แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1467


    ครั้งที่ ๑๔๖๗


    สาระสำคัญ

    ส.ส.อุชฌานสัญญีสูตร - ผู้มีความมุ่งหมายเพ่งโทษ

    อรรถสาลินี นิทานกถา - ปริยัติ ๓ ประเภท

    ผู้ปฏิบัติผิดในพระวินัยย่อมถึงความเป็นผู้ทุศีล

    ผู้ปฏิบัติผิดในพระสูตรย่อมถึงความเป็นมิจฉาทิฏฐิ

    ผู้ศึกษาโดยไม่ไตร่ตรองในพระอภิธรรมจะถึงความฟุ้งซ่านแห่งจิต


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๒๘


    สมัยนี้ไม่มีอย่างท่านพระเทวทัต แต่ถ้าเป็นการศึกษาโดยไม่รอบคอบจะทำให้เกิดความสำคัญตนและความมานะได้ เพราะความเห็นผิดหรือความเห็นถูกก็ตาม ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลได้ บางคนอาจจะคิดว่า ท่านมีความเห็นถูกในธรรมแล้ว คงจะปลอดภัยจากอกุศล เพราะว่าท่านมีความเห็นถูก แต่บางคนที่มีความเห็นถูกก็ยังมีอกุศลโดยว่ากล่าวคนที่มีความเห็นผิด

    เคยสังเกตในชีวิตประจำวันบ้างไหมว่า เมื่อเป็นผู้ที่มีความเห็นถูกแล้ว ก็ว่ากล่าวคนที่มีความเห็นผิดต่างๆ นานา ซึ่งในขณะนั้นเป็นอกุศลจิต แต่อกุศลจิตนั้นเกิดขึ้นเพราะมีความเห็นถูก

    ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ เป็นผู้ที่มีความเห็นถูกแล้ว แม้คนอื่นมีความเห็นผิด ก็รู้ว่า การที่คนอื่นมีความเห็นผิดอย่างนั้นๆ ก็เป็นไปตามอัธยาศัยที่สะสมมา ไม่จำเป็นต้องไปว่ากล่าว ซึ่งบางคนอาจจะบริภาษหรือใช้คำที่ไม่เหมาะสม แต่ลืมระลึกว่า ในขณะที่กำลังกล่าวอย่างนั้น เป็นอกุศลจิต ที่เกิดขึ้นเพราะมีความเห็นถูก

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ทรงแสดงไว้อย่างละเอียดในทุกๆ เรื่อง ผู้ที่ได้ฟังพระธรรม หรือได้มีโอกาสเฝ้าพระผู้มีพระภาค แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่พิจารณาธรรมโดยละเอียด แม้ว่าพระองค์เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังเข้าใจพระองค์ผิดได้ ซึ่งข้อความใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อุชฌานสัญญีสูตร มีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พวกเทวดาผู้มีความมุ่งหมายเพ่งโทษมากด้วยกัน มีวรรณงาม ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วได้ลอยอยู่ในอากาศ ฯ

    เทวดาองค์หนึ่ง ครั้นลอยอยู่ในอากาศแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนัก พระผู้มีพระภาคว่า

    บุคคลใดประกาศตนอันมีอยู่โดยอาการอย่างอื่น ให้เขารู้โดยอาการอย่างอื่น บุคคลนั้นลวงปัจจัยเขากินด้วยความเป็นขโมย เหมือนความลวงกินแห่งพรานนก ก็บุคคลทำกรรมใดควรพูดถึงกรรมนั้น ไม่ทำกรรมใดก็ไม่ควรพูดถึงกรรมนั้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมรู้จักบุคคลนั้นผู้ไม่ทำ มัวแต่พูดอยู่ ฯ

    นี่เป็นเทวดา เพราะฉะนั้น ทุกคนที่มีกุศลกรรม และอาจจะเกิดเป็นเทวดา แต่ถ้าเข้าใจธรรมคลาดเคลื่อน จะเข้าใจผิดแม้พระผู้มีพระภาคได้

    ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า

    เทวโลก ชื่อว่าอุชฌานสัญญี ซึ่งแยกออกไปจากเทวโลกอื่นนั้นมิได้มี ก็แต่ว่าเทวดาเหล่านี้อาศัยบริโภคปัจจัย ๔ ของพระผู้มีพระภาค แล้วมาเพ่งโทษอยู่

    ได้ยินว่า เทวดานั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมพึงกล่าวลวงให้มีความสันโดษด้วยบังสุกุลจีวร ด้วยคำข้าวที่หามาได้ด้วยการบิณฑบาต ด้วยการอยู่เสนาสนะโคนไม้ ด้วยยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า และย่อมกล่าวยกย่องบุคคลผู้ยังกิจนั้นให้สำเร็จสุดยอด แต่พระองค์เองทรงจีวรอันประณีต มีผ้าโขมพัสตร์เนื้อละเอียด อย่างดีเป็นต้น ย่อมเสวยโภชนะอันเลิศอันสมควรแก่พระราชา ย่อมบรรทมบนที่นอนอันประเสริฐในพระคันธกุฎีอันควรเป็นวิมานของเทพ ย่อมเสวยเภสัชทั้งหลาย มีเนยใสเนยข้นเป็นต้น ย่อมแสดงธรรมแก่มหาชนในกลางวัน ถ้อยคำของพระองค์กับการกระทำของพระองค์เป็นไปคนละอย่าง ดังนี้ จึงมาโพนทะนามุ่งหมายเพ่งโทษ พระตถาคต ด้วยเหตุนั้น พระธรรมสังคาหเถระทั้งหลายจึงเรียกชื่อเทวดาเหล่านั้นว่า อุชฌานสัญญิกา แปลว่า ผู้มีความมุ่งหมายเพ่งโทษ ดังนี้

    ข้อความต่อไป อธิบายคำที่เทวดากล่าวที่ว่า เหมือนนายพรานนกลวงจับนก

    จริงอยู่ นายพรานนกนั้น เมื่ออยู่ในที่มิใช่พุ่มไม้ ก็เข้าไปแสดงเหมือนลักษณะแห่งพุ่มไม้ โดยปกปิดตนด้วยกิ่งและใบไม้เป็นต้น ยังนกทั้งหลายมีนกยูงและ นกกระทาเป็นต้นให้ตาย กระทำการเลี้ยงภรรยา

    บุคคลผู้โกหกปกปิดอัตภาพด้วยผ้าบังสุกุล ลวงมหาชนเพราะความที่ตนเป็นคนฉลาดในการพูด เคี้ยวกินอยู่ เที่ยวไป การกินนั้นของบุคคลนั้นดังขโมย ทั้งการบริโภคปัจจัย ๔ แม้ทั้งหมดก็ดุจขโมย เหมือนการกินเนื้อนกของนายพรานนก ผู้ลวงนกอย่างนี้ เทวดากล่าวด้วยการลวงนี้ ด้วยประการฉะนี้ โดยหมายเอา พระผู้มีพระภาค

    ไม่ทราบว่าถ้าพระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ในสมัยนี้จะมีคนที่พิจารณาธรรมผิด และเพ่งโทษพระผู้มีพระภาคอย่างนี้หรือเปล่า

    ข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาทั้งหลายนี้ว่า

    ใครๆ ไม่อาจดำเนินปฏิปทานี้ด้วยเหตุสักว่าพูด หรือฟังส่วนเดียว บุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลาย ผู้มีฌาน ย่อมพ้นจากเครื่องผูกของมารด้วยปฏิปทาอันมั่นคงนี้ บุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลาย ทราบความเป็นไปของโลกแล้ว รู้แล้ว เป็นผู้ดับกิเลส ข้ามตัณหาเป็นเครื่องเกี่ยวข้องในโลกแล้ว ย่อมไม่พูดโดยแท้ ฯ

