แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1462


    ครั้งที่ ๑๔๖๒


    สาระสำคัญ

    มโนรถปุรณี อถ.องฺ.จตุกก. อถ.ทุติยอุรุเวลสูตร - แสดงลักษณะของความเป็นพหูสูตร (ผู้รองรับสุตะไว้ได้)

    มโนรถปุรณี อถ.องฺ.เอก.พุทธกิจ ๕, อนุตตริยะ ๖ - ธรรมอันสูงสุด ๖ ประการ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๒๘


    บทว่า สุตธโร ได้แก่ เป็นผู้รองรับสุตะไว้ได้

    จริงอยู่ พระพุทธวจนะอันภิกษุใดเรียนแต่บาลีประเทศนี้ เลือนหายไปจากบาลี

    ประเทศนี้ ไม่คงอยู่ ดุจน้ำในหม้อทะลุ เธอไม่สามารถจะกล่าวหรือบอกสูตรหรือชาดกอย่างหนึ่งในท่ามกลางบริษัทได้ ภิกษุนี้ หาชื่อว่าผู้ทรงสุตะไม่

    คิดถึงสมัยนี้ ใครก็ตามที่ได้ฟังหรือได้อ่านแล้ว ไม่สามารถกล่าวหรือบอก สูตรหรือชาดกที่ได้ฟังหรือได้อ่านแล้วในท่ามกลางบริษัท คือ คงจะไม่มีใครสามารถเริ่มต้นพระสูตรหนึ่งหรือชาดกหนึ่งจนจบ แต่สำหรับท่านพระอานนท์ ทุกสูตรและทุกชาดก เพราะฉะนั้น ความจำ การทรงจำ การเป็นผู้ฟังมาก การเป็นผู้สั่งสมสุตะ ของท่าน จะมากมายสักเพียงใด ถ้าเทียบกับคนในสมัยนี้จะเห็นความห่างไกลมาก

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ส่วนพระพุทธวจนะอันภิกษุใดเรียนแล้ว ย่อมเป็นอย่างเวลาที่ตนเรียนมาแล้วนั่นแหละ เมื่อเธอไม่ทำการสาธยายตั้ง ๑๐ ปี ๒๐ ปี ก็ไม่เลือนหาย ภิกษุนี้ ชื่อว่าผู้ทรงสุตะ

    ถ้าเวลาผ่านไปโดยไม่สาธยาย หรือโดยไม่คิดถึงท่องบ่นในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ๑๐ ปี ๒๐ ปี และยังจำได้อย่างมั่นคง นั่นคือความหมายของผู้สั่งสมสุตะ คือ สุตธโร ซึ่งท่านผู้เป็นเอตทัคคะในครั้งนั้น เป็นผู้ที่มีความสามารถอย่างนั้น

    บทว่า สุตสันนิจโย ได้แก่ ผู้สั่งสมสุตะ

    ก็สุตะอันภิกษุใดสั่งสมไว้ในตู้ คือ หทัย ย่อมคงอยู่ดุจรอยจารึกที่ศิลา และดุจมันเหลวราชสีห์ที่เขาใส่ไว้ในหม้อทองคำ ภิกษุนี้ ชื่อว่าสั่งสมสุตะ

    ที่สำหรับเก็บสิ่งที่ได้ยินได้ฟังในตู้ คือ หทัย หมายถึงเก็บไว้ที่ใจ ไม่ใช่จดไว้และเก็บในตู้ ผู้ใดก็ตามที่สั่งสมพระธรรมที่ได้ฟังไว้ในตู้ คือ หทัย และธรรมที่ได้ฟังนั้นยังคงอยู่ ดุจรอยจารึกที่ศิลา ภิกษุนี้ ชื่อว่าสั่งสมสุตะ

    บทว่า ธตา คือ ทรงจำไว้ได้คล่องแคล่ว

    จริงอยู่ พระพุทธวจนะอันภิกษุบางรูปเรียนแล้วไม่ทรงจำให้คล่องแคล่ว ไม่หนักแน่น เป็นธรรมชาติเลือนหาย เมื่อถูกเขาพูดว่า ท่านโปรดกล่าวสูตรหรือชาดกโน้นดังนี้ เธอก็กล่าวว่า เราสาธยายแล้ว ตามไตร่ตรองแล้วจักรู้

