แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1469
ครั้งที่ ๑๔๖๙
สาระสำคัญ
อานาปานสติสมาธิ (สติที่ระลึกที่ลมหายใจ)
มิจฉาสมาธิต่างกับสัมมาสมาธิ
ปรมัตถทีปนี อถ.ขุ.อิติวุตตกะ อถ.วิตักกสูตร - วิตักกะ ๒ อย่าง
สารัตถปกาสินี อถ.สํ.สฬ.อรรถ-กถาทุติยกามภูสูตรที่ ๖
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๘
เรื่องของอานาปานสติ หรืออานาปานสติสมาธิ ความยากคงจะเป็นพยัญชนะภาษาบาลีที่ทำให้รู้สึกว่า เป็นเรื่องพิเศษ หรือเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ถ้าเข้าใจว่า อานาปาน คือ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกซึ่งมีอยู่เป็นปกติ สติที่ระลึกที่ลมหายใจ ก็ชื่อว่าอานาปานสติสมาธิ และเมื่อมีความตั้งมั่นสงบขึ้น อานาปานสตินั้นก็ปรากฏลักษณะของสมาธิ คือ ความสงบที่ตั้งมั่น แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจจริงๆ จะต้องรู้ว่า ในขณะนี้สติเกิดขึ้น ระลึกที่ลมหายใจจริงๆ หรือเปล่า หรือไม่ใช่ลมหายใจ เพราะว่าลมหายใจเป็นรูปธรรมซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ตราบใดที่ยังมีจิต และไม่ใช่อยู่ ในครรภ์ ไม่ใช่ดำน้ำ ไม่ใช่จตุตถฌานเหล่านี้ จิตนั้นๆ จะเป็นปัจจัยทำให้รูปเกิดขึ้น มีรูปลมหายใจที่กระทบที่ช่องจมูกด้วย นั่นเป็นรูปที่เกิดขึ้นเพราะจิต
เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังมีชีวิตอยู่ ก็มีลมที่เกิดเพราะจิต กระทบเกิดขึ้น ที่ไหน ดับที่นั่น การที่สามารถระลึกลักษณะของรูปลมหายใจที่ยังไม่ดับ และก็รู้ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน นั่นเป็นลักษณะของสติปัฏฐาน เพราะว่า รู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม และรู้สภาพที่เกิดขึ้นและดับไป แต่ถ้าเป็นสมถภาวนา ไม่รู้ในสภาพที่เป็นรูปธรรม แต่รู้ว่าลมหายใจเป็นสภาพธรรมที่เป็นแต่เพียงกายสังขาร คือ ทำให้รูปร่างกายดำรงอยู่ได้ ถ้าขาดลมหายใจ คนนั้นก็ไม่มีชีวิตอยู่ต่อไป เพราะว่าลมหายใจเป็นรูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ลมหายใจจึงเป็นเครื่องแสดง ให้รู้ว่า จิตยังคงเกิดดับสืบต่ออยู่ ทำให้รูปนี้ปรากฏที่ช่องจมูกหรือเบื้องบนริมฝีปาก
เพราะฉะนั้น ชีวิตที่เข้าใจว่า ใหญ่โต มั่นคงแข็งแรง มีความยินดีพอใจเต็มที่ มีทรัพย์สมบัติ มีความรู้มีความสามารถต่างๆ แท้ที่จริงแล้วเป็นแต่เพียงรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะมีจิตเป็นสมุฏฐานที่ลมหายใจเท่านั้นเอง ก็จะละคลายการที่เคยสำคัญ ยึดมั่นในสิ่งต่างๆ และเห็นความบอบบางของชีวิตว่า ชีวิตขึ้นอยู่กับเพียงลมหายใจแผ่วๆ เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรที่มากกว่านี้เลย และถ้าพิจารณาชีวิตที่ขึ้นอยู่กับลมหายใจแผ่วๆ จะเห็นความไม่มั่นคงของทุกสิ่งทุกอย่างที่กระทบกับตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้างด้วย
นั่นคือ การประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็น สติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรพิเศษต่างหากที่แยกออกไป แต่ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคมีผู้ที่พยายามจะดับกิเลส แต่เมื่อไม่ได้สะสมบารมีที่จะเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็สามารถเพียงแต่อบรมสมถภาวนาจนกระทั่งจิตสงบ ถึงขั้นอัปปนาสมาธิเป็นฌานจิตตามลำดับขั้น โดยอาศัยลมหายใจเป็นอานาปานสติสมาธิ หรืออาศัยสมถกัมมัฏฐานอื่นๆ เท่านั้นเอง แต่เวลาที่ได้ยินชื่อก็อยากจะทำด้วยความไม่รู้ ก็เริ่มต้นด้วยความไม่รู้ว่า การที่ความสงบของจิตจะเกิดขึ้นมั่นคงยิ่งขึ้น โดยอาศัยลมหายใจนั้น จะต้องเป็นกุศลจิตอย่างไร ก็เพียงแต่มีความต้องการนำ ที่จะให้จิตตั้งมั่น เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ใช่มหากุศลญาณสัมปยุตต์
มิจฉาสมาธิทุกอย่างเป็นโลภมูลจิต ถ้ามีความยึดมั่นในข้อปฏิบัตินั้นว่า จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ คือ เกิดร่วมกับความเห็นผิด