    ในลำดับนั้นแล เทวดาเหล่านั้นลงมายืนบนแผ่นดิน หมอบลงใกล้พระบาท ทั้งสองของพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ โทษของพวกข้าพเจ้าล่วงไปแล้ว พวกข้าพเจ้าเหล่าใดเป็นพาลอย่างไร เป็นผู้หลงแล้วอย่างไร เป็นผู้ไม่ฉลาดอย่างไร ได้สำคัญแล้วว่าพระผู้มีพระภาคอันพวกเราพึงรุกราน ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดอดโทษของพวกข้าพเจ้านั้น เพื่อจะสำรวมในกาลต่อไป ฯ

    ในลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ทรงยิ้มแย้ม ฯ

    นี่เป็นข้อความละเอียดในเหตุการณ์ครั้งนั้น ซึ่งข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า

    ในข้อนี้อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงแสดงถึงพระองค์ผู้มีการฝึก อันยอดเยี่ยมแล้ว จึงแสดงลักษณะแห่งความยินดี

    ถามว่า เพราะเหตุไร

    ตอบว่า ได้ยินว่า พวกเทวดาเหล่านั้นบอกให้พระองค์ยกโทษให้แก่พวกเทวดาโดยภาวะของตน ย่อมกระทำพระตถาคตซึ่งเป็นบุคคลผู้เลิศในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ให้เป็นโลกียมหาชนเช่นกับคนธรรมดาคนหนึ่ง

    ถ้าไม่อ่านอรรถกถา จะไม่ทราบข้อความว่า เทวดาคิดอย่างไร แต่ พระผู้มีพระภาคเมื่อได้เห็นกิริยาอาการของเทวดา ก็ทรงทราบได้ทันทีว่า เทวดาไม่รู้ ในความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระองค์ เพราะฉะนั้น เมื่อเทวดา กราบทูล ก็เพียงขอให้ยกโทษ เหมือนกับเป็นโลกียมหาชนเช่นกับคนธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงทำการแย้มให้ปรากฏ โดยประสงค์ว่า เราจักแสดงกำลังแห่งพระพุทธเจ้าก่อน แล้วจักอดโทษในภายหลัง โดยถ้อยคำที่จะกล่าวข้างหน้า

    นี่คือการแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาค บางท่านอาจจะเห็นว่า การแสดงธรรมของพระองค์มี ๒ อย่าง คือ ถ้าเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยสะสมมาที่จะรับฟังพระธรรมด้วยดี ก็ทรงแสดงธรรมโดยตลอดในเหตุผลตั้งแต่ต้น แต่ถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มาเฝ้า และไม่มีการสะสมที่จะฟังพระธรรมด้วยดี พระองค์จะทรงแสดงธรรมอีกนัยหนึ่ง ซึ่งทำให้บุคคลนั้นมีความรู้สึกว่าตนเองผิดก่อน และก็เห็นความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วจึงทรงแสดงธรรมในภายหลัง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เทวดาองค์หนึ่งมีความสำคัญว่า พระศาสดานี้ทรงกริ้วพวกเรา จึงได้กล่าวแล้ว

    ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า

    ในลำดับนั้นแล เทวดาเหล่านั้นผู้เพ่งโทษโดยประมาณยิ่ง กลับขึ้นไปบนอากาศ เทวดาองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค

    เพราะคิดว่าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงยกโทษให้ เพราะฉะนั้น ก็กลับขึ้นไปบนอากาศกล่าวว่า

