แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1458
ครั้งที่ ๑๔๕๘
สาระสำคัญ
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง (ต่างกับคำสอนของพวกอัญญเดียรถีย์ แม้เป็นคำพูดอย่างเดียวกัน)
โพชฌงค์ เพราะว่าเป็นไปเพื่อความตรัสรู้
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๒๘
ในสมัยนี้ ก็คงจะเหมือนอย่างนั้น คือ ใครๆ ก็สอนง่ายๆ อย่างนี้ว่า ให้ละความยินดี ความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ให้ละความโกรธ คือ สอนแต่ว่าให้ละสิ่งที่เป็นนิวรณ์ทั้งหมด คำสอนง่ายๆ คือ สอนให้ละ เพราะฉะนั้น ก็คงไม่ ต่างกับที่พวกอัญญเดียรถีย์กล่าวในครั้งนั้นว่า แม้พวกอัญญเดียรถีย์เองก็กล่าวอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จะมีอะไรที่เป็นความต่างกันในการแสดงธรรมของพวกอัญญเดียรถีย์กับพระผู้มีพระภาค
ข้อความต่อไปมีว่า
ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นไม่ชื่นชม ไม่คัดค้านคำพูดของอัญญเดียรถีย์ปริพาชก พวกนั้น ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไปด้วยตั้งใจว่า เราทั้งหลายจักทราบเนื้อความแห่งคำพูดนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค
นี่เป็นเรื่องของการฟังซึ่งมีประโยชน์มากในการเกิดเป็นมนุษย์ ที่จะได้ศึกษา พระธรรมโดยละเอียด เพื่อประโยชน์ในการเข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าต่างกับคำสอนของพวกอัญญเดียรถีย์ แม้ว่าจะเป็นคำพูดอย่างเดียวกัน
ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้น ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี เวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ แล้วกราบทูลว่า
ครั้งนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ชื่นชม ไม่คัดค้านคำพูดของอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไปด้วยตั้งใจว่า เราทั้งหลายจักทราบเนื้อความของคำพูดนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนี้ ควรเป็นผู้อันเธอทั้งหลายพึงถามอย่างนี้ว่า ดูก่อน ผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ปริยายที่นิวรณ์ ๕ อาศัยแล้วเป็น ๑๐ อย่าง ที่โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้วเป็น ๑๔ อย่าง มีอยู่หรือ
คือ ไม่ว่าใครจะสอนอย่างไร ก็ต้องถามผู้สอนให้เขาอธิบายให้เข้าใจสิ่งที่เขาสอนว่า เขาหมายความว่าอย่างไร
พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกถูกเธอทั้งหลายถามอย่างนี้แล้ว จักแก้ไม่ได้เลย และจักถึงความอึดอัดอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเป็นปัญหาที่ถามในฐานะมิใช่วิสัย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่แลเห็นบุคคลในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ที่จะยังจิตให้ยินดีด้วยการแก้ปัญหาเหล่านี้ เว้นเสียจากตถาคต สาวกของตถาคต หรือผู้ที่ฟังจากตถาคต หรือจากสาวกของตถาคตนั้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ปริยายที่นิวรณ์ ๕ อาศัยแล้วเป็น ๑๐ อย่าง เป็นไฉน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้กามฉันทะในภายในก็เป็นนิวรณ์ แม้กามฉันทะในภายนอกก็เป็นนิวรณ์ คำว่า กามฉันทนิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ กามฉันทนิวรณ์นั้นก็เป็น ๒ อย่าง
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้พยาบาทในภายในก็เป็นนิวรณ์ แม้พยาบาทในภายนอกก็เป็นนิวรณ์ คำว่า พยาบาทนิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ พยาบาทนิวรณ์นั้นก็เป็น ๒ อย่าง
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้ถีนะก็เป็นนิวรณ์ แม้มิทธะก็เป็นนิวรณ์ คำว่า ถีนมิทธนิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ ถีนมิทธนิวรณ์นั้นก็เป็น ๒ อย่าง
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้อุทธัจจะก็เป็นนิวรณ์ แม้กุกกุจจะก็เป็นนิวรณ์ คำว่าอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์นั้น ก็เป็น ๒ อย่าง
