แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1464


    ครั้งที่ ๑๔๖๔


    สาระสำคัญ

    สวนานุตตริยะ (การฟังอย่างยอดเยี่ยม) - ฟังเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วพิจารณาจนเข้าใจ

    ส.ส.กัสสปโคตตสูตร - ศรัทธาในการฟังธรรมตามอัธยาศัยที่สะสมมา

    เหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องกลาป


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๒๘


    ก็คำที่มีความหมายที่ใครๆ เข้าใจไม่ได้ และคำที่ใครๆ ปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้นไม่ได้ ไม่ชื่อว่าฟังเสร็จแล้ว ฉันใด คำที่ใครๆ รับด้วยดีไม่ได้ ไม่ชื่อว่า กล่าวแล้ว ฉันนั้น ก็บริษัท ๔ รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคด้วยดีแล้ว พากันปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำว่า วุตตัง ไว้ ๒ ครั้ง เพื่อแสดงว่า พระดำรัสของพระผู้มีพระภาค สาวกรับไว้ด้วยดีทีเดียว

    นี่คือประโยชน์จากการฟังจริงๆ พิจารณาและรับไว้ด้วยดี เพราะถ้าเป็นคำที่ใครก็ตามเข้าใจไม่ได้เลย ต้องเป็นคำที่ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่สามารถปฏิบัติตามเพื่อความเป็นอย่างนั้นได้ การฟังยังไม่ชื่อว่าฟังเสร็จแล้ว จนกว่าจะเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟัง จริงๆ ตลอดหมด และต้องฟังต่อไปอีก จนสามารถปฏิบัติถึงความเป็นอย่างนั้นได้ คือ การรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ต้องฟังมากๆ เพื่อเข้าใจพระธรรมที่ท่านพระอานนท์ได้ทรงจำไว้ ซึ่งเชื่อว่าตลอดชีวิตนี้ไม่จบและไม่หมด แม้ว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ๔๕ พรรษา และท่านพระอานนท์ได้ทรงจำไว้โดยตลอด แต่พุทธบริษัทในสมัยนี้ศึกษาไปจนตลอดชีวิต จะเข้าใจทั้งหมดได้หรือเปล่า นั่นเป็นสิ่งที่แต่ละบุคคลจะทราบได้ ถ้ากล่าวถึงทั้งโดยอรรถและพยัญชนะแล้ว ยากจริงๆ สำหรับคนในยุคนี้ที่จะเข้าใจได้โดยตลอด

    การฟังพระธรรมเป็นเรื่องยาก ถ้าบุคคลนั้นไม่เคยสะสมบุญมาก่อนในอดีต ย่อมไม่ได้ลาภ คือ ศรัทธา แม้ในการฟัง เพราะย่อมมีเหตุการณ์หลายอย่างที่จะขัดขวางการฟังธรรม ไม่ให้ดำเนินไปด้วยดี ตามอัธยาศัยที่สะสมมา

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค กัสสปโคตตสูตร ข้อ ๗๖๖ - ข้อ ๗๖๗ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง ท่านพระกัสสปโคตรพำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล สมัยนั้นแล ท่านอยู่ในที่พักกลางวัน กล่าวสอนนายพรานเนื้อคนหนึ่ง ฯ

    นี่เห็นกุศลจิตของท่านพระเถระรูปหนึ่งซึ่งหวังดีต่อนายพรานเนื้อ แต่การฟังธรรมเป็นเรื่องยาก ตามเหตุการณ์ และการสะสมของแต่ละบุคคล

    ครั้งนั้น เทวดาผู้สิงอยู่ในป่านั้น มีความเอ็นดูใคร่ประโยชน์แก่ท่าน พระกัสสปโคตร หวังจะให้ท่านสลดใจจึงเข้าไปหา แล้วได้กล่าวกะท่านด้วยคาถาว่า

    ภิกษุผู้กล่าวสอนนายพรานเนื้อซึ่งเที่ยวไปตามซอกเขา ผู้ทรามปัญญา ไม่รู้ เท่าถึงการณ์ ในกาลอันไม่ควร ย่อมปรากฏแก่เราประดุจคนเขลา เขาเป็นคนพาล ถึงฟังธรรมอยู่ก็ไม่เข้าใจเนื้อความ แสดงประทีปโพลงอยู่ก็ไม่เห็น เมื่อท่านกล่าว ธรรมอยู่ ย่อมไม่รู้เนื้อความ ข้าแต่ท่านกัสสป ถึงแม้ท่านจักทรงประทีปอันโพลงตั้ง ๑๐ ดวง เขาก็จักไม่เห็นรูป เพราะจักษุ (คือ ญาณ) ของเขาไม่มี ฯ

