แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1452
ครั้งที่ ๑๔๕๒
สาระสำคัญ
จิตเกิดดับสืบต่อทุกขณะ ไม่มีใครยับยั้งได้
สภาพธรรมที่มีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน (เป็นเพียงธาตุ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์)
อส.จิตตุปาทกัณฑ์ แสดงปัจจัยให้เกิดโสตวิญญาณ
อส.รูปกัณฑ์ - อธิบายลักษณะของโสตปสาทรูป, อส.รูปกัณฑ์ - แสดงวิเสส ลักษณะของโสตปสาทรูป
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๒๘
เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับการเข้าใจสภาพธรรมเพิ่มขึ้น ที่จะทำให้ไม่หวั่นไหว ต่อเสียงที่ปรากฏที่กระทบหู ซึ่งทุกคนจะเห็นได้ว่า หวั่นไหวตั้งแต่เริ่มกระทบ คือ ถ้าเป็นเสียงที่ดีที่ยังไม่ดับ กระทบกับโสตปสาทที่ยังไม่ดับ กระทบกับภวังคจิต เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเป็นภวังคจลนะ คือ ไหว และดับไป เมื่อภวังคจลนะไหวและ ดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้ภวังคุปัจเฉทะซึ่งเป็นกระแสภวังค์ดวงสุดท้ายเกิดขึ้นและก็ดับ นี่ยังไม่มีการได้ยินเสียง แต่เสียงที่กระทบเป็นปัจจัยทำให้จิตหวั่นไหวไปตามเสียงนั้น และเมื่อภวังคุปัจเฉทะดับไป ปัญจทวาราวัชชนจิตคือวิถีจิตขณะแรกต้องเกิด เพราะเมื่อภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว ที่จะไม่ให้มีวิถีจิตเกิดต่อนั้น เป็นไปไม่ได้เลย
และเมื่อเสียงกระทบกับโสตปสาท ปัญจทวาราวัชชนะหรือจะเรียกว่า โสตทวาราวัชชนะก็ได้ เกิดขึ้นรู้เสียงที่กระทบหูและดับไป ขณะนั้นเป็น อุเบกขาเวทนา ยังไม่เป็นเวทนาอื่น เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตรู้ว่าเสียงกระทบหู และดับไป โสตวิญญาณซึ่งเป็นกุศลวิบากจึงเกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้น ชั่วขณะเดียว
ถ้าขณะนี้มีสัททารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ที่น่าพอใจกระทบ จะได้ทราบว่า จิตเริ่มหวั่นไหวไปในขณะใดบ้าง เพราะว่าเมื่อโสตวิญญาณเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาเกิดขึ้นรับอารมณ์นั้นต่อและดับไป ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่ดีปานกลาง อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิตจะเกิดขึ้นพิจารณาอารมณ์นั้นต่อจากสัมปฏิจฉันนจิตและดับไป หลังจากนั้น โวฏฐัพพนจิต เกิดต่อ ตามการสะสมที่ได้สะสมมาว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไป ชวนะที่เกิดต่อสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ขณะนั้นถ้าไม่เป็นกุศลก็เป็นอกุศล ประเภทหนึ่งประเภทใด คือ หวั่นไหวไปเพราะเสียงที่กระทบกับโสตปสาท ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็ว
ถ้ามีความพอใจในเสียงนั้น ก็เป็นโลภมูลจิตเกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ ถ้าเป็นความไม่พอใจในเสียงนั้น ก็เป็นโทสมูลจิตเกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ หรือมิฉะนั้นก็เป็นโมหมูลจิตเกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ เมื่อดับไปแล้ว ยังมีตทาลัมพนจิตซึ่งเป็นวิบากอีก ๒ ขณะ ก่อนที่เสียงซึ่งมีอายุเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะจะดับไป