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้วิจิกิจฉาในธรรมทั้งหลายในภายในก็เป็นนิวรณ์ แม้วิจิกิจฉาในธรรมทั้งหลายในภายนอกก็เป็นนิวรณ์ คำว่า วิจิกิจฉานิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศแม้โดยปริยายนี้ วิจิกิจฉานิวรณ์ก็เป็น ๒ อย่าง
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปริยายนี้แล ที่นิวรณ์ ๕ อาศัยแล้วเป็น ๑๐ อย่างนี้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ปริยายที่โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้วเป็น ๑๔ อย่าง เป็นไฉน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้สติในธรรมทั้งหลายในภายในก็เป็นสติสัมโพชฌงค์ แม้สติในธรรมทั้งหลายในภายนอกก็เป็นสติสัมโพชฌงค์ คำว่า สติสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ สติสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง
แม้ธรรมทั้งหลายในภายใน ที่บุคคลเลือกเฟ้นตรวจตราถึงความพินิจพิจารณาด้วยปัญญาก็เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ แม้ธรรมทั้งหลายในภายนอกที่บุคคลเลือกเฟ้นตรวจตราถึงความพินิจพิจารณาด้วยปัญญาก็เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คำว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ก็เป็น ๒ อย่าง
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้ความเพียรทางกายก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ แม้ความเพียรทางจิตก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ คำว่า วิริยสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ วิริยสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้ปีติที่มีวิตกวิจารก็เป็นปีติสัมโพชฌงค์ แม้ปีติที่ไม่มีวิตกวิจารก็เป็นปีติสัมโพชฌงค์ คำว่า ปีติสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ ปีติสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง
ท่านที่เข้าใจเรื่องฌานจิต จะเห็นได้ว่า องค์ของปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ มีสุข มีเอกัคคตา แต่เมื่อถึงทุติยฌาน ตติยฌาน องค์ต่างๆ ก็ลดลงจนกระทั่งเป็นปีติที่ไม่มีวิตก วิจาร เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของการเกิดสัมโพชฌงค์ที่ประกอบด้วยวิตก วิจาร หรือไม่ประกอบด้วยวิตก วิจาร แล้วแต่ว่าจะเป็น กามาวจรจิต หรือเป็นฌานจิต
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้ความสงบกายก็เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ แม้ความสงบจิตก็เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คำว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้สมาธิที่มีวิตกวิจารก็เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ แม้สมาธิที่ไม่มีวิตกวิจารก็เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ คำว่า สมาธิสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ สมาธิสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้ความวางเฉย (คือ อุเบกขา) ในธรรมทั้งหลายในภายใน ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ แม้ความวางเฉยในธรรมทั้งหลายในภายนอกก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ คำว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปริยายนี้แล ที่โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้วเป็น ๑๔ อย่าง
จบ ปริยายสูตรที่ ๒
ข้อความใน อรรถกถาปริยายสูตร ได้อธิบายข้อความตั้งแต่ตอนต้นที่ว่า
บทว่า ปิณฑาย ปวิสิงสุ ได้แก่ เข้าไปเพื่อบิณฑบาต ก็ภิกษุเหล่านั้นยังไม่เข้าไปก่อน แต่เรียกว่าเข้าไปแล้ว เพราะออกไปด้วยคิดว่าจักเข้าไป
ถามว่า เหมือนอะไร
ตอบว่า เหมือนคนออกไปด้วยคิดว่า จักไปบ้าน แม้ยังไม่ทันถึงบ้านนั้น เมื่อถูกเขาถามว่า คนชื่อนี้ไปไหน เขาจะตอบว่า ไปบ้านแล้ว
