แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1460
ครั้งที่ ๑๔๖๐
สาระสำคัญ
ท่านกล่าวคำว่า วุตฺตํ ไว้ ๒ ครั้ง
ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา
อถ.ส.ส.อุนัพพสุสูตร, อถ.ส.ส.สารีปุตตสูตร
อรรถกถา โลภสูตร
ปัญญา และสติเกื้อกูลกันอย่างไร (สติที่มีปัญญานำ และปัญญามีสตินำ)
ปรมัตถโชติกา อถ.ขุ.มังคลสูตร - เหตุที่ท่านพระอานนท์ทรงจำพระธรรมได้ และกล่าวคำว่า เอวัมเม สุตัง ภควา
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๒๘
ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคทุกพระองค์ตรัส และคำนี้ไม่ขัดกัน ไม่ว่าจะเป็นคำหน้าหรือคำหลัง ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดในพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ต้องไม่ใช่รู้อัตตา แต่ต้องรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหมด คือ สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แม้สติที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็ไม่ใช่มีใครจะไปจงใจ จะไปบังคับให้จดจ้องที่หนึ่งที่ใดด้วยความต้องการ หรือด้วยความเป็นตัวตน แล้วแต่ว่าสติซึ่งเป็นอนัตตาและธรรมอื่นๆ ทั้งหลายซึ่งก็เป็นอนัตตาจะเกิดขึ้นเป็นไปในในขณะนั้น และสติก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้น ตามความเป็นจริง
ถ้าเป็นอย่างนี้ จะไม่ขัดแย้งกันเลย ใช่ไหม ในการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา
อีกประการหนึ่ง คำว่า วุตตัง คำที่สอง พึงเห็นว่าเป็นคำพูดถึงภาวะ คือ ความยิ่งใหญ่ ก็แลคำนั้นมิใช่สักแต่ว่าตรัสไว้แล้ว คือ ไม่ใช่สักแต่ว่าทรงบอกไว้แล้ว โดยที่แท้ทรงแสดงถึงกุศลมูลของเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ก็แลคำนั้นไม่เพียงแต่สักว่า ตรัสไว้แล้ว ที่แท้คำนั้นทรงบำเพ็ญ คือ ทรงประพฤติจนเกิดประโยชน์ ด้วยเหตุนั้นท่านจึงทรงแสดงไว้ว่า พระผู้มีพระภาคมีปกติตรัสอย่างไร ก็มีปกติทำอย่างนั้น
อีกประการหนึ่ง ท่านกล่าวคำว่า วุตตัง คำแรกไว้ หมายถึงการทรงยกขึ้นแสดงถ้อยคำแต่โดยย่อ กล่าวคำว่า วุตตัง ไว้ซ้ำอีก หมายถึงการแสดงขยายถ้อยคำโดยพิสดาร เป็นความจริงพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมทั้งโดยย่อ ทั้งโดยพิสดาร
แสดงให้เห็นว่า พระธรรมที่ทรงแสดง ไม่ใช่เพียงสักแต่ว่าตรัสไว้แล้ว คำพูด จะพูดอย่างไรก็พูดได้ทั้งนั้น แต่ประโยชน์อยู่ที่การประพฤติตาม เพราะแม้พระองค์เอง ที่แท้คำนั้นทรงบำเพ็ญ คือ ทรงประพฤติจนเกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้น ผู้ฟังหรือสาวกก็ต้องประพฤติปฏิบัติตามโดยนัยเดียวกัน ไม่ใช่เพียงศึกษาให้เข้าใจ แต่ต้องประพฤติจนกระทั่งเกิดประโยชน์ เช่น รู้ว่าจักขุวิญญาณเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ นี่คือความเข้าใจ แต่ยังไม่พอ ต้องบำเพ็ญ คือ ต้องอบรมเจริญจนเกิดประโยชน์ คือ สามารถประจักษ์แจ้งในสภาพที่เป็นเพียงธาตุ ซึ่งเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้เท่านั้น
อีกประการหนึ่ง ท่านกล่าวคำว่า วุตตัง เหตัง ภควตา ไว้แล้ว ก็กล่าวคำว่า วุตตัง ไว้ซ้ำอีก ก็เพื่อแสดงว่า ไม่มีคำพูดที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ไม่ดี
