แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1450


    ครั้งที่ ๑๔๕๐


    สาระสำคัญ

    อรรถสาลินี แสดงลักษณะของวิการรูป ๓

    รูปที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของรูปที่มีใจครอง

    วิการรูป ๓ มีสมุฏฐาน ๓

    วิการรูปไม่ใช่ท่าทาง

    ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๒๘


    นี่คือขณะหนึ่งขณะใดที่จะพิจารณาว่า มีรูปใดบ้างที่กาย ซึ่งจะได้รู้ว่า ขณะเห็นต้องมีจักขุปสาทรูป ขณะได้ยินต้องมีโสตปสาทรูปที่อยู่ที่กายนี่เอง แม้แต่อาการปรากฏที่เห็นเป็นหญิงเป็นชายก็ต้องมีภาวรูป และต้องมีชีวิตินทริยรูป

    สำหรับรูปที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของรูปที่มีใจครองซึ่งต่างกับรูปที่ไม่มี ใจครอง คือ รูปที่ไม่มีใจครองไม่สามารถลุกขึ้นนั่ง นอน ยืน เดิน ทำกิจการงาน ต่างๆ ได้ แต่รูปที่มีใจครองที่มีการเคลื่อนไหวประกอบกิจการงานต่างๆ ได้ ไม่ใช่แต่เฉพาะมีมหาภูตรูป ๔ หรืออวินิพโภครูป ๘ เท่านั้น เพราะถ้ามีเพียงเท่านั้น จะเคลื่อนไหวไม่ได้ ต้องมีรูปอื่นอีกที่ทำให้รูปนั้นเป็นรูปที่เบา เป็นรูปที่อ่อน เป็นรูปที่ควรแก่การงาน

    ใน อัฏฐสาลินี มีข้อความที่แสดงลักษณะของวิการรูป ๓ คือ รูปที่มีอาการเบา เป็นลหุตารูป ๑ รูปที่อ่อนเป็นมุทุตารูป ๑ และรูปที่ควรแก่การงานเป็น กัมมัญญตารูป ๑

    สำหรับลหุตารูปนั้น

    อทันธตาลักขณา รูปัสสะ ลหุตา ลหุตารูปมีอันไม่เชื่องช้าเป็นลักษณะ

    รูปานัง ครุภาววิโนทนรสา มีความบรรเทาความหนักแห่งรูปทั้งหลายเป็นรสะ คือ เป็นกิจ

    ลหุปริวัตติตาปัจจุปัฏฐานา มีการเปลี่ยนไปเป็นเบา หรือว่ามีการเปลี่ยนไปเร็ว เป็นปัจจุปัฏฐาน

    ลหุรูปปทัฏฐานา มีรูปเบาเป็นปทัฏฐาน

    นี่คือวิการรูปหนึ่งในวิการรูป ๓ มิฉะนั้นแล้วเคลื่อนไหวไม่ได้

    สำหรับวิการรูป ๓ มีสมุฏฐาน ๓ อย่าง คือ เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐานก็มี และเกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐานก็มี ทำให้รูปที่มี ใจครองต่างกับรูปที่ไม่มีใจครอง เพราะสำหรับรูปที่มีใจครอง แม้เพียงนั่งเฉยๆ ตัว ก็ไม่ได้แข็งเหมือนอย่างกับท่อนไม้ ใช่ไหม เนื่องจากมีกลุ่มของรูปซึ่งเกิดจากอุตุ ความเย็นร้อนที่ทำให้กลุ่มของรูปนั้นวิการ คือ เบา หรืออ่อน หรือควรแก่การงาน นอกจากนั้นยังมีกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐานที่ทำให้กลุ่มของรูปนั้นเป็นรูปที่เบา เป็นรูปที่อ่อน เป็นรูปที่ควรแก่การงาน และเวลาที่มีจิตเป็นสมุฏฐานต้องการที่จะเคลื่อนไหวเหยียดคู้กระทำกิจการงานต่างๆ จะมีวิการรูปที่เกิดเพราะจิตทำให้เกิดการไหวไปของมือ เท้า ปาก ตา ทุกสิ่งทุกอย่างได้ นั่นเพราะลักษณะที่วิการของรูปที่เกิดขึ้นเพราะจิต

