แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1387


    ครั้งที่ ๑๓๘๗


    สาระสำคัญ

    อส.นิกเขปกัณฑ์ - โสตาปัตติมรรคละอกุศลจิตได้ ๕ ดวง

    โสดาบันดับอิสสาและมัจฉริยะเป็นสมุจเฉท

    อถ.องฺ.ปญฺจก - พรรณนามัจฉริยสูตร

    อัฎฐสาลินี - กุลมัจฉริยะ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๒๗


    ความริษยาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนมีเพียงเล็กน้อย บางคนมีมากถึงกับว่า แม้สมบัติที่เป็นของตนนี้ก็อย่าให้คนอื่นเสมอเหมือนตนได้ นั่นเป็นลักษณะหนึ่งของมัจฉริยะ

    น่ากลัวไหมอย่างนี้ มีกำลังแรงจนกระทั่งแม้คนอื่นจะมีก็ไม่อยากจะให้เหมือนกัน หรือว่าไม่อยากให้มีเสมอเหมือนกัน เพราะถือว่านั่นเป็นส่วนหรือเป็นสมบัติของตน

    พระโสดาบันดับมัจฉริยะเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย

    , พระโสดาบันละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส …

    สุ. และอิสสา มัจฉริยะด้วย โดยนัยของสังโยชน์

    . ขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของอกุศล อกุศลเกิดขึ้น สติระลึกรู้ ขณะที่ สติเกิดขึ้น ต้องเกิดกับโสภณจิต ใช่ไหม

    สุ. แน่นอน

    . จิตที่เป็นอกุศลนั้น ต้องดับก่อน ใช่ไหม

    สุ. แน่นอน จะมีจิต ๒ ดวงเกิดพร้อมกันไม่ได้

    . เมื่อดับแล้ว สติจะระลึกรู้ลักษณะของอกุศลที่เป็นปัจจุบัน ก็ไม่มีแล้ว ปัจจุบันธรรมดับไปแล้ว

    สุ. ขณะนี้กำลังเห็นหรือเปล่า

    . เห็น

    สุ. ขณะที่ได้ยิน เห็นด้วยหรือเปล่า

    . เห็นด้วย

    สุ. จิตที่เห็นดับไปแล้วใช่ไหม ในขณะที่จิตได้ยินเกิด

    . ใช่

    สุ. และจิตได้ยินต้องดับไปแล้วขณะที่จิตเห็นเกิด แต่ปัญญายังไม่ได้รู้อย่างนี้

    . สงสัยว่า อกุศลนั้นจะเป็นปัจจุบันธรรมได้อย่างไร

    สุ. ฉันเดียวกันกับทางตาและทางหู ขณะเห็นขณะนี้ได้ยินไหม

    . ได้ยิน

    สุ. ถ้าโดยการศึกษา ไม่ใช่ขณะเดียวกันแน่นอน ขณะเห็น จิตได้ยินต้องดับแล้ว ขณะได้ยินจิตเห็นต้องดับแล้ว ฉันใด เวลาที่จิตดับและเกิดอีก ดับและเกิดอีก สืบต่อกัน สลับกันกับสติ อกุศลจิตเกิดสลับกับกุศลจิตซึ่งเป็นสติปัฏฐาน จึงทำให้ สติเจตสิกซึ่งเกิดกับกุศลจิตสามารถระลึกรู้ลักษณะสภาพของอกุศลจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อสลับกันได้ เช่นเดียวกับทางตาและทางหูในขณะนี้ คนละขณะ ห่างไกลกันมาก แต่ปรากฏเสมือนว่ามีอยู่เป็นปัจจุบัน ฉันใด อกุศลเจตสิกและอกุศลจิตซึ่งเกิดดับ พร้อมกัน สลับกันกับสติที่เป็นโสภณเจตสิกซึ่งเกิดกับกุศลจิต ก็ฉันนั้น