เป็นความจริง พระผู้มีพระภาคทรงละโทษทุกอย่างพร้อมทั้งวาสนา (ความประพฤติที่ไม่ดีที่เคยชิน) ไว้แล้ว มีครรลองแห่งคำพูดไม่ผิดพลาด จึงไม่มีคำพูดที่ไม่ดีแม้ในกาลไหนๆ เพราะพระองค์ทรงมีวจีกรรมอันคล้อยตามพระญาณอยู่ตลอดเวลา เหมือนอย่างว่า คนบางพวกในโลกพูดอะไรๆ ออกไปเพราะคะนอง หรือ เพราะความสนุกสนาน เนื่องจากเผลอสติ ต่อมารู้ตัว ก็ทำคำพูดที่พูดไปแล้ว ตอนก่อนให้เป็นอันไม่ได้พูด ปรับปรุงคำพูดบ้าง ไม่ปรับปรุงบ้างเป็นฉันใด พระผู้มีพระภาคจะเป็นฉันนั้นหามิได้
นี่คือลักษณะการแสดงธรรม ซึ่งสำหรับคนที่มีปัญญาน้อยก็ต้องมีความผิดพลาดเป็นธรรมดา แต่ถ้ามีปัญญามากถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า วจีกรรมต้องคล้อยตามพระญาณอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น จะไม่มีคำพูดที่กล่าวว่า ไม่ดีเลย คือ ไม่มีคำพูดที่พูด เพราะคะนอง หรือเพราะความสนุกสนาน เนื่องจากเผลอสติ
ข้อความต่อไปมีว่า
ก็พระผู้มีพระภาคทรงมีพระทัยมั่นคงอยู่ตลอดกาลเป็นนิตย์ มีความไม่เผลอสติเป็นธรรมดา และมีความไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา เมื่อจะทรงประกาศอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นสวนานุตริยะ มีสาระที่น่าสดับให้เป็นเหมือนโปรยฝนอำมฤตแก่เวไนยสัตว์ทั้งหลาย ผู้กำลังสดับอรรถที่น้อมเข้าไปด้วยปฏิภาณปฏิสัมภิทา อัน พระสัพพัญญุตญาณประคับประคองแล้ว อันเป็นโสตายตนะและรสายตนะ เพราะกรณวิญญูอันพิเศษที่ผ่องใสและบริสุทธิ์ ซึ่งไม่ทั่วไปแก่บุคคลอื่น เกิดมาจาก บุญสมภารอันสั่งสมไว้ตลอดกาลประมาณไม่ได้ ได้ตรัสพระดำรัสเหมาะแก่อัธยาศัยของเวไนยสัตว์ ด้วยภาษาที่เหมาะแก่สภาวะ ด้วยพระสุรเสียงที่ก้องกังวานดังเสียงร้องของนกการเวก ในพระดำรัสนั้นไม่มีความผิดพลาดแม้เพียงปลายขนทราย แล้วโอกาสที่จะตรัสพระดำรัสไม่ดีจักมีมาแต่ที่ไหน
เพราะเหตุนั้น เพื่อแสดงว่า คำใดที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว คำนั้นก็เป็นอันตรัสแล้วทีเดียว ไม่มีพระดำรัสที่ไม่ได้ตรัสไว้ หรือตรัสไว้ไม่ดีในกาลไหนๆ ท่านจึงกล่าวว่า ก็คำนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้วดังนี้แล้ว กล่าวไว้อีกว่า พระอรหันต์กล่าวไว้แล้ว เพราะเหตุนั้น ในที่นี้จึงไม่มีโทษแห่งคำที่กล่าวซ้ำอีก
พึงทราบว่า ศัพท์ที่กล่าวซ้ำไว้มีประโยชน์ในที่นี้ ดังพรรณนามาฉะนี้
บางท่านอาจจะคิดว่า ไม่น่าสนใจเลย แต่ท่านพระอานนท์ก็ได้ทรงจำไว้ทั้งหมด ที่จะแสดงให้เห็นสาระสำคัญของการแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์จริงๆ
ข้อความตอนหนึ่งมีว่า
เสียงแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคอย่างเดียวเท่านั้น ที่เป็นไปในขณะเดียวกัน เป็นเสียงที่สัตว์ทั้งหลายผู้ต่างภาษากัน รับฟังได้พร้อมกันด้วยภาษาของตน ย่อมเป็นไปเพื่อให้เข้าใจความหมายได้ เพราะว่าพุทธานุภาพเป็นอจินไตย
แสดงให้เห็นว่า สำคัญที่จิต ที่ประสงค์ให้ผู้อื่นเข้าใจ บางคนอาจจะพูดกันคนละภาษา แต่ถ้าสามารถเข้าใจเจตนา หรือความรู้สึก หรือความต้องการได้ บางที ก็สามารถช่วยเหลือกันได้เหมือนกัน ถ้าสามารถเข้าใจได้จริงๆ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่เป็นอจินไตยสำหรับพุทธานุภาพ
สำหรับเสียงของแต่ละบุคคลที่ได้สะสมกุศลกรรมมาแล้ว เช่น พระสุรเสียง ของพระผู้มีพระภาค ใน อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ยักขสังยุต ปุนัพพสุสูตร มีข้อความว่า
ถ้าบริษัทนั่งอยู่ถึงที่สุดจักรวาล พระสุรเสียงของพระองค์ผู้ทรงแสดงธรรมอยู่ ย่อมไปถึงบริษัท ย่อมไม่เลยออกไปภายนอกบริษัทแม้เพียงองคุลีหนึ่ง ด้วยพระดำริว่า พระสุรเสียงอันไพเราะอย่าเสียไปโดยไม่ใช่เหตุเลย