    เพราะฉะนั้น วิการรูป ๓ มีสมุฏฐาน ๓ บางครั้งเวลาที่มีอุตุ คือ อากาศที่สม่ำเสมอ สบาย ไม่หนาวเกินไป ร่างกายก็กระฉับกระเฉงเคลื่อนไหวได้ง่าย เพราะว่าวิการรูปนั้นเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน หรือเวลาที่ได้บริโภคอาหารที่มีประโยชน์ทำให้ร่างกายแข็งแรง อวัยวะทุกส่วนสะดวกสบาย ไม่ขัดข้อง ก็ทำให้วิการรูปเป็นไปโดยสะดวก และเวลาที่มีจิตเกิดขึ้น ต้องการให้มีการกระทำการงานต่างๆ หรือการเคลื่อนไหว ถ้าไม่มีวิการรูปก็ไม่สามารถเป็นไปได้เหมือนกัน

    และไม่ใช่เพียงแต่อาศัยวิการรูปที่เกิดเพราะจิต ต้องอาศัยวิการรูปที่เกิดเพราะอุตุและที่เกิดเพราะอาหารด้วย เช่น เคยเดินไม่ค่อยสะดวกบ้างไหม และทำอย่างไร ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ต้องอาศัยอาหารเป็นสมุฏฐานที่จะทำให้วิการรูปเกิดขึ้น หรือต้องอาศัยอุตุ คือ อบด้วยน้ำร้อนก็ได้ ทำให้รูปนั้นเกิดวิการที่จะเคลื่อนไหวต่างๆ ได้สะดวก

    สำหรับลักษณะของมุทุตารูป คือ รูปอ่อน

    อถัทธตาลักขณา รูปัสสะ มุทุตา มุทุตารูปมีความไม่กระด้างเป็นลักษณะ

    รูปานัง ถัทธภาววิโนทนรสา มีการบรรเทาความกระด้างแห่งรูปทั้งหลาย เป็นรสะ

    สัพพกิริยาสุ อวิโรธิตาปัจจุปัฏฐานา มีความไม่เป็นข้าศึกกันในการกระทำ ทั้งปวงเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ อาการที่ปรากฏ

    หมายความว่า จะทำกิริยาอาการใดๆ ก็ได้ นั่นคืออาการที่ปรากฏของรูปที่อ่อน

    มุทุรูปปทัฏฐานา มีรูปอ่อนเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้

    ลักษณะของกัมมัญญตารูป คือ

    สรีรกิริยานุกุลกัมมัญญภาวลักขณา รูปัสสะ กัมมัญญตา กัมมัญญตารูป มีการควรแก่การงานโดยสมควรแก่กิริยาแห่งร่างกายเป็นลักษณะ

    อกัมมัญญภาววิโนทนรสา มีความบรรเทาความไม่ควรแก่การงานเป็นรส

    อทุพพลภาวปัจจุปัฏฐานา มีความไม่ทุรพลเป็นปัจจุปัฏฐาน

    กัมมัญญรูปปทัฏฐานา มีรูปที่ควรแก่การงานเป็นปทัฏฐาน

    ก็วิการรูปทั้ง ๓ เหล่านี้ ต่างก็ไม่ละกันและกัน

    ขณะใดที่มีลหุตารูป ต้องมีมุทุตารูป และกัมมัญญตารูปด้วย ขณะที่รูปเบา รูปนั้นก็จะอ่อนและควรแก่การงานด้วย ไม่ใช่มีแต่รูปเบาโดยไม่มีรูปอ่อน ไม่มีรูปที่ ควรแก่การงาน เพราะฉะนั้น วิการรูปทั้ง ๓ นี้ เกิดพร้อมกัน