    คือ ต้องค่อยๆ นึก ค่อยๆ คิดกว่าจะจำได้

    พระพุทธพจน์ที่ภิกษุบางรูปทรงจำคล่องแคล่ว เมื่อถูกเขาพูดว่า ท่านโปรดกล่าวสูตรหรือชาดกโน้นดังนี้ เธอก็จะยกขึ้นกล่าวสูตรหรือชาดกนั้นได้ทันที

    บทว่า วจสา ปริจิตา ได้แก่ สาธยายได้สูตร ๑๐ หมวดวรรค ๑๐ หมวด ๕๐ หมวด

    บทว่า มนสานุเปกขิตา ได้แก่ เพ่งหรือตรึกด้วยจิต

    พระพุทธวจนะที่ภิกษุใดสาธยายด้วยวาจาปรากฏชัดในที่นั้นๆ แก่เธอผู้คิดอยู่ด้วยใจ เหมือนรูปปรากฏชัดแก่บุคคลผู้ยืนตามประทีปดวงใหญ่ ฉะนั้น

    คือ เป็นผู้ที่มีปัญญา สามารถพิจารณาทะลุปรุโปร่งทั้งเหตุและผลในธรรม ที่ได้ฟัง ขณะที่ได้ฟังธรรมเรื่องใด ก็เหมือนกับรูปที่ปรากฏชัดแก่คนที่ถือประทีป ตามประทีปอยู่ในที่มืด แสดงให้เห็นว่า เป็นผู้ที่สามารถเข้าใจในเหตุในผลของ ธรรมนั้นได้

    ท่านที่เป็นพระอริยบุคคล ท่านนอนไม่มาก ถ้าพิจารณาดูกิจของท่าน พระอานนท์ที่ปรนนิบัติรับใช้ เกือบจะเรียกได้ว่าตลอดเวลา แม้ในเวลากลางคืน ท่านก็ไม่อยากเป็นผู้ที่ง่วงหรือหดหูเคลิบเคลิ้ม เพราะเกรงว่าถ้าเป็นอย่างนั้น เวลาที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ท่านอาจจะไม่ได้ตอบรับพระดำรัส

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล เป็นผู้ที่นอนน้อย และเจริญกุศลมาก

    ขอกล่าวถึงการฟังพระธรรมของท่านพระอานนท์ว่า ท่านได้รับฟังพระธรรมมากเพียงใด โดยพระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมในกาลไหนบ้าง

    มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต พุทธกิจ ๕ มีข้อความว่า

    ก็พระผู้มีพระภาคแม้ประทับอยู่ ณ ที่หนึ่งที่ใด ไม่ทรงละกิจ ๕ อย่าง คือ กิจเบื้องต้นในกาลก่อนภัต คือ ในตอนเช้า ๑ กิจในภายหลังภัต คือ ในตอนบ่าย ๑ กิจในยามต้นแห่งราตรี คือ ในปฐมยาม ๑ กิจในมัชฌิมยาม คือ ยามกลาง ๑ กิจในปัจฉิมยาม คือ ยามสุดท้าย ๑

    สำหรับกิจในกาลก่อนภัต

    พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นแล้วในตอนเช้าตรู่ กระทำการบริกรรมสรีระ มีการสรงพระพักตร์เป็นต้น เพื่อการอนุเคราะห์ผู้อุปัฏฐาก และเพื่อความสบายแห่งพระสรีระ ทรงยังกาลเวลาให้ผ่านพ้นไปบนอาสนะอันสงัดแล้ว จนกระทั่งเวลาเสด็จไปบิณฑบาต

    เวลาที่เสด็จไปบิณฑบาต บางท่านก็นิมนต์ให้ประทับและเสวยภัตตาหารพร้อมกับพระภิกษุ แล้วแต่ว่าจะเป็นจำนวน ๑๐ รูปบ้าง ๒๐ รูปบ้าง

