แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1476
ครั้งที่ ๑๔๗๖
สาระสำคัญ
ละคลายความไม่รู้ การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน
ผู้ศึกษาธรรมเพื่ออบรมเจริญปัญญา (รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง)
การศึกษาปริยัติ
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๘
ถ. ผมเห็นด้วย ในเมื่อสิ่งที่พิจารณาได้ชัดๆ ไม่ว่าจะทางกายทวารก็ดี โสตทวารก็ดี ก็เห็นชัดๆ ทำไมจึงปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ แต่ไปพูดถึงสิ่งที่ทุกฝ่ายก็ ถกเถียงกัน ที่เห็นชัดๆ คือ เห็นว่าถูกต้องจริงๆ และตรงตามปริยัติ ตรงในพระธรรม ก็เห็นชัดๆ กันอยู่ เช่น ทางกายทวาร ผมขอเล่าถึงความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมของผม ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังบ้าง
ระยะแรกๆ นั้น ธรรมที่ปรากฏทางกายนั้น มักจะอดท่องไม่ได้ว่า แข็งเป็นรูป รู้แข็งเป็นนาม หรือเย็นร้อนเป็นรูป รู้เย็นรู้ร้อนเป็นนาม แต่เมื่อศึกษาไป ฟังไป ก็ทราบว่า การท่องแบบนั้นก็เป็นธรรมอีกอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเหมือนกัน และขณะที่ท่อง ขณะนั้นไม่มีเย็น ร้อน อ่อน แข็งที่ปรากฏทางกายเป็นอารมณ์ และปัญญาที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เป็นปัญญาที่เกิดจากการใคร่ครวญคิดหาเหตุผล เหมือนกับปัญญาทางโลกๆ ด้วยความรู้อย่างนี้ก็ปฏิบัติเรื่อยมา ระยะหลังๆ เมื่อธรรมที่ปรากฏขึ้นทางกาย เช่น ขณะที่มือ หรือข้อศอกไปท้าวที่หมอนนุ่มๆ ขณะที่พิจารณาความอ่อนของหมอนนั้นเป็นอารมณ์ แต่ชั่วประเดี๋ยวเดียว ภาพหมอนก็ลอยขึ้นมาใน มโนภาพเป็นอารมณ์แทน เราก็รู้ทันทีว่า ขณะนั้นความอ่อนไม่ได้เป็นอารมณ์แล้ว และที่เป็นภาพหมอนขึ้นมาให้เห็นนั้น ก็เป็นธรรมอีกอย่างหนึ่ง เมื่อทราบอย่างนี้ ก็ไปพิจารณาความอ่อนอีกครั้งหนึ่ง สลับไปสลับมา เมื่อภาพเกิดขึ้นมาอีกครั้ง ก็เป็นภาพของข้อศอกเราลอยขึ้นมา เป็นการสลับไปสลับมาอย่างนี้
นี่เป็นปรากฏการณ์จากการปฏิบัติธรรม และจากประสบการณ์ของการปฏิบัติธรรมนั้น ทางกายทวารจะเกิดมากและเกิดง่ายกว่าทางอื่น เพราะฉะนั้น กายานุปัสสนาสำหรับผมรู้สึกว่าจะเข้าใจและเกิดง่าย ทั้งๆ ที่เวทนานุปัสสนา ผมสงสัยว่า ทำไมเวทนา คือ ความรู้สึกต่างๆ ก็มีอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ค่อยมีเวทนาเป็นอารมณ์เลย แปลกเหมือนกัน ทั้งๆ ที่อุเบกขาเวทนาก็มีอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่เคยเป็นอารมณ์ แม้แต่โทสะ เมื่อเกิดขึ้นก็น่าจะเป็นอารมณ์ได้ แต่ก็น้อยมาก
สุ. ก็เป็นแต่ละท่าน ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาจะเห็นได้ว่า สภาพธรรมปรากฏทางตามากไหมในวันหนึ่ง ทุกคนมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ สำหรับใจนั้น ก็รับอารมณ์ต่อ คือ รับสิ่งที่ปรากฏทางตาต่อจากจักขุทวารวิถีจิต รับเสียงต่อจาก โสตทวารวิถีจิต
วันหนึ่งๆ พิจารณาว่า เมื่อจิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ หรือ ๑ ดวง และ สภาพธรรมที่จะปรากฏได้ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เฉพาะ ๕ ทางนี้ก่อน เพราะว่าทางใจนั้นรับรู้อารมณ์ต่อจากทางปัญจทวารวิถีทุกวาระ ทุกอารมณ์ เพราะฉะนั้น จะมีรูปอะไรปรากฏทางไหนมากสำหรับแต่ละคน ในขณะที่กำลังนั่งและเห็น ขณะนั้นจิตไม่ได้รู้อารมณ์ที่ปรากฏทางกาย ไม่ได้รู้อารมณ์ที่ปรากฏ ที่ลิ้น หรือว่าไม่ได้รู้อารมณ์ที่ปรากฏที่จมูก
เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ทางตาปรากฏมาก เรื่องทางตาก็มาก ความหวั่นไหวที่เป็นไปกับทางตาก็มาก ทางหูก็ไม่น้อยเลย เพราะว่าเมื่อได้ยินเสียงและรู้เรื่อง ก็ยังจดจำเรื่องราว และนึกคิดเรื่องต่างๆ มาก ถึงแม้ว่าจะมีกายอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่ใช่ว่ากายวิญญาณวิถีจิตจะเกิดขึ้นรู้เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวที่กระทบกาย นอกจากในเวลาที่รู้สึกสบายทางกาย หรือเป็นทุกข์ทางกาย
ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะรู้ว่า ลักษณะที่แข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ไม่มีรูปร่างสัณฐานเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดเลย ถ้าไม่มีความทรงจำ ขณะนั้น จะเป็นกายวิญญาณที่กำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว
ทุกคนพิจารณาได้ว่า วันหนึ่งๆ ทางไหนมาก ทำไมมีกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า แต่กายไม่ได้ปรากฏ หรือเย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ตึงบ้าง ไหวบ้าง ก็ ไม่ค่อยปรากฏมากเท่ากับทางตาที่เห็นสืบต่อติดต่อกันในเวลาที่ตื่น ซึ่งดูเหมือนกับว่าไม่ได้ดับไปเลย
เพราะฉะนั้น การประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรม ต้องพิจารณาให้ทั่วแต่ละทางจริงๆ จึงจะชื่อว่าขจัดหรือละคลายความไม่รู้ ความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมออกจริงๆ และจะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน หรือเป็นเราได้
แต่ถ้าไม่ใช่หนทางที่ถูก คือ สติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่พิจารณา ไม่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง อะไรจะทำให้ยึดถือสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ ก็ยังคงเหมือนเดิม
บางท่านอาจจะกล่าวว่า รู้ไม่ได้ แต่ถ้าไม่รู้ก็ไม่ประจักษ์แจ้งในการเกิดดับของนามและรูป จะไม่ถึงอุทยัพพยญาณ และก่อนที่จะถึงอุทยัพพยญาณ อย่าลืมว่า ต้องมีทั้งนามรูปปริจเฉทญาณเกิดก่อน ปัญญาขั้นนี้ คือ หมดความสงสัยในลักษณะของมโนทวารวิถี ซึ่งกำลังคั่นอยู่ตลอดทั้งทางตาที่เห็น และทางหูที่ได้ยิน ทางกายที่กระทบสัมผัส ไม่ว่าทางปัญจทวารจะรู้อารมณ์อะไร ทางมโนทวารวิถีเกิดสลับคั่นอยู่ตลอด แต่ขณะนี้ไม่ปรากฏลักษณะของมโนทวารวิถี เพราะถ้าถามว่า ขณะที่เห็น ขณะนี้ ขณะไหนเป็นมโนทวารวิถี ก็ตอบไม่ได้ ทั้งๆ ที่มีมโนทวารวิถีคั่นแทรกอยู่ ในขณะที่กำลังเห็นตลอดเวลา
เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ศึกษาธรรมเพื่อเป็นที่พึ่ง เพื่อจะได้อบรมเจริญปัญญารู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่สงบอย่างเดียวโดยไม่มีปัญญา
ถ. ผมยอมรับว่า โลกทางตานั้นปรุงแต่งเป็นเรื่องเป็นราว เป็นตัวเป็นตนมากกว่าทางทวารอื่น ผมเชื่ออย่างนั้น และผมสังเกตว่า อาจารย์จะเน้นทางจักขุทวารมาก ทั้งๆ ที่อารมณ์ทางกายย่อมหยาบกว่าทางตาแน่นอน ใช่ไหม
สุ. อารมณ์ทางกายทวารเป็นมหาภูตรูป
ถ. เมื่อเป็นอารมณ์ที่หยาบกว่า ย่อมพิจารณาง่ายกว่า
สุ. เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ที่จะระลึกลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏทางทวารไหน อย่าให้เป็นกฎที่ตายตัว
ถ. ไม่ได้เป็นกฎที่ตายตัว คือ เราทราบอยู่แล้วว่า สติเกิดขึ้นมาตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ ไม่มีทางให้สติเกิดที่กายได้ทุกครั้งไป ข้อนี้ก็พอทราบ
สุ. แต่การที่เน้นทางตาเพื่อให้พิจารณาว่า ผู้ที่เข้าใจว่าตนเองมีปัญญา มากแล้วได้ย้อนกลับมาคิดว่า ปัญญาที่คิดว่ามากนี่ มากจริงหรือเปล่า ตราบใดที่ ทางตายังเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ อยู่ โดยที่ไม่รู้เลยว่า วันทั้งวันที่เห็น เลยปรมัตถธรรมไปสู่เรื่องราวซึ่งเป็นบัญญัติ เป็นเรื่องของปรมัตถธรรมแล้ว
ถ. ตามความเห็นของผม ทางตาเป็นเรื่องที่ยากที่สุดสำหรับผม
สุ. ก็ต้องอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ต่อไปอีก
ถ. ผมเองได้ฟังอาจารย์มามาก ทางตารู้สึกว่าจะได้มากกว่าเพื่อน เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า ผมได้เหตุได้ปัจจัยตรงกับที่อาจารย์เน้น ทางอื่นไม่ค่อยได้ แต่ก็ได้บ้าง ทางหู ทางกายก็ได้ แต่น้อย แต่ทางตาเวลานี้ อย่างที่อาจารย์ว่า รู้แล้วหรือยัง ก็ตอบได้ว่า ยัง ยังไม่หมด สังเกตจากเวลาที่สติระลึกหรือหลงลืมสติ ผมนั่งอยู่ที่ทำงานผม จะนอน เอนหลังไป ว่าจะไม่มองอะไรแล้ว เพราะมองแล้วส่วนมากจะขาดทุน เป็นอกุศลทั้งนั้น แต่ก็อดไม่ได้ เดี๋ยวก็ทำหมอนให้สูงขึ้นมาอีกแล้ว ก็อยากจะมองอีก เราก็รู้ว่า นั่นคือความคุ้นเคยกับอวิชชาที่จะแสวงหา อกุศลมีมากกว่ากุศล โอกาสที่สติจะระลึกก็น้อย แต่ทางตานี่ยิ่งเรียนยิ่งสนุก
