แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1454
ครั้งที่ ๑๔๕๔
สาระสำคัญ
รูปที่เกิดจากกรรมมีชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วย กลุ่มของรูปต่างๆ
อส. รูปกัณฑ์ พระบาลีกายวิญญัตินิท กายวิญญัติก็เป็นรูปที่ทำให้รู้ความหมาย ความต่างกันของเสียงซึ่งเกิดเพราะอุตุและเสียงที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๒๘
ถ. สุทธัฏฐกกลาป คำว่า สุทธะ คือ อย่างเดียวกับภาษาไทยที่เราพูดกันว่า บริสุทธิ์
สุ. อัฏฐกะ แปลว่า ๘ สุทธัฏฐกะจึงแปลว่า รูปที่มี ๘ รูปล้วนๆ โดยไม่มีรูปอื่นเจือปนเลย
ถ. ๘ รูปล้วนๆ นี้ สมุฏฐานเกิดจากจิต อุตุ และอาหารเท่านั้น ถ้าเพิ่มชีวิตนวกกลาป จะมีกรรมเป็นสมุฏฐานเพิ่มขึ้นมาด้วย
สุ. เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงรูป ๘ รูป คือ กลุ่มของรูปซึ่งไม่เกิดจากกรรม นี่เป็นความต่างกันของรูปซึ่งดำรงชีวิต กับรูปซึ่งไม่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน อย่างต้นไม้ใบหญ้าจะกล่าวว่าเป็นรูปที่เกิดจากกรรมไม่ได้ เป็นชีวิตรูปไม่ได้ เป็น ชีวิตินทริยะไม่ได้ เพราะไม่ใช่รูปที่เกิดจากกรรม จึงไม่มีชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วย
รูปที่เกิดจากกรรม จะมีรูปในกลุ่มนั้นเกินกว่า ๘ รูป เพราะต้องมีชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วยทุกกลุ่มหรือทุกกลาป ด้วยเหตุนี้จึงมีชีวิตนวกกลาป
สำหรับกลาปคือกลุ่มของรูปที่มีรูป ๙ รูป อีกกลุ่มหนึ่ง คือ สัททนวกกลาป
ฟังอย่างนี้ ทราบได้เลยว่า คือ สัททะ + นวกะ + กลาป หมายความถึง กลุ่มของรูป ๙ รูป ที่มีเสียงรวมอยู่ด้วย
เมื่อกี้เป็นชีวิตนวกกลาป กลุ่มของรูป ๙ รูป ซึ่งมีชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วย เพราะเป็นรูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน แต่กลุ่มของรูปอื่นซึ่งมีรูป ๙ รูปที่มีเสียงรวมอยู่ด้วย ชื่อว่าสัททนวกกลาป เป็นเสียงที่เป็นอวิญญาณกะ เพราะว่าเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน
นี่คือความต่างกันของเสียงที่เกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน และเสียงที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ถ้าเป็นเสียงที่เกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐานจะมีรูปรวมอยู่ในที่นั้นเพียง ๙ รูปเท่านั้น ต่างกับเสียงที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน
สำหรับกลาปคือกลุ่มของรูปที่มี ๙ รูป กลุ่มต่อไป คือ กายวิญญัตตินวกกลาป ชื่อยาก แต่ความหมาย คือ กลุ่มของรูป ๙ รูป ที่มีกายวิญญัตติรวมอยู่ด้วย
กายวิญญัตติ เป็นรูปที่ทำให้รู้ความหมาย หรือว่าแสดงความหมายตามความต้องการของจิต ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลีนี รูปกัณฑ์ พระบาลีกายวิญญัตตินิทเทส แสดงว่า
รูปที่เรียกว่ากายวิญญัตตินั้น เป็นไฉน คือ ความเคร่งตึง กิริยาที่เคร่งตึงด้วยดี ความเคร่งตึงด้วยดี การแสดงให้รู้ความหมาย กิริยาที่แสดงให้รู้ความหมาย ความแสดงให้รู้ความหมายแห่งกายของบุคคลผู้มีจิตเป็นกุศล หรือมีจิตเป็นอกุศล หรือมีจิตเป็นอัพยากต (คือ ไม่ใช่กุศลและอกุศล ได้แก่ จิตที่เป็นกิริยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของพระอรหันต์) ก้าวไปอยู่ ถอยกลับอยู่ แลดูอยู่ เหลียวซ้ายแลขวาอยู่ คู้เข่าอยู่ หรือเหยียดออกอยู่อันใด รูปทั้งนี้เรียกว่า กายวิญญัตติ
กายวิญญัตติ เป็นกลุ่มของรูปที่ทำเกิดการแสดงให้รู้ความหมายทางกาย ซึ่ง มีอยู่เป็นประจำในชีวิตประจำวัน แต่ไม่ทราบเลยว่า ในขณะที่เกิดรูปซึ่งมีความหมายขึ้นได้นั้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน และในขณะนั้นมีรูปกี่รูปรวมอยู่ในกลาปหรือในกลุ่มของรูปนั้น