    เมื่อกระทำภัตตกิจแล้ว ทรงแสดงพระธรรมตามอุปนิสัยของบุคคลนั้นๆ ซึ่ง บางท่านก็ตั้งอยู่ในสรณคมน์ บางท่านก็ตั้งอยู่ในศีล ๕ บางท่านเป็นพระโสดาบัน บางท่านเป็นพระสกทาคามี บางท่านเป็นพระอนาคามี

    นี่คือตอนเช้าหลังจากที่บิณฑบาต หรือเสวยภัตตาหารแล้ว ทรงแสดงธรรม เพราะฉะนั้น ท่านพระอานนท์ วันหนึ่งๆ ท่านจะได้ฟังพระธรรมกี่ครั้ง

    เมื่อทรงอนุเคราะห์มหาชนแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ เสด็จไปสู่วิหาร ประทับบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้วในโรงกลม ในเวลาที่สุดแห่งภัตตกิจของภิกษุทั้งหลาย อุปัฏฐากกราบทูลให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปสู่พระคันธกุฎี

    พระผู้มีพระภาคทรงล้างพระบาทแล้ว ประทับนั่งที่หน้ามุขแห่งพระคันธกุฎี โอวาทภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงยังความเพียรให้ถึงพร้อมด้วยความ ไม่ประมาท การเกิดขึ้นของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ได้โดยยาก การได้เป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ได้โดยยากในโลก การถึงพร้อมด้วยศรัทธาเป็นสิ่งที่ได้โดยยาก การบรรพชาเป็นสิ่งที่ได้โดยยาก การฟังธรรมเป็นสิ่งที่ได้โดยยาก

    ซึ่งในที่นั้น ถ้าภิกษุรูปใดทูลถามเรื่องกัมมัฏฐาน พระผู้มีพระภาคก็ประทานกัมมัฏฐาน คือ ทรงแสดงกัมมัฏฐานอันเหมาะแก่ความประพฤติของภิกษุนั้น

    แต่นั้น ภิกษุทั้งหลายถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ไปสู่ที่พักกลางวัน และที่พักกลางคืนของตน

    หลังเพล หรือฉันภัตตาหารแล้ว เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงโอวาทแล้ว ภิกษุทั้งหลายต่างก็แยกย้ายกันไปตามที่พักของตน แล้วแต่ว่าจะเป็นที่พักกลางวัน หรือ ที่พักกลางคืน

    บางพวกไปสู่ป่า บางพวกไปสู่โคนไม้ บางพวกไปสู่ที่ใดที่หนึ่งในบรรดาภูเขาเป็นต้น บางพวกไปสู่ภพของเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา บางพวกไปสู่ภพของ ท้าววสวัตตี (คือ สวรรค์ชั้นสูงสุดชั้นปรนิมมิตวสวัตตี) ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี ตอนบ่ายทรงพักผ่อน ถ้าทรงมีพระประสงค์ ทรงมีสติสัมปชัญญะสำเร็จสีหไสยาอยู่ครู่หนึ่งโดยส่วนเบื้องขวาแล้ว มีพระวรกายอันพักผ่อนเพียงพอแล้ว เสด็จลุกขึ้น ทรงตรวจดูสัตว์โลก ในที่ส่วนที่ ๒

    ในส่วนที่ ๓

    ในกาลภายหลังภัต พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยบ้านใดแล้ว ประทับอยู่ มหาชนในบ้านนั้นเมื่อถวายทานแล้ว นุ่งห่มดีแล้ว ถือเอาวัตถุทั้งหลายมีของหอมและระเบียบดอกไม้คือมาลาเป็นต้น ไปประชุมกันในวิหาร จากนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปทรงแสดงธรรมตามสมควรแก่กาล สมควรแก่สมัย บุคคลเหล่านั้นฟังพระธรรมแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วพากันหลีกไป

    นี่คือตอนหลังจากที่ฉันภัตตาหาร ทรงพักผ่อนแล้ว และพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ หมู่บ้านใด มหาชนในหมู่บ้านนั้นก็ได้มาเฝ้าและฟังธรรม ตอนเช้า ฟังหนหนึ่ง ตอนบ่ายฟังอีก ท่านพระอานนท์ ท่านต้องฟังโดยตลอดจริงๆ