    วิการรูปทั้ง ๓ นี้ คือ ภาวะที่เบาแห่งรูปทั้งหลาย ดังเช่นคนไม่มีโรค มีความไม่เชื่องช้า และมีอาการเปลี่ยนไปได้เร็ว มีสมุฏฐานอันเกิดจากปัจจัยซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อธาตุกำเริบที่ทำให้รูปเชื่องช้าอันใด ภาวะที่เบานั้น เป็นรูปวิการ ชื่อว่าลหุตารูป

    การที่จะเห็นลักษณะของรูปเบานั้น ยาก เพราะฉะนั้น ก็รู้ได้จากคนที่เป็นโรคกับคนที่ไม่เป็นโรค ถ้าคนที่ไม่มีโรค ก็จะเคลื่อนไหวสะดวกสบายเพราะว่ามีภาวะของรูปที่เบาเป็นลหุตารูป ทำให้เคลื่อนไหวไปได้โดยสะดวก แต่ถ้าเป็นคนป่วย จะลุกจะนั่งก็ลำบาก วิการรูปไม่เป็นไปโดยสะดวก ไม่เบา ไม่อ่อน ไม่ควรแก่การงานเหมือนเช่นเคย เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นลักษณะของวิการรูปที่เป็นรูปเบา อุปมาดังเช่นคนไม่มีโรค

    ภาวะที่อ่อนแห่งรูปทั้งหลาย เช่นหนังที่ขยำไว้ดีแล้วอันใด มีอาการทำให้อ่อนเป็นไปในการกระทำทั้งปวงได้ต่างๆ กัน มีสมุฏฐานอันเกิดแต่ปัจจัยซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อ ธาตุกำเริบที่ทำให้รูปกระด้าง ภาวะที่อ่อนนั้น เป็นรูปวิการ ชื่อว่ามุทุตารูป

    ลักษณะที่อ่อน ก็อุปมาเหมือนกับหนังที่ขยำไว้ดีแล้ว หนังที่ยังไม่ได้ทุบ ยังไม่ได้ขยำ ย่อมแข็งมาก กระด้างมาก แต่ถ้าเป็นหนังที่ทุบแล้ว ขยำแล้วอย่างดี ก็เป็นหนังที่อ่อน สามารถใช้การงานต่างๆ ได้

    ภาวะที่ควรแก่การงานของรูปทั้งหลาย ดังเช่นทองคำที่หลอมไว้ดีแล้วอันใด มีอาการควรแก่การกระทำทั้งปวงของกาย มีสมุฏฐานอันเกิดแต่ปัจจัยซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อธาตุกำเริบที่ทำให้รูปไม่ควรแก่การงานของสรีระ ภาวะที่ควรแก่การงานใดๆ ของกาย เป็นรูปวิการ ชื่อว่ากัมมัญญตารูป

    รูปที่ควรแก่การงาน เหมือนทองคำที่หลอมไว้ดีแล้ว จะทำเป็นรูปอะไรก็ได้

    ขณะนี้มีวิการรูป แต่ลักษณะใดเป็นรูปที่เบา ลักษณะใดเป็นรูปที่อ่อน ลักษณะใดเป็นรูปที่ควรแก่การงาน ไม่ใช่รูปหยาบ จึงไม่ใช่รูปที่สามารถรู้ได้โดยการกระทบสัมผัสแม้ทางกาย หรือไม่ใช่รูปที่สามารถเห็นได้ทางตา แต่เป็นรูปที่สามารถรู้ได้ทางใจ

    รูปใดก็ตาม ที่ไม่สามารถรู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รูปนั้นเป็นรูปที่สามารถรู้ได้ทางใจ

    กำลังนั่ง มีวิการรูป แต่วิการรูปปรากฏไหม นี่เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณา การอบรมเจริญปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติ ตามความเป็นจริง กำลังเดินมีวิการรูป แต่วิการรูปปรากฏให้รู้ไหมในขณะที่เดิน เพราะว่าผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน มีสติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏแม้ในขณะ ที่นั่ง แม้ในขณะที่นอน แม้ในขณะที่ยืน แม้ในขณะที่เดิน