นี่เป็นภาษาที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันที่แสดงให้เห็นว่า ควรจะเข้าใจอรรถของข้อความที่ได้ทรงแสดงไว้มากกว่าเป็นผู้ที่ติดในพยัญชนะ เพราะถ้าเป็นผู้ที่ติดในพยัญชนะ จะทำให้เกิดความสงสัยต่างๆ นานาได้
ข้อความต่อไปมีว่า
ในลัทธิของพวกเดียรถีย์ไม่มีคำนี้ว่า นิวรณ์ ๕ พวกเธอพึงละ โพชฌงค์ ๗ พวกเธอพึงเจริญ
คือ คนอื่นไม่สามารถแสดงหนทางของการละนิวรณ์ได้ เพราะฉะนั้น ไม่มีข้อปฏิบัติที่ว่า นิวรณ์ ๕ พวกเธอพึงละ โพชฌงค์ ๗ พวกเธอพึงเจริญ เพราะว่าพวกอัญญเดียรถีย์ไม่เข้าใจธรรมโดยถูกต้อง
ส่วนพวกเดียรถีย์เหล่านั้นไปยังอาราม ยืนอยู่ท้ายบริษัท ฟังธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นเหมือนมองดูสิ่งอื่น เหมือนส่งใจไปที่อื่น
เมื่อตนเองไม่มีคำสอนอย่างนี้ก็ใคร่ที่จะได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอย่างไร เพราะฉะนั้น พวกเดียรถีย์ก็เข้าไปสู่อาราม ยืนอยู่ท้ายบริษัท ฟังธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ว่า เป็นเหมือนมองดูสิ่งอื่น เหมือนส่งใจไปที่อื่น
นี่คือการเผิน หรือไม่ตั้งใจที่จะฟังให้เข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะอยู่ในที่นั้น ก็เพียงฟังให้ได้ยิน แต่ไม่ได้พิจารณาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง โดยที่ว่า
แต่นั้น ก็กำหนดว่า พระสมณโคดมจะกล่าวว่า พวกท่านจงละสิ่งนี้ จงเจริญสิ่งนี้เถิด
เมื่อได้ฟังพระธรรมของพระผู้มีพระภาคก็สามารถจดจำได้เพียงเท่านี้เอง คือ ได้ยินพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พวกท่านจงละสิ่งนี้ จงเจริญสิ่งนี้เถิด
แล้ว (พวกเดียรถีย์) จึงไปยังอารามของตน ให้จัดอาสนะไว้ที่ท่ามกลางอาราม อันอุปัฏฐากชายหญิงห้อมล้อมยกศีรษะน้อมกายเข้าไป เมื่อแสดงอาการแทงตลอดโดยสยัมภูญาณของตน จึงกล่าวว่า คนควรละนิวรณ์ ๕ ควรเจริญโพชฌงค์ ๗ ดังนี้
จำคำที่พระผู้มีพระภาคตรัส และกลับไปอารามของตน มีอุปัฏฐากห้อมล้อม ยกศีรษะน้อมกายเข้าไป และแสดงอาการเป็นผู้รู้โดยกล่าวว่า คนควรละนิวรณ์ ๕ ควรเจริญโพชฌงค์ ๗
แต่เมื่อพวกพระภิกษุเหล่านั้นได้ฟัง ก็ไม่ยอมรับ เพราะคำที่พวกเดียรถีย์กล่าวไม่มีคำอธิบายให้เข้าใจว่านิวรณ์คืออะไร และการเจริญโพชฌงค์ ๗ เป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น พวกภิกษุนั้นไม่ยอมรับว่า อย่างนี้ๆ และไม่ได้คัดค้านว่า สิ่งนี้ไม่เป็นอย่างนี้
ถามว่า ก็พวกภิกษุเหล่านั้นเมื่อได้ทำอย่างนี้พอหรือ หรือว่าไม่พอ
ฟังแล้วไม่รับและไม่ปฏิเสธ คือ ไม่ชื่นชมและไม่คัดค้าน การทำอย่างนั้น พอไหม
ตอบว่า พอ
ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่สามารถกล่าวคำประมาณเท่านี้ได้ว่า ดูก่อน ผู้มีอายุ ในลัทธิของท่านทั้งหลายไม่มีนิวรณ์ ๕ จะต้องละ ไม่มีโพชฌงค์ ๗ จะต้องเจริญ ดังนี้ แต่ภิกษุเหล่านั้นได้มีความดำริอย่างนี้ว่า ข้อที่เขานำมากล่าวนั้นไม่มี พวกเราทูล ข้อนั้นแด่พระศาสดา เมื่อเป็นเช่นนั้นพระศาสดาจักแสดงพระธรรมเทศนาอันไพเราะแก่พวกเรา ดังนี้
นี่เป็นสิ่งที่ควร คือ เมื่อได้ฟังธรรมจากที่ใดก็ตาม ไม่ยอมเชื่อง่ายๆ แม้ว่า ฟังดูน่าเชื่อ คือ ให้ละโลภะ ให้ละโทสะ ฟังดูก็ดี สอนดี แต่ภิกษุเหล่านั้นไม่สามารถที่จะกล่าวแก้คำกล่าวนั้นได้ จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเพื่อให้ทรงแสดงธรรม ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงพระทัยยินดีด้วยการแก้ปัญหาเหล่านั้น จึงตรัสคำว่า กตโม จ ภิกขเว ปริยาโย ดังนี้เป็นต้น
ในบทเหล่านี้ บทว่า อัชฌัตตัง กามัจฉันโท ได้แก่ ฉันทราคะเกิดขึ้นเพราะปรารภเบญจขันธ์ของตน บทว่า พหิทธา กามัจฉันโท ได้แก่ ฉันทราคะเกิดขึ้นเพราะปรารภเบญจขันธ์ของพวกคนเหล่าอื่น
แสดงให้เห็นถึงความติด ความยึดมั่น ความยินดีพอใจในขันธ์ ๕ ของตนเอง และในขันธ์ ๕ ของคนอื่น ซึ่งถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียดจะไม่รู้สึกว่า ในวันหนึ่งๆ มีความยินดีทั้งในรูปขันธ์ของตนเอง ในเวทนาขันธ์ของตนเอง ในสัญญาขันธ์ของตนเอง ในสังขารขันธ์ของตนเอง ในวิญญาณขันธ์ของตนเอง และของผู้อื่นด้วย