    หลังจากนั้นแล้ว

    ในปฐมยาม ในตอนกลางคืน ถ้าพระผู้มีพระภาคประสงค์จะชำระพระวรกาย ก็เสด็จลุกขึ้นจากพุทธอาสน์ หลังจากที่มหาชนกลับไปแล้ว เสด็จเข้าสู่ซุ้มเป็นที่สรง ยังพระวรกายให้ถือเอาอุตุด้วยน้ำอันอุปัฏฐากจัดเตรียมแล้ว แม้อุปัฏฐากก็นำเอา พุทธอาสน์มาแล้วปูลาดที่บริเวณพระคันธกุฎี พระผู้มีพระภาคเสด็จมาประทับบนอาสนะนั้นผู้เดียวนั่นเทียว ทรงหลีกเร้นอยู่ครู่หนึ่ง

    หลังจากที่ได้สรงน้ำแล้ว ก็ทรงพักผ่อนอยู่ครู่หนึ่ง

    ครั้งนั้นภิกษุมาแล้ว มาแล้วจากที่นั้นๆ ย่อมไปสู่ที่บำรุงของพระผู้มีพระภาค บางพวกทูลถามปัญหา บางพวกทูลขอกัมมัฏฐาน บางพวกทูลขอการฟังพระธรรม พระผู้มีพระภาคทรงยังความประสงค์ของภิกษุเหล่านั้นให้ถึงพร้อมอยู่ แม้ในยามต้น ให้ผ่านพ้นไป

    ทรงแสดงธรรมมาก ทั้งเช้า ทั้งบ่าย ทั้งในปฐมยาม ต่อจากนั้น หลังจากปฐมยามผ่านพ้นไปแล้ว

    ก็ในที่สุดแห่งกิจในยามเบื้องต้น ครั้นเมื่อภิกษุทั้งหลายถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้วหลีกไป เทวดาในหมื่นโลกธาตุทั้งสิ้น เมื่อได้โอกาส เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ทูลถามปัญหา พระผู้มีพระภาคทรงวิสัชนาปัญหาของเทวดาทั้งหลายเหล่านั้น ยังมัชฌิมยามให้ผ่านพ้นไป

    นี่เป็นกิจในมัชฌิมยาม

    ทั้งปัจฉิมยามและมัชฌิมยาม ยังเหลือเวลาอีกเพียง ๔ ชั่วโมงจะรุ่งเช้า

    ในปัจฉิมยาม พระผู้มีพระภาคทรงกระทำปัจฉิมยามให้เป็น ๓ ส่วน ยังส่วนหนึ่งให้ผ่านพ้นไปด้วยการจงกรม เพื่อบรรเทาความอ่อนเพลียแห่งพระวรกาย อันการประทับนั่งบีบคั้นแล้ว ในส่วนที่ ๒ เสด็จเข้าไปสู่พระคันธกุฎี ทรงมีสติสัมปชัญญะสำเร็จสีหไสยาโดยส่วนเบื้องขวา ในส่วนที่ ๓ เสด็จลุกขึ้นแล้ว ประทับนั่ง ตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ เพื่อเห็นบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันกระทำแล้วด้วยสามารถแห่งบุญมีทานและศีลเป็นต้น ในสำนักของพระผู้มีพระภาคใน ปางก่อน

    คิดว่าในระหว่างนั้นท่านพระอานนท์ท่านทำอะไร ตลอดเวลา ตั้งแต่ พระผู้มีพระภาคเริ่มบิณฑบาต ซึ่งความจริงก่อนหน้านั้น ท่านต้องตื่นก่อนเพื่อตระเตรียม และต้องฟังธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า พระคุณของท่านพระอานนท์มีมากจริงๆ

    . พระอานนท์ท่านมีความอุตสาหะในการปรนนิบัติพระพุทธองค์ตลอดเวลา แม้กลางคืนก็คอยระวังอยู่ตลอดว่า พระพุทธองค์จะตรัสเรียกเมื่อไร แสดงว่าท่านคงจะคอยดูอยู่ว่า พระพุทธองค์จะทรงบรรทมเมื่อไรอย่างนั้น