สำหรับศรัทธาของผู้ที่ได้สะสมบารมีมาแล้ว เมื่อได้ฟังพระสุรเสียงที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม พระสุรเสียงอันไพเราะนั้น ตัดผิวเป็นต้นไปจรดเยื่อในกระดูก สำหรับผู้ที่เกิดความปีติจริงๆ จะมีลักษณะที่แสดงให้เห็นว่า การสะสมของท่านผู้นั้นเป็นผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคล อย่างปีติของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เมื่อได้ฟังคำว่า พุทโธ จากท่านราชคหเศรษฐี ดังข้อความใน อรรถกถา สุทัตตสูตร มีข้อความว่า
ปีตินั้นตั้งขึ้นที่ศีรษะของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีจนถึงหลังเท้า ตั้งขึ้นที่ หลังเท้าแผ่ไปจนถึงศีรษะ ตั้งขึ้นแต่ข้างทั้งสองรวมลงท่ามกลาง ตั้งขึ้นท่ามกลางแผ่ไปโดยข้างทั้งสอง
นี่คือศรัทธาที่เกิดจากการสะสมมา
สำหรับผู้ที่เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีเสียงไพเราะ คือ ท่านพระลกุณฏกภัททิยเถระ เป็นผู้ที่มีเสียงหวาน (มัญชุสสระ)
สำหรับท่านพระโสณกุฏิกัณณเถระ ก็เป็นผู้ที่กล่าวธรรมกถาไพเราะ ด้วยถ้อยคำอันงาม คือ ถ้อยคำอันไพเราะ
สำหรับท่านพระสารีบุตร ซึ่งเป็นพระอัครสาวก ใน อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สารีปุตตสูตร ข้อ ๗๔๑ – ๗๔๓ มีข้อความว่า
ก็เมื่อท่านพระธรรมเสนาบดีกล่าว ย่อมมีถ้อยคำไม่พัวพันด้วยโรคดีเป็นต้น ย่อมเปล่งเสียงเหมือนเสียงจากกังสดาลที่ถูกเคาะด้วยท่อนเหล็ก
เมื่อท่านพระเถระแสดงธรรม ย่อมมีเสียงไพเราะกังวานเหมือนเสียงของ นางนกสาลิกาที่ลิ้มมะม่วงสุกมีรสหวานกระพือปีกเปล่งเสียงไพเราะ
สำหรับเสียงของเทพ เช่น ท้าวสักกเทวราช ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อรรถกถา ตติยสักกนมัสสนสูตรที่ ๑๐ มีข้อความว่า
ท้าวสักกเทวราชมีพระสุรเสียงไพเราะ ในเวลาตรัสช่องพระทนต์สนิท เปล่งพระสุรเสียงดุจเสียงกระดิ่งทอง
เป็นเสียงซึ่งเกิดเพราะกรรมที่ได้สะสมมาเป็นสมุฏฐาน ฉะนั้น เมื่อวจีวิญญัตติทำให้เกิดเสียง เสียงนั้นๆ ก็ต่างกันไปตามกรรมที่ได้สะสม
สำหรับท่านพระอานนท์ เมื่อกระทำสังคายนา อรรถกถา โลภสูตร มีข้อความว่า ท่านพระอานนท์นั้น
อนึ่ง ในที่นี้ ท่านแสดงถึงความไม่หลงลืมด้วยคำว่า อิติ
เป็นความจริง คนหลงลืมย่อมไม่สามารถแทงตลอดประการต่างๆ ได้
ท่านแสดงความไม่เลอะเลือนด้วยคำว่า สุตตะ
จริงอยู่ผู้ใดมีสุตตะหลงลืมแล้ว ผู้นั้นย่อมปฏิญญาไม่ได้ว่า เราได้ฟังมาแล้วในกาลอื่น เพราะความไม่หลงลืม เพราะไม่มีความหลงลืม หรือเพราะปัญญาที่เกิดในเวลาฟังของท่านพระอานนท์นั้นเอง จึงมีความสำเร็จแห่งปัญญาในกาลอื่นจากนั้น
นี่คือการพิจารณาการฟังว่า การฟังของบางท่าน เพราะเหตุใดจึงหลงลืม เพราะเหตุใดจึงไม่หลงลืม ซึ่งก็ตามการสะสมในอดีต ถ้าเป็นผู้ที่สะสมการฟังอย่างตั้งใจด้วยสติ การหลงลืมก็น้อย เพราะถ้าเป็นคนที่หลงลืม เวลาฟังย่อมไม่สามารถแทงตลอดข้อความที่ได้ยินได้ฟัง และย่อมจะเลอะเลือนในภายหลัง เช่น จำไม่ได้ว่า ฟังมาแล้วจากที่ไหน วันไหน แต่สำหรับท่านพระอานนท์ ไม่มีอย่างนั้นเลย เพราะว่าท่านสามารถแทงตลอดในธรรมที่ได้ฟัง และไม่เลอะเลือนด้วย คือ ไม่หลงลืม เพราะความไม่หลงลืม เพราะไม่มีความหลงลืม หรือเพราะปัญญาที่เกิดในเวลาฟังของท่านพระอานนท์นั้นเอง จึงมีความสำเร็จแห่งปัญญาในกาลอื่นจากนั้น คือ ทำให้การฟังในครั้งต่อๆ ไป มีความเข้าใจธรรมและมีการแทงตลอดได้