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่การเจาะจงที่จะรู้รูปละเอียด เพราะว่าวิการรูป ๓ ไม่ใช่รูปหยาบ รูปหยาบมีเพียง ๑๒ รูปเท่านั้นที่เป็นโอฬาริกรูป คือ จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท รวม ๕ รูป และรูปารมณ์ สิ่งที่ปรากฏทางตา ๑ สัททารมณ์ เสียงที่ปรากฏทางหู ๑ คันธารมณ์ กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก ๑ รสารมณ์ รสที่ปรากฏทางลิ้น ๑ โผฏฐัพพารมณ์ ๓ รวม ๗ รูป ที่เป็นรูปหยาบที่เป็นอารมณ์ปรากฏทางทวารทั้ง ๕ นอกจากนั้นแล้วไม่ใช่รูปหยาบ

    การอบรมเจริญสติปัฏฐานแม้ในขณะที่กำลังเดิน ขณะที่กำลังนั่ง ขณะที่กำลังยืน ขณะที่กำลังนอน ไม่ใช่ให้รู้รูปละเอียดที่ไม่ปรากฏ แม้ว่ามีแต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะรู้ได้ ถ้าไม่รู้ลักษณะของรูปหยาบที่ปรากฏตามปกติก่อน

    รูปารมณ์ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นรูปหยาบแน่ๆ เพราะปรากฏจริงๆ ไม่มีอะไรกั้นเลย และปสาทรูปซึ่งกระทบกับรูปารมณ์ก็มี แต่ลักษณะของปสาทรูปนั้น ไม่ใช่รูปที่เห็นได้ แต่รูปารมณ์เป็นรูปที่เห็นได้ เพราะฉะนั้น ควรพิจารณาลักษณะของรูปที่กำลังปรากฏ แทนที่จะพิจารณาลักษณะของจักขุปสาทรูป เพราะว่ารูปารมณ์กำลังปรากฏ แต่จักขุปสาทรูปไม่ปรากฏ

    ถ้ามองตาคนอื่น จะเห็นจักขุปสาทรูปของเขาไหม แต่ก่อนนี้เข้าใจว่าเห็น ใช่ไหม ทางแพทย์อาจจะใช้คำว่า จักขุปสาท หรือโสตปสาทใดๆ ก็ตามแต่ แต่ให้ทราบว่า สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏทั้งหมด ทางตามีรูปเดียว คือ วัณณะ หรือรูปายตนะ ซึ่งเป็นรูปารมณ์ในขณะที่จักขุวิญญาณกำลังเห็นเท่านั้น เป็นแต่เพียงสีสันที่กระทบกับจักขุปสาทและปรากฏ แต่ตัวจักขุปสาทจริงๆ ไม่เห็น

    เพราะฉะนั้น วิการรูป เห็นไม่ได้ ใครจะกำลังยืน กำลังเดิน กำลังพูด กำลังนั่ง กำลังนอนอย่างไรก็ตาม ไม่มีใครเห็นวิการรูปได้ เห็นได้แต่เพียงรูปารมณ์ สิ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น

    วิการรูป ไม่ใช่ท่าทาง แต่เป็นรูปเบา รูปอ่อน ที่ควรแก่การงาน ซึ่งจะรู้ได้ทางมโนทวาร แต่ต้องรู้รูปหยาบก่อน

    ขณะที่กำลังเดิน หรือกำลังทำงานต่างๆ มีการระลึกรู้ลักษณะของรูป เป็นไปได้ไหม กำลังก้าวเดินไป กำลังเอื้อมมือ กำลังคู้แขนเข้า หรือว่าเหยียดแขนออก จะรู้ลักษณะของรูปได้ไหม จะเจาะจงลงไปว่ารู้วิการรูปได้ไหม ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของโผฏฐัพพารมณ์ที่กระทบกับกายปสาท เพราะการที่จะรู้ลักษณะของรูปหนึ่งรูปใด อย่าลืมว่า ต้องมีทวารหนึ่งทวารใดเป็นทางให้รู้อารมณ์นั้นๆ หรือรู้รูปนั้นๆ ไม่ใช่รู้ขึ้นมาลอยๆ