ไม่ต้องอาศัยเสียง แต่อาศัยกายแสดงความหมาย เช่น ถลึงตา หน้าบึ้ง เพราะฉะนั้น กลาปนั้นต้องมีรูปเพิ่มขึ้นจาก ๘ รูป โดยรวมกายวิญญัตติรูปอีก ๑ รูป ทำให้รูปกลุ่มนั้นมี ๙ รูป เป็นกายวิญญัตตินวกกลาป
เคยพยักหน้าแทนการพูดไหม หรือกระแทกเท้า หรือกวักมือ ถ้าเป็น กุศลจิตก็ยกมือไหว้ หรือก้มตัว สิ่งต่างๆ เหล่านี้แสดงถึงความหมายเพราะจิต ในขณะนั้นเป็นสมุฏฐาน รูปนั้นจึงมีความหมายเกิดขึ้นร่วมด้วย เป็นกายวิญญัตติรูป เพราะฉะนั้น กลาปนั้นต้องมีรูปเพิ่มขึ้นจาก ๘ รูป โดยรวมกายวิญญัตติรูปอีก ๑ รูป ทำให้รูปกลุ่มนั้นมีรูป ๙ รูป เป็นกายวิญญัตตินวกกลาป ไม่ว่าจะเป็นการยักคิ้ว หลิ่วตา พยักเพยิก ชี้มือ โบกมือ ทั้งหมดที่ทำให้เกิดความหมาย เป็นกายวิญญัตติ
นี่เพียงแต่เพิ่มรูปขึ้นอีก ๑ รูป ความหมายหรือลักษณะอาการของรูปนั้นก็เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้น กลุ่มของรูปที่มีรูป ๙ รูป มี ๓ กลุ่ม หรือ ๓ กลาป ได้แก่ ชีวิตนวกกลาป ๑ สัททนวกกลาปซึ่งเกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน ๑ และกายวิญญัตตินวกกลาป ๑ ซึ่งเกิดขึ้นและดับไปพร้อมกับจิต ถ้าเป็นกายวิญญัตติรูปไม่เหมือนกับ รูปอื่น เพราะว่าลักษณะที่จะเคร่งตึง หรือทำให้เกิดความหมายขึ้น ตั้งอยู่ หรือมีอยู่ ดำรงอยู่เพียงชั่วที่ขณะจิตต้องการ ขณะจิตที่ไม่ต้องการรูปนั้นก็เป็นเพียงมหาภูตรูปธรรมดา ไม่มีลักษณะพิเศษที่จะทำให้รู้ความหมายนั้นได้
จากกลุ่มของรูปที่มี ๘ รูป ซึ่งอย่างต่ำที่สุดต้องมีรูป ๘ รูป และเพิ่มขึ้นเป็นกลุ่มของรูปที่มีรูป ๙ รูป เพราะฉะนั้น รูปที่เกิดจากกรรมจะมีรูปในกลุ่มนั้นเกินกว่า ๘ รูป เพราะต้องมีชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วยทุกกลุ่มหรือทุกกลาป ด้วยเหตุนี้จึงมี ชีวิตนวกกลาป
สำหรับเสียงซึ่งเกิดจากอุตุ ไม่ได้เกิดจากจิต ก็มีรูปรวมกัน ๙ รูป คือ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีสี กลิ่น รส โอชา และมีเสียง คือ สัททรูป จึงรวมเป็น สัททนวกกลาป
สำหรับในร่างกายของเรา ขณะใดที่ต้องการแสดงความหมายออกทางกาย ในขณะนั้นจะมีกลุ่มของรูปที่เกิดเพราะจิต ซึ่งแต่ละกลุ่มนั้นมีรูปรวมกัน ๙ รูป เรียกว่า กายวิญญัตตินวกกลาป คือ นอกจากมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และมีสี กลิ่น รส โอชาแล้ว ต้องมีกายวิญญัตติรูปในกลุ่มนั้นด้วย
แต่กายวิญญัตติรูปจะตั้ง หรือดำรงอยู่เพียงชั่วขณะที่จิตต้องการให้รูปนั้น มีความหมายอย่างนั้นเท่านั้น ขณะใดที่ไม่ต้องการให้รูปนั้นมีความหมาย ก็เป็นกลุ่มหรือกลาปของรูปที่มีเพียง ๘ รูป ไม่มีกายวิญญัตติในขณะนั้นด้วย
ทุกคน ขณะใดที่ต้องการให้กายแสดงความหมาย ขณะนั้นก็ทราบได้ว่า ขณะนั้นต้องมีรูปเกินกว่า ๘ รูป เพราะว่ามีกายวิญญัตติรูปด้วย รูปนั้นจึงปรากฏความหมายขึ้น
ต่อจากนั้น จะมีกลุ่มของรูปที่มีรูปรวมกัน ๑๐ รูป เพิ่มขึ้นจากกลุ่มที่เล็กที่สุด ๘ รูป และกลุ่มที่มีรูปรวมกัน ๙ รูป ก็ถึงกลาป คือ กลุ่มของรูปที่มีรูป ๑๐ รูป จำนวน ๑๐ เป็นทสกะ จำนวน ๘ เป็นอัฏฐกะ จำนวน ๙ เป็นนวกะ
สำหรับกลุ่มของรูปที่มีรูปรวมกัน ๑๐ รูป ได้แก่ จักขุทสกกลาป เป็นต้น รูปใดก็ตามที่มีจักขุปสาทรูปเกิดร่วมด้วย ในที่นั้นจะมีรูปรวมกันในกลุ่มนั้น ๑๐ รูป เพราะนอกจากจะมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา รวม ๘ รูปแล้ว ต้องมีชีวิตินทริยรูป เพราะจักขุปสาทรูปเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น ในกลุ่มของจักขุปสาทต้องมีชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วย ๑ รูป รวมเป็น ๙ รูป และรวมจักขุปสาทรูปอีก ๑ เป็น ๑๐ รูป เรียกว่า จักขุทสกกลาป