ถ้าการฟังครั้งที่ ๑ เข้าใจแล้ว ไม่ลืมเลย ฟังต่อไปครั้งที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ปัญญาย่อมเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ปัญญาในกาลอื่นจากการฟังครั้งแรก ย่อมเป็นผลมาจากปัญญาที่เกิดจากการฟังครั้งแรกด้วย
อนึ่ง เพราะความไม่เลอะเลือน จึงชื่อว่าสำเร็จด้วยสติ
ขณะที่กำลังฟัง อาจจะไม่รู้ลักษณะของสติ แต่จะรู้เมื่อฟังแล้วจำได้ไหม คือ ถ้าฟังแล้วจำได้ ฟังแล้วเข้าใจ ขณะนั้นก็พอที่จะพิจารณาทราบได้ว่า ในขณะที่ฟังนั้นฟังด้วยสติ เพราะฉะนั้น ปัญญานั้นย่อมสำเร็จด้วยสติ
และสำหรับปัญญาและสตินั้น
บรรดาปัญญากับสติทั้ง ๒ นั้น เพราะสติที่มีปัญญานำ จึงมีความสามารถทรงจำพยัญชนะไว้ได้ เพราะปัญญามีสตินำ จึงมีความสามารถในการแทงตลอดความหมายได้
คือ ขณะที่กำลังฟังในขณะนี้เองว่า ปัญญาและสติเกื้อกูลกันอย่างไร เพราะสติที่มีปัญญานำ ไม่ใช่สติเฉยๆ แต่ต้องเป็นสติที่มีปัญญานำ จึงมีความสามารถ ทรงจำพยัญชนะไว้ได้ และ เพราะปัญญามีสตินำ จึงมีความสามารถในการแทงตลอดความหมายได้ คือ ไม่เผลอในการฟัง และพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมนั้น
เพราะประกอบด้วยความสามารถทั้ง ๒ นั้น พระอานนท์เถระจึงมีความสำเร็จแห่งความเป็นพระธรรมภัณฑาคาริกะ (พระขุนคลังพระธรรม) เพราะท่านสามารถตามรักษาคลังพระธรรมที่สมบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะได้
อีกนัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์แสดงการทำไว้ในใจโดยแยบคาย
คือ พิจารณาด้วยความแยบคายในขณะที่ฟัง
การแทงตลอดธรรมโดยประการต่างๆ ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ใส่ใจโดย แยบคาย เพราะบุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่าน จะฟังไม่ได้ เป็นความจริง บุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่าน แม้อันพระธรรมกถึกกล่าวอยู่ด้วยสมบัติทั้งปวง ก็มักกล่าวว่า ข้าพเจ้ามิได้ฟัง นิมนต์พระคุณเจ้ากล่าวซ้ำ
ถ้าใครกำลังฟุ้งซ่านในขณะนี้ จะรู้สึกตัวได้จริงๆ ว่า แท้ที่จริงแล้วไม่ได้ฟัง คือ ใจกำลังคิดถึงอย่างอื่น
ผู้ที่ไม่ได้ฟัง แม้ว่าผู้ที่กล่าวธรรมจะกล่าวอยู่ด้วยสมบัติทั้งปวง เพราะว่า พระธรรมทั้งหมดเป็นสมบัติที่มีค่าจริงๆ เมื่อได้เข้าใจ เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะที่มี ผู้กล่าวธรรม และจิตใจฟุ้งซ่านไม่ได้ฟัง ก็จะขอให้บุคคลนั้นกล่าวซ้ำอีก แต่การที่จะเป็นอย่างนี้ หรือการเป็นผู้ที่พิจารณาธรรมโดยแยบคาย ก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น
ข้อความต่อไปมีว่า
อนึ่ง ในที่นี้ บุคคลจะให้อัตตสัมมาปณิธิ และปุพเพกตปุญญตาสำเร็จได้ ก็ด้วยโยนิโสมนสิการ เพราะบุคคลผู้ไม่ได้ตั้งตนไว้ชอบ หรือผู้มิได้ทำบุญไว้ในชาติ ปางก่อน จะมีโยนิโสมนสิการนั้นไม่ได้
เป็นการส่องชี้ไปถึงการสะสมในอดีตของแต่ละคนในขณะที่กำลังฟังว่า การที่ ไม่สามารถเป็นผู้ที่ฟังอย่างตั้งใจ คือ ตั้งตนไว้ชอบได้ ก็เพราะไม่ได้เป็นผู้ที่ทำบุญไว้ในชาติปางก่อน เพราะฉะนั้น ชาตินี้จะเป็นชาติปางก่อนของชาติหน้า ก็ควรที่จะได้สะสมบุญ คือ ตั้งใจฟังด้วยโยนิโสมนสิการ
บุคคลจะให้สัทธัมมัสสวนะ และสัปปุริสูปัสสยะสำเร็จได้ ก็ด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน
การที่จะให้พระธรรมที่ได้ฟังเป็นประโยชน์จริงๆ นั้น ต้องด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน และผู้ที่ฟุ้งซ่านนั้น จะไม่เข้าไปนั่งใกล้สัตบุรุษ คือ ไม่ฟังธรรมเลย