รูปขันธ์ของตนเอง จะเห็นได้ว่า ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ ทุกวันมีความยึดมั่น มีความติด มีความเพลิดเพลิน มีความพอใจในรูปขันธ์ของตนเอง ตั้งแต่ศีรษะ ตลอดเท้า คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ไม่มีความยินดีพอใจในรูปขันธ์ของตนเอง แม้ในเวทนาขันธ์ คือ ความรู้สึกเป็นสุข หรือตลอดไปจนถึงสัญญาขันธ์ ความทรงจำ หรือตลอดไปจนถึงสังขารขันธ์ แล้วแต่ว่าจะเป็นสติปัญญา ความสามารถ ความเพียรของตนเอง ก็เป็นที่ติด เป็นที่พอใจ เป็นที่ยึดถือว่าของเรา แม้จิตของเรา เป็นจิตประเภทใด ก็เป็นที่ยึดมั่นยินดีพอใจ ในกุศลจิตของตนเองก็ได้ หรือบางคนอาจจะมีความยินดีพอใจแม้ในอกุศลจิตของตน ก็ย่อมเป็นได้
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้พิจารณาโดยละเอียดก็ยากที่จะรู้ได้ว่า ความยินดีพอใจ มีทั้งในภายในคือของตนเอง และในภายนอกของบุคคลอื่นด้วย
ข้อความต่อไป
พยาปาทในภายใน ได้แก่ ปฏิฆะอันเกิดขึ้นในเพราะอวัยวะมีมือและเท้า เป็นต้นของตน พยาปาทในภายนอก ได้แก่ ปฏิฆะอันเกิดขึ้นในเพราะอวัยวะมีมือและเท้าเป็นต้นของคนอื่น
เมื่อมีความยินดีพอใจในขันธ์ของตนเองตลอดรูปขันธ์จนถึงวิญญาณขันธ์ ก็จะทำให้เกิดความไม่แช่มชื่น ขุ่นเคืองไม่พอใจแม้ในขันธ์ของตนก็ได้ ใช่ไหม
พอใจสิ่งใดตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ถ้าสิ่งนั้นไม่เป็นไปตามความต้องการ ขณะนั้นก็เป็นเหตุให้เกิดความกระทบกระเทือน หรือความกระทบกระทั่งของจิตใจ ที่เป็นความขุ่นเคืองใจไม่แช่มชื่น แม้เพราะอวัยวะมีมือและเท้าเป็นต้นของตน
ถ้ามองดูมือ บางครั้งก็พอใจ บางครั้งก็ไม่พอใจ มองดูเท้าก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นคิ้ว ตา จมูก ปาก แขน อวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดก็ตาม ย่อมเป็นทั้งความพอใจ และความไม่พอใจได้ ทั้งของตนเองและของคนอื่น
สำหรับวิจิกิจฉาในภายใน ได้แก่ ความสงสัยในขันธ์ของตนเอง ในภายนอก ก็ได้แก่ ในฐานะอื่นซึ่งไม่ใช่ในขันธ์ของตนเอง
สำหรับโพชฌงค์ ธรรมที่ชื่อว่าโพชฌงค์ คือ ธรรมสามัคคี เพราะเป็นองค์ แห่งโพธิ กล่าวคือ ธรรมสามัคคีนี้ อุปมาเหมือนองค์แห่งฌานและองค์แห่งมรรค ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะว่าเป็นไปเพื่อความตรัสรู้
นี่เป็นการแสดงธรรมที่เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๕ ได้แก่ นิวรณธรรม ๕ โดยปริยายก็เป็น ๑๐ อุปาทานขันธ์ ๕ อายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ โพชฌงค์ ๗ อริยสัจธรรม ๔ นี่คือ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้น พวกเดียรถีย์ไม่สามารถแสดงธรรมโดยละเอียดตามความเป็นจริงได้ เพียงแต่ว่าเมื่อลัทธิคำสอนของตนไม่มี ก็ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อเพียงฟัง และนำมากล่าวตาม แต่ไม่สามารถแสดงหนทางข้อปฏิบัติที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง เช่น สติสัมโพชฌงค์ หรือสติปัฏฐานซึ่งเป็นบาทของ สติสัมโพชฌงค์ ได้แก่ สติที่ระลึกในสังขารธรรมทั้งหลายในภายใน ๑ และระลึกในสังขารธรรมทั้งหลายในภายนอก ๑
ถ้าไม่ใช่พระผู้มีพระภาค ไม่มีทางทำให้บุคคลทั้งหลายเกิดการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน อาจจะสอนเพียงว่า ให้ละโลภะ ละโทสะ ละนิวรณ์ แต่ไม่ได้แสดงการเป็นผู้ที่มีปกติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่ตนซึ่งเป็นธรรมภายใน หรือการระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏซึ่งเป็นธรรมภายนอก เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ต้องเป็นการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค จึงจะสามารถเกื้อกูลบุคคลอื่นให้เข้าใจเรื่องของการเจริญโพชฌงค์ ๗
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๖ ตอนที่ ๑๔๕๑ – ๑๔๖๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1441
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1442
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1443
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1444
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1445
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1446
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1447
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1448
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1449
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1450
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1451
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1452
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1453
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1454
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1455
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1456
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1457
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1458
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1459
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1460
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1461
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1462
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1463
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1464
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1465
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1466
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1467
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1468
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1469
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1470
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1471
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1472
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1473
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1474
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1475
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1476
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1477
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1478
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1479
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1480
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1481
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1482
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1483
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1484
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1485
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1486
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1487
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1488
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1489
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1490
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1491
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1492
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1493
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1494
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1495
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1496
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1497
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1498
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1499
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1500