แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1440
ครั้งที่ ๑๔๔๐
สาระสำคัญ
เห็นภัยในอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย
ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน
อส.อธิบายนิทเทสอินทริยอคุตตทวารตาทุกะ - เห็นรูปด้วยจักขุ
ธรรมทุกอย่างเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๒๘
ถ. ถ้าเรานั่งอยู่ ยุงกัด เงื้อมือจะตีนึกขึ้นมาได้ว่า เรากำลังจะฆ่าสัตว์ ใช้มือไล่ ก็เข้ามาอีก ก็พิจารณาว่า เขาคงหากินแต่ละมื้อด้วยชีวิตของเขา เราเพียง แค่เจ็บ แค่คัน ก็เดินหนีไปซะ ลักษณะนี้เป็นในขั้นศีล ใช่ไหม หรือจะล้างมือจำได้ว่าสบู่ก้อนนี้เป็นของเพื่อนเราเอง ก็ระลึกขึ้นได้ว่า ยังไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของ จะเป็นการลักทรัพย์เขาหรือเปล่า ไม่ควรทำ ควรจะบอกเขาก่อน ลักษณะอย่างนี้ถือว่าเป็นสติ ในขั้นศีล ใช่ไหม
สุ. ขณะที่กำลังยืนอยู่นี่ ไม่ใช่ตัวตน ใช่ไหม
ถ. ใช่
สุ. เป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรม ขณะนี้เป็นจิตอะไร กับขณะก่อนๆ โน้นที่ผ่านมาแล้ว ถ้าจะรู้ความจริง คือ ต้องรู้ในขณะนี้ แต่ถ้านึกถึงเรื่องเก่าๆ ก็คิดได้เหมือนกัน แต่ก็อย่างที่เรียนให้ทราบแล้วว่า ในขณะที่คิดเป็นไปในการให้ และรู้ว่าไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ต้องเป็นจิต เจตสิก และในขณะที่กำลังให้ ก็เป็นจิต เจตสิก รูป
คือ ทุกขณะต้องเป็นจิต เจตสิก รูปทั้งนั้น ขณะใดที่เป็นกุศลก็จะต้องมี สติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วแต่ว่าจะเป็นไปในทาน หรือเป็นไปในศีล หรือเป็นไปในความสงบของจิต หรือเป็นการระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้นเอง เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่เอาตัวตนออก และเป็นเพียงสภาพธรรม
ถ. ลักษณะต่อไป คือ หลังจากที่เลี้ยงพระ หรือสวดมนต์ พระกำลัง สวดมนต์ เราฟังพระสวดมนต์ เข้าใจบ้างเล็กๆ น้อยๆ เมื่อก่อนผมเคยนั่งสมาธิ ก็เกิดความตั้งมั่นขึ้น มีความแน่วแน่ ผมคิดว่าผมสงบ มีความตั้งมั่นมาก แต่ขณะที่นั่งอยู่นั้น มีคนข้างๆ มาเบียด ก็รู้สึกไม่พอใจ ขณะนั้นระลึกรู้ได้ว่า ขณะนี้โทสมูลจิตกำลังเกิดขึ้น หรือขณะที่คิดว่าเรากำลังมีความตั้งมั่น สงบอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นอย่างนี้ได้บ่อยๆ ก็ดี ขณะนั้นก็ระลึกรู้ได้ว่าเป็นโลภะ
ที่ผมฟังพระสวดมนต์ และระลึกรู้ได้ว่ามีโทสะ มีโลภะเกิดขึ้น แต่มิได้หมายความว่าระลึกรู้ได้ตลอดเวลา อาจหลงลืมสติไปบ้างในขณะที่ยินดีพอใจหรือโกรธ ลักษณะอย่างนี้จัดว่าเป็นสมาธิที่เป็นกุศล และประกอบด้วยปัญญาไหม
สุ. ขณะนั้นต้องรู้ด้วยตัวเอง ใช่ไหม
ถ. ขอทราบแนวทางไว้เป็น ...