ข้อความต่อไปมีว่า
ก็ด้วยคำทั้งหมดนี้ว่า อิติ เม สุตัง ท่านพระอานนท์ เมื่อไม่ตั้งธรรมวินัยที่ พระผู้มีพระภาคประกาศแล้วเพื่อตนเอง ชื่อว่าก้าวสู่ภูมิของอสัตบุรุษ เมื่อปฏิญญาความเป็นพระสาวก ชื่อว่าก้าวลงสู่ภูมิของสัตบุรุษ ด้วยประการนั้น ท่านพระอานนท์ชื่อว่ายังจิตให้ออกจากอสัทธรรม ชื่อว่ายังจิตให้สถิตอยู่ในสัทธรรม
อนึ่ง ท่านพระอานนท์เมื่อแสดงว่า คำนั้นคือพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค อันข้าพเจ้าฟังมาแล้วทั้งหมดทีเดียว ชื่อว่าเปลื้องตน อ้างพระศาสดา
นี่คือผู้ที่ศึกษาธรรมทั้งหมด แม้ว่าจะเป็นการสังคายนาสืบต่อๆ กันมาจาก ปฐมสังคายนาที่ท่านพระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาก็ตาม ท่านพระอานนท์เองก็เป็นผู้ที่กล่าวว่า ท่านได้ฟังจากพระผู้มีพระภาคทั้งหมด เป็นการเปลื้องตนเองจากการที่จะแสดงให้คนอื่นเข้าใจหรือคิดว่า เป็นธรรมที่ท่านแสดงเอง
ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย มังคลสูตร กถาพรรณนา ปฐมมหาสังคายนา มีข้อความว่า
เพื่อแสดงกำลังแห่งความทรงจำพระธรรมที่ท่านพระอานนท์ได้ฟังมานั้น ท่านจึงได้กล่าวคำว่า เอวัมเม สุตัง ในปฐมสังคายนา
และอีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่เทวดาบางเหล่าเห็นท่านพระอานนท์นั่งเหนือธรรมาสน์ ห้อมล้อมด้วยพระเถระผู้ทรงคุณ จึงเกิดจิตคิดว่า
ท่านพระอานนท์นี้เป็นเวเทหมุนี แม้โดยปกตินับเพียงอยู่ในศากยตระกูล เป็นทายาทของพระผู้มีพระภาค แม้แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะถึง ๕ สถาน เป็นผู้ประกอบด้วยอัจฉริยอัพภูตธรรม ๔ ประการ เป็นที่รัก ที่ต้องใจของบริษัท ๔ บัดนี้ เห็นทีจะเป็นรัชทายาทโดยธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า เกิดเป็นพุทธะ ผู้รู้
เข้าใจว่าท่านเป็นพุทธะอีกองค์หนึ่ง
ฉะนั้น ท่านพระอานนท์ รู้ทั่วถึงความปริวิตกแห่งใจของเทวดาเหล่านั้นด้วย ใจตนเอง ทนการยกย่องคุณที่ไม่เป็นจริงนั้นไม่ได้ เพื่อแสดงภาวะที่ตนเป็นเพียงสาวก จึงกล่าวว่า เอวัมเม สุตัง เอกัง สมยัง ภควา ฯลฯ
ทำให้ผู้ฟังเกิดศรัทธาในพระธรรมของพระผู้มีพระภาค เพราะว่า สาวกของ พระผู้มีพระภาคเมื่อกล่าวอย่างนี้ว่า เอวัมเม สุตัง ชื่อว่าทำความไม่มีศรัทธาให้พินาศ ทำศรัทธาในพระศาสนาให้เจริญ เพราะถ้าเป็นธรรมที่บุคคลอื่นกล่าว ไม่ใช่ธรรมที่ พระผู้มีพระภาคตรัส ย่อมทำให้ผู้ฟังไม่เกิดศรัทธาเท่ากับที่จะกล่าวว่า เอวัมเม สุตัง ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ คือ ได้สดับมาจากพระผู้มีพระภาค
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๖ ตอนที่ ๑๔๕๑ – ๑๔๖๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1441
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1442
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1443
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1444
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1445
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1446
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1447
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1448
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1449
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1450
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1451
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1452
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1453
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1454
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1455
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1456
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1457
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1458
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1459
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1460
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1461
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1462
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1463
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1464
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1465
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1466
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1467
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1468
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1469
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1470
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1471
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1472
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1473
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1474
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1475
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1476
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1477
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1478
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1479
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1480
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1481
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1482
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1483
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1484
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1485
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1486
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1487
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1488
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1489
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1490
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1491
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1492
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1493
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1494
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1495
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1496
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1497
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1498
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1499
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1500