นี่คือชีวิตประจำวันซึ่งสะสมอกุศลมากมาย ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด จะเห็นได้ว่า ไม่มีใครยับยั้งนามธาตุ คือ จิตเจตสิกที่จะเกิดขึ้นเป็นไป ในขณะที่เสียงกระทบหู หรือรูปกระทบตา กลิ่นกระทบจมูก รสกระทบลิ้น กายกระทบสิ่งที่กำลังปรากฏเป็น เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว แต่ไม่ใช่เพียงเท่านี้ หลังจากที่รูปดับไปและ ภวังคจิตเกิดต่อ มโนทวารวิถีจิตยังรับรู้อารมณ์นั้นต่อไปอีก และก็มีความหวั่นไหวไปด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้างตามการสะสมของจิต จนกระทั่งรู้คำ รู้ความหมาย ถึงแม้ว่าเสียงนั้นจะดับไปนานหลายชั่วโมง หรือหลายวัน ก็อาจจะยังคิดถึง เป็นปัจจัยให้เกิดโทมนัสเวทนา หรือว่าโสมนัสเวทนาได้
นี่คือเพียงสภาพธรรมเกิดขึ้นกระทบประชุมกันทำให้เกิดการได้ยิน และมีความหวั่นไหวมากมาย ตั้งแต่เมื่อรู้เสียงที่ยังไม่ดับ จนกระทั่งเสียงนั้นดับไปแล้ว
เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจความจริงอย่างนี้ สติปัฏฐานจะเกิดระลึกได้ว่า สภาพธรรมเกิดขึ้นและดับไปเร็วมาก ไม่ควรที่จะติดตามให้เศร้าหมองเป็นทุกข์กังวลกับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว แต่ควรที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ มิฉะนั้นแล้ว พระธรรมจะไม่สามารถกำจัดทุกข์ โทมนัส หรือว่าอภิชฌาและโทมนัสได้ แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้วสามารถกำจัดอภิชฌา ทุกข์ และโทมนัสได้ ก็ด้วยสติที่เกิดและระลึกถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที
ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมที่มีเป็นปกติ ในชีวิตประจำวันโดยละเอียดจริงๆ เพื่อให้เห็นความเป็นธาตุ ความไม่ใช่ตัวตน สัตว์บุคคลของสภาพธรรมแต่ละอย่าง จนกว่าสติจะระลึกจนชำนาญ จนสามารถรู้ชัด จนละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้
เสียง มีเป็นปกติ เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ถ้าเพียงโสตปสาทไม่มี โลกนี้เงียบ แต่ ไม่หมดกิเลส เพราะยังมีทวารอื่น เช่น ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
อัฏฐสาลีนี จิตตุปปาทกัณฑ์ แสดงปัจจัยให้เกิดโสตวิญญาณ คือ
อสัมภินนัตตา โสตัสสะ เพราะโสตปสาทยังไม่แตกดับ
คือ โสตปสาทรูปที่เกิดจะมีอายุ ๑๗ ขณะ ช่วงที่ยังไม่ดับเท่านั้นจึงจะเป็นปัจจัยให้เกิดโสตวิญญาณได้
อาปาถคตัตตา สัททานัง เพราะเสียงทั้งหลายมาสู่คลอง คือ กระทบกับ โสตปสาท
อากาสสันนิสสิตัง อาศัยอากาศ
มนสิการเหตุกัง มีมนสิการเป็นเหตุ
มนสิการในที่นี้ ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นวิถีปฏิปาทกมนสิการ ถ้าปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดและดับไป โสตวิญญาณต้องเกิดต่อ ไม่มีใครสามารถยับยั้งได้
อัฏฐสาลีนี รูปกัณฑ์ อธิบายลักษณะของโสตปสาทรูป มีข้อความว่า
ชื่อว่าโสตะ เพราะอรรถว่า ได้ยิน โสตะที่เป็นปสาทรูปนั้นเกิดในประเทศ คือ ที่ที่มีสัณฐานดังวงแหวน มีขนแดงละเอียดงอกขึ้นภายในช่องแห่งสสัมภารโสตะ
สสัมภารโสตะ คือ หูทั้งหมดที่ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ที่เป็นที่อาศัยของ โสตปสาทรูป