สุ. ปัญญาเกิดหรือไม่เกิด คนอื่นรู้ไม่ได้เลย นอกจากขณะนั้นปัญญา กำลังเกิด บุคคลนั้นก็รู้ลักษณะของปัญญา เพราะว่าลักษณะของปัญญาปรากฏ ปัญญา คือ สภาพที่เข้าใจ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่มีความสงสัย ในขณะที่สงสัย ไม่ใช่ปัญญา
ถ. ผมเคยทำมิจฉาสมาธิมามาก ซึ่งขณะนั้นก็ไม่ได้คิดในเรื่องมิจฉาสมาธิหรือสัมมาสมาธิอะไร เมื่อสภาพธรรมนั้นหมดไปแล้ว จึงมาพิจารณาดูว่า ลักษณะอย่างนี้จะเป็นมิจฉาหรือสัมมา ถ้าอย่างนั้นก็ต้องรอให้เกิดใหม่
สุ. อกุศลจิตเกิดขณะใด เป็นมิจฉาสมาธิขณะนั้น
ถ. เวลาตักบาตร บางครั้งผมก็เอาเงินใส่ซองใส่บาตรไปด้วย แต่เนื่องจากพระผู้มีพระภาคได้ทรงบัญญัติว่า ไม่ให้พระภิกษุสงฆ์ยินดีในการรับเงินและทอง การกระทำของผมทำให้พระท่านต้องอาบัติไหม ผมไม่มีเจตนาที่จะให้ท่านต้องอาบัติ
สุ. ขณะใดที่พระภิกษุมีความยินดีในเงินและทอง ขณะนั้นเป็นอาบัติ
ถ. ผมควรจะใส่ต่อไปไหม หรือใส่เฉพาะภัตตาหาร
สุ. พยายามทำให้ถูกตามพระวินัย เพราะว่าเงินและทองนั้นเพื่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน เท่ากับสละความเพลินในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะแล้ว จากเพศฆราวาสสู่เพศบรรพชิต เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน โดยการปฏิบัติอย่างอื่นแล้ว ไม่สามารถจะละความยินดีในเงินและทองได้เลย
ผู้ที่เป็นบรรพชิตย่อมรู้จิตใจของตัวเอง ซึ่งคนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ยังมีความยินดีในเงินและทองอยู่หรือเปล่า และคนอื่นก็ละให้ไม่ได้ ต้องละด้วยตัวเอง
ถ. คณะสนทนาธรรมมีข้อสงสัยว่า ก่อนที่เราจะมาศึกษาธรรม ก็มีการทำกรรมต่างๆ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกามต่างๆ ทำไปโดยไม่ได้รู้ว่า มีบาปบุญคุณโทษอย่างไร หลังจากได้มาศึกษาธรรมแล้วก็ได้เริ่มรู้ว่า การทำอย่างนั้นเป็นบาป ผิดศีล จึงมีปัญหาว่า การกระทำก่อนศึกษาธรรม กับการกระทำหลังศึกษาธรรมแล้ว อย่างไหนจะเป็นบาปเป็นอกุศลมากกว่ากัน
สุ. แล้วแต่ขณะจิต ไม่ใช่ว่าเมื่อศึกษาธรรมแล้วจะไม่มีอกุศลที่มีกำลัง
ถ. ศึกษาธรรมแล้วก็ยังฆ่าสัตว์ ยังตบยุงอยู่ กับเมื่อก่อนนี้ไม่ได้ศึกษาธรรมเลย ก็ตบยุงเหมือนกัน
สุ. เดี๋ยวนี้ตบยุงหรือเปล่า
ถ. ก็ยังตบอยู่
สุ. เปรียบเทียบเองได้ว่ามีความรู้สึกอย่างไร
ถ. ตัวผมเองเข้าใจว่า เจตนาไม่เท่ากันแน่
สุ. ที่ว่าไม่เท่ากัน เข้าข้างตัวเองหรือเปล่า
ถ. คิดว่าไม่ได้เข้าข้างตัวเอง เมื่อก่อนถ้ายุงเกาะ ๑๐ ตัว ก็ไม่เหลือ ต้องตบกันจนหมดห้อง ถ้ายังรบกวนกันอยู่ ก็ต้องตบกันจนหมด เว้นแต่ตัวไหนจะหนีไปได้ แต่เดี๋ยวนี้จะเลือกที่จำเป็นจริงๆ เช่น ถ้ามันอยู่กับเราทั้งคืน เราจะนอนไม่ได้ ก็อาจจะต้องสักตัวสองตัว คือ มันผิดกัน
สุ. เข้าใจว่าขณะนั้นมีเจตนาที่มีกำลัง และมีความเพียรด้วย ในการที่จะฆ่ายุง มีอะไรที่จะแสดงให้เห็นว่า ลดลงในขณะนั้น เพราะขณะนั้นไม่ได้ นึกถึงพระธรรมอะไร ใช่ไหม เจตนาฆ่าก็เหมือนเดิม ความเพียร ความจงใจ ความตั้งใจ ตัวไหนที่จะฆ่า เจตนากับความเพียรก็ยังเหมือนเดิม
ถ. สมัยก่อนนี้ไม่เคยเรียนเลย ไม่รู้ว่าฆ่าสัตว์เป็นบาป ไม่รู้ ทำไปโดยประกอบทั้งมิจฉาทิฏฐิ ทั้งโมหะ แต่ขณะที่ทำเดี๋ยวนี้ซึ่งเริ่มรู้แล้ว ผมว่าเจตนาไม่น่าจะเท่ากัน