ถ. ผู้ที่เจริญมิจฉาสมาธิ จะมีโอกาสได้ถึงฌานไหม
สุ. ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ หมายความว่าขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่สัมมาสมาธิ
ถ. ก็ไม่มีโอกาส ท่านผู้สำเร็จฌานอย่างสมัยก่อนพุทธกาลก็ดี หรือหลังพุทธกาลก็ดีที่ไม่ได้บรรลุมรรคผล สมาธิของท่านที่ได้ฌานนั้น ก็จัดเป็นสัมมาสมาธิเหมือนกัน
สุ. ในสมัยนั้น เป็นสมัยของผู้ที่มีบารมี อบรมมาที่จะได้ฌานสมาบัติ มรรคผลประกอบกันมากมาย เป็นสมัยของผู้ที่เป็นเอตทัคคะในขั้นต่างๆ ที่จะได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์
ถ. อย่างท่านอาฬารดาบส อุทกดาบสที่ได้ถึงสมาบัติ ๗ สมาบัติ ๘ การที่ท่านได้ถึงรูปฌาน อรูปฌาน ถือว่าเป็นสัมมาสมาธิเหมือนกัน
สุ. เป็นสัมมาสมาธิ เพราะไม่ใช่อกุศลจิต
ถ. ผู้ที่เจริญสมาธิส่วนใหญ่ ไม่ใช่เป็นสัมมาสมาธิ โอกาสที่จะได้ฌาน บรรลุถึงรูปฌาน อรูปฌาน ก็ไม่มีโอกาสเลย
สุ. ถ้าปัญญาไม่เกิด และไม่ใช่มหากุศลญาณสัมปยุตต์ตั้งแต่ต้น ก็เป็นอกุศลไปโดยตลอด และยังมีความเข้าใจผิด อาจจะคิดว่าตนเองได้บรรลุฌานขั้น ต่างๆ ด้วย
ถ. มีผู้ที่พูดว่าเขาได้ฌาน โดยที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ยังรับอารมณ์ได้อยู่ ซึ่งถ้าได้ฌานจริงๆ แล้ว ทางปัญจทวารจะไม่รับรู้อารมณ์ จะรับอารมณ์ได้เฉพาะทางมโนทวารทางเดียวเท่านั้น คือ จิตจะต้องแนบแน่นอยู่ในอารมณ์ที่เป็นสมถะ แต่เดี๋ยวนี้ก็ยังมีเป็นส่วนมากที่เข้าใจว่าตนเองได้ฌาน ก็คงเป็นสมาธิที่เป็นอกุศล
สุ. เป็นมิจฉาสมาธิ
นี่เป็นเรื่องที่ควรจะได้พิจารณาจริงๆ ถ้ายังไม่เข้าใจว่ามิจฉาสมาธิคืออะไร ที่ทำไปต้องเป็นมิจฉาสมาธิทั้งหมด จนกว่าจะตอบได้ว่า อย่างไรคือมิจฉาสมาธิ เมื่อรู้จักมิจฉาสมาธิ ก็หมายความว่า สิ่งที่จะทำนั้นต้องไม่ใช่มิจฉาสมาธิ เพราะรู้ว่ามิจฉาสมาธิคืออย่างนั้นๆ ก็ต้องรู้ว่าสัมมาสมาธิต้องต่างกับอย่างนั้นๆ
เพราะฉะนั้น เรื่องของความคิด ความวิตก หรือการตรึกของแต่ละบุคคล ในวันหนึ่งๆ มีมาก เป็นไปในประการต่างๆ ทั้งในทางโลก และทางธรรม สำหรับ ผู้ที่เป็นปุถุชน การตรึกก็เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ทั้งกลางวัน กลางคืน ทั้งตื่น ทั้งหลับ แต่ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล เมื่อมีความเห็นถูกขึ้น การตรึกก็เป็นไปในทางกุศลมากกว่าในทางอกุศล และถ้าเป็นพระอริยบุคคลสูงขึ้นตามลำดับขั้น การตรึกของท่านนั้นย่อมเป็นไปในทางกุศลยิ่งขึ้น อย่างพระอนาคามีบุคคลเป็นต้น ท่านก็ไม่มีเยื่อใยผูกพันในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ที่จะตรึกนึกเป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ไม่เหมือนกับผู้ที่เป็นปุถุชน เพราะว่าเมื่อจักขุวิญญาณวิถีจิตดับ ภวังคจิตคั่น มโนทวารวิถีของท่านเกิดขึ้น ไม่ใช่โลภมูลจิตที่ยึดมั่นพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกุศลจิต ซึ่งเป็นความสงบจากความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
และสำหรับพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบารมีที่ได้อบรมมาทั้งหมดทำให้การตรึกของพระองค์เป็นไปเนืองๆ ในวิตก ๒ อย่าง คือ เขมวิตก และ วิเวกวิตก (หรือปวิเวกวิตก)
สำหรับเขมวิตก ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ อรรถกถาวิตักกสูตร มีข้อความว่า
ในวิตก ๒ อย่างนั้น เขมวิตก พึงให้แจ่มแจ้งด้วยการหยั่งลงสู่พระมหากรุณา ของพระผู้มีพระภาค
ที่ทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา ที่เป็นพระไตรปิฎก แสดงให้เห็นถึง พระมหากรุณา เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่ทรงมีพระมหากรุณา และการตรึกก็ตรึกไปในการอนุเคราะห์สัตว์โลก ทำให้เกิดความเบิกบานแช่มชื่น เป็นเขมวิตก และแม้ ในระหว่างที่ทรงแสดงธรรม ซึ่งจะต้องมีผู้ฟังที่เป็นพุทธบริษัทเป็นจำนวนมากนั้น ก็ ไม่ทรงขาดปวิเวกวิตก คือ