สุ. ก็แล้วแต่บุคคลอีก แต่ข้อสำคัญที่สุด คือ ต้องรู้ทั้ง ๖ ทาง
ถ. ต้องรู้ทั้ง ๖ ทาง ทั่วๆ มากๆ จึงจะเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ
สุ. ยังไม่ถึง ยาก บางท่านบอกว่าถึงอุทยัพพยญาณแล้ว ก็แปลว่า ต้องผ่านนามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณแล้ว ใช่ไหม ด้วยความรีบร้อนของบางท่าน
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่รีบร้อน เป็นผู้ที่จะสอบความเข้าใจของตนเองและรู้ว่า เมื่อปัญญาค่อยๆ ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ผลคือคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน คลายความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เช่น จิตทุกดวงเว้นจุติจิตของพระอรหันต์เป็นอนันตรปัจจัย ทันทีที่ดับก็เป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ใครจะรู้ความเกิดดับของจิตซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก เพียงเกิดขึ้น ๓ อนุขณะ คือ อุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ และดับแล้ว เพราะฉะนั้น จึงทำให้ ไม่ประจักษ์ว่า ที่กำลังเห็นในขณะนี้จิตเกิดดับไปเท่าไร และนอกจากทางตาก็ยัง ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้ารู้อย่างนี้จะไม่เป็นผู้รีบร้อน เพราะว่าธรรมเป็นสิ่งที่ประจักษ์และรู้แจ้งยาก แต่จะรู้โดยพิจารณาลักษณะสภาพที่กำลังปรากฏพร้อมสติที่ระลึกที่ลักษณะนั้นเท่านั้น
ผู้ฟัง เนื่องจากอาจารย์ได้พร่ำสอนอยู่บ่อยๆ เนืองๆ ว่า อย่ารีบร้อน อย่าใจร้อน และจากตัวอย่างต่างๆ จากเพื่อนธรรมทั้งหลายที่ถาม เดี๋ยวนี้ไม่รีบแล้ว ยิ่งเรียนยิ่งรู้ว่าเรายังรู้น้อย ที่เรายังไม่รู้นั้นอีกมาก ที่ได้ ก็ได้มานิดๆ หน่อยๆ บางครั้งไปคุยกับคนอื่น เขาก็บอกว่า ได้มากแล้ว ผมก็ยืนยันกับเขาว่า เริ่มจะได้บ้างแล้ว คือ เริ่มจะได้ความเข้าใจบ้างแล้ว
เกี่ยวกับรูปนั่ง ผมเคยปฏิบัติ ในขณะนั้นผมฟังอาจารย์และฟังที่อื่นด้วย ตอนที่ได้รับการสั่งสอนว่า ให้รู้ว่ายืน ขณะนี้ยืน แขนซ้ายอยู่อย่างนี้ แขนขวากำลัง ถือไมค์อยู่อย่างนี้ อันนี้เป็นรูปยืน ให้รู้สึกตัวอย่างนี้ รู้สึกตัวว่ายืน เดินให้รู้สึกตัวว่าเดิน และให้รู้ลักษณะอิริยาบถของเราทั้งหมดอย่างนี้ ต่อมาผมได้ฟังที่อาจารย์ บรรยาย ก็เปรียบเทียบกันไปเรื่อย เปรียบเทียบกันอย่างที่เดี๋ยวนี้สามารถพูดว่า เป็นเรื่องการสำเหนียก สังเกต และได้เทียบเคียงแล้ว การรู้ว่าเป็นรูปนั่ง และรู้ลักษณะว่า เรานั่งอยู่อย่างนี้ ยืนอยู่อย่างนี้ ผมคิดว่ากิเลสไม่หมด ผมพิสูจน์ว่า กิเลสไม่หมด เพราะที่เขาสั่งสอนว่า ให้พิจารณารูปนั่ง รูปนอนนี่ เขาก็ยอมรับว่า บาป บุญ กุศล อกุศลนี่เกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่กลับไปดูรูปนั่ง ไปดูอิริยาบถอยู่อย่างนั้น ผมคิดว่าไม่ได้ทำให้ละให้คลายเลย ตรงกันข้าม ถ้าเรา ได้ระลึกว่า นี่คือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ได้เริ่มระลึกแล้ว ได้เริ่มระลึกเห็น ระลึกว่า นี่คือธาตุรู้ สภาพรู้ อาการรู้ อย่างนี้กิเลสจะเบาบางได้ ผมจึงขอยืนยันว่า รูปนั่ง รูปนอนนั้น กิเลสคงจะไม่หมด
สุ. เพราะบางท่านคิดว่า จะละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เท่านี้ คิดอย่างนี้พอไหม คือ คิดว่าจะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพียงคิดเท่านี้ไม่พอ เพราะว่าคิดอย่างนี้จะละไม่ได้ แต่ต้องรู้ว่า ต้องอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าคิดเฉยๆ ว่า จะละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนและพยายามไปรู้สึกว่า ไม่ใช่เราๆ ที่กำลังนั่ง หรือนอน หรือยืน หรือเดิน แต่ปัญญาไม่ได้รู้ลักษณะของทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ไม่มีทาง ที่จะคลายได้ แต่เข้าใจว่า