    . แต่ใคร่ครวญดูแล้ว ไม่น่าจะเป็นปัจจุบันธรรม เพราะว่าดับไปแล้ว

    สุ. กำลังเห็นกับได้ยินขณะนี้ เป็นปัจจุบันหรือเปล่า

    . ตามที่ศึกษาต้องคนละขณะกัน

    สุ. และเวลานี้ ตามที่กำลังปรากฏในขณะนี้ กับปัญญาที่ได้อบรมเจริญจนกระทั่งประจักษ์แจ้ง คือ ขณะได้ยินต้องไม่มีเห็นเลย และขณะที่เห็นต้องไม่มี ได้ยินเลย นั่นคือขั้นของผู้ที่ประจักษ์แจ้ง

    แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง เห็นขณะนี้เป็นปัจจุบันหรือเปล่า ได้ยินในขณะนี้เป็นปัจจุบันหรือเปล่า ฉันใด สติก็สามารถระลึกลักษณะของอกุศลได้เช่นเดียวกับที่สามารถระลึกลักษณะของเห็นหรือได้ยินที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้

    . ตอนที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของแข็งที่ดับไปแล้ว ตอนนั้นจะมีสภาพของแข็งปรากฏให้เราทราบได้ไหม ระลึกได้ไหม

    สุ. ที่ดับไปแล้ว หมายความถึงที่ไม่ปรากฏ

    . ไม่ใช่ สมมติว่าเราระลึกสิ่งที่เราเคยกระทบจับต้องสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และสภาพนั้นดับไป อาจจะเมื่อวานนี้ แต่วันนี้เราระลึกถึงสภาพของแข็งทางมโนทวารวิถีสภาพของแข็งจะปรากฏให้เราระลึกได้ไหม เป็นปรมัตถธรรม

    สุ. ที่เป็นปรมัตถธรรม ต้องปรากฏทางกายทวาร

    . ถ้าอย่างนั้น ก็เป็นนึกคิด ใช่ไหม

    สุ. เป็นการทรงจำ

    . เป็นนามธรรม

    สุ. จิตคิดถึงลักษณะของรูปในอดีตที่ผ่านมาแล้ว

    . พระโสดาบันละอิสสาได้ ใช่ไหม แต่เท่าที่ศึกษามาในตำรากล่าวว่า พระโสดาบันละได้อกุศลจิตได้ ๕ ดวงเท่านั้น คือ ทิฏฐิ ๔ และวิจิกิจฉา ๑ อิสสาเกิดกับโทสมูลจิต ทำไมจึงละได้

    สุ. ขอกล่าวถึงข้อความใน อัฎฐสาลินี ทุกนิกเขปกถา

    ก็สังโยชน์เหล่านี้ จะนำมาแสดงตามลำดับกิเลสบ้าง ตามลำดับมรรคบ้าง ก็ควร ว่าถึงตามลำดับกิเลส กามราคะสังโยชน์และปฏิฆสังโยชน์ อันอนาคามีมรรคย่อมละได้ มานะสังโยชน์ อันอรหัตตมรรคย่อมละได้ ทิฏฐิสังโยชน์ วิจิกิจฉาสังโยชน์ สีลัพพตปรามาสสังโยชน์ อันโสตาปัตติมรรคย่อมละได้ ภวราคสังโยชน์ อันอรหัตตมรรคย่อมละได้ อิสสาและมัจฉริยะ อันโสตาปัตติมรรคย่อมละได้

    . อย่างนั้นตำราก็ผิด

    สุ. ไม่ผิด นี่กล่าวโดยสังโยชน์ เพราะว่าอกุศลเจตสิกมี ๑๔ ดวง

    . ที่ว่าโทสะ พระอนาคามีละได้

    สุ. ที่กล่าวถึงนั้นหมายความถึงจิต ที่กล่าวว่า โสตาปัตติมรรคละอกุศลจิตได้ ๕ ดวง คือ โลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง และโมหวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ๑ ดวง นั่นกล่าวโดยจิต ไม่ได้กล่าวโดยเจตสิก