อันธาตุทั้งหลายมีประการดังกล่าวแล้วอุปการะ อันอุตุ จิต และอาหารอุปถัมภ์ อันอายุ คือ ชีวิตรูป อนุบาล คือ รักษา อันโคจรรูป มีวัณณะ คือ สีเป็นต้นแวดล้อมแล้ว ย่อมให้สำเร็จความเป็นวัตถุและทวารแห่งวิถีจิต มีโสตวิญญาณ เป็นต้น ตามสมควร
ในขณะนี้เอง ถ้าจะรู้ลักษณะของโสตปสาทรูปว่าอยู่ที่ไหน และสสัมภารโสตะ คือ หูที่ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ซึ่งเป็นที่อาศัยของโสตปสาทรูป จะเห็นได้ว่า ต้องอาศัยธาตุอื่นอุปการะ คือ อุตุ จิต อาหาร และชีวิต มิฉะนั้นแล้วจะไม่สามารถเป็นสภาพที่ดำรงชีวิตที่ทำให้การได้ยินเกิดขึ้นได้
ข้อความใน อัฏฐสาลีนี รูปกัณฑ์ แสดงวิเสสลักษณะของโสตปสาทรูป ซึ่งเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน มีลักษณะพิเศษ สามารถรับกระทบเฉพาะเสียง
วิเสสลักษณะ คือ ลักษณะเฉพาะของโสตปสาทรูป ได้แก่
สัททาภิฆาตารหภูตัปปสาทลักขณัง โสตุกามตานิทานกัมมสมุฏฐานภูตัปปสาทลักขณัง วา โสตัง โสตมีความใสแห่งภูตรูปอันควรแก่การกระทบเสียง เป็นลักษณะ หรือมีความใสของภูตรูปอันมีกรรมเป็นสมุฏฐานอันเป็นเหตุของบุคคล ผู้ใคร่เพื่อจะฟังเป็นลักษณะ
สัทเทสุ อาวิญจนรสัง มีการชักมาที่เสียงเป็นรสะ
ในบางแห่งจะแปลว่า มีการคร่าเสียงทั้งหลายมาเป็นรสะ คือ มีการกระทบเสียงเป็นกิจ
โสตวิญญาณัสสะ อาธารภาวปัจจุปัฏฐานัง มีความเป็นที่รองรับแห่ง โสตวิญญาณเป็นปัจจุปัฏฐาน
คือ เป็นที่เกิดของจิตที่กำลังได้ยิน ขณะที่กำลังได้ยินในขณะนี้ จิตได้ยินเกิดที่โสตปสาทรูป ไม่ได้เกิดที่จักขุปสาทซึ่งจิตเห็นกำลังเกิดขึ้น
โสตกามตานิทาน กัมมชภูตปทัฏฐานัง มีภูตรูปอันเกิดแต่กรรมซึ่งมีความประสงค์จะฟังเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุ
นี่คือสภาพธรรมที่ไม่มีใครสามารถสร้างขึ้นมาได้เลย นอกจากกรรมเท่านั้น ที่เป็นปัจจัยให้โสตปสาทรูปเกิดหรือไม่เกิด
ถ. ขณะนี้ถ้าเราได้ยินเสียงตีระฆัง มีเสียงปรากฏ ระลึกรู้ ถือว่าเป็น สัททารมณ์ ใช่ไหม
สุ. ในขณะที่เสียงกำลังปรากฏ ระลึกลักษณะของเสียง
ถ. ลักษณะของเสียงเป็นสัททารมณ์
สุ. รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมองไม่เห็น แต่ได้ยินได้
ถ. ถ้าระลึกที่อาการได้ยินก็เป็นนาม ใช่ไหม
สุ. ใช่
ถ. เมื่อกลับไปบ้าน นึกถึงเมื่อตอนกลางวันว่า เราได้ยินเสียงระฆัง ขณะนั้นเป็นอดีตสัททารมณ์ ใช่ไหม
สุ. ใช่
ถ. เมื่อไปถึงบ้านแล้ว ขณะนั้นเป็นสัททารมณ์ หรือเป็นธัมมารมณ์
สุ. สัททารมณ์ หมายความถึงเสียง เพราะฉะนั้น ต้องคิดถึงลักษณะเสียง ถูกไหม เสียงเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะที่กระทบและปรากฏทางหู ในขณะที่เสียงกำลังปรากฏจริงๆ เป็นปัจจุบันทางโสตทวารวิถี แต่เมื่อเสียงดับไป ทางมโนทวารวิถีเกิดต่อ มีเสียงที่ดับไปแล้วเป็นอดีตสัททารมณ์ได้ นั่นอย่างหนึ่ง ลักษณะของเสียงเป็นอย่างนั้น แม้ว่าจะปรากฏทางปัญจทวารแล้ว ก็ยังปรากฏทางมโนทวารต่อด้วย นี่ตอนหนึ่ง
ถ้าตอนเย็น ตอนค่ำ เสียงนั้นไม่ปรากฏแล้ว แต่ลักษณะของเสียงที่สัญญา จำไว้ สัญญาเจตสิกเกิดขึ้นมีเสียงซึ่งดับไปแล้วเป็นอารมณ์ ไม่ใช่เสียงอื่น เสียงแต่ละเสียงมีลักษณะเฉพาะของเสียงนั้นๆ เสียงระฆังก็เสียงหนึ่ง เสียงกลองก็อีกเสียงหนึ่ง เพราะฉะนั้น เวลาที่สัญญาจำเสียงหนึ่งเสียงใด ขณะที่สัญญาเกิดขึ้นจำเสียงที่เคย ได้ยินแล้ว ในขณะนั้นกำลังมีเสียงหนึ่งเสียงใดจะเป็นเสียงกลอง หรือจะเป็นเสียงระฆังก็ได้ แต่ต้องมีลักษณะนั้นที่จำไว้เป็นอารมณ์ ขณะนั้นชื่อว่ามีอดีตสัททารมณ์ เป็นอารมณ์ แต่ต้องมีลักษณะเหมือนกันจริงๆ