    ลำดับนั้น ท่านพระกัสสปโคตรผู้อันเทวดานั้นให้สังเวช ถึงซึ่งความสลดใจแล้ว ฯ

    ซึ่งข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า

    พรานล่าเนื้อคนนั้นกินข้าวเช้าแล้วคิดว่า เราจักไปล่าเนื้อ เขาก็ได้เข้าไปสู่ป่าเห็นละมั่งตัวหนึ่ง คิดว่า เราจักประหารด้วยหอก และติดตามละมั่งตัวนั้นไป หลีกไปในที่ไม่ไกลที่พระเถระนั่งในที่พักกลางวัน

    ลำดับนั้นท่านพระเถระจึงกล่าวกะเขาว่า อุบาสก ขึ้นชื่อว่าปาณาติบาต นี้ เป็นไปเพื่ออบาย เป็นไปด้วยเหตุให้มีอายุสั้น เขาอาจจะทำการเลี้ยงครอบครัวด้วยการงานอย่างอื่น มีการกสิกรรมและพาณิชยกรรมเป็นต้นก็ได้ ท่านอย่าทำกรรม หยาบช้าอย่างนี้เลย

    ถ้าเห็นใครตกปลา ยุคสมัยตกปลา หรือเห็นใครล่าสัตว์ จะไปบอกเขาว่า ขึ้นชื่อว่าปาณาติบาตนี้ เป็นไปเพื่ออบาย เป็นไปด้วยเหตุให้มีอายุสั้น ซึ่งคนนั้นอาจจะทำไปด้วยความสนุก แต่สำหรับนายพรานเขาทำเพื่อเลี้ยงครอบครัว แต่ แม้อย่างนั้น ท่านพระกัสสปโคตรก็กล่าวว่า เขาอาจจะทำการเลี้ยงครอบครัวด้วย การงานอย่างอื่นมีการกสิกรรมและพาณิชยกรรมเป็นต้น ท่านอย่าทำกรรมหยาบช้าอย่างนี้เลย

    แม้นายพรานนั้นก็คิดว่า พระเถระผู้ถือผ้ามหาบังสุกุลพูด จึงเริ่มยืนฟังด้วยความเคารพ

    ลำดับนั้นท่านพระเถระนั้นคิดว่า เราจักยังความใคร่ฟังให้เกิดแก่เขา จึงยัง นิ้วมือให้ลุกโพลงขึ้น

    ท่านเป็นผู้ที่ทำอิทธิปาฏิหาริย์ได้ จึงคิดว่า ถ้าบุคคลนั้นเห็นอิทธิปาฏิหาริย์ ย่อมเกิดความเลื่อมใสและคงจะตั้งใจฟังธรรม ท่านจึงทำให้นิ้วมือของท่านลุกโพลงขึ้นทั้ง ๑๐ นิ้ว

    เขาเห็นแม้ด้วยตา ได้ยินแม้ด้วยหู แต่จิตใจของเขาแล่นไปตามรอยเท้าเนื้ออย่างนี้ว่า เนื้อจักไปสู่ที่โน้น ลงท่าโน้น เราจักไปฆ่ามันในที่นั้น กินเนื้อตามต้องการแล้วจักหาบเนื้อที่เหลือไปฝากลูกๆ

    นี่คือความคิดตลอดเวลาในขณะที่กำลังฟังธรรม

    บทว่า อัชฌภาสิ ความว่า พระเถระนี้ยังการงานของตนทั้งของพรานนั้น ให้พินาศ เหมือนอย่างคนถากของคนอื่นที่ไม่ใช่ไม้ฟืน เหมือนอย่างคนหว่านข้าวในที่ไม่ใช่นา จึงได้กล่าวเตือนท่านพระกัสสปโคตร

    ซึ่งท่านเป็นปุถุชนผู้มีฤทธิ์ แต่ยังไม่ใช่เป็นพระอริยบุคคล

    ท่านพระกัสสปโคตรคิดว่า จะมีประโยชน์อะไรแก่เรากับพรานนี้ จึงประคองความเพียรดำเนินตามอรหัตตมรรคที่เป็นธรรมวิเวก

    . ขณะที่นายพรานฟังท่านกัสสปโคตร จิตระลึกแต่ในเรื่องที่เดี๋ยวจะไปเอาเนื้อ เดี๋ยวจะเอาเนื้อไปให้ลูกกิน เนื้อจะไปที่ไหนต้องตามไปฆ่า ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการฟังธรรม ใช่ไหม