วันหนึ่งๆ เมื่อคิดว่าไม่ใช่เราเข้าทุกที ก็จะเห็นว่า นั่งนี่ไม่ใช่เรา แต่ว่ารู้อะไร คลายความไม่รู้อะไร ในเมื่อความไม่รู้ทางตา กำลังไม่รู้จริงๆ ในลักษณะของปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่วัตถุสิ่งใดๆ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาทรูปเท่านั้นเอง ต้องประจักษ์ความจริงอย่างนี้ ปัญญาเจริญอย่างนี้ จึงจะคลายความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ ไม่ใช่เพียงแต่อยากจะละ โดยไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ ในแต่ละขณะ
จิตเกิดขึ้นทีละขณะ ทั้งๆ ที่รูปเกิดดับตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า แต่ขณะที่จิตเกิดขึ้นเห็น ไม่มีท่านั่ง ท่านอน ไม่มีรูปอื่นทั้งสิ้น ในขณะนั้นจึงเป็นแต่เพียงธาตุรู้ ชนิดหนึ่งซึ่งกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จึงไม่ใช่เราได้ ไม่ใช่เพียงแต่คิดว่า นั่งไม่ใช่เรา นอนไม่ใช่เรา ยืนไม่ใช่เรา เดินไม่ใช่เรา แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง
ถ. การที่จะมีปัญญารู้ความดับไป หรือความเกิดขึ้นของรูปธรรม จะต้องรู้ลักษณะของลักขณรูป ๔ ซึ่งเป็นอุปจยรูป สันตติรูป ชรตารูป และอนิจจตารูป ด้วยหรือเปล่า คือ ขณะที่เห็นรูปดับไปหรือเกิดขึ้นที่เป็นอุทยัพพยญาณ จะต้อง รู้ลักษณะขณะที่รูปกำลังเกิดขึ้น กำลังสืบต่อ กำลังเสื่อม และกำลังดับไปหรือเปล่า
สุ. อย่างเสียง เวลาที่กระทบกับภวังค์ คือ เป็นขณะที่เกิดขึ้น เป็นอุปาทขณะ เร็วมาก ไม่มีทางที่จะรู้ได้ เพราะในขณะนั้นเสียงยังไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น เวลาที่ชวนจิตสามารถมีเสียงเป็นอารมณ์ซ้ำกันได้ ๗ ขณะ ขณะนั้น ถ้าสติระลึกลักษณะของเสียง ซึ่งไม่มี แล้วมี แล้วหมด ส่วน ๑๗ ขณะนั้น ไม่จำเป็น ต้องคิดถึงเลยว่า ขณะนี้ล่วงไปแล้วกี่ขณะ เพียงแต่ขณะที่กำลังปรากฏ มีเสียงนั้น เป็นอารมณ์และก็ดับ แสดงว่าขณะนั้นคลายการยึดถือสภาพธรรม เพราะเพิ่มความรู้ในลักษณะที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ถ้าอบรมเจริญปัญญาที่จะพิจารณาลักษณะของรูปธรรมและนามธรรมเพิ่มขึ้น
ถ. เท่านี้ก็พอ ใช่ไหม
สุ. ใช่
การศึกษาปริยัติ เป็นแนวทางที่จะอบรมเจริญปัญญาให้ถูกต้อง เพราะว่าสภาพธรรมกำลังปรากฏ และหนทางเดียวที่จะเจริญปัญญา คือ สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมทีละลักษณะ แม้ว่าลักษณะของสภาพธรรมจะยังไม่ปรากฏ ทีละลักษณะก็ตาม แต่สติก็น้อมไปที่จะระลึกและศึกษาเพียงทีละลักษณะ
เช่น ในขณะนี้ ทางตากำลังเห็น ทางหูก็ได้ยิน และทางกายก็กระทบสัมผัส แล้วแต่ว่าสติปัฏฐานจะเกิดระลึกที่ลักษณะของรูปใด และสังเกตพิจารณาลักษณะของรูปนั้น แม้ว่าทางตาก็ยังดูเสมือนว่ายังไม่ได้ดับไปเลย แต่สติจะเริ่มพิจารณาลักษณะของรูปที่สติระลึกก่อนทีละลักษณะ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งโดยสภาพธรรมปรากฏ จริงๆ ทางมโนทวารทีละลักษณะได้
ถ้าทีละลักษณะจริงๆ ต้องปรากฏทางมโนทวาร ซึ่งเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ แต่ในขณะที่ยังไม่ปรากฏอย่างนั้น จะมีทั้งกำลังเห็น และก็แข็ง และก็ได้ยิน ซึ่งแล้วแต่สติจะเกิดระลึกลักษณะของรูปใดหรือนามใด ค่อยๆ อบรมเจริญปัญญา ไปเรื่อยๆ
ถ้ายังไม่รู้ทั่วทั้ง ๖ ทวารตามความเป็นจริง ใครจะบอกว่าประจักษ์ลักษณะของนามรูปเกิดดับ ก็เป็นความเข้าใจของบุคคลนั้นเอง ซึ่งไม่ใช่สภาพธรรมตามความ เป็นจริง เพราะว่าตีรณปริญญา ความสมบูรณ์ของการพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้ง ๖ ทาง จะทำให้ประจักษ์แจ้งความเกิดดับซึ่งเป็นอุทยัพพยญาณ แต่ ถ้าตราบใดที่ตีรณปริญญายังไม่สมบูรณ์ จะประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมไม่ได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๘ ตอนที่ ๑๔๗๑ – ๑๔๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1441
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1442
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1443
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1444
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1445
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1446
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1447
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1448
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1449
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1450
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1451
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1452
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1453
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1454
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1455
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1456
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1457
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1458
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1459
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1460
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1461
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1462
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1463
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1464
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1465
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1466
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1467
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1468
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1469
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1470
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1471
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1472
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1473
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1474
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1475
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1476
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1477
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1478
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1479
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1480
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1481
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1482
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1483
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1484
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1485
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1486
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1487
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1488
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1489
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1490
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1491
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1492
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1493
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1494
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1495
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1496
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1497
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1498
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1499
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1500