ถ. คล้ายๆ เหง่งๆ (ทำเสียงระฆัง)
สุ. ถ้าในขณะนึกและจำได้ว่าเป็นเสียงนั้นเกิดขึ้นจริงๆ อย่างนั้น ต้องมีลักษณะของเสียงนั้นด้วย
ถ. แต่ต้องมีคำว่า อดีตสัททารมณ์
สุ. เพราะขณะนั้นไม่ใช่เสียงนั้นกระทบกับโสตปสาทจริงๆ แต่สัญญา ความจำ จำไว้ละเอียดจริงๆ จนเสมือนเสียงนั้นปรากฏในลักษณะนั้น แต่เมื่อ ไม่ปรากฏ จึงเป็นอดีตสัททารมณ์
ถ. จะนับว่าเป็นธัมมารมณ์ไหม
สุ. ธัมมารมณ์ หมายความถึงอารมณ์ที่รู้ได้เฉพาะทางใจทางเดียว เพราะฉะนั้น รูปที่กำลังปรากฏทางตา แม้ว่าทางใจ คือ ทางมโนทวาร ก็รู้รูปนั้น แต่รูปารมณ์ก็ยังคงเป็นรูปารมณ์ รูปารมณ์จะเปลี่ยนเป็นธัมมารมณ์ไม่ได้ เพราะ ธัมมารมณ์หมายถึงอารมณ์ใดๆ ก็ตามที่สามารถรู้ได้เฉพาะทางมโนทวาร ทวารเดียวเท่านั้น
จิตรู้ได้เฉพาะทางมโนทวารทวารเดียว จิตจึงเป็นธัมมารมณ์ เจตสิกรู้ได้เฉพาะทางมโนทวารทวารเดียว เจตสิกจึงเป็นธัมมารมณ์ รูปอื่นที่นอกจากวัณณะ นอกจากเสียง นอกจากกลิ่น นอกจากรส นอกจากโผฏฐัพพะ ก็เป็นธัมมารมณ์
ถ. หมายความว่า ถ้าทางตาต่อทางใจ ไม่เป็นธัมมารมณ์
สุ. รูปายตนะ หรือรูปารมณ์ จะเป็นธัมมารมณ์ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นขณะที่กำลังปรากฏทางตาก็เป็นรูปารมณ์ ขณะที่มโนทวารรู้ ก็รู้รูปารมณ์นั่นแหละ แต่รู้ ทางใจต่อ
ถ. รู้ทางใจต่อนั้น ไม่นับว่าเป็นธัมมารมณ์หรือ
สุ. ไม่เป็น เพราะว่าธัมมารมณ์หมายเฉพาะอารมณ์ใดๆ ก็ตามที่รู้ได้เฉพาะทางใจทางเดียว
รูปารมณ์จะไม่เปลี่ยนสภาพของรูปารมณ์เลย ไม่ว่าจะรู้ทางทวารไหน รูปารมณ์ที่กำลังปรากฏทางตา เวลาที่ผ่านทางจักขุทวารวิถี คือ รูปารมณ์นั้นดับแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตเกิดรู้รูปารมณ์นั้นสืบต่อ รูปารมณ์ก็ยังคง มีลักษณะของรูปารมณ์ และก็เป็นรูปารมณ์ ไม่เปลี่ยน
ในอรรถกถามีข้อความที่แสดงว่า ถ้าแกว่งก้านธูปที่จุดแล้ว แสงไฟจะปรากฏเป็นวงตามที่แกว่ง แต่ความจริงแสงไฟจะเป็นวงอย่างนั้นไม่ได้เลย แสงไฟจริงๆ จะปรากฏเพียงชั่วแต่ละขณะ ซึ่งไม่ใช่เป็นวงตามการแกว่ง เพราะฉะนั้น รูปารมณ์ ไม่ว่าจะปรากฏทางตา และผ่านไปถึงทางใจ จนกระทั่งปรากฏเป็นวงของแสงไฟของก้านธูปก็ตาม ขณะนั้นลักษณะของรูปารมณ์ก็เป็นรูปารมณ์ ไม่ว่าจะปรากฏทางตา หรือปรากฏทางใจ ลักษณะของเสียงจะปรากฏทางหู หรือทางมโนทวารวิถีจิตจะรู้เสียงนั้นสืบต่อ แม้ว่าเสียงนั้นจะดับไปแล้ว แต่การสืบต่อทางมโนทวารวิถีที่รับอารมณ์ต่อจากทางโสตทวารวิถี เสียงต้องเป็นเสียง มีลักษณะของเสียง จะเปลี่ยนเป็นลักษณะอื่นไม่ได้
เพราะฉะนั้น รูปารมณ์ไม่ใช่ธัมมารมณ์ สัททารมณ์ไม่ใช่ธัมมารมณ์ คันธารมณ์ไม่ใช่ธัมมารมณ์ รสารมณ์ไม่ใช่ธัมมารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ไม่ใช่ธัมมารมณ์ ธัมมารมณ์ต้องหมายความถึงสิ่งอื่นทั้งหมดที่ไม่สามารถรู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รู้ได้เฉพาะทางใจทางเดียว จึงเป็นธัมมารมณ์
ถ. เมื่อรูปารมณ์ปรากฏทางตาและดับไป มโนทวารวิถีก็รับรูปารมณ์นั้นต่อ ซึ่งยังถือว่าเป็นรูปารมณ์อยู่ โดยนัยเดียวกัน ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ข้อนี้ ไม่สงสัย ที่สงสัย คือ เมื่อได้รับรูปารมณ์ หรือสัททารมณ์ เรารู้ทางตา ทางหูแล้วตั้งแต่เช้า ตอนเย็นกลับไปถึงบ้านก็นึกถึงเสียง นึกถึงรูปที่เห็นนั้น ลักษณะอย่างนี้ยังจัดว่าเป็นรูปารมณ์ หรือสัททารมณ์อยู่หรือเปล่า