    แต่ถ้ากล่าวโดยอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง จะจำแนกออกเป็นสังโยชน์บ้าง หรือว่าเป็นโอฆะ เป็นโยคะ เป็นอะไรหลายอย่าง และแสดงว่า โสตาปัตติมรรคจิตดับอะไร เช่น อิสสาและมัจฉริยะ โสตาปัตติมรรคจิตดับได้ ตามข้อความใน อัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ ไม่ค้านกัน

    . แต่ปกติจิตและเจตสิกเกิดร่วมกัน

    สุ. เจตสิกที่เกิดร่วมกันโดยฐานะที่โสตาปัตติมรรคจิตจะดับ เช่น ผัสสะเวทนาเป็นต้นที่เกิดกับทิฏฐิเจตสิกจะดับหมด คือ ผัสสะจะไม่เกิดกระทบกับอารมณ์ที่ทำให้เกิดทิฏฐิอีกเลย แต่ผัสสะที่เกิดกระทบกับอารมณ์อื่นยังเกิดได้ เวทนาที่จะเกิดร่วมกับทิฏฐิเจตสิกจะไม่เกิดอีกเลย แต่เวทนาที่จะเกิดร่วมกับอกุศลเจตสิกอื่นยังเกิดได้

    . ความตระหนี่พระโสดาบันละได้ อยากทราบว่า ถ้ามีใครไปขอบ้านที่พระโสดาบันอยู่ พระโสดาบันจะให้ไหม

    สุ. พระโสดาบันดับมัจฉริยะเป็นสมุจเฉท แต่พระโสดาบันยังมีโลภมูลจิต เวลาที่มีโลภมูลจิตเกิดขึ้น เป็นสภาพที่ยินดีพอใจ ติดในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ สละ ให้ไม่ได้

    และในวันหนึ่งๆ ถ้าคิดถึงเรื่องที่นั่งที่นอนในชีวิตของฆราวาส จะเป็น มัจฉริยะในรูปใดบ้าง

    เวลาที่มีการเดินทาง อาจจะมีการยึดถือส่วนหนึ่งส่วนใดหรือที่หนึ่งที่ใดว่า เป็นของตน และจะไม่พอใจเวลาที่คนอื่นมาร่วมใช้สอยด้วย เช่น ที่นั่งในรถประจำทาง ถ้าคนอื่นมานั่งด้วยบางคนไม่ชอบ กำลังนั่งสบายๆ มีเด็ก หรือใครก็ได้ขึ้นมาและ มานั่งด้วย ก็เกิดมัจฉริยะ ความตระหนี่ ความรู้สึกไม่พอใจ หรือถ้าเป็นรถยนต์ส่วนตัว ก็ไม่อยากให้คนอื่นได้ร่วมโดยสารไปด้วย เพราะรู้สึกว่าเป็นของเรา เรานั่งคนเดียวสบายดี ทั้งๆ ที่คนอื่นก็ไปที่เดียวกัน ควรที่จะสงเคราะห์เกื้อกูลได้ แต่แม้กระนั้น ถ้าเป็นผู้มีอาวาสมัจฉริยะ ก็ไม่สามารถที่จะเอื้อเฟื้อ หรือว่ามีปฏิสันถารได้

    เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาโดยละเอียดว่า อาวาสมัจฉริยะ การตระหนี่ที่นั่ง ที่นอนที่ยึดถือว่าเป็นของเรา ต้องต่างกับขณะที่เป็นโลภมูลจิต เพราะว่าทุกคนมีโลภะ มีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในสมบัติของตน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไม้สอย หรือว่าที่นั่งที่นอน เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ก็ตาม แต่ว่า ทนได้ถ้าคนอื่นจะมีสิ่งนั้นๆ บ้าง เช่นเดียวกับที่ท่านมี