    สุ. ไม่ได้ประโยชน์ทั้งผู้ฟังและผู้กล่าวธรรม

    . แม้ผู้กล่าวจะเป็นใครก็แล้วแต่

    สุ. เพราะฉะนั้น ต้องรู้จักอัธยาศัย และต้องรู้จักกาลและเทศะด้วยว่า ในสถานที่นั้น ควรกล่าวธรรมไหม หรือในเวลานั้น ควรจะกล่าวธรรมไหม ถ้าไม่ใช่กาลเทศะที่สมควร ชื่อว่าไม่ได้กล่าว เพราะว่าไม่มีผู้รับ การกล่าวนั้นก็เปล่าประโยชน์

    . อย่างเราสะสมการฟังธรรมและการปฏิบัติธรรมมาแล้ว ถ้าเราได้อธิษฐานว่า ขอให้ไปเกิดในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่าพระศรีอริยเมตไตรย สมมติว่าได้ไปเกิดและได้ฟังธรรมจากท่าน จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไหม ปัญญาขนาดนี้

    สุ. และชาตินี้จะทำอะไร ที่หวังว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในสมัย พระศรีอริยเมตไตรย

    . ชาตินี้คงไม่หวังรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่หวังว่าจะสะสมไปเรื่อยๆ

    สุ. และชาติหน้า

    . ชาติหน้าก็คงไม่หวัง

    สุ. ก็อีกทีละชาติๆ จนกว่าจะถึงพระศรีอริยเมตไตรย

    . คิดว่า อย่างเราขนาดนี้ คือ เราศึกษาธรรมอย่างนี้ ถ้าเจอพระพุทธเจ้าองค์ไหน ก็คงจะผางล่ะเที่ยวนี้

    สุ. เพียงสนใจไม่พอ ต้องประพฤติปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมด้วย นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด อย่าคิดว่าที่ฟังแล้วนี่พอ หรือว่ามากแล้ว หรืออย่าคิดว่า ที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้มากแล้ว พอแล้ว ก็ไม่ใช่ เพียงแต่ว่ากำลังสะสมโดยการไม่หวังเท่านั้นเองว่า จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อไร เพราะว่าสติสามารถเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ นี่คือประโยชน์ ไม่ว่าจะฟังเรื่องอะไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่า สามารถจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    เรื่องที่กำลังกล่าวถึงในขณะนี้ เป็นเรื่องของโสตวิญญาณซึ่งเป็นอเหตุกจิต เป็นจิตที่รู้เสียง เสียงที่กำลังกระทบในขณะนี้ กระทบกับโสตปสาทรูป ซึ่งเป็นรูปที่เล็กและละเอียดมาก เพราะว่าทั้งตัวสามารถที่จะแตกย่อยออกไปเป็นส่วนที่ละเอียดที่สุด เวลาที่เห็นผงเล็กๆ ยังมองเห็นว่าเล็กแค่ไหน และย่อยสิ่งนั้นออกไปอีกได้ไหม ถ้าย่อยลงไปจนเล็กที่สุด เป็นผงที่ละเอียดที่สุด ที่มองเห็นข้างนอก ฉันใด ที่กายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าในขณะนี้ ก็ฉันนั้น เมื่ออากาศธาตุคั่นอยู่อย่างละเอียดที่สุด ก็แสดงว่าคือผงที่ละเอียดที่สุด เมื่อประชุมรวมกันก็ทำให้ดูเสมือนว่าเป็นก้อนเป็นแท่งที่ใหญ่ทึบพอสมควร แต่สิ่งที่มองเห็นว่าทึบนี่ ด้วยอากาศธาตุซึ่งแทรกคั่นอยู่ตลอดเวลา จะเห็นได้ว่า เป็นสิ่งที่เปราะและก็บาง และเกิดดับอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่ใครจะคิดได้ว่าจะเกิดดับรวดเร็วอย่างนั้น เพราะว่ารูปมีอายุเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ นี่ต้องไม่ลืม เพื่อที่จะได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมได้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดก็ตามที่ไม่ได้ปรากฏในขณะนี้คือสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งนั้น รูปนั้น นามนั้น เกิดแล้ว ดับแล้ว