สุ. ไม่ใช่เพียงนึก แต่ต้องมีลักษณะของรูปนั้นๆ ลักษณะอย่างนั้นด้วย
ถ. คล้ายกับได้ยินแว่วๆ อยู่อย่างนั้น
สุ. เหมือนอย่างนั้นทีเดียว ไม่ใช่เพียงแต่คิด
ถ. หากเพียงคิดว่า เมื่อวานนี้เราเห็นอย่างนั้น เราได้ยินอย่างนั้น ต้องเป็นธัมมารมณ์
สุ. เป็นเรื่อง เป็นบัญญัติ เป็นเรื่องราวมากกว่า
ถ. เป็นหน้าที่ของมโนทวาร
สุ. ขณะนี้จะระลึกถึงกลิ่นดอกมะลิ ระลึกอย่างไรจึงจะเหมือนกับที่เคยได้กลิ่นนั้นจริงๆ ต้องปรากฏเสมือนกับที่เคยได้กลิ่นมาแล้ว แล้วแต่ว่าจะมีความประทับใจมากแค่ไหน แต่ข้อความในอรรถกถาแสดงว่า การน้อมนึกถึงอารมณ์ต่างๆ อาจจะด้วยการเคยเห็น หรือเพียงด้วยการได้ยิน แต่อรรถกถาจารย์ทั้งหลายก็ไม่ถือเอานัยนี้ เช่นเป็นต้นว่า ไม่เคยเห็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แต่เวลาที่อ่านในพระไตรปิฎกจะมีมหาปุริสลักษณะ ซึ่งใจของแต่ละคนจะน้อมนึกไปถึงพระสุรเสียงบ้าง พระฉวีบ้าง หรือลักษณะของพระเนตรบ้าง พระชงฆ์บ้างก็แล้วแต่ ก็เป็นการน้อมนึกโดยอาศัยการที่เคยเห็นสีนั้นๆ หรือน้อมนึกไปว่า เสียงคงจะเป็นไปในลักษณะนั้นๆ โดยที่ไม่ได้เคยเห็นมาก่อนเลย โดยนัยนี้ ท่านอรรถกถาจารย์ก็ไม่ถือเอา
เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานเท่านั้นที่สามารถระลึกและรู้ได้จริงๆ ว่า ในขณะนั้นมีอดีตรูปารมณ์เป็นอารมณ์จริงๆ หรือเป็นแต่เพียงสัญญา ความทรงจำบัญญัติเรื่องราวของรูปารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์นั้นๆ
บางท่านอาจจะเคยได้กลิ่นหอมแปลกๆ และยังรู้สึกเหมือนกับติดจมูกอยู่ ก็เป็นเรื่องที่รู้เฉพาะตน แต่ให้ทราบว่า รูปที่เคยเห็นก็ดี เสียงที่เคยได้ยินก็ดี กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่เคยกระทบสัมผัสก็ดีที่ดับไปแล้ว เป็นอดีตรูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ไม่ใช่ธัมมารมณ์ เพราะฉะนั้น วิถีจิตที่รู้อารมณ์ทางใจ รู้อารมณ์ได้ทั้ง ๖ อารมณ์ แต่สำหรับธัมมารมณ์นั้น รู้ได้เฉพาะ มโนทวารวิถีเท่านั้น นี่เป็นความต่างกัน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๖ ตอนที่ ๑๔๕๑ – ๑๔๖๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1441
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1442
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1443
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1444
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1445
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1446
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1447
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1448
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1449
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1450
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1451
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1452
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1453
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1454
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1455
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1456
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1457
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1458
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1459
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1460
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1461
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1462
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1463
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1464
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1465
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1466
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1467
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1468
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1469
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1470
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1471
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1472
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1473
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1474
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1475
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1476
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1477
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1478
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1479
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1480
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1481
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1482
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1483
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1484
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1485
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1486
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1487
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1488
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1489
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1490
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1491
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1492
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1493
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1494
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1495
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1496
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1497
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1498
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1499
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1500