    บางคนอาจจะหวงจนกระทั่งว่า แม้คนอื่นจะสร้างบ้านให้มีลักษณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ มีความหวงแหนถึงขนาดนั้น แสดงให้เห็นถึงมัจฉริยะซึ่งออกมาในรูปต่างๆ แม้แต่ในเรื่องของที่อยู่อาศัย เป็นชีวิตประจำวันที่จะต้องพิจารณาดูว่า ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ตระหนี่ ย่อมปรารถนาให้คนอื่นได้มีความสุข ไม่ใช่การทนไม่ได้ที่คนอื่นจะมีความสุขเหมือนกับที่ท่านมี

    มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต พรรณนา มัจฉริยสูตร ข้อ ๑๑๕ มีข้อความว่า

    บทว่า อาวาสมัจฉรินี ความว่า ภิกษุณีย่อมตระหนี่ที่อยู่ คือ ย่อมทนไม่ได้ด้วยซึ่งการอยู่ของภิกษุอื่นในที่อยู่นั้น

    นี่แม้ว่าเป็นภิกษุณีแล้ว และถ้าเป็นบุคคลอย่างนี้ ผู้ตระหนี่นั้น เหมือนผู้นำมาเก็บไว้ในนรก

    คนที่ตระหนี่มองไม่เห็นเลยว่า ขณะนั้นเป็นโทษเป็นภัยอย่างไร แต่ว่าสิ่งใดๆ ก็ตามที่หวง เก็บ กันไว้ ไม่ให้คนอื่นได้ใช้สอยได้บริโภค ควรที่จะระลึกได้ว่า เหมือนกับเก็บสิ่งนั้นๆ ไว้ในนรก

    ท่านมีความรู้สึกเหมือนกับว่าท่านเก็บไว้ใช้ ไม่ยอมให้คนอื่นได้ร่วมใช้สอยด้วย แต่ในขณะที่กำลังเก็บไว้ ขอให้ระลึกถึงความจริงว่า เหมือนเก็บไว้ในนรก ถ้าเป็นอกุศลกรรมที่จะทำให้ถึงกับเกิดในอบายภูมิ น่าเก็บของที่มีอยู่ไหม ไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่ก็หวงไว้ ไม่ยอมให้บุคคลอื่น คิดว่าเก็บไว้ดีกว่า แต่ที่จริงแล้ว เหมือนเก็บไว้ในนรก

    ถ้าคิดว่าใครเป็นพระโสดาบันก็จะไปขอบ้านช่องของคนนั้น ไม่ได้แน่ เพราะนั่นไม่ได้หมายความถึงอาวาสมัจฉริยะ แต่อาวาสมัจฉริยะ คือ ความตระหนี่ ความ หวงแหน ความทนไม่ได้ที่จะให้บุคคลอื่นมีที่นั่งที่นอนที่สบายเหมือนอย่างตน หรือ ของตน

    ถ้าเป็นพระโสดาบันบุคคล เป็นผู้ที่ละอคติ การจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดของ พระโสดาบัน ย่อมเป็นไปด้วยการพิจารณาในเหตุผล และในขณะนั้นที่ท่านกระทำไปไม่ใช่เพราะรัก คือ ฉันทาคติ ไม่ใช่เพราะชัง คือ โทสาคติ ไม่ใช่เพราะหลง คือ โมหาคติ และไม่ใช่เพราะกลัว คือ ภยาคติ แต่มีเหตุผล ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี แสดงว่า

    แต่สำหรับภิกษุผู้ไม่ปรารถนาการที่พวกก่อการทะเลาะเป็นต้นอยู่ในที่ อยู่อาศัยนั้น ไม่ชื่อว่าเป็นอาวาสมัจฉริยะ