    เมื่อเราแสดงโทษอยู่ ถ้าบุคคลใดมีความโกรธอยู่ในภายใน มีความเคืองหนัก ย่อมไม่อดโทษให้ บุคคลนั้นย่อมสอดสวมเวร หากว่าในโลกนี้โทษก็ไม่มี ความผิดก็ไม่มี เวรทั้งหลายก็ไม่สงบ ในโลกนี้ใครพึงเป็นคนฉลาด เพราะเหตุไร โทษทั้งหลายของใครไม่มี ความผิดของใครก็ไม่มี ใครไม่ถึงแล้วซึ่งความหลงใหลในโลกนี้ ใครย่อมเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้มีสติในกาลทั้งปวง ฯ

    คือ ไม่คิดว่าจะมีคนที่จะไม่มีโทษเลยและไม่มีความผิดเลย เพราะเป็นผู้ที่ มีปัญญา มีสติ ในกาลทั้งปวง

    ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    โทษทั้งหลายก็ไม่มี ความผิดก็ไม่มีแก่พระตถาคตนั้น ผู้ตรัสรู้แล้ว ผู้เอ็นดูแก่สัตว์ทั้งปวง พระตถาคตนั้นไม่ถึงแล้วซึ่งความหลงใหล พระตถาคตนั้นย่อมเป็นผู้ มีปัญญา เป็นผู้มีสติในกาลทั้งปวง เมื่อพวกท่านแสดงโทษอยู่ หากบุคคลใดมีความโกรธอยู่ในภายใน มีความเคืองหนัก ย่อมไม่อดโทษให้ บุคคลนั้นย่อมสอดสวมเวร เราไม่ชอบเวรนั้น เราย่อมอดโทษแก่ท่านทั้งหลาย ฯ

    ได้ยินว่า การกระทำความแย้มให้ปรากฏของพระผู้มีพระภาค ก็เพื่อจะตรัสคาถานี้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงดำริว่า บัดนี้ เราจักแสดงกำลังของพระพุทธเจ้า แล้วจักอดโทษให้

    แม้แต่เพียงยิ้ม บางคนก็อาจจะไม่เข้าใจว่ายิ้มเพราะอะไร ยิ้มเพราะยังโกรธ และไม่ยกโทษให้ หรือยิ้มเพราะว่าพระองค์เป็นผู้ที่ดับความโกรธหมดแล้ว

    สำหรับการศึกษาพระธรรม ขอกล่าวถึงข้อความใน อัฏฐสาลินี ให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาด้วยความรอบคอบจริงๆ เพื่อจะได้ศึกษาพระธรรมโดยความไม่เป็นโทษ

    อัฏฐสาลินี นิทานกถา ว่าด้วยปริยัติ ๓ ประเภท คือ

    ๑. อลคัททูปมปริยัติ ปริยัติเปรียบด้วยอสรพิษร้าย

    ๒. นิสสรณัตถปริยัติ ปริยัติเพื่อประโยชน์แห่งการสละออก

    ๓. ภัณฑาคาริกปริยัติ ปริยัติเปรียบด้วยขุนคลัง

    การศึกษาธรรมไม่น่าจะมีโทษเลย แต่ถ้าการศึกษาธรรมไม่มีโทษเลยจริงๆ ย่อมไม่มีข้อความนี้ในอรรถกถา แต่เนื่องจากผู้ที่ศึกษาธรรมยังมีกิเลสอยู่ และกิเลสของคนที่ศึกษาธรรมก็มาก ไม่น้อยเลย เพราะฉะนั้น จึงต้องพิจารณาว่า ผู้ที่ยังมีกิเลสและศึกษาธรรมนั้น ศึกษาเพื่อที่จะดับกิเลส หรือว่าศึกษาแล้วกลับเป็นโทษ คือ ไม่ได้พิจารณากิเลสของตนเองเพื่อที่จะสลัดออก แต่กลับเป็นโทษเพราะทำให้เพิ่ม กิเลสขึ้น