สุ. โดยมากเท่าที่ฟังคำถาม หรือการสนทนาธรรม คิดว่าทุกท่านห่วง เรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องกุศล เรื่องอกุศล ห่วงจนกระทั่งอยากจะวัดดูว่าอันไหนมากอันไหนน้อยที่ทำไปแล้ว ถ้าขึ้นกระดานได้ก็อาจจะเขียนเลย ใช่ไหม ว่า ทำอกุศลกรรมมาแล้วเท่าไร กุศลกรรมเท่าไร และอกุศลกรรมแต่ละอย่างนั้นหนัก เบาแค่ไหน แต่ความจริงแล้วให้ทราบว่า อกุศลแม้เพียงเล็กน้อย อย่าให้ถึงกับต้องฆ่า หรือว่าอย่าให้ถึงกับล่วงทุจริตกรรม แม้เพียงเล็กน้อยก็ให้เห็นว่าเป็นโทษเป็นภัย ดีกว่าคิดว่า ขณะนี้เบาหน่อยเพราะว่าเราได้ศึกษาธรรมแล้ว และก็คงจะทำต่อๆ ไป
เพราะฉะนั้น ถ้าเทียบในลักษณะนั้นจะไม่เห็นภัยของอกุศลจิตแม้เพียงเล็กน้อย แต่ความจริงเมื่อได้ศึกษาธรรมและเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ก็ควรจะเป็นผู้ที่ละเอียด และเห็นภัยเห็นโทษแม้อกุศลเพียงเล็กน้อยจริงๆ อย่าถึงกับต้องวัดอกุศลกรรมซึ่งสำเร็จเป็นอกุศลกรรมไปแล้ว และอาจจะสบายใจว่า ได้ศึกษาแล้ว เจตนาก็คงจะน้อยลง กรรมนั้นก็ย่อมเบาบางไป แต่ไม่ควรจะเป็นในลักษณะนั้น
ยิ่งศึกษา ยิ่งต้องเป็นผู้ที่ละเอียดและเห็นจริงๆ ว่า แม้อกุศลเล็กน้อยนั้นก็ เป็นโทษ แม้การหลงลืมสติก็เป็นสิ่งซึ่งน่ารังเกียจ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ จะทำให้สติสามารถระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้บ่อยขึ้น
และไม่อยากให้มีใครเป็นคนตอบคำถามอย่างนี้ด้วย นอกจากตัวเองที่จะพิจารณาเห็นอกุศลเป็นอกุศล อย่าให้ต้องหนักถึงกับกระทำทุจริตกรรมและมาวัด เพราะว่าอกุศลกรรมก็เป็นอกุศลกรรมที่มีกำลังซึ่งสำเร็จแล้ว และเป็นปัจจัยให้ วิบากจิตเกิดขึ้น
ขอกล่าวถึงวิบากจิตที่เป็นอเหตุกะ ธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน คือ จักขุวิญญาณ การเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ
ที่ต้องกล่าวถึงบ่อยๆ เพราะว่ามีการเห็นอยู่ตลอด และตราบใดที่ยังไม่รู้เรื่องของการเห็นและสิ่งที่ปรากฏทางตา ตราบนั้นจะไม่มีเครื่องเตือนให้รู้ว่า ต้องอบรมเจริญปัญญามากเพียงไรที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความ เป็นจริง ซึ่งจะละเลยไม่ได้ หรือจะคิดว่าเข้าใจแล้วว่า ขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ โดยปริยัติธรรมคือจักขุวิญญาณ เป็นอเหตุกะ ถ้าเห็นสิ่งที่ดีก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าเห็น สิ่งที่ไม่ดีก็เป็นอกุศลวิบาก ถ้าเพียงเท่านี้ ทุกวันก็ผ่านไปเหมือนเดิม คือ ก็รู้แล้วทั้งนั้น
เป็นเรื่องรู้แล้วโดยปริยัติ แต่ไม่ใช่การรู้แจ่มแจ้งจริงๆ ที่จะเตือนตนเองให้ระลึกว่า ที่ว่ารู้นั้นยังไม่พอ เพราะตราบใดสิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ใช่เป็นเพียงรูปารมณ์ หรือเพียงสิ่งที่ปรากฏ แต่ยังเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ แสดงให้เห็นว่า การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นสิ่งที่ยังอีกไกลมาก
เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ต่อหน้าที่กำลังเผชิญอยู่ เป็นสิ่งที่ควรจะได้เพิ่มความเข้าใจ และไม่หลงลืมที่จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ยังมีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลอยู่มากน้อยเพียงไร
การที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตา ทำให้เกิดอกุศลมากมายในวันหนึ่งๆ เพราะวันหนึ่งๆ ขอให้พิจารณาดูว่า ในทวารทั้ง ๕ คือ ทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๑ อะไรปรากฏมาก หรือจิตคิดถึงอารมณ์อะไรมาก เป็นไปกับอารมณ์อะไรมาก