    การที่จะให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอาศัยอยู่ในบ้านก็เช่นเดียวกัน ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาในเหตุผลว่า เป็นบุคคลที่สมควรไหม เช่นเดียวกับในอาวาสหรือใน วัดวาอารามต่างๆ ถ้าเป็นผู้ที่จะทำให้เกิดความเดือดร้อน และไม่เป็นประโยชน์อันใด ก็ถือว่าไม่ใช่อาวาสมัจฉริยะ มิฉะนั้นคงชุลมุนวุ่นวายกันไปหมด ถ้ามีพระโสดาบันมากมาย และท่านก็จะต้องเดือดร้อนเพราะมีผู้มาพักพิงอาศัย หรือมีคนมาขอทุกสิ่ง ทุกอย่างจากท่านไป และอ้างว่า เมื่อเป็นพระโสดาบันแล้วต้องไม่มีมัจฉริยะ

    แต่ความจริงพระโสดาบันยังมีโลภมูลจิต เพราะฉะนั้น ขณะใดที่โลภมูลจิตเกิด ขณะนั้นมีความยินดีพอใจในวัตถุสิ่งนั้น ขณะที่ยินดีพอใจ ย่อมไม่สละ เพราะฉะนั้น ก็ต่างกับมัจฉริยะ

    สำหรับผลของอาวาสมัจฉริยะ

    ด้วยความตระหนี่ที่อยู่อาศัย ก็จะเป็นยักษ์บ้าง เป็นเปรตบ้าง เอาศีรษะทูนหยากเยื่อแห่งที่อยู่อาศัยนั้นนั่นแหละเที่ยวไป หรืออีกนัยหนึ่ง จะถูกเผาอยู่ในเรือนเหล็กแดง

    เพราะถ้าเป็นผู้ที่ถึงกับทนไม่ได้ที่จะให้คนอื่นมีสิ่งต่างๆ ที่ท่านมี ก็คงจะเกิดการกระทำที่เป็นทุจริตทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง อาจจะกล่าวผรุสวาจากับผู้ที่ไม่สมควรจะกล่าว เช่น พระภิกษุ เป็นต้น ก็ได้

    มัจฉริยะต่อไป คือ

    ๒. กุลมัจฉริยะ

    คำว่า ตระกูล ได้แก่ ตระกูลอุปัฏฐากบ้าง ตระกูลญาติบ้าง เมื่อไม่ปรารถนาจะให้ภิกษุอื่นเข้าไปในตระกูลเหล่านั้น ย่อมเป็นกุลมัจฉริยะ (ตระหนี่ตระกูล) แต่ แม้จะไม่ปรารถนาการที่บุคคลลามกเข้าไป ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นผู้ตระหนี่ เพราะบุคคลลามกนั้นย่อมปฏิบัติเพื่อทำลายความเลื่อมใสของตระกูลเหล่านั้น แต่สำหรับภิกษุผู้สามารถจะรักษาความเลื่อมใสได้ ก็ไม่ปรารถนาให้เข้าไปในตระกูลเหล่านั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ตระหนี่

    พระภิกษุที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ยังมีกุลมัจฉริยะ คือ ความตระหนี่ตระกูลอุปัฏฐาก หรือตระกูลญาติ

    ทำไมพระภิกษุจึงตระหนี่ตระกูลอุปัฏฐาก ก็เพราะว่าได้รับการอุปถัมภ์จากตระกูลอุปัฏฐาก หรือตระกูลญาติ

    แต่สำหรับคฤหัสถ์ไม่ได้มีชีวิตอย่างบรรพชิต เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์มีกุลมัจฉริยะ คือ การตระหนี่ความสนิทสนม กับมิตรสหาย หรือวงศาคณาญาติผู้คุ้นเคย หรือผู้ที่สงเคราะห์อนุเคราะห์เป็นญาติมิตรกันก็ได้