สำหรับปวิเวกวิตกนั้น พึงให้แจ่มแจ้งด้วยสมาบัติทั้งหลาย มีพลสมาบัติ เป็นต้น
ซึ่งข้อความใน อรรถกถาวิตักกสูตร มีว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำพระสูตรนี้เพื่อแสดงว่า เมื่อสัจจกนิคัณฐบุตรกล่าวว่า สมณโคดมมีรูปงาม น่าเลื่อมใส ช่องพระทนต์สนิทเป็นระเบียบ พระชิวหาอ่อน พระสุรเสียงไพเราะ คงจะให้บริษัทพอใจด้วยเหตุนั้นจึงเที่ยวไป แต่ในใจของ สมณโคดมผู้เที่ยวประกาศให้รู้อยู่อย่างนี้ ย่อมไม่มีสมาธิ
นี่คือคำพูดที่เกิดจากความไม่รู้และความเห็นผิด เพราะไม่รู้ในความเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งวิตกของพระองค์นั้นมี ๒ ประการ คือ เขมวิตก และปวิเวกวิตก
ขณะนี้ สติของท่านที่อบรมมาแล้ว หรือที่กำลังอบรมเจริญ สามารถระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้จริงๆ เพราะว่ามีสภาพธรรมจริงๆ กำลังปรากฏ เช่น แข็ง เมื่อพูดอย่างนี้แล้วสติระลึกที่แข็ง ฉะนั้น ขณะที่กำลังฟังเรื่องนี้อยู่สติยังเกิดแทรกระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้ สำหรับผู้ที่เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงพระปัญญาคุณประกอบด้วยพระบารมีที่ได้ อบรมมาเหนือบุคคลอื่นใด แทนที่จะเป็นสติเพียงชั่วขณะที่ระลึกลักษณะของแข็งที่กำลังปรากฏ พลสมาบัติย่อมเกิดได้
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่เข้าใจในพระคุณธรรมของพระองค์ เช่น สัจจกนิคัณฐบุตร จึงได้กล่าวว่า สมณโคดมมีรูปงาม น่าเลื่อมใส ช่องพระทนต์สนิทเป็นระเบียบ พระชิวหาอ่อน พระสุรเสียงไพเราะ คงจะให้บริษัทพอใจด้วยเหตุนั้นจึงเที่ยวไป แต่ ในใจของสมณโคดมผู้เที่ยวประกาศให้รู้อยู่อย่างนี้ ย่อมไม่มีสมาธิ
ถ้าตนเองไม่สามารถระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ ก็คิดว่า บุคคลอื่นก็คงจะเพียงสามารถกล่าวธรรม แต่ไม่สามารถที่จะสงบในขณะที่กำลังกล่าวธรรม ซึ่งความจริงในขณะที่พุทธบริษัทกำลังฟังพระธรรมเป็นจำนวนมากมาย ทั้ง ฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ ทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระผู้มีพระภาคก็ยังเข้าพลสมาบัติในระหว่างที่บริษัทนั้นให้สาธุการ หรือตรองธรรมที่พระองค์ตรัสถาม
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การตรึกของแต่ละบุคคลจะเป็นอกุศลก่อนอย่างมากมาย เมื่อยังเป็นปุถุชน และจะค่อยๆ ลดคลายอกุศลวิตก จนกว่าจะบรรลุคุณธรรมตามลำดับขั้น
พระไตรปิฎกทั้งหมด เป็นเรื่องเสียงทั้งหมด เป็นเรื่องราว เป็นเสียงของภาษา ที่ทำให้เข้าใจความหมายต่างๆ แล้วแต่ว่าพระไตรปิฎกนั้นจะจารึกด้วยภาษาอะไรเพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังอ่านพระไตรปิฎกหรืออรรถกถา ในขณะนั้นก็คือกำลังนึกตามความจำเสียง แต่ขณะนั้นไม่ใช่ได้ยินเสียง ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ใช่มีอดีตสัททารมณ์เป็นอารมณ์ ถ้าเป็นอดีตสัททารมณ์เป็นอารมณ์ ในขณะนั้นต้องนึกถึงเสียง ไม่ใช่นึกถึงความหมาย หรือไม่ใช่นึกถึงเรื่อง แต่ในขณะที่อ่านพระไตรปิฎก เช่น ขณะที่อ่านเรื่องพระวิหารเชตวัน ในขณะนั้นไม่มีใครเห็นพระวิหารเชตวัน ใช่ไหม ในขณะที่กำลังอ่านข้อความที่ว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ก็เป็นแต่เพียงเรื่องราว แต่ไม่ใช่นึกเห็นสภาพของพระวิหารเชตวันในขณะนั้น
เพราะฉะนั้น จะทราบได้ว่า ขณะใดมีเสียงเป็นอารมณ์ และขณะใดกำลัง นึกถึงเสียงที่เคยได้ยินเป็นอารมณ์ หรือขณะใดเป็นขณะที่เพียงแต่มีความจำเรื่องเสียงเรื่องราวต่างๆ เป็นอารมณ์ เช่น ในขณะที่ฝัน ไม่มีเสียงใดเสียงหนึ่งที่กำลังได้ยิน และไม่มีสีหนึ่งสีใด ไม่มีรูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาทเลย แต่ในขณะที่ฝันนั้น เป็นการคิดถึงเรื่องตามความจำในสิ่งที่ปรากฏทางตา และเสียงที่เคยได้ยินทางหู เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น มีบัญญัติเป็นอารมณ์