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตะ ฯลฯ เวทัลละ บุรุษเหล่านั้นครั้นเรียนธรรมนั้นแล้ว ย่อมไม่ใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญา เมื่อโมฆบุรุษเหล่านั้นไม่ใคร่ครวญอรรถด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้นย่อมไม่ทนต่อการเพ่ง โมฆบุรุษเหล่านั้นมีการโต้แย้งเป็นอานิสงส์ และมีการยังตนให้พ้นจากวาทะนั้นๆ เป็นอานิสงส์ ย่อมเรียนธรรม และย่อมเรียนธรรมเพื่อประโยชน์แก่ธรรมใด ย่อมไม่เสวยผลแห่งธรรมนั้น ธรรมเหล่านั้นอันโมฆบุรุษเหล่านั้นเรียนแล้วไม่ดี ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน ข้อนั้นเพราะเหตุแห่งอะไร

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่ธรรมทั้งหลายอันโมฆบุรุษนั้นเรียนแล้วไม่ดี ดังนี้

    คนที่กำลังศึกษาธรรมต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า ยังมีกิเลส แต่ศึกษาเพื่อที่จะดับกิเลส ถ้าไม่ศึกษาเพื่อที่จะละกิเลส อาจจะทำให้กิเลสเพิ่มมากขึ้น จนถึงกับมีความเห็นผิดได้ อุปมาเหมือนกับผู้แสวงหางูพิษ และจับงูพิษที่หาง ก็ย่อมจะถูกงูพิษกัด

    สำหรับนิสสรณัตถปริยัติ ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ส่วนปริยัติใดอันบุคคลเรียนดีแล้ว คือหวังอยู่ซึ่งความบริบูรณ์แห่งคุณมีสีลขันธ์เป็นต้นเรียนแล้ว มิใช่เรียนเพราะเหตุการโต้แย้งเป็นต้น ปริยัตินี้ชื่อว่า นิสสรณัตถปริยัติ ที่พระผู้มีพระภาคทรงหมายถึงตรัสไว้ว่า ธรรมเหล่านั้น อันกุลบุตรเหล่านั้นเรียนดีแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล และเพื่อความสุขสิ้นกาลนาน ข้อนั้นเพราะเหตุแห่งอะไร ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะธรรมทั้งหลายอันกุลบุตรเรียนดีแล้ว

    เพราะผู้ที่จะมีศีล ๕ สมบูรณ์ ไม่ขาด ไม่ล่วงเลย คือ ไม่ล่วงทุจริตกรรมเลย ต้องเป็นพระโสดาบันบุคคล เพราะฉะนั้น เมื่อยังไม่เป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ย่อมมีกาลที่อาจจะทำทุจริตกรรมล่วงศีล ๕ ได้ เพราะฉะนั้น ก็เรียนเพื่อที่จะให้ศีล ๕ บริบูรณ์ คือ เพื่อที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    สำหรับภัณฑาริกปริยัติ ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ส่วนพระขีณาสพ (คือ พระอรหันต์) ผู้มีขันธ์อันกำหนดรู้แล้ว ละกิเลสแล้ว มีมรรคอันเจริญแล้ว มีธรรมไม่กำเริบอันแทงตลอดแล้ว ทำนิโรธให้แจ้งแล้ว ย่อมเรียนปริยัติใด เพื่อรักษาประเพณี เพื่อรักษาวงศ์อย่างเดียว ปริยัตินี้ชื่อว่าภัณฑาคาริกปริยัติ (ปริยัติเปรียบด้วยขุนคลัง) ดังนี้

    บัณฑิตพึงทราบประเภทแห่งปริยัติ ๓ อย่าง ในพระไตรปิฎกเหล่านั้น ดังที่กล่าวมาแล้ว

    เป็นพระอรหันต์ก็ยังต้องเรียน เพราะไม่มีกิจอื่นที่จะทำ นอกจากเป็น ผู้ทรงจำพระธรรมที่ได้ฟัง ที่ได้ศึกษาแล้ว เพื่อประโยชน์แก่พุทธบริษัทรุ่นหลังๆ ต่อๆ ไป

    สำหรับการเรียนพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ถ้าเรียนโดยไม่ถูกต้องย่อมมีโทษ คือ ย่อมถึงความวิบัติ

    สำหรับผู้ที่ปฏิบัติผิดในพระวินัย ย่อมเป็นผู้ที่มีความสำคัญว่า ไม่มีโทษในผัสสะที่มีใจครองเป็นต้น อันพระผู้มีพระภาคทรงห้ามแล้ว ย่อมถึงความเป็นผู้ทุศีล

    ผัสสะที่มีใจครอง กับผัสสะที่ไม่มีใจครองนั้นต่างกัน คือ ถ้าเป็นบรรพชิต ผัสสะที่ไม่มีใจครอง ได้แก่ กระทบสัมผัสกับจีวร บิณฑบาต เครื่องใช้ เครื่องอุปโภคต่างๆ แต่การกระทบสัมผัสผัสสะที่มีใจครอง เช่น สตรีเพศ หรือมาตุคาม ย่อมมีโทษ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เห็นโทษว่าเป็นโทษตามพระวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามแล้ว ย่อมเป็นผู้ทุศีล อย่างท่านพระอริฏฐภิกขุ

    สำหรับผู้ที่ปฏิบัติผิดในพระสูตร ไม่รู้คำอธิบาย ย่อมถึงความเป็นมิจฉาทิฏฐิได้

    สำหรับผู้ที่ปฏิบัติผิด คือ ศึกษาโดยไม่ไตร่ตรองในพระอภิธรรม ย่อมจะวิจารณ์ธรรมเกินไป ย่อมคิดแม้ในสิ่งที่ไม่ควรคิด คือ ในสิ่งที่เป็นอจินไตย ต่อจากนั้นจะถึงความฟุ้งซ่านแห่งจิต

    นี่คือการศึกษาที่ผิด คือ ไม่ใช่ศึกษาเพื่อเข้าใจและประพฤติปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญา

    . เรื่องการกล่าวโทษผู้อื่น สำหรับตัวผมเองรู้สึกว่ารุนแรง เพราะมักจะถูกถามอยู่เสมอว่า การปฏิบัติวิธีนั้นวิธีนี้ เช่น พุทโธภาวนาบ้าง ธรรมกายบ้าง อะไรบ้างต่างๆ ตามที่เขาสนใจ มาถามว่าถูกไหม ผมก็ต้องบอกตรงๆ ว่า ไม่ถูก ปฏิบัติอย่างนั้นได้อะไรขึ้นมา เขาก็บอกว่าได้ความสงบ ถามว่า ความสงบเป็นอย่างไร เขาก็ตอบไม่ค่อยจะถูก ผมก็บอกว่า การศึกษาพระพุทธศาสนาถ้าเราไม่เข้าใจ แม้ใครจะบอกจะสอนว่าถูก ก็ยังไม่ควรเชื่อไปปฏิบัติตาม แต่ควรศึกษาให้เข้าใจ ทำให้ผมเกิดอกุศลบ่อยที่สุดที่มีคนมาถาม เพราะฉะนั้น การศึกษาปริยัติรู้สึกว่าจะเป็นอลคัททูปมปริยัติ

    สุ. ต้องพิจารณาข้อความที่ว่า ความเห็นถูกก็ยังทำให้เกิดอกุศลได้ จะได้ระวังว่า ขณะนี้กำลังเป็นอกุศล เพราะเรามีความเห็นถูก คนอื่นมีความเห็นผิด เพราะฉะนั้น แม้ถึงคนอื่นจะเห็นผิด ก็เป็นไปตามการสะสมของบุคคลนั้น ไม่จำเป็นที่เราจะต้องเป็นอกุศล

    . เราจะแนะนำเขาอย่างไรดี ที่จะไม่ให้เกิดอกุศล

    สุ. ชี้แจงให้เห็นเหตุผล



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๗ ตอนที่ ๑๔๖๑ – ๑๔๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 91
    28 ธ.ค. 2564