เมื่อจุติจากรูปพรหมภูมิจะไม่เกิดในอบายภูมิทันที แต่จะเกิดในสุคติภูมิ ซึ่งไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ได้ เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตก็ประกอบด้วยเหตุ ๒ คือ อโลภเหตุและอโทสเหตุ เป็นทวิเหตุกบุคคล หรือเป็นผู้ที่ประกอบด้วยปัญญา คือ ประกอบด้วยเหตุ ๓ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ เป็นติเหตุกบุคคล
สำหรับผู้ที่จุติจากพรหมโลก จะไม่เกิดในอบายภูมิทันที แต่ผู้ที่จุติจากความมนุษย์ หรือจากสวรรค์ จะเกิดในอบายภูมิทันทีได้
สำหรับอรูปพรหมบุคคล เวลาจุติจากอรูปพรหมบุคคล ถ้าไม่ปฏิสนธิในอรูปภูมิขั้นสูงขึ้นไป ก็จะปฏิสนธิในกามสุคติภูมิ เป็นติเหตุกบุคคล คือ ปฏิสนธิจิตประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตนั้นก็ประกอบด้วยอโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ
เพราะฉะนั้น ทุกท่านที่ยังไม่ได้เจริญความสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิซึ่งเป็น ฌานจิต ก็ยังมีปัจจัยทำให้เกิดในอบายภูมิเมื่อจุติจากมนุษย์หรือจุติจากสวรรค์ สำหรับสัตว์ที่จุติจากนรก ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
สัตว์ที่จุติจากนรก ดิรัจฉาน ปิตติวิสัยกลับมาเกิดในมนุษย์และเทพยดา มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่จุติจากนรกไปเกิดในนรก เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เกิดใน ปิตติวิสัย มากกว่าโดยแท้
เปรียบเหมือนในชมพูทวีปนี้ มีสวนที่น่ารื่นรมย์ มีป่าที่น่ารื่นรมย์ มีภูมิประเทศที่น่ารื่นรมย์ มีสระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์เพียงเล็กน้อย มีที่ดอน ที่ลุ่ม เป็นลำน้ำ เป็นที่ตั้งแห่งตอและหนาม มีภูเขาระเกะระกะเป็นส่วนมากโดยแท้ ฉะนั้น ฯ
น่ากลัวไหม ประมาทไม่ได้เลยจริงๆ แต่ถ้าเป็นผู้ที่สะสมบุญอยู่สม่ำเสมอ เรื่อยๆ ก็มีโอกาสที่จะทำให้สุคติพอหวังได้ เป็นที่หวังได้ เหมือนกับการเกิดในชาตินี้ ในภูมิมนุษย์ ซึ่งต้องเป็นผลของกุศล เป็นผลของกุศลกรรมหนึ่ง และก็ยากแสนยาก ที่จะทำให้เกิดในภูมิมนุษย์ แต่ทุกท่านก็ได้เกิดมาแล้วเป็นมนุษย์ด้วยผลของกุศลกรรม
เพราะฉะนั้น มีโอกาสสำหรับผู้ที่อบรมเจริญกุศลกรรม โดยเฉพาะในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ย่อมเป็นปัจจัยทำให้สุคติเป็นที่หวังได้ แต่ไม่แน่ จนกว่าจะเป็นพระอริยบุคคล
ถ. ทำไมเมื่อจุติจากพรหมภูมิแล้วไม่ไปอบายภูมิทันที ทั้งๆ ที่ไม่บังเกิด ในพรหมภูมิอีกเพราะฌานเสื่อม
สุ. เป็นผู้ที่สามารถระงับความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเท่ากับระงับอกุศลกรรมได้มาก ใช่ไหม เพราะว่าผู้ที่ยังมีกิเลสมาก และไม่ได้อบรมเจริญความสงบที่เป็นกุศลถึงขั้นฌานจิต จะเห็นได้ว่า จิตใจหวั่นไหวไปตามอารมณ์ที่ปรากฏ แม้จะรู้ว่าเมตตาเป็นสิ่งที่ดี แต่เวลาเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจหรือบุคคลที่ไม่ชอบ เมตตาก็เกิดไม่ได้ทั้งๆ ที่รู้ว่าดี แต่ผู้ที่อบรมเจริญความสงบถึงขั้นฌานจิต กุศลจิตต้องเกิดบ่อยจนกระทั่งมีกำลัง เป็นความสงบที่มั่นคงประกอบด้วยสมาธิขั้นต่างๆ จนถึงสมาธิที่แนบแน่น และต้องไม่เสื่อมด้วย จึงสามารถเกิดในพรหมโลกได้ แต่ถ้ามีอกุศลกรรมที่มีกำลังมาตัดรอน ทำให้ฌานจิตนั้นเสื่อม ก็ไม่สามารถเกิดในพรหมโลกได้ เพราะฉะนั้น ก็จะเกิดในกามสุคติภูมิ หรือว่าอบายภูมิได้
ถ. อกุศลกรรมที่มาตัดรอนทำให้ฌานเสื่อมนั้น อย่างเช่น โทสะ ได้ไหม
สุ. อย่างท่านพระเทวทัต ความริษยา
ถ. แต่ทำไมโทสะซึ่งเป็นอกุศลกรรมไม่สามารถส่งผลให้เกิดในอบายภูมิได้
สุ. ถ้าฌานเสื่อม หมายความว่า ฌานไม่เกิดก่อนจุติ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ไปเป็นพรหมบุคคลอยู่แล้ว
ถ. แต่โทสะในขณะนั้นไม่ได้นำไปสู่อบายหรือ
สุ. ท่านพระเทวทัตเวลานี้ก็อยู่ในอบายภูมิอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่ได้ฌาน สามารถที่จะกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ได้ แต่อกุศลกรรมเป็นปัจจัยทำให้มรณาสันนวิถีเป็นอกุศลจิต เพราะฉะนั้น ก็เกิดในอบายภูมิ
ถ. แต่ท่านพระเทวทัตอยู่ในมนุษย์ภูมิ ไม่ได้เป็นพรหมบุคคล
สุ. กว่าจะได้ไปเกิดบนนั้น พรหมบุคคล ฌานจิตต้องไม่เสื่อมในครั้งที่เป็นมนุษย์
ถ. อรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส วิมุตติรสนี้คงหมายถึงพระนิพพาน
สุ. การหลุดพ้น การดับกิเลส
ถ. แต่อรรถรส ธรรมรส หมายถึงอะไร
สุ. อรรถโดยมากหมายถึงผล ธรรมหมายถึงเหตุ
ถ. หมายถึงการที่เราศึกษาธรรม และมีความเข้าใจ มีความซาบซึ้ง อย่างนี้ได้หรือเปล่า
สุ. และประพฤติปฏิบัติตามด้วย อย่างเรื่องของกรรม กัมมัสสกตาญาณ เป็นผู้ที่เชื่อในเรื่องของกรรม เพียงเรื่องใช่ไหม แต่ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงในกัมมัสสกตาญาณจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงจะเป็นผู้ที่แน่ใจจริงๆ ว่า ที่เสียงกำลังปรากฏในขณะนี้ บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นผลของกรรม
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๔ ตอนที่ ๑๔๓๑ – ๑๔๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1381
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1382
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1383
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1384
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1385
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1386
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1387
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1388
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1389
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1390
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1391
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1392
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1393
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1394
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1395
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1396
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1397
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1398
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1399
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1400
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1401
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1402
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1403
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1404
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1405
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1406
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1407
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1408
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1409
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1410
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1411
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1412
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1413
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1414
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1415
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1416
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1417
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1418
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1419
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1420
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1421
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1422
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1423
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1424
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1425
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1426
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1427
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1428
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1429
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1430
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1431
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1432
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1433
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1434
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1435
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1436
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1437
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1438
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1439
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1440