    สุ. การพักผ่อนของท่านต้องน้อยมาก เพราะท่านเป็นผู้ที่มั่นคงในการเป็นพุทธอุปัฏฐากอย่างยอด หรือว่าอย่างเลิศ เพราะฉะนั้น แม้แต่ตอนกลางคืน ธรรมดาของผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลจะนอนมากและตื่นน้อย แต่สำหรับท่านพระอานนท์ นอกจากท่านจะเป็นพระโสดาบันแล้ว ท่านยังได้ฌานสมาบัติด้วย เพราะฉะนั้น การพักผ่อนจริงๆ เพียงสัก ๒ ชั่วโมง หรือ ๓ ชั่วโมง หรืออาจจะชั่วโมงกว่าๆ ก็เพียงพอ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตเป็นกุศลขั้นมหัคคตะ คือ เป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่กว่ามหากุศล จิตตชรูปย่อมผ่องใส และไม่ทำให้เมื่อยล้า หรือว่าอ่อนเพลียเท่ากับผู้ที่ไม่ได้ ฌานสมาบัติ

    . เท่าที่สังเกต อย่างตัวผม จิตที่หลับจริงๆ คงจะน้อยมาก เพราะว่า ฝันมาก มีเรื่องฝันมากมาย ซึ่งตอนฝันนี่ไม่ได้หลับจริงๆ

    สุ. เป็นความถูกต้อง เพราะถ้าตรงกับหลักวิชาแพทย์สมัยใหม่แล้ว ทุกคนฝัน เพียงแต่ว่าจำความฝันไม่ได้ บางครั้งอาจจะจำได้ชัดเจน แต่บางครั้งก็จำได้บ้างเป็นบางตอน แสดงให้เห็นว่า ภวังคจิตเกิดสลับกับมโนทวารวิถี ซึ่งในขณะที่ฝันนั้นเป็นมโนทวารวิถี เพราะฉะนั้น การพักผ่อนจริงๆ คือ ในขณะที่ภวังคจิตเกิดมาก ซึ่งปรากฏเป็นการหลับสนิท ไม่ฝัน

    . มีกล่าวไว้ไหมว่า พระอานนท์ต้องตื่นก่อนนอนทีหลัง

    สุ. ควรไหม

    . แน่นอน ควรเป็นอย่างนั้น แต่ ...

    สุ. ถ้าเป็นผู้เลิศในทางอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค

    . ผมเคยอ่านพบว่า พระผู้มีพระภาค ภวังคจิตของท่านจะมี ๒ หรือ ๓ ขณะคั่นระหว่างวิถีจิต รองลงมาเป็นท่านพระสารีบุตร ๙ ขณะ ปุถุชนอย่างพวกเรา แสนโกฏิขณะนับไม่ถ้วน ผมสงสัยว่า การมีภวังคจิตสั้นหรือยาว เกี่ยวข้องกับปัญญาอย่างไร

    สุ. เวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงมีภวังคจิตเพียง ๒ ขณะ เท่าที่ทราบมา คือในขณะที่ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ถ้าในขณะอื่นไม่ได้กล่าวไว้ แต่ก็ไม่มากเท่ากับบุคคลอื่น ซึ่งในขณะที่ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์นั้น ต้องอาศัยความรวดเร็วที่จะทำให้เกิดปาฏิหาริย์เป็นคู่ๆ อย่างนั้นพร้อมๆ กันได้ เพราะฉะนั้น ภวังคจิตจึงสั้นมาก คือ เพียง ๒ ขณะ

    ขอกล่าวถึงอนุตริยะ ๖ สำหรับอนุตริยะ คือ ธรรมอันสูงสุด ๖ ประการ อันเว้นจากอุตตริมนุสสธรรม อุตตริมนุสสธรรม ได้แก่ ฌานจิตและโลกุตตรจิต ส่วน จิตอื่นๆ เป็นอนุตริยะ คือ ธรรมอันสูงสุด ๖ ประการ ได้แก่