    อย่างเวลานี้ จะรู้หทยรูปได้ไหม รู้ได้หรือเปล่า รู้ว่าจิตต้องเกิดที่รูป และรูปที่เป็นที่เกิดของจิตก็มีอายุที่สั้นมากเพียงชั่วขณะจิต ๑๗ ขณะเท่านั้นเอง และรูปใดที่ไม่ปรากฏ รูปนั้นดับแล้ว เพราะฉะนั้น จะไปพากเพียรที่จะรู้หทยรูป ก็เป็นไปไม่ได้

    ถ้าสติระลึกรูปที่ตรงหัวใจ รู้รูปอะไร ทุกคนมีหัวใจ และถ้าสติจะระลึกรูป ตรงนั้น ที่ตรงหัวใจ จะระลึกรู้รูปอะไร ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ถ้ามีอาการของรูปหนึ่งรูปใดปรากฏ ระลึกได้ ศึกษาได้ พิจารณาได้ จนกว่าจะรู้ว่านั่นเป็นเพียงรูป ไม่ใช่ร่างกายทั้งท่อนทั้งแท่ง ใหญ่โตตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า แต่ลักษณะของรูปใดกำลังปรากฏที่ใด ก็ศึกษาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของรูปนั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้ากำลังนั่งอยู่ หรือนอนอยู่ก็ตาม และมีรูปปรากฏที่ตรงหัวใจ ขณะนั้นสติระลึกลักษณะของรูปนั้น รูปนั้นจะเป็นรูปอะไร ต้องเป็นรูปแน่ๆ ใช่ไหม เพราะว่าลักษณะนั้นไม่ใช่สภาพรู้

    การที่จะหมดความสงสัยในนามธรรมและรูปธรรมได้จริงๆ ไม่ว่ารูปใดทั้งนั้นที่ปรากฏ ก็สามารถรู้ว่า รูปที่ปรากฏนั้นมีลักษณะอย่างไร และด้วยลักษณะนั้นเอง จึงรู้ว่าเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม เพราะว่าลักษณะนั้นบอก แสดงอาการของรูป หรือแสดงอาการของนาม

    เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นที่กาย ซึ่งจิตก็เกิดที่รูปที่กาย ทั่วทั้งตัวเป็นที่เกิดของ จิตได้ เพราะว่ากายปสาทก็ซึมซาบอยู่ทั่วทั้งตัว เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะกระทบที่หน้าผาก ที่ปลายหู ที่ไหนก็ตาม ซึ่งมีลักษณะของรูปหนึ่งรูปใดปรากฏ ปัญญาที่พิจารณารู้ในลักษณะของรูปนั้นก็จะรู้ในลักษณะจริงๆ ของรูปนั้น โดยที่ไม่หลงเข้าใจผิดว่า รูปนั้นเป็นรูปอื่น เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดระลึกลักษณะของรูปที่ตรงหัวใจ จะเป็นลักษณะของรูปอะไร

    มีลักษณะของรูปปรากฏ ทั่วทั้งตัวนี่เป็นรูป ปรากฏได้ แต่ไม่ใช่โดยการเจาะจง ไม่ใช่เพียรไปจ้องเพื่อให้รูปนั้นปรากฏ ในเมื่อรูปนั้นไม่ได้ปรากฏ แต่รูปอื่นปรากฏ เช่น ทางตากำลังปรากฏ แต่ไปจ้องที่ตรงหัวใจ เพื่อให้รูปอื่นปรากฏ นั่นไม่ถูก เพราะว่า รูปที่ตรงหัวใจนั้นไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าเราเคยรู้ว่าตรงนั้นเป็นหัวใจ และมีลักษณะของรูปปรากฏ เนื่องจากเป็นร่างกายก็ต้องมีลักษณะหนึ่งลักษณะใด แต่ถ้าบังเอิญปรากฏตรงนั้น จะเป็นลักษณะของรูปอะไร ซึ่งรูปนี่ ทั่วทั้งกายปรากฏได้ ปรากฏได้จริงๆ ตรงไหนก็ได้ อย่าตื่นเต้นว่าเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องพิเศษ เพราะว่า เป็นเพียงรูป