สำหรับโสตทสกะ ฆานทสกะ ชิวหาทสกะ กายทสกะ ก็โดยนัยเดียวกัน คือ เป็นกลุ่มของรูป ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งมีรูปรวมกันในกลาปนั้น ๑๐ รูป
นอกจากนั้น อิตถีภาวทสกกลาปซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วตัว ก็มีรูปรวมกัน ๑๐ รูป คือ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา ชีวิตินทริยรูป และอิตถีภาวรูป สำหรับผู้หญิง ถ้าสำหรับผู้ชายก็เป็นปุริสภาวรูป
สำหรับรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต รูปนี้มีกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น รูปนี้ เกิดในกลุ่มซึ่งมีรูปรวมกันทั้งหมด ๑๐ รูป คือ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา ชีวิตินทริยรูป และหทยรูป
นี่เป็นรูปที่เกิดจากกรรม
ในกลุ่มของรูปที่มีรูปรวมกัน ๑๐ รูป นอกจากรูปที่เกิดเพราะกรรมแล้ว ยังมีกลุ่มของรูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐานอีก ๑ กลาป คือ วจีวิญญัตติสัทททสกกลาป หมายถึงกลุ่มของรูปซึ่งมีเสียง ที่มีวจีวิญญัตติรูปเกิดร่วมด้วย
ขณะที่ทุกคนพูด ในชีวิตประจำวันนี่เอง ที่เสียงจะปรากฏกระทบหูได้ เสียงนั้นต้องมีวจีวิญญัตติรูปเกิดร่วมกับกลุ่มของเสียงนั้น ในขณะที่เป็นเสียงที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน
เพราะฉะนั้น ในกลุ่มนี้ คือ กลุ่มของเสียงที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน มี รูปรวม ๑๐ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา และวจีวิญญัตติรูป ๑ เป็น ๙ และสัททรูป คือ เสียง อีก ๑ เป็น ๑๐ ในขณะที่พูด ไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไรก็ตามแต่ ทั้งหมดเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน แม้แต่เพียงพยางค์เดียว คำเดียว ขณะนั้นเสียงที่เกิดเพราะจิตนั้นต้องมีรูปรวมกัน ๑๐ รูป อยู่เฉยๆ มีเสียงไหม ไม่มี แต่ถ้าจะมี ต้องมีวจีวิญญัตติรูปซึ่งเป็นรูปที่ทำให้มีการกระทบกันที่ฐานของเสียงตามความประสงค์ของจิตที่จะพูด
เวลาที่ทุกคนพูด ดูเหมือนว่าไม่ได้ทำอะไรเลย เป็นแต่เพียงจิตคิด ก่อนจะพูด ต้องคิด ใช่ไหม เพราะบางครั้งยังไม่ได้พูด แต่คิด บางทีก็คิดว่า จะพูดหรือไม่พูด หรือบางครั้งก็คิดว่า จะพูดอย่างไรดี จะพูดอย่างนี้หรือจะพูดอย่างนั้น ซึ่งความวิจิตรของจิตมีมากในเรื่องของการพูด
บางคนพูดตรงไม่น่าฟังเลย ตามการสะสมของจิต บางคนอาจจะพูดสิ่งที่จริงเป็นประโยชน์และน่าฟังด้วย ก็ตามการสะสมของจิต บางคนพูดสิ่งที่ไม่จริง ตามการสะสมของจิต บางคนจริงนิดหนึ่ง ไม่จริงมากกว่า หรือว่าจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง สลับคั่นกันไป หรือบางครั้งเป็นเรื่องจริง แต่เฉ และเอียงนิดหน่อย ไม่ตรงแท้จริงๆ ก็ได้ ตามการสะสมของจิต
จะเห็นได้จริงๆ ว่า ขณะที่จะพูดแต่ละครั้ง ย่อมแล้วแต่สภาพของจิตที่เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลมากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นวจีทุจริต ต้องเป็นอกุศลอย่างแรง เพราะว่าสามารถพูดสิ่งที่ไม่จริงได้ หรือพูดคำส่อเสียดให้มีการแตกแยกเพื่อตนเองเป็นที่รักหรือคนอื่นเป็นที่ชัง หรือพูดคำที่ไม่น่าฟัง เป็นผรุสวาจา หรือพูดคำที่ไร้ประโยชน์ที่ทำให้เกิดโลภะ โทสะมากๆ ก็ได้ แต่จะเห็นได้ว่า ก่อนที่เสียงแต่ละคำจะเกิดขึ้นปรากฏนั้น ย่อมแล้วแต่ว่าวิตกเจตสิกและวิจารเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่ตรึกหรือคิดในขณะนั้น เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล
เพราะฉะนั้น ทวาร หรือทางของกรรม ได้แก่ วจีวิญญัตติรูป เพราะว่าต้องอาศัยการตรึก หรือการคิดที่เป็นกุศลหรือที่เป็นอกุศลก่อนที่จะมีคำพูดนั้นๆ เกิดขึ้นได้ และขณะใดก็ตามที่มีเสียงเกิดขึ้นเพราะจิต ขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นเพราะกลาปหรือกลุ่มของรูปกลุ่มนั้นมีรูปรวมกัน ๑๐ รูป เสียงที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐานจึงเกิดขึ้นได้