ข้อความในพระไตรปิฎกและอรรถกถามีมาก แม้ว่าจะได้ศึกษามากสักเท่าไร ก็ยังมีข้อความที่จะต้องไตร่ตรอง และพิจารณาโดยละเอียดลึกซึ้งจริงๆ
สารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อรรถกถา ทุติยกามภูสูตรที่ ๖ มีข้อความว่า
ไม่พึงยึดพยัญชนะจนเกินไป ดำรงอยู่ในข้อแนะนำของอาจารย์ทั้งหลาย
อาจารย์ทั้งหลายในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงอาจารย์ในยุคนี้สมัยนี้ แต่หมายความถึงท่านอรรถกถาจารย์ทั้งหลายในรุ่นแรกๆ ที่เป็นสมัยของพระผู้มีพระภาค หรือหลังสมัยพระผู้มีพระภาคไม่นาน
พิจารณาเนื้อความด้วยประการฉะนี้
คือ อาจจะมีข้อความบางตอนที่น่าสงสัย ไม่สามารถเข้าใจ หรือคิดค้นไตร่ตรองได้ จึงต้องอาศัยอรรถกถาและพิจารณาข้อความนั้นๆ ไม่ใช่ว่าจะยึดถือพยัญชนะจนเกินไป
ซึ่งทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นข้อความในพระไตรปิฎกหรือในอรรถกถา ก็เพื่อให้ประจักษ์แจ้งสภาพที่เป็นอนัตตาของธรรมที่กำลังปรากฏโดยนัยต่างๆ ที่จะให้จิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้น และละคลายความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แม้แต่จะเป็นเพียงการสนทนากันในระหว่างสหายธรรม ถ้าเป็นข้อความตอนหนึ่งตอนใด ก็ควรที่จะให้เป็นประโยชน์ โดยการละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
ทุกคนเคยคิดถึงวันก่อนๆ แต่ขณะที่คิดถึงวันก่อนๆ เดือนก่อนๆ ปีก่อนๆ ก็พิจารณาว่า ขณะนั้นคิดด้วยความเป็นตัวตนหรือเปล่า แทนที่จะคิดว่าเมื่อวานนี้อยู่ ที่ไหน สิ่งที่เห็นเมื่อวานนี้อยู่ที่ไหน เสียงที่ได้ยินเมื่อวานนี้อยู่ที่ไหน เห็นเมื่อวานนี้อยู่ ที่ไหน ได้ยินเมื่อวานนี้อยู่ที่ไหน ซึ่งขณะนี้ไม่มีเลย เสียงเมื่อวานนี้ก็หายไปหมด กลิ่นเมื่อวานนี้ก็หายไปหมด ได้ยินเมื่อวานนี้ก็หายไปหมด เพราะฉะนั้น ตัวตนที่เคยมี เคยเป็นเมื่อวานนี้ก็ย่อมหายไปหมดด้วย สูญไปจริงๆ และความเป็นบุคคลนี้ เมื่อวานนี้ก็ไม่มีเหลือเลย ฉันใด ขณะนี้ก็จะเป็นเมื่อวานนี้ของพรุ่งนี้
เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เอง ทุกๆ ขณะที่ผ่านไป ก็กำลังสูญสิ้นไปจริงๆ เมื่อดับแล้วย่อมไม่สามารถจะยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ ถ้าใครยังยึดถืออยู่ ก็เท่ากับยึดถือความว่างเปล่า แม้ในขณะเดี๋ยวนี้เองก็หมดแล้ว
ทุกอย่างที่เป็นชีวิตประจำวัน ถ้าคิดเรื่องอดีต ก็ให้เป็นประโยชน์โดยการที่ว่า ให้รู้ว่าไม่มี หมดแล้วจริงๆ จนกระทั่งมาถึงขณะนี้ก็จะได้รู้ว่า แม้ในขณะนี้ ก็กำลังหมดไปๆ ไม่มีจริงๆ ด้วย โดยจะเกื้อกูลให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ถ้าคลายการยึดถือสภาพธรรมโดยรู้ว่า สภาพธรรมในขณะนี้ที่สติไม่ระลึก สภาพธรรมนั้นก็ดับหมดไป เพราะฉะนั้น ควรระลึกทันทีที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
การที่สติไม่เกิด ไม่ระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรม จะทำให้ยังคงมีความเป็นตัวตน และมีอกุศลธรรมซึ่งความจริงควรรังเกียจ แต่ไม่รังเกียจ และไม่คิดที่จะละด้วย เพราะว่าไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ทำให้มีความสำคัญในเรื่องราวต่างๆ
บางคน คนอื่นทำผิดแล้วรับผิดก็ยังไม่ยอมยกโทษให้ เพียงเท่านี้ สั้นๆ อย่างนี้ ก็จะเห็นอำนาจของกิเลสว่าทำไมจึงมีกิเลสมาก แม้จะยกโทษ ก็ยังยกโทษไม่ได้ จะเก็บความโกรธไว้ทำไม จะผูกความโกรธไว้ทำไม เพราะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดและดับไปเท่านั้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๗ ตอนที่ ๑๔๖๑ – ๑๔๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1441
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1442
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1443
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1444
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1445
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1446
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1447
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1448
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1449
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1450
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1451
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1452
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1453
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1454
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1455
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1456
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1457
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1458
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1459
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1460
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1461
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1462
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1463
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1464
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1465
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1466
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1467
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1468
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1469
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1470
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1471
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1472
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1473
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1474
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1475
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1476
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1477
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1478
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1479
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1480
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1481
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1482
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1483
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1484
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1485
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1486
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1487
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1488
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1489
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1490
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1491
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1492
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1493
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1494
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1495
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1496
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1497
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1498
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1499
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1500