    ข้อสำคัญที่สุด คือ ปัญญาต้องฉลาดพอที่จะเข้าใจ ที่จะรู้แล้วละการยึดถือทั้งหมด และรู้ว่าเป็นแต่เพียงรูป เมื่อไรที่เป็นแต่เพียงรูปแสดงว่า ปัญญาสามารถคลายความยึด ความติด ความสำคัญ หรือความต้องการที่จะรู้ในรูปนั้นๆ ซึ่งก็เป็นแต่เพียงรูปเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ลองพิจารณาดู ถ้าเกิดรูปปรากฏตรงนั้นจะเป็นลักษณะของรูปใด ร้อนได้ไหม ถ้าไม่ใช่ไหว จะเป็นร้อนได้ไหม

    รูปปรากฏทีละลักษณะ แล้วแต่ว่า ถ้าไหวไม่ปรากฏ บังคับให้ไหวปรากฏ ก็ไม่ได้ ใช่ไหม ทั่วทั้งตัวเวลานี้ มีรูปไหวไหนที่กำลังปรากฏบ้าง ตามความเป็นจริง ตามปกติ ในขณะนี้ มีรูปไหวใดกำลังปรากฏบ้าง แม้แต่ตรงที่คิดว่าเป็นหัวใจ มีไหวหรือเปล่าในขณะนี้ ก็ไม่มี ใช่ไหม

    ถ้าที่ๆ เราเคยคิด เคยเข้าใจ เคยรู้ว่าเป็นหัวใจ และมีรูปหนึ่งรูปใดปรากฏ ในขณะนั้นจะเป็นรูปอะไร

    รูปใดๆ ก็ตามที่จะปรากฏ ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ต้องให้หมดความสงสัย เพราะว่ารู้ลักษณะของรูปนั้นจริงๆ ซึ่งก็จะไม่พ้นไปจากมหาภูตรูป ถ้าเป็นที่กายทั้งหมดตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ไม่มีกลาปไหนเลยที่จะปราศจากมหาภูตรูป แล้วแต่ว่าจะเป็นลักษณะของมหาภูตรูปใด

    หทยรูป เป็นที่เกิดของจิตอื่นๆ ทั้งหมด เว้นทวิปัญจวิญญาณ เพราะฉะนั้น ถ้าทางตาในขณะนี้ยังไม่รู้ว่า จักขุปสาทรูปเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ จะไปรู้ว่า ที่นั้นเป็นหทยรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตได้ไหม ในเมื่อปสาทรูปหยาบกว่าหทยรูป กำลังเห็นขณะนี้ ถ้ารู้ที่เกิดของจิตเห็น จะรู้ว่า วัตถุที่กำลังปรากฏเป็นรูปารมณ์ เป็นภายนอกจริงๆ แต่ตัวจักขุวิญญาณจริงๆ ที่กำลังเห็น กำลังเกิดที่จักขุปสาทรูป

    เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่รู้ว่าจักขุปสาทรูปเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ แต่จะไป รู้หทยรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ก็เป็นแต่เพียงการคิด ใช่ไหม ในเมื่อจักขุปสาทรูปเป็นรูปที่หยาบกว่าหทยรูป เพราะว่าจักขุปสาทรูปเป็นโอฬาริกรูป เป็นรูปหยาบ เนื่องจากกระทบสัมผัสเกี่ยวข้องกับรูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อยู่เสมอ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๕ ตอนที่ ๑๔๔๑ – ๑๔๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 91
    28 ธ.ค. 2564