สำหรับกลุ่มของรูป ๙ รูป มีสัททนวกกลาปซึ่งเป็นอวิญญาณกะ เพราะว่าเป็นเสียงซึ่งเกิดเพราะอุตุ แต่สำหรับกลุ่มของรูป ๑๐ รูป เป็นเสียงซึ่งเกิดเพราะจิต จะมีแต่สัททรูปไม่ได้ ต้องมีวจีวิญญัตติรูปด้วย ซึ่งเป็นรูปที่ทำให้มีการกระทบกันที่ฐานของเสียงทำให้เกิดรูปตามจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศลที่คิดคำนั้นๆ
กำลังพูด สติระลึกได้ไหม จะระลึกที่สภาพธรรมไหน ทั้งๆ ที่กลาปหรือกลุ่มของรูปกลุ่มนี้มีจริง แต่เวลาที่สติระลึก จะระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมใดในขณะที่กำลังพูด เพราะผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนในขณะที่พูดด้วย มิฉะนั้นแล้วขณะใดที่พูดก็ต้องเป็นเรา เป็นตัวตนทุกครั้ง แต่การที่จะละความเป็นเรา ความเป็นตัวตนได้ ก็เพราะมีลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมกำลังปรากฏในขณะที่พูด จึงจะรู้ว่า ไม่ใช่เราที่พูด
ถ. ที่อาจารย์ถามว่า เสียงที่เราได้ยินจากโทรทัศน์ จากวิทยุนี่เกิดจากอะไร ก็คงเกิดจากอุตุอย่างเดียว เสียงที่เป็นสัททนวกกลาป ไม่ได้เกิดจากจิต เป็นเสียงภายนอกทุกชนิดที่เราได้ยิน เป็นเสียงคนพูด เสียงการกระทำของคนต่างๆ ที่เราได้ยินมา ก็รวมอยู่ในนี้ด้วย ใช่ไหม คือ เสียงภายนอกที่เราได้ยิน เป็นอุตุทั้งนั้น
สุ. เสียงคนพูด ในขณะที่เสียงเกิดต้องมีกลุ่มของรูปรวมกัน ๑๐ รูป คือ ต้องมีวจีวิญญัตติรูปชั่วขณะ ๑๗ ขณะแล้วดับ ต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องของอุตุ
ถ. ที่เกิดกับตัวเราเอง คือ เราเป็นคนพูดเอง ไม่สงสัย
สุ. ขณะที่ยังไม่ดับ ต้องเป็นกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน แต่เมื่อดับแล้ว ต้องเป็นรูปที่เกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน เพราะว่ารูปทุกรูปจะมีอายุเพียง ๑๗ ขณะจิต ซึ่งเร็วมากที่สุด ขณะที่เห็นกับขณะที่ได้ยินในขณะนี้เกินกว่า ๑๗ ขณะจิต ก็ยังดูเหมือนพร้อมกัน เพราะฉะนั้น กลุ่มของรูป ๑๐ รูปซึ่งเกิดเพราะจิต เป็นสมุฏฐานก็มีอายุเท่ากับ ๑๗ ขณะจิตเท่านั้น หลังจากนั้นที่สืบต่อ ต้องเป็นรูปที่เกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน
ถ. ขณะที่เปล่งจากปากของคนอื่น
สุ. ขณะที่ยังไม่ดับ มีกลุ่มของรูปรวมกันที่ทำให้เกิดเสียงนั้น ๑๐ รูป
ถ. ที่เกิดจากตัวเรานี่แน่นอน ไม่สงสัย
สุ. ในขณะที่ยังไม่ดับด้วย คือ ชั่วขณะ ๑๗ ขณะที่ยังไม่ดับ ต้องเป็นกลาปคือ กลุ่มของรูปซึ่งมีรูปรวมกัน ๑๐ รูป แต่หลังจากนั้นที่ดับไปแล้ว ต้องเป็นรูปที่เกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน เช่น เสียงในวิทยุ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีเสียงเกิดขึ้น เพราะจิตเป็นสมุฏฐาน โดยที่กลาปหรือกลุ่มของรูปนั้นยังไม่ดับ กลุ่มของรูปที่ทำให้เกิดเสียงที่เกิดเพราะจิตนั้นมีรูปรวมกัน ๑๐ รูป และก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ต่อจากนั้นเป็นกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๖ ตอนที่ ๑๔๕๑ – ๑๔๖๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1441
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1442
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1443
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1444
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1445
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1446
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1447
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1448
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1449
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1450
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1451
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1452
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1453
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1454
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1455
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1456
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1457
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1458
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1459
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1460
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1461
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1462
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1463
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1464
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1465
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1466
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1467
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1468
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1469
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1470
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1471
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1472
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1473
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1474
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1475
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1476
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1477
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1478
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1479
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1480
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1481
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1482
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1483
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1484
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1485
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1486
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1487
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1488
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1489
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1490
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1491
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1492
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1493
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1494
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1495
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1496
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1497
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1498
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1499
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1500