    รูปที่ละเอียดที่สุด ที่เป็นผงย่อย ที่ประชุมรวมกัน ทยอยกันเกิดดับ อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ความทรงจำที่ว่า มีส่วนของหน้า ส่วนของคอ ส่วนของแขน ส่วนของเท้า ส่วนของมือต่างๆ นั่นเป็นแต่เพียงความทรงจำเรื่องของ ผงละเอียดๆ ซึ่งรวมประชุมกันและก็เป็นก้อนเป็นแท่งที่ยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นร่างกายของเรา แต่ถ้าคิดถึงการเกิดดับที่เร็วมากและทยอยกัน จะเห็นได้ว่า ว่างเปล่า สิ่งใดที่กำลังปรากฏเท่านั้น สิ่งนั้นยังไม่ดับ

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ แสดงว่า โสตปสาทรูปซึ่ง ดับอย่างรวดเร็ว ขณะนั้นยังไม่ดับ และกระทบกับเสียง จึงมีการได้ยินเกิดขึ้น และ ดับแล้ว จึงไม่มีอะไรเลยสักอย่างเดียวที่เป็นแก่นสารสาระที่มั่นคง เพราะรูปแต่ละรูปเล็กละเอียด และเกิดดับอย่างเร็วมาก

    นี่เป็นเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องกลาป หรือกลุ่มต่างๆ ของรูป เพื่อให้เห็นความจริงว่า ในการอบรมเจริญปัญญาจะต้องไม่มีความเป็นตัวตน แต่ มีลักษณะของรูปแต่ละประเภทที่สติกำลังระลึกเท่านั้นในขณะนั้น สิ่งอื่นไม่มี เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่ตัวตน ละอัตตสัญญา ซึ่งเคยมีตาที่เป็นสสัมภาระจักขุ ตาดำ ตาขาว มีหน้า มีแขน มีคอ มีทุกสิ่งทุกอย่าง เหลือแต่เพียงลักษณะของรูปที่กำลังปรากฏ และรูปที่ปรากฏเหมือนแท่งทึบ แต่ความจริงมีอากาศธาตุคั่นอยู่ ถ้าเป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมนั้น ต้องประจักษ์ตามความเป็นจริง ในภาวะที่เบาบางละเอียดของแต่ละกลาปที่ปรากฏ และภายหลังจึงจะประจักษ์ การเกิดขึ้นและดับไป

    เพราะฉะนั้น จึงเป็นการแสดงธรรมเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ระลึกลักษณะของรูป รูปใด ขณะไหน ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพของรูปนั้นๆ ที่ยังไม่ดับและกำลังปรากฏ

    แม้แต่ในขณะที่กำลังฟังนี่ มีการได้ยินเกิดขึ้น ก็แล้วแต่ว่าสติปัฏฐานจะระลึกลักษณะของนามธรรม หรือว่าระลึกลักษณะของรูปธรรม

    . เทปธรรมของท่านอาจารย์หลายพันม้วน ยิ่งฟังยิ่งเห็นคุณค่า ถ้าฟังแล้วพยายามทำความเข้าใจให้ได้ ปฏิบัติให้ได้ เมื่อไรจึงจะได้ดวงตาเห็นธรรม

    สุ. ดวงตาเห็นธรรมเป็นผล ซึ่งมาจากเหตุ ถ้าเหตุมีและสมควรแก่ผลเมื่อไร ไม่ต้องห่วงเลย แต่ถ้าสติยังไม่ได้ระลึกลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมในขณะนี้ เอาในขณะนี้เลย ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องดวงตาเห็นธรรม

    ในขณะนี้เอง สติสามารถระลึกลักษณะของรูปธรรมหรือนามธรรม เพราะว่าเป็นผู้ที่สังเกตพร้อมสติ และรู้ว่าลักษณะของนามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ไม่ว่าจะเป็นทางตาในขณะนี้ สามารถรู้ความต่างกันของนามธรรมซึ่งเห็น กำลังรู้ กับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนด้วย คือ สิ่งที่เคยเป็นคนนั้นคนนี้ปัญญาก็สามารถรู้ได้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แยกจากรูปอื่นซึ่งเพียงปรากฏทางหู แยกจากรูปอื่นซึ่งเพียงปรากฏทางกาย

    ต้องอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรม ๖ ทางเท่านั้น จะเป็นกี่หมื่นกี่แสนกัปก็ตาม ก็ ๖ ทางเท่านั้น คือ ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่กำลังได้กลิ่น ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรส ทางกายที่กำลังกระทบสัมผัส และทางใจที่กำลังคิดนึก