    มีไหมตระหนี่เพื่อน หวงเพื่อน ดูเป็นชีวิตประจำวันของคฤหัสถ์บางคนซึ่งสะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่น่าจะต้องมีการกีดกันหรือว่า หวงแหนกลัวว่าผู้ซึ่งคุ้นเคยอยู่นั้นจะสนิทสนมคุ้นเคยกับคนอื่นมากกว่าตัวท่าน แต่กิเลสก็มีหลายอย่างหลายประการ เพราะถ้าเป็นผู้ที่พอใจ รักใคร่ นับถือ สนิทสนมคุ้นเคยกับใคร บางคนก็จะมีกุลมัจฉริยะ คือ ความตระหนี่หวงแหน ไม่ต้องการที่จะให้คนอื่นไปคบหาสมาคมสนิทสนมกับคนซึ่งเป็นที่คุ้นเคยของตน

    นี่คือลักษณะอาการของมัจฉริยะ ถ้าเป็นมิตรสหาย ก็เป็นความหวงเพื่อน

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีกิเลสอย่างนี้ หรือว่ามีมัจฉริยะอย่างนี้ ย่อมมีโทษซึ่งจะเกิดขึ้น เช่น ถ้ามีความรู้สึกอย่างนั้นก็จะมีการยุแหย่ ทำให้มีการแตกแยก จะมีความรู้สึกว่า บุคคลนั้นบุคคลนี้เป็นที่รักใคร่สนิทสนม และบุคคลนั้นบุคคลนี้ไม่เป็นที่รักใคร่สนิทสนม ซึ่งเป็นเรื่องที่สับสนวุ่นวาย เป็นเรื่องของความรู้สึกที่ไม่ใช่ โสมนัสเวทนา และไม่เป็นกุศลด้วย บางคนก็ถึงกับไม่โอภาปราศรัย ไม่ปฏิสันถารกับบุคคลอื่นซึ่งมาสนิทสนมคุ้นเคยกับผู้ซึ่งตนสนิทสนมอยู่แล้ว

    นี่เป็นสิ่งซึ่งควรพิจารณาว่า เป็นโทษ ถ้าไม่ตั้งใจที่จะขัดเกลาละคลาย ย่อมจะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลกรรมต่างๆ ได้ เช่น เป็นผู้ที่ตระหนี่หวงแหน ขาดแม้แต่การปฏิสันถารกับบุคคลอื่น

    . การหวงแหนลูกสาว เวลามีคนมาชอบพอรักใคร่ เป็นกุลมัจฉริยะไหม

    สุ. เป็น

    ความหวงแหนเกิดขึ้นขณะใดควรพิจารณาว่า ขณะนั้นเป็นไปในอาวาส คือ ที่อยู่อาศัย หรือว่าในกุละ คือ บุคคลที่สนิทสนมคุ้นเคย รักใคร่พอใจ หรือว่าในเรื่องของลาภ ลาภมัจฉริยะ หรือว่าในเรื่องของวรรณมัจฉริยะ ธรรมมัจฉริยะ เพราะว่ามัจฉริยะมี ๕

    เรื่องของความหวงแหน เป็นเรื่องความไม่สบายใจทั้งนั้น เป็นเรื่องของอกุศลจิต เป็นเรื่องของโทสมูลจิต และเวลาที่หวงแหน ทำไมจึงหวงแหน พิจารณาหาเหตุได้ไหม

    ท่านที่มีบุตรสาว ควรที่จะได้พิจารณาว่า เพราะเหตุใดจึงหวงแหน ถ้าหวงเพราะว่าคนอื่นที่มาคุ้นเคยด้วยเป็นคนที่ไม่เหมาะสม เป็นพาล เป็นบุคคลซึ่งนำแต่ความทุกข์ความเดือดร้อนมาให้ อย่างนั้นก็ไม่ใช่กุลมัจฉริยะ

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่พิจารณา ไม่ใช่เฉพาะแต่อาการภายนอก แต่ต้องพิจารณาสภาพของจิตในขณะนั้นด้วยว่า เพราะอะไรจึงมีกิริยาอาการซึ่งดูเสมือนกับเป็นการหวงแหน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๙ ตอนที่ ๑๓๘๑ – ๑๓๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 90
    28 ธ.ค. 2564