    ทัสสนานุตริยะ การเห็นอันยอดเยี่ยม ๑

    สวนานุตริยะ การฟังอันยอดเยี่ยม ๑

    ลาภานุตริยะ การได้ลาภอันยอดเยี่ยม ๑

    สิกขานุตริยะ การศึกษาอันยอดเยี่ยม ๑

    ปาริจริยานุตริยะ การบำรุงอันยอดเยี่ยม ๑

    อนุสตานุตริยะ การระลึกที่ยอดเยี่ยม ๑

    สำหรับท่านพระอานนท์ ท่านเป็นผู้ที่พร้อมด้วยอนุตริยะทั้ง ๖ คือ

    ท่านพระอานนท์เถระได้เพื่ออันเห็นพระผู้มีพระภาคในเวลาเย็น ในเวลาเช้า ด้วยจักขุวิญญาณ นี้ชื่อว่าทัสสนานุตริยะ บุคคลอื่นมีพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ย่อมได้เพื่ออันเห็นพระผู้มีพระภาคเหมือนท่านพระอานนท์ นี้ชื่อว่า ทัสสนานุตริยะ ส่วนกัลยาณปุถุชนอื่น ได้เพื่ออันเห็นพระผู้มีพระภาคเช่นเดียวกับ ท่านพระอานนท์แล้ว ทำการเห็นนั้นให้เจริญ ย่อมให้ถึงโสตาปัตติมรรค นี้ชื่อว่า ทัสสนะนั่นเทียว แต่ทัสสนะที่เป็นมูล ชื่อว่าทัสสนานุตริยะ

    การเห็นอันยอดเยี่ยมของทุกคน จะไม่เห็นอะไรประเสริฐเท่ากับเห็น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บางท่านอาจจะอยากเห็นเพชรนิลจินดาที่พิเศษ ที่กล่าวกันว่ามีค่ามหาศาล หรือบางท่านอาจจะอยากเห็นสวรรค์ อาจจะอยากเห็นวิมานของเทพบุตรเทพธิดาในสวรรค์ชั้นต่างๆ แต่นั่นไม่ชื่อว่าการเห็นอย่าง ยอดเยี่ยม

    สำหรับผู้ที่เป็นพุทธบริษัท ก็อาจจะมีความคิดว่า อยากจะเห็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ท่านพระอานนท์ ได้เพื่ออันเห็นพระผู้มีพระภาคในเวลาเย็น ในเวลาเช้าด้วยจักขุวิญญาณ นี้ชื่อว่าทัศนานุตริยะ แต่บุคคลอื่น เช่น พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ก็ย่อมได้เห็นพระผู้มีพระภาคเหมือนท่านพระอานนท์

    การเห็นของบุคคลใดก็ตาม ที่เห็นพระผู้มีพระภาค จักขุวิญญาณนั้นเป็น กุศลวิบาก เป็นทัศนานุตริยะ เพราะในสมัยนี้ไม่มีทางที่จะได้เห็นเลย ไม่ว่าใครจะสร้างพระพุทธรูปในลักษณะต่างๆ ก็ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะคน ในยุคนี้ไม่มีจักขุวิญญาณกุศลวิบากที่จะเห็นองค์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือน พุทธบริษัทในครั้งนั้น

    กัลยาณปุถุชน คือ ผู้ที่มีธรรมงาม ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ผู้ที่เข้าใจหนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ได้เพื่ออันเห็นพระผู้มีพระภาคเช่นเดียวกันกับท่านพระอานนท์ แล้วทำการเห็นนั้นให้เจริญ ย่อมให้ถึงโสตาปัตติมรรค นี้ชื่อว่าทัสสนะนั่นเทียว แต่ ทัสสนะที่เป็นมูล ชื่อว่าทัสสนานุตริยะ เพราะการถึงโสตาปัตติมรรคจะมีไม่ได้เลย ถ้าไม่มีทัสสนะที่เป็นมูล ที่เป็นทัสสนานุตริยะ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๗ ตอนที่ ๑๔๖๑ – ๑๔๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 91
    28 ธ.ค. 2564