ขณะนี้ทุกคนมีกาย ซึ่งมีมาตั้งแต่เกิด ไม่ปราศจากรูปร่างกายเลยสักขณะเดียว แต่ขณะที่กำลังเห็น มีใครคิดถึงเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวที่กระทบสัมผัสกาย หรือว่ากำลังสนใจในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพราะว่าจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว และดับไป เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ จะมีการสนใจในลักษณะของ สภาพธรรมที่เป็นกาย ที่เย็นบ้าง ที่ร้อนบ้าง ที่อ่อนบ้าง ที่แข็งบ้าง ที่ไหวบ้าง ย่อมไม่ได้ ใช่ไหม เพราะว่าจิตที่เกิดขึ้นเห็นทางตากำลังเป็นของจริง เกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย จิตอื่นยังไม่มี
ความทรงจำที่ว่า เรามีกาย กายของเรา และกายของเราก็เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ไหวบ้าง นั่นเป็นเพียงความคิด ในขณะที่จักขุวิญญาณกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะของกายไม่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ความยึดถือความทรงจำว่ามีตัวตน เป็นความยึดถือซึ่งมีมานานมาก ถ้าไม่แตกย่อยลักษณะของความเป็นเรา หรือสภาพธรรมที่เป็นตัวตนออกเป็นเพียงแต่ละขณะจิต ย่อมจะไม่รู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ถ้าพิจารณาแม้เรื่องของจักขุวิญญาณ จะพิจารณาให้ละเอียดลึกซึ้งได้จนกระทั่งสามารถรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพที่เป็นนามธรรมที่กำลังเห็นในขณะนี้ ซึ่งไม่ใช่รูปธรรม และจะทำให้ละคลายความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ในขณะที่ทางตากำลังเห็น เพราะว่าในขณะนั้นเย็นไม่ได้ปรากฏ ร้อนไม่ได้ปรากฏ อ่อนแข็ง ตึงไหวไม่ได้ปรากฏ
นี่เป็นการอบรมเจริญสติที่จะระลึกและศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแต่ละลักษณะตามความเป็นจริง แต่ทุกคนก็ดูเหมือนว่ายังมีตัวของเราแน่ๆ ใช่ไหม จะได้ยินได้ฟังอย่างนี้ไปนานแสนนานบ่อยสักเท่าไรก็ไม่เพียงพอ ก็ยังจำไว้ว่า ยังมีเราที่กำลังเห็น เพราะฉะนั้น จึงต้องกล่าวถึงเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ่อยๆ เพราะว่าทางตาปรากฏมาก และแม้รูปมีก็ไม่ได้รู้สึกในลักษณะอาการของ รูปนั้นเลย เพราะกำลังเห็นก็สนใจในเรื่องที่เห็น
ธรรมทุกอย่างเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้เมื่อเป็นของจริง เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เองที่ฟัง พิสูจน์ได้แล้วใช่ไหม รู้เย็นตรงไหนหรือเปล่า รู้ร้อนตรงไหนหรือเปล่า แต่ถ้าไม่พูดถึง ก็คงไม่นึกถึงแน่ ต่อเมื่อใดพูดถึงจึงเริ่มหาว่าแข็งตรงไหน ที่ตัวเวลานี้กำลังแข็งตรงไหน หรือว่ากำลังอ่อนตรงไหน กำลังไหวตรงไหน ซึ่งก่อนนั้นไม่ได้นึกถึงเลย ทางตาเห็นก็เพลิดเพลินไป หรือนึกถึงแต่เฉพาะเรื่องที่กำลังเห็น
เพราะฉะนั้น เมื่อทางตาเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นประจำในสังสารวัฏฏ์ ตราบใดที่ยัง ไม่หมดความยินดีที่จะเห็น หรือความต้องการที่จะเห็น ก็ต้องฟังและพิจารณาศึกษาเรื่องของทางตามากๆ เริ่มตั้งแต่สิ่งที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ จนกระทั่งดูเป็นของธรรมดาว่า แม้ว่าสีสันวัณณะต่างๆ มี แต่ถ้าจักขุวิญญาณคือจิตเห็นไม่เกิด สีสันวัณณะหรือ รูปารมณ์ รูปที่สามารถจะปรากฏทางตานี้ ก็ปรากฏไม่ได้เลย