    สวนานุตริยะ การฟังอย่างยอดเยี่ยม คือ การฟังเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏ และพิจารณาจนเข้าใจ มิฉะนั้น โสตวิญญาณที่ได้ยินเสียงจะนำมาซึ่งโลภะและโทสะอยู่เสมอ ถ้าเป็นเสียงที่ดี ก็พอใจ ถ้าเป็นเสียงสรรเสริญ ก็ฟูขึ้นด้วยความพอใจ ถ้าเป็นเสียงติเตียน ก็จมลงด้วยความโทมนัสขัดเคือง

    เพราะฉะนั้น โสตวิญญาณซึ่งเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมทำให้ได้ยินเสียงต่างๆ เป็นสิ่งซึ่งมีเหตุปัจจัยที่ได้ทำแล้วในอดีต คือ กรรมเป็นปัจจัยทำให้ โสตวิญญาณเกิดขึ้น แต่ว่าขาดทุนหรือเปล่า

    เวลาที่ได้ยินเสียงที่ดี หลังจากที่ได้ยินแล้ว ขาดทุนไหม ถ้าอกุศลจิตเกิด เพียงได้ยินนิดเดียว เสียงนั้นก็ดับ ได้ยินก็ดับ ไม่มีอะไรเหลือเลย แต่โลภมูลจิตสะสมสืบต่อไปอีก โทสมูลจิตก็สะสมสืบต่อไปอีก

    เพราะฉะนั้น น่าคิดว่า การได้ยินแต่ละครั้ง การเห็นแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเห็น สิ่งที่ดีประณีตสักเท่าไร หรือได้ยินเสียงที่น่าพอใจสักเท่าไร ขาดทุนหรือเปล่า

    ถ้าอกุศลจิตเกิด ก็ขาดทุน

    ได้ทุนมาดี คือ ได้ฟังเสียงที่ดี น่าพอใจ แต่กลับขาดทุน เพราะอกุศลจิตเกิด

    เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม เพื่อระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง จนกว่าปัญญาจะรู้ชัด และไม่ต้องนึกถึงผล ถ้าสติเกิด ก็ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เท่านั้นเอง และปัญญาที่ค่อยๆ รู้ขึ้น จะละความสงสัย

    บางคนบอกว่า สติเกิดบ่อย ปัญญาเพิ่มขึ้น แต่ลืมคิดว่า ความสงสัยลดลงหรือเปล่า ไม่ใช่เพียงปัญญาเพิ่มขึ้น แต่ความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของ สภาพธรรมต้องลดลงด้วย หรือไม่ก็คลายลงบ้าง

    ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เริ่มเห็นอย่างนี้แล้วหรือยัง ไม่มีอะไรเลย นอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏและยึดถือว่าเป็นบุคคลต่างๆ เป็นสิ่งต่างๆ ถ้าตราบใดที่ยังยึดถืออยู่ ก็เป็นอัตตสัญญา

    . นายพรานนั้น อย่างน้อยที่สุดก็ได้เคยสะสมในขั้นการฟังมา ใช่ไหม ที่ได้เห็นนักพรตและสนใจที่จะฟัง

    สุ. สนใจเมื่อเห็นท่านครองผ้ามหาบังสุกุล ก็คิดว่าจะฟัง แต่การสะสม ในอดีตไม่พอ เพราะฉะนั้น จึงมีปัจจัยที่ทำให้คิดเรื่องอื่น

    . เราก็น้อมมาพิจารณาตัวเองว่า เราเกิดมาด้วยกรรมหนึ่งซึ่งได้สร้างไว้ ในขณะเดียวกันก็ได้สะสมในขั้นการฟังมาเพียงเล็กน้อย อย่างบางครั้งที่ฟังเทปของท่านอาจารย์เรื่องปัจจัยหรือจิต ก็ไม่เข้าใจ ง่วงเหงาหาวนอน ลักษณะนั้นคงเป็นลักษณะเดียวกับนายพราน เหตุหรือปัจจัยที่เราสร้างมามีเพียงแค่นั้น ก็คงจะเป็นไปได้เพียงแค่นั้น ทีละเล็กทีละน้อย ใช่ไหม

    สุ. การสะสม น้ำทีละหยดก็ดี ใช่ไหม สักวันหนึ่งก็คงจะเต็มได้ การสะสมไม่สูญหายเลย ไม่ว่าจะเป็นการฟัง แม้อาจจะระลึกไม่ได้ แต่ถ้าฟังบ่อยๆ ย่อมจะ จำได้เพิ่มขึ้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๗ ตอนที่ ๑๔๖๑ – ๑๔๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 91
    28 ธ.ค. 2564