เป็นของที่ธรรมดาๆ อย่างนี้เอง แต่ความเป็นธรรมดาๆ ของธรรมกับการที่จะเกื้อกูลให้สติระลึกลักษณะของเห็นต้องมี คือ อย่าผ่านไป เพราะว่าข้อความใน อรรถกถามีว่า
อรูปขันธ์ทั้งหลายเกิดขึ้น เหมือนออกมาจากภายในแห่งรูปอันเป็นที่อาศัย
คือ จิตเห็นเป็นสภาพรู้ ไม่ใช่จักขุปสาท แต่จิตเห็นนั้นเกิดขึ้นทำกิจเห็นที่ จักขุปสาทและดับไป
นี่คือความรวดเร็วของสภาพธรรมที่จะต้องพิจารณาจนกว่าจะรู้ว่า เห็น ไม่ใช่สีสันวัณณะที่ปรากฏทางตา เพราะว่าเห็นเป็นนามธรรม อรูปขันธ์ทั้งหลายเกิดขึ้น เหมือนออกมาจากภายในแห่งรูปอันเป็นที่อาศัย เพราะว่ามีจักขุปสาท จักขุปสาท ไม่เห็น แต่เป็นที่อาศัยให้จิตเห็นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ก็แยกยาก ใช่ไหม
ในขณะนี้ซึ่งมีสิ่งที่ปรากฏทางตา และมีจักขุปสาท และมีจิตเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สภาพรู้ จักขุปสาทไม่เห็น แต่จิตเห็น เหมือนออกมาจากภายในแห่งรูปอันเป็นที่อาศัย คือ จักขุปสาท เพราะว่าจิตเห็นไม่ใช่จักขุปสาท เป็นแต่เพียงสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ซึ่งเกิดขึ้นเห็นและดับทันที ทางตาในขณะนี้ให้ทราบว่า เป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ที่เกิดขึ้นต่างหากจากปสาทรูป ทำกิจเห็นชั่วขณะหนึ่งและ ดับไป
ข้อความใน อัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ ข้อ ๑๓๕๒ อธิบายนิทเทส อินทริยอคุตตทวารตาทุกะ มีข้อความว่า
คำว่า เห็นรูปด้วยจักขุ คือ เห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ ซึ่งสามารถเห็นได้ ด้วยอำนาจแห่งเหตุ คือ จักขุ
ภาษาธรรมดา คือ ถ้าไม่มีจักขุปสาทก็เห็นไม่ได้ แต่ลักษณะของจักขุนั้น ไม่เห็นรูป เพราะไม่ใช่จิต จิตไม่เห็น เพราะไม่มีจักขุ ถูกไหม
จักขุไม่เห็นรูปเพราะไม่ใช่จิต จิตก็ไม่เห็นเพราะไม่มีจักขุ จิตคิดได้ จิตได้ยินได้ แต่จิตเห็นมีไม่ได้ถ้าไม่มีจักขุ
นี่เป็นเหตุปัจจัยที่จะให้สภาพธรรมในขณะนี้เกิดขึ้น เพียงชั่วขณะที่สั้นมากและดับไป แต่ต้องอาศัยเหตุปัจจัย คือ ต้องอาศัยการกระทบกันของจักขุปสาทรูปซึ่งเป็นทวาร และรูปารมณ์ คือ สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตานี้ เมื่อกระทบกันแล้ว จิตเห็นจึงจะเกิดได้
เพราะฉะนั้น การเห็นซึ่งมีอยู่ในชีวิตประจำวัน ทุกวัน ทุกขณะ ถ้าได้ฟังเรื่องการเห็นบ่อยๆ คงจะไม่ปล่อยให้ผ่านไป โดยสติเริ่มที่จะระลึก น้อมศึกษาพิจารณาจนกว่าจะเข้าใจลักษณะที่เป็นนามธรรมซึ่งใช้กันทั่วไปว่า เห็น หรือจักขุวิญญาณ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๔ ตอนที่ ๑๔๓๑ – ๑๔๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1381
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1382
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1383
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1384
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1385
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1386
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1387
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1388
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1389
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1390
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1391
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1392
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1393
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1394
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1395
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1396
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1397
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1398
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1399
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1400
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1401
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1402
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1403
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1404
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1405
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1406
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1407
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1408
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1409
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1410
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1411
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1412
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1413
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1414
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1415
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1416
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1417
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1418
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1419
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1420
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1421
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1422
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1423
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1424
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1425
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1426
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1427
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1428
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1429
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1430
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1431
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1432
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1433
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1434
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1435
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1436
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1437
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1438
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1439
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1440